Image
สถานีรถไฟ
ชุมทางมิวเซียม
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
มุขหน้าของสถานีกรุงเทพด้านทิศตะวันตกคือที่ตั้งพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย
ที่นี่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า “MRT หัวลำโพง” กับ “สถานีกรุงเทพ” พิพิธภัณฑ์จึงคล้ายเป็น “สถานีรถไฟชุมทางมิวเซียม” แม้ไม่มีเปลี่ยนขบวนเดินรถขนส่งสินค้า ขายตั๋วโดยสาร หรือรับฝากสัมภาระ แต่บ่อยครั้งก็คล้ายมีเหล่าบุคลากรการรถไฟแห่งประเทศไทยผลัดมาสมมุติตนเป็นนายสถานีใช้พื้นที่จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เช่นต้นตุลาคม ๒๕๖๖ คณะ “สวัสดีรถไฟ” โดยผู้ก่อตั้งเพจ “รัตนโกสิเนหา” จับมือพิเชษฐ แช่มเนียม ศิษย์เก่าผู้ก่อตั้งเพจ “โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ” นำชมสถานที่แทรกประสบการณ์นับแต่เป็นเสมียนรับส่งสินค้า สอบเลื่อนขั้นเป็นนายสถานี จนดำรงตำแหน่งพนักงานควบคุมการเดินรถ

การพบเขาที่นี่เสมือนได้ย้อนอดีตเรียนรู้วิวัฒนาการด้านขนส่งระบบทางรางของประเทศผ่านสิ่งจัดแสดงด้วย แล้วเมื่อถึงเวลาเหมาะสมก็คล้ายแว่วเสียงประกาศจากสถานี ตึ่ง ตึง ตึง ตึ๊ง...

โปรดทราบ ขบวนรถที่จะทำขบวนเข้าสู่สถานีรถไฟชุมทางมิวเซียมในชานชาลาที่ ๑ เป็นขบวนรถสายประวัติศาสตร์ที่ ๕๖๗  ขอเชิญผู้โดยสารจากสถานีรถไฟกรุงเทพปลายทางสถานีมักกะสันผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารกับขบวนรถเที่ยวนี้โปรดเตรียมสิ่งของและสัมภาระของท่านรอโดยสารได้ที่ชานชาลาที่ ๑ แล้วพบกันริมหน้าต่างนะ
Image
Image
ตู้รถโดยสาร
ชั้นที่ ๑

โปรดเก็บไว้ให้ตรวจ ข้อความสำคัญบนตั๋วที่ผู้โดยสารต้องถือปฏิบัติ

ก่อนการรถไฟฯ จะจำหน่ายตั๋วด้วยคอมพิวเตอร์พิมพ์บนกระดาษบางเบา สมัยยังเป็น “กรมรถไฟ” ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ (รัชกาลที่ ๕) จะใช้ “ติ๊กเก็ต” พิมพ์โดยเครื่องที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งสยามยังไม่มีเครื่องพิมพ์ ต้องนำเข้า ticket จากต่างประเทศ จึงเรียกด้วยคำทับศัพท์  กิจการรถไฟไทยเติบโตมากในรัชกาลที่ ๖ เปลี่ยนชื่อหลายครั้งทั้ง “กรมรถไฟหลวง” (และเปลี่ยนชื่อสังกัดเป็นกระทรวงคมนาคม) “กรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม” เปลี่ยนกลับเป็น “กรมรถไฟ” สุดท้ายใช้ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” จนปัจจุบัน

