Image
“หมวก” จากปูซาน
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
ต้นปี ๒๕๖๖ เมื่อคราวไปเมืองปูซานสถานที่หนึ่งที่ผมตั้งใจไปให้ได้ในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์ คืออนุสรณ์สถานสุสานทหารสหประชาชาติในเกาหลีใต้ (The United Nations Memorial Cemetery in Korea - UNMCK) อันเป็นผลจากสงครามเกาหลีที่รบกันระหว่างเกาหลีเหนือ (De-mocratic People’s Republic of Korea - DPRK) กับเกาหลีใต้ (Republic of Korea - ROK) ที่มีระบบการปกครองแตกต่างกัน
สงครามเกาหลีเริ่มในเดือนมิถุนายน ๒๔๙๓/ค.ศ. ๑๙๕๐ รบกันด้วยอาวุธหนัก จนถึงปี ๒๔๙๖/ค.ศ. ๑๙๕๓ ก็มีการลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิง (Korean Armistice Agreement) ในเดือนกรกฎาคม

นอกจากเรื่องในสนามรบ สิ่งที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ต้องจัดการพร้อมการสู้รบในสมรภูมิ คือร่างทหารที่เสียชีวิตจำนวนมากที่ต้องนำมารักษาและพิสูจน์อัตลักษณ์ ทำให้ต้องสร้างสุสานชั่วคราวหลายแห่ง

เฉพาะที่เมืองปูซาน (Busan) ที่ตั้งชั่วคราวของรัฐบาลเกาหลีใต้ระหว่างสงคราม มีการสร้างสุสานในเดือนมกราคม ๒๔๙๔/ค.ศ. ๑๙๕๑ บนพื้นที่ ๗๐ เอเคอร์ (ประมาณ ๑๗๗ ไร่) เพื่อจัดการศพทหารอเมริกันและพันธมิตรในเรื่องพิสูจน์ อัตลักษณ์ เก็บรักษา ฝัง เผา ส่งกลับประเทศ ฯลฯ โดยหลังสงคราม ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติให้ที่นี่เป็น “อนุสรณ์สถานสุสานทหารสหประชาชาติในเกาหลีใต้” และส่งมอบพื้นที่ให้คณะกรรมการจากชาติสมาชิกที่เข้าร่วมรบเป็นผู้ดูแล ภายใต้งบประมาณของสหประชาชาติ

ปัจจุบันอนุสรณ์สถานนี้เป็นสุสานของทหารที่เข้าร่วมรบกับองค์การสหประชาชาติเพียงแห่งเดียวในโลก

เมื่อคราวที่ผมเขียนสารคดีเรื่อง “ทหารไทยในสมรภูมิเกาหลี” (สารคดี ฉบับที่ ๔๓๐ มกราคม ๒๕๖๔) ผมไม่สามารถมาที่นี่ได้ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ยังไม่บรรเทาลง แต่เมื่อได้มาจริงก็พบว่าสถานที่แห่งนี้ยังคง มีญาติพี่น้องทหารผ่านศึกมาแสดงความเคารพดวงวิญญาณของคุณปู่คุณตาที่จากไป

สุสานแห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เล่าเรื่องของคนจำนวนมากที่เอาชีวิตเข้าแลกเพื่อปกป้องอุดมการณ์ที่ตนเชื่อ ทหารผ่านศึกเกาหลีชาวอเมริกันบางคนยังคงกลับมาเยี่ยมเพื่อนร่วมรบที่ล่วงลับทุกปี  บางคนตั้งใจว่าเมื่อเขาจากโลกนี้ไปก็จะให้นำร่างมาฝังไว้ที่นี่เช่นกัน

ที่สำคัญคือสุสานยังทำหน้าที่เป็นหมุดหมาย (landmark) ของเมือง

ผมพบว่าเมื่อขึ้นจากสถานีรถไฟใต้ดินแทย็อน (Daeyeon) เส้นทางไปสู่สุสาน เต็มไปด้วยชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับองค์การสหประชาชาติ เช่น ถนนยูเอ็นพย็องฮวาโร (UN Pyeonghwa-ro) อนุสาวรีย์ทหารที่หัวมุมถนนติดกับสุสาน มีการจารึกรายชื่อประเทศเข้าร่วมรบลงบนบาทวิถีเป็นระยะ

ในสุสานแบ่งเป็น ๒๑ โซนสำหรับฝังร่างทหารแต่ละชาติ ซึ่งจำนวนจะเปลี่ยนแปลงเป็นระยะ เนื่องจากมีการนำร่าง (หรือกระดูก) กลับบ้านเกิด  ช่วงที่ผมไป มีข้อมูลว่ามีร่างทหารผ่านศึกฝังอยู่ ๒,๓๒๐ นาย

ส่วนหนึ่งของสุสานเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ (symbolic area) ซึ่งมีอนุสรณ์ทหารไทย (Thai Memorial) เป็นแท่นหินแกรนิตสีดำ จารึกข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ผมแปลออกมาได้ว่า “เพื่อรำลึกถึงความช่วยเหลือและทหารไทยผู้อุทิศชีวิตในสงครามเกาหลี แท่นจารึกนี้สร้างขึ้นในโอกาสครบ ๕๐ ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๘” ด้านหลังมีเสาธงชาติไทยตั้งอยู่
Image
ถัดไปเป็นสุสานหลัก (Main Grave Area) ที่ยังมีร่างฝังอยู่ มีอนุสรณ์ถาวรของทหารแต่ละชาติที่รัฐบาลแต่ละประเทศสร้างไว้ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา และพันธมิตรอย่างตุรกี ออสเตรเลีย

