Image
ไมค์อัดเสียงธรรมชาติแบบ soundscape ที่จะทำให้คนฟังรู้สึกเหมือนอยู่ท่ามกลางป่าใหญ่
Praisan : Playlist
บรรเลงเสียงธรรมชาติ
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : ซูไรญา บินเยาะ
ภาพ : ก้องกนก นิ่มเจริญ
“หลับตาแล้ว รับฟัง เสียงของธรรมชาติ”

คำโปรยสั้น ๆ ในหน้า All PLAYLIST ของเว็บไซต์ที่คุณได้รับการแนะนำผ่านคนรู้จัก หลังจากที่ได้คุยถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม ชวนให้คลิกย้อนกลับมาเริ่มต้นที่หน้า HOME หมุดสีแดงทั้ง ๑๓ หมุดบนแผนที่ประเทศไทยดึงดูดให้จดนิ้วชี้ลงบนเมาส์ คุณสุ่มเลือกตำแหน่งหมุดต่ำกว่ากรุงเทพมหานครเยื้องมาทางซ้าย
“คลิก”

ทันใดนั้นเสียงของทุ่งนาก็ดังขึ้น

นานแค่ไหนแล้วนะที่ไม่ได้ฟังเสียงทุ่งนา คุณนึกในใจพลางปรับระดับเสียงให้พอเหมาะ หลับตาลง ขยับไหล่เล็กน้อย คลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ แล้วจึงดื่มด่ำไปกับสารพัดเสียงที่ได้ยินกว่าครึ่งชั่วโมง จินตนาการถึงทุ่งนาสีเหลืองอร่ามยามสายลมพัดผ่าน เหล่านกน้อยร้องคลอ

คุณจำไม่ได้ว่านั่งฟังนิ่ง ๆ อยู่นานแค่ไหน ได้แต่รู้สึกถึงความผ่อนคลาย นั่นเป็นครั้งแรกที่คุณได้รู้จัก “ไพรสาร” เว็บไซต์รวบรวมเสียงธรรมชาติแห่งแรกในประเทศไทย
เสียงของการพบกัน.mp3
เช้ามืดวันอังคารปลายเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ คุณอยู่ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อตามติดกระบวนการอัดเสียงของมะเดี่ยว-วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยา เจ้าของเว็บไซต์ Praisan.org

สิงสาราสัตว์ร้องระงมทักทายกันประดังเข้าสู่โสตประสาท ทั้งเหล่านก จิ้งหรีด และชะนีมือขาว

“ลองฟังดูนะ ชะนีตัวเมียจะเริ่มร้องเสียงยาว แล้วตัวผู้จะร้องเสียงสั้นตาม” ชายตัวสูงชวนให้สังเกต

จริงด้วย คุณนึกในใจ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มเดียวกับลิงที่ไม่มีหาง มีโครงสร้างสังคมแบบมาตาธิปไตย (matriarchy) หรือระบบตัวเมียเป็นใหญ่ เช่นเดียวกับช้าง ผึ้ง และวาฬเพชฌฆาต  ชะนีตัวเมียจึงร้องนำส่งเสียงยาวประกาศอาณาเขตในช่วงเช้าของทุกวัน

ชายในเสื้อยืดแขนสั้นสีน้ำตาลคลุมทับด้วยเสื้อแขนยาวสีเทา สวมรองเท้าบูตเดินป่าและหมวกทรงคาวบอยสีน้ำตาลสาละวนอยู่กับอุปกรณ์อัดเสียง จากนั้นเขาหยิบกล้องถ่ายรูปพร้อมเลนส์ขนาดใหญ่สะพายสายพาดข้างลำตัว แบกกระเป๋าสีดำบรรจุอุปกรณ์ไว้ที่หลัง มีสายกล้องส่องทางไกลสีดำคล้องคอ ในมือมีไมค์พร้อมขาตั้ง

