Image
ภาพพิมพ์รูปคณะราชทูตจากสยามเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พร้อมด้วยเครื่องมงคลราชบรรณาการในสายตาและจินตนาการของศิลปินฝรั่งเศส 
ภาพของหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส Bibliothe` que Nationale de France จากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยมิชิแกน https://quod.lib.umich.edu

ช็อกโกแลต และโกโก้  :
กว่า 300 ปี
ที่มีให้กินในเมืองไทย
CHOCOLATE IN SIAM
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
Image
ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère 1642-1729/ ปี ๒๑๘๕-๒๒๗๒) ราชทูตฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี ๒๒๓๐ บันทึกในหนังสือจดหมายเหตุ Description du royaume de Siam ตอนหนึ่ง ว่าด้วยเครื่องดื่มในกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏความตามสำนวนแปลภาษาไทยที่ใช้ชื่อเรื่องว่า ราชอาณาจักรสยาม ของ สันต์ ท. โกมลบุตร (“สันต์ เทวรักษ์” ปี ๒๔๕๑-๒๕๒๑)

“อนึ่ง แขกมัวร์ในประเทศสยามดื่มกาแฟ ซึ่งมาจากเมืองอาหรับ และชาวปอรตุเกศนั้นดื่มโกโก้ เมื่อมีส่งมาจากมนิลา เมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งนำมาจากอินเดียภาคตะวันออกในเขตคุ้มครองของสเปญอีกทอดหนึ่ง”

อย่างไรก็ดีเมื่อย้อนไปดูข้อความตอนเดียวกันนี้เทียบกับต้นฉบับทั้งภาคภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ (Description du royaume de Siam. Premiere Partie. Chapitre IX. Des jardins des Siamois, & par occasion de leurs Boissons. XVIII. Cafféé & Chocolat. และ A New Historical Relation of the Kingdom of Siam. Part I. Chapter IX Of the Gardens of the Siameses, and occasionally of their Liquors. Coffee and Chocolate.) พบว่าคุณสันต์คงเลือกใช้คำ “โกโก้” เพื่อสื่อความให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจได้ง่าย เพราะต้นฉบับทั้งสองเล่มล้วนระบุตรงกันว่าชาวโปรตุเกสในสยามดื่ม “ช็อกโกแลต” (chocolat/chocolate)

“Enfifin les Mores de Siam prennent du Cafféé, qui leur vient de l'Arabie, & les Portugais y prennent du Chocolat, quand il leur en vient de Manille, Capitale des Philippines, oùÙ on en porte des Indes occidentales Espagnoles.” 

“In a word, the Moors of Siam drink Coffee, which comes to them from Arabia, and the Portuguese do drink Chocolate, when it comes to them from Manille, the chief of the Phillipines, where it is brought from the Spanish West-Indies.”


ตามที่ลา ลูแบร์รับรู้มา ช็อกโกแลตดังกล่าวย่อมถูกขนส่งมาตามเส้นทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกของกองเรือสเปน (Manila galleon) ซึ่งเชื่อมโยงอาณานิคมสเปนในทวีปอเมริกาเข้ากับหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของสเปน ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่มะนิลาในฟิลิปปินส์ แล้วจึงส่งต่อมายังบ้านโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยา

หากจะลองสันนิษฐานต่อไป บางทีเจ้านายขุนนางข้าราชการชาวสยามที่ติดต่อค้าขายกับพวกโปรตุเกสก็อาจเคยลิ้มรสเครื่องดื่มจากหมู่เกาะอินเดียตะวันตกชนิดนี้กันมาบ้าง รวมถึงในชุมชนบ้านโปรตุเกส นอกจากวัดคาทอลิกแล้ว ยังอาจเคยมี “ร้านช็อกโกแลต” แห่งแรกของกรุงศรีอยุธยาแบบเดียวกับที่กำลังฮิตในยุโรปขณะนั้นก็เป็นได้ (เผื่อมีใครที่คิดจะแต่งนิยายย้อนยุคข้ามเวลากลับไปสมัยกรุงศรีฯ กันอีก อย่าลืมหยอดเรื่องนี้ไว้ในบทประพันธ์ด้วย !)

ส่วนสาเหตุที่ลา ลูแบร์ต้องกล่าวถึงเครื่องดื่มช็อกโกแลตในสยาม คงเป็นเพราะยุคนั้นราชสำนักฝรั่งเศสกำลัง “เห่อ” หรือ “คลั่ง” ช็อกโกแลตกันขนาดหนัก

ปีก่อนหน้าที่ลา ลูแบร์จะเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อคณะราชทูตของพระเจ้ากรุงสยาม นำโดยออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี จึงเรียกกันว่า “โกษาปาน”) เดินทางไปยังฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๒๒๘ มีการอัญเชิญเครื่องมงคลราชบรรณาการจำนวนมหาศาลไปถวายแก่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส หนังสือ ประชุมพงศาวดาร ภาค ๒๗ เล่าโดยสรุปไว้ว่า

