Image
ผึ้งหลวงและน้ำผึ้งป่าเสม็ดขาวที่ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา
คน พึ่ง ผึ้ง
ล่อผึ้งหลวงในป่าเสม็ดขาว
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : วรรณพร กิจโชติตระการ
ภาพ : คชาธร ขจรบุญ
ร้อนเสียจริง ! ยามบ่ายกลางอุณหภูมิ ๓๑ องศาเซลเซียส

เสียงกรอบแกรบจากฝีเท้าห้าคู่ย่ำเหยียบกิ่งไม้และใบไม้ดังขึ้นตลอดเวลา

ต้นไม้ข้างทางแหวกออกเพื่อหาช่องเดินโดยนักเดินป่าหน้าใหม่สามคน ซึ่งกำลังรีบตามเจ้าถิ่นผู้เดินนำอยู่ข้างหน้าให้ทัน  แม้จะระมัดระวังทุกย่างก้าว แต่ไม่วายโดนกิ่งไม้ข่วนขณะมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าลึกเพื่อตามหาแมลงนักผสมเกสรผู้ผลิตน้ำหวานแสนอร่อย

เพียงจินตนาการถึงรสชาติ “หวานหรอย” ดังเจ้าถิ่นเขาว่าไว้ อีกทั้งยังมีสรรพคุณทางยาจากสารช่วยต้านโรคมะเร็งและโรคอัลไซเมอร์ของต้นเสม็ดขาวปนอยู่ในน้ำผึ้งซึ่งหากินได้เฉพาะในภาคใต้เท่านั้น ความน่าสนใจก็เพิ่มขึ้นจนต้องฮึดเร่งฝีเท้า

แมลงตัวเล็กตัวน้อยบินผ่านหน้าไปมาหลายครั้ง แต่ดูเหมือนจะยังไม่เจอ “ผึ้งหลวง” ตัวเอกที่กำลังตามหา หนึ่งในผึ้งป่าซึ่งอาศัยอยู่ในป่าทุ่งบางนกออก ป่าเสม็ดขาวอุดมสมบูรณ์มากที่สุดผืนสุดท้ายในจังหวัดสงขลา กินพื้นที่ห้าหมู่บ้าน กว่า ๖,๒๕๐ ไร่

ลักษณะเฉพาะตัวของผึ้งหลวงคือมีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาผึ้งไทย รังจึงมีขนาดใหญ่ตามตัวและจำนวนประชากร ทำให้ต้องอพยพเพื่อตามหาแหล่งอาหารสมบูรณ์อยู่เสมอตลอดทั้งปี อาจอาศัยที่เดิมนานหรือสั้นกว่าปรกติขึ้นกับสภาพแวดล้อม

อย่างไรก็ตามในป่าเสม็ดขาวแห่งนี้กลับพบเจอผึ้งหลวงได้ตลอดทั้งปี เยอะบ้างน้อยบ้าง ตามคำบอกเล่าของ ธันวา วงค์ราชสีห์ ชายเมืองใต้ผิวคล้ำแดด ผมสีดอกเลา วัย ๔๗ ผู้ดูทะมัดทะแมง และหารายได้เสริมจากการเก็บน้ำผึ้งขายตั้งแต่ยังเด็ก

แม้ผึ้งหลวงจะไม่สามารถเลี้ยงได้เหมือนผึ้งชนิดอื่น เช่น ผึ้งโพรงหรือชันโรง ซึ่งได้รับความนิยมในภาคใต้ ด้วยนิสัยการย้ายถิ่นฐาน แต่ชายคนนี้มีวิธีล่อผึ้งหลวงให้มาสร้างรังแล้วรอวันเก็บน้ำผึ้งหอมหวานได้โดยใช้วิธีการกึ่งเลี้ยงที่เรียกว่า “บังกาด”
Image
ธันวา วงค์ราชสีห์ หนึ่งในชาวบ้านที่ทำบังกาดเลี้ยงผึ้งหลวง เพื่อสร้างรายได้เสริมจากการขายน้ำผึ้ง
เลี้ยงไม่ได้
ทำบังกาดล่อ

นับร้อยปีที่ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างการทำบังกาดยังคงส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แม้จะดูคล้ายการสุมไม้ให้เป็นซุ้มทั่วไป แต่กลับมีรายละเอียดสำคัญบางอย่างที่ไม่ควรมองข้าม

ธันวานั่งอยู่บน “ขนำ” หรือกระท่อมไม้ริมคลองปากจ่า ทางออกสู่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเขาร่วมกันสร้างกับกลุ่มเพื่อนนักตีรังผึ้งแห่งตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มีเครื่องมือทำมาหากินอย่างอวนจับปลาวางกองตรงมุมหนึ่ง  ส่วนเรือประมงหางยาวจอดแน่นิ่งในน้ำ หากไม่มีงานรับจ้างอื่น เช่นงานขับรถทัวร์ เขากับกลุ่มเพื่อนก็จะนั่งเล่นอยู่ตรงนี้ ช่วยกันดูแลข้าวของอย่างกาต้มน้ำร้อนและอุปกรณ์ทำครัวอีกไม่กี่ชิ้น

เขาเริ่มเล่าด้วยสำเนียงภาษาถิ่นว่าตอนอายุ ๑๓ ปี ลุงและอาของเขาก็เริ่มสอนให้ทำบังกาด บทเรียนแรกคือการหาไม้ที่เหมาะสม อาจใช้ไม้กะทังหรือไม้ปอสา แต่ไม้เสม็ดขาวเป็นที่นิยมสุด เพราะหาง่ายและมีคุณสมบัติเฉพาะตัว

“เราดูขนาดไม้เอา ไม่ได้กำหนดอายุของไม้ ต้องการใช้แค่ไหนก็ตัดแค่นั้น  ปรกติไม้อายุ ๓ ปีก็ใช้ได้แล้ว” ชายผิวคล้ำพูด มือหนึ่งชี้ไปทางไม้ท่อนที่นอนนิ่งในขนำ

เมื่อคิดว่าคำพูดอาจยังอธิบายให้เห็นภาพไม่ชัดเจนพอ ธันวาในชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นและรองเท้าแตะจึงรับบทไกด์นำทาง ขึ้นคร่อมรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซค์) แล้วค่อย ๆ บิดคันเร่งเคลื่อนออกไปตามถนนลูกรังเลียบคลองจนถึงป่าเสม็ดขาวบริเวณที่คาดว่ามีบังกาดของจริงตั้งอยู่ ก่อนจอดรถไว้หน้าทางเข้ารอผู้เขียนช่างถามมาถึง แล้วเดินดุ่ม ๆ นำเข้าป่าทางซ้ายมือ 

กลิ่นมูลวัวเตะจมูกทุกย่างก้าวที่เดิน  บริเวณนี้เป็นที่ลุ่มต่ำกว่าถนน มองไปข้างหน้าในระดับสายตาเจอป่าสีขาวโพลนดูแห้งแล้งนัก แต่ใบไม้บนกิ่งก้านกลับเขียวชอุ่ม อีกทั้งดอกไม้ยังบานรอให้แมลงมาดอมดม ถึงได้รู้ว่าต้นไม้เหล่านั้นยังไม่ตาย

