Image
เล่ารถไฟแบบนายแฮมมึน
คุยกับแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย
ว่าด้วยการออกเดินทางครั้งใหม่
เพื่อเล่าเรื่องรถไฟสู่หัวใจของผู้คน
Train Stories
เรื่อง : อิทธิกร ศรีกุลวงศ์
ภาพ : วันวิสข์ เนียมปาน
ในอดีตการก่อร่างวางระบบรางรถไฟได้เชื่อมต่อเมืองสำคัญน้อยใหญ่ทั่วประเทศไทย ยกระดับการคมนาคมขนส่งทางบก ทั้งการขนส่งสินค้าและการเดินทางของผู้คน แต่ในวันที่รถไฟขบวนเดิมอาจวิ่งไม่ทันวิถีชีวิตที่รวดเร็วขึ้น ใครเล่าจะทำหน้าที่เชื่อมต่อรถไฟกับผู้คน หากไม่ใช่เหล่า “กูรู” ผู้รู้ลึกรู้จริงเรื่องรถไฟ ที่คอยเล่าเรื่องราวน่ารู้ เชิญชวนผู้โดยสารทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่กลับมาต่อแถวซื้อตั๋วขึ้นรถไฟอยู่เสมอ
วันนี้เรามีโอกาสต่อสายไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อคุยกับแฮม-วันวิสข์ เนียมปาน ชายวัย ๓๖ ปี ผู้ทำงานในหน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่งเป็นอาชีพหลัก และสื่อสารเรื่องรถไฟเป็นอาชีพเสริม เจ้าของเพจ “ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน” ผู้เข้าร่วมแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ ซูเปอร์แฟน “รถไฟไทย” ที่ออกอากาศในปี ๒๕๖๐ และคอลัมนิสต์เจ้าของคอลัมน์ “Along the Railroad” ในนิตยสารออนไลน์ The Cloud หนึ่งในกูรูรถไฟคนแรก ๆ ที่ผู้คนมักนึกถึง ผู้ซึ่งกำลังเข้ารับการอบรมเฉพาะทางด้านรถไฟกับบริษัทรถไฟเอกชนชั้นแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น

วันนี้แฮมมาคุยกับเราด้วยหมวกของนักสื่อสารเรื่องรถไฟ ชวนเรานั่งมองทิวทัศน์นอกหน้าต่างพลางพูดคุยจากสถานีต้นทาง “รถไฟที่แค่รู้จัก” ถึงสถานีปลายทาง “รถไฟที่ผูกพันเป็นครอบครัว”
Image
“กำแพงที่กั้นระหว่างคนกับรถไฟมันสูงมากเลยนะ คนจำนวนไม่น้อยมองว่ารถไฟเป็นตัวเลือกสุดท้ายในการเดินทาง ตอนเด็ก ๆ พอเราบอกคนอื่นว่าชอบรถไฟก็จะถูกมองเป็นเด็กไม่ปรกติ”

แฮมชื่นชอบรถไฟเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่วัยเยาว์ ชอบขนาดรีบออกไปดูรถไฟวิ่งผ่านข้างบ้านทุกวัน แค่ฟังเสียงก็บอกได้ว่าคือรถไฟขบวนไหน แต่ต้องเก็บความชอบนั้นเป็นความลับรู้แค่คนในครอบครัว เนื่องจากเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ รอบตัวไม่มีใครชอบรถไฟเลย

แฮมปิดกั้นตนเองอยู่แบบนั้นกระทั่งขึ้นมัธยมฯ เมื่ออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้าถึง เขามีโอกาสไปสมัครเว็บบอร์ดของรถไฟไทยดอทคอม ซึ่งพาให้เขาได้รู้จักชุมชนคนรักรถไฟเหมือนกับที่เขาเป็น

“พอเราเจอคนที่ชอบรถไฟเหมือนกัน เราตื่นเต้นมาก เหมือนมีโลกใบใหม่ มันเป็นทั้งพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนข่าวสาร เอาภาพถ่ายรถไฟมาแลกกันดู หรือกับบางคนถึงขั้นแลกอีเมลเพื่อนัดกันไปนั่งรถไฟเที่ยว เราเลยมั่นใจว่าเราไม่ได้บ้ารถไฟอยู่คนเดียว”

แม้แฮมจะเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดรถไฟไทยฯ แต่ก็อยู่ในฐานะ
ผู้อ่านมากกว่า งานสื่อสารเรื่องรถไฟอย่างจริงจังชิ้นแรก ๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้นหลายปี

