รางมิตรภาพ
(ไทย-ลาว)
ระหว่างประเทศ
Train Stories
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ลาวเพิ่งมี “สถานีรถไฟแห่งแรก” สำหรับประชาชนเมื่อปี ๒๕๕๒ ถ้าไม่นับ ๑๐๐ ปีก่อน (ปี ๒๔๓๖-๒๔๘๔) ที่เคยใช้ครั้งอยู่ใต้ปกครองฝรั่งเศส เป็นทางสาย “ดอนเดด-ดอนคอน” ระยะสั้น ๗ กิโลเมตร (ปัจจุบันคือชายแดนลาวในแขวงจำปาศักดิ์ติดประเทศกัมพูชา) ใช้ขนสินค้าผ่านน้ำตกและเกาะแก่งแม่น้ำโขง
เวลานี้รัฐบาลลาวร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามใช้ประโยชน์จากรอยทางรถไฟซากสะพาน และหัวรถจักรเดิม พัฒนาสู่โครงการทางรถไฟลาว-เวียดนามระยะไกล ๔๕๒ กิโลเมตร ใช้ขนส่งสินค้าลาว-จีนไปท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง (จังหวัดห่าติ๋ญในภาคกลางของเวียดนาม) แต่ยังไม่เสร็จ
ปัจจุบันลาวจึงยังมีทางรถไฟเพียงสองสาย คือรถไฟความเร็วสูงสายลาว-จีน (เวียงจันทน์-บ่อเต็น) เพิ่งเปิดปี ๒๕๖๔ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ เริ่มจากด่านบ่อเต็นในลาวผ่านแขวงหลวงน้ำทา อุดมไซ หลวงพระบาง สิ้นสุดที่เวียงจันทน์ รวม ๑๐ สถานี ระยะ ๔๑๔ กิโลเมตร
ส่วนสายหนองคาย-ท่านาแล้ง หรือ “ทางรถไฟสายแรกของลาว” ช่วงแรก ๓.๕ กิโลเมตร เปิดใช้ปี ๒๕๕๒ เชื่อมต่อทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-หนองคาย แล้วดำเนินการช่วง ๒ เป็นสถานีต่อขยาย “ท่านาแล้ง-เวียงจัน (คำสะหวาด)” ๗.๕ กิโลเมตร เพื่อประโยชน์ด้านโดยสารและขนสินค้าที่อยู่ในแผนพัฒนาย่านสถานีท่านาแล้งให้เชื่อมต่อกับด่านสากล “ท่าบกท่านาแล้ง” เพิ่งเสร็จปี ๒๕๖๕ บรรลุโครงการเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว
ถ้าชีวิตไม่ติดเร่งด่วน อยากชวนตีตั๋วใช้เวลาท้าทายการเดินทางอีกรูปแบบ
ไปทักทายสถานีหนองคาย-ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ (คำสะหวาด
“จุดสิ้นสุดธงชาติไทยจากสถานีหนองคาย-เริ่มต้นธงชาติลาวสู่สถานีท่านาแล้ง โดยมุมมองจากบนรถไฟ
ขณะเคลื่อนขบวนไปตามรางกลางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๑ เบื้องล่างคือแม่น้ำโขง”
สะพานเศรษฐกิจหนองคาย-ท่านาแล้ง ออกแบบให้ถนนใช้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างรถยนต์และรถไฟ เพื่อสนับสนุนระบบขนส่งทั้งสินค้าและโดยสารนักท่องเที่ยว
ยิ่งบ้านเมืองพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม ผู้คนกับธรรมชาติก็ยิ่งค่อย ๆ ห่างไกล
หมายรวมถึงการคมนาคมที่เมื่อใคร ๆ รู้ว่าจะนั่งรถไฟไปเวียงจันทน์ก็ทำหน้างงส่งนัยมา...เพื่อ ?
เมื่อทุกวันนี้มีสายการบินจากกรุงเทพฯ สู่เวียงจันทน์ ประหยัดทั้งราคา-เวลา พอบอกว่าอยากใช้บริการรถไฟ “หนองคาย-ท่านาแล้ง” ก็เดาว่าคงบินลงอุดรฯ ค่อยหารถไป “สถานีหนองคาย”
เปล่า-เราเลือกกินลมชมวิวจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ปลายทางสถานีหนองคาย ด้วยรถไฟตู้นั่งและนอน ชั้น ๒ ปรับอากาศ เตียงบน ๘๙๔ บาท เตียงล่าง ๙๙๔ บาท
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ใช้ระบบคล้ายสนามบิน ให้ผู้โดยสารที่รอขึ้นขบวนรถอยู่เฉพาะบริเวณจุดพักคอยชั้นล่างของอาคาร จนกว่าจะถึงเวลาตาม boarding pass จึงมีประกาศบอกให้ออกทาง gate ใดเพื่อไปโดยสารรถไฟที่มาจอดรอยังชานชาลาชั้นบนของอาคาร
ปัจจุบันชานชาลา รฟท. ในเขตกรุงเทพฯ มักมีการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT (รฟท. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เชื่อมต่อกับ MRT สถานีบางซื่อ)
แล้วเมื่อถึงเวลา ๒๐.๒๕ นาฬิกา รถไฟประเภทด่วนพิเศษ CNR (China CNR Corporation Limited : ชื่อย่อของบริษัทที่สั่งซื้อรถไฟ) “อีสานมรรคา” ขบวนที่ ๒๕ ก็เคลื่อนออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
