Image
รองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว
คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
VERNADOC
อนุรักษ์สถาปัตยกรรม
สถานีรถไฟ
Train Stories
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ไฟล์ภาพเวอร์นาด็อก : รองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว
"ขอยกตัวอย่างสถานีรถไฟสูงเนิน นครราชสีมา วันที่เราไปถึงโครงสร้างอาคารและหลังคาแข็งแรงดี แต่มีหลังคารั่วเป็นบางจุด เชิงชาย รางระบายน้ำฝน และลูกกรงของระเบียงชำรุด ส่วนบันไดไม้อยู่ในสภาพปานกลาง”
บนชั้น ๒ ของอาคารเรียนรวม คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม แนะนำภาพเขียนอาคารสถานีรถไฟหลายแห่ง

นอกจากภาพเขียนมาตราส่วน ๑ : ๒๕ และ ๑ : ๕๐ ของสถานีสูงเนินในทิศทางต่าง ๆ แบบขยายป้ายสถานีและหัวรถจักรดีเซล ยังมีภาพเขียนอาคารสถานีสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย สถานีแม่พวก จังหวัดแพร่ และบ้านพักพนักงานรถไฟ

“เราก็ไม่รู้หรอกว่าถ้าครูเจี๊ยบที่ขับเคลื่อนเรื่องสูงเนินหมดแรงไม่อยากทำ คนรุ่นใหม่ของสูงเนินจะยังรักษาสถานีสูงเนินไหม  ถ้าผู้ใหญ่น้อยที่แม่พวกไม่ไหว เด็ก ๆ ที่แม่พวกจะทำต่อหรือเปล่า เราตอบไม่ได้หรอกครับว่ามันจะยั่งยืนยาวนานสักแค่ไหน แต่ดีไหมล่ะถ้าหน่วยงานที่มีงบประมาณหรือมีอำนาจนำงานอนุรักษ์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานตั้งแต่แรก ถึงแม้ว่าครูเจี๊ยบจะเหนื่อย ผู้ใหญ่น้อยหมดแรง แต่เรื่องการอนุรักษ์ยังอยู่ในองค์กรของเขา”

ภาพเขียนสถานีรถไฟที่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะถูกเขียนลงบนกระดาษแข็งสีขาว ตามหลักการของวิธีเวอร์นาด็อก (VERNADOC)
สูงเนิน
"อาคารสถานีรถไฟนอกจากจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันตามสถานที่ตั้งด้วยรูปแบบใช้งาน ขนาดตัวสถานี วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ทำให้สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟมีเอกลักษณ์และมีความสำคัญกับคนท้องถิ่น"

รองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว

Image
scrollable-image
จากภาพเขียนโบราณสถาน
สู่อาคารสถานีรถไฟ

เวอร์นาด็อก (VERNADOC หรือ vernacular documentation) หมายถึงการจัดทำเอกสารประกอบการสำรวจสถาปัตย-กรรมพื้นถิ่น มาจากคำว่า vernacular architecture ที่แปลว่า สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น รวมกับคำว่า documentation ที่แปลว่าเอกสารประกอบ

บทความ “VERNADOC กับการบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย (VERNADOC and Vernacular Architecture Documentation of Thais)” ของ สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ สุพิชชา โตวิวิชญ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระบุว่า VERNADOC เป็นคำที่ Markku Mattila สถาปนิกชาวฟินแลนด์ ใช้เรียกแนวทางการศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น โดยเน้นการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่ด้วยเทคนิคพื้นฐาน แต่ได้คุณภาพของผลงานระดับสูง ด้วยความคาดหวังว่าผลการสำรวจรังวัดจะสร้างแรงบันดาลใจให้เจ้าของอาคารหรือคนในชุมชนเห็นคุณค่าเช่นเดียวกับที่บุคคลจากภายนอกเห็น และร่วมใจกันอนุรักษ์อาคารเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป

ในเมืองไทย สมาคมอิโคโมสไทย (ICOMOS Thailand) ส่วนหนึ่งของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites : ICOMOS) สมาคมวิชาชีพซึ่งดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานรวมถึงสถานที่อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมทั่วโลก รับเอาวิธีเวอร์นาด็อกมาทดลองจัดค่ายครั้งแรกในปี ๒๕๕๐ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเริ่มมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาด้านสถาปัตยกรรมจัดฝึกอบรมอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติ

คำว่าเวอร์นาด็อก (VERNADOC) ค่อย ๆ เป็นที่รู้จักผ่านโครงการสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรม ผ่านชื่อค่าย “อาษาเวอร์นาด็อก” (ASA VERNADOC) โดย ASA เป็นชื่อย่อภาษาอังกฤษของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Association of Siamese Architects under Royal Patronage) ทั้งที่เป็นการสำรวจรังวัดมรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและไม่ใช่พื้นถิ่น (เป็นงานออกแบบโดยสถาปนิก)
Image
การเข้าไปคลุกคลีในชุมชนนานหลายวัน ทำให้สัมผัสถึงความรักความภาคภูมิใจของคนท้องถิ่นที่มีต่ออาคารสถานีรถไฟ เข้าใจความคิดอ่านของผู้คนในชุมชนมากขึ้น
กลายเป็นความรักความผูกพันแม้ช่วงเวลาออกค่ายจะผ่านพ้นไปแล้ว
ภาพ : ธนภัทร ธนะโสธร