คุณเองก็เตรียมพร้อมผจญภัยไปยังตำแหน่งต้นกระบากใหญ่ระหว่างทางแยกไปสู่เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ ๔ ดงติ้ว-อ่างเก็บน้ำสายศร (มอสิงโต) และเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ ๕ ดงติ้ว-หนองผักชี คุณกระชับเป้สีน้ำตาลใบโปรด ก้มลงดึงถุงเท้ากันทากสีเขียวสะท้อนแสงปิดคลุมขากางเกงยีนเพื่อให้มั่นใจว่าวันนี้จะไม่มีการเสียเลือดให้กับทากตัวใด 

ภารกิจตามล่าเสียงธรรมชาติ “ป่าดิบแล้ง” ที่เขาใหญ่กำลังจะเริ่มต้น
Image
สายธารน้ำตกไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำส่งเสียงแสดงพลังธรรมชาติ
Image
มะเดี่ยว-วรพจน์ บุญความดี ชายนักบันทึกเสียงธรรมชาติ เริ่มภารกิจโดยการตั้งอุปกรณ์อัดเสียงไว้หน้าต้นกระบากใหญ่ ที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เสียงเพลงจากเหล่าสรรพสัตว์.mp3
บรรยากาศรอบข้างรายล้อมไปด้วยความเขียวขจีของเหล่าแมกไม้นานาพรรณ อากาศเย็นสบายก่อน ๗ โมงเช้าปะทะใบหน้า สายลมพัดผ่านต้นไม้ทำให้เกิดเสียงตลอดเส้นทางคุณก้าวเท้าตามหนุ่มท่าทางคล่องแคล่วและเชี่ยวชาญ

“ได้ยินเสียงกระรอกร้องเตือนไหม” เขาพูดพลางชี้นิ้วไปยังโพรงกระรอกข้างตัว

คุณมองตามทิศทางนั้นก่อนส่ายหน้า เขาจึงเลียนเสียงกระรอก และชวนให้ตั้งใจฟังอีกครั้ง

คุณหยุดนิ่ง สดับ ค่อย ๆ ตัดเสียงอื่นที่รู้จักออก เสียงแว่วของกระรอกจึงชัดเจนขึ้น

ชายคนเดิมเล่าว่ากระรอกเป็นสัตว์ขี้ตกใจ เวลาอยู่ในป่ามักจะได้ยินเสียงร้องของนักปลูกป่าขี้ลืมขนฟูพวกนี้ แต่ครั้งนี้น่าจะไม่มีภัยอันตรายเพราะเสียงร้องไม่ค่อยตื่นตัวเท่าไร อาจไม่ได้เจองูหรือเหยี่ยว ศัตรูตัวฉกาจของพวกมัน

หลังจากเดินหลบกิ่งหวาย ผ่านขอนไม้ขนาดยักษ์ที่พาดขวาง และข้ามลำธารเล็กสามครั้ง ในที่สุดก็เห็นต้นกระบากใหญ่ คุณดีใจจนเผลอยิ้มเมื่อถึงจุดหมาย สถานที่เก็บเสียงครั้งนี้ถูกห้อมล้อมไปด้วยต้นไทรหลากหลายต้น ครั้งที่ไทรออกผลที่นี่คงเป็นแหล่งอาหารอันโอชะของสัตว์น้อยใหญ่แน่ ๆ

เพื่อนนักเดินทางตั้งอุปกรณ์บนหินที่ปกคลุมด้วยมอสสีเขียวหน้าต้นกระบาก เขาง่วนอยู่กับการจัดการสายไฟระโยงระยาง ก่อนเสียบสายหูฟังเข้ากับเครื่องอัดเสียงและปรับคลื่นความถี่ในการรับเสียง

“จะเริ่มอัดเสียงแล้วนะครับ” เขาพูดขึ้นก่อนจะเดินมานั่งลงบริเวณรากไม้ วางกระเป๋า ถอดหมวกและเสื้อคลุม หยิบสมุดบันทึกสีน้ำตาลเล่มเล็กพร้อมปากกาหมึกดำออกมาตามลำดับ พลิกหน้ากระดาษและเริ่มบันทึกลำดับเสียงของสัตว์ต่าง ๆ
ครอบครัวชะนีมือขาวแวะมาทักทาย ปีนป่าย และส่งเสียงร้องดังก้องกังวาน ประกาศอาณาเขตให้รู้ว่าพวกเขาเป็นเจ้าถิ่น
“๐๐.๐๐ ชะนีมือขาวสองฝูง”
“๐๐.๐๓ นกแก๊ก”
“๐๐.๑๒ Mountain Imperial Pigeon (นกมูม)”

