จู-สุรศักดิ์ เย็นทั่ว เจ้าของ “บ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ” นักกิจกรรมที่ผันตัวมาสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่บ้านเกิด
ป่าบ้านเกิด
ชายชื่อจู
และผองเพื่อนนักอนุรักษ์
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : เนตรนภา ก๋าซ้อน
ภาพ : กัปตัน จิรธรรมานุวัตร
เรื่องราวชีวิตจริงที่นำแสดงโดย สุรศักดิ์ เย็นทั่ว หรือ “จู ร้อยหวัน” ชายหนวดเฟิ้มวัยใกล้เกษียณ จัดฉายผ่านผืนป่าในเทือกเขาบรรทัด ผ่านสายตาของ “ฉัน” ผู้เข้าไปสัมผัสและลิ้มรสความกลมกล่อมของละครชีวิตเรื่องนี้
ม่านบนเวทีการแสดงเปิดขึ้นด้วยการคัดค้านสัมปทานป่าของบรรพบุรุษ ในยุคที่การต่อสู้ด้วยความปรานีไม่สามารถเอาชนะได้ กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์ไล่ยิงกลางป่าระหว่างเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน
ทั้งจูและลูกหลานบ้านบางเหรียง ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง รับรู้ประวัติศาสตร์บทนี้ผ่านผู้ใหญ่ในครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก
ระหว่างทางไปแลงามน้ำตกพบพืชพรรณหลากหลาย รวมถึงพืชที่พบได้เฉพาะบริเวณป่าต้นน้ำ
จู กิ๊ก และชาวบ้าน เดินทางด้วยแพเพื่อสำรวจเส้นทางการเดินทางไปยังแลงามน้ำตก
โรงเรียนธรรมชาติ
“ถ้าให้พวกมึงตัดโค่นต้นไม้ตรงนี้ แล้วลูกหลานเราจะอยู่อย่างไรกับสายน้ำที่มันแห้งในอนาคต”
ถ้อยคำที่คุณตากล่าวด้วยความห่วงใยธรรมชาติและลูกหลาน จูจำใส่หัวใจไว้ตลอด ทั้งยังนำมาบอกต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลานอีกทอดหนึ่งในช่วงเวลาที่เขาเปิด “โรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่า” บนพื้นที่บ้านเกิด ที่เขาศรัทธาและอยากดูแลให้คงคุณค่าสืบไป
ปี ๒๕๔๙ โรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่ามีจุดประสงค์เพื่อสร้างกิจกรรมการศึกษานอกห้องเรียนให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ สัตว์ป่า แหล่งน้ำ โดยการเรียนการสอนจะเกิดในพื้นที่จริง ซึ่งเป็นป่าใกล้ ๆ หมู่บ้านช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ มีครูใหญ่เป็นต้นไม้นานาพันธุ์ เหล่าสัตว์ป่า และสายน้ำธรรมชาติ จูบอกเล่าประวัติศาสตร์โดยสอดแทรกให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับ เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มีทั้งเด็กในพื้นที่บ้านบางเหรียงและนอกพื้นที่อย่างนครศรีธรรมราชและตรัง
“เอาตรง ๆ เบื่อที่ต้องมานั่งทำรายงาน แต่งคำหรู ๆ ใส่รีพอร์ต”
โรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่าปฏิเสธการขอรับทุนจากภาครัฐ จูบอกว่าการเขียนรายงานโครงการส่งหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเรื่องยาก เพราะบางเรื่องไม่สามารถเป็นไปตามแผนได้ จูทำงานกับชาวบ้านเป็นหลัก มีวาระและบริบทซับซ้อน ไม่เหมือนกับองค์กรรัฐหรือเอกชนที่มีผู้ปกครองหรือคำบัญชาการ จูจึงเลือกใช้เงินทุนของตัวเองทั้งหมดเพื่อโรงเรียนแห่งนี้
“เอารถไปรับเด็กเอง นักเรียนบางคนบ้านอยู่ไกล ๑๐-๒๐ กิโล พ่อแม่มาส่งไม่ได้เพราะติดงาน เรารับส่งอยู่แบบนั้นหลายปี รถต้องส่งซ่อมขั้นต่ำปีละ ๒ ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย ๒ หมื่นบาท เพราะช่วงล่างพังจากถนนที่เป็นลุ่มเป็นดอน แต่มีความสุขครับ ตอนนั้นมีความสุขมาก”