“ในจดหมายเหตุที่เชอวาเลียเดอโชมองได้แต่งไว้ ได้ลงบาญชีของต่าง ๆ ที่พระเจ้ากรุงสยามส่งมาถวายพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โดยเลอียดมาก คือมีคนโทน้ำทำด้วยทองคำ ขวดทองคำ ถ้วยทองคำ หีบทองคำ ตู้เล็ก ๆ ทำด้วยกระ หีบและ โต๊ะญี่ปุ่น พรมมาจากเมืองฮินดูซตัน และพรมเมืองจีน กับเรือทำด้วยทองคำ ๑ ลำ และปืนใหญ่ปลอกเงิน ๒ กระบอก และเครื่องลายครามอย่างงามที่สุด ๑๕๐๐ ชิ้น ส่วนของที่คอนซตันตินฟอลคอนส่งมาถวายนั้นมี สายสร้อยทองคำ ถ้วยแก้ว กาใส่ชอกอเล็ต กล่องใส่ยานัดถุ์ เครื่องลายคราม ลับแล แจกัน ผ้าต่าง ๆ ลูกปัด นอแรด เขากระบือ และของต่าง ๆ อีกหลายอย่าง นอกจากของเหล่านี้ยังมีของที่พระเจ้ากรุงสยามส่งมาพระราชทานมกุฎราชกุมารฝรั่งเศส ของที่พระราชินีสยามส่งมาพระราชทานมกุฎราชกุมารี ซึ่งมีหีบเขียนหนังสือทำด้วยกระสามหีบ และหัวใจทำด้วยเงิน ๑ อัน และยังมีของที่พระราชินีสยามส่งมาพระราชทานท่านดุกเดอบูรกอยน์ และดุกดังยูอีก กับของต่าง ๆ ที่คอนซตันตินฟอลคอนฝากมาให้มาควิศเดอเซงแล และ มาควิศเดอครัวซี รวมทั้งสิ้นเปนของกว่า ๓๐๐๐ สิ่ง และของบางอย่างทำด้วยฝีมืออย่างประณีตงดงามยิ่งนัก ของต่าง ๆ เหล่านี้ได้วางเรียงไว้ในท้องพระโรงทั้งสิ้น...”
Image
กาเงินกะไหล่ทอง ฝีมือช่างจีน ในสภาพก่อนและหลังการอนุรักษ์  สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งใน “กาช็อกโกแลต” เครื่องมงคลราชบรรณาการจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ “โกษาปาน” นำไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังแวร์ซาย
ภาพจาก https://www.chateauversailles.fr โดย EPV/Christophe Fouin

เมื่อสำรวจบัญชีเครื่องมงคลราชบรรณาการและของกำนัลจากสยามโดยละเอียด ยังได้พบว่า นอกจากคอนสแตนติน ฟอลคอน จะถวาย “กาใส่ชอกอเล็ต” (กาใส่ช็อกโกแลต) แด่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แล้ว ยังปรากฏรายการ “กาใส่ช็อกโกแลต” (chocolatièères) ทำนองเดียวกันนี้ ที่ส่งไปถวายพระบรมวงศานุวงศ์ของฝรั่งเศส ตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  มกุฎราชกุมาร (Louis, Grand Dauphin) และพระชายา (Dauphine de France) ตลอดจนพระเจ้าหลานเธอทั้งสองพระองค์ (Louis de France, duc de Bourgogne และ Philippe de France, duc d’Anjou) รวมทั้งมอบเป็นของกำนัลแด่เสนาบดีผู้ทรงอิทธิพล ได้แก่ เสนาบดีว่าการทหารเรือ (Jean Baptiste Colbert, Marquis of Seignelay) และน้องชายซึ่งเป็นเสนาบดีว่าการต่างประเทศ (Charles Colbert, Marquis of Croissy)

รายการหนึ่งในบรรดาเครื่องมงคลราชบรรณาการจากสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามที่อัญเชิญไปถวายแก่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ได้แก่ กาใส่ช็อกโกแลตมีฝา ทำด้วยเงิน ฝีมือช่างญี่ปุ่น คู่หนึ่ง (สองใบ) ดังที่ อาแล็กซ็องดร์ เชอวาลีเย เดอ โชมง (Alexandre, Chevalier de Chaumont) ผู้จัดทำบัญชีเครื่องมงคลราชบรรณาการระบุว่า “Deux paires de chocolatieres avec leurs couvertures d'argent, ouvrage du Japon.”

จากการค้นคว้าของนักวิชาการรุ่นปัจจุบัน สันนิษฐานว่ากาช็อกโกแลตดังกล่าวน่าจะเป็นสิ่งเดียวกันกับเหยือก (ewer)
หรือกามีหู ทำด้วยเงินกะไหล่ทอง ฝีมือช่างจีน สูง ๑๖ เซนติเมตร ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้มีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งไปประมูลกลับมามอบให้แก่พิพิธภัณฑ์พระราชวังแวร์ซายใบหนึ่ง

แม้ดั้งเดิมคงเป็นกาสำหรับบรรจุสุราฝีมือช่างจีน แต่เมื่อถูกจัดไปถวายแก่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงได้รับสถานะใหม่เป็น “กาช็อกโกแลต” ตามรสนิยมของราชสำนักฝรั่งเศสยุคนั้น ซึ่งกำลังฮือฮากับช็อกโกแลต แถมยังแปะป้ายให้ดูน่าตื่นเต้นเร้าใจยิ่งขึ้นไปอีกว่าเป็นงานฝีมือ “ช่างญี่ปุ่น”!

ดังนั้น “กาช็อกโกแลต” ที่ปรากฏในบัญชีซึ่งมีไปถวายเจ้านายและมอบแก่เสนาบดี ก็คงเป็นกาโลหะฝีมือช่างจีนทำนองเดียวกันนี้นั่นเอง

บางทีระหว่างอยู่ในฝรั่งเศส ท่านราชทูตโกษาปานเองก็น่าจะเคยได้ลองจิบช็อกโกแลตแบบผู้ดีฝรั่งเศสบ้างกระมัง ?
Image
เอนก นาวิกมูล ค้นพบข้อมูลในพระประวัติของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (ปี ๒๓๘๘-๒๔๕๕) ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ ณ อยุธยา ฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพเมื่อปี ๒๔๕๕ ตอนหนึ่งว่า 

“เมื่อปีมะโรงโทศก พุทธศักราช ๒๔๒๓ นั้น ท่านก็ได้กราบถวายบังคมลาออกไปยังเมืองสิงคโปร์แลปีนัง เพื่อตรวจดูกิจการในประเทศนั้น มีการเพาะปลูกและการค้าขาย เป็นต้น ครั้นเมื่อท่านเสด็จกลับเข้ามาแล้ว ท่านได้ทรงนำพรรณไม้ต่าง ๆ เข้ามาปลูกเพื่อทำพรรณและทดลอง เช่น มันสำปะหลัง, ละหุ่ง, ตะไคร้, ทั้งอย่างไทยและอย่างเทศ (ใช้ใบกลั่นเป็นน้ำมัน) หญ้ากินีกราศ ซึ่งเป็นหญ้าที่งอกงามเร็วและเป็นอาหารสำหรับสัตว์พาหนะอย่างดี ต้นยางปารารับเบอร์, กาแฟ, โคโค่, ต้นยุคอลิบตัส ซึ่งเป็นสรรพคุณยาสำหรับอย่างหนึ่ง ทั้งเป็นไม้ที่สามารถป้องกันความไข้ได้ด้วย แต่ในเวลานั้นท่านทรงมีหน้าที่ราชการต่าง ๆ อยู่มาก จึงกระทำการเหล่านี้ไม่สำเร็จตลอดไปได้”