คุณชะเง้อมองสมุดเล่มเล็ก รูม่านตาเบิกกว้างหลังจากที่เห็นว่าเขาระบุเจ้าของเสียงแต่ละเสียงได้ แม้บางเสียงจะได้ยินเบามาก

ทันใดนั้นมีเสียงตุบ ตุบ ตุบ เบาบาง ความถี่ต่ำ ที่แม้แต่มะเดี่ยวเองก็ต้องหันไปหาต้นเสียง ครู่หนึ่งเจ้าของเสียงปรากฏกายให้เห็นจากที่ไกล ขนสีขาวของมันโดดเด่นตัดกับสีเขียวของพุ่มไม้ได้อย่างดี “ไก่ฟ้าหลังขาว” สัตว์ป่าคุ้มครองหายากกำลังกระพือปีกประกาศอาณาเขตห่างออกไปประมาณ ๕๐ เมตร

เวลาล่วงเลยไป ๑ ชั่วโมงครึ่งหลังเริ่มต้นอัดเสียงเมื่อตอน ๐๗.๔๗ นาฬิกา ครอบครัวชะนีมือขาวค่อย ๆ ไต่เข้ามาหาห้อยโหนจากต้นไม้หนึ่งไปยังต้นไม้หนึ่ง พลางอวดพลังเสียงให้ฟังในระยะกระชั้น

แต่แล้วชะนีมือขาวอีกฝูงที่อยู่ไกลลิบก็เริ่มร้องแข่งขึ้นบ้างวินาทีที่เสียงชะนีทั้งสองฝูงแข่งกันประกาศอาณาเขตดังลั่นก้องป่า ขนแขนของคุณลุกชันโดยปริยาย

ชายตัวสูงรีบเดินไปปรับเครื่องรับเสียงให้สอดรับกับเสียงความถี่สูงของเหล่านักปีนป่าย เกือบ ๓๐ นาทีที่พวกมันส่งเสียงทะเลาะกัน ห้วงเวลานั้นเป็นอีกครั้งที่ธรรมชาติทำให้คุณรู้สึกว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตเดียวบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินนี้

สายลมอ่อนโชยมาพาให้ใบไม้น้อยใหญ่ร่วงพรู น่าแปลกที่วันนี้เมื่อคุณฟังอย่างตั้งใจ เสียงพวกมันกลับดังเป็นพิเศษ
Image
เสียงรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ดังที่สุด มักเป็นเสียงยานพาหนะ ไม่ว่าจะริมป่าติดถนนหรือลึกเข้าไปในป่าใหญ่ก็ยังได้ยินเสียงเครื่องบินและรถยนต์
เสียงของชายผู้ส่งสารจากธรรมชาติ.mp3
“เสียงธรรมชาติแฝงข้อความบางอย่าง” ชายนักธรรมชาติวิทยาเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

คุณมองทอดไปยังทัศนียภาพ กวางป่าตัวหนึ่งกำลังกินหญ้าอ่อน คุณได้ยินสุนทรียะทางเสียงที่ธรรมชาติรังสรรค์เป็นฉากประกอบเรื่องเล่าจุดเริ่มต้นการสร้างเว็บไซต์รวมเสียงธรรมชาติ

เดิมมะเดี่ยวมักจะบันทึกเสียงธรรมชาติทุกครั้งที่ไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเปิดฟังยามที่ไม่สามารถพากายไปสัมผัสบรรยากาศเหล่านั้นได้ หากแต่การเปิดฟังคนเดียวก็อาจดูเป็นการเก็บเสียงดี ๆ ไว้กับตัว เขาจึงแบ่งปันเสียงที่บันทึกไว้ตลอด ๑๐ ปีผ่านซาวนด์คลาวด์ (SoundCloud) แพลตฟอร์มสำหรับสื่อเสียงชื่อดัง ซึ่งบางไฟล์เสียงก็ได้รับความนิยมเปิดฟังถึงเกือบ ๒ แสนครั้ง