รถไฟรุ่นใหม่แบบ CNR วิ่งเงียบกว่ารถไฟในความทรงจำเพราะไม่มีเครื่องปั่นไฟใต้ท้องรถ และมีจอทีวีให้ดูข้อมูลเดินรถว่าตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว ข้างนอกอุณหภูมิเท่าไร
สำหรับเราเสน่ห์น่ารักของรถไฟคือมี “ตู้เสบียง” จำหน่ายอาหาร-เครื่องดื่ม เสริมบรรยากาศระหว่างทางท่องเที่ยวให้คึกคัก ปัจจุบันให้บริการเฉพาะรถด่วนพิเศษ “อุตราวิถี” (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) “ทักษิณารัถย์” (กรุงเทพฯ-หาดใหญ่)
“อีสานวัฒนา” (กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี) และ “อีสานมรรคา” (กรุงเทพฯ-หนองคาย)
เมื่อรถไฟเคลื่อนจากแต่ละสถานี “พนักงานห้ามล้อ” จะเดินตรวจตั๋วผู้โดยสารจนครบคน ไม่เว้นแม้ใครกำลังกินข้าวอยู่ที่ “ตู้เสบียง” สมัยใหม่ซึ่งมีบรรยากาศคล้ายคาเฟ่
ภายในรถไฟตู้นอน ชั้น ๒ ปรับอากาศจะเปลี่ยนจากที่นั่งเป็นที่นอน จัดเตรียมเบาะ หมอน ผ้าห่ม ผ้าม่าน ปลั๊กไฟ และน้ำดื่ม แต่ละโบกี้คั่นด้วยห้องน้ำชักโครกแยกชายหญิง
นึกถึงการเดินทางสมัยเริ่มเปิดใช้ทางรถไฟ “หนองคาย-ท่านาแล้ง” หลังตะวันตกดินพนักงานรถไฟจะเดินปรับเก้าอี้นั่งเป็นเบาะนอนแบบเตียงสองชั้น เตียงชั้นบนไม่มีหน้าต่าง คนยังไม่นอนจะเดินข้ามตู้โดยสารไปตู้เสบียงติดพัดลม เปิดหน้าต่างชมวิว กินข้าว จิบเครื่องดื่ม ฟังเพลงที่พนักงานเปิดแข่งเสียงจอแจของนักเดินทางทั้งไทย-ต่างชาติที่ตะเบ็งคุยแข่งเสียงลมนอกรถไฟ เคล้าควันไฟจากครัว ให้อารมณ์สนุกคล้ายอยู่ในร้านสไตล์เพื่อชีวิต พอสัก ๔ ทุ่มครัวปิด ทุกคนก็ลุกกลับที่นั่ง-นอนตน
ปัจจุบันตู้เสบียงพัฒนาเป็นตู้ปรับอากาศ ตกแต่งคล้ายคาเฟ่สมัยใหม่ที่ไม่มีการประกอบอาหาร มีจำหน่ายเครื่องดื่มขวด-กระป๋องแบบร้อน-เย็น อาหารบรรจุไว้เป็นชุดในกล่องสุญญากาศพร้อมบริการอุ่นร้อนในราคา ๑๙๐ บาท ทั้งชุด
สเต๊กที่จับคู่มากับสลัดผักและเฟรนช์ฟรายส์ หรือชุดข้าวราดหน้าต่าง ๆ อย่างแกงเผ็ดเป็ดย่าง มัสมั่นไก่ เขียวหวานไก่ พะแนงไก่ ไก่กระเทียม ฯลฯ ที่จับคู่มาพร้อมแกงจืดกับเปาะเปี๊ยะทอดและผลไม้ตามฤดูรวมถึงน้ำดื่มแบบขวด ยังมีพวกอาหารกินเล่นอย่างปีกไก่นิวออร์ลีนส์ แซนด์วิช ฯลฯ
ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งสถานีหนองคาย หลังทำหนังสือผ่านแดนแล้วเด็ก ๆ ได้รับอนุญาตให้ซุกซนได้ระหว่างรอเวลาขึ้นรถไฟมุ่งสู่สถานีท่านาแล้ง
สิบชั่วโมงผ่านไปไวกว่าที่คิด หัวรถจักรเคลื่อนพ้นกรุงเทพฯ
ผ่านอยุธยา สระบุรี นครราชสีมาที่ชุมทางถนนจิระ มีทางแยกสู่ขอนแก่น อุดรธานี แล้วสุดทาง-สวัสดีที่หนองคายตอน ๐๖.๒๕ นาฬิกา รวมจำนวน ๒๐ สถานี ตีเป็นระยะทางจากกรุงเทพฯ ๖๒๑.๑๐ กิโลเมตร
แต่อีก ๗ ปี คงไม่ต้องนั่งรถไฟนานขนาดนี้แล้ว หากเป็นตามแผนเศรษฐกิจของประเทศที่ว่าปี ๒๕๗๓ สถานีหนองคายจะเป็นหนึ่งใน “โครงการรถไฟความเร็วสูง”
เป็นอยู่เวลานี้คือส่วนหนึ่งของ “โครงการทางรถไฟผ่านทวีปเอเชียขององค์การสหประชาชาติ” ด้วยทางเหนือของสถานีมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๑ ความยาว ๑.๑๗ กิโลเมตร ปี ๒๕๔๓ รัฐบาลไทยจึงให้การรถไฟแห่งประเทศ
ไทย (รฟท.) สร้างรางจากกลางสะพานมิตรภาพฯ เชื่อมสถานีหนองคายกับสถานีท่านาแล้ง (บ้านดงโพสี เมืองหาดทราย-ฟอง นครหลวงเวียงจันทน์) ด้วยระยะทาง ๓.๕ กิโลเมตร จวบวันนี้เปิดให้บริการมา ๑๔ ปี
แม้ขบวนโดยสารจากสถานีหนองคาย-ท่านาแล้งวิ่งวันละ ๔ เที่ยว แต่ขบวนขนส่งสินค้าจะวิ่งวันละ ๑๐-๑๕ เที่ยว เพราะรายได้หลักของรถไฟไม่ได้มาจากผู้โดยสารแต่มาจากการขนส่งสินค้า
พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ที่เรามาก็ยังมีการเดินรถวันละ ๔ เที่ยวโดยขบวนของการรถไฟแห่งประเทศไทยจำนวน ๒ ขบวน ผลัดให้บริการไป-กลับ เที่ยวละ ๑๕ นาที ราคาตั๋วเที่ยวละ ๒๐ บาท
ขบวนรถ ท ๔๘๑ ออกจากสถานีหนองคายเวลา ๐๗.๓๐ น. ถึงสถานีท่านาแล้งเวลา ๐๗.๔๕ น.