พระองค์เจ้าสายฯ ทรงสนพระทัยหลายด้าน ทรงเป็นทั้งทหารเรือและมีความรู้ด้านการแพทย์ (ยังมี ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นหนึ่งในตำรับยาแผนไทยของชาติอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้) รวมถึงยังทรงใฝ่พระทัยในการพัฒนาการเกษตร ถึงขั้นทรงเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม จำกัด (Siam Canals, Lands and Irrigation Company) รับสัมปทานขุดคลองขยายพื้นที่ทำนาทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ช่วงทศวรรษ ๒๔๓๐
Image
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ 
ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศwหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ปี ๒๕๑๘

คลองดังกล่าวได้รับพระราชทานนามตามพระนามพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ภายหลังคือสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ผู้ทรงมีศักดิ์เป็นหลานตาของพระองค์เจ้าสายฯ เรียกกันในปัจจุบันว่า “คลองรังสิต” ทว่าในยุคก่อนชาวบ้าน มักเรียกชื่อคลองนี้ตามพระนามพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ว่า “คลองเจ้าสาย” หรือ “คลองพระองค์เจ้าสาย”

ข้อมูลในพระประวัติฉบับนี้ยังทำให้สามารถถวายเครดิต ว่าพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์คือผู้บุกเบิกรุ่นแรกที่นำพืชต่างถิ่นหลายชนิดเข้ามาทดลองปลูกในสยามตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาล
ที่ ๕ เมื่อปี ๒๔๒๓ (แม้อาจไม่มีผลสำเร็จยั่งยืน) ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ยางพารา ยูคาลิปตัส หญ้ากินี (Guinea grass) ที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ รวมถึงกาแฟ และต้นโคโค่ หรือคาเคา (cacao)

ถ้าวงการโกโก้ไทยจะมองหา “พระบิดา” กับเขาบ้าง คงต้องเทิดพระเกียรติพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เป็นปฐม
Image
ตำราอาหาร ปะทานุกรมการทำของคาวของหวาน อย่างฝรั่งแลสยาม ซึ่ง “นักเรียนดรุณี” ของโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (ต่อมาคือวัฒนาวิทยาลัย) ร่วมกันแปลและเรียบเรียง พิมพ์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี ๒๔๔๑ (ค.ศ. ๑๘๙๘) มีสูตรขนมที่ผสมด้วย “ช๊อกกาเล๊ด” เช่นสูตร “ปุดดิง ช๊อกกาเล๊ด” (Chocolate Pudding) ที่บรรยายเครื่องปรุงไว้ว่า (วรรคตอนตามต้นฉบับ คือแบ่งวรรคระหว่างคำภาษาไทยแบบเดียวกับภาษาอังกฤษ)

“ช๊อกกาเล๊ด สอง แท่ง นม สี่ ช้อน ละลาย น้ำ สอง ถ้วยชา  น้ำตาล ทราย ครึ่ง ถ้วย ชา แป้ง เข้า โภชน์ สี่ ช้อน ชา ฟอง ไก่ สี่ ฟอง น้ำ วานิลลา หนึ่ง ช้อน ชา”

ดังนั้นในบางกอกยุคปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ย่อมต้องหาซื้อ “ช๊อกกาเล๊ด” ชนิดแท่ง (chocolate bar) ได้ไม่ยากจึงสามารถกล่าวถึงในตำราอาหารคาวหวานได้ โดยเฉพาะในแวดวงฝรั่ง เช่นโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมิชชันนารีคริสเตียนจากสหรัฐอเมริกา

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ English-Siamese Dictionary ดิกชันนารี ภาษาอังกฤษแปลเปนไทยของหลวงรัตนาญัปติ (สงบ) เลขานุการสถานทูตลอนดอน (ภายหลังได้เป็นพระยาศิริรัตนมนตรี สงบ สุจริตกุล) พิมพ์เมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ (ปี ๒๔๔๔) เก็บคำนี้ไว้คือ


Chocolate (ช็อกโกะเลต) ขนม “ช็อกโกะเลต”

อันย่อมจะเสริมความจาก ปะทานุกรมการทำของคาวของหวานฯ ยิ่งขึ้นไปอีกว่าในเวลานั้น ช็อกโกแลตชนิดแท่งที่กินเป็น “ขนม” เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงสังคมชนชั้นสูงของสยามแล้ว

นอกจากช็อกโกแลตชนิดแท่งที่กินเป็นขนม ทศวรรษนั้นย่อมมีผงโกโก้เข้ามาขายในท้องตลาดเมืองไทยด้วย

นายเออร์เนสต์ ยัง (Ernest Young 1869-1952/ปี ๒๔๑๒-๒๔๙๕) ครูชาวอังกฤษซึ่งเข้ามารับราชการในกระทรวงธรรมการของสยามช่วงรัชกาลที่ ๕ ระหว่างปี ๒๔๓๕-๒๔๔๐ และเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ และโรงเรียนแผนที่ เล่าไว้ในหนังสือ Peeps at Many Lands : Siam (แอบมองสยาม) ซึ่งพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๘/๒๔๕๑ นายยังเล่าไว้ในบทที่ว่าด้วยเรื่องโรงเรียน ว่าเขาเคยเข้าไปในโรงเรียนแห่งหนึ่ง พบว่าในห้องเรียนมีเด็กนั่งเรียงแถวอยู่บนพื้นดิน ข้างหน้าเด็กแต่ละคนตั้งลัง (แทนโต๊ะนักเรียน) ไว้วางกระดานชนวนหรือสมุด ลังที่มีอยู่ราว ๔๐ ใบ ซึ่งคงได้มาจากตลาดแถวนั้น ที่ด้านข้างยังติดป้ายโฆษณาต่าง ๆ เช่นสบู่ยี่ห้อแพร์ (Pear's soap คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า “สบู่เปียโซป”) และโกโก้ยี่ห้อแคดเบอรี (Cadbury's cocoa) ซึ่งน่าจะหมายความว่าเดิมเป็นลังบรรจุสินค้าชนิดนั้น ๆ นั่นเอง