นับแต่ปี ๒๔๙๔ (รัชกาลที่ ๙) มีการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ตั๋วมาใช้เอง ทุกวันนี้ก็ยังมีเครื่องพิมพ์ตั๋วสี่ถึงห้าเครื่องเก็บรักษาที่แผนกพิมพ์ตั๋วในตึกกองบัญชาการการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั๋วที่ไทยพิมพ์ทำจากกระดาษแข็งจึงเรียก “ตั๋วหนา” ใช้กระดาษหลากสีเพื่อบอกความต่างของราคากับประเภทโดยสาร เช่น สีเหลือง สีเขียว สีส้ม เป็นตั๋วโดยสารชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ สีอื่นจากนี้บอกสิทธิ์ที่ผู้โดยสารต้องการความพิเศษ (ค่าธรรมเนียมก็สูงเป็นพิเศษ) เช่น ตั๋วสีขาวคาดแถบส้มสีขาวคาดแถบชมพู สีขาวคาดแถบเทา สำหรับโดยสารรถเร็ว รถปรับอากาศ รถนอน ที่เหมือนกันคือขนาด ๓๐.๕ x ๕๗ x ๐.๖ มิลลิเมตร เนื้อกระดาษมีลายน้ำ THE STATE RAILWAY OF THAILAND เรียงพรืดกันปลอมแปลง

พิเชษฐ-อดีตเสมียนยุคที่ระบบตั๋วหนายกเลิกใช้แล้วตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เสริมว่า เวลานั้นทุกสถานีรถไฟจะมี “ตู้ตั๋ว” เหมือนที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ จะตู้เล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับสถานีต่างจังหวัดมักใช้ตู้เล็ก
Image
เครื่องตีตั๋ว
“เสมียนเป็นผู้ขายตั๋ว ตู้แต่ละช่องแยกสถานีปลายทางไว้และมีด้ายรัดตั๋วมัดละ ๑๐๐ ใบ พอผู้โดยสารแจ้งชื่อสถานีก็ใช้ความคุ้นชินดึงออกจากช่องอย่างรวดเร็ว”

แล้วนำไปสอดใต้ “เครื่องตีตั๋ว” ซึ่งมีเลข ๐-๙ เรียงติดให้หมุนเปลี่ยนเลขเพื่อตีวัน เดือน ปี และเลขขบวนรถไว้หลังตั๋ว เมื่อเจ้าหน้าที่โยกด้ามจับตีข้อมูลเสร็จเครื่องจะดีดกลับดังปัง ! เวลาผู้โดยสารมากจึงได้ยินเสียงกระทบแท่นเหล็กดังปัง ๆ ๆ ลั่นสถานีตลอดเวลา พอขึ้นรถไฟ “พนักงานห้ามล้อ” จะเดินตรวจตั๋วพร้อมเสียงแก๊บ ๆ ๆ ดูเลขขบวนรถและวันที่ตรงกับการเดินทางจึงใช้คีมตัดตั๋วให้ขาดบ่งบอกว่าใช้แล้ว

หมดยุคคลาสสิก ตั๋วหนา ตู้ตั๋ว และเครื่องตีตั๋วถูกเรียกเก็บจากสถานีทั่วประเทศ ผู้ว่าการรถไฟฯ จึงตัดบัญชีตั๋วหนาจำนวนหนึ่งมาจัดแสดงและแบ่งขายหารายได้บำรุงพิพิธภัณฑ์ในราคาใบละ ๓๐ บาท

ท่ามกลางเครื่องใช้ในกิจการเดินรถอย่างถ้วยโถจากตู้เสบียงรถไฟหลวง โคมตะเกียงให้สัญญาณ โทรศัพท์หมุน ม้านั่งจากไม้หมอนปลดระวาง ฯลฯ ยังมี “เครื่องตราทางสะดวก” ป้องกันรถไฟชนกัน

