คลองหลังวัดดาวเรือง ตำบลบางพูด อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี สถานที่ประจำของกลุ่มพายเรือเก็บขยะ ทีมพายเรือคายักนำโดยชายหนุ่ม ร่างเล็กแต่แข็งแรง ผู้เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อขยะในคลอง
โลกทั้งใบจากเก้าอี้ขาว
ปรัชญาของ
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : นนท์พิเชษฐ์ชาญ ชัยหา
ภาพ : ธเนศ แสงทองศรีกมล
เก้าอี้ขาวตั้งนิ่งอยู่กลางห้องเรียนใหญ่ในมหาวิทยาลัย คนทั่วไปอาจเห็นแค่เก้าอี้นั่งเรียนธรรมดา ๆ แต่ในสายตาของชายผู้หนึ่ง เก้าอี้ขาวอธิบายโลกได้ทั้งใบ
เราเริ่มเห็นชายผู้นี้ตามหน้าสื่อตั้งแต่ครั้งพฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ ต่อมายิ่งในช่วงการเลือกตั้ง เขาปรากฏบนจอแก้วนับครั้งไม่ถ้วนในฐานะนักกฎหมายผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง
ในอีกมุมหนึ่งเขาเป็นพลเมืองของโลกผู้ห่วงเพื่อนมนุษย์และโลกใบนี้ เขาใช้เสียงและการกระทำสร้างแรงบันดาลใจและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เพื่อนร่วมโลก
ชื่อของเขาคือ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ชีวิตปริญญา
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เติบโตในบ้านเกิดที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนย้ายมาศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ยังโรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพฯ ต่อจากนั้นในปี ๒๕๒๙ เขาก้าวสู่เส้นทางของนักกฎหมายด้วยสถานะนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หลังเรียนจบปริญญาโทด้านกฎหมายจากเยอรมนี ชีวิตนำพาให้เขากลับมาเป็นอาจารย์ประจำในคณะที่เคยร่ำเรียน ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน
วันนี้ในวัย ๕๕ ปี หลังผ่านการเรียนปริญญาเอกด้านกฎหมายมหาชนจากสถาบันเดิมในเยอรมนีและสอนกฎหมายมากว่า ๒๕ ปี กล่าวได้ว่าเขาเป็นผู้แข็งแกร่งในโลกของกฎหมายมาเกินครึ่งชีวิต
ย้อนไปช่วงชีวิตปริญญาตรี เขาร่วมกิจกรรมขับเคลื่อนสังคม เริ่มจากการออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชน มาสู่เรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นกระแสในสังคมไทยช่วงปี ๒๕๓๐ สืบเนื่องจากปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ รัฐบาลมีนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๕ ในการสร้างเขื่อนน้ำโจน เขื่อนขนาดใหญ่ที่จะมาพร้อมกับการทำลายทรัพยากรธรรมชาติผืนป่าภาคตะวันตกใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เรื่องนี้นำมาสู่กระแสการคัดค้านของนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน
ขณะนั้นปริญญาเป็นนักกิจกรรมธรรมศาสตร์ชั้นปีที่ ๒
“ปี ๒๕๓๐ ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในมหาวิทยาลัย ๑๖ สถาบัน รวมตัวกันในนามคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๑๖ สถาบัน (คอทส.) คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน คือเห็นว่าไม่สมควร