“ต้นเสม็ดขาว” “ต้นเหม็ด” หรือ “ต้นกือแล” ในภาษามลายูปัตตานีคือต้นเดียวกัน ต่างเพียงชื่อเรียกตามภาษาท้องถิ่น  ต้นไม้ชนิดนี้ไม่ได้ออกดอกเป็นสีขาวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีขนสีขาวปกคลุมทั่วยอดและกิ่งอ่อน บริเวณลำต้นบิดงอมีเปลือกหนานุ่มสีขาวบ้างเทาบ้างซ้อนกันเป็นปึก ความสูง ๘-๒๕ เมตร เติบโตได้ดีในระบบนิเวศป่าพรุ หรือป่าที่มีลุ่มน้ำขังเป็นหย่อม ๆ และหล่มดินเลน ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีเยี่ยม ทนแล้ง ทนไฟ อยู่ได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำเค็ม  หากวันใดป่าพรุถูกทำลาย ต้นเสม็ดขาวเป็นต้นไม้ชนิดแรก ๆ ที่จะเกิดขึ้นมาทดแทนตามธรรมชาติของไม้เบิกนำ

ต่างจากต้นเสม็ดแดง หรือ “เสม็ดชุน” ซึ่งมีความสูงน้อยกว่า แม้จะมีดอกสีขาวเหมือนกันแต่ใบบนยอดอ่อนเป็นสีเขียวอมแดง ความสวยงามอยู่ที่ลำต้นสีน้ำตาลแดงมีลักษณะบิดงอกว่าต้นเสม็ดขาว เจริญเติบโตได้ดีบนภูเขา

การเดินตามทางแคบที่ถางไว้ไม่ได้ลำบากนัก  พื้นดินแข็งเดินง่ายสำหรับมือใหม่หัดเข้าป่า  ผ่านไปสักพักก็จับสังเกตได้ว่าแท้จริงแล้วกลิ่นหอมไม่ได้มาจากส่วนดอกเพียงอย่างเดียว ใบเสม็ดขาวก็ให้กลิ่นหอมด้วยแม้จะอ่อนกว่าดอกพอสมควร เป็นกลิ่นที่รู้สึกคุ้นเคยอย่างน่าประหลาด แต่อธิบายไม่ได้ว่าคล้ายอะไร
Image
ป่าทุ่งบางนกออกมีต้นเสม็ดขาวเป็นพืชอาหารของผึ้งขึ้นจำนวนมาก ทำให้มีผึ้งหลวง บินมากินน้ำหวานเเละทำรัง
“ดอกมันหอมถึงดึงดูดผึ้งมาได้” ธันวาพูดก่อนจะชี้ให้ดูพวงของผลเสม็ดขาวบนกิ่ง ลักษณะเป็นผลแห้งลูกเล็กขนาดไม่กี่มิลลิเมตร รูปทรงคล้ายถ้วย ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน ส่วนผลแก่สีน้ำตาล 

“ถ้าเอาไปปลูกจะได้ทีละต้น แต่ถ้าโดนไฟจะขึ้นเป็นพันต้น” เขากล่าว  ในผลเสม็ดขาวมีเมล็ดอัดแน่นอยู่กว่า ๒๐๐ เมล็ด เป็นสาเหตุว่าทำไมแนวป่าซึ่งเคยเกิดไฟไหม้มีโอกาสพบเจอต้นเสม็ดขาวมากกว่าบริเวณอื่น

เสียงนกร้องจิ๊บ ๆ วี้ด ๆ ทั่วป่าแต่หาตัวไม่เจอ คาดว่าซ่อนอยู่ในพุ่มไม้ใหญ่หลายต้น  แมลงบางตัวดูคล้ายผึ้งแต่มีสีฟ้าคาดดำ เจ้าตัวนี้ชื่อว่า “ผึ้งขุดหลุมแถบฟ้าโซนาตา” บางตัวมีหนามขนาดเล็กเรียกว่า “ผึ้งโนเมียหลังหนาม” บ้างบินไปตอมดอกโคลงเคลง ไม้ล้มลุกสีม่วงซึ่งกำลังบานสู้แดดยามบ่าย  บ้างก็บินหายไปในป่า  มองต่ำลงมาบนพื้นพบใบไม้เล็กคล้ายต้นเฟิน แต่ความจริงคือต้นย่านลิเภา หนึ่งในตัวแทนสังคมพืชป่าสันทราย

พื้นดินเริ่มเปลี่ยนไป นิ่มลื่นบ้างเป็นบางจุด  สองมือแหวกกิ่งไม้เล็กใหญ่ให้พ้นทาง  ผืนป่าแน่นจนไม่มีที่ว่างให้ย่ำเท้าอีกแล้ว ต้องจำใจเหยียบลงบนต้นเสม็ดเตี้ยซึ่งยังไม่โตเต็มที่หักดังเป๊าะ  ทุกฝีเท้าเร่งเดินตามคนนำทางให้ทันเพื่อจะได้ไม่หลงแล้วติดอยู่ในป่าสูงท่วมหัวแห่งนี้

สิ่งที่เห็นคือซุ้มไม้ขนาดใหญ่ซ่อนตัวกลมกลืนไปกับธรรมชาติ หากไม่ตั้งใจมองคงไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่ามี “บังกาด” ตั้งอยู่

ไม้เสม็ดขาวสองท่อนมีแง่งเหมือนไม้ง่ามลูกเสือ-เนตรนารี แต่ขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า ความสูงประมาณ ๑.๕ เมตร ตั้งเป็นไม้ค้ำ ข้างหนึ่งสูงข้างหนึ่งเตี้ยกว่า บนพื้นซึ่งถางเตรียมไว้พอให้วางตามขนาดบังกาด ไม้อีกท่อนหนึ่งยาวประมาณ ๒.๕ เมตร ลักษณะคล้ายกับที่เห็นบนขนำก่อนหน้านี้วางพาดไว้หน้าทางเข้า ด้านใหญ่กว่าหันไปทางทิศตะวันออก

“ต้องทำให้ท่อนไม้เอียง ๆ จะได้เหมือนต้นไม้จริง”

ด้านนอกมีไม้ขนาดเล็กแต่สูงหลายสิบท่อนตั้งเรียงเป็นระแนงสุมเข้าหากันจากสองฝั่งซ้าย-ขวาไปจนสุดความยาวของท่อนไม้ที่พาดไว้ มีกิ่งไม้ติดใบทั้งแบบแห้งและสดคลุมเป็นหลังคาใช้บังแดดบังลมได้ระดับหนึ่งบังกาดหลังหนึ่งวนใช้ได้เป็นปี แค่นำมีดไปขูดทำความสะอาดเศษรังเดิมออกให้หมด  น่าเสียดายที่บังกาดหลังนี้ยังคงว่างเปล่า แม้คนทำจะดูทิศทางผึ้งบินผ่านมาก่อนแล้วก็ตาม

ก่อนผึ้งจะย้ายบ้านไปอยู่บนไม้กิ่งไหนจะต้องสำรวจก่อนเสมอ

“ผึ้งจะบินมาวัดขนาดท่อนไม้ก่อนเลย บิน ๆ ตอม ๆ ท่อนไม้ในบังกาดไปตามความยาว  หากผึ้งหยุดนิ่งแล้วบินลงพื้นตรงไหน แปลว่าวัดได้ตามขนาดรังแล้ว ขนาดรังจะเท่ากับระยะท่อนไม้ที่เขาตอมนั่นแหละ” ธันวาเล่าประกอบท่าทางโดยใช้มือตัวเองแทนผึ้งบินระไปกับความยาวท่อนไม้