“I once went into a school, where I saw each child sitting placidly on the ground with a small box in front of him, on which he placed his slate or book. It was a curious sight. There were about forty of these boxes, all procured in the native market, and bearing on their sides varied announcements as to the excellence of Pear's soap and Cadbury's cocoa.”
Image
Image
ในทศวรรษ ๒๔๔๐ มีการนำต้นโกโก้ (คาเคา) เข้ามาปลูกในสยามอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องนี้มีกล่าวถึงอยู่ในหนังสือ ตำนานไม้ต่างประเทศบางชะนิดในเมืองไทย ของพระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ ปี ๒๔๓๓-๒๔๙๘) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของวงการพฤกษศาสตร์ไทย

ท่านเจ้าคุณเล่าถึง “โคโค่ (Theobroma Cacao ธิโอโบรมา คะคาโอ)” ว่า

“ในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ต้นโคโค่มีปลูกกันบ้างตามบ้านเพื่อดูเล่นเป็นไม้แปลก ๆ มิใช่เพื่อเอาเมล็ดทำแป้งโคโค่นัยว่าหลวงราชกิจเกณิกรเป็นผู้แรกสั่งพันธุ์เข้ามาเมืองไทยราว ๔๐ ปีมาแล้ว ไม่ทราบว่าสั่งมาจากที่ใด ต้นโคโค่เป็นไม้ของอเมริกาตอนใต้และตอนกลาง และอินเดียตะวันตก (West Indies)”

“แป้งโคโค่” ตรงนี้คือคำแปลของ cocoa powder นั่นเอง
หนังสือ ตำนานไม้ต่างประเทศบางชะนิดในเมืองไทย จัดพิมพ์เมื่อปี ๒๔๘๓ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาพจนปรีชา (หม่อมราชวงศ์สำเริง อิศรศักดิ์) ดังนั้นเมื่อ “ราว ๔๐ ปีมาแล้ว” นับย้อนไปจากปี ๒๔๘๓ จึงตกอยู่ในราวปี ๒๔๔๓

พระยาวินิจวนันดรยังเล่าเท้าความไว้ในคำนำหนังสือเล่มนี้อีกว่า “ข้าพเจ้าได้เคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับตำนานไม้ต่างประเทศในเมืองไทยลงในจดหมายเหตุของ Siam Society (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็น Thailand Research Society สมาคมค้นคว้าประเทศไทย) มาบ้างแล้ว”

เมื่อค้นต่อไปจึงพบว่าบันทึกเรื่องดังกล่าวคือ Notes on Introduced Plants in Siam ลงพิมพ์ในจดหมายข่าวแผนกประวัติศาสตร์ธรรมชาติของสยามสมาคม (The Natural History Bulletin of the Siam Society - NHBSS) เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๒ (ปี ๒๔๗๕) เจ้าคุณวินิจฯ เล่าเรื่องเดียวกันนี้ไว้ในฉบับภาษาอังกฤษว่า

“Theobroma cacao Linn. Cocoa Tree. โคโค่. The cocoa tree, a native of Central and South America and the West Indies, is said to have been introduced into this country by the late Luang Rajakit Kenikorn about thirty years ago. It is not known from which country the plant came. It is occasionally grown in gardens, not for the production of cocoa, but simply as a curio.”

(ต้นโกโก้ พืชพื้นเมืองของอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และหมู่เกาะเวสต์อินดีส กล่าวกันว่านำเข้ามาในประเทศนี้โดยหลวงราชกิจเกนิกรผู้ล่วงลับ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน ไม่ทราบว่าได้ต้นพันธุ์มาจากประเทศใด มีการปลูกกันตามสวนต่าง ๆ บ้าง ไม่ใช่เพื่อผลิตโกโก้ หากแต่เพื่อไว้ดูเล่นเป็นของแปลก - สำนวนแปลโดยศรัณย์)

จะสังเกตได้ว่าข้อมูลที่กล่าวถึงในที่นี้มีเนื้อความไม่ต่างจากฉบับภาษาไทยปี ๒๔๘๓ นัก เว้นแต่ในฉบับภาษาอังกฤษ ที่ตีพิมพ์มาก่อนร่วม ๑๐ ปี ในปี ๒๔๗๕ ระบุว่าหลวงราชกิจฯ “ผู้ล่วงลับ” นำเข้ามาปลูกเมื่อ “ราว ๓๐ ปีก่อน” หรือประมาณปี ๒๔๔๕

เข้าใจว่าจากข้อมูลต้นทางภาษาอังกฤษในจดหมายข่าวของสยามสมาคมนี่เอง ต่อมาเมื่อมีการถอดนาม Luang Rajakit Kenikorn กลับมาเป็นภาษาไทย จึงตกหล่นกลายเป็นหลวง ราชนิกรบ้าง หลวงราชเคนิกรบ้าง หรือหลวงราชคนิกรก็มี ดังพบได้ทั่วไปตามแหล่งข้อมูลออนไลน์ รวมถึงคงเป็นที่มาของข้อมูลที่อ้างกันต่อ ๆ มาว่ามีการนำเอาต้นคาเคาเข้ามาปลูกเป็นครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปี ๒๔๔๖
Image
แต่ถ้าจะให้สรุปกว้าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าคงมีการนำเอาต้นคาเคาเข้ามาปลูกอีกครั้งในช่วงทศวรรษ ๒๔๔๐ โดยหลวงราชกิจเกณิกร