จะเสียพื้นที่ป่า ๔-๕ ล้านไร่เพื่อมีเขื่อน ชาวกาญจนบุรีส่วนมากก็ไม่เอาเขื่อนด้วย การสร้างเขื่อนแต่ละครั้งเราสูญเสียพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไปมากแค่ไหน มันคือการเอาน้ำไปท่วมพื้นที่ป่าเพื่อให้ได้ไฟฟ้ามา ซึ่งวิธีการอื่นก็มี ทำไมต้องแลกกับป่าหลายล้านไร่ พร้อมชีวิตสัตว์ป่าอีกมากมาย เรื่องนี้คุณสืบ นาคะเสถียร จุดประเด็นไว้แล้วในตอนสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน”
แม้ปริญญาเอ่ยว่า นับเป็นเรื่องดีที่วันนี้ขยะไม่มากจนเต็มลำเรือ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเต็มไปด้วยขยะพลาสติกและโฟมที่ย่อยสลายยาก
ถ้าไม่อยากเก็บขยะในทะเลต้องกันให้ได้ตั้งแต่ในแม่น้ำ คลองคนที่โยนทิ้ง การพายเรือเก็บขยะจึงเป็นการสร้างความตระหนักถึงปัญหาขยะในแหล่งน้ำ และ “ขยะในใจคน”
ปริญญาเล่าจากประสบการณ์ตรงในความทรงจำ และเท้าความถึงหนึ่งในไอคอนิกหลักยุคนั้นคือ “สืบ นาคะเสถียร” ชายผู้เปล่งเสียงปืนปลิดชีพตนสู่แสงของการเปลี่ยนแปลงในรุ่งสางของเช้าวันเสาร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๓๓
“นักศึกษา ๑๖ สถาบันตั้งขบวนที่หน้าหอประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ ขี่จักรยานคัดค้านเขื่อนน้ำโจนไปกาญจนบุรี ๓ วันถึง” นี่คือสิ่งที่นิสิตนักศึกษากระทำในยุคนั้น
มีเหตุการณ์หนึ่งที่เขาจำไม่ลืมในช่วงปีนั้น ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
“นักศึกษาธรรมศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าขบวนล้อการเมืองทั้งขบวนต้องเป็นเรื่องคัดค้านเขื่อนน้ำโจน ตั้งขบวนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เดินไปถึงสนามศุภชลาศัย มีการแบกหุ่นจำลองเขื่อนขนาดใหญ่ ป้ายประท้วงเรียกร้องเรื่องการรักษาป่า มีการแต่งตัวเป็นกวางเป็นเสือมาเดินอยู่ในขบวน”
ครั้งนั้นนักศึกษากฎหมายคนนี้มุ่งตรงทำหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ยกมือจับพู่กันจุ่มสีเขียนคัตเอาต์บรรยายคำประท้วง “คัดค้านเขื่อนน้ำโจน” จนท้ายที่สุดในวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๓๑ รัฐบาลมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จมหาศาล
ปลายปีเดียวกันเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหมู่บ้านที่ตำบลกะทูน อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงที่มีพายุดีเปรสชัน เผยให้เห็นว่ารัฐบาลเอื้อให้เกิดการสัมปทานป่าแก่นายทุน ส่งผลต่อความเสียหายของป่าเชื่อมต่อมาถึงชีวิตของผู้คน
“มันคือแลนด์สไลด์ เพราะว่าป่าบนภูเขาโดนตัด ต้นไม้ที่จะยึดดินไว้ไม่มี มันก็สไลด์มาพร้อมกับท่อนซุงที่ถูกตัด น้ำท่วมใหญ่ คนตายหลายร้อยคน หมู่บ้านสองหมู่บ้านชื่อพิปูนกับกะทูนจมอยู่ใต้โคลน ตอนนั้นเองทำให้คนไทยรู้ว่ามีการอนุญาตให้ตัดไม้ทำลายป่าอย่างถูกกฎหมาย ในนามของคำว่าการให้สัมปทานป่า” ชายที่เป็นมากกว่านักกฎหมายเล่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พาทีมงาน สารคดี ตะลุยคลองหลังวัดดาวเรืองเพื่อฉายให้เห็นความหมายที่มากไปกว่าการพายเรือเก็บขยะ