ขบวนรถ ท ๔๘๒ ออกจากสถานีท่านาแล้งเวลา ๑๐.๐๐ น. ถึงสถานีหนองคายเวลา ๑๐.๑๕ น.
ขบวนรถ ท ๔๘๓ ออกจากสถานีหนองคายเวลา ๑๔.๔๕ น. ถึงสถานีท่านาแล้งเวลา ๑๕.๐๐ น.
ขบวนรถ ท ๔๘๔ ออกจากสถานีท่านาแล้งเวลา ๑๗.๓๐ น. ถึงสถานีหนองคายเวลา ๑๗.๔๕ น.
“ตั๋วหนา” จำลองการเดินทางโดยรถไฟสมัยก่อน (ไม่ใช่ตั๋วที่ใช้จริง) พิมพ์ขึ้นเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ระหว่างประเทศไทย-สปป. ลาว
ส่วนใหญ่ผู้โดยสารที่ใช้บริการสถานีท่านาแล้งจะเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ มีคนไทย-ลาวร่วมใช้เป็นส่วนน้อย
“โครงการสถานีหนองคาย-ท่านาแล้งเป็นความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจผ่านรถไฟระหว่างรัฐบาลไทยกับลาว หลังจากไทยส่งมอบสถานีท่านาแล้งให้ลาวอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๒๐๑๗ รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวก็รับมาบริหารต่อ เวลานี้พนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งสถานีท่านาแล้งมีอยู่ประมาณ ๖๐ คน รวมผู้อาวุโสด้วย เราให้บริการขนส่งสินค้ามากกว่าโดยสาร มีรถไฟวิ่ง ๑๐-๑๕ เที่ยวต่อวัน ขึ้นอยู่กับจำนวนสินค้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุปโภคบริโภคจากจีนที่จะผ่านจากลาวไปไทย ส่วนสินค้าระหว่างไทย-ลาววิ่งวันละ ๒ เที่ยว สินค้าไทยมาลาว มักเป็นทางการเกษตรอย่างปุ๋ย และจากลาวไปไทยส่วนใหญ่เป็นเบียร์ ผู้โดยสารไทย-ลาวจะอาศัยใช้บริการรถไฟเข้าออกระหว่างประเทศร่วมกับการขนส่งสินค้าไปในตัว”
กองทะลี โพทิสมพอน เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว สะท้อนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของสองประเทศจะพัฒนาศักยภาพได้ไกลกว่านี้อีกหากเดินทางสะดวกขึ้น ทุกวันนี้ลงรถไฟเสร็จยังต้องหารถออกจากบ้านดงโพสีเข้าเมืองนครหลวงเวียงจันทน์
“ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการสถานีรถไฟท่านาแล้งคือชาวต่างชาติที่เที่ยวกรุงเทพฯ ก่อนค่อยมาเที่ยวลาวต่อ ก็จะขึ้นรถไฟที่สถานีหนองคายมาลงสถานีท่านาแล้งเพื่อไปเที่ยวเวียงจันทน์แล้วอาจไปวังเวียงหรือหลวงพระบางต่อ ค่อยนั่งเครื่องบินกลับประเทศตนโดยไม่ได้ย้อนมาขึ้นรถไฟที่สถานีท่านาแล้ง”
อนาคตอันใกล้สถานีนี้จึงจะเหลือเพียงการขนส่งสินค้ายกเลิกรับ-ส่งผู้โดยสาร
ตราประทับผ่านแดนบนหนังสือเดินทางจะเป็นตำนานหนึ่งของผู้ทันใช้บริการ
เวียงจันทน์จะมีประตูใหญ่แห่งใหม่ เมื่อสถานีท่านาแล้งยุติให้บริการโดยสารก็จะย้ายมาเปิดที่ “สะถานีเวียงจัน (คำสะหวาด)” บ้านคำ-สะหวาด เมืองไชยเชษฐา ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์ ห่างพระธาตุหลวง-หมุดสำคัญของนักท่องเที่ยวเพียง ๔ กิโลเมตร และตั้งห่าง “สะถานีนะคอนหลวงเวียงจัน” ของทางรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น (รถไฟความเร็วสูงสายลาว-จีน : ส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์) เพียง ๑๐ กิโลเมตร
สถานีเวียงจัน (คำสะหวาด) จึงเป็นความหวังใหม่ที่จะเพิ่มสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ เพราะแม้สถานีรถไฟจะตั้งอยู่ในเขตลาวแต่คนไทยก็ได้ใช้ประโยชน์ รัฐบาลไทยจึงอนุมัติให้ สพพ. [สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency (Public Organization) : NEDA] ช่วยเหลือเงินแก่ สปป. ลาว จำนวน ๑,๖๕๐ ล้านบาท (เงินกู้จริง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ และให้เปล่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์)