ทุกสถานีมีสองเครื่อง ให้นายสถานีใช้ติดต่อกับสถานีข้างเคียงเมื่อจะขอและให้ทางสะดวกระหว่างขบวนรถขึ้นกับขบวนรถล่อง เช่น จากสถานีกรุงเทพไปสถานีมักกะสัน นายสถานีกรุงเทพจะยกหูโทรศัพท์หานายสถานีมักกะสันพลางใช้ไม้เคาะกระดิ่งดังแก๊ง ๆ ๆ เพื่อเรียกแล้วแจ้งเลขขบวนที่จะไปถึง จากนั้นจะขอทางโดยบิดมือจับของเครื่องแสดงท่า “ขบวนรถจะออก” หากนายสถานีมักกะสันอนุญาตจะเคาะกระดิ่งตอบแล้วบิดมือจับของเครื่องแสดงท่า “ขบวนรถจะถึง” นายสถานีกรุงเทพจึงดึงมือจับเครื่องทางสะดวกบิดแสดงท่า “ขบวนรถออกแล้ว” เมื่อนั้น “ลูกตราทางสะดวก” เหล็กกลมเท่าปิงปองจะหล่นจากเครื่อง บนลูกตรามีอักษรย่อของสถานีที่ติดต่อกัน เช่น กท-มส หมายถึง กรุงเทพ-มักกะสัน และมีตัวเลขขบวนรถกำกับ
Image
เครื่องตราทางสะดวก
นายสถานีกรุงเทพจะหยิบลูกตราใส่ “ห่วงตราทางสะดวก” เป็นหนังมีน้ำหนัก ส่งให้เจ้าหน้าที่ไปคล้อง “เสาแขวนห่วงตราทางสะดวก” เพื่อแจ้งพนักงานรถจักรว่าทางที่จะวิ่งไปสะดวกแล้วจึงจะรับห่วงไป เป็นห่วงที่ไม่สามารถออกใหม่ถ้าขบวนรถที่ระบุยังไม่ได้ส่งให้สถานีถัดไป เป็นหลักประกันว่าไม่มีขบวนรถอื่นวิ่งสวนมากีดขวาง เมื่อพนักงานรถจักร ขับถึงสถานีมักกะสันจะโยนห่วงตราไปคล้องเสาแขวนห่วงของสถานีมักกะสัน แล้วรับห่วงตราของสถานีมักกะสันจากเสาแขวนห่วงอีกฝั่งไปส่งต่อให้นายสถานีคลองตัน

“มีบ้างที่โยนพลาดเข้าใต้ท้องรถ โดนรถไฟเหยียบ หรือทำลูกตราหาย พนักงานรถจักรต้องชดใช้ค่าเสียหายให้การรถไฟฯ เป็นบทเรียนว่าควรขับรถช้าลงเพื่อเตรียมรับห่วงตราที่เสา”

ฝั่งนายสถานีมักกะสันจะให้เจ้าหน้าที่ไปรับห่วงตราจากที่เสา เพื่อนำลูกตราไปใส่ในเครื่องตรา (ลูกตราจะคืนสถานีเดิมเมื่อมีรถไฟกลับสถานีกรุงเทพ) แล้วยกหูโทรศัพท์หานายสถานีกรุงเทพพลางใช้ไม้เคาะกระดิ่งแจ้งให้รู้ว่ารถไฟมาถึงเรียบร้อย นายสถานีกรุงเทพจะเคาะ แก๊ง ๆ ๆ ตอบพร้อมดึงมือจับเครื่องตราค้างไว้รอนายสถานีมักกะสันบิดแสดงท่า “ขบวนรถถึง” นายสถานีหัวลำโพงก็จะบิดแสดงท่าเดียวกันเป็นอันรู้ตรงกันว่าปิดเครื่อง ทุกสถานีจะทำเช่นนี้จนกว่ารถไฟจะถึงสถานีปลายทาง

ว่าด้วยกายภาพคุณค่าสิ่งจัดแสดงเหล่านี้คงเป็นเพียงเครื่องมือที่ระลึกการสื่อสาร

แต่เพราะผ่านการใช้งานวัตถุจึงมีความหมายสั่นสะเทือนฉึกฉักในใจ
Image
Image
ป้ายที่ทำการไปรษณีย์รถไฟ
ตู้รถโดยสาร
ชั้นที่ ๒