นอกจากนี้ยังต้องดูว่าพื้นที่นั้นไม่มีมดหรือสัตว์เลื้อยคลานอย่างจิ้งจกและตุ๊กแก อีกทั้งต้องไม่มีรังตัวต่ออยู่ใกล้ เพราะสัตว์เหล่านี้จะมาแย่งน้ำหวาน บางครั้งก็มากินผึ้ง  โดยปรกติแล้วในบริเวณภูเขาอย่าง “เทือกเขาบรรทัด” จังหวัดพัทลุง ผึ้งหลวงจะเลือกทำรังบนต้นไม้สูง ในเมืองก็จะทำรังอยู่บนตึกสูงอย่างที่เคยเห็นในข่าว
Image
ตั้งแต่วันแรกที่ผึ้งบินมาทำรัง ชาวบ้านจะคอยสังเกตและนับไป ๑๘-๒๑ วัน ถึงจะมาเก็บน้ำผึ้งได้
“บังกาด” สำหรับล่อให้ผึ้งมาทำรัง ใช้ไม้ขนาดใหญ่และมีเปลือกลื่น เนื่องจากผึ้งชอบเกาะ ชาวบ้านทำบังกาดไว้จำนวนมาก แต่ใช่ว่าจะมีผึ้งมาทำรังทุกหลัง
ป่าเสม็ดขาวแห่งนี้เป็นป่าเตี้ย ลักษณะบังกาดก็กลมกลืนไปกับป่า จึงมีผึ้งหลวงมาอยู่อาศัยเพื่อหลบหนีศัตรูตัวฉกาจอย่างนกจาบคาและเหยี่ยวรุ้ง  บังกาดทำหน้าที่กำบังภัยได้อย่างดี เป็นประโยชน์แก่ผึ้งและคนไปพร้อมกัน

“ที่เขาทำซุ้มก็เพื่อกันนกเหยี่ยวรุ้งมาตีรังกินน้ำผึ้ง” ธันวากล่าว

ตามคำบอกเล่าของอดีตประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผึ้งหลวงควนโส จังหวัดสงขลา ข้อมูลในปี ๒๕๕๙ มีบังกาดที่ชาวบ้านในตำบลวางไว้ในป่าประมาณ ๑,๕๐๐ หลัง แต่ปัจจุบันไม่ทราบจำนวนแน่นอน  ได้คำตอบจากธันวาเพียงว่าเขาทำบังกาดไว้ ๑๐ กว่าหลังเท่านั้น และแน่นอนว่าผึ้งหลวงไม่ได้เข้าไปทำรังทุกหลัง
เอาหัวหมีไปตีผึ้ง
วันปฏิบัติการ แสงแดดอุ่น ๆ ช่วงสายเป็นสัญญาณดีว่าผึ้งหลวงรังที่กำลังมุ่งหน้าไปหาอยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความสุข  ชายผิวคล้ำแดดคนเดิมยังคงรับบทผู้นำทางแต่มีหน้าที่สำคัญเพิ่มเข้ามาคือหัวหน้ากลุ่มนำตีรังผึ้ง โดยมีผู้ช่วยคือหลานชายอีกสองคนเดินถือมีดทำครัวเล่มเล็กพร้อมถังพลาสติกตามหลังมาติด ๆ

การเดินหาบังกาดครั้งที่ ๒ ไม่ยากเท่าไร  พื้นที่ส่วนนี้เป็นป่าเสม็ดขาวอีกฟากหนึ่ง  เมื่อออกจากขนำแล้วเลี้ยวซ้าย ขับตรงไปตามถนน ๑.๘ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนลูกรังอีกครั้ง ข้างทางฝั่งหนึ่งขุดดินเตรียมไว้ทำบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่เป็นแนวยาวตามเส้นถนน อีกฝั่งหนึ่งเป็นป่าสลับสวนปาล์มและแปลงผักของชาวบ้านขับมาตามทางประมาณ ๗๐๐ เมตรจะเจอทางเข้าป่าเล็ก ๆ หากไม่ใช่คนพื้นที่คงหาไม่เจอแน่

ทุกย่างก้าวเป็นไปด้วยความระมัดระวัง  คำพูดเปล่งออกจากลำคอฟังคล้ายเสียงกระซิบ ด้วยกลัวว่าหากเกิดสิ่งผิดปรกติจะทำให้ผึ้งหลวงก้าวร้าว

แม้อาจารย์ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืชคนหนึ่งซึ่งผู้เขียนได้พูดคุยก่อนลงพื้นที่จะบอกว่า “ผึ้งหลวงแถวนั้นไม่ทำร้ายคน” แต่นักเดินป่าหน้าใหม่ยังคงไม่เชื่ออย่างสนิทใจ จึงขอคำแนะนำเพื่อเตรียมตัว ได้ความว่าผึ้งหลวงเป็นสัตว์อ่อนไหวง่ายและประสาทสัมผัสดีมาก ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออกก็รับรู้ถึงความผิดปรกติได้ก่อนคน การใส่เสื้อสีเข้มหากยืนอยู่เฉย ๆ คงไม่เป็นไร แต่เมื่อเคลื่อนไหวอาจทำให้เจ้าแมลงในรังสับสนคิดว่าเป็นเมฆฝน สร้างความหงุดหงิดให้แก่พวกมันได้ เพราะผึ้งหลวงจะออกหาน้ำหวานในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส  นอกจากนี้หากกินไม่อิ่มก็จะอารมณ์ไม่ดี  อีกทั้งยังต้องระวังเรื่องกลิ่น การฉีดน้ำหอมและการใช้ยาสระผมหรือสบู่กลิ่นแรงเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะถือเป็นการรบกวน

ถึงกระนั้นเรายังต้องอยู่ใต้ลมเสมอ หากลมพัดกลิ่นตัวไปยังรังผึ้ง แทนที่จะได้ดูผึ้ง อาจกลายเป็นผึ้งบินมาดูเรา

ห่างไปไม่ถึง ๒ เมตร ตรงหน้าคือรังผึ้งหลวงขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ ๑ เมตร ห้อยอยู่กับท่อนไม้ในบังกาด อายุรังประมาณ ๑ เดือน  แมลงหัวสีดำลำตัวสีเหลืองกำลังขยับตัวขยุกขยิกอยู่บนผิวรังแน่นไปด้วยพวกเดียวกันเอง เมื่อดูจนหนำใจแล้วจึงพากันถอยออกมาเตรียมตัว

แม้จะเรียกว่า “ตีผึ้ง” แต่ก็ไม่ใช่การถือไม้หน้าสามไปฟาดรังผึ้งอย่างที่คิด  หัวหน้าและผู้ช่วยอีกสองคนหักกิ่งไม้ข้างทางมามัดรวมกันทำเป็น “หัวหมี” ซึ่งดูภายนอกอาจเหมือนกำก้านมะยมที่พระสงฆ์ใช้พรมน้ำมนต์แต่ขนาดใหญ่กว่ามาก และทำให้ใหญ่ขึ้นตามขนาดรังผึ้งที่จะไปตีจนกว่าจะถือคนเดียวไม่ไหว

“ใช้ต้นอื่นก็ได้ แต่ใบเสม็ดกิ่งจะแน่นกว่า ไฟจะไม่ลุก ใช้แค่ควันอย่างเดียว” แม้กำลังง่วนอยู่กับการจุดไฟใส่หัวหมี หัวหน้ากลุ่มอย่างธันวาก็ไม่ลืมไขข้อสงสัยให้คนช่างถาม