“โครงการรถไฟไทย-ลาวแบ่งเป็นสองส่วน คือสถานีท่านาแล้งที่ส่งมอบให้รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวเรียบร้อย อีกส่วนคือสถานีคำสะหวาดห่างจากสถานีท่านาแล้ง ๗.๕ กิโลเมตร เป็นส่วนขยายของแผนที่เส้นทางรวม ๑๑ กิโลเมตร คือหนองคาย-ท่านาแล้ง ๓.๕ กิโลเมตร ท่านาแล้ง-คำสะหวาด ๗.๕ กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยให้การเชื่อมต่อรถไฟจากหนองคายของไทยสู่เวียงจันทน์สมบูรณ์ขึ้น ต่อไปจะย้ายสำนักงานทำเรื่องผ่านแดนมาอยู่ที่สถานีคำสะหวาดจุดเดียว เพราะรถไฟจะไม่หยุดรับผู้โดยสารที่ท่านาแล้งอีก”
พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์
พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ สพพ. เล่าว่า สถานีเวียงจัน (คำสะหวาด) และอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่มีด่านตรวจคนเข้าเมืองสร้างเสร็จตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๕ แต่ยังรอกระบวนการรัฐไทยส่งมอบแก่รัฐลาว ต้นสิงหาคม ๒๕๖๖ จึงนำคณะสื่อมวลชนไทยเยี่ยมชมก่อน
แสงทะวีไซ มาลีวัน อธิบดีลฟล. และหัวหน้าคณะสำรวจและติดตามความคืบหน้ามาตั้งแต่ครั้งสร้างสถานีท่านาแล้ง เล่าความภาคภูมิ
“เดิมอาคารสถานีท่านาแล้งมีขนาดเล็กและร้อน ไม่สบายต่อผู้ใช้บริการ อาคารใหม่นี้ทันสมัย ชั้นบนเป็นที่ตั้งสำนักงานรถไฟ ชั้นล่างเป็นพื้นที่ให้บริการประชาชน มีที่ขายตั๋ว ห้องพักผู้โดยสาร ห้องน้ำ ห้องอาหาร เฮาว่าเมื่อเปิดจะมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าวันละ ๗,๕๐๐ คน ส่วนหนึ่งคือผู้โดยสารจากสถานีท่านาแล้ง เพิ่มเติมด้วยนักเดินทางที่มาจากไทยและจีน เพราะสถานีนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเวียงจันทน์นิดเดียว”
พีรเมศร์-ผู้อำนวยการ สพพ. ร่วมหนุนศักยภาพ
“ผมคิดว่าทางรถไฟและสถานีนี้เหมาะสมและเพียงพอรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวในภูมิภาคและธุรกิจขนส่งสินค้าข้ามประเทศจากไทย-ลาว-จีนที่มาใช้บริการไปได้อีกนาน แต่หากในอนาคตจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มก็ค่อยพิจารณาความเป็นไปได้ต่อ ไม่นานนี้ผมเพิ่งรับเรื่องจากหน่วยงานของท่านาแล้งขอให้เนด้า (NEDA) ทำแผนธุรกิจการนำร้านค้าต่าง ๆ มาเปิดในสถานีรถไฟคำสะหวาดด้วย เพราะคาดว่าเมื่อที่นี่เปิดให้บริการเต็มรูปแบบความเจริญจากเมืองหลวงจะมาแน่”
แม้เวลานี้การเชื่อมต่อสถานีท่านาแล้งมาสถานีเวียงจัน (คำสะหวาด) ยังต้องอาศัยรถ ซึ่งระหว่างทางข้ามเมืองยังเงียบสงบเพราะไม่ใช่ย่านชุมชนใหญ่ ที่ผ่านมานักธุรกิจจึงมุ่งหน้าไปลงทุนแต่ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์และหลวงพระบางจนที่ดินมีราคาแพงมาก แต่อนาคตก็เป็นได้ที่นักธุรกิจจะเห็นประโยชน์ มาลงทุนเปิดร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม พัฒนาเป็นจุดพักให้นักท่องเที่ยวที่มาจากไทยได้แวะสร้างเศรษฐกิจให้เวียงจันทน์ก่อนสัก ๑-๒ คืน แทนที่จะมองเป็นเมืองผ่านทาง (แม้สำหรับชาว ลฟล. : ทางรถไฟแห่งชาติลาว จะเห็นพ้องว่าอยากให้ไทยช่วยพัฒนาทางรถไฟให้สองสถานีเชื่อมต่อกันมากกว่า)
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ
ผู้ทรงคุณวุฒิ สพพ. ชวนฉุกคิด
“การมีด่านหรืออาคารสวยงามไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ ยังต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งหลายช่วยทำให้มีชีวิต ให้สมฐานะสถานีไทย-ลาวที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศ ที่ผ่านมาการทำสะพาน ถนน สถานีรถไฟ ไม่ใช่เพียงใช้ทรัพยากรมาก ใช้กำลังคนมหาศาล ยังมีรายละเอียดที่ตามมาจากโครงสร้างพื้นฐาน อย่างการทำแผนธุรกิจให้พร้อมรองรับธุรกิจในพื้นที่นั้น ๆ เพราะคือต้นทุนสำคัญที่จะทำอะไรต่อไปได้อีกมาก ราคาของการพัฒนาใช้งบไม่เปลืองเท่าตอนสร้างหรอกครับ แต่ต้องใช้ความพยายามและร่วมมือร่วมใจต่อเนื่อง และอย่าลืมว่าการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากต้องใช้พื้นที่เยอะ อาจต้องเวนคืน...”
ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ
นั่นหมายถึงผลกระทบต่อทรัพยากรและกลุ่มคนที่อยู่มาก่อนความเจริญ
ชาวลาวก็รับรู้ เพราะมีออกข่าวทางสถานีโทรภาพแห่งชาติลาวหลายครั้ง
เช่นเมื่อครั้งสร้างสถานีรถไฟท่านาแล้ง รัฐบาลลาวต้องบุกเบิกพื้นที่ป่าจำนวนมาก โยกสิ่งกีดขวางออกจากแนวทางรถไฟ เวนคืนที่ดินชาวบ้านดงโพสีสามแปลง ใช้งบประมาณ ๑๕ ล้านกีบ และมอบข้าวสารจำนวน ๘.๔๑ ตัน ลดทอนความลำบากแก่ผู้ถูกเวนคืนที่นา ยังไม่รวมการชดเชยอื่นอีก ๒๔,๓๙๐,๘๐๐ กีบ
รวมถึงเรื่องที่สำคัญกว่าว่าแม้ไทยส่งมอบสถานีเวียงจัน (คำสะหวาด) และอาคารสำนักงานแก่ลาวเรียบร้อย แต่การจะเปิดบริการได้รัฐบาลลาวต้องพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับมืองานบริการครบวงจรด้วย ซึ่งเวลานี้สถานีเวียงจัน (คำสะหวาด) ยังมีแต่ราง ไม่มีรถไฟ คนขับ และพนักงานให้บริการผู้โดยสาร
“เราก็อยากพัฒนาทรัพย์สินที่ได้รับมาให้ดีที่สุด ยอมรับว่ากิจการรถไฟยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับลาว ทั้งเรื่องดำเนินงานปรับปรุง หรือพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจ สถานีคำสะหวาดจะมีพนักงานส่วนหนึ่งที่มีประสบการณ์จากสถานีรถไฟท่านาแล้งมาทำต่อ ๒๐ คน ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนบุคลากรที่เป็นงานน้อยมาก จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทางรัฐไทยช่วยฝึกประสบการณ์เกี่ยวกับการรถไฟให้ด้วย เวลานี้เรายังไม่มีพนักงานขับรถไฟที่เป็นคนลาว จึงจะขอส่งไปฝึกกับทางไทยอย่างน้อย ๑๐ คน”
ทองเดือน คำมะนี รองผู้อำนวยการ (บริหารการเงินสากล) รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาว กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง อ้างถึงความเจริญร่วมกันของสองประเทศ
“จากปรกติที่สถานีหนองคายถึงท่านาแล้งเคยขนส่งสินค้า ๑๐-๑๕ เที่ยวต่อวัน รองรับผู้โดยสารวันละ ๒ เที่ยว สถานีหนองคายถึงคำสะหวาดจะเพิ่มรอบขนส่งเที่ยวละ ๒๐ ตู้โดยสาร และให้บริการโดยสารเป็นวันละ ๔-๕ เที่ยว เพื่อรองรับการขนส่งและท่องเที่ยวที่จะไปจีนต่อโดยรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน”
หน้าอาคารสถานีเวียงจัน (คำสะหวาด) มองเข้าไปจะเห็นด่านตรวจคนเข้าเมือง ส่วนชั้นบนของอาคารเป็นที่ตั้งสำนักงานรถไฟ
ท้าวกองทะลี-เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งชาติลาวช่วยเสริมเหตุผลจำเป็น
“เดิมขบวนรถไฟเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย คนขับจึงเป็นเจ้าหน้าที่ไทย ซึ่งในการจัดทำ MOU แต่แรก ระบุว่าการเดินรถไฟจากไทยเข้ามาทำได้เพียงสถานีท่านาแล้ง ไม่สามารถให้คนไทยขับรถไฟถึงสถานีคำสะหวาดได้ แม้ระยะห่างของสถานีท่านาแล้งกับคำสะหวาดจะเพิ่มแค่ ๗-๘ กิโลเมตร มันไม่สอดคล้องกับในสัญญาเดิมของสองประเทศ และกฎหมายลาวระบุเรื่องการสัญจรในประเทศไว้ว่าคนขับต้องเป็นคนลาวเท่านั้น หากจะให้คนขับรถไฟเป็นเจ้าหน้าที่ไทยต้องแก้ไขสัญญา MOU ใหม่ โดยเปลี่ยนสถานีปลายทางจากท่านาแล้งเป็นคำสะหวาด ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ที่ทำได้เร็วกว่าคือขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รถไฟชาวลาว คงใช้เวลา ๒-๓ เดือน จากนั้นเมื่อรถไฟไทยเข้าสู่สถานีท่านาแล้งก็เปลี่ยนให้เจ้าหน้าที่ลาวขับรถไฟต่อ โดยมีเจ้าหน้าที่จากการรถไฟไทยประกบข้าง ๆ ได้”
อย่างไรขบวนรถไฟก็เป็นสมบัติรัฐไทยที่ไม่อาจให้ชนชาติอื่นบังคับหัวรถจักร
“เรื่องการฝึกอบรมพนักงานรถไฟ เนด้าประสานความร่วมมือกับทาง รฟท. ไว้แล้วครับ ไทยเองเล็งเห็นว่ารถไฟระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกสบาย น่าสนใจ และสนับสนุนการรถไฟแห่งประเทศทั้งไทยและลาว ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่าจะใช้ระยะเวลาฝึกอบรม ๕ สัปดาห์”
แล้ว ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ ก็ปรากฏข่าวน่ายินดี
เมื่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย และ สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป. ลาว ร่วมพิธีส่งมอบ-เปิดอาคารสถานีและสถานีเวียงจัน (คำสะหวาด) ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-ลาวระยะที่ ๒ (ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์) อย่างเป็นทางการ