ถัดจากส่วนนี้เป็นพื้นที่สีเขียว (Green Area) ประกอบด้วยอนุสรณ์สถานขนาดใหญ่ เช่น อนุสาวรีย์กองกำลังสหประชาชาติ (UN Forces Monument)  กำแพงรำลึก (Wall of Remembrance)  จารึกรายนามทหารที่สละชีวิต  ทางเดินทหารนิรนาม (Unknown Soldier’s Pathway) ที่สร้างเป็นเกียรติแด่ทหารที่ยังสาบสูญ

อนุสรณ์ที่เกี่ยวข้องกับทหารไทยคือ สะพานมิตรภาพไทย-เกาหลี (Thai-Korean Friendship Bridge) ที่ทอดข้ามไปยังเกาะกลางบึงเล็ก ๆ ที่รัฐบาลไทยบริจาคค่าก่อสร้างในปี ๒๕๑๙/ค.ศ. ๑๙๗๖ ก่อนจะทรุดโทรม จนมีการบูรณะใหม่ด้วย เงินทุนของเมืองปูซานกระทั่งสามารถเปิดให้เข้าชมได้อีกครั้ง

อีกจุดคืออาคารที่ระลึกแห่งที่ ๒ (Memorabilia Hall II) ซึ่งเดิมเคยใช้เป็นสถานที่จารึกรายนามทหารที่เสียชีวิตแต่ต่อมาเมื่อมีการสร้างกำแพงรำลึกขึ้นเพื่อการนั้นโดยเฉพาะแล้ว อาคารแห่งนี้จึงเปลี่ยนมาจัดแสดงนิทรรศการภาพปฏิบัติการรบของทหารแต่ละชาติ ที่มีส่วนปกป้องการรุกรานของเกาหลีเหนือ และของที่ระลึก โดยในโซนของไทย แสดงสัญลักษณ์ประจำหน่วยของกองพันพยัคฆ์น้อย (Little Tiger)

ทุกส่วนของนิทรรศการตอกย้ำว่า นี่คือการรบเพื่อป้องกัน “เกาหลีใต้” และ “ระบอบประชาธิปไตย”

ด้วยความโชคดี ผมได้พบคุณจอห์น บ็อกสเคย์ (John Bocskay) ที่ดูแลด้านการต่างประเทศให้คณะกรรมาธิการดูแลสุสาน เมื่อรู้ว่าผมมาจากเมืองไทย จอห์นจึงมาสนทนาด้วยอยู่นาน เขาเล่าว่ามีคนไทยมาที่นี่ไม่มากนัก และเรื่องทหารไทยกับสงครามเกาหลีก็ยังได้รับการค้นคว้าวิจัยในระดับนานาชาติค่อนข้างน้อย เขายังเล่าว่าเคยไปเที่ยวเมืองไทยสองครั้ง จำได้ว่าอากาศร้อนและคนไทยมีอัธยาศัยดี

ผมยังได้ของที่ระลึกจากสำนักงานของเขามาด้วยชิ้นหนึ่งคือเซรามิกที่ทำเป็นรูปหมวกทหารสีดำ ใบเล็กกว่าฝ่ามือ มีตรา UNMCK ประดับอยู่หน้าหมวก

ระหว่างทางกลับที่พัก ผมเดินไปถ่ายรูปนายทหารเรือเกาหลีใต้กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาตั้งแถวทำความเคารพสุสานทหารสหประชาชาติ  นายทหารคนหนึ่งนึกสงสัยจึงเดินมาถามว่าถ่ายไปทำไม แต่พอเขารู้ว่าผมเป็นคนไทยก็ส่งยิ้มให้และอนุญาตให้ผมถ่ายภาพต่อไปตามสบาย

ประวัติศาสตร์มีเรื่องให้เราประหลาดใจเสมอ ครั้งหนึ่งทหารไทยเคยมารบในคาบสมุทรเกาหลีเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารอีก ๒๑ ชาติ (รวมถึงทหารเจ้าบ้าน) หลังสงครามสงบ ไทยกับเกาหลีใต้จึงยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าให้กันและกันตลอดมา

เจ็ดทศวรรษหลังจากนั้น เกาหลีใต้กลายเป็น “เสือเศรษฐกิจ” เป็นประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ

ขณะที่ไทยยังไม่พ้นวังวนรัฐประหาร และทำได้แค่ “เกือบจะเป็นเสือเศรษฐกิจ”

ล่าสุด ปลายปี ๒๕๖๖/ค.ศ. ๒๐๒๓ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เกาหลีใต้ คัดกรองคนไทยอย่างหนัก (บ้างก็ว่าเพื่อป้องกันการหลบหนีไปทำงาน) จนกระทบกับนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมาก เกิดแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี บนเอกซ์ (ทวิตเตอร์) ในไทยและกลายเป็นวิวาทะระหว่างชาวเน็ตไทยกับเกาหลีใต้

บางความเห็นถึงกับระบุว่า ช่วงสงครามเกาหลี ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่สนับสนุนเกาหลีใต้ ส่งอาหาร ส่งทหารไปร่วมรบถึง ๑๑,๗๘๖ นาย แต่ผลตอบแทนที่ได้รับคือ “โดนเขาเหยียดและบอกไม่ต้องมา”
หากคุณทวดทหารไทยกับเกาหลีใต้ที่ร่วมรบในสงครามรับรู้ได้ด้วยญาณวิถีใด ๆ พวกเขาคงงงไม่น้อย