หยุดจุดจอด
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ธงสามเหลี่ยมสีแดงมีดาวตรงกลางบอก “ป้ายหยุดรถราง”
แสดง “จุดจอด” ให้รถรางรับส่งผู้โดยสาร
ป้ายนี้เคยใช้งานอยู่ย่านการค้าหน้าเวิ้งนาครเขษม ถนนเยาวราช ตั้งแต่ปี ๒๔๓๖ (รัชกาลที่ ๕) ที่มีบริษัท Short Electric Railway Company จากอเมริกามาลงทุน แล้วพัฒนากิจการรถรางจากเคยใช้ม้าแปดตัวลากรถสู่ระบบพลังงานไฟฟ้า ๔๐ แรงม้า
เวลานั้นสยามได้รับการยกย่องเป็น “ผู้นำขนส่งมวลชนระบบรางแห่งแรกของเอเชีย”
แบ่งเส้นทางรางกับทางรถยนต์ สายบางซื่อ สามเสน บางคอแหลม หัวลำโพง ปทุมวัน สีลม และดุสิต รวมระยะ ๔๘.๗ กิโลเมตร (มีสถานีรถรางสี่แห่ง คือที่สะพานดำ สะพานเหลือง บางกระบือ และบางคอแหลม)
ยังมีป้าย-ธงสามเหลี่ยมสีเขียวมีดาวตรงกลางทำหน้าที่บอกให้รถรางรอหลีกขบวนกัน (ให้สิทธิ์รถรางขวาไปก่อน) เพราะเป็นระบบรางเดียวต้องมีรางหลีกทุก ๕๐๐ เมตร
เมื่อสิ้นสัมปทานปี ๒๔๙๒ ปีต่อมารัฐไทยก็รับดำเนินการ จนเข้าสู่ยุค “การไฟฟ้านครหลวง” ดูแล
ถึงยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือก รถเมล์เป็นที่นิยม กิจการรถรางขาดทุนต่อเนื่อง ปี ๒๕๐๔ รัฐจึงเริ่มประกาศเลิกเดินรถรางทีละสาย ปิดตำนานสายสุดท้ายในปี ๒๕๑๑
ร่องรอยรถรางเริ่มร่อยหรอ ทางรถรางสายแรกของสยามบนถนนเจริญกรุงก็ถูกราดยางทับ เหลือสิ่งสุดท้ายคือธงสามเหลี่ยมสีแดงย่านเวิ้งนาครเขษม
และแล้วการไฟฟ้านครหลวงก็จัดพิธีปลดป้ายหยุดรถรางจากชายคาตึกแถวหน้าเวิ้งนาครเขษมอย่างเป็นทางการเมื่อ ๔ มีนาคม ๒๕๖๒ เตรียมนำไปจัดแสดงใน “พิพิธภัณฑ์การไฟฟ้านครหลวง” (คาดว่าจะเสร็จปี ๒๕๖๘) เพื่อรำลึกอนุรักษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์
ครั้งหนึ่งสยามเคยรุ่งเรืองนำหน้าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