Image
ภาพ : ก้องกนก นิ่มเจริญ
Eco Living
ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ผื น ป่ า
เมื่อปี ๒๕๖๕ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรพัฒนาเอกชนที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ระบุว่าประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้หลงเหลืออยู่ ๑๐๑ ล้านไร่ หรือประมาณ ๓๑.๕๗ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ ลดลงจากปีก่อนหน้าราว ๐.๐๒ เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นพื้นที่ ๗๖,๔๕๙.๔๑ ไร่  แบ่งเป็นป่าที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ๒๒ เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนอีก ๙ เปอร์เซ็นต์

การลดลงของป่าไม้ไทย สวนทางกับเป้าหมายตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่กำหนดให้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ กับพื้นที่ป่าเศรษฐกิจและป่าชุมชนอีก ๑๕ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ

การลดลงของผืนป่าไทยสอดรับกับสถานการณ์ความเป็นไปของผืนป่าโลก เมื่อปีเดียวกันเว็บไซต์ www.nationalgeographic.com ของนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก นำเสนอรายงานข่าวหัวข้อ The World’s Forests Decades of Loss and Change ที่ระบุว่าระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๐-๒๐๒๐ ทั่วโลกมีป่าลดลงมากถึง ๑๒ เปอร์เซ็นต์

ชั่วเวลาเพียง ๒ ทศวรรษเศษ ผืนป่าอุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ป่า เป็นต้นกำเนิดสายน้ำและอาหารให้ผู้คนพึ่งพิงอาศัย ได้หดตัวลดขนาดลงอย่างฮวบฮาบ

ในประเทศไทย อัคคีภัยนาม “ไฟป่า” การเปลี่ยนสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตลอดจนเจตนาที่จะบุกรุกทำลาย เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ สัตว์ป่าที่ถูกคุกคามมีทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก นก สัตว์เลื้อยคลาน ปลา แมลงและสัตว์ป่าที่ไม่มีกระดูกสันหลัง

ในระดับโลก ต้นตอของการสูญเสียพื้นที่ป่าก็คล้ายกับบ้านเรา คือการขยายตัวของภาคเกษตร การทำฟาร์มปศุสัตว์ การรุกรานของแมลงศัตรูพืช การปรับสภาพผืนป่าเพื่อประกอบกิจการค้าไม้ ตลอดจนการตัดถนนหรือตัดเส้นทางรถไฟพาดผ่านป่า

ผลการศึกษาตามโครงการ The Global Roads Inventory Project (GRIP) ของ GRIP global roads database พบว่าทุกวันนี้มีถนนอย่างน้อย ๒๑ ล้านกิโลเมตรทอดยาวไปทั่วโลก 

ทุกประเทศและทุกภูมิภาคมีโครงข่ายถนนโยงใยซับซ้อนเป็นของตัวเอง ตั้งแต่ทางหลวงสายหลักจนถึงถนนเล็ก ๆ ในชนบท

เมื่อนำถนนทั้งหมดที่ถูกตัดขึ้นบนโลกมาวาดลงบนแผนที่ จะพบว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยถนนที่ทอดผ่านไปตามพื้นที่ต่าง ๆ

แผนที่ Python map เผยให้เห็นว่า เส้นทางสัญจรของมนุษย์หั่นระบบนิเวศทางธรรมชาติทั่วโลกออกเป็นชิ้น ๆ
มากกว่า ๖ แสนชิ้น  ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งมีขนาดพื้นที่ไม่ถึง ๑ ตารางกิโลเมตร

นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา นักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผืนป่าใหญ่ถูกหั่นซอยเป็นเกาะเล็ก ๆ (forest fragmentation) ย่อมส่งผลกระทบรุนแรงต่อความยั่งยืนของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะต่อโอกาสอยู่รอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เฉกเช่นเสือและช้าง ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่กว้างในการดำรงชีวิต

“การตัดถนนเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา ทั้งการลักลอบล่าสัตว์ป่า สัตว์ป่าโดนรถชน การบุกรุกทำลาย และทำให้พื้นที่ป่ากลายสภาพเป็นเกาะเล็ก ๆ หรือระบบนิเวศป่าที่มีความโดดเดี่ยว” คุณหมออธิบาย

ยากที่จะปฏิเสธว่าถนนเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญในอารยธรรมมนุษย์ 

แต่ในทางตรงกันข้าม การตัดถนนมากเกินไป เกินกำลังที่ทรัพยากรธรรมชาติจะแบกรับไหว กำลังแสดงผลกระทบที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ว่ากิจกรรมของมนุษย์นั้นทำให้ผืนป่าและสัตว์ป่าถูกคุกคาม

การตัดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ มากกว่าการล่าสัตว์ สร้างเขื่อน ใช้สารเคมี หรือขยะพลาสติกด้วยซ้ำ
ภาพ : ธนากร เพื่อนรักษ์
แ ผ่ น ฟ้ า
ตลอดปี ๒๕๖๖ เป็นช่วงเวลาที่คนไทยต้องเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะวิกฤตด้านคุณภาพอากาศ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 เรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จนนำมาสู่การฟ้องร้องนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่กำกับดูแลงานด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ด้วยผู้ฟ้องเห็นว่าหน่วยงานเหล่านั้นไม่ได้นำนโยบายหรือมาตรการที่มีมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพ

เดือนมีนาคมยังมีเหตุการณ์ที่ชาวปราจีนบุรีและพื้นที่โดยรอบต้องหวาดผวา จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-๑๓๗ สูญหายจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เกิดการตั้งคำถามถึงความปลอดภัยและความรัดกุมในการบริหารจัดการของโรงงาน

ถึงแม้ต่อมาอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะประเมินว่าวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-๑๓๗ ดังกล่าวถูกหลอมไปหมดแล้ว หลังตรวจพบระดับรังสีซีเซียม-๑๓๗ ในฝุ่นเหล็ก หรือเรียกกันว่า “ฝุ่นแดง” จากกระบวนการหลอมโลหะของโรงงานในอำเภอกบินทร์บุรี  อย่างไรก็ตามการแถลงข่าวของผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติและคณะ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๖ กลับไม่อาจยืนยันว่าฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนรังสีซีเซียม-๑๓๗ ดังกล่าว มาจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-๑๓๗ ที่สูญหายอย่างไร้ร่องรอยหรือไม่

การให้ข้อมูลที่คลุมเครือของหน่วยงานรัฐทำให้สถานการณ์เลวร้าย ทั้ง ๆ ที่นี่เป็นอุบัติภัยที่อยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน และเกี่ยวข้องโดยตรงกับความปลอดภัยสาธารณะ

อากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคน  ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสูดหายใจเอาอากาศที่ดีเข้าสู่ร่างกาย

แต่เหมือนกับวันนี้อากาศสะอาดเป็นทรัพยากรที่เข้าถึงไม่ง่าย ประชาชนต้องทนสูดอากาศที่ปนเปื้อนฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 หรือไม่ก็เจือปนด้วยสารเคมีชนิดต่าง ๆ อย่างไม่มีวี่แววว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

ทุกวันนี้ท้องฟ้าสีฝุ่น ทึมเทา แลดูเหงาเศร้า ไม่สดใส กลายเป็นสิ่งที่พบเห็นทั่วไปเมื่อฤดูกาลแห่งอากาศเลวร้ายมาเยือน

หลายปีแล้วที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมอาหาร มีการลงทุนข้ามชาติของบริษัทอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นหนึ่งในเหตุผลเบื้องหลังปัญหาฝุ่นควัน ทว่าเรื่องนี้ยังไม่เคยถูกจัดการอย่างเด็ดขาดจากภาครัฐ  ในทางตรงกันข้ามกลับยังมีนโยบายอีกหลายชุดที่ส่งเสริมการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์

ผลจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมของกรีนพีซ ร่วมด้วยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิ-สารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุไว้ในรายงาน “ผืนป่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
และมลพิษ PM2.5 ข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปี ๒๕๕๘-๒๕๖๓” ว่า ช่วงระหว่างปี ๒๕๕๘-๒๕๖๓
พื้นที่ป่าไม้ประมาณ ๑๐.๖ ล้านไร่ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงถูกทำลาย และกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ซึ่งราวครึ่งหนึ่งอยู่บริเวณภาคเหนือของลาว

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ชี้ว่า การจะแก้ปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือที่เป็นมลพิษ
ข้ามพรมแดนรัฐชาติ โดยโทษเกษตรกรที่เผาพื้นที่เพาะปลูกเพียงฝ่ายเดียว เพิกเฉยไม่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่มีส่วนสำคัญในการก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ชัดเจนแล้วว่าปลายปี ๒๕๖๖ ประเทศไทยจะเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้ปริมาณฝนลดลง และความแห้งแล้งแผ่กระจาย ซึ่งน่าจะเร่งเร้าให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศเพิ่มมากขึ้น 

หากอากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน โอกาสที่จะได้เฝ้ามองท้องฟ้าใสกระจ่าง ยามราตรีมีดวงดาวทอประกายระยิบระยับ ก็น่าจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของความเป็นมนุษย์

ครั้งหนึ่ง สตีเฟน ฮอว์กิง ยอดนักวิทยาศาสตร์เอกผู้วายชนม์กล่าวว่า “จงเงยหน้าขึ้นมองดวงดาว มิใช่ก้มมองเท้าตัวเอง”