เมื่อภาพเขียนต้นฉบับที่ได้จากค่ายถูกนำมาจัดแสดงนิทรรศการเป็นประจำแทบทุกปี ก็ยิ่งทำให้เวอร์นาด็อกเป็นที่รู้จักของสาธารณชน และถูกนำไปใช้ต่อยอดในหลายวัตถุประสงค์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหวและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุพิชชา โตวิวิชญ์ บันทึกไว้ในบทความวิจัยข้างต้นว่า รอบ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมามีสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นสำคัญในหลายภูมิภาคทั่วโลกถูกทำลายทั้งจากภัยธรรมชาติและด้วยน้ำมือมนุษย์ ทั้งโดยตั้งใจและรู้เท่าไม่ถึงการณ์  จำนวนของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สูญสลายไปมิอาจทราบ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยร่องรอยหลักฐานที่มีคนบันทึกหรือจดจารึกไว้ ไม่ว่าจะเป็นภาพสเกตช์ ภาพถ่าย บันทึกการสำรวจของนักเดินทาง หรือรายงานของนักมานุษยวิทยา

โดยทั่วไปหลักฐานที่ได้รับการบันทึกอย่างแม่นยำและน่าเชื่อถือจำเป็นที่สุดสำหรับการอนุรักษ์ แต่ก็มักหาได้ยากยิ่งการเขียนภาพเวอร์นาด็อกเป็นความพยายามเพื่อเก็บบันทึกข้อมูลทางสถาปัตยกรรมเอาไว้

ค่ายเวอร์นาด็อกในเมืองไทยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ ในปี ๒๕๕๐ ชื่อค่าย Thai VERNADOC 2007 โดยมีอาจารย์สุดจิตเป็นผู้จัดค่าย

ต่อมาย้ายไปจัดตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มักจะมีอาคารเก่าแก่และโบราณสถาน เช่น ชุมชนกุฎีจีน ย่านเก่าแก่ฝั่งธนบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา  ทางภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช พังงา (เมืองตะกั่วป่า) เพชรบุรี  ภาคอีสานที่จังหวัดเลย นคร-พนม  ภาคกลางที่จังหวัดพิษณุโลก ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร (ตลาดน้อย) เป็นต้น

ปี ๒๕๕๓ มีการจัดค่ายเวอร์นาด็อกที่มีอาคารสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางเป็นครั้งแรก ได้แก่ สถานีนครลำปาง สถานีแม่ทะ จังหวัดลำปาง และสถานีแม่ปิน จังหวัดแพร่

อาคารสถานีรถไฟเป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ตัวอาคารมักตั้งอยู่ใจกลางชุมชน บนเส้นทางสัญจร เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนเข้ามาใช้งานอยู่ตลอด จึงมีความทรงจำที่ผูกพันอยู่กับผู้คนจำนวนมาก

เมื่อเวลาผ่านไป อาคารสถานีรถไฟหลายแห่งไม่ได้รับการพูดถึงและเริ่มขาดการดูแลรักษา หลายแห่งถูกรื้อถอน
ค่ายเวอร์นาด็อก :
สถาปัตย์ ลาดกระบัง

รองศาสตราจารย์ปริญญา ชูแก้ว หรืออาจารย์แป่ง เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเวอร์นาด็อกมาตลอด สมัยเรียนปริญญาโทเคยทำวิทยานิพนธ์หัวข้อ “การศึกษานิคมบ้านพักผู้ปฏิบัติงานรถไฟในกรุงเทพมหานครเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา กรณีศึกษานิคมรถไฟจิตรลดา มักกะสัน และ ก.ม. ๑๑” เริ่มออกเดินทางเก็บข้อมูลอาคารสถานีรถไฟและย่านชุมชนเก่าทั่วทั้งประเทศมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒

ปีต่อมาได้รับเชิญจากอาจารย์สุดจิตไปบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์มรดกประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้กับอาจารย์และนักศึกษาที่เข้าร่วมค่ายเวอร์นาด็อก ณ สถานีนครลำปาง สถานีแม่ทะ และสถานีบ้านปิน ชื่อค่าย ASA VERNADOC 2010 จึงมีแนวคิดว่าจะจัดค่ายเวอร์นาด็อกที่มีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เป็นเจ้าภาพ
สูงเนิน
Image
Image
Image
Image
ในปี ๒๕๕๗ อาจารย์ปริญญาและเพื่อนอาจารย์จากพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง คือผู้ช่วยศาสตราจารย์ ณธทัย จันเสน คณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ร่วมกันจัดค่าย KMITL ASA VERNADOC ณ อาคารที่หยุดรถไฟแม่พวกอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

กิจกรรมค่ายเวอร์นาด็อกปีถัด ๆ มาเกิดขึ้นที่สถานีสูงเนิน อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา (กรกฎาคม ๒๕๕๘) และสถานีสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย (ธันวาคม ๒๕๖๐)

นับเป็นจุดเริ่มต้นการจัดค่ายเวอร์นาด็อกของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอาคารสถานีรถไฟ รวมถึงมรดกตกทอดทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยงรายรอบอาคารสถานีรถไฟเอาไว้

อาจารย์ปริญญากล่าวว่า “อาคารสถานีรถไฟนอกจากจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมความสำคัญอีกแง่หนึ่งของสถานีรถไฟทั้งประเทศไทยและต่างประเทศเกิดจากแรงดึงดูดทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันตามสถานที่ตั้ง ด้วยรูปแบบใช้งาน ขนาดตัวสถานี ความงดงามของสถาปัตยกรรมที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคต่าง ๆ หรือแม้แต่วัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ทำให้สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟมีเอกลักษณ์และมีความสำคัญกับคนท้องถิ่น”
ความสนุกสนาน
ของการออกค่าย

“อาจารย์ปริญญาถามว่ามีใครอยากไปค่ายอาสาสมัครไหม คงเห็นแววว่าผมมีใจอยากทำงานกับชุมชน น่าจะชอบออกค่ายกับเพื่อน ๆ มหาวิทยาลัยอื่น ก็เลยแนะนำให้ผมไป จำได้ว่าครั้งนั้นมีผมกับเพื่อนรุ่นพี่อีกคนเป็นตัวแทนเด็กลาดกระบัง มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (RMUTT) เป็นเจ้าภาพ” ปริชญ์ ปุญญถาวร ศิษย์เก่าพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เอ่ยขึ้นมาทันทีเมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์ในอดีตร่วม ๘ ปีก่อน