แต่ด้วยข้อจำกัดของแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ เขาจึงหันมาสร้างเว็บไซต์ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เมื่อกลางปี ๒๕๖๔

มะเดี่ยวอธิบายต่อไปว่า เป้าหมายหนึ่งคือนำเสนอเรื่องราวระบบนิเวศในไทยที่มีความหลากหลาย การเลือกสถานที่ที่เป็นตัวแทนของระบบนิเวศจึงพิถีพิถันมากขึ้น ซึ่ง “ไพรสาร” ตอบโจทย์ความตั้งใจในด้านที่อยากนำเสนอให้ผู้ฟังได้รู้จักบริบทของสิ่งแวดล้อมในสถานที่นั้น รู้จักสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ผ่านแทร็กเสียงสั้น ๆ ที่แยกออกมา รู้จักกับระบบนิเวศผ่านรูปภาพประกอบที่หมุนดูได้ ๓๖๐ องศา

“ความยากคือเสียงรบกวน มนุษย์เราผลิตเสียงดังมากเลย เยอะมากด้วย” เขาบ่นอุบอิบ

อุปสรรคของการบันทึกเสียงไม่ใช่ความยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่หรือสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ แต่จากกิจกรรมของมนุษย์ แม้กระทั่งใต้ร่มเงาของต้นไทรใหญ่นี้ก็ยังได้ยินเสียงเครื่องดนตรีเบสความถี่ต่ำจากลำโพงที่มองไม่เห็น  หรือขณะที่กำลังบันทึกเสียงในช่วงเช้า ตำแหน่งที่ห่างไกลจากถนนพอสมควรก็ไม่วายที่จะได้ยินเสียงกระหึ่มของรถยนต์สลับกับเสียงเครื่องบินที่บินผ่านเหนือหัวราว ๑๐ ลำ ตลอด ๒ ชั่วโมง

คุณได้แต่นึกฉงน สัตว์หลายตัวที่มีศักยภาพในการฟังเหนือกว่ามนุษย์ พวกมันใช้ชีวิตได้อย่างไร

หลังจากพยายามหลายต่อหลายครั้ง มะเดี่ยวก็ได้เสียงระบบนิเวศที่สมดุลของธรรมชาติตามนิยามที่ว่า “เสียงต้องสื่อให้เห็นถึงลักษณะทางกายภาพของระบบนิเวศ และเสียงสัตว์ตัวแทนจากระบบนิเวศต้องสมดุลกัน”

กลางปี ๒๕๖๖ โครงการบันทึกเสียงของธรรมชาติทั้ง ๑๒ ระบบนิเวศทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือจวบจนภาคใต้ก็สำเร็จไปได้ด้วยดี แต่เขาไม่อยากจบหน้าที่ของผู้ส่งสารจากธรรมชาติเพียงเท่านี้

“ผมอยากตามหาเสียงวาฬ ก่อนที่มันจะไม่ชอบอ่าวไทยตอนบน”

ความตื่นเต้นฉายชัดจากแววตาและน้ำเสียงของชายนักธรรมชาติวิทยา
Image
เสียงเครื่องยนต์ของเรือประมงพื้นบ้านกำลังแล่นผ่านระหว่างอัดเสียง ความดังที่ไม่มีกฎหมายควบคุมอาจทำให้วิถีชีวิตของบางชีวิตเปลี่ยนไป
เสียงที่ปรารถนาอยากจะได้ยิน.mp3
รุ่งอรุณแรกของเดือนกันยายน แสงแดดสาดส่องผิวทะเลเป็นประกาย วันนี้คุณและชายนักท่องไพรอยู่ที่ท่าน้ำวัดปากอ่าว จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตามล่าเสียงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ทางทะเล ยานพาหนะท่องน่านน้ำสีฟ้าอ่อนในวันนี้คือเรือกลประมงทะเลขนาดเล็ก ชื่อ ประจักษ์ฟาร์ม ๒๐๑๙