“เรื่องขยะในคลองนี่แหละยากสุดแล้ว” ปริญญาหยุดคิดครู่เดียวก่อนขานตอบ ขณะกำลังเขียนอวยพรให้ทีมงานอย่างตั้งใจลงบนหนังสือสามเล่มที่เขาบอกเล่าประสบการณ์การพายเรือในคลองมาเกือบทั่วโลก
จากประเด็นที่เกิดขึ้น นักศึกษา ๑๖ สถาบัน และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ร่วมผลักดันยกเลิกสัมปทานป่า จนสำเร็จในปี ๒๕๓๒ ปริญญาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังเพราะอยากเชิญชวนให้เกิดการลงมือทำของประชาชน
“ถ้าร่วมมือกันแล้วทำอย่างฉลาด เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” เขาเชื่อเช่นนั้น
ความทรงจำอันภูมิใจแสดงถึงพลังของนักศึกษาหนุ่มสาวยุคนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ปริญญาหันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
ราวกลางทศวรรษ ๒๕๓๐ เขารับตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นแนวหน้าคัดค้านพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬใน ปี ๒๕๓๕ และนี่คงเป็นภาพจำให้ใครหลายคนมองว่าเขามีชีวิตอยู่แต่กับโลกกฎหมายและการเมือง
เรือที่สร้างจากขยะและวัสดุเหลือใช้ภายในห้อง Makerspaces ศูนย์ปฏิบัติการ SDG Lab
อาหารมื้อกลางวัน
“SOLAR CAFE ร้านอาหารคุณภาพ” ป้ายหน้าร้านเขียนด้วยชอล์กหลากสีบนแผ่นกระดานดำ
โซลาร์คาเฟ่ ใน มธ. ศูนย์รังสิต คือร้านอาหารที่ปริญญาทำเพื่อส่งเสริมการขี่จักรยานควบคู่ไปกับการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ร้านนี้มีสองชั้น ด้านล่างขายอาหาร ข้างบนเป็นลานปลูกพืชผัก มีระบบแอร์ธรรมชาติ หลังคาวางแผงโซลาร์เซลล์เพื่อใช้เป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าของร้าน
ปริญญานั่งกินสเต๊กปลาแซลมอนที่โต๊ะไม้สีน้ำตาลบนชั้น ๒ สีส้มของเนื้อปลากับสีสันผักออร์แกนิกนานาชนิดบนจานสีดำดูเป็นสวรรค์ของคนรักอาหารสุขภาพ
“สุขภาพเกี่ยวอะไรกับโลกร้อน” ปริญญาเอ่ยคำถามนี้ขึ้นท่ามกลางวงอาหารกลางวัน
จะเกี่ยวกันได้อย่างไร เราคิดตามในใจ
“เอาอย่างนี้ คิดว่ากิจการหรือโรงงานอะไรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด”
นึก อึ้งอยู่อีกพักหนึ่งก็ไม่รู้คำตอบอยู่ดี
“โรงพยาบาล” ปริญญาพูดเสียงเบาแต่มีพลัง
ปริญญาอธิบายว่าคนป่วยหนึ่งคนในโรงพยาบาลต้องดูแล ๒๔ ชั่วโมง ใช้บุคลากรหลายคน เครื่องมือหลายชิ้น ฉะนั้นคนไข้ยิ่งมากจำนวนทรัพยากรก็ต้องใช้มากตาม เขาเชื่อมโยงต่อว่า โรงพยาบาลมีคนไข้มากก็เพราะ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรคนไข้เกิดจากโรคที่ไม่ควรจะป่วย
“ถ้าโรงพยาบาลมีคนไข้น้อยกว่านี้ เราก็อาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่านี้...คนเจ็บป่วยเกิดจากการกิน กินหวานมากเกินไป กินสารก่อมะเร็ง รัฐบาลก็มาจากการเลือกตั้งของเรา ทำไมไม่สอนความเข้าใจเรื่องโรคภัย มันก็เชื่อมโยงกับเรื่องการศึกษาอีก...เรื่องนี้เรารู้กันไหม ไม่รู้ เพราะการศึกษาไม่ได้สอน”
นี่คงเป็นที่มาของป้ายหน้าร้านที่บรรยายสรรพคุณว่า
“ข้าวหอมมะลิ ใช้น้ำมันมะกอก ไม่ใช้รสดีและผงชูรส ผักสลัดปลอดสารพิษ ใช้เนยเกรดพรีเมียม ใช้น้ำกรองในการปรุง มีชาออร์แกนิกจากสวน”
ปริญญาชี้ไปที่ต้นไม้ใหญ่สีเขียวรายรอบตัวใน มธ.