อะไรไม่เคยเห็นก็ได้เห็นบนชั้น ๒

เมื่อในอดีตเคยมี “สถานีรถไฟหลวง (สามเสน)” สร้างปี ๒๔๔๒ ริมคลองสามเสนฝั่งทางใต้ สำหรับให้ในหลวงและพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ สู่สถานีต่าง ๆ ต่อมากรมรถไฟสร้าง “สถานีรถไฟหลวงจิตรลดา” ขึ้นใช้แทนปี ๒๔๖๒ อยู่ตรงข้ามสวนจิตรลดาของพระราชวังดุสิต ทางด้านทิศใต้ของสถานีรถไฟหลวง (สามเสน) ประชาชนทั่วไปคงยากจะนึกออกว่าบรรยากาศตู้โดยสารรถไฟตกแต่งสวยงามเพียงใด พิพิธภัณฑ์จึงจำลองให้ชมพร้อมจัดแสดงพระเก้าอี้ที่ใช้งานสนองพระราชกรณียกิจหลายครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๗

ห้องจัดแสดงเดียวกันมีอีกหลายสิ่งไม่ได้วางในตำแหน่งโดดเด่น บ้างซ่อนอยู่ในตู้พิศวง หนึ่งในนั้นคือ “ป้ายที่ทำการไปรษณีย์รถไฟ” ที่ระลึกจากยุคที่ถนนหนทางรถยนต์ยังไม่สะดวก

“ในอดีตการไปรษณีย์จะขนส่งจดหมายและพัสดุโดยรถไฟเป็นหลักตามสถานีรถไฟจะมีอาคารที่ทำการไปรษณีย์เพื่อสะดวกต่อการขนส่งพัสดุขึ้นรถไฟที่เป็นตู้ทำการไปรษณีย์เคลื่อนที่ โดยใช้ชื่อย่อ ‘บปณ’ บ ย่อมาจากคำว่า ‘โบกี้’ จะมีเจ้าหน้าที่ของไปรษณีย์ประจำเส้นทางอยู่ และข้างตู้โบกี้จะติด ‘ป้ายที่ทำการไปรษณีย์รถไฟ’ ไว้ข้างช่องที่รับฝากส่งจดหมายให้ชาวบ้านที่ต้องการฝากส่งพัสดุไปในเส้นทางที่รถไฟขบวนนั้นจะมุ่งไปได้ใช้บริการด้วย ถ้าเป็นจดหมายก็ติดแสตมป์ให้เรียบร้อยแล้วหย่อนจดหมายที่ตู้ บปณ ได้เลย”

ทุกวันนี้การฝากส่งไปรษณีย์ไทยไปกับระบบรางก็ยังไม่ได้หาย เพียงจำกัดการใช้ในวงชานเมือง เพราะกลายเป็นเรื่องไม่สะดวกที่ผู้รับต้องไปรับเองจากสถานีรถไฟในแต่ละพื้นที่

ศิษย์เก่าโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ-อดีตนายสถานี ชวนชมผนังด้านในสุดที่ติดตั้ง “โปสเตอร์เตือนภัยการเดินรถไฟ” มองจากระยะห่างคล้ายมีศิลปินมาจัดแสดงนิทรรศการรูปเขียนไว้
Image
“มองจากยุคนี้อาจรู้สึกรุนแรง แต่ในอดีตเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง สมัยก่อนช่วงเทศกาลหยุดยาวจะมีผู้โดยสารแออัดมากยอมปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคา พอรถไฟวิ่งถึงช่วงที่มีสะพานเหล็กคนที่อยู่บนหลังคาไม่ทันระวังก็ถูกเหล็กฟาดตกรถ การยืนโหนบริเวณประตูหรือชะโงกตัวออกนอกหน้าต่างขณะรถไฟวิ่งด้วยความเร็วก็ทำให้ตัวคนปะทะสะพานบ้าง ฟาดเสาสัญญาณริมทางรถไฟบ้าง ยังมีบางคนลงรถไฟไม่ทันจึงกระโดดตอนรถออก  มันไม่ง่ายนะครับที่เห็นพ่อค้าแม่ค้าขายของบนรถไฟเสร็จแล้วกระโดดลงตอนรถออก เขาใช้เทคนิคกระโดดไปทางเดียวกับเส้นทางวิ่งของรถไฟแล้วอาศัยแรงเฉื่อยนำการวิ่งไปอีกหน่อย แต่ผู้โดยสารที่กระโดดลงจากรถมักหยุดกึกจึงเสียหลักกลิ้งเข้าใต้ท้องรถจนถูกรถไฟทับตาย”