ราชทินนามหลวงราชกิจเกณิกร (บางแห่งสะกด ราชกิจเกนิกร) ดั้งเดิมเป็นราชทินนามในกรมท่าซ้าย อันมีหน้าที่ราชการในการติดต่อค้าขายกับเมืองจีนมาแต่โบราณ ขุนนางที่ได้รับราชทินนามนี้จึงมีมาแล้วหลายคนตามธรรมเนียมการพระราชทานราชทินนามอันเป็นชื่อประจำตำแหน่ง  แต่ในที่นี้ท่านเจ้าคุณวินิจฯ มิได้ระบุว่าชื่อตัวของหลวงราชกิจเกณิกรคืออะไร จึงยังไม่รู้ว่าหมายถึงหลวงราชกิจฯ คนไหนกันแน่ 

อย่างไรก็ตามมีหลวงราชกิจเกนิกรท่านหนึ่ง ชื่อตัวว่านายชม ชมสมบูรณ์ มีอายุอยู่ระหว่างปี ๒๔๑๙-๒๔๗๔ ท่านมีประวัติน่าสนใจว่าเป็นชาวเกาะท่าพระ อำเภอบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี “เป็นผู้มีนิสสัยชอบการเพาะปลูก และการค้าขายมาแต่เยาว์” หลังจากเล่าเรียนเขียนอ่านเบื้องต้นแล้ว

“เมื่ออายุ ๑๘ ปี ได้เข้าทำงานในบริษัทขุดคลองคูนาสยามซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขุดคลองในทุ่งหลวงรังสิต (ซึ่งแต่เดิมเรียกว่าคลองพระองค์เจ้าสาย) แขวงจังหวัดธัญญะบุรีและได้ทำงานในบริษัทขุดคลองนี้ ตั้งแต่เริ่มบริษัท จนกระทั่งบริษัทได้ทำการขุดคลองสำเร็จ และเลิกบริษัท”

เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่กล่าวมาแล้วว่าพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ผู้ทรงก่อตั้งบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม เคยทรงนำเอาต้นคาเคา (โกโก้) เข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี ๒๔๒๓ จึงเป็นไปได้ว่า กรณีนี้อาจเกี่ยวข้องกับพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์เช่นกัน และอาจเป็นหลวงราชกิจเกนิกร (ชม ชมสมบูรณ์) คนนี้เองที่นำต้นโกโก้เข้ามาเผยแพร่พันธุ์อีกครั้งหนึ่ง ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับที่พระยาวินิจวนันดรออกนามว่า the late Luang Rajakit Kenikorn (หลวงราชกิจเกนิกร ผู้ล่วงลับ)

ยิ่งดูเข้าเค้า เพราะหลวงราชกิจเกนิกร (ชม) เพิ่งถึงแก่กรรมไปเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๗๔ ขณะมีอายุได้ ๕๕ ปี คือก่อนหน้าการตีพิมพ์บทความของพระยาวินิจวนันดรในจดหมายข่าวสยามสมาคมเพียงปีเดียว

ดังนั้นหลวงราชกิจเกนิกรในประวัติ “ต้นโคโค่” ของพระยาวินิจวนันดร จึงควรหมายถึงหลวงราชกิจเกนิกร (ชม ชมสมบูรณ์) นั่นเอง
Image
ตั้งแต่ทศวรรษ ๒๔๖๐ เราจะพบโฆษณาขายขนมช็อก-
โกแลตตามหน้าหนังสือพิมพ์มากขึ้น เช่นแจ้งความของห้าง
สรรพานิชสโตร์ ที่ลงในหนังสือพิมพ์ จีนโนสยามวารศัพท์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๖๔ โฆษณาว่ามีจำหน่าย

“แพนกเครื่องกระป๋องต่าง ๆ จำหน่ายขายปลีกและขายส่ง
๑ ขนมปังจืดและหวานชนิดต่าง ๆ หลายสิบชนิด ของยี่ห้อบรัพฟินหรือฮันตรีปาเบอร์
๒ ช๊อกโคแรตชนิดหีบหรือห่อและกระป๋องอย่างมีไส้และไม่มีไส้หลายสิบชนิด
๓ ลูกกวาดมีไส้เหล้า ไส้ช็อกโคแรต ไส้ครีม ไส้เมล็ดอารมันต่าง ๆ หลายสิบชนิด
๔ เครื่องกระป๋อง ขวด หีบ ห่อ คาว หวาน มีชนิดต่าง ๆ หลายร้อยชนิด”


ห้างสรรพานิชสโตร์เป็นของหลวงนรเสรฐสนิธ (สัน พานิช ปี ๒๔๑๙-๒๔๙๓) ตั้งอยู่ที่ตำบลสามยอด ถนนเจริญกรุง พระนคร มีชื่อเสียงด้านสินค้าฝรั่ง เช่น สุรา เครื่องกระป๋อง
รวมทั้งโต๊ะบิลเลียด และอุปกรณ์ประกอบ

ดังนั้นเมื่อถึงทศวรรษ ๒๔๗๐ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ช็อกโกแลตจะไปปรากฏตัวในนวนิยายของ “ดอกไม้สด” (หม่อมหลวงบุปผา นิมมานเหมินท์ ปี ๒๔๔๘-๒๕๐๖) อย่างเต็มภาคภูมิ

หนึ่งในร้อย ซึ่งพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี ๒๔๗๘ เป็นตัวอย่างที่พบว่ามีการกล่าวถึงขนมช็อกโกแลตหลายครั้งตลอดทั้งเรื่อง อันน่าจะสะท้อนความนิยมแพร่หลายของขนมขบเคี้ยวชนิดนี้ โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลาง ผู้ดีชาวกรุง เช่น

ตอนที่ ๘
เห็นน้องหาวเป็นคำรบ ๓ แสวงจึงว่า
“เอ๊ะอะไรหาวเอา หาวเอา ง่วงจริง ๆ หรือ”
“โธ่ ถามได้” อนงค์ว่าแล้วยิ้ม “เกือบตี ๒ แล้วนะคะ”
“ยังงั้นเชียวหรือ ? พี่ไปละ เอ้านี่แน่ของฝาก” พูดพลางหยิบห่อช็อกโคเล็ต ๓ เหลี่ยมขนาดใหญ่จากกระเป๋าเสื้อ