“แต่ก่อนต้นไม้ธรรมศาสตร์ตัดผิด ตัดยอดทิ้ง ผมก็เอาวิธีการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธีมา ต้นไม้คือร่มเงาถูกไหม เราต้องตัดให้ต้นคือก้าน แล้วตัวกิ่งใบคือร่ม มันก็จะกางให้เรา แต่ที่เราทำอยู่คือเราไปตัดร่มทิ้ง ธรรม-ศาสตร์เราเปลี่ยนเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว หลังจากทำโซลาร์เซลล์เสร็จ ต้นไม้ใหญ่ขึ้น ๆ ธรรมศาสตร์ก็เย็นลง ๆ ที่เรานั่งแล้วไม่รู้สึกร้อนก็เพราะมีต้นไม้
วิชา TU100 สร้างนักแก้ปัญหา จัดกระบวนการคิดลงมือทำ เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมีการลงพื้นที่เช่นในชุมชนคุ้งผ้าพับ ชุมชนริมคลองใกล้มหาวิทยาลัย
เขายังเล่าย้อนไปถึงโปรเจกต์แรกที่ทำสำเร็จเมื่อเข้ามาอยู่ในคณะผู้บริหาร มธ. ปี ๒๕๕๙
“ผมยกเลิกฝาหุ้มขวดน้ำพลาสติก” ปริญญาพูดขึ้น
เขาเห็นว่าสิ่งนี้คือขยะตัวร้าย
“ปลิวง่าย สุดท้ายลงไปอุดตันท่อ บางส่วนก็ออกทะเลไปอยู่ในท้องพะยูน เต่า เพราะชิ้นเล็ก”
เขาแก้ไขปัญหานี้ด้วยการเชิญเจ้าของกิจการร้านค้าใน มธ. มาประชุมเพื่อให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ไม่จำเป็น เจ้าของกิจการร่วมด้วย โดยไม่สั่งซื้อน้ำดื่มจากบริษัทที่มีพลาสติกใสหุ้มฝาขวดน้ำ ทำให้หลายบริษัทต้องปรับตัวตาม จน มธ. ไร้พลาสติกหุ้มฝาขวดอย่างเต็มตัวในปี ๒๕๕๙ ก่อนที่อื่น ๆ ในประเทศ
ปริญญาเล่าว่ากรมควบคุมมลพิษขอมาพบเขาในต้นปี ๒๕๖๐ เพื่อแก้ไขปัญหาพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำ ปัญหาระดับชาตินี้แก้ไขสำเร็จทั่วประเทศในอีก ๒ ปีต่อมา
อาหารในจานลดลงเรื่อย ๆ แต่เรื่องเล่าในสิ่งที่เขาทำประโยชน์ต่อโลกยังมีมากมาย
รถโดยสารประจำทางไฟฟ้า ระบบเช่ายืมสกูตเตอร์และจักรยานใน มธ. ฯลฯ แม้เป็นจุดเล็ก ๆ แต่สิ่งเหล่านี้อยู่ในฉากหลังของชีวิตเขาแทบทั้งสิ้น
“อยู่ตรงไหนเราก็เปลี่ยนประเทศไทยได้หมด คุณแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในธรรมศาสตร์ ทำห้องเรียน active learning เก็บขยะที่แม่น้ำเจ้าพระยา คุณก็เปลี่ยนประเทศไทยได้”
จานสีดำว่างเปล่าพร้อมกับบทสนทนาแรกจบลง แต่เรื่องราวยังไม่จบ ปริญญากำลังจะพาเราไปนั่งใต้พูนดิน
ใต้พูนดิน ริมสายน้ำ
บนท้องฟ้า
พูนดินขนาดมหึมากองอยู่กลาง มธ. ศูนย์รังสิต ด้านบนปลูกพืชผัก ทั้งต้นแค มะละกอ อ้อย มะเขือ ถั่ว ฝักยาว ขิง ข่า ตะไคร้ ฟักทอง กะเพรา และพืชอื่น ๆ อีกนานาชนิด
อาคารพูนดินนี้แบ่งเป็นห้องน้อยใหญ่ให้มนุษย์ใช้งานพร้อมกับอากาศที่สบายแม้ปราศจากเครื่องปรับอากาศ ผนังเป็นอิฐสีน้ำตาลขนาดเท่ากันสลับสับหว่าง หากมองด้วยสายตาของนก พูนดินเป็นรูปตัว H ล้อมรอบด้วยแหล่งน้ำที่กักเก็บฝนจากบนฟากฟ้า