ปัจจุบันอดีตเด็กค่ายเวอร์นาด็อกคนนี้ทำงานเป็นดีไซเนอร์ให้กับอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (Index Living Mall) บริษัทผู้ค้าปลีก เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านชื่อดัง ปริชญ์เข้าร่วมค่ายเวอร์นาด็อกครั้งแรกสมัยเรียนชั้นปี ๒ ช่วงปี ๒๕๕๘ ปริชญ์เล่าว่าค่ายเวอร์นาด็อกที่สถานีสูงเนิน ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเป็นเจ้าภาพ มีเพื่อน ๆ ร่วมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สามคนเดินทางไปกับเขา แล้วยังมีนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่อีกฝั่งของสถาบันไปด้วยกันอีกหกถึงเจ็ดคน ส่วนนักศึกษาสถาบันอื่น ๆ ก็มีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

“มีผู้ใหญ่วรรณ นายสถานีรถไฟ ครูเจี๊ยบ คอยเอาน้ำ อาหาร ขนมมาให้ มาคอยดูคอยถามว่าเขียนอะไร ต้องเขียนนานไหม ออกมาจะเป็นอย่างไร ทำให้เราคุ้นเคยกับคนชุมชนมากและพยายามตั้งใจเขียนงานให้ออกมาดีที่สุด”

ตอนนั้นทุกคนล้วนมีใจเดียวกัน คืออยากใช้ทักษะความรู้ด้านสถาปัตยกรรมที่กำลังร่ำเรียนอยู่เก็บบันทึกข้อมูลรูปแบบสถาปัตยกรรมสถานีรถไฟพื้นถิ่นเอาไว้บนกระดาษ

“เป็นทักษะพื้นฐานที่เด็กสถาปัตย์ใช้ในวิชาเรียนอยู่แล้ว คือ การสังเกต การร่างลายเส้น การลงน้ำหนัก การเขียน ผังพื้น รูปด้าน รูปตัด  พวกเราต่างก็มีทักษะการเก็บข้อมูลและการจดบันทึกด้วยการเขียนแบบที่เป็นสากลและมีรายละเอียดแน่ชัด ที่เสริมเข้ามาคือเรื่องการเข้าไปรังวัดพื้นที่จริง เพื่อให้เก็บข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำที่สุด” ปริชญ์อธิบาย

อาจารย์ปริญญาขยายความว่าการสำรวจรังวัดพื้นที่จริงด้วยเครื่องมือพื้นฐาน คือหัวใจสำคัญของวิธีเวอร์นาด็อก เพื่อให้เกิดการบันทึกสภาพอาคารอย่างถูกต้องแม่นยำไม่ผิดเพี้ยน

“เวอร์นาด็อกเป็นการนำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้จริงที่หน้างาน เป็นเทคนิควิธีการที่เด็กสถาปัตย์ทุกคนทำเป็น แค่มาถึงหน้างานแล้วบอกว่าวัดอะไร วัดยังไง เด็กทุกคนวัดได้ เขียนได้แน่นอนครับ” อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟอธิบาย และให้รายละเอียดต่อไปว่าสิ่งสำคัญสำหรับงานเวอร์นาด็อกคือจุดอ้างอิง

“จุดอ้างอิงคือระดับน้ำ เราจะใช้เส้นระดับน้ำวัดอาคารสถานที่ โดยตั้งระดับน้ำสมมุติขึ้นมาก่อนหนึ่งเส้น  เสร็จแล้วใช้ท่อ เชือก หรือสายยางเป็นระดับน้ำ ยกไปทาบสองฝั่งสมมุติอาคารนี้มี ๑๐ เสา เราก็ทาบทุกเสา เสร็จแล้วขีดเส้นระดับน้ำขึ้นมาเป็นระดับน้ำของอาคาร แล้วไปขีดในกระดาษให้เป็นเส้นเดียวกัน  ทีนี้เราก็วัดขึ้นและวัดลง วัดขึ้นไปยังโครงสร้างด้านบน แล้วก็วัดลงเพื่อดูว่าตำแหน่งนี้มีการทรุดหรือมีปฏิสัมพันธ์อะไรกับหน้าดินหรือไม่  สิ่งเหล่านี้ตรวจเช็กได้หมดจากระดับน้ำ”

โดยทั่วไปแล้วช่วงเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์ จะพอดีกับงานสำรวจภาคสนาม ลงมือเขียนภาพ และจัดแสดงผลงานทันทีที่เขียนเสร็จ เพื่อให้กระทบความรู้สึกโดยตรงต่อเจ้าของสถานที่และผู้คุ้นเคยอาคารเหล่านั้น
แม่พวก
ค่ายเวอร์นาด็อกยึดความเรียบง่ายเป็นหลักสำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการรังวัดจะถูกวาดลงบนกระดาษทันที ภาพที่ได้จะถูกทำให้มีชีวิตชีวาด้วยการลงเส้นหมึกภายหลัง การจัดค่ายโดยทั่วไปอยู่ในรูปแบบงานอาสาสมัคร หัวใจของคนวาดจะถูกใส่ลงในกระดาษ เพื่อเก็บบันทึกเรื่องราว อนุรักษ์สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟท้องถิ่น
Image
Image
Image
Image
แต่สิ่งที่เด็กค่ายสัมผัสก็ไม่ใช่การรีบเร่งเขียนภาพหรือทำงานให้เสร็จสิ้น นอกเหนือจากการรังวัดในพื้นที่จริง เด็กค่ายต้องวิเคราะห์เนื้อหาจากเอกสารอ้างอิง รวมทั้งสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวข้อง