เครื่องยนต์ส่งเสียงกระหึ่มเป็นสัญญาณว่าการผจญภัยครั้งที่ ๒ กำลังจะเริ่มต้นขึ้น เรือค่อย ๆ แล่นห่างจากท่าน้ำ ผ่านฟาร์มหอยแมลงภู่ ฟาร์มหอยนางรม ก่อนไปสู่บริเวณที่ทอดสายตาออกไปเห็นผิวน้ำทะเลและฟ้าบรรจบกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

คุณเห็นฝูงปลากระทุงเหวหรือที่คุ้นเคยในชื่อปลาเต็กเล้งสีเงินตัวเล็กกระโดดขึ้นมาบนผิวน้ำตลอดเส้นทาง ก้อนเมฆสีขาวปุยลอยแต่งแต้มท้องฟ้า วันนี้อากาศดี ผิวน้ำเองก็เรียบดี หากได้เห็นวาฬคงจะเป็นภาพที่สวยตราตรึงแน่ ๆ ดวงตาของคุณเป็นประกายขณะจินตนาการ

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ระบุพิกัดกลางกระแสน้ำอุ่นของอ่าวไทยได้ยาก ลูกเรือเพื่อนร่วมทางตะโกนด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า

“โลมาตรงตำแหน่ง ๑๑ นาฬิกา”

คุณหันไปยังทิศดังกล่าว ฝูงโลมาอิรวดี ๖-๗ ตัวโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำห่างจากเรือราว ๒๐๐ เมตร ผิววาวสีเทาเล่นแสงของพวกมันดึงความสนใจของทุกคนบนเรือ

ชายนักบันทึกเสียงขอให้ไต๋เรือดับเครื่องยนต์ ก่อนที่เขาจะหย่อนไมค์ไฮโดรโฟน (hydrophone) สำหรับบันทึกเสียงใต้น้ำ ด้วยใจที่หวังว่าหากไม่ได้ยินเสียงวาฬ อย่างน้อยก็ขอได้ยินเสียงดัง “คลิก” ของเจ้าโลมาแทน

คุณเคยอ่านข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่อธิบายถึงเสียงคลิกจากโลมาว่าเป็นเสียงจากกระบวนการเอ็กโคโลเคชัน (echolocation) ของกลุ่มโลมาและวาฬชนิดที่มีฟัน (Toothed whales) ซึ่งปล่อยออกไปเพื่อรอรับเสียงสะท้อนกลับ ทำให้พวกมันรับรู้ทิศทางของเหยื่อ หรือทิศทางและระยะของสิ่งกีดขวางใต้น้ำ
มะเดี่ยวกำลังหย่อนไมค์ไฮโดรโฟนลงใต้ผืนทะเล เครื่องมือสำคัญที่ทำให้ฟังปลาคุยกันได้
เขาตั้งใจฟังเสียงของโลมา ก่อนก้มลงหยิบลำโพงเชื่อมต่อกับตัวบันทึกเสียงเพื่อให้ทุกคนได้ฟังเสียงอัศจรรย์ใต้น้ำไปด้วยกัน

วินาทีที่เสียงจากลำโพงค่อย ๆ ดังขึ้น เหมือนเปิดโลกใบใหม่ เสียงที่ได้ยินกลับเป็นเสียง “ป๊อกแป๊ก” ของกุ้งดีดขันใต้ผืนน้ำประดังเข้าสู่โสตประสาท ราวกับกำลังส่งเสียงว่าพวกมันดำรงอยู่ใต้น้ำมาเสมอ แม้มนุษย์จะไม่เห็นก็ตาม

