Image
ขบวนรถไฟมุดผ่านอุโมงค์ต้นไม้ก่อนเข้าสถานี (รถไฟในภาพ : รถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom AD24C)
หมุดรถไฟ
สถานีเช็กอิน
Foto Essay
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
ขุนตาล
อุโมงค์รถไฟ
แห่งแรก

Image
Image
อุโมงค์รถไฟขุนตานสร้างลอดผ่านดอยขุนตาน เทือกเขาผีปันน้ำ ที่กั้นระหว่างสถานีขุนตาน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน กับสถานีแม่ตาลน้อย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง  แล้วเสร็จในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ จากสมัยเจ้ากรมรถไฟ ลูอิส ไวเลอร์ วิศวกรชาวเยอรมัน ที่ตกเป็นเชลยศึกเมื่อฝ่ายอักษะแพ้สงคราม

เปิดใช้มาตั้งแต่ปี ๒๔๖๑ จนปัจจุบัน เป็นอุโมงค์รถไฟยาว ๑.๓๕ กิโลเมตร ครองสถิติอุโมงค์ยาวที่สุดมายาวนาน แต่กำลังจะเสียแชมป์ให้อุโมงค์รถไฟระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ ยาวกว่า ๕ กิโลเมตร ที่กำลังจะเปิดใช้งานในอนาคตอันใกล้นี้
รถจักรดีเซลไฟฟ้า QSY
สะพานขาว
(ราวแสร้งว่า)
ทาชมภู

Image
"สะพานขาวทาชมภู” เป็นสะพานโค้งทาสีขาว  ส่วนทาชมภูน่าจะเป็นนามหมู่บ้านที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในเมืองไทย คือเป็นสะพานรถไฟโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กแทนที่จะเป็นสะพานเหล็กอย่างสะพานรถไฟทั่ว ๆ ไป

ที่มาจากยุคสงครามโลกครั้งที่ ๑ ช่วงปี ๒๔๖๔ เกิดวิกฤตขาดแคลนเหล็กเจ้ากรมรถไฟเวลานั้นจึงต้องใช้วัสดุอื่นทดแทน ซึ่งวิศวกรยุโรปปรามาสว่าคงมีอายุการใช้งานไม่นาน เนื่องจากคอนกรีตไม่สามารถทนแรงสะเทือนของขบวนรถและน้ำหนักกดเพลาที่มากถึง ๑๕ ตันได้มากอย่างเหล็ก

แต่วิศวกรชาวไทยแก้โดยการทำรอยต่อไว้บนสะพาน ให้ตัวสะพานขยับเขยื้อนได้เมื่อขบวนรถวิ่งผ่าน ทำให้ทนแรงกระแทกและช่วยทดแรงสั่นสะเทือนได้

สะพานยังคงใช้งานอยู่จนปัจจุบัน
รถจักรดีเซลไฟฟ้า QSY
แม่นํ้าวัง
ขัวดำ ลำปาง
Image
สะพานรถไฟแทบทุกแห่งมักถูกเรียกว่าสะพานดำตามสีที่ทา ซึ่งตามข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกว่าหนาถึงหกชั้น และไม่ได้เป็นสีดำทั้งหมด

สามชั้นแรกทาด้วยสีน้ำตาล ทับด้วยขาว เทา และดำ จึงได้ชื่อว่าสะพานดำ  แต่สะพานเหล็กกล้าจากเยอรมนีทาสีดำที่ทอดข้ามแม่น้ำวังกลางเมืองลำปาง คนท้องถิ่นเรียกตามคำเมืองว่าขัวดำ

และเช่นเดียวกับสะพานรถไฟแทบทุกแห่งที่ต้องถูกทำลายจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขัวดำย่อยยับเมื่อปี ๒๔๘๗ และได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่จนใช้งานได้อีกครั้งเมื่อปี ๒๕๐๙  จนปัจจุบันนอกจากเป็นสะพานข้ามแม่น้ำวังของรถไฟบางขบวน ริมฝั่งแม่น้ำยังมีสวนสาธารณะสะพานดำเป็นพื้นที่สีเขียวของชาวเมืองด้วย
Image
รถจักรดีเซลไฟฟ้า QSY
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์
รถไฟลอยน้ำ
ป่าสักชลสิทธิ์

Image
เมืองไทยมีถนนลอยฟ้าอยู่หลายสาย แต่รถไฟลอยน้ำเพิ่งเป็นที่รู้จัก หลังจากมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี

แต่เดิมทางรถไฟระหว่างชุมทางแก่งคอย-ชุมทางบัวใหญ่ ช่วงสถานีแก่งเสือเต้นถึงสถานีลำนารายณ์ ผ่านไปกลางท้องทุ่ง ทิวป่า และชุมชน เช่นเดียวกับช่วงอื่น ๆ ตลอดเส้นทาง จนเมื่อสร้างเขื่อนปิดกั้นแม่น้ำป่าสักช่วงเหนือขึ้นมาจากสถานีแก่งเสือเต้น บนพื้นที่โครงการ ๑.๐๕๓ แสนไร่ เกิดอ่างเก็บน้ำขนาด ๙๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เอ่อท่วมพื้นที่อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำ และพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำ ไร่นา ชุมชนรวมทั้งทางรถไฟบางช่วงจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้ต้องสร้างขึ้นใหม่

อาจเพื่อให้ใช้พื้นที่ง่ายโดยไม่ต้องมีการเวนคืนเพิ่ม หรือรวมทั้งการหวังผลต่อเนื่องด้านการท่องเที่ยวทางรถไฟจึงถูกสร้างขึ้นใหม่ในลักษณะสะพานทอดไปเหนือผิวน้ำ ช่วงสถานีรถไฟโคกสลุงมุ่งไปทางเหนือ เป็นระยะยาวไกลจนลับโค้งหายไปหลังทิวป่าไกลลิบ ๆ

ยามมีรถไฟแล่นผ่าน หน้าน้ำเต็มฝั่ง มองจากไกล ๆ แลเหมือนรถไฟแล่นไปบนผิวน้ำ
scrollable-image
 รถดีเซลรางฮิตาชิ (RHN)
กษัตริย์ศึก
สะพานข้ามทางรถไฟแห่งแรก
Image
Image
เมื่อสถานีกรุงเทพ หรือหัวลำโพง ที่เปิดใช้มาตั้งแต่ปี ๒๔๕๙ เริ่มมีรถไฟเข้าออกถี่ขึ้น ก็ส่งผลถึงการจราจรบนถนนเส้นที่ตัดกับทางรถไฟ จึงมีการสร้างสะพานข้ามทางรถไฟกษัตริย์ศึกขึ้นเป็นแห่งแรกเมื่อปี ๒๔๗๐ ซึ่งยังใช้มาจนปัจจุบัน

นอกจากเป็นสะพานข้ามทางรถไฟและข้ามคลองผดุงกรุงเกษม บนทางเท้าด้านทิศใต้ของสะพานยังเป็นมุมถ่ายภาพรถไฟสวยแปลกตาและครบองค์ประกอบที่สุดก็ว่าได้

มองเห็นสถานีต้นทางหัวลำโพงเป็นฉากหลัง รางรถไฟเรียงขนานกันหลายราง ขนาบสองข้างด้วยทิวตึกแถวเป็นกำแพง

เป็นพื้นฉากอันนิ่งงันอยู่อย่างนั้นทั้งวันทั้งคืน จนในยามที่มีขบวนรถไฟแล่นเข้า-ออก เสียงหวูดและควันจะทำให้ภาพนิ่งตรงหน้าเกิดความเคลื่อนไหวมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที
หัวรถจักรไอน้ำญี่ปุ่นแปซิฟิก CX50
สะพานพระราม ๖
สะพานแรกข้ามเจ้าพระยา
Image
สะพานแรกที่ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสะพานทางรถไฟที่สร้างเชื่อมสายเหนือกับสายใต้ ชื่อสะพานพระราม ๖ นามพระราชทานจากรัชกาลที่ ๗ เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ รองรับการเดินรถไฟและสะพานสำหรับรถยนต์ รวมทั้งทางเดินเท้าทั้งสองด้านตั้งแต่แรกสร้างเคยโดนระเบิดถล่มเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และบูรณะเปิดใช้งานอีกครั้งเมื่อปี ๒๔๙๖

กระทั่งปี ๒๕๓๕ มีการสร้างสะพานพระราม ๗ เป็นทางรถยนต์โดยเฉพาะ  ส่วนสะพานพระราม ๖ วางรางเพิ่มทางคู่ช่วงบางซื่อ-นครปฐม เปิดใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖

แต่ปัจจุบันขบวนรถไฟทางไกลทั้งหมดเปลี่ยนไปใช้สะพานปูนร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง  บนสะพานโครงเหล็กพระราม ๖ เหลือแต่ขบวนรถชานเมืองวิ่งผ่านวันละไม่กี่เที่ยว
Image
รถดีเซลรางโตคิวชาเรียวเอ็นเคเอฟ (NKF)
ตลาดร่มหุบ
รถไฟมาแล้ว หุบร่มเร็ว !