การรถไฟฯ จึงรวบรวมเหตุส่งให้ศิลปินวาด จัดพิมพ์เป็นโปสเตอร์ขึ้นปี ๒๕๑๑ ให้สถานีทั่วประเทศติดประกาศ  เวลาผ่านไปมีการปรับปรุงสื่อประชาสัมพันธ์ให้ทันสมัย ภาพเหล่านั้นจึงรางเลือนตามรอยราง

แต่รูปต้นฉบับยังอยู่และได้รับการเคลือบถนอมคุณภาพก่อนใส่กรอบจัดแสดง
Image
ป้ายหลักเขตต์
ตู้รถโดยสาร
ชั้นที่ ๓

พื้นที่ชั้น ๓ ไม่เปิดให้บริการ เว้นแต่มีหนังสือขออนุญาต

ชมแล้วก็ตาวาว นอกจากเครื่องพิมพ์ดีดยุคเก่าหลากยี่ห้อหลายรุ่น “ป้ายหลักเขตต์” ดั้งเดิมจากคอนกรีตทำหน้าที่เป็นสัญญาณหนึ่งของสถานีรถไฟก็น่าสนใจ แม้ปัจจุบันยังใช้ป้ายลักษณะนี้ แต่วัสดุเป็นสังกะสี และคำว่าเขตต์ที่มีรากศัพท์จากภาษาบาลีหมายถึงเขตแดนก็เปลี่ยนใช้แบบไม่มี “ต์”

ส่วนเชื่อมต่อห้องจัดแสดงคือระเบียงดาดฟ้าของอาคารสถานีกรุงเทพที่ตั้งของนาฬิกาเรือนใหญ่ที่ดูเวลาได้ทั้งจากด้านนอก-ในอาคาร หนุ่มพนักงานควบคุมการเดินรถในชีวิตจริงชวนมองถนนฝั่งตรงข้ามที่ตั้งของสถานีรถไฟฟ้า MRT นั่นเองคืออดีตที่ตั้ง “สถานีหัวลำโพง” ที่รถไฟจะมุ่งสู่สายปากน้ำ

“ส่วนอาคารที่ยืนอยู่นี้สมัยก่อนเรียก ‘สถานีรถไฟหลวงสายเหนือ’ แล้วเปลี่ยนมาใช้ชื่อ ‘สถานีรถไฟกรุงเทพ’  ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ บริเวณนี้โดนทิ้งระเบิด ทั้งสถานีรถไฟกรุงเทพ สถานีรถไฟหัวลำโพงสายปากน้ำ และตึกบัญชาการรถไฟเสียหายหนัก ดีที่ระเบิดไม่ทำงานจึงเกิดเหตุเพียงหลังคาทะลุ”
พลางชี้ “อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร” ซึ่งอยู่กลางถนนเป็น “อุทกธาร” ระบบน้ำประปาให้คนในละแวก