พูนดินสื่อถึงบำรุง หล่อเลี้ยง สอดคล้องความหมายในภาษาจีนแต้จิ๋วของคำว่า “ป๋วย” ที่หมายถึงพูนดินที่โคนต้นไม้ บ่มเพาะ มาจากนามบุคคลที่ชาวธรรมศาสตร์รู้จักกันดี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นที่มาของชื่ออาคารพูนดิน “อุทยานเรียนรู้ป๋วย ๑๐๐ ปี” หรือ “สวนป๋วย”
ส่วนตัว H ที่เป็นรูปทรงอาคาร ให้ความหมายว่า Humanity สอดผสานแนวคิดเรื่องความเป็นมนุษย์ นี้จึงเป็นพูนดินเพื่อเพื่อนมนุษย์ที่ธรรมศาสตร์สร้างขึ้น
ตามเจตนารมณ์ของปริญญาเมื่อครั้งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหาร เขามุ่งหวังให้สวนป๋วยเป็นศูนย์กลางของ “ความยั่งยืน (sustainability)” จึงใช้หลังคาเป็นที่ปลูกพืชกินได้ ส่งออกขายได้ ถือเป็นหลังคาปลูกผักใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เราคุยกับปริญญาอยู่ในอาคารพูนดิน ถึงสรรพสิ่งอื่น ๆ ที่เขาทำ ความสัมพันธ์ที่เป็นเค้าร่างของเก้าอี้สีขาว
“พายเรือเก็บขยะ เราทำจริงจัง” บทสนทนาเรื่องกิจกรรมต่อไปเริ่มขึ้น
เมื่อปริญญาเห็นว่าแม่น้ำลำคลองของไทยเต็มไปด้วยขยะ มีสัตว์ตายเพราะขยะพลาสติกจนติดอันดับที่ ๖ ของโลก เขาจึงริเริ่มกิจกรรม “กองเรือแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในปี ๒๕๖๐ ด้วยการพายเรือคายักเก็บขยะในลำคลอง จากนั้นในเดือนธันวาคมของปี ๒๕๖๑ จึงเกิดโครงการ “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” ครั้งแรก และต่อมาอีกครั้งในเดือนตุลาคม ๒๕๖๒
“อู๋” ปิติ เสรเมธากุล กำลังสำคัญร่วมกันผลักดันกิจกรรมพายเรือเก็บขยะและสร้างเรือจากขยะที่คนไม่เห็นค่า
“ว่าง บ้า โง่” คำที่ปิติใช้นิยามคนที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมพายเรือเก็บขยะครั้งแรกที่กินเวลากว่า ๑๐ วัน
“พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” มีทีมงานร่วม ๑๐ ชีวิต เริ่มต้นพายเรือจากปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ต้นธารของแม่น้ำเจ้าพระยา ไล่ลงมาตามสายน้ำ ผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สิ้นสุดที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมกับอ่าวไทยในจังหวัดสมุทรปราการ การเดินทางเก็บขยะครั้งนี้รวมทั้งสิ้น ๑๑ วัน ระยะทางร่วม ๔๐๐ กิโลเมตร
อู๋-ปิติ เสรเมธากุล ชายวัย ๔๗ ปี ผู้ชื่นชอบการพายเรือเป็นชีวิตจิตใจ กลายมาเป็นมือขวาคนสำคัญของอาจารย์ที่เคารพ สิ่งแรกที่อู๋ในฐานะที่ปรึกษาคนแรก ๆ ได้รับโจทย์คือการตามหามือพาย ๑๐ คน ด้วยการประกาศคุณสมบัติสามประการอันศักดิ์สิทธิ์ที่อู๋ตั้งขึ้น “ว่าง บ้า โง่”
“ว่าง ต้องว่างจากสิ่งที่ต้องทำ เพราะต้องพายเรือต่อเนื่อง
บ้า ทำในสิ่งที่คนทั่วไปสมัยนี้เขาไม่ทำกันแล้ว
โง่ ถ้าจะมีคนเห็นว่าทำแล้วไม่ได้ประโยชน์ เราก็ยอมโง่ให้คนอื่นนินทา”