Image
อาจมีที่เดียวในโลกและตอนนี้ก็เป็นกระแสในระดับโลก ถึงขั้นมีกรุ๊ปทัวร์พาฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ มาดู “ตลาดร่มหุบ” แห่งแม่กลอง สมุทรสงคราม ซึ่งตลาดและรางรถไฟอยู่ร่วมบนพื้นที่เดียวกัน คอยผลัดเปลี่ยนกันใช้พื้นที่แบบฉับพลันปานพลิกฝ่ามือ

เดิมตลาดแม่กลองเป็นเช่นตลาดสดทั่วไปที่ซื้อขายจับจ่ายกันในหมู่คนท้องถิ่น แต่ทุกวันนี้พื้นที่บางส่วนกลายเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร สำหรับนั่งกินดื่มรอชมขบวนรถไฟที่เคลื่อนเบียดผ่ากลางตลาด ก่อนไปสุดปลายทางที่สถานีแม่กลอง ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง

ขบวนรถไฟจอดที่สถานี ๒๐-๖๐ นาที แล้วแต่ขบวน ก่อนย้อนกลับ ตลาดจะหุบร่มอีกครั้ง คนที่ตั้งใจมาดูรถไฟวิ่งผ่านตลาดสามารถรอชมสองรอบในช่วงไม่เกิน ๑ ชั่วโมง
รถดีเซลรางโตคิวชาเรียวเอ็นเคเอฟ (NKF)
ตามความเป็นมาบันทึกว่า แต่เดิมแผงร้านค้าในตลาดแม่กลองจะใช้ร่มตั้งพื้นขนาดใหญ่กางคลุม ซึ่งตัวตลาดขยายคลุมไปถึงบนรางรถไฟ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ยามมีขบวนรถแล่นมาทุกแผงต้องหุบร่ม เปิดทางให้รถไฟวิ่งผ่าน เป็นที่มาของชื่อ “ตลาดร่มหุบ”

ปัจจุบันร้านส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้เพิงผ้าใบกันสาด มีเสาเหล็กค้ำสองมุมยื่นออกมาคร่อมราง  พอรถไฟมาก็โยกเสากลับ เพิงผ้าใบหุบพับออกไปพ้นตัวรถไฟ  ส่วนแผงที่วางของขายใช้ระบบเลื่อนและมีรางเหล็กวางตั้งฉากกับรางรถไฟ สำหรับเลื่อนออกมาจนเกือบชิดราง และเลื่อนกลับได้อย่างฉับไวเมื่อรถไฟมา

เป็นตลาดและทางรถไฟที่เปลี่ยนฉากฉับไวเหมือนการสลับฉากละคร เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของคนนอกที่มาเห็น จนตลาดสดแม่กลองได้นามใหม่ว่าตลาดร่มหุบ เป็นแลนด์มาร์กและจุดเช็กอินขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม
Image
รถดีเซลรางโตคิวชาเรียวเอ็นเคเอฟ (NKF)
ภาพ : สกล เกษมพันธุ์
ภูเขา ทะเล รถไฟ
Image
ทางรถไฟสายใต้แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีช่วงที่เลียบริมทะเล โดยเฉพาะเมื่อผ่านสถานีหนองแกไปแล้ว นอกจากทางรถไฟทอดใกล้ชายทะเล อีกฟากหนึ่งยังมีวัดเขาสนามชัยตั้งอยู่บนยอดเขาสูง

จากบนนั้นจะมองเห็นทะเลได้กว้าง ๑๘๐ องศา จากเส้นขอบฟ้าเข้ามาถึงชายหาด ชุมชน อาคาร ย่านที่อยู่อาศัย รางรถไฟ ทิวป่าไล่มาจนจดตีนเขา เป็นฉากอลังการ รอการเลาะเลื้อยมาของขบวนรถไฟ ทั้งสายไกลสุดแดนใต้ที่ยาวเป็นสิบตู้โดยสาร หรือที่มีเพียงสามตู้โดยสารของขบวนรถสายท้องถิ่น

