Image

บ่อน้ำ

จากบรรณาธิการ

ข่าวหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ผ่านตาเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว (ปี ๒๕๖๖) คือหลังวันประเพณีลอยกระทง มีขยะกระทงทำให้บ่อน้ำแห่งหนึ่งเน่าจนปลาในบ่อตายเกลี้ยง

ย้อนดูสถิติการจัดเก็บกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เคยสูงถึงกว่า ๘ แสนใบเมื่อปี ๒๕๖๐-๒๕๖๑ ก่อนจะค่อย ๆ ลดลงตามกระแสความใส่ใจสิ่งแวดล้อม เหลือ ๕-๖ แสนใบในช่วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมา

นอกจากจำนวนที่ลดลง วัสดุที่ใช้ก็เปลี่ยนจากโฟมซึ่งเป็นปัญหาขยะไม่ย่อยสลาย มาเป็นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ ด้วยเชื่อว่าน่าจะดีต่อแม่น้ำและสิ่งแวดล้อมมากกว่า ซึ่งข้อมูลการจัดเก็บกระทงปี ๒๕๖๖ ก็พบว่ากระทงที่ทำด้วยวัสดุธรรมชาตินั้นมีจำนวนถึง ๙๖.๗๔ เปอร์เซ็นต์ของกระทงทั้งหมด คือเหลือการใช้กระทงโฟมแค่ ๓.๒๖ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๒ หมื่นใบเท่านั้น

ตามข่าวของกรุงเทพมหานครบอกว่า กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายได้จะนำเข้าโรงงานทำปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม ส่วนกระทงโฟมนำไปทิ้งแบบฝังกลบ ถ้าเป็นตามนี้โดยภาพรวมปัญหาขยะกระทงก็ดูมีแนวโน้มดีขึ้นจากเมื่อหลายปีก่อน

แต่เหตุการณ์ปลาตายในบ่อก็สะท้อนปัญหาอีกมุมหนึ่งในการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เรียกว่า carrying capacity

carry แปลตามตัวคือการรองรับหรือบรรทุก capacity คือศักยภาพ

คำอธิบายก็คือ ในพื้นที่หรือสภาพแวดล้อมหนึ่ง ๆ มีศักยภาพจะรองรับประชากรของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ได้อย่างมีขีดจำกัด เพื่อให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล  ไม่ใช่ว่าทุกชีวิตจะเติบโตและเพิ่มจำนวนไปได้เรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด

เพราะอะไร คำตอบง่าย ๆ ก็เพราะทรัพยากรพื้นฐานนั้นมีจำกัด ทั้งพื้นที่ แร่ธาตุ น้ำ ก๊าซ

ยิ่งในบ่อน้ำตามข่าวก็ยิ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่จำกัด ไม่ใช่แม่น้ำใหญ่หรือลำคลองที่เชื่อมต่อกับสายน้ำอื่น ๆ  เมื่อกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ โดยเฉพาะกระทงขนมปัง ถูกปล่อยในบ่อจำนวนมากก็กลายเป็นอาหารที่จุลินทรีย์ชอบ และเร่งให้พวกมันขยายจำนวนรวดเร็วแบบทวีคูณในเวลาสั้น ๆ  แต่จุลินทรีย์ต้องใช้พลังงานคือออกซิเจนในน้ำมากขึ้นไปด้วย ผลกระทบคือปลาขาดออกซิเจนแบบฉับพลันและตายเน่าหมดบ่อ เพราะออกซิเจนในบ่อน้ำก็มีจำกัด

ทั้งหมดจึงเป็นไปตามขีดจำกัดของการรองรับ คือถ้าทำให้มีจุลินทรีย์มหาศาล ปลาก็ต้องตายแทน

ถัดจากข่าวกระทงทำปลาตายได้ไม่นาน ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ ก็มีข่าวสนับสนุนการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว 

ตอนนี้ถ้าใครเข้าใจเรื่อง carrying capacity ก็ต้องเป็นห่วงว่าความต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไปในสถานที่ซึ่งสงวนไว้สำหรับการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างอุทยานแห่งชาติ ซึ่งไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวทั่วไป จะสร้างผลกระทบเพิ่มขึ้นขนาดไหนต่อพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ซึ่งมีวิวัฒนาการและอยู่บนภูกระดึงมาก่อนมนุษย์

Image

ถ้ายังไม่ลืมกัน ในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ภาพสัตว์หายากและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติทั้งทางบกและทะเล พากันออกมาหากินเดินเล่น หรือแหวกว่ายอย่างอิสระในบริเวณที่เคยคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว กลายเป็นภาพข่าวที่สร้างความสุขให้กับผู้คนในสังคมที่กำลังอยู่ในความทุกข์

โลกของเราเป็นเพียงบ่อน้ำเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจักรวาล จุลินทรีย์มนุษย์กำลังขยายจำนวนอย่างรวดเร็วในเวลาสั้น ๆ  ขณะที่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ กำลังสูญพันธุ์ไปเรื่อย ๆ เพราะถูกแย่งชิงทรัพยากรบนโลกที่มีจำกัด

อีกไม่นาน คงถึงเวลาที่โลกจะปรับสมดุลใหม่ 

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com

ฉบับหน้า
Next Issue

Image

ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

จากพิฆเนศวร (คเณศ)
สู่ “กาเนชา”