ขยะกว่า ๓,๐๐๐ ตัน คือสิ่งที่ได้มาจากกิจกรรมพายเรือเพื่อเจ้าพระยาทั้งสองครั้ง แต่สำหรับอู๋นี่เป็นเพียงเปลือกนอกของจุดประสงค์ที่อาจารย์ปริญญาของเขามุ่งหวัง
“อาจารย์ต้องการเก็บขยะในใจคน” อู๋ตีความ
“อาจารย์ไม่ได้ต้องการเก็บให้หมดหรอก เอาเรือของหน่วยงานใหญ่ ๆ มาเก็บไม่ดีกว่าเหรอ การพายเรือครั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีว่าเราทำได้ ทำให้เกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหาของขยะในลำน้ำ หลักการก็คือเราต้องการลงพื้นที่เพื่อบอกคนอื่นว่ากรุณาอย่าทิ้งขยะ” อู๋ขยายความ
อู๋เล่าต่อว่าเมื่อสวนป๋วยก่อสร้างเป็นพูนดินอย่างสมบูรณ์ ปริญญาอยากทำโครงการอื่นอีก อู๋เสนอการสร้างเรือจากขยะ เพราะเขามีพื้นฐานจากการเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ปริญญาเห็นด้วย จึงเป็นที่มาของโครงการ “เรือจากขยะ”
เรือรูปทรงเรียวยาวหลายขนาด ๑๐ กว่าลำวางเรียงรายในห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า SDG Lab (Sustainable Development Goals Lab) ของอาคารพูนดิน หลายลำ
พร้อมลงสู่น้ำ อีกหลายลำกำลังสร้าง มีทั้งเรือจากลอตเตอรี่ ฝาขวดน้ำ ไม้ไผ่สาน ส่วนสุดปลายทางของห้องมีเรือไม้ลำแรกที่อู๋สร้างขึ้นเมื่อ ๖ ปีที่แล้ววางอยู่เหนือสุดของชั้นวางของ หัวเรือมีภาพดวงตากลมโตมองตรงมา ดึงดูดให้จับจ้อง
ในห้อง SDG Lab มีเรือที่สร้างโดยวิศวกร นักศึกษา
สัตวแพทย์ รุกขกร นักโทษ ฯลฯ อู๋จึงมองว่าเรือขยะมีคุณค่ามากกว่าการเป็นเรือพาย
“ขยะคือสิ่งที่คนไม่ค่อยเห็นคุณค่าแล้วก็ทิ้งมัน สิ่งที่เราจะทำได้คือการเปลี่ยนมุมมอง ตอนแรกเรามองว่าจะเปลี่ยนขยะให้เป็นเรือ ตอนหลังเรามองว่าเราเปลี่ยนชีวิตขยะให้เป็นเรือได้ด้วย”
“ชีวิตขยะ” ให้ความหมายถึงผู้คนที่ถูกคนอื่นมองว่าเป็นขยะและตัวเราเองที่มองตัวเองเป็นขยะ นักโทษและคนที่กำลังคิดจะฆ่าตัวตายคือตัวอย่างที่อู๋ยกขึ้น
ปิติเป็นกำลังสำคัญของปริญญาในโครงการการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนต่าง ๆ ขณะเดียวกันปริญญาก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้ปิติมีกำลังใจทำงานเพื่อความยั่งยืน
ช่วงที่อู๋ต่อเรือลำแรกเป็นช่วงชีวิตที่เขาเซ็งที่สุด ไม่อยากอยู่บนโลกนี้ อยากจะเอาเรือมาทำเป็นโลงศพของเขา แต่การต่อเรือในครั้งนั้นประกอบกันกับวาจาของลูกสาวได้เปลี่ยนชีวิตเขา
“ปะป๊าคิดว่าจะตาย ก่อนจะตายยังไงก็ต้องต่อเรือให้เสร็จ หนูขอต่อเรือเป็นเพื่อนปะป๊า แล้วมาพายเรือด้วยกัน ถึงวันนี้ถ้าปะป๊ายังคิดแบบนั้นอยู่ หนูก็ไม่ว่า” ลูกสาวเคยพูดกับเขา
เมื่อต่อเรือเสร็จ ความคิดสั้นของอู๋เปลี่ยนไป เขาไม่อยากตายแล้ว ทั้งนี้ปริญญามีส่วนสำคัญมาก