ปริชญ์เล่าว่า “เรามีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน เข้าไปอยู่ในบ้านเขา ไปนั่ง ไปวัดเสา วัดพื้นที่รอบ ๆ บ้าน มันเกิดการสื่อสารหรือส่งสัญญาณบางอย่างให้ทั้งเขาและเรารู้ว่า บ้าน อาคาร สถานที่ หรือชุมชนที่เขาอาศัยอยู่มีความสำคัญโดดเด่นทางสถาปัตยกรรม และมีเสน่ห์บางอย่าง”

ปริชญ์เข้าร่วมค่ายเวอร์นาด็อกร่วม ๑๐ ครั้งด้วยความสนอกสนใจ ทั้งในช่วงที่ใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาและหลังเรียน จบแล้ว เขาเล่าว่าแต่ละค่ายไม่ได้เป็นค่ายเขียนภาพอาคารสถานีรถไฟทั้งหมด

“มีตั้งแต่บ้าน ชุมชน ตลาด ร้านค้า วัด ศาลเจ้า พระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน อาคารสาธารณะ แต่ที่ทำกับอาจารย์ปริญญาหลัก ๆ จะเป็นสถานีรถไฟ เพราะอาจารย์สนใจและทำเรื่องสถานีรถไฟมานาน อย่างค่ายสถานีรถไฟที่ผมเข้าร่วมหลัก ๆ จะมีค่ายสูงเนินกับสวรรคโลก” ดีไซเนอร์หนุ่มรำลึกความหลัง

ค่ายเวอร์นาด็อกเมื่อปลายปี ๒๕๖๐ จัดขึ้นที่สถานีสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย เขาเติบโตเป็นรุ่นพี่ชั้นปี ๕ และได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ประธานค่าย

อาจารย์ปริญญายอมรับว่าค่ายครั้งนั้นมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถจัดเป็นค่ายใหญ่ที่มีนักศึกษาจากหลาย ๆ มหาวิทยาลัยมาเข้าร่วม ต้องอาศัยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลให้รวดเร็วขึ้น แล้วนำชิ้นงานกลับมาเขียนต่อที่กรุงเทพฯ

“ค่ายครั้งแรกที่แม่พวกและค่ายที่ ๒ สูงเนิน มีนักศึกษาหลายสถาบันมาช่วยกัน จนมาถึงค่ายที่ ๓ สวรรคโลก เป็นของลาดกระบัง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะเราเริ่มปีกกล้าขาแข็ง บริหารจัดการเองได้ พาเด็กไปเป็นสิบคน เป็นนักศึกษาภาควิชาสถาปัตยกรรมที่ผมสอนเองทั้งหมด”

ปริชญ์เสริมรายละเอียดในฐานะประธานค่ายสวรรคโลกว่า “ถึงแม้จะเป็นค่ายสั้น ๆ ประมาณ ๑ สัปดาห์ แต่ก็ได้เที่ยวในชุมชน มีอาจารย์สมชาย เดือนเพ็ญ เจ้าพ่อประวัติศาสตร์เมืองสวรรคโลกมาเล่าเรื่องราวเก่าแก่ของชุมชนให้ฟัง เวลาท่านเล่าเท้าความเรื่องเมืองเชลียง เมืองศรีสัชนาลัย ผมอินกับข้อมูลตรงนั้นมาก จนนำเรื่องสถานีรถไฟสวรรคโลกและประวัติศาสตร์เมืองสวรรคโลกมาเป็นวิทยานิพนธ์ของตัวเอง ชื่อ “ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์สวรรคโลก” เพราะไหน ๆ ผมก็เดินทางมาทำค่ายแล้ว”

สถาปนิกหนุ่มอนาคตไกลยังถ่ายทอดความทรงจำสำคัญที่เกิดขึ้นขณะเรียนชั้นปีสุดท้าย “ระหว่างออกค่ายอาจารย์ปริญญาต้องรีบเข้ากรุงเทพฯ ด่วนด้วยปัญหาสุขภาพ ทำให้ผมต้องอยู่ดูแลน้องค่าย ๑๐ กว่าคน” ปริชญ์เท้าความ

“หลังเรียนจบผมก็ยังไปเขียนงานให้ค่ายของมหาวิทยาลัยรังสิต ช่วงที่เรียนจบใหม่ ๆ ยังไม่ได้ทำงานก็ไปหาอาจารย์สุดจิต ช่วยท่านเขียนงานที่ป้อมมหากาฬที่กำลังไล่รื้อชุมชน
ไปวัดหนังตรงวัดราชโอรส เขตจอมทอง ไปเขียนอาคารต่าง ๆ อีกหลายรอบเพราะรู้สึกผูกพัน  ค่ายเวอร์นาด็อกทำให้ได้รู้จักคนเยอะและยังติดต่อกันมาถึงวันนี้”
Image
สถานีที่รักษ์
“คนสูงเนินสู้มานาน สู้มาตลอด สถานีรถไฟสูงเนินเป็นอาคารที่ชาวบ้านพยายามต่อสู้เพื่ออนุรักษ์เรื่อยมา คนในชุมชนของเราต่างตระหนักและเห็นคุณค่าของสถานีรถไฟที่
ถือเป็นแหล่งมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเรา”

พรนิภา ฉะกระโทก หรือครูเจี๊ยบ ครูโรงเรียนสูงเนิน ถ่ายทอดความรัก ความผูกพัน และความพยายามอนุรักษ์สถานีสูงเนินไว้ไม่ให้ถูกทำลาย บ้านของเธออยู่ใกล้สถานีรถไฟห่างออกไปไม่ถึง ๑.๕ กิโลเมตร

