Image

ชุมชนปากน้ำประแส ร้อยละ ๘๐ ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ทะเลจึงเปรียบเสมือนลมหายใจที่คอยหล่อเลี้ยงชาวปากน้ำประแสมาหลายชั่วอายุคน 
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

ฐานถิ่นที่สูญหาย
ประแสในกระแส
ความเปลี่ยนแปลง

Foto Essay

เรื่องและภาพ : เยาวชนชาวค่ายสารคดี ๑๘

ลมจากริมน้ำด้านขวาทักทายมาเป็นระยะเมื่อเดินผ่านช่องว่างระหว่างบ้านไม้ยกเสาสูง บางบ้านมีกลิ่นอายไทย-จีน ผสมผสานท้องถิ่นของคนทะเลอย่างเรือนสูงโปร่งสองชั้น มีระเบียงไว้รับลมทะเลและชมวิวเรือที่แล่นผ่านไปผ่านมา ทุกบ้านมีช่องลมเพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก ประตูไม้บานเฟี้ยมมีให้เห็นอยู่เรื่อยไป

ชุมชนปากน้ำประแส ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง แบ่งเป็นสองฝั่ง คือปากน้ำประแสฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของบ้านแหลมสน หมู่บ้านประมงพื้นบ้าน และปากแม่น้ำประแสฝั่งตะวันออกเป็นชุมชนใหญ่ ที่ตั้งของตลาด

ทำเลตั้งติดปากน้ำแม่น้ำประแส ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ทะเลมากมายหลายชนิด จนครั้งหนึ่งกลายเป็นเมืองประมงพาณิชย์ที่รุ่งเรืองและใหญ่ที่สุดในแถบตะวันออก แต่ความเจริญของประแสต้องหยุดชะงัก ด้วยปัจจัยหลายอย่างทำให้เศรษฐกิจซบเซา อีกทั้งปัญหาธรรมชาติ และนโยบายของภาครัฐ

ตามรายงานคุณภาพน้ำแม่น้ำประแส ปี ๒๕๖๔ ปากน้ำประแสอยู่ในเกณฑ์คุณภาพดี ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวไทยส่งผลกระทบถึงบริเวณปากน้ำประแส ปากคลองแกลง ปากแม่น้ำระยอง หาดทรายแก้ว หาดแหลมรุ่งเรืองและหาดแม่รำพึง  หรืออาจเพราะผลกระทบจากภาวะโลกรวน ทำให้อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น เสียงชาวประมงจึงต่างบอกความหนักใจว่าสัตว์ทะเลหายากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต

สิ่งหนึ่งที่รับรู้จากเรื่องราวของชาวบ้านประแส คือมนุษย์เราต่างเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไป  

คำถามน่าคิดก็คือมนุษย์กับธรรมชาติจะอยู่ร่วมกันได้จริง ๆ หรือ

และขณะที่ธรรมชาติสวมบทบาทคือผู้ให้ มนุษย์เรากำลังสวมบทบาทอะไรอยู่ผู้สร้าง ผู้อนุรักษ์ หรือผู้ทำลาย

ประมงพื้นบ้าน

Image

ชาวประมงออกหา ”ปูหิน” ตามแนวซากปรักหักพังของกำแพงกันคลื่น โขดหินริมทะเล จนถึงแนวป่าชายเลน เป็นทางออกหนึ่งของการหากินหลังจากทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลง
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

ประมงพื้นบ้านแห่งปากน้ำประแสใช้เครื่องมือประมงหลากหลาย ตามชนิดสัตว์ที่มาบรรจบกันในฤดูที่แตกต่าง เช่น ช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมเป็นช่วงมรสุมทำให้จับปลาและออกทะเลลึกได้ยาก ประมงต้องปรับเครื่องมือจากอวนปลามาใช้อวนปูหรือลอบดักปูแทน หรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายนชาวประมงบางส่วนจะมาพึ่งพิงอวนกุ้งและรุนเคย

การทำอาชีพประมงแบบหมุนเวียนสะท้อนความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ และพฤติกรรมสัตว์น้ำในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง

Image

 กฎหมายประมงกำหนดให้ประมงพื้นบ้านออกเรือได้ไม่เกิน ๓ ไมล์ทะเล (๕.๕๕๖ กิโลเมตร) แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป สัตว์น้ำในระยะ ๓ ไมล์ทะเลมีจำนวนน้อยลงมาก 
ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

แต่การทำประมงปัจจุบันกำลังเผชิญความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์ที่ลดน้อยถอยลงอย่างรวดเร็ว

ข้อสังเกตที่หลายคนย้ำเป็นเสียงเดียวกันคือ เหตุการณ์น้ำมันรั่ว ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาเกือบ ๑๐ ปีแล้วกับการแก้ปัญหาโดยใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (dispersant) เพื่อกดน้ำมันสู่ก้นทะเล แต่ชาวประมงสะท้อนว่าทรัพยากรและความสมบูรณ์ก็ยังไม่กลับมาเป็นอย่างเก่า  ยิ่งกว่านั้น ในปี ๒๕๖๖ ก็เกิดน้ำมันรั่วครั้งใหม่ ทำให้คำว่าความอุดมสมบูรณ์หลุดลอยห่างไกลมากขึ้นเรื่อย ๆ

Image

ชาวประมงที่ทำอวนปูเป็นอาชีพหลัก เล่าว่า สมัยก่อนเคยมีเงินเก็บจากประมงทั้งปี แต่เดี๋ยวนี้บางวันจับได้แค่สี่ห้าตัว 
ภาพ : ธนากร เพื่อนรักษ์

สำนึกอนุรักษ์

Image

ประมงพื้นบ้านถือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนปากน้ำประแส ชาวประมงจะช่วยเหลือกันและกัน เหมือนครอบครัวใหญ่ ภาพ : จิรศักดิ์ ทับแพ

วิถีชีวิตของผู้คนปากน้ำประแสผูกโยงกับท้องทะเล สงกรานต์ ทรงศิลป์ หนุ่มใหญ่ ร่างเล็ก ผู้ไว้ผมสั้นคล้ายทรงนักเรียน ใบหน้าคมเข้มกร้านแดดพร้อมฉายแววจริงจังเมื่อเล่าถึงอาชีพประมงพื้นบ้าน ปัจจุบันเขาเป็นประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือรบประแส

“ทะเลเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของเรา ที่เราได้มีความเป็นอยู่ มีอาหารการกินแต่ละวัน ตลอดจนได้ส่งเสียลูกจนเรียนจบเพราะทะเล เราจะขาดตรงนี้ไม่ได้”

Image

สงกรานต์ ทรงศิลป์ บอกเล่าถึงปัญหาที่ชาวประมง ทุกกลุ่มกำลังเผชิญจากกฎหมายและกติกาของรัฐ “ชีวิตชาวประมงไม่เคยได้รับการอุดหนุนจากรัฐเลย ต้องสู้เองตลอด ไม่เหมือนชาวไร่”
ภาพ : ธนากร เพื่อนรักษ์

อีกสิ่งหนึ่งที่พี่น้องประมงบอกเล่าคล้ายกันคือ “สำนึกอนุรักษ์ทะเล” เช่น การอนุรักษ์ปูม้าอย่างครอบคลุม ทั้งฝั่งประมงผู้จับปูเป็นอาชีพ เมื่อพบปูที่มีไข่สีดำจะนำมาแปรงไข่ออกให้โตเป็นลูกปู ก่อนนำไปปล่อยตามพื้นที่อนุรักษ์ หรือกลุ่มแม่ค้าจะไม่รับซื้อปูที่มีไข่สีดำ รวมถึงการสื่อสารภายในกลุ่มประมงว่า ถ้าจับได้ปูที่มีไข่ต้องให้นำไปปล่อยทันที และยังมีการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอีกหลายอย่าง เช่น การทำบ้านปลา ธนาคารปู และการจัดตั้งเขตอนุรักษ์

Image

“ธนาคารปูไข่” เป็นการอนุรักษ์ปูม้า โดยแยกปูที่มีไข่กับปูที่ไม่มีไข่ออกจากกัน เพื่อนำปูไข่ไปทำอนุบาลปูและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
ภาพ : ณิชกมล สุขเจริญโชค

ประแสที่
“เคย” คุ้น

Image

ชาวประมงกำลังสาธิตวิธีการยกเคย 
ภาพ : ธนากร เพื่อนรักษ์

เคย หรือกุ้งเคย เป็นสัตว์สกุล Acetes ลักษณะคล้ายกุ้ง นิสัยของเคยชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณผิวทะเล และอาจอยู่ในน้ำลึกระดับหน้าแข้งถึงหน้าอก

เคยในแม่น้ำประแสเป็นอาหารของปลาเล็กใหญ่ และด้วยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของชุมชนประแสเพราะชาวบ้านนิยมนำมาทำกะปิเคยสดหรือเคยแห้ง โดยเฉพาะกะปิประแสมีกลิ่นหอมและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ 

Image

 เคยของประแสมีลักษณะใส อวบ คล้ายส้มโอ เคยเจริญเติบโตได้ดีบริเวณน้ำกร่อยอย่างปากน้ำประแส 
ภาพ : กรวรรณญา ถาวรวิริยะนันท์

สมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่จับเคยและปลาหลังบ้านตนเองด้วยการยกยอ คือวางแผงตาข่ายขนาดเล็กไว้ใต้น้ำ เมื่อเคยหรือปลามาจึงยกขึ้นและนำไปแปรรูปเป็นอาหารหลากหลาย