“ห่อช็อกโคเล็ต ๓ เหลี่ยมขนาดใหญ่” ในที่นี้ คงหมายถึง ช็อกโกแลตยี่ห้อทอบเบลอโรน (Toblerone) ซึ่งทำเป็นแท่งรูปสามเหลี่ยมมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และในที่นี้ใช้เป็นของฝากสำหรับ (น้อง) สาว

ตอนที่ ๒๒
วิชัยวางจานไว้บนที่รองปีอาโน แล้วก็ออกจากห้องไปตามเฉลียงพอใกล้ห้องที่ตั้งอาหาร พบคนใช้ถือถาดไอสกรีมเที่ยวเดินแจก นายร้อยตรีชัดเดินตามหลังผู้ถือถาดมา และร้องว่า

“ก๊อปี้โส่ย ช็อกกอเล็ตโส่ย โอเล้นช์โส่ย”
มีหนุ่มสาวอยู่ที่นั่นเป็นกลุ่มใหญ่ คนหนึ่งพูดขึ้นว่า

“ลูกสมุนแป๊ะม้อพลัดมาอยู่ที่นี่คนหนึ่ง”
ผู้ที่ไม่เข้าใจคำพูดของชัด ก็เกิดความเข้าใจขึ้นบัดนี้ จึงมีเสียงหัวเราะดังประสานกันหลายเสียง


ในฉากงานเลี้ยงสังสรรค์นี้ เมื่อคนรับใช้ถือถาดไอศกรีมมาเดินแจก นายร้อยตรีชัดซึ่งเดินตามหลังมา ตะโกนขึ้นว่า “ก๊อปี้โส่ย ช็อกกอเล็ตโส่ย โอเล้นช์โส่ย” ล้อเลียนสำเนียงของบ๋อยหรือบริกรในภัตตาคารจีนกวางตุ้ง เพราะ “โส่ย” เป็นภาษากวางตุ้งหมายถึงน้ำ ข้อความตรงนี้คือการเดินเร่ร้อง เรียกว่า (มี) กาแฟ ช็อกโกแลต และน้ำส้ม (มาขาย)
Image
หนึ่งในร้อย ของ “ดอกไม้สด”
ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๐๕

ส่วน “แป๊ะม้อ” เป็นชื่อภัตตาคารจีนย่านถนนราชวงศ์ที่มีชื่อเสียงในยุคทศวรรษ ๒๔๗๐ ผู้ที่ทันพบเห็นเล่าว่า

“แป๊ะม้อนี่คือชื่อร้านอาหารที่ขึ้นชื่อลือนามกระฉ่อนทีเดียวในย่านราชวงศ์ กลางคืนเป็นแน่นทุกคืน ในร้านสว่างไสวด้วยแสงไฟฟ้า หน้าร้านมีตะเกียงจ้าวพายุห้อยแท่งแก้วเป็นเหลี่ยมระย้า พลิกเล่นแสงไฟระยิบระยับ โผล่เข้าไปในร้านจะมองเห็นพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในฉลองพระองค์ชุดราชนาวี ขนาดยี่สิบสี่นิ้ว ติดตั้งอยู่บนหิ้งบูชาเห็นถนัดทีเดียว นัยว่าเจ้าของร้านเป็นที่ทรงโปรดปรานของพระองค์อยู่มากเหมือนกัน”

ตอนที่ ๒๔
ประมาณสักครึ่งชั่วโมงลุงกับหลานจึงกลับมา ช้อยผู้ซึ่งนั่งคอยลูกอยู่บนสนามหน้าเรือนลุกขึ้นไปรับ หนูนิดลุกขึ้นยืนหัวเราะแฉ่งอยู่บนรถ หอบของพะรุงพะรัง ทั้งตุ๊กตา ขนมปัง และช็อกโคเล็ต สีหน้าแสดงความลิงโลดของเด็กทำให้ช้อยอดเสียซึ่งความพลอยชื่นชมด้วยไม่ได้ ถึงกระนั้นหล่อนก็ส่ายหน้าพูดออด ๆ

“ตาย พี่ใหญ่ไปจ่ายอะไรมาเป็นกองสองกองยังงี้ ไม่ไหวจริง ดู๊ ! ยายหนู ช็อกโคเล็ตที่น้านงให้มายังไม่ได้เปิดเลยไปกวนลุงให้ซื้ออีกแล้ว”

หนูนิดหาใฝ่ใจในคำพูดของแม่ไม่ จับโน่นชูนี่และส่งเสียงอวดออกแจ้ว ๆ วิชัยยิ้มแป้นมองดูหลานโดยไม่พูดว่ากระไร ต่อเมื่อสุดเสียงแม่หนูแล้วเขาจึงถามช้อยว่า

“น้านงให้อะไรมาเมื่อไร”

“ให้ช็อกโคเล็ตมา ๑ หีบกับ ๑ กระป๋อง ฝากดิฉันมาเมื่อคืนนี้ แล้วแกสั่งว่าเหมาะ ๆ ดินฟ้าอากาศปลอดโปร่งขอให้ดิฉันกับพี่ใหญ่พาหนูนิดไปที่บ้านแกบ้าง”

ในที่นี้ ทั้งตุ๊กตา ขนมปัง และช็อกโกแลต ทั้งชนิดที่บรรจุมาในหีบ (กล่องใหญ่) และกระป๋อง คือของโปรดของเด็ก ๆ  ที่เมื่อคุณลุงจะเอาใจคุณหลาน ก็ต้องพากันไปเที่ยวซื้อมา
Image
นอกจากนั้นแล้ว โดยมิได้ตั้งใจ ในนวนิยายเรื่อง หนึ่งในร้อย “ดอกไม้สด” ยังบันทึกให้เราเห็นด้วยว่าในทศวรรษ ๒๔๗๐ โอวัลติน (Ovaltine) เครื่องดื่มมอลต์ผสมช็อกโกแลต มีฐานะเป็นเครื่องดื่มบำรุงกำลังสำหรับผู้อ่อนเพลียหรือคนป่วย สอดคล้องกับโฆษณาร่วมยุคซึ่งมักนำเสนอโอวัลตินในฐานะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