แต่ทุกวันนี้ละอองฝุ่นเม็ดเล็ก ๆ ที่ล่องลอยอยู่บนฟากฟ้า กำลังกลบภาพหมู่ดาวแทบหมดสิ้น

จากอดีตถึงปัจจุบัน มนุษย์มีแนวโน้มการใช้แสงสว่างมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นแสงสว่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือเป็นเพียงความเคยชินที่ต้องเปิดไฟ

ผู้คนในเมืองใหญ่หรือกระทั่งในชนบทกำลังใช้แสงสว่างโดยไม่คำนึงถึงความสิ้นเปลืองทางพลังงาน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขาดความเคารพนบนอบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ทั้งพืชและสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโลกใบเดียวกัน สิ่งนี้จะกลับมาบ่อนทำลายสุขภาพและตัวเราเอง

การรณรงค์ให้ประชาชนใช้แสงสว่างอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดและส่งผลเสียน้อยสุดเพื่ออนุรักษ์ท้องฟ้ายามค่ำคืนเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพื่อเสริมสร้างเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดในเมืองไทย
Image
ภาพ : ธนากร เพื่อนรักษ์
ส า ย นํ้ า
รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๖๕ จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำแนกความต้องการใช้น้ำในประเทศ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำบาดาล ระหว่างปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ว่าภาคเกษตรกรรมคือผู้ใช้น้ำมากที่สุด คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งหรือ ๕๐.๕๓ เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้น้ำ รองลงมาคือการใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ อุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ ๓๒.๕๙, ๑๑.๒๙ และ ๕.๕๙ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำถูกตั้งคำถามว่าคำนึงถึงความสำคัญของการรักษาระบบนิเวศจริงไหม

แม่น้ำลำคลองหลายสายถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ ตลิ่งธรรมชาติกลายเป็นคอนกรีต

โครงการก่อสร้างกำแพงป้องกันตลิ่งตัดขาดความสัมพันธ์ของสายน้ำกับชายฝั่ง สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไม่สามารถขึ้นมาทำรังและวางไข่

กรณีโครงการขนาดใหญ่ สูบน้ำจากแม่น้ำยวมจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้าอุโมงค์ลอดมาเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำ เขื่อนภูมิพล ถือเป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ

ขณะหน่วยงานรัฐซึ่งผลักดันโครงการชี้ว่าที่ผ่านมาแม่น้ำยวมต้องไหลลงทะเลไปฟรี ๆ แต่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมชี้แจงว่าไม่มีน้ำหยดไหนที่ไหลลงทะเลอย่างเปล่า ๆ ปลี้ ๆ กระแสน้ำช่วยผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้ามาและช่วยรักษาระบบนิเวศชายฝั่งไม่ใช่หรือ

บนแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติก็กำลังมีโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ท่ามกลางคำถามว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของมนุษย์มีจุดสิ้นสุดตรงไหน ไฟฟ้าจากเขื่อนมีความจำเป็นถึงแม้ว่าจะต้องทำลายความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการสร้างกำแพงคอนกรีตกั้นแม่น้ำ และทำลายวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งโขงอย่างนั้นหรือ

โครงการก่อสร้างท่าเรือและสนามบินหลายแห่งกำลังเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่ท่าเทียบเรือและรันเวย์ตั้งอยู่ติดแนวปะการัง แหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน ที่อาจได้รับผลกระทบทั้งตะกอนระหว่างก่อสร้างความเสียหายจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางเมื่อสร้างเสร็จ นอกจากนี้ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น มหาสมุทรต้องดูดซับความร้อนส่วนใหญ่ไว้ ส่งผลให้น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เป็นภัยต่อชุมชนริมชายฝั่งและบนเกาะต่าง ๆ  มหาสมุทรยังต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ชุมชนชายฝั่งหลายแห่งพยายามชี้ว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอันสืบเนื่องจากภาวะโลกร้อนเสมอไป แต่การพังทลายของชายฝั่งและหาดทรายหลายแห่งโดยเฉพาะทางภาคใต้เป็นความผิดพลาดจากโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นของมนุษย์

อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for Life เคยตั้งคำถามว่า “ถ้าชายหาดถูกน้ำทะเลกัดเซาะเพราะโลกร้อนแล้วทำไมหาดที่อยู่ติด ๆ กันถึงโลกเย็น”
scrollable-image
โ ล ก เ ดื อ ด
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อันนำมาซึ่งภาวะโลกร้อน (global warming) ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

มุมหนึ่งของโลกภัยแล้งและไฟป่ากำลังลุกลามและแผ่ขยายวงกว้าง ขณะซีกโลกอีกด้านก้อนน้ำแข็งและธารน้ำแข็งขนาดมหึมาละลายหายไปอย่างรวดเร็ว ระดับน้ำในท้องทะเลและมหาสมุทรยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง เมืองท่า รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล

กลางปีที่ผ่านมา องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ และ Copernicus Climate Change Service (C3S) ของสหภาพยุโรป ร่วมกันออกแถลงการณ์ว่า เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ เป็นเดือนที่ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดในโลกเท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติ

จากการวัดค่าอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยรายวันทั่วโลก ช่วง ๓-๓๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ เป็น ๒๙ วันที่ร้อนที่สุดในรอบ ๑๒๐,๐๐๐ ปี  วันที่ร้อนที่สุดคือ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๒๓ มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงถึง ๑๗.๐๘ องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๐-๑๙๐๐ เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส มากกว่าเกณฑ์ที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าประชาคมโลกจะช่วยกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงกว่ายุคอุตสาหกรรมเทียบเท่าตัวเลขนี้

ไม่กี่วันต่อมา อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถ้อยแถลงว่า “ยุคโลกร้อนสิ้นสุดลงและยุคโลกเดือด (era of global boiling) มาถึงแล้ว หลังจากนี้สภาพอากาศสุดขั้วจะกลายเป็นภาวะปรกติใหม่ ผลที่รุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นไปตามคำทำนายและการเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของนักวิทยาศาสตร์...แต่สิ่งน่าประหลาดใจ คือการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว”

ก่อนหน้านั้นกูเตอร์เรสแจ้งเตือนว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกได้เข้าสู่ระดับสีแดง (code red) หรือภาวะฉุกเฉินสำหรับมนุษยชาติ สืบเนื่องจากเมื่อ ค.ศ. ๒๐๒๑ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC ออกรายงาน “Climate Change 2021 : The Physical Science Basis” ระบุว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศของโลกอยู่ในขั้น “สัญญาณเตือนสีแดงสำหรับมนุษยชาติ” (code red for humanity) โดยมีห้าข้อหลักที่จะส่งผลกระทบต่อโลกและต่อประเทศไทย ได้แก่

๑. หลังจากนี้อุณหภูมิจะสูงขึ้นและคลื่นความร้อนจะตามมา
๒. เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น น้ำจะระเหย ในฤดูแล้งจะไม่มีน้ำ และภัยแล้งจะตามมา
๓. น้ำที่ระเหยไม่ได้หายไปไหน กลายเป็นไอลอยอยู่บนฟ้า เมื่อสัมผัสความเย็นในฤดูฝนจะตกลงมาเป็นฝน และเป็นฝนหนัก
๔. พื้นที่เปราะบางจะเกิดน้ำท่วม
๕. เมื่ออุณหภูมิสูง น้ำทะเลจะร้อนขึ้น และมีระดับน้ำสูงขึ้น กระทบต่อพื้นที่สูงไล่เลี่ยกับระดับน้ำทะเล

อีกราว ๑ เดือนต่อมา คือวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๒๐๒๓ มีการจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยความทะเยอทะยานด้านสภาพอากาศ (Climate Ambition Summit) ของสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อให้ผู้นำรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาคการเงิน และภาคประชาสังคม นำเสนอการดำเนินการที่ทะเยอทะยานและเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน ๑.๕ องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เดินทางไปร่วมประชุม และกล่าวถ้อยแถลงแสดงความมุ่งมั่นว่าประเทศไทยจะปรับปรุงแผนพลังงานแห่งชาติ เน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน เตรียมยกเลิกการผลิตพลังงานโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง เพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา กำหนดโครงสร้างราคาไฟฟ้าสีเขียว ปรับตัวสู่การเกษตรยั่งยืน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ผลักดันกลไกการเงินสีเขียวผ่านการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน และพัฒนา sustainability-linked bond ออก พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ

ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในพิธีเปิดมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “มนุษยชาติได้เปิดประตูขุมนรก สภาพอากาศอันร้อนระอุกำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง เกษตรกรผู้ว้าวุ่นกำลังมองดูพืชพรรณถูกน้ำท่วมซัดหาย อุณหภูมิร้อนอบอ้าวทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ขณะไฟป่าร้ายแรงแห่งประวัติศาสตร์เผาผลาญ ผู้คนนับพันต้องหลบหนีด้วยความหวาดกลัว”

นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

บนทางเลือกว่ากระแสตื่นตัวจะเพียงพอให้เราหันมาตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และพยายามรักษาโลกใบนี้ไว้อย่างจริงจังหรือไม่

นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วจริง ๆ  
อ้างอิง
https://www.visualcapitalist.com/cp/road-map-of-the-world/
https://www.globio.info/download-grip-dataset
https://www.nationalgeographic.com/environment/graphics/the-worlds-forests-decades-of-loss-and-change
https://www.greenpeace.org/thailand/story/27925/mid-year-climate-justice-thailand-2023/
https://darksky.narit.or.th/