แต่ตอนนี้เคยลดลง จำนวนมีไม่มากเท่าแต่ก่อน และเหลือไม่กี่บ้านที่ยังยกยออยู่

Image

สุภาพร ยอดบริบูรณ์ เจ้าของร้านอาหาร เจ๊หน่องแซ่บเวอร์ กับกะปิเคยที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชนประแส โดยรับซื้อเคยจากคนในชุมชน เป็นอีกช่องทางสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในพื้นที่
ภาพ : กรวรรณญา ถาวรวิริยะนันท์

ป่าชายเลน

Image

สนุก ปะสิ่งชอบ คนล้วงปูดำ กับอุปกรณ์ล้วงปูที่เป็นก้านยาวใช้สำรวจความลึกของรูและปฏิกิริยาของปูที่ช่วยบอกว่าปูอยู่ในท่าใด และจะจับได้หรือไม่ นอกจากใช้อุปกรณ์อย่างชำนาญแล้ว สนุกยังปีนป่ายไปตามรากต้นโกงกางอย่างคล่องแคล่วในวัย ๕๗ ปี 
ภาพ : ไวทย์ อนุรักษ์กฤษณา

ชโลม วงศ์ทิม อดีตผู้นำชุมชนตำบลปากน้ำประแส บอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ป่าชายเลนประแสซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์ถูกทำลายร่อยหรอนับแต่มีการสัมปทานป่าให้เอกชน มีการขายที่ดินให้นายทุนทำบ่อกุ้ง จนเกิดเหตุบ่อกุ้งลักลอบปล่อยน้ำเสีย ตลอดจนการตัดไม้ทำฟืนของคนในพื้นที่  

“ลุงเป็นนักทำลายป่าคนหนึ่ง ตัวยง ตัดฟืน เผาถ่าน ส่งลูกเรียน เรียนจบหมดสามคน แล้วลุงก็มาคิดว่า ถ้าป่าหมดแล้วจะทำยังไง ต่อไปลูกหลานจะอยู่ยังไง”

Image

ปูดำซ่อนตัวในรูตามรากต้นโกงกาง เป็นเสมือนเกราะป้องกันชีวิต สนุกบอกว่า “ถ้าไม่มีป่าโกงกาง ปูพวกนี้จะไม่มีที่อยู่” 
ภาพ : กฤต คหะวงศ์

ปี ๒๕๓๗ คะเนจากสายตาหนุ่มใหญ่ในปีดังกล่าว ป่าเหลือแต่ตอและเกรียนโกร๋น ขณะที่กุ้งหอยปูปลาเริ่มหายากชโลมค้นพบด้วยตนเองว่าหากนำกล้าไม้ที่ตกหล่นตามดินเลนปักลงดิน กล้าไม้จะเติบโตได้ จึงทั้งปลูกและเพาะกล้าไม้ ฟื้นฟูป่าในความทรงจำด้วยสองมือของตัวเอง ทำเรื่อยมาจนเลขปฏิทินระบุปี ๒๕๔๓ เขากลายเป็นผู้นำชุมชนตำบลปากน้ำประแส จึงเริ่มดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างสะพานทางเดินเข้าไปที่ศาลเจ้าพ่อแสมผู้ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางป่าชายเลนที่หลงเหลือน้อยนิด เป็นกุศโลบายแยบยลที่ทำให้ต่อมาชาวบ้านร่วมกันรักษาป่าและปลูกป่าชายเลนเพิ่มขึ้น

“จากเหลือผืนป่า ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ณ เวลานี้ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ สมบูรณ์มาก”

Image

 ชโลม วงศ์ทิม รำลึกความหลังหน้าศาลเจ้าพ่อแสมผู้
ภาพ : กฤต คหะวงศ์

ปลูกป่า
ไม่ได้ป่า

Image

ต้นโกงกางถูกปลูกอย่างหนาแน่น จนทำให้ลำต้นสูงชะลูด แสดงถึงการแก่งแย่งเติบโตในพื้นที่จำกัด จนอาจเกินขีดความสามารถในการรองรับของธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า carrying capacity 
ภาพ : ณัฐมล น้อยตะริ

รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อธิบายว่า แสม ลำพู ตามชายฝั่งติดกับทะเล จะช่วยกักเก็บตะกอน จนเมื่อตะกอนหนาเพียงพอ ฝักเมล็ดของโกงกางก็จะปักลงอย่างมั่นคง และเพิ่มจำนวนขึ้นแทรกแทนที่ต้นแสม ลำพู ซึ่งจะค่อย ๆ ล้มหายตายจากที่เดิม แต่จะเติบโตบริเวณชายฝั่งที่งอกออกสู่ทะเล คอยเก็บกักตะกอนรอการมาถึงของฝักโกงกางต่อไป ป่าชายเลนจึงเป็นสังคมพืชที่มีการเดินทางและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากป่าชายเลนไม่เปลี่ยนแปลง ย่อมเป็นสัญญาณความผิดปรกติ