ทัศนวิสัยแจ่มชัดกลายเป็นสีขาวขุ่นมัว  ทุกคนถูกเรียกให้มาอยู่รวมกัน จากนั้นโดนรมควันตั้งแต่หัวจดเท้าประหนึ่งหนูทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่  แต่เหตุผลแท้จริงคือกลิ่นควันนี้คงไม่ถูกใจเจ้าแมลง และจะปกป้องเราจากผึ้งตัวเป้งที่อาจบินเข้ามาต่อย 
“เนื่องจากเป็นเขตป่าสงวนและป่าชุมชนชาวบ้านโดยรอบอาศัยหาของป่ากินใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่ได้จับจองยึดเป็นพื้นที่ส่วนตนไว้ทำการเกษตรจึงไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายต่อผึ้งและระบบนิเวศ”
Image
เมื่อผึ้งบินออกจากรังแล้วก็รีบทำการตัดรังและเดินออกจากบริเวณนั้น
“ถ้าผึ้งมาตอมก็อย่าไปปัดเขานะ” เสียงแว่วมาตามลมขณะเดินไปยังจุดมุ่งหมาย

ทันทีที่หัวหมีกวาดลงบนรังอย่างเบามือ ผึ้งหลวงนับพันซึ่งเคยสงบก็แตกกระเจิงคนละทิศละทาง บินว่อนขึ้นไปบนท้องฟ้าอย่างไร้ทิศทางราวกับคนเสียศูนย์ เสียงกระพือปีกด้วยความเร็วดังหึ่ง ๆ ในโสตประสาท 

กลุ่มคนยังปลอดภัยดี แต่เมื่อนึกถึงพิษรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากผึ้งจำนวนมากรุมต่อยหรือแพ้พิษ ก็ทำให้คนโดนผึ้งบินชนตกใจเสียจนสะดุ้ง

ชั่วพริบตาตรงหน้าเหลือเพียงรังเปล่าสีเหลืองอ่อน การตีรังผึ้งเป็นไปอย่างรวดเร็วเพราะเกรงว่าผึ้งหลวงจะตายหากโดนรมควันนานเกินไป  มือสีเข้มข้างหนึ่งใช้มีดบรรจงตัดรังส่วนที่ว่างเปล่าและมีตัวอ่อนแยกออกจากส่วนน้ำผึ้ง ก่อนจะปาดด้านบนซึ่งติดกับท่อนไม้ให้หลุดออกแล้วถือไว้  รังส่วนน้ำผึ้งตัดด้วยวิธีการเดียวกัน แต่ปล่อยให้ตกลงในถังสีขาวที่เตรียมไว้

“หวาน” รสชาติน้ำผึ้งจากดอกเสม็ดขาวคำแรกในชีวิต  น้ำผึ้งสีเหลืองทองใสหยดย้อยตามแรงโน้มถ่วงทันทีที่ฟันกัดรวง ก่อนความอ่อนนิ่มจะบีบอัดเข้าด้วยกันเหมือน
ก้อนดินน้ำมันซึ่งคนทั่วไปอาจพบเห็นได้ในรูปแบบเทียนไข
ส่วนประกอบเครื่องสำอางอย่างสีผึ้ง สารขัดเงา และอีกสารพัดของแปรรูป นั่นคือ “ไขผึ้ง” ซึ่งเคี้ยวแล้วต้องคายทิ้ง  ความหวานยังคงกระจายทั่วทั้งปาก  กลิ่นหอมอ่อน ๆ
ลอยขึ้นผ่านลำคอชวนให้ลองกัดอีกสักคำ  สมกับคำร่ำลือ
ว่าหอมหวานเป็นอันดับ ๒ ของประเทศ รองลงมาจาก
น้ำผึ้งป่าจังหวัดเชียงราย เพียงแต่คำที่ ๒ ไม่ได้มีรสหวาน
อย่างเดียว…

“เปรี้ยว” มีรสชาติเปรี้ยวปนอยู่  ผู้ชิมรู้สึกไม่คุ้นเคยเลยสักนิด คิ้วขมวดเหมือนคนกำลังครุ่นคิด ก่อนจะได้คำตอบจากผู้ช่วยคนหนึ่งว่ากัดไปโดนเกสรผึ้ง เกสรตัวผู้ของพืชที่ผึ้งใช้ขาหลังปั้นเป็นก้อนแล้ววางลงในรวงหกเหลี่ยมเก็บไว้เป็นแหล่งอาหารของรัง มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ต้านการอักเสบของร่างกาย และยังมีคุณค่าทางโภชนาการอีกหลายอย่าง  เวลานำรังผึ้งไปกรองน้ำหวานต้องตัดส่วนนี้ออกเพื่อไม่ให้เสียรสชาติ  น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถดักจับเกสรผึ้งจากผึ้งหลวงได้อย่างผึ้งพันธุ์ซึ่งมีอุปกรณ์เฉพาะใช้ดักจับตอนผึ้งบินเข้ารัง หาซื้อได้ในท้องตลาดทั่วไป

เมื่อหันกลับไปมองรวงผึ้งบนพื้นข้างถังพลาสติกก็เห็นเจ้าตัวดุ๊กดิ๊กสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนมยังมีชีวิตอยู่  บางตัวมีตาสีดำ บางตัวเกลี้ยงคล้ายดักแด้ หากนำไปรับประทานน้ำในตัวจะแตกออกตอนเคี้ยว ไม่มีรสชาติแต่มีความมัน ต้องราดน้ำผึ้งลงไปเสียก่อนถึงจะอร่อยขึ้น

“ต้องเอาไปคั่วเกลือ เอาไปผัด จะหรอย” ผู้ช่วยคนเดิมกล่าว ก่อนเดินไปยังคูน้ำขนาดเล็กไหลผ่านป่าความกว้างเพียง ๑ เมตร แล้วจุ่มหัวหมีลงไปดับควัน ปฏิบัติการตีรังผึ้งหลวงถือเป็นอันเสร็จสิ้น
ชันโรงมาแทนที่
โดยปรกติหากไม่ตัดส่วนตัวอ่อนออก ชาวบ้านจะเก็บน้ำผึ้งจากรังเดิมได้สองสามครั้ง โดยยังได้ปริมาณน้ำผึ้งเยอะ  แต่ในปี ๒๕๖๖ ชาวบ้านบางกลุ่มในตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่เคยทำบังกาดมาตลอดได้เปลี่ยนไปเลี้ยงผึ้งชนิดอื่นแทน  ผึ้งที่มีคนเลี้ยงจำนวนมากในภาคใต้คือผึ้งโพรง แต่ที่กำลังนิยมเลี้ยงในจังหวัดสงขลาคือ “ชันโรง” ผึ้งจิ๋วนักผสมเกสรซึ่งไม่มีเหล็กใน

“ในอำเภอสิงหนครตอนนี้น่าจะเลี้ยงชันโรงกันเกือบทุกตำบลแล้ว วิสาหกิจที่เลี้ยงชันโรงก็มีแทบจะทุกอำเภอแล้วครับ” เสียงทุ้มของ นิพันธ์ ผาแสง เขยใต้ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคนเลี้ยงชันโรงดังออกจากโทรศัพท์

ผึ้งหลวงหนึ่งรังให้น้ำผึ้งมากกว่าชันโรงหลายเท่า แต่การควบคุมพฤติกรรมผึ้งหลวงเป็นเรื่องยาก ต่างกับชันโรงที่ไม่ทิ้งรัง วิธีขยายรังก็ทำได้ง่ายกว่า เพียงจับนางพญาแยกไปใส่ในรังใหม่