เป็นมุมแปลกตาที่น่าชม และเป็นที่นิยมสำหรับคนชอบถ่ายภาพเช็กอิน
Image
รถจักรดีเซลไฟฟ้า GEA
สะพานจุลจอมเกล้า
เหล็ก/โค้ง/คางหมู
Image
สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำตาปีที่ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เดิมสร้างเป็นโครงเหล็กโค้ง แต่ได้รับความเสียหายช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อซ่อมแซมได้เปลี่ยนเป็นโครงรูปสี่เหลี่ยมคางหมูแบบเดียวกับสะพานพระราม ๖ ที่ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ

โครงสร้างสะพานแบ่งเป็นสามช่วง ความยาวรวม ๒๐๐ เมตร ด้านกว้างข้างรางรถไฟยังมีพื้นที่ให้ถนนสองช่องจราจร ให้รถใช้สะพานร่วมกับรถไฟไปได้ด้วย

เปิดใช้เมื่อปี ๒๔๙๖  รัชกาลที่ ๙ พระราชทานชื่อว่าสะพานจุลจอมเกล้า แต่คนในท้องถิ่นยังเรียกสะพานโค้งตามชื่อเดิม ปัจจุบันสะพานส่วนที่เคยเป็นช่องจราจรไม่ได้ใช้สำหรับรถอีกแล้ว กลายเป็นลานพักผ่อน ออกกำลังกายและเป็นที่ทำกิจกรรมของคนในชุมชนรอบ ๆ สะพาน  สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับรถไฟที่ไม่เสื่อมคลาย
รถจักรดีเซลไฟฟ้า GE
ปัจจุบันสะพานส่วนที่เคยเป็นช่องจราจรไม่ได้ใช้สำหรับรถอีกแล้ว กลายเป็นลานพักผ่อน ออกกำลังกายและเป็นที่ทำกิจกรรมของคนในชุมชนรอบ ๆ สะพาน  สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับรถไฟที่ไม่เสื่อมคลาย
Image
รถไฟในภาพวาดกราฟฟิตี
รถดีเซลรางแดวู (APD20)

ดีจัง จันดี :
สะพานรถไฟธาตุน้อย 
พ่อท่านคล้าย

Image
Image
คลองจันดีถือเป็นเส้นแดนเชื่อมต่ออำเภอฉวางกับอำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ “สะพานจันดี” นอกจากเชื่อมรางรถไฟสองฝั่ง ยังเป็นจุดเชื่อมผู้คนสองฝั่งคลองที่ต่างมาใช้เป็นที่พักผ่อน เล่นน้ำ เป็นลานกิจกรรม รวมทั้งเป็นสนามที่ฝึกวัวชน

ป้ายบนสะพานในวันนี้บอกอายุ “สะพานโค้ง ๑๑๘ ปี” ข้อมูลบอกว่าเป็นสะพาน “โครงขึ้นแบบหน้าอูฐ” มีสองช่วง ยาวช่วงละ ๕๐ เมตร
สะพานรถไฟส่วนใหญ่เป็นสะพานเหล็กสีดำเหมือนกันแทบทุกแห่ง อาจมีเฉพาะสะพานคลองจันดีเท่านั้น ที่ริมฝั่งคลองยังเป็นพื้นที่ฝึกซ้อมวัวชนนำวัวลงเดินวนในน้ำฝึกกล้ามขาให้แข็งแกร่ง

รถจักรดีเซลไฟฟ้า Alsthom AD24C
จากตัวสะพานตามทางรถไฟไปทางใต้ ๕๐๐ เมตร เป็นที่ตั้งของวัดธาตุน้อย ที่มีเจดีย์พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ อยู่ข้างโค้งทางรถไฟ  และใกล้ ๆ กันก็มีสะพานข้ามทางรถไฟ  จากบนนั้นจะมองเห็นภาพมุมกว้างของศาสนสถาน บ้านเรือน เรือกสวน ทุ่ง ป่า และทางรถไฟ เรียงรายเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวงดงาม กลายเป็นจุดถ่ายภาพมุมสูงอันเหมาะเจาะแบบไม่ต้องพึ่งเครื่องมืออุปกรณ์

จังหวะดี ๆ แดดดี จากมุมนี้ใครก็ถ่ายภาพออกมาสวยทั้งนั้น