สถานีสูงเนินก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๔๓ นับเป็นอาคารไม้รุ่นแรก ๆ ของกิจการรถไฟไทย

ในทางประวัติศาสตร์สถานีสูงเนินเคยเป็นสถานที่รับเสด็จพระมหากษัตริย์ไทยสามพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (๒๕ ธันวาคม ๒๔๔๓), พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ (๑๒ มกราคม ๒๔๔๖ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ (๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๘)

ในทางเศรษฐกิจและสังคม สถานีสูงเนินทำให้บ้านสูงเนินพัฒนาจากชุมชนเล็ก ๆ กลายเป็นชุมชนเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเป็นจุดพักเติมฟืนและน้ำของรถจักรไอน้ำ อีกทั้งยังเป็นสถานีต้นทางของเส้นทางรถไฟสายย่อยที่ขนไม้ฟืนในป่าเข้ามาในเมือง

ในทางสถาปัตยกรรม สถานีสูงเนินเป็นอาคารไม้สองชั้น ตั้งอยู่ในแนวแกนทิศตะวันออก-ตะวันตก ขนานไปกับรางรถไฟ มีประตูหน้าต่างเป็นบานลูกฟัก เหนือผนังชั้นบนตลอดแนวเป็นช่องระบายลมตีแนวทแยงไขว้กันเป็นรูปข้าวหลามตัดหลังคาทรงจั่ว มุงกระเบื้องลอนคู่ ชายคายื่นยาว ฯลฯ รอบ ๆ ยังประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย เช่น บ้านพักนายสถานี บ้านพักพนักงานสี่หลัง อาคารเก็บเครื่องไม้เครื่องมือสำหรับซ่อมหัวรถจักร (ถังเติมน้ำ)

ต้นปี ๒๕๕๘ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะรื้ออาคารสถานีสูงเนินตามแผนงานสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากชุมชนและเครือข่ายอนุรักษ์สถานีรถไฟสูงเนิน มีการจัดประชุมเพื่อหาทางออก รวมทั้งจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมทุนมาอนุรักษ์และบูรณะอาคารสถานีรถไฟ

นอกจากรถไฟทางคู่ อำเภอสูงเนินยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา รวมทั้งโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งหลายแหล่น่าจะนำความเจริญเข้ามาในพื้นที่อย่างมาก เช่นเดียวกับการเข้ามาของรถไฟที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ในทางตรงกันข้ามก็อาจมีบางอย่างที่ชาวสูงเนินต้องสูญเสียไป

ช่วงคาบเกี่ยวกันนั้นเองที่อาจารย์ปริญญา อาจารย์และนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน ๓๒ คน รวมกลุ่มกันเดินทางมาจัดค่ายเวอร์นาด็อก
Image
ช่วงเวลาประมาณ ๒ สัปดาห์พอเหมาะพอดีกับการจัดค่าย กิจกรรมสำคัญช่วงท้าย ๆ คือจัดแสดงผลงานทันที เพื่อให้กระทบความรู้สึกโดยตรงต่อเจ้าของสถานที่และผู้คุ้นเคยอาคาร อาจจัดสัมมนา เพื่อให้อาสาสมัคร นักวิชาการชาวบ้าน ได้แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน
ภาพ : ศิริโรจน์ วุฒิสกนธิ์

“สถานีรถไฟสูงเนินและบ้านพักพนักงานถึงแม้จะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแต่ก็มีอายุยาวนานเป็นร้อยปี  นอกจากคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้วชาวชุมชนสูงเนินต่างก็ผูกพันกับพื้นที่แห่งนี้ ที่มีเรื่องราวความรัก ความภาคภูมิใจหลายอย่าง” ครูพรนิภาที่ผูกพันกับสถานีสูงเนินมาตั้งแต่เด็กเล่า

“แต่เราก็ไม่รู้จะสู้ยังไง...บอกตรง ๆ ว่าตอนนั้นแทบมองไม่เห็นหนทาง ใจอยากอนุรักษ์ สั่งให้เด็กนักเรียนไปศึกษาประวัติศาสตร์ เด็ก ๆ ก็กลับไปอ่านหนังสือและสอบถามจากผู้ใหญ่จนรู้ว่าสถานีรถไฟมีคุณค่ามากมายในมิติประวัติศาสตร์ ทุกคนต่างรู้ว่าที่นี่เคยมีเจ้ามาเยือนถึงสามพระองค์ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะดำเนินการยังไงต่อ”

กระทั่งอาจารย์ปริญญาและชาวค่ายเวอร์นาด็อกเข้ามาให้ความรู้และคำแนะนำ

“อาจารย์แนะนำตั้งแต่วันแรก ๆ ว่าให้จัดทอดผ้าป่าสามัคคีแสดงพลังว่าพวกเราชาวบ้านไม่ต้องการให้รื้อ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่บอกว่าเหลือเวลาอีกแค่ ๑ สัปดาห์นะ เพราะเขารื้อมาถึงสถานีสีคิ้วแล้ว สูงเนินจะเป็นลำดับต่อไป

“หลังทอดผ้าป่าชาวบ้านช่วยกันทำความสะอาดดูแลสถานีรถไฟ แล้วทางอาจารย์ปริญญาก็เข้ามาจัดค่าย มีอาจารย์และนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยมารวมกันเขียนภาพชาวบ้านมองดูการทำงานของเด็ก ๆ อยู่ที่นี่ตลอดทั้ง ๑๐ วัน”

ค่ายเวอร์นาด็อกเหมาะสำหรับการสำรวจภาคสนาม แม้จะอยู่ในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก

อาจารย์ปริญญาอธิบายว่า “ค่ายเวอร์นาด็อกยึดความเรียบง่ายเป็นหลักสำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการรังวัดจะถูกวาดลงบนกระดาษทันที เครื่องมือที่ใช้ก็เป็นของพื้น ๆ ที่ใครก็มี คือ กระดาษ ดินสอ ไม้บรรทัด ตลับเมตร และอุปกรณ์ที่เอามาใช้วัดระดับน้ำ ภาพที่ได้จะถูกทำให้มีชีวิตชีวาด้วยการลงเส้นหมึกภายหลัง  การจัดค่ายโดยทั่วไปจะอยู่ในรูปแบบของงานอาสาสมัคร”

โดยทั่วไปแล้วแนวทางปฏิบัติสำหรับค่ายเวอร์นาด็อกจะถูกกำหนดไว้สี่ขั้นตอน ได้แก่

๑. จัดค่ายในพื้นที่ประมาณ ๒ สัปดาห์ ช่วงสัปดาห์แรกสำหรับการรังวัดในพื้นที่ด้วยดินสอ และสัปดาห์ต่อมาสำหรับการลงหมึก

๒. การจัดแสดงนิทรรศการในพื้นที่ ซึ่งต้องทำโดยทันที เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เห็นผลงานที่สำเร็จแล้ว

๓. จัดสัมมนา ๑ วัน ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สำรวจ เพื่อให้อาสาสมัคร นักวิชาการ ชาวบ้าน ได้แลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน

และ ๔. รวบรวมจัดพิมพ์ผลงานการสำรวจรังวัด นำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเผยแพร่สู่สาธารณะ

ครูพรนิภายอมรับว่าช่วงแรก ๆ ตนเองและชาวบ้านต่างยังไม่เข้าใจความหมายของค่ายเวอร์นาด็อก

“วันแรกที่อาจารย์ปริญญาพานักศึกษามาออกค่าย เรายังไม่รู้เลยว่าเวอร์นาด็อกคืออะไร เขาบอกว่าเป็นการเขียนแบบทางสถาปัตยกรรม เราไม่คาดคิดว่าอาคารสถานีรถไฟที่เราคิดกันแค่ว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มันจะมีความสำคัญสำหรับเด็กสถาปัตยกรรมศาสตร์มากขนาดนี้”

ครูวิชาประวัติศาสตร์ระดับชั้นมัธยมศึกษาเล่าต่อไปว่า “เราเคยคิดว่าเด็กสถาปัตย์ต้องหยิบโหย่ง ที่ไหนได้เขาละเมียดละไม เราเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจ เรือนรักษ์รถไฟทั้งสองหลังตอนนั้นเป็นเล้าไก่ เขาปีนขึ้นไปวัดอย่างไม่รังเกียจ เราเองยังไม่ค่อยกล้า เวลาจะทำความสะอาดต้องจ้างคนขึ้นไป เกิดคำถามในใจว่าทำไมเขาต้องทำขนาดนี้  คิดแล้วก็ตั้งมั่นว่าจะต้องเก็บรักษาสถานที่แห่งนี้ไว้ให้ได้ ขนาดเขาเป็นคนที่อื่นยังมาทำให้เรา เราเป็นครู รู้มิติทางประวัติศาสตร์ พอเห็นการทำงานของเด็ก ๆ สถาปัตย์กลุ่มนี้แล้วรู้สึกตื้นตัน เขามาสร้างกำลังใจให้พวกเรา”
สวรรคโลก
การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน ทำให้เกิดการสื่อสารหรือส่งสัญญาณบางอย่างให้รู้ว่า บ้านเรือน อาคาร สถานีรถไฟ ชุมชนที่ผู้คนอยู่อาศัย มีความสำคัญโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมและมีเสน่ห์บางอย่าง
Image
Image
Image
ค่ายเวอร์นาด็อกที่สูงเนินก่อเกิดพลังเชิงบวกขึ้นกับหลายฝ่าย นอกจากสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาหลายรายยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงชาวบ้าน

“มีบ้างเหมือนกันที่ทางหน่วยงานรัฐเข้ามาถามว่า นี่มันอาคารของเขานะ คุณจะเอาเด็กมาเย้ว ๆ กัน เอาชาวบ้าน
มารวมกลุ่มกันแล้วบอกว่าไม่ให้รื้อ พวกคุณเข้าใจอะไรผิดกันหรือเปล่าครับ เราก็ตอบว่าไม่นะคะ บอกเขากลับว่ามันสำคัญกับเราเหมือนกัน เราอยากจะอนุรักษ์บ้านของพวกเราไว้ พวกคุณสร้างอาคารหลังใหม่โดยที่ยังเก็บของเก่าเอาไว้ให้เราได้หรือเปล่าคะ

“หลังจากเด็ก ๆ กลับไป พวกเราก็ยังคงดูแลรักษา ถึงแม้จะยากลำบาก แต่เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยวแล้ว เพราะเหมือนมีคนหนุนหลัง เราบอกชาวบ้าน บอกคนที่มาเที่ยวว่านอกจากอาคารจะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมด้วยนะ”

หลังจบค่าย เครือข่ายอนุรักษ์สถานีรถไฟสูงเนินร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาร่วมกันนำเสนอเรื่องราวคุณค่าความสำคัญของอาคารสถานีรถไฟผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเสวนาวิชาการ นิทรรศการภาพ นำเสนอผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งมีโอกาสเข้าพบผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้หารือเกี่ยวกับแนวคิดและนโยบายอนุรักษ์ที่ภาครัฐสามารถปฏิบัติได้ จนทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ตัดสินใจบรรจุการอนุรักษ์สถานีสูงเนินเข้าไว้ในแผนงาน

ช่วงวันที่ ๒-๓ สิงหาคม ๒๕๖๒ คนรักสถานีรถไฟสูงเนินยังร่วมกันจัดกิจกรรม “สูงเนิน สถานีที่รักษ์” ผู้คนพากันหอบลูกจูงหลานนั่งรถไฟจากสถานีนครราชสีมาและสถานีอื่น ๆ มาเที่ยวชมบรรยากาศงานย้อนอดีต