ตอนที่ ๓๑
ช้อยอาสาไปชงโอวัลตินให้พี่ชาย วิชัยเปลี่ยนเสื้อชั้นในใหม่
เพราะเสื้อตัวที่สวมอยู่เหม็นกลิ่นบรั่นดีออกฟุ้ง เสร็จแล้วก็ลงนอนตามเดิม มีความปวดร้าวตั้งแต่ต้นคอตลอดถึงปลายผม แข็งใจพูดเล่นกับชัดเพื่อฆ่าเวลาจนกว่าจะได้อาหารพอดื่มโอวัลตินหมดถ้วย วิชัยกล่าวขอบใจน้องทั้ง ๒ แล้วก็ไล่ให้ไปนอน ช้อยยังปัดยุงในมุ้ง ชัดก็ยังรออยู่ จนเสร็จกิจนั้นแล้วกำชับซ้ำว่า “แล้วอย่าลุกขึ้นเขียนหนังสืออีกล่ะ” ซึ่งพระอรรถคดีฯ พยักหน้าพร้อมกับหัวเราะ ชัดกับช้อยออกจากห้องไป

ยุคทศวรรษ ๒๔๗๐-๒๔๘๐ ปรากฏชัดเจนว่ามีความรับรู้ในหมู่ชนชั้นผู้ดีชาวบางกอก ว่าทั้งโอวัลติน โกโก้ และนม เป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ เช่นเดียวกับปอสตัม (Postum) เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากสหรัฐฯ ที่ผลิตด้วยธัญพืช ซึ่งมีจุดขายมาแต่ต้นว่าเพื่อใช้ดื่มแทนกาแฟ (ซึ่งไม่มีประโยชน์) ดังปรากฏในหนังสือ หลักของการเรือนประเภทที่ ๑ เรื่องการครัว จัดโต๊ะอาหาร-รับแขก ของหม่อมหลวงปอง มาลากุล (พี่สาวของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล) แห่งโรงเรียนสตรีวิสุทธิคาม แผนกการช่างและการเรือน กล่าวแนะนำหลักการชงเครื่องดื่มร้อนและเย็นไว้ตอนหนึ่งว่า

“การชงโกโก้ โอวัลติน หรือปอสตัม ตลอดจนแป้งและนมสำหรับเด็กทุกชนิด ไม่ควรใช้น้ำเดือดจัด แต่ใช้น้ำซึ่งเดือดแล้วสักครู่  เพราะน้ำเดือดจะทำลายสิ่งที่มีประโยชน์ในของนั้น ๆ ไปเกือบสิ้น  โกโก้และปอสตัมประมาณ ๑-๒ ช้อนชาต่อน้ำ ๑ ถ้วยกับนม ๑ ช้อนคาว โอวัลติน ๑ ช้อนคาวต่อน้ำ ๑ ถ้วยกับนม ๑ ช้อนหวาน น้ำตาลเล็กน้อย แป้งและนมสำหรับเด็ก ใช้ตามขนาดอายุ ซึ่งมีบอกไว้ที่ขวดและกะป๋องนั้น ๆ”
Image
อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ผู้ล่วงลับ เคยเขียนเล่าไว้ในคอลัมน์ “วาบความคิด” ของ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ ๑๐๒๘ วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราวปลายทศวรรษ ๒๔๘๐ มีทหารสัมพันธมิตรเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย เวลานั้น

“...ทหารอเมริกันเป็นทหารเศรษฐี มียุทโธปกรณ์และเครื่องบำรุงความสุขพร้อมมูล หลังอาหารทุกมื้อเขาจะได้รับแจกของกินหลังอาหารแพ็กไว้ในอับโลหะแบน ๆ ทาสีเขียวเข้ม เรียกว่า ration “ในอับมีผงกาแฟ ๑ ซองกระดาษใย สำหรับแช่น้ำร้อนชงได้เลย, มีน้ำตาล ๑ ซอง-๔ ก้อน, ครีม ๑ ซอง, มีช็อกโกแลต ๑ ซอง-๔ ก้อน, มีบุหรี่อเมริกัน ๔ มวน, ไม้ขีดกระดาษใช้แผงกระดาษแข็งพับหุ้ม ๑ แผง นี่คือเครื่องบริโภคหลังอาหารของทหารอเมริกัน

“ตามถนนที่จอแจในกรุงเทพฯ จะมีเด็กชายอายุ ๕ ขวบถึง ๑๐ ขวบ ไม่ว่าลูกไทย-ลูกจีน ชูกล้วยหอม ๑ หวีดักหน้าทหารอเมริกัน พลางร้องว่า ‘โอเค, ซิกาแร็ต’ เพื่อขอแลกบุหรี่หรือแท่งช็อกโกแลตกับกล้วยหอมตามแต่จะชูนิ้วต่อรองกันว่า บุหรี่กี่มวน, ช็อกโกแลตกี่ก้อน แลกได้กล้วยหอมกี่ลูก”

ไม่กี่เดือนให้หลัง คอลัมน์ “ซองคำถาม” ในนิตยสารสารคดี ฉบับที่ ๑๘๖ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๓ จึงนำข้อเขียนของคุณอาจินต์มาอ้างไว้ เมื่อมีคำถามถึงที่มาของวลี “โอเค ซิกาแรต” และน่าจะเป็นต้นทางของการอ้างอิงเรื่องดังกล่าวสืบมา
Image
เสบียงสนามแบบซี (C-ration) ของทหารสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กระป๋องด้านขวาคือเสบียงสนามชุดบี (B unit) ส่วนในฝากระป๋องที่มุมขวาล่างคือ “กุญแจ” ที่เปิดกระป๋อง ซึ่งม้วนเอาแถบโลหะที่ผนึกกระป๋องออกแล้ว 
ภาพของกระทรวงกลาโหม สหรัฐฯ จาก https://www.defense.gov