“เวลานี้ทาง ลฟล. ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาฝึกขับรถไฟรวมถึงเรียนรู้เรื่องการจำหน่ายตั๋วกับทาง รฟท. เรียบร้อยแล้วโดยได้รับสนับสนุนด้านการเงินจากเนด้า มีกำหนดฝึกอบรมเสร็จในเดือนมกราคม ๒๕๖๗ ซึ่งก็คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถได้ในเดือนมกราคม ๒๕๖๗ เช่นกัน”
พีรเมศร์-ผู้อำนวยการ สพพ. (NEDA) บอกเล่าสถานการณ์ล่าสุด
นับเป็นของขวัญปีใหม่-มิตรภาพชิ้นใหญ่จากไทยแด่ลาว
รถไฟความเร็วสูงลาว-จีน สายเวียงจันทน์-บ่อเต็น ณ สถานีหลวงพระบาง
แต่ไรมาแผ่นดินลาวมีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจตรงที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
ประตูสำคัญจึงอยู่ที่การพัฒนาตนให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก
ถนนและรางระหว่างประเทศจึงสำคัญหลาย หมายถึงการพัฒนาสังคมของลาว โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ต้องลำเลียงขนส่งทั้งสินค้าและนักท่องเที่ยว ครั้นลาวไม่มีกำลังพัฒนาเองทั้งหมดจึงจำเป็นต้องรับไมตรีจากต่างชาติ แม้สายตาคนต่างเมืองจะเห็นความเสียเปรียบหลายอย่างหากลาวยอมร่วมทุน แต่การได้เห็นรางรถไฟระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องน่ายินดี
เพื่อให้สื่อมวลชนไทยเห็นภาพรวมโครงข่ายคมนาคมระบบราง สพพ. จึงจัดสรรงบประชาสัมพันธ์นำเยือนหลวงพระบางเพื่อทดลองโดยสารรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น
เฉพาะฝั่งลาว รถไฟ “ขบวนล้านช้าง” จอดรับผู้โดยสารหกสถานี คือ เวียงจันทน์ โพนโฮง วังเวียง หลวงพระบาง เมืองไซ และบ่อเต็น
แม้ไม่ได้เริ่มต้นทางด่านบ่อเต็น แต่การเริ่มจาก “สะถานีหลวงพะบาง” ที่ตั้งห่างเมืองไปทิศตะวันออก ๑๒ กิโลเมตร ก็ชวนว้าวในความงามของอาคารขนาด ๗,๙๗๐ ตารางเมตร หากเป็นทางถนน การเดินทางจากหลวงพระบาง-เวียงจันทน์จะใช้เวลา ๑๕ ชั่วโมง แต่ด้วยความเร็วของรถไฟหน้าตาโฉบเฉี่ยว ตกแต่งสีสันบนขบวนด้วยสีเดียวกับธงชาติลาวที่แล่นฉิว ๑๕๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงรวบเวลาเดินทางให้เหลือ ๒ ชั่วโมง ราคาตั๋วโดยสารขึ้นอยู่กับประเภทที่นั่ง มีให้เลือกสามแบบ คือ ชั้นธุรกิจ ชั้น ๑ ชั้น ๒ และชั้นธรรมดา
ระหว่างทางรถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูง เพลินตาทิวทัศน์ธรรมชาติสลับภาพไร่นาชนบท นึกถึงช่วงวานที่รับประทานอาหารเย็นใน “เรือท่องเที่ยวล่องแม่น้ำ” พลางจิบ “เบียร์
หลวงพระบาง” ยี่ห้อใหม่ของ สปป. ลาว สัมผัสการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ทำให้มาหลวงพระบางทีไรไม่เคยเหมือนเดิม ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่ได้มุ่งกระตุ้นแต่ท่องเที่ยว ย่านการค้าของหลวงพระบางวันนี้ยังเด่นวิถีกสิกรรมทั้งสินค้าจากพืช-สัตว์
“ขณะเดียวกันหมู่เฮาก็มีดีด้านหัตถกรรม ในลาวมีชาติพันธุ์
กว่า ๑๕ กลุ่ม พวกเขามีเรื่องราวน่าสนใจและมีฝีมือในแบบชนเผ่าตน รู้จักนำวัตถุดิบธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ทั้งจักสาน ปั่นฝ้าย ย้อมด้ายสีธรรมชาติ ไปจนทอผ้า การพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องส่งเสริมเอกลักษณ์ชุมชนด้วยเพื่อสร้างคุณค่าทางมรดก”
แววมะนี ดวงดาลา รองประธานสภาการค้าและอุตสาหกรรมหลวงพระบางให้ความเห็นเมื่อปี ๒๕๖๒ ครั้ง สพพ. นำสื่อมวลชนเป็นสักขีพยานส่งมอบโครงการสร้างถนนตัดภูเขาตั้งแต่กิโลเมตรที่ ๐ สามแยกบ้านนาปุง เมืองหงสา ถึงบ้านเชียงแมน กิโลเมตรที่ ๑๐๘ สี่แยกเมืองจอมเพ็ด แขวงหลวงพระบาง เวลานั้นนอกจากยินดีที่เห็นไทยช่วยสร้างถนนตัดภูเขาสำเร็จจริง เชื่อมจากด่านน้ำเงิน เมืองเงิน แขวงไซยะบูลี ต่อจุดผ่านแดนบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ร่นเวลาเดินทาง (จากน่านไปหลวงพระบาง) ๖ ชั่วโมง เหลือ ๓ ชั่วโมงเศษ เหล่านักธุรกิจในลาวรวมถึงแววมะนีจึงมั่นใจแล้วว่าไม่ช้าเศรษฐกิจลาวจะได้ประโยชน์จากระบบรางที่ฝากความหวังไว้กับไทยและจีน