“ช่วงนั้นเราเห็นคนเริ่มสนใจนั่งรถไฟเที่ยวมากขึ้น แต่ไม่รู้จะหาข้อมูลจากไหน ข้อมูลจากเว็บการรถไฟฯ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเราได้มากนัก มีคนเข้ามาตั้งกระทู้ถามเรื่องรถไฟในเว็บพันทิปอยู่บ่อย ๆ เราเลยตั้งกระทู้ของตัวเองขึ้นมาเพื่อแนะนำการท่องเที่ยวด้วยรถไฟ นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นการสื่อสารเรื่องรถไฟของเรา”

กระทู้ของแฮมเน้นให้ข้อมูลอย่างครบถ้วน ทั้งเส้นทางรถไฟไทยทั้งหมดที่ให้บริการ ความแตกต่างของรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว และรถธรรมดา ภาพห้องโดยสารแบบต่าง ๆ ทั้งตู้นั่งและตู้นอน วิธีจองตั๋ว รวมถึงข้อดี ข้อเสีย ข้อแนะนำในการใช้บริการรถไฟ

อาจดูเหมือนข้อมูลทั่ว ๆ ไป แต่ก็เป็นกำแพงสูงใหญ่ซึ่งมักทำให้คนที่ไม่เคยนั่งรถไฟมาก่อนกังวลจนไม่กล้าใช้บริการ การแบ่งปันข้อมูลและการเดินทางจากเหล่าผู้มีประสบการณ์นั่งรถไฟจริงนี่เอง ที่ช่วยให้การนั่งรถไฟครั้งแรกของผู้โดยสารหน้าใหม่ไม่ยากจนเกินไป

“ไม่ได้มีแค่เราที่กลับมาแบ่งปันเรื่องราวการเดินทางของตนเอง ทุกคนในชุมชนคนรักรถไฟต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับรถไฟให้กับผู้คน ถ้าไม่มีเพื่อน ๆ ในรถไฟไทยดอทคอมเป็นจุดเริ่มต้นในวันนั้น ก็คงไม่มีเราในวันนี้”
Image
Image
หลังจากนั้นแฮมปรับเปลี่ยนช่องทางการสื่อสารเรื่องรถไฟไปตามโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ก่อนเปิดเพจชื่อ “ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน” ในปี ๒๕๕๘

“ช่วงนั้นเราเน้นเล่าเรื่องในทวิตเตอร์ แล้วเพื่อนสนิทคนหนึ่งก็บอกว่า เราเล่าเรื่องรถไฟได้อยู่แล้ว ลองเปิดเพจเฟซบุ๊กดูสิ ตอนแรกเริ่มจากเพื่อน ๆ มาติดตาม หลังจากเราไปฝากเพจกับคนรักรถไฟกลุ่มต่าง ๆ คนก็รู้จักเรามากขึ้น”

ในฐานะคนสื่อสารเรื่องรถไฟ แฮมเชื่อว่าเราต้องมีความรับผิดชอบต่อการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรถไฟด้วย เขาจึงพยายามนำข้อมูล ข้อเท็จจริงเรื่องรถไฟที่คนมักเข้าใจผิดมาตีแผ่ สร้างความเข้าใจใหม่แก่ผู้คน เช่น สถานีกรุงเทพไม่ใช่สถานีเดียวกันกับสถานีหัวลำโพง หรือรถไฟที่นั่ง ๆ กันนั้นไม่ใช่ขบวนเดิมในสมัยรัชกาลที่ ๕

แต่ผลงานที่ทำให้เพจของแฮมกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือ “โบกี้ไม่ใช่ตู้รถไฟ” โดยชวนคนมาเข้าใจคำว่า “โบกี้” ซึ่งเป็นแคร่ล้อรับน้ำหนักตู้โดยสาร ประกอบด้วยชุดล้อ เพลาและอุปกรณ์ลดแรงสั่นสะเทือนขณะรถไฟเคลื่อนที่ แต่ตู้โดยสารที่เรานั่งนั้นจะเรียกว่า “ตู้รถไฟ”

“เวลาเราเรียกตู้รถไฟว่าโบกี้ ในประเทศไทยเราอาจเข้าใจ แต่ถ้าไปคุยกับเพื่อนจากประเทศอื่น นั่งรถไฟข้ามไปประเทศอื่น เราก็จะไม่เข้าใจกันแล้ว ความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นขั้นแรกของการพัฒนารถไฟ ถ้าสังคมเราเข้าใจรถไฟมากขึ้น รู้เงื่อนไข ข้อจำกัด หรือแม้แต่เทคนิคพื้นฐาน คนในสังคมก็จะมีส่วนร่วมในการพัฒนารถไฟไทยได้มากขึ้น” แฮมเสริมด้วยความภูมิใจว่าหลัง ๆ มานี้เขาสังเกตเห็นคนเรียกตู้รถไฟว่าโบกี้น้อยลง

แฮมเปรียบเปรยว่าการทำเพจของตัวเองเหมือนเป็นการลองผิดลองถูก เคยเล่าข้อมูลทางวิชาการของรถไฟ ก่อนจะพบว่าไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้อ่านเท่าไร การเขียนแบบหนังสือนำเที่ยวแฮมก็เคยเขียน แต่ยังไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ตนเองอยากสื่อสาร  หลังจากลองผิดถูกมาหลายปี ทุกวันนี้แฮมเน้นเล่าเรื่องวิชาการให้สนุก หรือถ้าตั้งใจเล่าเรื่องท่องเที่ยวด้วยรถไฟให้คนไปตามรอย ก็จะไม่ลืมแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของทางรถไฟสายนั้น ๆ ด้วย

“เราชอบสอดแทรกรายละเอียดเล็ก ๆ ลงไป ตอนเขามานั่งรถไฟขบวนเดียวกัน มาเยือนสถานีรถไฟเดียวกัน ก็อยากให้เขาได้สังเกตสิ่งเหล่านั้น เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ รู้สึกตื่นเต้นที่จะดู ได้รับรู้ และนำไปเล่าต่อ”

เราเคยสังเกตไหมว่าหน้าจั่วหลังคาสถานีนครลำปางมีเลขปีที่สร้างอาคารติดไว้ ฝั่งหนึ่งเป็น พ.ศ. แต่อีกฝั่งหนึ่งเป็น ค.ศ.  หรือใครจะรู้ว่าข้าง ๆ ต้นไม้ใหญ่ใกล้ ๆ สถานีปางต้นผึ้งที่เป็นมุมถ่ายรูปยอดฮิตในทุกกลุ่มแฟนรถไฟ จะมีสะพานโครงเหล็กแบบหัวกลับที่เดียวในประเทศไทยตั้งอยู่

“ความตั้งใจในการทำเพจนี้คือเราอยากให้คนทั่วไปมีความรู้สึกร่วมบางอย่างกับรถไฟด้วย ว่ารถไฟเป็นสิ่งน่าสนใจ น่าทำความรู้จัก ไม่ใช่สิ่งแปลกหน้าที่มีแค่พวกบ้ารถไฟเท่านั้น
ที่จะเข้าใจ”
Image
SL Gunma Yokokawa เยี่ยมชมต้นแบบรถโบกี้ชั้น ๓ ของไทย สัมผัสประวัติศาสตร์รถจักรไอน้ำของญี่ปุ่น
Image
“ในบรรดากลุ่มคนรักรถไฟ เราเคยเจอเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่ชอบรถไฟญี่ปุ่นมาก เวลาคุยกันก็มีชื่อรถไฟแปลก ๆ ซึ่งเราที่ไม่เคยไปต่างประเทศไม่รู้จักเลย แต่ถึงจะไม่เข้าใจสิ่งที่เพื่อน ๆ เล่านัก เราก็รับรู้ได้ว่าคนเหล่านี้รู้สึกอินกับรถไฟญี่ปุ่นมากจริง ๆ จนเราสงสัยว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาอินจนต้องไปศึกษาและตกหลุมรักรถไฟญี่ปุ่นได้ขนาดนั้น”

“SL Hitoyoshi” ขบวนรถไฟที่ลากจูงด้วยหัวรถจักรไอน้ำเพียงขบวนเดียวของเกาะคิวชู

“Aso Boy” รถไฟสำหรับครอบครัวและเด็ก ๆ ด้วยคาเฟ่และบ้านบอลในตู้ขบวนประหนึ่งเป็นสวนสนุกติดล้อ

“A-Train” รถไฟสำหรับผู้ใหญ่ที่เหมือนบาร์แจซเคลื่อนที่ นั่งชมทิวทัศน์ จิบเครื่องดื่ม คลอด้วยเสียงเพลงแจซตลอดเส้นทาง และขบวนอื่น ๆ อีกมากมาย

เดือนเมษายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา แฮมได้ไปเยือนแดนอาทิตย์อุทัยเป็นครั้งแรกในชีวิตเพื่อตระเวนนั่งรถไฟท่องเที่ยวทั่วเกาะคิวชู

รถไฟท่องเที่ยวของเกาะคิวชูนั้นมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Design& Story Train เพราะแต่ละขบวนจะออกแบบให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งรูปร่างหน้าตาภายนอกขบวนรถ บรรยากาศการตกแต่งภายใน ตามเส้นทางและจุดเด่นของสถานที่ที่รถไฟจะพาผู้โดยสารไป ตลอดจนเรื่องเล่าพื้นถิ่นของพื้นที่นั้น ๆ เช่น รถไฟขบวน “Ibusuki no Tamatebako” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก “วังมังกร” นิทานพื้นบ้านของภูมิภาคที่รถไฟขบวนนี้วิ่งผ่าน ภายในตกแต่งด้วยธีมใต้ท้องทะเลตามเนื้อหาของนิทาน ส่วนภายนอกทาสีรถไฟแบบแบ่งครึ่งขาว-ดำ ตามทิวทัศน์ข้างทาง ถ้าใครอยากชมวิวทะเลก็นั่งฝั่งสีขาว อยากมองวิวภูเขาก็นั่งฝั่งสีดำ

“เมื่อก่อนเราเฉย ๆ กับรถไฟญี่ปุ่นมากนะ แต่การนั่งรถไฟท่องเที่ยวที่คิวชูเปลี่ยนความคิดเราไปเลย รถไฟท่องเที่ยวคือการสร้างประสบการณ์พิเศษ เป็นตัวแทนของผู้คนในจังหวัด และเชื่อมโยงผู้มาเยือนเข้ากับชุมชนจริง ๆ เราจึงอยากทำรถไฟท่องเที่ยวแบบที่ไปสัมผัสในไทยบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่ยานพาหนะจากจุด A ไปจุด B อันนั้นเรียกว่ารถไฟ ‘นำ’ เที่ยว คือพาคนไปเที่ยวเฉย ๆ แต่เราอยากให้รถไฟเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว ที่คนตั้งใจมานั่งเพื่อรับประสบการณ์นั้นโดยเฉพาะจริง ๆ อันนี้สิถึงจะเรียกว่ารถไฟ ‘ท่อง’ เที่ยว”

ส่วนหนึ่งของความฝันเกิดขึ้นเพราะทุกวันนี้งานเผยแพร่เรื่องรถไฟของแฮมขยับมาสื่อสารแบบต่อหน้า มาเล่าให้ผู้โดยสารในขบวนรถไฟจริง ๆ มากขึ้น หากคุณมีโอกาสนั่งรถไฟท่องเที่ยวของไทย ก็อาจเจอแฮมตัวเป็น ๆ ยืนเล่าเรื่องราวต่าง ๆ แถมด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตลอดเส้นทาง

“เราประทับใจพนักงานเล่าเรื่องรถไฟที่ญี่ปุ่นมาก เขาเล่าด้วยน้ำเสียงและแววตาเป็นประกาย เรื่องราวลื่นไหล เราคิดว่าตัวเองคุ้นเคยวิธีแบบมัคคุเทศก์มากไป ติดตลก ติดสนุก ยังขาดเทคนิคการเล่าที่จะทำให้เรื่องมันลื่นไหลอย่างนั้น เลยเป็นแรงผลักดันให้เรากลับมาญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อเพิ่มเติมทักษะความรู้เกี่ยวกับรถไฟท่องเที่ยวโดยเฉพาะ”
Image
Image
ปลายปี ๒๕๖๖ แฮมกลับไปญี่ปุ่นอีกครั้งโดยเข้าร่วมโครงการความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะทางด้านรถไฟของตนเองกับบริษัทรถไฟเอกชนระดับแนวหน้า แม้ในแง่การดำเนินงานบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นจะต่างจากรถไฟของไทยพอสมควร แต่ก็มีวิธีคิดบางอย่างที่แฮมมองว่าน่านำกลับมาปรับใช้ได้

“สิ่งหนึ่งที่เราเห็นจากการมาอบรมคือ บริษัทรถไฟที่นี่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ให้บริการเดินรถไฟอย่างเดียวนะ แต่เป็นสะพานเชื่อมผู้คนกับท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ด้วย  มีการเชื่อมโยงกันระหว่างรถไฟ บริษัทรถไฟ ชุมชน ท้องถิ่น ผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย โจทย์ที่บริษัทรถไฟตั้งไว้คือรถไฟจะเป็นตัวกลางที่ทำให้วิถีชีวิตคนเดินต่อไปอย่างสะดวกสบายขึ้นได้ยังไงบ้าง”

แฮมชวนสังเกตว่า สถานีรถไฟในญี่ปุ่นนั้นไม่มีจุดนั่งรอรถไฟ ชานชาลาแทบไม่มีเก้าอี้ จะมีแค่มุมที่นั่งหลบลมหนาวเล็ก ๆ  หากใครไม่อยากรีบขึ้นไปยืนรอรถไฟ บริเวณสถานีจะมีร้านอาหาร คาเฟ่ หรือร้านค้าอื่น ๆ ให้บริการ ซึ่งเป็นการกระจายรายได้แบบหนึ่งผ่านการอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นจากผู้มาโดยสาร

รถไฟจึงทำหน้าที่ทั้งขนส่งสินค้าเข้ามาขายในเมือง เชิญชวนผู้คนเดินทางไปรับประสบการณ์ใหม่ผ่านรถไฟท่องเที่ยวทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจ ตัวสถานีเองก็ไม่ใช่เพียงจุดขึ้นลงรถ แต่ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชน

“สิ่งนี้ทำให้ธุรกิจรถไฟของญี่ปุ่นไม่ได้เป็นแค่การเดินรถไฟแต่ทำให้เรามีบางอย่างที่เชื่อมโยงกับรถไฟจริง ๆ เกิดความผูกพันระหว่างคนกับรถไฟในระดับที่เรียกว่าครอบครัว นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด”

การรู้สึกคุ้นชิน ปลอดภัย ผูกพันกับรถไฟเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวนี่เอง คือความรู้สึกที่แฮมอยากสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยมีภาพอนาคตอันใกล้ที่อยากเห็น คือมีรถไฟเป็นสนามเด็กเล่น ให้ทั้งครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน

“ทั้งตอนตระเวนขึ้นรถไฟท่องเที่ยวที่ภูมิภาคคิวชู กับตลอด ๒ เดือนที่มาอบรมที่นี่ เราเจอเด็ก ๆ ที่สถานีรถไฟเป็นเรื่องปรกติมาก รถไฟเสมือนกิจกรรมหนึ่งของครอบครัว ผู้ปกครองพาลูก ๆ ไปพิพิธภัณฑ์รถไฟ นั่งรถไฟท่องเที่ยว ที่นั่งติดขอบกระจกบานใหญ่ของรถไฟท่องเที่ยว ตู้หน้าสุดติดหัวรถจักรจะถูกจับจองโดยเด็ก ๆ เสมอ เรารู้สึกได้เลยว่า เฮ้ย มันอิ่มเอมใจดีจัง” แฮมเล่าด้วยน้ำเสียงและสีหน้าท่าทางมีความสุข

เมื่อรถไฟกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็ก ๆ ที่พ่อแม่จะวางใจได้ ก็เกิดเป็นการส่งต่อความผูกพัน เริ่มจากพ่อแม่พาลูกมานั่งรถไฟ เด็ก ๆ จะรู้สึกคุ้นเคย เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มองรถไฟเป็นสิ่งแปลกหน้า และสูงวัยเป็นคนแก่ที่ผูกพันกับรถไฟ รวมถึงส่งต่อความผูกพันนี้ไปอีกเรื่อย ๆ
“กลับไทยรอบนี้ เราตั้งใจว่าอยากจะสื่อสารเรื่องรถไฟไปหาเด็ก ๆ กับคนรุ่นใหม่วัยทำงานให้มากขึ้น อยากทำให้รถไฟเป็นพื้นที่ปลอดภัยทั้งด้านความรู้สึก การใช้ชีวิต และไม่ได้มองรถไฟเป็นตัวเลือกสุดท้าย ทั้งนั่งไปทำงาน ไปทำธุรกิจ ไปเที่ยว หรือเดินทางกลับบ้าน หวังว่าความรู้ที่เราไปเรียนมาและการสื่อสารของเราหลังจากนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้รถไฟไทยพัฒนาต่อไป”