“เรากำหนดได้ว่าปีนี้จะเก็บน้ำผึ้งจากชันโรง ๑๐, ๒๐ หรือ ๑๐๐ รัง”

น้ำผึ้งชันโรงในขวดเหล้ากลมขนาด ๗๐๐ มิลลิลิตรอาจมีราคา ๑,๒๐๐-๑,๕๐๐ บาท ซึ่งสูงกว่าน้ำผึ้งหลวงถึง ๕๐๐-๘๐๐ บาท  ด้วยนิสัยของชันโรงจะเก็บเกสรดอกไม้มากกว่าเก็บน้ำผึ้ง เป็นเหตุให้น้ำผึ้งมีปริมาณน้อยแต่เต็มไปด้วยสรรพคุณทางยาและสารต้านอนุมูลอิสระ

ในรัศมี ๓๐๐ เมตรที่ชันโรงสายพันธุ์เล็กบินหาอาหารได้ แรงงานตัวน้อยจะเริ่มทำหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้ไปโดยไม่รู้ตัว เป็นที่ชื่นชอบของเกษตรกรปลูกไม้ผลอย่างสวนมะพร้าว เงาะ ลำไย หรือลิ้นจี่  เมื่อควบคุมระยะการบินได้ก็ควบคุมรสชาติน้ำผึ้งได้
Image
“หัวหมี” คือการนำกิ่งเสม็ดแห้งหุ้มด้วยใบเสม็ดทำเป็นคบ แล้วจุดไฟเพื่อรมควันผึ้งก่อนจะเก็บน้ำผึ้งจากรัง
แต่บางครั้งผึ้งจิ๋วเหล่านี้ก็สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตอย่างเมล่อนลูกโตรสหวาน  ก่อนเทคโนโลยีทางการเกษตรจะก้าวหน้าเมล่อนหนึ่งต้นจะเด็ดให้เหลือเพียงหนึ่งผล แต่ด้วยความขยันเจ้าตัวจิ๋วพวกนี้จะตอมทุกดอกโดยไม่สนใจว่ามีกลิ่นผึ้งรังอื่นติดอยู่หรือไม่ เกสรผสมไปแล้วหรือยัง ทำให้ต้นติดผลเป็นจำนวนมาก ขนาดและความหวานของเมล่อนจึงลดลงเพราะสารอาหารไปเลี้ยงไม่เพียงพอ  ผู้เลี้ยงจึงควรมีความเข้าใจนิสัยพื้นฐานของชันโรงและไม้ผลที่จะปลูก

รายได้แน่นอนสร้างแนวโน้มการเลี้ยงชันโรงในพื้นที่ให้สูงขึ้น ต่างกับจำนวนชาวบ้านที่ทำบังกาดไว้ล่อผึ้งหลวงซึ่งมีจำนวนค่อนข้างคงที่  เคยมีคนลองนำบังกาดไปตั้งที่อื่นแต่ไม่สำเร็จ หากใช้ฟีโรโมนล่อผึ้งหลวงแล้วได้ผลเหมือนสายพันธุ์อื่นก็คงจะง่ายกว่านี้

การทำบังกาดจึงเป็นวิถีชาวบ้านซึ่งต้องวัดดวงเดินทางยากลำบาก ต้องทำทิ้งไว้หลายจุด และหมั่นเข้าไปดูว่ามีผึ้งป่ามาทำรังแล้วหรือยัง มีข้อดีที่ปรกติต้องไปเก็บน้ำผึ้งบนต้นไม้สูง แต่ผึ้งหลวงล่อให้ลงมาอยู่ต่ำได้

“จะทำบังกาดได้ก็ต้องอยู่ในพื้นที่ติดป่าเสม็ดขาว”
มีผึ้งอยู่คนจึงได้ประโยชน์
หวนนึกถึงวัยเด็ก ผึ้งคือแมลงน่ากลัว เห็นเมื่อไรจะต้องรีบหนี เราถูกสอนให้รู้จักความอันตรายมากกว่าความสำคัญและประโยชน์ ทั้งที่ผลพลอยได้จากพฤติกรรมการหาอาหารมีส่วนช่วยรักษาสมดุลและสร้างระบบนิเวศที่แข็งแรงผ่านความหลากหลายของพืชพรรณนานาชนิด

ดร. ชวธัช ธนูสิงห์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายไว้ว่าในระบบนิเวศ ผึ้งคือผู้ทำให้พืชดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ด้วยการถ่ายละอองเรณูจากเกสรดอกไม้ให้พืชดอกบริเวณนั้นติดผล โดยผึ้งชนิดหนึ่งอาจเยี่ยมเยียนดอกไม้ได้หลายชนิดกลับกันในบางชนิดก็มีความจำเพาะ เช่น ผึ้งหึ่งชนิด Bombus gerstaeckeri ซึ่งพบได้ในทวีปยุโรป มีความจำเพาะต่อพืชดอกสกุล Aconitum อย่างดอกมองส์ฮูด ดอกไม้สีม่วงเข้มคล้ายอัญชัน มีพิษทำให้ร่างกายชา ท้องร่วง อาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนทำให้เสียชีวิตได้หากกินเข้าไป

ประชากรผึ้งยังบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยการดำรงชีวิตทางกายภาพ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น แหล่งที่อยู่ หรือปัจจัยทางชีวภาพ เช่น พืช อาหาร การแข่งขันหาอาหารกันเองระหว่างผึ้งชนิดต่าง ๆ หากบริเวณไหนมีอาหารเพียงพอและสภาพเหมาะสมต่อการดำรงอยู่ประชากรผึ้งก็จะเยอะขึ้นตาม

“อนุมานได้ว่าหากบริเวณไหนมีประชากรผึ้งเยอะแสดงว่ามีความอุดมสมบูรณ์”

จากข้อมูลของ ดร. บาจรีย์ ฉัตรทอง อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เคยเดินทางไปศึกษาผึ้งหลวงที่จังหวัดสงขลา และได้พูดคุยเกี่ยวกับการทำบังกาดกับคนในพื้นที่บอกว่า พืชอาหารของผึ้งในประเทศไทยส่วนใหญ่มักเป็นไปตามฤดูกาล ลักษณะเฉพาะตัวอย่างการย้ายถิ่นที่อยู่ของผึ้งหลวงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก  โดยปรกติผึ้งหลวงจะอาศัยอยู่ที่เดิม ๖๐-๙๐ วัน อาจสั้นกว่านั้นหากอาหารไม่เพียงพอ หรือนานกว่านั้นหากพืชอาหารอุดมสมบูรณ์

ดอกสีขาวเป็นช่อแทรกระหว่างใบบนกิ่งต้นเสม็ดขาวบานตลอดทั้งปี แต่จะบานเยอะที่สุดช่วงหน้าฝน เป็นดอกไม้ซึ่งให้น้ำหวานปริมาณมากและกินพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ จึงกลายเป็นแหล่งพืชอาหารเชิงปริมาณ

“ผึ้งหลวงก็เหมือนคน กินอาหารอย่างเดียวซ้ำกัน ๓ เดือนก็ขาดสารอาหาร”

พืชอาหารเชิงคุณภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน  อาจารย์บาจรีย์กล่าวว่า หากประชากรผึ้งในไทยลดลง “น่าจะเกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว”  เมื่อได้รับสารอาหารน้อยสุขภาพผึ้งก็เสื่อมถอย ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์  ความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงจึงกระทบต่อผึ้งหลวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากได้ชิมน้ำผึ้งหลวงในพื้นที่แล้วลองสังเกตรสชาติจะพบว่าน้ำผึ้งหลวงบางรังมีรสหวาน กลิ่นหอมอ่อน ๆ ถึงจะเป็นผลผลิตจากดอกเสม็ดขาวล้วน  ในขณะที่น้ำผึ้งบางรังมีรสชาติเข้มข้นติดความขมด้วย เป็นเพราะผึ้งหลวง มักเลือกกินอาหารที่ชอบสุดก่อนเสมอ  หากในบริเวณนั้นมีไม่เพียงพอถึงจะกินน้ำหวานจากดอกไม้ดอกหญ้าชนิดอื่น

เนื่องจากเป็นเขตป่าสงวนและป่าชุมชน ชาวบ้านโดยรอบอาศัยหาของป่ากินใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก ไม่ได้จับจองยึดเป็นพื้นที่ส่วนตนไว้ทำการเกษตร จึงไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายต่อผึ้งและระบบนิเวศ ปล่อยให้ธรรมชาติคงอยู่และฟื้นฟูด้วยตัวเอง ความหลากหลายทางชีวภาพจึงปรากฏ
Image
ผึ้งที่เพิ่งโดนรมควันจำนวนมากจะบินอยู่ทั่วบริเวณเพื่อหาบังกาดใหม่และทำรังขึ้นมาอีกครั้ง
อาจารย์พูดต่อว่า “ในบังกาดนอกจากผึ้งหลวง ไม่มีผึ้งอื่นมาปน”  ผึ้งหลวงคือผึ้งชนิดเดียวจากผึ้งให้น้ำหวานห้าสายพันธุ์ในไทยที่สร้างรังบริเวณพื้นที่เปิดโล่ง มีลักษณะรังแบบเดี่ยว  อย่างผึ้งโพรงจะอาศัยอยู่ในช่องตามโพรงไม้หรือกล่องไม้ ส่วนผึ้งมิ้มและผึ้งม้าม เนื่องจากมีขนาดตัวเล็กจึงมักอาศัยในพุ่มไม้เตี้ยหรือกอไผ่ทึบเพื่อป้องกันตัวเอง สุดท้ายคือผึ้งพันธุ์ซึ่งไม่ใช่ผึ้งประจำถิ่นภูมิภาคเอเชียมักอาศัยในกล่องเลี้ยงสีขาว นำเข้ามาเพื่อเลี้ยงในอุตสาหกรรมผลิตน้ำผึ้งโดยเฉพาะ

เมื่อได้ที่อยู่ถูกใจเจ้าแมลงเก็บน้ำหวานตัวสีเหลืองต่างแยกย้ายกันทำตามหน้าที่ในระบบแมลงสังคมนางพญาผึ้งหลวงวางไข่วันละ ๑,๕๐๐-๑,๗๐๐ ฟองไปตลอดชั่วอายุขัยหลังการผสมพันธุ์เพียงหนึ่งครั้ง  ผึ้งตัวผู้จะตกลงมาตายบนพื้นหลังจากผสมพันธุ์กลางอากาศกับนางพญา  ส่วนผึ้งงานจะบินไปไกลเป็น ๑๐ กิโลเมตรเพื่อหาอาหาร เก็บน้ำหวานใส่พุงน้อย ๆ แล้วบินกลับรัง

การเก็บน้ำหวานไว้ในกระเพาะของผึ้งนี่เองทำให้คุณค่าทางโภชนาการน้ำผึ้งสูงกว่าน้ำหวานทั่วไป เพราะระหว่างบินกลับรังจะปล่อยเอนไซม์ออกมาย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ให้กลายเป็นโมเลกุลเดี่ยว  ร่างกายของคนจะดูดซึมโมเลกุลเล็กไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากน้ำตาลทั่วไปอย่างน้ำตาลทรายจากอ้อย

น้ำผึ้งสีเหลืองทองหนืด ๆ ส่งต่อความหวานหอมไปยังคนกินพร้อมสรรพคุณทางยา อย่างมานูกาฮันนี (manuka honey) น้ำผึ้งที่มีประโยชน์ที่สุดในโลก ผลผลิตจากดอกของต้นมานูกาซึ่งมีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ใช้รักษาโรคผิวหนังต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ดีกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าเป็นอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นยา

หากพูดถึงน้ำผึ้งเลื่องชื่อในประเทศไทยคงหนีไม่พ้นน้ำผึ้งจากเกสรดอกลำไย จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานว่ามีคุณภาพดีที่สุด ช่วยเรื่องความจำ การนอนหลับ และยังช่วยบำรุงเลือดกับสมอง

น้ำผึ้งหลวงจากต้นเสม็ดขาวมีฤทธิ์ร้อนและสรรพคุณทางยาช่วยแก้อักเสบ นำไปชงดื่มช่วยขับลมขับเหงื่อ โดยเฉพาะใบเสม็ดขาวเมื่อนำไปสกัดจะได้ “น้ำมันเขียว” ใช้ทาแก้ปวดเมื่อย เป็นสมุนไพรยอดนิยมในท้องถิ่น

ไม่ใช่แค่น้ำผึ้งที่สร้างรายได้ในอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้ง ยังมีนมผึ้งเนื้อข้นสีขาวขุ่น อาหารของนางพญาผึ้งอัดแน่นไปด้วยสารอาหารอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโนและอื่น ๆ  หลายคนนิยมกินเป็นอาหารเสริม

ตัวอ่อนของผึ้งคนก็นำไปปรุงรส ห่อใบตองแล้วย่างจนสุก เรียกว่า “แอ๊บผึ้ง” เป็นเมนูท้องถิ่นภาคเหนือ แต่ในภาคใต้ไม่นิยมรับประทาน เวลาตัดรังผึ้งมักจะเหลือส่วนตัวอ่อนไว้ ทำให้คงประชากรผึ้งในพื้นที่ได้ยาวนานขึ้น

แม้ยังขาดข้อมูลการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับจำนวนประชากรผึ้งในไทย แต่จากข่าวการล้มตายของผึ้งปีละหลายล้านตัวในโลก แม้ผึ้งจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมนุษย์ ก็สร้างความกังวลเป็นวงกว้างให้แก่นักวิชาการและนักอนุรักษ์

เพราะการล่มสลายของแมลงหมายถึงการสูญเสียความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์  ผลกระทบจะส่งต่อเป็นทอดจากพืชสู่สัตว์ จากสัตว์สู่คน ไปยังโลกใบนี้ในที่สุด

อย่างไรก็ตามหากประชากรผึ้งบางชนิดมีมากเกินไปก็ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติได้เช่นกัน  ในมุมมองของ ดร. ชวธัช หากผึ้งเลี้ยงในอุตสาหกรรมผลิตน้ำผึ้งมีจำนวนมากกว่าผึ้งท้องถิ่น ถึงจุดหนึ่งก็อาจไปแย่งอาหารจากแมลงผสมเกสรชนิดอื่น เช่น ผึ้งที่ดำรงชีวิตแบบเดี่ยว ต่อ แตน หรือผีเสื้อ ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล

Earthwatch Institute องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติจึงประกาศให้ผึ้งเป็นแมลงนักผสมเกสรที่สำคัญที่สุดของโลกตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของผึ้ง หลังพบว่าประชากรผึ้งทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง
Image
น้ำผึ้งจะบรรจุใส่ขวดและนำไปขายสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ส่วนตัวอ่อนนำไปทำอาหารหลากหลาย
ชาวบ้าน ป่า 
ภูมิปัญญา และผึ้งหลวง