ต่อมาสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี ๒๕๖๕ ให้ “เรือนรักษ์รถไฟสูงเนิน” ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงบ้านพักพนักงานรถไฟ เวลานั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยมอบหมายให้กลุ่มอนุรักษ์สถานีรถไฟสูงเนินดูแลและใช้ประโยชน์เหตุการณ์ต่าง ๆ บ่งบอกว่าอาคารสถานีรถไฟมีคุณค่าความสำคัญจริง

อาจารย์ปริญญาวิเคราะห์คุณค่าความสำคัญของสถานีสูงเนินว่าครอบคลุมสี่ข้อหลัก ได้แก่ คุณค่าทางศิลปกรรม แสดงให้เห็นการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ ฝีมือช่างประณีตงดงาม ไม่สามารถสร้างทดแทนหรือหาใหม่ได้  คุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีความเกี่ยวพันกับบุคคลและเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เป็นตัวกลางเชื่อมโยงปัจจุบันกับอดีตได้อย่างเป็นรูปธรรม  คุณค่าทางสถาปัตยกรรม แสดงให้เห็นการพัฒนาและแนวคิดของสถาปนิกผู้ออกแบบ ลักษณะสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ สื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ และมีคุณค่าด้านเศรษฐกิจที่นำมาปรับเปลี่ยนประโยชน์ใช้สอยสนองความต้องการของคนในปัจจุบันได้  คุณค่าทางธรณีวิทยา การนำไม้จากผืนป่าเขาเควสตา (เขารูปอีโต้) ทางทิศใต้ของอำเภอสูงเนินมาสร้างอาคาร และใช้เป็นไม้ฟืนป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้รถจักรไอน้ำ โดยเมื่อพฤษภาคม ๒๕๖๖ สถานีรถไฟและเรือนรักษ์รถไฟสูงเนินได้รับการประกาศจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นพื้นที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยาในระดับนานาชาติ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในพื้นที่อุทยานธรณีโคราช หรือโคราชจีโอพาร์ค (Khorat Geopark)

การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องแข็งขัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ทำให้สถานีสูงเนินเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง อาคารสถานีและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ได้รับการอนุรักษ์ร่วมกับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ได้รับการปรับปรุงและอนุรักษ์ให้เป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ สวนสุขภาพ สถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ของชาวอำเภอสูงเนิน
หากความเปลี่ยนแปลงมาเยือน
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว และ สุพิชชา โตวิวิชญ์ ระบุว่า ระหว่างปี ๒๕๕๐-๒๕๖๓ มีการจัดค่ายเวอร์นาด็อกในประเทศไทยจำนวน ๗๓ ค่าย และอีก ๑๓ ค่ายในประเทศเครือข่าย

วัตถุประสงค์ของการจัดค่ายแตกต่างกันไป เช่น เพื่อการเรียนการสอน การวิจัย การบริการสังคม การฝึกอบรมความสนใจส่วนตัว การอนุรักษ์สถาปัตยกรรม

ปริชญ์เล่าว่า “ทุกวันนี้ผมยังไปเจอคนที่สูงเนินอยู่ตลอดนะ
ยังส่งข้อความทักทาย พูดคุยกัน เพราะช่วงทำค่ายใช้เวลาเป็นสัปดาห์ที่ต้องเข้าไปอยู่ในชุมชนและบริเวณรอบ ๆ สถานีรถไฟ เพื่อน ๆ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยนเรศวร ก็ยังสนิทกัน เวลามาเจอกันก็อัปเดตข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ กลายเป็นคอนเน็กชันด้านสายงานวิชาชีพ ผมคิดว่าค่ายเวอร์นาด็อกเป็นผลดีทั้งต่อชุมชนและตัวนักศึกษาที่เคยไปค่าย”
Image
ก่อนจะได้งานประจำ ปริชญ์ยังเข้าร่วมค่ายเวอร์นาด็อกที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึงช่วยงานอาจารย์สุดจิตที่ขับเคลื่อนเรื่องการต่อสู้ของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ถึงแม้ว่าสุดท้ายจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ ชาวชุมชนต้องโยกย้ายออก บ้านเรือนถูกรื้อถอนเพื่อปรับสภาพพื้นที่เป็นสวนสาธารณะ

ปริชญ์ให้ความเห็นว่า “พวกเราอาจไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้อยู่หรือไม่อยู่ พวกเราเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็ก ๆ ที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์  ถึงเวลาผลจะออกมาอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคนในชุมชน ของนโยบายภาครัฐเสียมากกว่า แต่การที่เราได้เข้าไปอยู่ตรงนั้นก็ทำให้เข้าใจความรู้สึกหรือความคิดอ่านของคนในชุมชนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เห็นแต่ข่าวว่ารื้อหรือไม่รื้อ แล้วก็ผ่านไป แต่จะนึกถึงตลอดว่าตอนลงพื้นที่เราได้รู้จักใคร เรียนรู้อะไรกลับมาบ้าง”

มองย้อนกลับไปในวันวานที่เหล่านักศึกษาก้มหน้าก้มตาเขียนภาพอาคารสถานีรถไฟลงบนกระดาษแข็ง ด้วยสถานการณ์การรื้อถอนที่อยู่ในช่วงสุกงอม หลายคนน่าจะจรดดินสอด้วยความคิดว่าอาคารตรงหน้าจะต้องถูกรื้อถอนแน่ ๆ เมื่อรื้อแล้วชาวบ้านอาจจะนำภาพต้นแบบใช้ประกอบในการสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ ไม่คิดว่าอาคารนี้จะยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน

“เมื่อไม่รื้อก็รู้สึกดีที่มันยังดำรงอยู่ ทุกวันนี้ผมก็ยังได้ไปเที่ยวที่สถานีรถไฟ ไปที่สูงเนิน สวรรคโลก รู้สึกลึก ๆ ว่าอย่างน้อยเราก็มีส่วนช่วยคนในชุมชนนั้น”

ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ ครั้งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๓ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรบันทึกไว้ในหนังสือ บอกรักษ์สูงเนิน : รวมบทความวิชาการและสารคดีในพื้นที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา หัวข้อเรื่อง “โครงการทางรถไฟสายโบราณคดี” ซึ่งเขารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ว่า โครงการรถไฟทางคู่เป็นกระแสธารของการพัฒนา เปรียบดั่งสายน้ำที่ยากจะหยุดไหล แต่หากสายน้ำไหลเชี่ยวเกินไป ตลิ่งสองฟากฝั่งก็อาจพังทลาย การพัฒนาจึงควรเกิดขึ้นควบคู่กับการอนุรักษ์ เมื่อมองไปข้างหน้า ก็ควรมองย้อนมาข้างหลังด้วย

ทั่วประเทศไทยมีอาคารสถานีรถไฟประมาณ ๔๐๐ กว่าแห่ง ด้วยกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลง วันนี้สถานีรถไฟหลายแห่งสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกรื้อถอน ในขณะที่บางแห่งถูกรื้อถอนไปแล้ว ตัวอาคารสถานีที่เคยมีความทรงจำร่วมกับผู้คนต้องสูญสลายไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

อาจารย์ปริญญาในฐานะนักวิชาการคนหนึ่งที่พยายามอนุรักษ์มรดกประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอาคารรถไฟไทยมานานกว่า ๑๕ ปี ครั้งหนึ่งเคยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายก-รัฐมนตรี ขอให้มีคำสั่งโดยด่วนให้รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยหาทางอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟไม้ที่อยู่ในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ที่มีข่าวว่าจะถูกรื้อถอนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ได้ตั้งข้อสังเกตและให้ความเห็นเกี่ยวกับการดูแลรักษาอาคารสถานีรถไฟทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรมว่า

“ผมอยากให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาบรรจุแผนอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟ ย่านสถานีรถไฟ ชุมชนบ้านพักรถไฟ มรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมที่ท่านกำลังดูแลรักษาให้เป็นหนึ่งในภารกิจหลัก สมมุติว่างบประมาณโครงการรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟทางคู่รวมกัน ๑ แสนล้านบาท แค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการเก็บรักษาอาคารสถานีรถไฟ คุณอาจจะเคลื่อนย้ายอาคารสถานีพื้นถิ่นเดิมไปเก็บรักษาไว้ หรือไม่ก็นำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสม”

หลายปีที่ผ่านมาอาจารย์ปริญญามีโอกาสพูดคุยกับผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งจากการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมศิลปากร บริษัทที่ปรึกษาโครงการรถไฟทางคู่ ผู้นำท้องถิ่น นักวิชาการ รวมถึงชาวบ้านมากมายหลายครั้ง ทั้งแบบทางการและไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับสถานการณ์การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอาคารสถานีรถไฟ

ทุกวันนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ถนนมอเตอร์เวย์ กำลังทำให้เกิดการก่อสร้างอาคารสถานีรถไฟหลังใหม่ อาคารที่สร้างด้วยไม้แบบพื้นถิ่นหลายแห่งจะไม่มีการใช้งานในอนาคต และทางการก็ไม่มีงบประมาณในการอนุรักษ์ อาจทำให้ต้องถูกรื้อทิ้ง

“หวังว่าท่านทั้งหลายจะเห็นคุณค่าความสำคัญและหางบประมาณมาช่วยการรถไฟแห่งประเทศไทยในการอนุรักษ์และปรับเปลี่ยนการใช้งานอาคารให้เหมาะสม เพื่อประโยชน์ของลูกหลาน เหมือนที่คนสูงเนิน แม่พวก บ้านปิน โคกกรวดกุดจิก และอีกหลาย ๆ พื้นที่ช่วยกันรักษาอาคารสถานีรถไฟของพวกเขาไว้ พร้อม ๆ กับสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป”
วันนี้หลายคนเริ่มตระหนักแล้วว่าการอนุรักษ์และพัฒนาอยู่ด้วยกันได้ ด้วยการเชื่อมหัวใจเข้ากับสถานีรถไฟและเรื่องราวในชุมชน  
ขอขอบคุณ
แพรุ่ง สีโนรักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทะเล (เสมาประชา-สรรค์) อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

เอกสารอ้างอิง
ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์ (บรรณาธิการ). (๒๕๖๓). บอกรักษ์สูงเนิน : รวมบทความวิชาการและสารคดีในพื้นที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา. กรุงเทพฯ : คณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว และ สุพิชชา โตวิวิชญ์. (๒๕๖๓). “VERNADOC กับการบันทึกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของไทย (VERNADOC and Vernacular Architecture Documentation of Thais)”. หน้าจั่ว. ๑๗(๑) : ๕๘-๙๑.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์
ภาณุพงศ์ ชลสวัสดิ์. “สถานีรถไฟสูงเนิน พิพิธภัณฑ์มีชีวิตบนทางรถไฟหลวงสายแรก”. เข้าถึงจาก https://www.museumsiam.org/museumcore_Train_Station

ครูแพสื่อการเรียนรู้. เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ตอน อนุสรณ์สถานสถานีรถไฟสูงเนิน วิทยากร คุณครูเจี๊ยบ พรนิภา ฉะกระโทก. เข้าถึงจาก https://www.youtube.com/watch?v=uLyjzrPAt8w