ดาลัตมิลก์
มรดกฝรั่งเศสบนที่ราบสูง
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ภาพประกอบ : ไพลิน จิตรสวัสดิ์
ทุกครั้งที่ไปเที่ยวเวียดนาม นอกจากขนมจีน-หมูย่าง (bún chả/บู๊นจ๋า/กินกับน้ำปลารสเค็มหวานและผักหลายชนิด) อาหารอีกชนิดที่ผมพยายามไม่พลาดคือนมและโยเกิร์ต ซึ่งเวียดนามทำได้ดีไม่แพ้ฝรั่ง
โยเกิร์ตและนมสดยี่ห้อที่เป็นแรร์ไอเท็ม (rare item ของหายาก/ของเฉพาะ) ซึ่งนักท่องเที่ยวกระแสหลักไม่รู้จัก แต่คนท้องถิ่นกินกันจนคุ้นเคยคือดาลัตมิลก์ (Dalat Milk) ซึ่งผลิตจากฟาร์มบนที่ราบสูงตอนกลาง (คนต่างชาติมักเรียกทับศัพท์ว่าเซ็นทรัลไฮแลนด์-Central Highland) ของเวียดนาม
ที่ราบสูงแห่งนี้ตั้งอยู่ค่อนไปทางภาคใต้ ทิศตะวันตกติดกัมพูชา ทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ ล้อมรอบด้วยพื้นที่ราบสลับเนินเขา ตั้งแต่ยุคอาณานิคม ชาวฝรั่งเศสมาสร้างเมืองตากอากาศที่นี่ เพราะอากาศเย็นสบายตลอดปี (อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๐-๒๕ องศาเซลเซียส) เนื่องจากระดับความสูง มีการนำโคนมเข้ามาเลี้ยงเพื่อผลิตอาหารบริโภคในชีวิตประจำวัน
ดาลัต (Đà Lạt) หนึ่งในเมืองสำคัญของที่ราบสูงแห่งนี้ยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวมาถึงยุคปัจจุบัน พื้นที่ชนบทของเมืองนี้มีเอกชนหลายรายเข้ามาทำฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเลี้ยงโคนมเพื่อนำน้ำนมและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
ในเวียดนาม ดาลัตมิลก์อาจไม่ใช่แบรนด์ที่มีอิทธิพลเท่าวินนามิลค์ (Vinamilk) ซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่หลังสงครามเวียดนามสงบในปี ๒๕๑๘/ค.ศ. ๑๙๗๕ แต่ทั้งสองแบรนด์มีจุดร่วมเดียวกันในประวัติศาสตร์ คือประสบความสำเร็จหลังจากรัฐบาลนำนโยบาย “โด่ยเหมย” (Đồi Mới/คิดใหม่) และเศรษฐกิจแบบตลาดมาใช้ (โดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามยังคงผูกขาดอำนาจทางการเมืองไว้เช่นเดิม) ตั้งแต่ปี ๒๕๒๙/ค.ศ. ๑๙๘๖
ฟาร์มของดาลัตมิลก์ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน หลักเจื่อง (Lạc Trơừng) ตำบลจูจา (xã Tu Tra) อำเภอเดินเซือง (Đơn Dương) จังหวัดเลิ่มดง (Lam Dong) ห่างจากเมืองดาลัต ๓๕ กิโลเมตร
ก่อนปี ๒๕๕๒/ค.ศ. ๒๐๐๙ ที่นี่เคยเป็นฟาร์มของรัฐบาล (Phi Vang State Dairy Farm) ก่อนถูกโอนให้หน่วยงานกึ่งรัฐวิสาหกิจ (Dalat Milk Joint Stock Company) เข้ามาบริหาร และส่งผลิตภัณฑ์ดาลัตมิลก์จำหน่ายทดสอบตลาดเป็นครั้งแรกในปี ๒๕๕๒ ต่อมาการเน้นผลิตภัณฑ์เพียงสองชนิด คือนมและโยเกิร์ต ทำให้จุดยืนการตลาดของดาลัตมิลก์ชัดเจนแตกต่างกับรายใหญ่ในตลาด อย่างวินนามิลค์ ที่มีผลิตภัณฑ์นมหลากหลายกว่า
ฟาร์มของดาลัตมิลก์ยังนำแนวคิดด้านการท่องเที่ยวมาใช้โดยตกแต่งสถานที่คล้ายฟาร์มในทวีปยุโรปและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมโดยไม่คิดค่าผ่านประตู เพียงแต่แสดงบัตรประชาชนหรือใบขับขี่ก็เข้าไปตื่นตาตื่นใจกับทิวทัศน์อันงดงามได้ โดยเฉพาะช่วงเดือนตุลาคม-มกราคม ของทุกปี ทั้งฟาร์มจะเต็มไปด้วยดอกทานตะวันที่บานสะพรั่งเต็มท้องทุ่ง และอากาศที่เย็นสบายราวกับอยู่ในยุโรป
หากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจะทิ้ง “มรดกด้านบวก” อะไรไว้ให้เวียดนามบ้าง นอกจาก “ขนมปังฝรั่งเศส” (bánh mìì)
ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกแล้ว คงเป็นดาลัตมิลก์ที่กลายเป็น “ของคู่ตู้เย็น” ในบ้านคนเวียดนาม
โดยเฉพาะโยเกิร์ต มีทั้งแบบถ้วยเล็กและกระปุกขนาดใหญ่ รสชาติดีกว่าโยเกิร์ตไทยหลายยี่ห้อ ส่วนมากผมมักซื้อกระปุกใหญ่ขนาด ๕๐๐ กรัมในราคาราว ๔๑,๐๐๐ ดอง (ประมาณ ๖๐ บาท) มากินเพราะได้ปริมาณจุใจ แต่ความตั้งใจที่จะโหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบินเอามากินที่ไทยก็ต้องพับไปเพราะโยเกิร์ตบูดเร็วมาก
เลยต้องกินให้หมดที่เวียดนาม เก็บกลับมาเพียงกระปุกเปล่าเป็นที่ระลึกเท่านั้น