คุณนั่งฟังเสียงของโลกใต้ผิวน้ำสักพักใหญ่ ๆ บางจังหวะก็มีเสียงของเครื่องบินโดยสารลำใหญ่แทรกเข้ามา หลายจังหวะมีเสียงเครื่องยนต์จากเรือของเหล่าคนที่อาศัยทะเลเลี้ยงชีพ บางเสียงดังจนอดไม่ได้ที่จะทำหน้าเหยเก เนื่องจากยานพาหนะสัญจรทางทะเลไม่มีกฎหมายควบคุมระดับเสียง

ยามบ่ายแก่ ๆ กลุ่มเมฆสีเทาทะมึนเกาะตัวกันบนฟ้า เรือแล่นสวนทางแรงคลื่น หยดละอองน้ำกระจายซ่านเต็มผิวหน้า กลิ่นจาง ๆ ของทะเลโชยขึ้นมาเพราะแรงลม เป็นอีกครั้งที่คุณได้แต่นึกฉงนว่าเหล่าสัตว์น้ำสื่อสารกันอย่างไรใต้ห้วงน้ำที่ปะปนด้วยเสียงแปลกปลอม

แม้ภารกิจบันทึกเสียงครั้งนี้จะไม่สำเร็จ แต่ภาพของฝูงโลมาอิรวดีที่รายล้อมเรือก็ทำให้คุณอิ่มเอมใจไม่น้อย

“วาฬจะไม่โชว์ตัวให้คนที่เพิ่งเคยมาครั้งแรก เพราะเขาอยากให้มาเจอเขาอีก” ชายนักธรรมชาติวิทยาพูดยิ้ม ๆ ก่อนที่เราจะจากลากัน
Image
ภารกิจตามหาเสียงวาฬของมะเดี่ยวยังคงไม่บรรลุ แต่นั่นคือสิ่งที่จะทำให้เรากลับมาตามหาวาฬด้วยกันอีก
เสียงแห่งความสมดุล.mp3
“ช่วงเวลาที่ดีสุดในการอัดเสียงคือช่วงเช้า” ชายผู้ชื่นชอบการดูนกเคยเล่าให้ฟังในวันแรกที่คุณเจอเขา เพราะสัตว์หลายตัวมักประกาศอาณาเขตยามเช้า รวมถึงเสียงจากกิจกรรมของมนุษย์ยังไม่มากนัก

คุณเดินทางไปสวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกในประเทศไทย เวลา ๖ โมงเช้าวันเสาร์แรกของเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ที่นี่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนหลากหลายช่วงอายุ แต่งแต้มให้สวนกลางเมืองแห่งนี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา

ท่ามกลางลานหญ้าโล่งเขียวขจีถัดจากศาลาแปดเหลี่ยม ชายในเสื้อสีเทาแขนยาวที่คุณคุ้นเคยยืนส่องกล้องดูนกใต้ร่มเงาไม้ ทางฝั่งขวามีอุปกรณ์บันทึกเสียงที่รับคลื่นความถี่ได้ตั้งแต่ ๓๐-๒๕๐๐๐ เฮิรตซ์ ซึ่งเป็นความถี่ที่มากกว่าความสามารถของหูมนุษย์ และเซตระยะห่างไมค์แต่ละฝั่งประมาณ ๖๐-๘๐ เซนติเมตร เพื่อให้ได้เสียงกว้าง ๆ ของพื้นที่วางไว้เฉกเช่นเดิม

“ข้อความแรกที่อยากส่งไปหลังเลือกบันทึกเสียง ณ สวนลุมฯ คือ อยากให้คนรู้สึกว่ากลางเมืองขนาดนี้ก็ยังมีเสียงนกเสียงกาให้ได้ฟัง” เขาอธิบายถึงสถานที่นัดพบ

ยามเช้าของสวนลุมฯ ไม่ได้มีเพียงแค่เสียงอีกา สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเมือง หรือเสียงเจื้อยแจ้วของนกกาเหว่า แต่ยังมีเสียงกิจกรรมของมนุษย์อย่างเสียงรำพัดไท้เก๊ก เสียงเพลงแอโรบิก เสียงพูดคุยกันเบา ๆระหว่างเดินออกกำลังกาย ซึ่งเสียงทั้งหมดนี้เขานิยามว่าเป็นเสียงแห่งความสมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ

“ผมชอบเสียงจิ้งหรีดตรงนี้มากเลย เพราะว่าเวลาที่สิ่งมีชีวิตส่งเสียงเยอะ ๆ มันมีเลเยอร์ ตัวนี้ร้องใกล้ อีกตัวร้องไกล” มะเดี่ยวพูดขึ้นหลังจากนั่งซึมซับกับบรรยากาศร่มรื่น

เป็นอีกครั้งที่คุณนับถือความสามารถในการแยกแยะเสียงของชายผิวแทนผู้นี้ เพราะแม้ว่าจะนั่งอยู่ในตำแหน่งใกล้กัน แต่คุณกลับไม่สามารถสังเกตถึงความแตกต่างของเสียงจิ้งหรีดได้

“การฟังเป็นเรื่องของการฝึกฝน เราเคยฝึกฝนที่จะได้ยินเสียงอื่นหรือเปล่า”
Image
ทันทีที่ก้าวเข้าสู่สวนลุมพินี เสียงนกชนิดแรกที่ได้ยิน คงจะเป็นเสียงของเหล่าอีกาดำที่โบยบินทั่วสวน
"ข้อความแรกที่อยากส่งไปหลังเลือกบันทึกเสียง ณ สวนลุมฯ คือ อยากให้คนรู้สึกว่ากลางเมืองขนาดนี้ก็ยังมีเสียงนกเสียงกาให้ได้ฟัง"
ชายในเสื้อสีเทาอธิบายต่อไปว่า ธรรมชาติส่งเสียงตลอด อาจเริ่มฝึกการฟังเสียงจากหน้าบ้านตัวเอง สม่ำเสมอ ๓-๕ นาที ทุก ๆ วัน วันหนึ่งผัสสะการได้ยินก็จะลึกซึ้งกว่าเดิม จะเริ่มได้ยินเสียงสัตว์รอบข้างมากขึ้น เมื่อได้ยิน ได้กลิ่น ได้เห็น รับรู้การดำรงอยู่ของพวกมัน เมื่อนั้นมนุษย์จะเริ่มผูกพันและเกรงใจต่อกัน

คุณนึกถึงงานวิจัยที่เคยอ่านผ่านตาเกี่ยวกับผลกระทบของมลภาวะทางเสียงกับชุมชนนกในอังกฤษ เผยแพร่เมื่อปี ๒๕๕๒ เขียนไว้ว่า นกหลายชนิดที่อยู่ในเมืองส่งเสียงร้องดังขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงเสียงจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากการสื่อสารของนกซับซ้อนมากกว่าแค่การประกาศอาณาเขต แต่พวกมันยังใช้สื่อประกาศเตือนภัยด้วย

นี่คือสาเหตุที่นกกางเขนบ้าน นกอีแพรด และนกเอี้ยง ค่อย ๆ บางตาไปจากสวนลุมฯ หรือเปล่านะ คุณไม่แน่ใจ
ทุกเสียงเคลื่อนไหวที่ดังผ่านหูมะเดี่ยว ถูกจดบันทึกไว้ในสมุดเป็นวินาที ตั้งแต่เขาเริ่มพูดว่า “จะเริ่มอัดเสียงแล้วนะครับ”
ไม่ว่าจะสถานที่ไหน การรับรู้ถึงเสียงธรรมชาติก็ยังคงทำให้มะเดี่ยวยิ้มกว้าง เพราะเสียงเหล่านั้นทำให้รู้ว่ามนุษย์เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวบนโลกใบนี้
เสียงของผู้สนับสนุน.mp3
“เสียง สะท้อนให้เห็นถึงสุขภาพของระบบนิเวศ” หมอหม่อง-นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจและนักอนุรักษ์ หนึ่งในผู้สนับสนุนให้มะเดี่ยวทำเว็บไซต์ พูดถึงความสำคัญของการฟังเสียงธรรมชาติ