คงเป็นความยินดีส่วนตัวด้วย ฐานะที่แววมะนีก็สวมหมวกผู้ก่อตั้งศูนย์หัตถกรรม “ออก พบ ตก” ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำโขง ซึ่งกำเนิดจากเธอ-หญิงตะวันออกลูกนักทอผ้าแห่งหลวงพระบางกับสตรีอังกฤษช่างภาพนิตยสารผู้หลงใหลวัฒนธรรมที่ต่างจากตะวันตก จึงผูกมิตรระหว่างประเทศขึ้น พวกเธอเชื่อมั่นว่าการยกระดับสิ่งทอและศักยภาพฝีมือของแม่หญิงลาวจะยิ่งเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ
ที่เหลือปล่อยให้เส้นทางรถไฟสะดวกสบายนำพานักท่องเที่ยวทั่วโลกมาสัมผัส
บนรถไฟความเร็วสูงที่ผู้โดยสารต่างพยายามเลือกนั่งชิดหน้าต่าง ถัดไปด้านข้างคือที่นั่งร้อยตำรวจเอก ดร. นิติภูมิ-
ธณัฐ มิ่งรุจิราลัย สื่อมวลชนไทยที่มาในฐานะตัวแทนของลูกชาย (นิติการุณย์) ผู้เขียนคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” บนเว็บไซต์ของไทยรัฐออนไลน์ รายงานบทความข่าวไว้ตอนหนึ่งน่าสนใจ
“ปี ๒๐๑๓ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนเยือนเอเชียกลางกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเสนอแนวคิดสร้างแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ ๒๑ กับประเทศที่เกี่ยวข้อง ครั้งนั้นนายสีพูด ‘เราจะประสานนโยบายการเชื่อมโยง โครงสร้างพื้นฐาน การค้าคล่องสะดวก การหมุนเวียนทางการเงินและการเชื่อมใจประชาชน โดยร่วมหารือ ร่วมสร้าง ร่วมแบ่งปัน เป็นหลักในการสร้างประโยชน์สุขแก่ประเทศและประชาชนในเส้นทางอย่างแท้จริง’ ซึ่งหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่นายสีพูดครอบคลุมประเทศและพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียกลาง รัสเซีย ยุโรปตะวันออก และไปจนถึงยุโรปตะวันตก ที่เห็นเป็นรูปธรรมสำเร็จแล้วก็คือทางรถไฟสายเวียงจันทน์-บ่อเต็น หรือทางรถไฟสายจีน-ลาวนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสาย
คุนหมิง-สิงคโปร์ เขาใช้ทางรถไฟขนาดรางสแตนด์ดาร์ดเกจ ๑.๔๓๕ เมตร ระยะทาง ๔๑๔ กิโลเมตร”
ในที่สุดรถไฟขบวนล้านช้างก็นำคณะสื่อมวลชนไทยมาช่วยประชาสัมพันธ์ “สถานีนครหลวงเวียงจันทน์” จุดสิ้นสุดสถานีรถไฟความเร็วสูงฝั่งลาว แต่ความเจริญสู่เมืองรอบนอกที่อยู่ไกลกำลังเริ่มต้นและสำหรับคนไทย จุดนี้เป็นสถานีต้นทางที่ใกล้ไทยที่สุด ตะวันตกของเวียงจันทน์อยู่ติดหนองคาย เชื่อมต่อด้วยสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๑ และห่างจากด่านสถานีท่านาแล้งเพียง ๒๒ กิโลเมตร
มีโอกาสเดินเล่นที่อาคารศูนย์การค้าใจกลางเมืองเวียงจันทน์ รวมสารพัดสินค้าทั้งเครื่องเงินและผ้าสวยจากหลวงพระบาง ผลไม้อบแห้งกับกาแฟหอมจากที่ราบสูงภูมิภาคต่าง ๆ ของลาว อาหาร-เครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ทันสมัยรวมถึงสินค้าเทคโนโลยีจากไทยและจีนพร้อมส่งถึงผู้บริโภค ซึ่งนับแต่เปิดการขนส่งสินค้าระบบทางรางก็ยิ่งช่วยให้ต้นทุนสินค้าจากกรุงเทพฯ ไปลาวมีราคาถูกกว่าขนส่งทางถนน
และเมื่อยังไม่อาจยกทะเลมาเชื่อมแผ่นดิน สปป. ลาวจึงยกระดับประเทศเป็น “สะพานทางบก” เชื่อมเศรษฐกิจกับภูมิภาคด้วยโลจิสติกส์แทน นับวันเวียงจันทน์จะยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้ลาวเจริญก้าวกระโดดจากการลงทุนของต่างชาติจนเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจ” ลุ่มแม่น้ำโขงเรียบร้อย
หลักฐานสำคัญปรากฏที่ “ด่านสากลสินค้าท่าบกท่านาแล้ง” และ “เขดโลจิดสะติกส นะคอนหลวงเวียงจัน” บนพื้นที่ขนาด ๒,๓๘๗.๕ ไร่ ที่เพิ่งเปิดใช้ปี ๒๕๖๔ ทำหน้าที่เป็นด่านสากลให้บริการพิธีศุลกากรสำหรับสินค้าเข้า-ออกระหว่างประเทศ
พื้นที่ของโครงการก็เชื่อมโยงกับทั้งสถานีรถไฟท่านาแล้ง สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๑ (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) และสถานีนครหลวงเวียงจันทน์ (โครงการรถไฟลาว-จีน)
เหล่านี้คือคำตอบของเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนที่ผู้คนไม่ค่อยมั่นใจว่าจะคุ้มค่าหรือที่ไทยนำเงินมหาศาลไปช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ลาว ทั้งความช่วยเหลือทางวิชาการ เงินให้เปล่า และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ทว่าสิ่งที่ไทยได้รับวันนี้ปรากฏแล้วว่าคือการค้าขายและการท่องเที่ยวที่มากกว่าเม็ดเงินลงทุนหลายเท่า
อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ปี ๒๕๖๖ ๑๐,๐๐๐ กีบ เท่ากับ ๑๙.๔๙ บาท ๑๐๐,๐๐๐ กีบ เท่ากับ ๑๙๔.๘๙ บาท
ในอาคารของ “บริษัทท่าบกท่านาแล้ง จำกัดผู้เดียว” จัดห้องประชุมไว้กลางโถงอาคาร ตื่นตาด้วยโมเดลจำลอง “เวียงจันทน์เมืองใหม่” ที่แบ่งเมืองเป็นเจ็ดโซน โดยมีเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ตั้งอยู่
สาคอน พิลางาม ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าบกท่านาแล้ง จำกัดผู้เดียว เล่าว่าสถานีท่าบกท่านาแล้งยังเป็นจุดที่มีความสะดวกด้านโลจิสติกส์ครบวงจร มีจุดจอด (meeting point) รถไฟไทย-ลาว และรถไฟลาว-จีน ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ลานกองตู้สินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงระบบคลังสินค้า และเปิดให้เช่าพื้นที่สำนักงานสำหรับกิจการต่างประเทศแก่นักลงทุนทั้งชาวลาวและต่างชาติ
“ปัจจุบันสินค้าข้ามแดนมีสองประเภท คือของลาวและของคนไทย กับสินค้าที่ส่งไปจีน ทุกอย่างที่จะขนเข้า-ออกจากลาวต้องผ่านด่านสถานีต้นทางนี้ซึ่งเปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าภาคการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ราคาแพงอย่างทุเรียน มังคุด ลำไย สตรอว์เบอร์รี”
นึกถึงข้อเขียนในเฟซบุ๊กของร้อยตำรวจเอก ดร. นิติภูมิธณัฐ ที่สังเกตระบบการจัดการไว้น่าสนใจ
“มันเป็นการยกตู้คอนเทนเนอร์จากรางรถไฟไทยขนาด ๑ เมตร เป็นรางรถไฟลาวซึ่งเป็นรางขนาดมาตรฐานที่มีความกว้าง ๑.๔๓๕ เมตร การใช้รางรถไฟลาวที่เป็นสแตนดาร์ดเกจทำให้ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าของไทยสามารถบรรทุกได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนรางอีก การส่งสินค้าข้ามแดนจากไทยไปลาว ไปจีน หรือผ่านกลุ่มประเทศเอเชียกลางจนถึงรัสเซีย ต่อไปจนถึงยุโรปตะวันออก และยุโรปตะวันตกอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรืออังกฤษ จึงดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ยังเป็นการช่วยผู้ประกอบการให้ได้ลดค่าขนส่งและสินค้า โดยส่งถึงปลายทางได้เร็วกว่าส่งไปทางเรือด้วย”
สถานีท่าบกท่านาแล้งที่ติดชายแดนหนองคายจึงเป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้าให้กับภูมิภาคที่น่าสนใจ ทั้งดีต่อสินค้าที่ต้องการขนส่งไปจีนโดยรถไฟระดับดินด้วยเพราะแม้รถไฟความเร็วสูงจะน่าสนใจ แต่ยังเกินจำเป็น เมื่อรถไฟความเร็วปรกติจากลาวไปจีนก็เพียง ๔ ชั่วโมง
...
มาอย่างไร กลับอย่างนั้น แต่เป็นความรู้สึกคนละแบบเข้าใจความสำคัญของขบวนรถไฟ -หนองคาย-กรุงเทพฯ มากขึ้นและฝันถึงโครงข่ายด่วนจี๋ในอนาคตมากกว่าขามาที่คิดถึงแต่มุมนักท่องเที่ยว
เวลานี้ไทยมีรถไฟระหว่างประเทศสองสาย คือ ไทย-ลาว กับไทย-มาเลเซีย
ทั้งสายอีสานและสายใต้กำลังพัฒนาต่อตามแผนเป็น “รถไฟความเร็วสูง”
สถานีสายอีสานแบ่งสองระยะคือ “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” (คาดเสร็จปี ๒๕๖๙) กับ “นครราชสีมา-หนองคาย” (คาดเสร็จปี ๒๕๗๓) ทำหน้าที่เชื่อมสถานี “เวียงจัน (คำสะหวาด)” และสายใต้แบ่งเป็นสถานี “กรุงเทพฯ-หัวหิน” (คาดเสร็จปี ๒๕๗๕) กับ “หัวหิน-ปาดังเบซาร์” (คาดเสร็จปี ๒๕๘๐)
นอกจากนี้โครงข่ายของรถไฟความเร็วสูงยังมีสายเหนือสถานี “กรุงเทพฯ-เชียงใหม่” แบ่งสองระยะคือสถานี “กรุงเทพฯ-พิษณุโลก” (คาดเสร็จปี ๒๕๗๕) กับ “พิษณุโลก-เชียงใหม่” (คาดเสร็จปี ๒๕๘๐) และสายตะวันออกสถานี “กรุงเทพฯ-ตราด” แบ่งสองระยะคือสถานี “กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา” (คาดเสร็จปี ๒๕๗๒) กับ “อู่ตะเภา-ตราด” (คาดเสร็จปี ๒๕๘๐) ซึ่งแม้ไม่มีสถานีเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่แง่การพัฒนาประเทศเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ความเร็วในบ้านก็เป็นประโยชน์สำคัญ
เพราะรายได้หลักของรถไฟไม่ใช่เพียงผู้โดยสาร ยังมาจากการขนส่งสินค้าที่ไม่อาจรอ
ร่วมสนับสนุนการลงพื้นที่ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจ
กับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน)