Image
ท้ายครัว
เรื่องและภาพ : กฤช เหลือลมัย
ตอนผมนั่งรถเข้าไปที่บ้านป่านอต ตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน เชียงใหม่นั้น คำถามแรกที่เราถามกันเองเมื่อเห็นป้ายชื่อหมู่บ้านคือ “ชื่อนี้มันมาจากอะไรเนี่ย?”
คำเฉลยเป็นของชายหนุ่มเจ้าของบ้านที่เราไปพัก “บ่านอตไงครับพี่ บางคนก็เรียกมะนอต เมื่อก่อนแถวนี้มีต้นเยอะมาก เดี๋ยวผมพาไปดู ตอนนี้น่าจะยังพอมีลูกอยู่” โชคดีของพวกเราที่ได้นั่งรถยนต์กระบะบรรทุกเล็กเข้าเขตป่าชุมชนของหมู่บ้าน ขึ้นไปจนเกือบถึงอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปงกา เดินเท้าต่ออีกหน่อยก็ถึงริมขอบอ่าง
Image
แม้จนไปถึงแล้ว ผมก็ยังไม่ทันสังเกต เจ้าถิ่นต้องแหวกพงหญ้าโคนต้น ชี้ให้ดูรากยาวๆ ที่มีลูกไม้สีแดงเกาะเป็นสายโดยที่บนต้น “บ่านอต” สูง ๗-๘ เมตรนี้ ไม่มีลูกเลยครับ
Image
“ลูกมันเกิดช่วงนี้ เกิดกับรากแบบนี้แหละครับ ตอนนี้เหลือต้นไม่เยอะแล้ว เราก็อาศัยกินลูกสุกรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ครับ” มันก็คือมะเดื่อดีๆ นี่เอง ผมลองบิลูกสุกแดงออกดูเนื้อมันบางคล้าย fig ไส้และเมล็ดมาก กลิ่นหอมอ่อนๆ หวานเจือเปรี้ยวบางๆ เป็นมะเดื่อพันธุ์ไทยที่กินสุกได้อร่อยที่สุดเท่าที่ผมเคยพบ
Image
เมื่อลองค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จึงรู้ว่า ชื่ออื่นของบ่านอตที่คนรู้จักมากกว่าคือ “มะเดื่อดิน” คงเพราะมันตกลูกบนดินและในดินนั่นเอง แถมมีทั่วไปในป่าดิบชื้นของทั้งสี่ภาค ทุกแห่งเขาก็จะกินแต่ลูกสุกกัน เป็นอันว่าผม “ตกข่าว” ไปเองเกี่ยวกับมะเดื่อพันธุ์นี้
Image
วันนั้นผมเก็บลูกบ่านอตดิบได้หนึ่งถุงย่อมๆ พอถึงที่พัก ผมล้างดินออกรอบหนึ่งก่อน เอามีดคมๆ เกลาผิวส่วนที่ขรุขระออก แช่น้ำเกลือไว้ให้ยางสีขาวๆ ออกไปบ้าง... แอบฝานชิมดู รสออกฝาดมันนิดๆ ได้การละ!
Image
Image
แผนการ surprise หลังจากนั้นแค่เตรียมเครื่องแกงเขียวหวานให้ครบ ผมเริ่มต้มหมูสามชั้นในหางกะทิพร้อมลูกบ่านอตทั้งลูก รุมไฟอ่อนๆ ราวครึ่งชั่วโมงก็จะสุกนุ่ม หันมาผัดพริกแกงในกระทะน้ำมันจนหอมดี เทลงหม้อต้มหมู ใส่พริกสดหั่น ทยอยเติมกะทิ ให้แกงข้นมันอย่างที่ชอบ ปรุงรสเผ็ดเค็มดีแล้วจึงโรยใบโหระพามากๆ ตักใส่ชามไปกินได้เลย
Image
ก็นับว่าแผนสำเร็จด้วยดี เพราะคนยองบ้านป่านอตก็ยังไม่เคยเอาลูกดิบของมันมาแกงกินเลย ความฝาดมันเจือเปรี้ยวหน่อยๆ ทำให้รสชาติน้ำแกงกลมกล่อมดีกว่าแกงมะเดื่อพันธุ์อื่นๆ ด้วยซ้ำ ถึงเนื้อน้อยกว่าแต่เมล็ดมันเยอะ กินกรุบๆ กรอบๆ ดีทีเดียวแหละ
Image
แล้วแกงเขียวหวานบ่านอตหม้อนี้จะนับว่าเป็น “รสชาติที่ใกล้สูญหาย” หรือ “โอชะที่เพิ่งสร้าง” ดีล่ะครับ ?