สิ่งที่คุณอาจินต์เคยพบเห็น เมื่อเทียบเคียงกับข้อมูลที่หาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ คือเสบียงสนามแบบซี (fif ield ration type C เรียกย่อ ๆ ว่า C-ration) ซึ่งทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้รับแจกจ่ายในสมรภูมิ มีครบทั้งอาหารหลัก (M-unit) สามมื้อ (breakfast/dinner/supper) พร้อมของหวานล้างปาก และเครื่องประกอบ

อย่างที่คุณอาจินต์เล่าไว้ว่า “หลังอาหารทุกมื้อเขาจะได้รับแจกของกินหลังอาหารแพ็กไว้ในอับโลหะแบน ๆ ทาสีเขียวเข้ม” นั่นคือสิ่งที่เรียกว่าเสบียงสนามชุดบี (B-unit) ของทหารอเมริกัน ซึ่งเป็นของหวานและเครื่องดื่มหลังอาหารแต่ละมื้อ ประกอบด้วยขนมปังกรอบ กาแฟผงสำเร็จรูป หรือผงโกโก้หรือน้ำมะนาวผง น้ำตาลก้อน และลูกกวาด หรือถั่วลิสงเคลือบน้ำตาล หรือช็อกโกแลต 

ทั้งอาหารมื้อและของหวานบรรจุมาในกระป๋องโลหะ (หรือ
“อับ” ตามคำของคุณอาจินต์) สีเขียวเข้ม พร้อมตัวอักษรระบุว่าเป็นมื้อใด ประเภทใด  กระป๋องนี้จะเปิดด้วยกุญแจที่ติดมาตรงก้นกระป๋องของเสบียงสนามชุดบี สอดเข้าไปกับปลายแถบโลหะที่ผนึกกระป๋องมา แล้วหมุนม้วนเอาแถบโลหะออกให้ครบรอบกระป๋อง ก็จะพับฝาเปิดขึ้นมาได้ ทำนองเดียวกับที่เปิดกระป๋อง

ส่วนบุหรี่และไม้ขีดไฟบรรจุรวมกับหมากฝรั่ง กระดาษชำระและเม็ดละลายฆ่าเชื้อสำหรับใส่น้ำกิน (water purif ification tablets) รวมอยู่ในชุดเสริม (accessory packet) ซึ่งห่อกระดาษแยกมาต่างหาก

พร้อมกับการเข้ามาของกองทัพสัมพันธมิตรเพื่อปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในครั้งนั้น ช็อกโกแลต (และซิกาแรต) จึงน่าจะแพร่หลายไปสู่บรรดาเด็กผู้ชายทั้งเด็กไทยเด็กจีนในกรุงเทพฯ อีกไม่น้อย
Image
เมื่อถึงทศวรรษ ๒๔๙๐ “โกโก้” และ “ช็อกโกเลต” ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนไทยจนพาตัวเองเข้าไปอยู่ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เป็นที่เรียบร้อย โดยโกโก้ได้รับนิยามว่าเป็นเครื่องดื่ม ส่วนช็อกโกเลตเป็นชื่อขนม

“โกโก้ น. ชื่อเครื่องดื่มที่ทำมาจากเมล็ดผลโกโก้, พรรณไม้
ชนิดหนึ่ง (Theobroma cacao อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae)” และ 

“ช็อกโกเลต น. ชื่อขนมชนิดหนึ่งทำด้วยผลเม็ดโกโก้ (อ.)”


วงเล็บ (อ.) ข้างท้ายคำอธิบายนั้นเป็นตัวย่อ มีความหมายว่าเป็นคำที่มาจากภาษาอังกฤษ

จนถึงพจนานุกรมฉบับล่าสุดก็ยังคงกำหนดนิยามในทำนองเดียวกันกับฉบับปี ๒๔๙๓ นั่นเอง

ในเวลาใกล้เคียงกันคือทศวรรษ ๒๔๙๐ ต่อ ๒๕๐๐ เต็ม สมิตินันทน์ (ปี ๒๔๖๓-๒๕๓๘) นักพฤกษศาสตร์ชาวไทยคนสำคัญ รับหน้าที่เขียนอธิบายคำว่า “โกโก้” ใน สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรก ๆ ที่มีคำพรรณนาภาษาไทยในเชิงพฤกษศาสตร์ของต้นไม้ชนิดนี้ พร้อมกับยังคงอ้างอิงประวัติฉบับพระยาวินิจวนันดร

“โกโก้ ไม้ต้นขนาดเล็กแตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม วงศ์ Sterculiaceae ที่นักพฤกษศาสตร์ขนานนามไว้ว่า Theobroma cacao ต้นสูง ๒-๕ ม. ใบรูปรีแกมรูปบรรทัด ปลายมีติ่งแหลม ก้านใบสั้น เนื้อใบบางสีเขียวสด บางทียาวถึง ๓๐ ซม. ดอกเล็ก ออกเป็นกระจุก ๆ ตามกิ่งและลำต้น กลีบชั้นนอกสีชมพู ชั้นในสีเหลือง ผลรูปรีแกมรูปกรวย สีเหลืองฉาบแดง เปลือกหนา ผิวเกลี้ยง ปลายชี้ลง ยาว ๑๘-๒๔ ซม. โตวัดผ่าศูนย์กลาง ๙ ซม. เมล็ด สีเนื้อ เมล็ดของพรรณไม้ชนิดนี้เมื่อป่นเป็นผงแล้วใช้บริโภคเป็น เครื่องดื่มประเภทน้ำชากาแฟหรือทำขนมต่าง ๆ ชาวเมกสิกัน เรียกผงโกโก้นี้ว่า “Chocolate” ชาวอังกฤษเรียกต้นโกโก้ว่า “Chocolate tree” โกโก้เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทางทวีปอเมริกาแถบร้อน และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ออกดอกเป็นผลเป็นระยะ ๆ ตลอดปี ได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นประเภทไม้ประดับแปลก ๆ เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีที่แล้วมา แต่ไม่แพร่หลายนักปัจจุบันได้มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นโกโก้กันบ้าง” 
Image