หมอหม่องยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าเมื่อลองเปรียบเทียบเสียงของทุ่งนาที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมี ทุ่งนาแรกจะเต็มไปด้วยเสียงจิ้งหรีด กบ นกต่าง ๆ แต่ทุ่งนาที่ ๒ จะเงียบงัน ซึ่งสุขภาพของระบบนิเวศท้ายที่สุดก็จะส่งผลถึงสุขภาพของเรา เพราะฉะนั้นเสียงจึงเป็นตัวชี้วัดได้มากกว่าแค่ไพเราะ เสียงต่ำ เสียงสูง

“เมื่อเรารู้จักเสียงของสิ่งมีชีวิต พวกเขาจะมีตัวตนมากขึ้น เหมือนว่าเรากำลังแชร์โลกนี้อยู่ร่วมกับเขาจริง ๆ” หมอหม่องพูดพลางยิ้ม

“คงคล้ายกับการดูดาวบนท้องฟ้า พอเรารู้จักดาว กลุ่มดาว กาแล็กซีต่าง ๆ มันก็มีความหมายกับเรา มันบอกเรื่องราวมากมายของการดำรงอยู่ของสิ่งนั้น”

คุณนึกภาพตาม คงคล้ายคลึงกับเสียงไก่ฟ้ากระพือปีกในวันแรกที่คุณได้ยิน เมื่อเข้าใจเสียง เสียงก็จะมีความหมายมากขึ้น ราวกับคุณมีหูใหม่ที่เข้าใจภาษาของสรรพสัตว์

เขายังเปรียบเสียงของป่าเหมือนวงดนตรี นับวันเสียงของเครื่องดนตรีบางชิ้น นักดนตรีบางตัวมันหายไป ดนตรีที่เคยเล่นตอนเช้าก็เปลี่ยนไป การบันทึกเสียงธรรมชาติของมะเดี่ยวจึงเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เสียงที่ต้องรักษาไว้

“มันเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ถ้าไม่เคยบันทึกไว้ก็จะไม่สามารถส่งต่อให้รุ่นต่อไป เราจะไม่รู้เลยว่าเราสูญเสียอะไรไปบ้าง” หมอผู้ชื่นชอบการดูนกทิ้งท้าย

คนมักนึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติทางกายภาพ อย่างพื้นที่สีเขียวลดลง พื้นที่ของตึกรามบ้านช่องมากขึ้น หากแต่ความเป็นจริงนั้นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติสังเกตได้แม้กระทั่งผ่านเสียง

ไม่เพียงเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในแง่ของเสียงที่ลดลง หลายเสียงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงจากกิจกรรมของมนุษย์กลับเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“อยากจะพาคนไปรู้จักเสียงธรรมชาติ เสียงของสิ่งมีชีวิต นก ต้นไม้ พอเรารู้จัก ความผูกพัน ความรักก็จะเกิดขึ้น วันหนึ่งถ้าเสียงเหล่านั้นหายไป เราอาจลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง” มะเดี่ยวพูดขึ้นถึงความปรารถนาสูงสุดในฐานะของนักบันทึกเสียง

เพราะเขาไม่สามารถพาทุกคนไปเดินป่าฟังเสียงธรรมชาติด้วยตัวเองได้ “ไพรสาร” จึงเป็นตัวเชื่อม นำเสียงจากธรรมชาติให้คนที่เขาอาจยากในการเข้าถึง ได้รู้จักอีกโลกหนึ่งที่ใกล้ชิดกับคุณเสมอ
“บางทีเสียงอาจไม่ได้หายไป แต่เราแค่ไม่ได้ยิน” เขาทิ้งท้าย

หลังเขาพูดจบ เสียงแตรรถยนต์ก็ลอยแว่วมา  

อ้างอิง
คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. “วาฬบรูด้า”. สืบค้นจาก https://km.dmcr.go.th/c_250

ED YONG. “Noise pollution drives away some birds, but benefits those that stay behind”. Retrieved from https://www.nationalgeographic.com/science/article/noise-pollution-drives-away-some-birds-but-benefits-those-that-stay-behind

Image