“ข้าราชการกรมรถไฟหลวงทั้งสายเหนือและสายใต้ระดมทุน ๙,๒๒๔ บาท ๓๖ สตางค์ สร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ ๕  ถ้ามองจากฝั่งสถานี MRT กลับมาจะเห็นด้านบนสุดของช้างสามเศียรมีพระเกี้ยว ที่ฐานพระเกี้ยวมีรูปพระพักตร์ในหลวงรัชกาลที่ ๕ วันเปิดทำการสถานีรถไฟหัวลำโพงปี ๒๔๕๙ ก็เป็นวันเปิดใช้งานอุทกธารด้วย ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้สร้างโดมครอบแล้วยกช้างสามเศียรไว้ด้านบนเพื่อใช้ด้านล่างเป็นหลุมหลบภัย  จนปี ๒๕๑๓ ทาง กทม. ขอปรับพื้นที่จราจรจึงทุบหลุมหลบภัยแล้วปรับภูมิทัศน์ใหม่เป็นน้ำพุ ถ้าดูใกล้ ๆ จะเห็นท่อของอนุสาวรีย์ช้างสามเศียรยังมีน้ำไหลอยู่”

การเดินทางเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ผ่านสิ่งจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยสุดเขตต์แล้วที่ระเบียง แต่เรื่องของพิพิธภัณฑ์ยังไม่จบ ขบวนรถสายประวัติ-ศาสตร์ที่ ๕๖๗ จึงพาลอดประตูโค้งสถานีกรุงเทพสัมผัสการเก็บรักษาอดีตในอีกรูปแบบ ที่คาดว่าจะเป็นส่วนขยายของพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยในอนาคต

ไม่ต้องไปไหนไกล เดินย้อนจากตู้รถโดยสารชั้นที่ ๓, ๒, ๑ ก็ถึงแล้ว
...
พิพิธภัณฑ์ตั้งในอาคารเดียวกับสถานีกรุงเทพซึ่งยังเปิดบริการ

จึงเดินเชื่อมสู่อาคารจัดแสดงประวัติ-ศาสตร์มีชีวิตโดยง่าย คุณค่าของที่นี่หมายรวมสรรพสิ่งที่เคยเกิดในบริเวณนี้ อย่างโถงในอาคารสถานีที่เคยมี “โรงแรมราชธานี” ระดับห้าดาว เมื่อครั้งไทยมีทางรถไฟสายใต้เชื่อมต่อมลายู (มาเลเซีย) เพื่อรับรองแขกที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
Image
อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร
ความยาวของโรงแรม ๑๓๐ เมตร แบ่งพื้นที่ด้านล่างออกสองฝั่งเป็นทางแยกซ้าย-ขวา แบ่งห้องเป็นที่ทำการนายสถานีและห้องด่านศุลกากรที่ยามมีรถไฟวิ่งมาจากต่างประเทศต้องผ่านพิธีการที่ด่านนี้ ด้านซ้ายคือห้องภัตตาคารขนาดใหญ่ (ห้องน้ำหญิงในปัจจุบัน) มีวิวผ่านกระจกมองเห็นชานชาลา ฝั่งขวาเป็นล็อบบีโรงแรม (ห้องน้ำชายในปัจจุบัน) ช่วงกลางอาคารเว้นเป็นทางเดินจากห้องโถงสถานีรถไฟสู่พื้นที่โรงแรม มีบันไดหินอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศปูพรมแดงขึ้นสู่ห้องพักชั้น ๒ (ปัจจุบันไม่ได้ปูพรมแต่ยังมีรอยรูตอกหมุดอยู่ทุกขั้นบันได เป็นหลักฐานการตรึงพรมแดงแสดงฐานะของลูกค้าคนสำคัญ)