จูเล่าเหตุการณ์ประทับใจจากการเปิดโรงเรียนธรรมชาติ แต่เงินทุนที่ค่อย ๆ หมดไปทำให้โรงเรียนต้องปิดตัวในปี ๒๕๖๐ แต่กลับเกิดสถานที่ใหม่ภายใต้พื้นที่เดิม นั่นคือ “บ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ” สถานที่พักผ่อนที่เน้นความเรียบง่าย เน้นการใช้ชีวิตเหมือนอยู่บ้านญาติ และยังเป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีแนวคิดด้านธรรมชาติเช่นเดียวกับจู
“จูคิดว่าการเลือกสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่นี่จะช่วยสร้างรายได้ให้คนต้นน้ำที่รักษาป่าไว้ เพื่อให้น้ำสะอาดยังส่งไปถึงคนกลางน้ำและปลายน้ำ”
ทิวทัศน์ของป่ายางที่น้ำยางหมดแล้วและพื้นที่สวนดั้งเดิมที่จูเข้ามาช่วยเหลือ บ่งบอกว่ากลุ่มชาวบ้านเดิมนั้นไม่ได้ตัดไม้ทำลายป่า
จู นงลักษณ์ และร้อยหวัน ครอบครัวเจ้าของบ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ
บ้านต้นไม้ร้อยหวันฯ
“โจทย์ของเราคือไม่ทำการท่องเที่ยวเชิงกระแสเด็ดขาด เราคัดคนที่จะมา อันนี้ต้องขออภัยด้วยจริง ๆ ถ้ามาแล้วแค่เปลี่ยนที่กินเหล้า ร้องเพลงเสียงดัง ที่นี่จะไม่รับเด็ดขาด”
จูบอกถึงข้อตกลงพิเศษระหว่างเขาและผู้สนใจมาพัก ณ บ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ ทั้ง ๆ ที่นี่คือธุรกิจแรกหลังจากที่โรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่าปิดตัวลงไปเพราะเรื่องเงินทุน แต่เขาก็ไม่สามารถทำธุรกิจตามกระแสหลักได้ แม้รู้ดีว่ารูปแบบนั้นสร้างเงินได้มากกว่าการนั่งรอคอยคนที่เข้าใจธรรมชาติเช่นเดียวกับเขา
จูตัดสินใจสร้างบริบทพื้นที่บ้านต้นไม้ร้อยหวันฯ ด้วยการอนุรักษ์ผืนป่าของบรรพบุรุษ ไม่ให้ถูกการทำมาหากินกลืนไป
การดูแลอนุรักษ์บ้านต้นไม้ร้อยหวันฯ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำของบางเหรียง ตำบลเกาะเต่า เขตเทือกเขาบรรทัดเป็นเหมือนโมเดลของสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิถีการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาเรียนรู้สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต คือ พืช สัตว์ และมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
การเข้าถึงธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยวขยายสู่พื้นที่อื่นได้อีกมากมาย จูมองเห็นว่าคนบ้านน้ำกลาง ตำบลน้ำตก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ที่เขาเคยร่วมทำงานอนุรักษ์และเรียกร้องปัญหาสิทธิทำกินร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เมื่อ ๑๘ ปีก่อน มีจิตใจนักอนุรักษ์ผืนป่าบ้านเกิดเช่นกัน จูจึงตัดสินใจนำแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเข้าไปสู่บ้านน้ำกลาง ที่อยู่ห่างจากบ้านต้นไม้ร้อยหวันฯ ออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว ๔๐-๕๐ กิโลเมตร
ลำธารข้างบ้านต้นไม้ร้อยหวันฯ ที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำในเขตเทือกเขาบรรทัด ตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เป็นจุดเริ่มต้นสร้างพื้นที่การเรียนรู้แหล่งอื่น ๆ ต่อไป
ความสงบในบ้านต้นไม้ร้อยหวันฯ ทำให้ผู้เข้ามาใช้บริการสัมผัสถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง
นงลักษณ์ประกอบอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่ได้มาจากป่ารอบบ้าน ใช้เตาดินซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แสดงถึงความไม่พึ่งพาเทคโนโลยีและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
น้ำตก : ตำบลงามประวัติ
ฉันกำลังเดินทางร่วมกับจูไปยังสถานที่หนึ่งที่เขาตั้งใจผลักดันการท่องเที่ยวเชิงนิเวศไปสู่ เรามุ่งไปตามป้ายบอกทางที่เขียนว่า “ตำบลน้ำตก”
ฉันสนทนากับจูถึงที่มาของชื่อตำบลด้วยความสงสัย ว่าพื้นที่แห่งนี้ต้องมีน้ำตกมากแห่งแค่ไหนกัน ถึงนำมาใช้แทนเป็นชื่อตำบลที่มีหมู่บ้านตั้งอยู่หกหมู่บ้านได้คำตอบคือบริเวณนี้มีน้ำตกเยอะมาก เพราะที่นี่คือป่าต้นน้ำสำคัญที่ยังอุดมสมบูรณ์มาก สังเกตได้จากริมถนนสองข้างทางมีต้นไม้สูงใหญ่ที่ชาวบ้านในพื้นที่รักษาไว้ จึงทำให้ต้นน้ำสมบูรณ์ดีและมีสายน้ำบริสุทธิ์
เราเดินทางด้วยรถยนต์คู่ใจของจูที่ใช้บรรทุกทุกอย่าง รวมทั้งนักเรียนในโรงเรียนร้อยหวันพันธุ์ป่าเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เมื่อพ้นย่านชุมชน สองข้างทางเรียงรายด้วยต้นไม้สูง ได้ยินเสียงลำธารสลับกับเสียงจักจั่นป่า นี่คือเสียงโปรดของจู sound of nature ที่มาจากธรรมชาติจริง ๆ ไม่ใช่การเปิดฟังจากสตรีมมิงใด ๆ
การเดินทางจบลงที่พื้นที่ใกล้ต้นน้ำในฝายบ้านน้ำกลาง ตำบลน้ำตก พื้นที่ต้นแบบแห่งที่ ๒ ตามความตั้งใจของจู ซึ่งมีชื่อเรียกสถานที่ว่า “แลงามน้ำตก”
“ความฝันวัยเด็กของผมคือการเห็นบ้านเกิดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ” มนัส สมาชิกบ้านน้ำกลาง ตำบลน้ำตก หนึ่งในแกนนำหลักที่ร่วมสร้างแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติร่วมกับจูเล่าให้ฟัง ฉันเห็นแววตาภูมิใจของเขาที่มีต่อที่แห่งนี้ มนัสอยากให้คนมาเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิตร่วมกับป่าอย่างที่เขาใช้ชีวิตมาแต่เกิด
ระหว่างการเดินทางไปแลงามน้ำตก จูกล่าวว่า “ชาวบ้านต่างก็มาใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำนี้กันทั้งนั้น ที่สำคัญน้ำจากร้อยหวันฯ และน้ำจากแลงามน้ำตกก็ไหลมารวมที่นี่” แสดงให้เห็นว่าป่าต้นน้ำสำคัญต่อการดำรงชีวิต
มนัสพาเราไปชมสวนทุเรียน ๑๐๐ ปี มีต้นหนึ่งปลูกโดยคนรุ่นทวด สวนนี้ยังมีผลไม้หลากชนิด ไม่ว่าจะเป็นลางสาดรสเปรี้ยวอมหวาน มังคุดเปลือกม่วงอมดำ เงาะป่ารสหวาน และทุเรียนบ้านป่ารสชาติไม่หวานเท่าทุเรียนปลูก แต่ฉันกลับชอบความธรรมดาที่แสนพิเศษนี้ เพราะ “ผลไม้ที่นี่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสารเคมี” มนัสรับประกัน
เราได้ชมบริบทพื้นที่ตำบลน้ำตกพร้อมกับจูและแกนนำชาวบ้านที่นี่หลายคน พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่าแห่งนี้สมบูรณ์และสวยงาม การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำจากคนในตำบลน้ำตกเป็นการอนุรักษ์น้ำให้แก่ผู้คนในตำบลข้างเคียงด้วย จูคิดว่าการเลือกสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่นี่จะช่วยสร้างรายได้ให้คนต้นน้ำที่รักษาป่าไว้ เพื่อให้น้ำสะอาดยังส่งไปถึงคนกลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งถือเป็นการขอบคุณคนตำบลน้ำตกได้ทางหนึ่ง
นอกเหนือจากต้นไม้ที่สมบูรณ์ สัตว์อย่าง “กวางป่า” ก็ยังคงสมบูรณ์ไม่แพ้กัน
คำโบราณของบรรพบุรุษในเขตพื้นที่นี้ที่ว่า “หากใครล่ากวางจะต้องมีอันเป็นไป” ทำให้ผืนป่านี้มีกวางป่ามากจนเหนือความคาดหมายของคนนอกพื้นที่ จากการติดตามของอบต. น้ำตก และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อมูลจากจู บอกได้ว่าตำบลน้ำตกมีกวางป่าอาศัยอยู่กว่า ๒๐๐ ตัว นอกจากการติดกล้องวงจรปิดแล้ว แทบทุกคนในหมู่บ้านจะแยกรอยกีบเท้ากวางแต่ละรอยออกว่ากวางมีอายุเท่าไร ตัวใหญ่แค่ไหน
กวางป่ามีอยู่มากทำให้ทากมีมากตามไปด้วย เพราะทากหวังจะดูดเลือดเจ้ากวางป่าทั้งหลาย ในอีกทางทากตัวน้อยใหญ่ทั้งหลายคือดัชนีวัดความสมบูรณ์ทางธรรมชาติชั้นดี
“เมื่อก่อนคนนอกก็คิดว่าคนป่า คนชนบทเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า ถ้าเราทำลายป่าจริง ๆ ก็ไม่เหลือ อยากให้เขามาสัมผัสว่าที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เพื่อเราคนเดียว แต่เพื่อคนหลาย ๆ คน”
พื้นที่ป่าต้นน้ำแห่งนี้เป็นสวนผลไม้ของชาวบ้านมายาวนาน ก่อนหลักแบ่งเขตอุทยานแห่งชาติ เข้ามาครอบทับพื้นที่
จูตรวจความเรียบร้อยของแพไม้ไผ่ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างไว้รองรับผู้มาเรียนรู้ธรรมชาติ ณ แลงามน้ำตก
แพไม้ไผ่เป็นสิ่งที่ชาวบ้านรอบแลงามน้ำตกร่วมกันสร้าง เพื่อเป็นพาหนะของผู้ที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ผู้บุกรุก
หรือผู้อยู่มาก่อน
แม้ว่าพื้นที่ตำบลน้ำตกจะได้รับการดูแลอย่างดีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่คนในพื้นที่กลับถูกกล่าวหาเป็นผู้บุกรุก หลังจากอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่าได้รับการจัดตั้งเมื่อปี ๒๕๒๕ ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช
“ต้นไม้คือเครื่องพิสูจน์ว่าบรรพบุรุษเราอยู่มาก่อนที่เขาจะเข้ามาครอบครอง” คล้อย-บุญเลิศ ชุมทองชาวบ้านหมู่ที่ ๖ ตำบลน้ำตก หนึ่งในแกนนำเรียกร้องปัญหาที่ทำกินของชาวบ้านเมื่อ ๑๘ ปีที่แล้วบอกเล่า
สิทธิในที่ดินทำกินเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาการเข้ามาครอบทับที่ดินของชาวบ้านที่ตั้งรกรากมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ ที่สาธารณประโยชน์ ฯลฯ หลังประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านน้ำตกยังคงมีฐานะเป็นผู้กระทําผิดกฎหมายและมีความเสี่ยงถูกดําเนินคดีจากรัฐอยู่ทุกเมื่อ
คล้อยบอกกับเราว่าป่าในตำบลน้ำตกเป็นเครื่องพิสูจน์ชั้นดีว่าคนที่นี่อยู่มาก่อนการครอบทับพื้นที่โดยอุทยานแห่งชาติ
“เมื่อก่อนคนนอกก็คิดว่าคนป่า คนชนบทเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า ถ้าเราทำลายป่าจริง ๆ ก็ไม่เหลือ อยากให้เขามาสัมผัสว่าที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่เพื่อเราคนเดียว แต่เพื่อคนหลาย ๆ คน”
คล้อยแย้งสิ่งที่เขาและบรรพบุรุษถูกกล่าวหา ก่อนเสริมว่าป่าที่นี่มีต้นลางสาด ๑๐๐ ปี ต้นมังคุด ๑๐๐ ปี ขนาดของต้นทุเรียนสามคนโอบ บอกได้ด้วยตาเปล่าว่านี่คือต้นทุเรียนยักษ์อายุกว่า ๑๐๐ ปีแน่นอน นี่คือสิ่งที่บรรพบุรุษของพวกเขาสร้างไว้
จูเล่าเสริมอีกว่า ปู่ทวดตาทวดที่น้ำตกมองการณ์ไกล หากลูกหลานเกิดหิวระหว่างทางเดินไปโรงเรียน ผลไม้ป่าที่พวกเขาปลูกทิ้งไว้จะเป็นอาหารคลายหิวให้ได้
แม้ว่าภายหลังจะมีข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้กับชาวบ้านแล้วว่า ชาวบ้านเก็บผลไม้ในพื้นที่ของตนเองไปขายได้ แม้สิทธิที่ดินจะถูกครอบอยู่ในเขตอุทยานฯ แต่หากสวนของใครมีต้นยางจะไม่สามารถโค่นทิ้งได้ ทั้งที่น้ำยางหมดแล้วก็ไม่สามารถตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่ได้ ต้นยางต้องถูกปล่อยทิ้งไว้เช่นนั้น ปัญหาทุกอย่างในวันนี้ยังไม่คลี่คลาย เพียงแค่ไม่รุนแรงเท่า ๑๘ ปีก่อน
การเข้ามาของจูและแกนนำคนอื่น ๆ ทำให้เกิด “แลงามน้ำตก” สถานที่เรียนรู้ธรรมชาติและวิถีชุมชน สถานที่นี้จะมอบประสบการณ์และสร้างรากฐานในเรื่องป่าต้นน้ำต่อไป
“น้ำในพื้นที่น้ำตกของเราส่งไปให้คนพื้นที่อื่นใช้กินใช้อยู่” จูพูดในฐานะที่เคยเป็นแกนนำร่วมกับคล้อยและชาวบ้านตำบลน้ำตกในเรื่องการเรียกร้องปัญหาที่ทำกิน
น้ำในตำบลน้ำตกมาจากป่าต้นน้ำซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดสายน้ำตามธรรมชาติ และเปรียบเสมือนเครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่ให้ใสสะอาด น้ำที่นี่ไม่มีช่วงหน้าน้ำหลาก แต่ก็มีน้ำตลอดปี
เมื่อจูมองเห็นว่าน้ำอันมีค่าที่แลกมาด้วยการเสียสละดูแลป่าต้นน้ำของคนน้ำตกเหล่านี้จะถูกส่งข้ามพื้นที่ให้คนใช้สอยโดยอาจไม่คำนึงถึงคนต้นน้ำ จูจึงหาแนวทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเชื่อมถึงคนกลางน้ำและปลายน้ำให้เข้าใจชีวิตคนต้นน้ำว่าต้องต่อสู้และดูแลรักษาป่าแห่งนี้มามากแค่ไหน กว่าน้ำที่ใสสะอาดจะไหลไปสู่พื้นที่ของพวกเขา
ตอนจบที่ไม่จบ
ต้นไม้ใหญ่ที่ฟอกอากาศให้คนบนโลก ชาวน้ำตกไม่ยอมตัดทิ้ง ทั้งที่เม็ดเงินในการขายเนื้อไม้นั้นไม่ใช่น้อย ๆ แต่เพราะเขาทุกคนเกิดมาจากป่า บรรพบุรุษก็รักษาป่าเอาไว้ แล้วจะให้คนน้ำตกละทิ้งมรดกความพยายามของบรรพบุรุษนี้ได้อย่างไร
“การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า นอกจากจะรักษาแล้วต้อง ‘รัก’ ให้เป็นด้วย” จูบอกกับเรา
การรวมสถานที่ท่องเที่ยว ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตชุมชนเข้าด้วยกัน เป็นความตั้งใจของจูที่มีมาตั้งแต่คราวเป็นนักขับเคลื่อนเพื่อชุมชน เริ่มสร้างบ้านต้นไม้ร้อยหวัน นอนฟังสายน้ำ จนตอนนี้ แลงามน้ำตก สถานที่ที่ใช้ใจดูแลไปกับชาวบ้าน เพียงเพราะหวังอยากให้คนในพื้นที่ได้มีงาน ควบคู่กับการดูแลธรรมชาติบ้านเกิด เพียงเท่านี้คนและป่าก็จะอยู่คู่และเดินร่วมกันไปได้โดยไม่มีใครทิ้งใคร
เรื่องราวการต่อสู้เพื่อธรรมชาติของทั้งบรรพบุรุษบ้านเหรียง รวมถึงตำบลน้ำตก เป็นเรื่องราวที่จบไปแล้วและแปรเปลี่ยนมาเป็นเรื่องเล่า แต่กลิ่นอายของเลือดนักสู้ยังคงวนเวียนอยู่ในตัวลูกหลานรุ่นปัจจุบัน ดังเช่นตัวละครชีวิตที่ฉันได้รับชม
ม่านบนเวทีการแสดงปิดลง ทุกคนบอกลากัน
เรื่องราวที่ได้รับฟังจากจูและชาวบ้านน้ำตกอาจทำให้หลายคนต้องหวนกลับมาคำนึงถึงธรรมชาติบ้านเกิดไม่มากก็น้อย