Image

แปลงปลูกต้นโกงกางอย่างผิดธรรมชาติบนสันดอนทรายชายฝั่งประแส
ภาพ : ณัฐมล น้อยตะริ

เนื่องจากในระบบนิเวศหนึ่ง ๆ จะควบคุมให้สิ่งมีชีวิตชนิดใดชนิดหนึ่งมีปริมาณจำกัด เพื่อสร้างความสมดุลกับสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่น ๆ  คำถามสำคัญคือ กิจกรรมปลูกต้นโกงกาง ในนามของกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) หรือกระทั่งการอนุรักษ์ จะเป็นการเพิ่มหรือลดปริมาณสิ่งมีชีวิตใดชนิดหนึ่ง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนของสิ่งมีชีวิตกลุ่มอื่นด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความสำเร็จที่วัดด้วยจำนวนต้นไม้ที่ปลูกจะมีความหมายใดในมุมมองของธรรมชาติและระบบนิเวศ

“ถ้าเราเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ระบบนิเวศไม่ได้พัง แต่จะเปลี่ยนสมดุล และเราไม่รู้ว่าสิ่งมีชีวิตอะไรบ้างที่ต้องหายไปจากระบบนิเวศ”

Image

รองศาสตราจารย์ ดร. กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ บนเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลนประแส
ภาพ : กฤต คหะวงศ์

วันนี้
ของประแส

Image

พ่อค้าแม่ค้ากับวัตถุดิบสินค้าของสดเต็มถาดในตลาดสด ประแสยามเช้า โดยมีกราฟฟิตีบนฝาผนังบ้านไม้ด้านหลังที่เหมือนตั้งใจจะวาดล้อ เป็นงานศิลปะช่วยดึงดูดการท่องเที่ยวของชุมชน
ภาพ : ธนชิต สิงห์แก้ว

ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ในชุมชนปากน้ำประแสต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเศรษฐกิจไม่ดีเหมือนสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นการค้าขายหรืออาชีพประมง ที่เป็นอาชีพดั้งเดิมเก่าแก่
เลี้ยงปากท้องให้มีรายได้ดีมั่งคั่ง 

“ชุมชนประแสเราก็อาศัยประมงอย่างเดียว ถ้าประมงไม่ดีอะไรก็ไม่ดี”

Image

มาหาสมุทรโฮมสเตย์ สถานที่พักผ่อนหนึ่งในชุมชนปากน้ำประแส สร้างขึ้นโดย สมศักดิ์ ชาญเชี่ยว หรือ “ไต๋เทิ่ม” ซึ่งเคยเป็นไต๋เรือที่คุมเรือประมงมาก่อน  ออกแบบโฮมสเตย์ให้เหมือนกับเรือ โดยใช้ความรู้ในการเดินเรือ เช่น ทิศทางลม ทำให้มีลมพัดเข้าโฮมสเตย์ตลอดเวลา
ภาพ : วรเมธช์ อรรถสงเคราะห์

นรา ชาญวัตถาภรณ์ เล่าด้วยสีหน้าแววตาคาดหวังกับชุมชนที่เธออาศัยมาตั้งแต่เด็ก เธอผันตัวเองมาเปิดโฮมสเตย์ในปี ๒๕๔๙ ไว้บริการนักท่องเที่ยวที่มาแวะเวียน

ธุรกิจโฮมสเตย์ของนราถือเป็นอีกกิจกรรมที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนชุมชนปากน้ำประแส 

“การที่เราทำโฮมสเตย์ก็สร้างชื่อเสียงให้ชุมชน นักท่องเที่ยวมาก็มีที่ให้พัก เราอำนวยความสะดวกให้เขา เราได้ทำงานแล้วเราก็มีความสุข ได้เจอแขกมาเที่ยว  พอท่องเที่ยวเข้ามา คนในชุมชนก็มีอาชีพเพิ่มด้วย”

นราบอกว่าหากได้ลูกหลานคนรุ่นใหม่มาเติมช่วยประคองพลังแรงเก่าอย่างวัยชรา ประแสจะเจริญยิ่งกว่านี้  

Image

 นารา ชาญวัตถาภรณ์ และ ศรีวรรณ มุกดาสนิท เจ้าของโฮมสเตย์แสงมุกดา โฮมสเตย์แห่งแรกของชุมชนที่เปิดขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมท่องเที่ยวของชุมชนประแส
ภาพ : ฟ้ารุ่ง แสงภักดี

ขอขอบคุณ
เทศบาลตำบลปากน้ำประแส และชุมชนปากน้ำประแส
ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

Image