“ชั้น ๒ มีระเบียงทางเดินกว้าง ๒ เมตรครึ่ง สุดระเบียงแต่ละฝั่งมีบันได รวมทางขึ้น-ลงได้ ๓ ทาง บนนั้นมีห้องพัก
๑๐ ห้อง เป็นห้องธรรมดา ๙ ห้อง ห้องสุดท้ายเป็นห้องพิเศษขนาดเท่ากับ ๒ ห้องธรรมดา เพราะมีกั้นห้องให้สำหรับผู้ติดตาม ทุกห้องมีห้องน้ำในตัวและมีระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น”
Image
Image
แรกเดิมห้องพักธรรมดาเช่าคืนละ ๑ บาท ห้องพิเศษ ๑.๕๐ บาท ต่อมาขึ้นราคาห้องพักธรรมดาคืนละ ๓ บาท ดำเนินกิจการเรื่อยมากระทั่งมีโรงแรมใหม่กว่าผุดเป็นทางเลือก กิจการโรงแรมราชธานีจึงซบเซาและปิดบริการปี ๒๕๑๒ จากนั้นดัดแปลงห้องพักเป็นสำนักงานฝ่ายต่าง ๆ ของการรถไฟฯ

จากทางเข้าสถานีกรุงเทพที่มีนาฬิกาเรือนใหญ่ประดับเหนือโครงสร้างเหล็กทรงโค้ง มองตรงไปสุดทางยาว ๑๕๐ เมตร ในตำแหน่งเดียวกันจะพบโครงสร้างเหล็กประดับ “กระจกสีเหลืองเรียงเป็นรูปครุฑ” คือตราของกรมรถไฟ เป็นการบันทึกยุคสมัยที่สร้างสถานีกรุงเทพ

“สถาปนิกชาวเยอรมันเขานำกระจกสีมาเรียงโดยให้สองช่องแรกของช่วงกลางกระจกเป็นรูปหัวครุฑ แล้วช่องซ้าย-ขวา มีลักษณะเหมือนกางปีกยื่นขึ้นด้านบนมีช่วงลำตัวต่อกันลงมา แล้วซ้าย-ขวาสองช่องล่างสุดเป็นส่วนขาครุฑ อาจดูไม่ออกในทันที ต้องใช้การสังเกตและจินตนาการร่วม”

ข้างชานชาลาที่ผู้โดยสารรอขึ้นรถไฟมี “หัวรถจักรไอน้ำ” หลายคันจอดอยู่บนราง ทั้งที่นำเข้าจากเยอรมันและอังกฤษเคยใช้งานสมัยรัชกาลที่ ๕-๖ และยังใช้งานในปัจจุบันเวลามีโอกาสสำคัญ

“เมื่อก่อนจอดอยู่ที่โรงเก็บรถจักรประวัติศาสตร์ในโรงงานมักกะสันซึ่งเป็นพื้นที่มีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวด การเข้าชมต้องทำหนังสือขออนุญาตผู้ว่าการรถไฟฯ คนปัจจุบันจึงให้ย้ายมาที่นี่จะได้เกิดประโยชน์กับประชาชนและมาชมเมื่อไรก็ได้ มีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติรถแต่ละคันอยู่”

และเพราะรถไฟไม่ได้กินความแค่พาหนะ เช่นเดียวกับสถานีก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของชีวิต สารพัดวัตถุทั้งที่กระจุกอยู่ในพิพิธภัณฑ์และกระจายรอบสถานีกรุงเทพจึงไม่ได้มีมิติแค่ประวัติศาสตร์ แต่มีมิติของชีวิตคน เมื่อมองของสาธารณะจึงกลับเห็นเรื่องส่วนตัวในนั้น

แล้วหลายวัตถุก็มีหน้าตาพิเศษ เป็นหน้าตาเขิน ๆ อุ่น ๆ ของความทรงจำ
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู  

Image
พิพิธภัณฑ์รถไฟไทย

สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) 
เลขที่ ๑ ถนนรองเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน 
กรุงเทพฯ ๑๐๓๓๐

เปิดบริการวันพุธ-อาทิตย์ (หยุดวันนักขัตฤกษ์) 
เวลา ๑๐.๐๐-๑๘.๐๐ น. โทร. ๐๘-๒๒๑๙-๒๑๙๔