Image
เมล็ดเล็กเล่าโลก
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
มาทีเดียวได้เที่ยวถึงเก้าพิพิธภัณฑ์
ไม่จำเป็นต้องมุ่งเพียงศาสตร์พระราชา แม้พื้นที่ ๓๗๔ ไร่ของพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ความสำคัญกับเกษตรทฤษฎีใหม่-เศรษฐกิจพอเพียง แต่จัดสรรที่กว้างคุ้มค่า ทั้งส่วนแสดงนอกอาคาร (พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งสนองพระราชปณิธาน พิพิธภัณฑ์นวัตกรรมเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง และพิพิธภัณฑ์เกษตรตามรอยพ่อ) กับในอาคาร (พิพิธภัณฑ์ในหลวงรักเรา พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม พิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร พิพิธภัณฑ์วิถีน้ำ พิพิธภัณฑ์ดินดล และพิพิธ-ภัณฑ์เกษตรคือชีวิต) ให้เหมาะกับความรู้นานาที่ครอบคลุมเรื่องอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า รวมถึงภูมิปัญญาคนธรรมดาที่ใช้ได้จริง

น่าสน พิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุ-กรรม แบ่งย่อยสี่ห้อง


เริ่มต้นห้อง “แรงบันดาลใจเจ้าฟ้า…นักอนุรักษ์” แสดงพระอัจฉริยภาพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอุปถัมภ์งานอนุรักษ์พันธุกรรมพืชไทย มีตัวอย่างเก็บรักษาด้วยกระบวนวิธีเดียวกับนักวิจัย

เชื่อมต่อห้อง “พันธุกรรมสร้างชีวิต” เร้าสายตาด้วยเมล็ดพันธุ์หลากหลายนับหมื่น เสริมอลังการด้วยภาพยนตร์รูปแบบ Projection Mapping ปลุกผู้มาเยือนด้วย
ศิลปะแสงสีเสียงให้ตื่นรู้ความสำคัญของพลังชีวิต
Image
วัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) โบสถ์คาทอลิกเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ภายในโบสถ์มีหน้าต่างประดับกระจกสีที่สวยงามมาก
ก่อนนำสู่ห้อง “พันธุกรรมตามนิเวศ” สำรวจสวนป่าสี่ภาคและพันธุ์พืชที่ทำให้เกิดระบบนิเวศเฉพาะถิ่น อย่างซะป๊ะ (ป่าเกษตรผสมผสานแบบคนต้นน้ำภาคเหนือ)  วนเกษตร (ป่าคนภาคกลางเน้นปลูกพืชอาหาร-สมุนไพร)  สำมะปิ (วิธีที่คนอีสานยกป่าภูพานมาล้อมบ้านเพื่อใช้ประโยชน์ปัจจัยสี่) และสมรม (ความมั่นคงที่คนใต้เลือกปลูกทั้งไม้ป่า-ไม้บ้านให้มีกินมีใช้ตลอดปี) สะท้อนปัญญาคนชนบทที่รู้จักคุณค่าพืชนั้น ๆ เมื่อเห็นว่าป่าธรรมชาติลด เมล็ดพันธุ์แข็งแรงจากป่าเริ่มสูญ พวกเขาจึงหาวิธีรักษาพันธุ์พืชไว้ในวิถีชีวิต

ส่งท้ายด้วยห้อง “อนุรักษ์พันธุกรรม
...ทำได้” เรียงรายเมล็ดพันธุ์นานาในโหลแก้วหลากทรงให้ผู้มาเยือนขยับ จับ วาง สัมผัสทรัพยากรธรรมชาติแบบ interactive  เราต่างรู้ไม่มีเมล็ดใดไร้ประโยชน์ แม้เมล็ดจิ๋วก็ให้กำเนิดต้นไม้สูงสุดในโลกได้ แค่บางชนิดมีเปลือกหุ้มหนา น้ำซึมผ่านยาก ต้นอ่อนภายในจึงงอกช้าหรือไม่งอกเลย แต่ถ้ามนุษย์สังเกตทำความเข้าใจโครงสร้างจะช่วยอนุรักษ์พันธุกรรมพืช-คลังอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตตน ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และโลกทั้งใบไม่ให้สูญหายได้ เมล็ดหลายชนิดที่จัดแสดงในห้องนี้คือตัวอย่างความสำเร็จนั้น เมื่อมีผู้นำเมล็ดสะบ้ามาขัดเปลือก แคะตาให้เมล็ดหวาย ช่วยกรีดเมล็ดมะม่วง ฯลฯ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเมล็ดอีกมากซ่อนอัศจรรย์ไว้รอใครสักคนมาค้นพบ
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู   
พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) 
หมู่ ๑๓ ถนนพหลโยธิน หลักกิโลเมตรที่ ๔๖-๔๘ 
ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง 
จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๒๐
เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ 
เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. 
โทร. ๐๙-๔๓๓๑-๗๔๔๔ และ ๐๙-๔๖๔๙-๒๓๓๓