ไม่ถึง ๑ ชั่วโมงหลังจากเริ่มภารกิจ คนกลุ่มเดิมเดินเรียงแถวตอนออกจากป่าพร้อมเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี  หลานชายธันวาทั้งสองคนขึ้นรถเครื่อง คนหนึ่งขับ คนหนึ่งซ้อนแล้วบิดคันเร่งออกไปพร้อมของป่าในมือ เหลือเพียงหัวหน้ากลุ่มของเราที่หันมาพูดคุย

“บางทีผึ้งหลวงก็มาลงที่บังกาดเยอะถึง ๑๙ รัง แต่เราได้แค่ ๒ รัง ที่เหลือเพื่อนเอา”

การจัดสรรปันส่วนว่าใครควรได้น้ำผึ้งเท่าไรขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นทำบังกาดมากน้อยแค่ไหน หรือผึ้งหลวงมาเกาะบังกาดของใคร  แม้แต่บังกาดที่ตกเป็นเป้าหมายในวันนี้ แท้จริงแล้วเจ้าของคือหนึ่งในหลานชาย คนอื่นจะเก็บไม่ได้ต้องให้เจ้าของมาจัดการ

คำพูดนี้ทำให้นึกถึงกลุ่มนักตีผึ้งที่เจอตอนนั่งเล่นบนขนำ หนึ่งในนั้นเป็นชายร่างท้วมผิวเข้ม ธันวาเรียกเขาว่า “ตุ้ม” ทำอาชีพประมงและขายน้ำผึ้งเป็นอาชีพเสริมเหมือนคนอื่น ๆ  เขาเล่าให้ฟังว่าบังกาดนั้นแม้ไม่ได้เขียนชื่อติดไว้ แต่คนทำจะจำได้ว่าไปทำทิ้งไว้จุดไหนบ้าง ชาวบ้านแอบมาขโมยบ้างเป็นบางครั้ง  ในอดีตบางคนได้รับการตักเตือนให้หยุดขโมยแต่ไม่เป็นผลจนนำไปสู่เรื่องน่าสลด อย่างกรณีพ่อของเพื่อนเขาคนหนึ่งถูกฟันเสียชีวิตหน้าบังกาด  แม้เรื่องราวจะผ่านมานานกว่า ๓๐ ปี แต่เหตุการณ์ยังคงฝังลึกในความทรงจำ

“ลักผึ้งมันก็ไม่ดี มันเป็นของคนธรรพ์ ของผีให้”

ดูเหมือนเรื่องเล่าจากชายร่างท้วมจะยังไม่จบ เจ้าป่าเจ้าเขา รุกขเทวดา หรือนางไม้เป็นผู้พิทักษ์พงไพร ซึ่งแม้พิสูจน์ไม่ได้ แต่ความเชื่อที่ส่งต่อกันมาก็สร้างความกริ่งเกรงให้คนทั่วไปเมื่อจะกระทำบางอย่าง คล้ายกุศโล-บายคอยยั้งไม่ให้ทำสิ่งไม่ดี 

“อย่างต้นยวนใหญ่ ๆ ที่ผึ้งมาทำรังนั่น คนไม่เข้าใจปีนขึ้นไปจะตัดน้ำผึ้งก็เห็นเงาคนนับสิบนั่งอยู่เต็มไปหมด อุปกรณ์ก็ตกลงมา”

ตุ้มเล่าประสบการณ์ชวนขนหัวลุกของคนอื่น พลางชี้ไปยังต้นไม้สูงฝั่งตรงข้ามขนำ

การเก็บน้ำผึ้งหลวงแต่ละครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยากและไม่แน่นอน เมื่อถามว่าทำไมไม่เปลี่ยนไปเลี้ยงผึ้งสายพันธุ์อื่นที่กำลังได้รับความนิยม คำตอบที่ได้คือ “มันจับไม่หรอย” เสียงหัวเราะดังขึ้นมาจากรอบทิศ โดยไม่มีใครโต้แย้งคล้ายเห็นด้วยกันหมด กลายเป็นว่าความยากคือเสน่ห์ของการตีรังผึ้งหลวง แม้คนพูดจะเคยโดนผึ้งต่อยมาแล้วก็ตาม

การเลี้ยงผึ้งสายพันธุ์อื่นให้เป็นกิจจะลักษณะต้องใช้เงินทุนและเวลาศึกษา อาจเหมาะกับคนที่ต้องการรายได้มั่นคงหรือผลผลิตแน่นอน  แต่ภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ความรู้สืบทอดกันมาและแรงงานคนเป็นหลัก จะได้ผลผลิตมากน้อยอย่างไรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ

การอยู่ร่วมกันระหว่างคนในหมู่บ้านปากจ่ากับป่าเสม็ดขาวแห่งนี้ดำเนินมาตั้งแต่สมัยยังเป็นป่าพรุดั้งเดิม ซึ่งเป็นป่าดงดิบที่มีความเฉพาะตัว มีซากพืชและอินทรียวัตถุทับถมกันหนาเป็นเมตร เมื่อเสื่อมโทรมจึงกลายสภาพ มีต้นเสม็ดขาวขึ้นมาทดแทน  ในปัจจุบันยังพอเหลือป่าพรุดั้งเดิมให้ดูอยู่บ้าง คือพรุโต๊ะแดงและป่าพรุบาเจาะ ในจังหวัดนราธิวาส

ก่อนกรมป่าไม้เข้ามาวัดแนวเขต คนที่มีโฉนดอยู่แต่เดิมก็ถางป่าปลูกต้นปาล์ม แต่ก็มีไม่น้อยเป็นที่ดินจับจอง  พ่อแม่ของหลายคนบนขนำก็เคยทำไร่นาอยู่แถวนี้  มีเสียงพึมพำแว่วให้ได้ยินอยู่บ้างว่ากรมป่าไม้น่าจะกั้นแนวเขตส่วนที่มีการใช้ให้เป็นของคน แต่สุดท้ายที่ดินทำกินก็ถูกเวนคืนตามกฎหมายและกำหนดให้ป่าทุ่งบางนกออกเป็นป่าสงวนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๘
Image
ชาวบ้านจะแยกตัวเเม่ที่ติดมากับรังออกเพื่อไม่ให้ผึ้งตายถือเป็นการอนุรักษ์ผึ้งหลวง
“น้ำผึ้งหลวงจากต้นเสม็ดขาวมีฤทธิ์ร้อนและสรรพคุณทางยา ช่วยแก้อักเสบ นำไปชงดื่มช่วยขับลมขับเหงื่อ
โดยเฉพาะใบเสม็ดขาวเมื่อนำไปสกัดจะได้ ‘น้ำมันเขียว’ ใช้ทาแก้ปวดเมื่อย” ”

การเข้ามาจัดการป่าไม้ของรัฐทำให้ชาวบ้านรู้สึกถูกกีดกันการใช้ประโยชน์  วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ระบุไว้ว่า ภาครัฐส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมถึงออกโฉนดรับรองสิทธิ์การครอบครองที่ดินให้ แต่ออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก รับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน มีเพียงสิทธิ์ครอบครองแต่ไม่มีกรรมสิทธิ์และจัดทำแผนที่จากภาพระวางรูปถ่ายทางอากาศให้พื้นที่นาข้าวติดกับเขตป่าถาวร ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่คนในชุมชน ทำให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าน้อยลง แต่ป่ากลับถูกทำลายมากขึ้นจากนายทุนนอกชุมชนเข้ามาบุกรุก โดยชาวบ้านเริ่มเพิกเฉยต่อการกระทำเหล่านั้น เนื่องจากมองว่าป่าแห่งนี้ไม่ใช่สมบัติชุมชนอีกต่อไป

ปัจจุบันชาวบ้านใช้ประโยชน์และได้สิทธิ์ดูแลป่าพรุเสม็ดขาวร่วมกัน หลังจากเปลี่ยนรูปแบบจากป่าสงวนเป็นป่าชุมชน ซึ่งจดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๐

น่าเสียดายก็เพียงแต่ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีพื้นที่ป่าจริง ๆ ลดลงเหลือเพียง ๓,๐๐๐ กว่าไร่จาก ๖,๒๕๐ ไร่ ซึ่งเป็นตัวเลขในเอกสารทางการ หลังจากเผชิญปัญหาการบุกรุกเปลี่ยนผืนป่าเป็นสวนปาล์มน้ำมันและปัญหาไฟไหม้ป่าจากชาวบ้านที่ไม่เห็นความสำคัญในการดูแลรักษา

ตรงข้ามกับความคิดเห็นของตุ้ม “ชาวบ้านไม่ได้บุกรุกป่า ป่านั่นแหละที่บุกรุกที่ดินชาวบ้านทีละนิด ๆ” เพราะต้นเสม็ดขาวเติบโตได้ดีในป่าพรุผืนนี้ อาณาเขตจึงขยายใหญ่ขึ้นจนล้นเข้าไปในสวนรอบ ๆ ขณะที่ชาวบ้านแถวนี้ใช้ประโยชน์จากต้นเสม็ดขาวในปริมาณเพียงพอสำหรับครัวเรือน ตัดไม้ไปทำบังกาด ทำยอจับสัตว์น้ำ ตัดทำฟืนและประกอบอาหาร

ต้นเสม็ดขาวนำไปใช้ได้หลายส่วน อย่างยอดใบเสม็ดขาวนำไปทำน้ำมันหอมระเหยได้ บ้างก็ว่ากลิ่นเหมือนการบูร แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกว่าคล้ายน้ำมันทีทรี (tea tree oil) ใช้แต้มสิว  เมื่อค้นคว้าข้อมูลก็พบความเกี่ยวข้องกันว่าน้ำมันทีทรีได้จากเสม็ดอีกชนิดหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย ชื่อว่า Melaleuca alternifolia  ส่วนน้ำมันเขียว (cajuput oil) ได้จาก Melaleuca cajuputi ซึ่งก็คือเสม็ดขาวชนิดเดียวกันกับในเมืองไทย

ต้นที่รูปทรงดีหากขุดล้อมไปขายจะได้ราคาดี ยิ่งต้นเสม็ดแดงที่มีรูปทรงโค้งงอสวยมาก ราคาอาจเหยียบหลักแสนเลยทีเดียว

“แถวนี้ไม่ได้ตัดไม้ขาย ที่เห็นวางขายกันข้างทางส่วนใหญ่มาจากป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะว่าต้นมันสูง” คำพูดของนิพันธ์ดังขึ้นในหัวเป็นประโยคสุดท้าย ก่อนที่จะหลุดจากภวังค์เพราะเสียงของธันวาเรียกสติ
การเลี้ยงผึ้งหลวงในบังกาดเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านตำบลควนโสที่ไม่เหมือนใคร อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ผึ้งหลวงและผืนป่า หากมีการจัดการอย่างคำนึงถึงสมดุลของระบบนิเวศ
เราชวนกันออกจากพื้นที่ แต่มาได้ไม่ไกลรถเครื่องนำขบวนก็ช้าลงจนหยุดนิ่ง  เขาเดินไปหยุดอยู่หน้าต้นไม้ต้นหนึ่งแล้วชี้ให้ดูว่ามีผึ้งหลวงมาทำรังอยู่นอกบังกาด ขนาดรังเล็กกว่าที่เคยเห็นมาก วันใดรังใหญ่ได้ที่คนก็จะปีนขึ้นไปตี

ธันวากล่าวว่าจะทำอาชีพเสริมนี้ไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหวภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาก็ส่งต่อให้ลูกหลาน

“เราพยายามไม่ให้ผึ้งตายสักตัว ไม่ทำลายป่า ให้ดอกเสม็ดขาวบานผึ้งก็จะวนกลับมาที่เดิมทุก ๆ ปี”

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์ผึ้งหลวงควนโสมีสมาชิก ๔๗ คน ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๕๕ โดย ศานิต รัฐกาญจน์ หรือคนในกลุ่มเรียกกันว่า “นายศานิต” เป็นประธาน ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้แก่เพื่อนสมาชิกเรื่องการเก็บผลผลิตน้ำผึ้งให้สะอาดถูกสุขอนามัย และการบรรจุน้ำผึ้งลงขวดเพื่อนำไปขาย

เนื่องจากความต้องการบริโภคน้ำผึ้งหลวงจากเกสรดอกเสม็ดขาวมีสูง แต่ไม่อาจผลิตให้ทันกับความต้องการ ลูกค้าที่รู้จักกันจึงมักมารับซื้อถึงบ้าน หรือไม่ก็โทรศัพท์มาสั่งจองไว้เมื่อถึงเวลาก็จะมารับไป  อีกทั้งวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ยังเคยส่งตัวอย่างน้ำผึ้งหลวงไปตรวจสอบผ่านสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กลุ่มส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจ  ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยขอนแก่นแสดงให้เห็นว่าน้ำผึ้งมีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สร้างความมั่นใจให้ลูกค้าได้ระดับหนึ่ง

แต่สิ่งที่ “ไม่พอดี” ย่อมส่งผลเสีย การทำบังกาดล่อผึ้งหลวงเพื่อเก็บน้ำผึ้งของชาวควนโสก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย  ตามความคิดเห็นของ ดร. ชวธัช การเก็บน้ำผึ้งหลวงในปริมาณที่พอเหมาะให้รังผึ้งยังอยู่ได้และไม่เก็บตัวอ่อนจะช่วยคงระบบนิเวศไว้ แต่หากเกิดการถางป่าเพื่อนำพื้นที่มาทำบังกาดมากขึ้น หรือปลูกแต่ต้นเสม็ดขาวผึ้งชนิดอื่นที่ไม่ชอบก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้เช่นกัน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศอาจส่งผลร้ายในอนาคต

ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์และประสบความสำเร็จในพื้นที่ป่าพรุเสม็ดขาวของภาคใต้ ทำให้กลุ่มชาวบ้านต้องการจดลิขสิทธิ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น  แต่ช่วง ๒ ปีมานี้หลังจากศานิตเลิกทำบังกาดเนื่องจากปัญหาสุขภาพ การพัฒนาความรู้และการผลักดันต่าง ๆ จึงหยุดชะงักไปโดยไม่มีหน่วยงานใดให้ความสนใจ

ชวนให้คิดว่าการทำบังกาดจะยังเป็นอาชีพมั่นคงและภูมิปัญญาล้ำค่าสืบต่อไปหรือไม่
ภาครัฐควรเข้ามาส่งเสริมอย่างไรเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้กับชาวบ้าน ป่า และผึ้งหลวง

และสมดุลของการพึ่งพากันและกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาตินั้นอยู่ที่ไหน  

Image