“สิ่งที่อาจารย์ทำคือการสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง” อู๋พูดถึงอาจารย์ที่เคารพรัก พร้อมเล่าต่อถึงความทรงจำเมื่อไม่นานมานี้
จากหนึ่งความหลังยังจำอยู่ เพียงเธอก็รู้ความเป็นไป คอยส่งความหมายฝากใจไว้ รักไม่ร้ายทำลายกัน เพียงเธอส่งฝันใจมั่นต่อเธอ อยากจะพบเจอเธออยู่ทุกครา
เสียงเพลงไทยทำนองและดนตรีสไตล์ญี่ปุ่น “อดีตรัก” ของ “ต้อม เรนโบว์” ดังขึ้นในกิจกรรมพายเรือเก็บขยะในคลอง เมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๖ ตามลำคลองบ้านพร้าว จังหวัดปทุมธานี ใกล้ มธ. ศูนย์รังสิต ในบรรยากาศเวลา ๖ โมงเย็นที่แสงบนฟ้าหรี่ต่ำ ท้องฟ้าเป็นสีส้มปนชมพู มีสายรุ้งทอดยาวจากฟ้ามุ่งสู่พื้นดินผสานเป็นฉากหลัง มหัศจรรย์ของท้องฟ้าคือสิ่งที่ปริญญามองเห็น
ปริญญามีโปรเจกต์ที่เขากำลังร่วมมือกับท้องฟ้า นั่นคือ “พารามอเตอร์” รถสามล้อลอยฟ้าผูกติดกับร่มร่อนขนาดใหญ่
“มองจากดินไม่พอต้องมองจากบนฟ้า”
เขาคิดว่าบางปัญหาเขาไม่สามารถรับรู้ได้ เพราะไม่เห็น เมื่อไม่มีคนรับรู้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข จึงเกิดโปรเจกต์การมองเห็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกจากฟ้าได้ถนัดตา
เขาช่างคิดเหนือมนุษย์ คือความรู้สึกในใจเรา
ผลลัพธ์จากการเริ่มสำรวจด้วยมุมมองบนท้องฟ้า ทำให้เขาเห็นถึงปัญหาสภาพป่าชายเลนบริเวณอ่าวไทย ตลิ่งปูนกันน้ำกันคลื่น อุตสาหกรรมเมือง และปัญหาอื่น ๆ อีกมาก เหล่านี้เป็นแผนที่จะนำมาสู่วิธีแก้ไขปัญหาในอนาคต
บทสนทนาที่ ๒ จบลง
ปิติอธิบายว่า การเรียนการสอนมีอยู่สามระดับ คือ บอกความรู้ เป็นตัวอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับเขาปริญญาคือครูที่สร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ สร้างความตระหนักให้ผู้คนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลง เขาย้ำว่า “ความหนักแน่นของอาจารย์ปริญญาคือส่วนสำคัญ”
เก้าอี้ขาวในห้องเรียน
“ผมอยากเห็นนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ตั้งคำถามกับตัวเองให้มากขึ้นในเรื่องบทบาทและหน้าที่ที่มีต่อสังคม” ปริญญาเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร สารคดี เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ขณะที่เขาเป็นเลขาธิการ สนนท.
วันนี้เขามีเสียงมากพอในฐานะอาจารย์ของศิษย์ จึงเกิดเป็นเรื่องราวของเก้าอี้ขาว
ปริญญายกเก้าอี้ขาวมาตั้งหน้าห้องเรียนที่จุคนได้นับร้อย ในรายวิชาพลเมืองต่อความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ TU100 วิชาบังคับของ มธ. ที่นักศึกษาปริญญาตรีทุกคนต้องเรียน ซึ่งปริญญารับหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ดูแลรายวิชาและผู้สอน
“เราเห็นอะไรที่มาประกอบเป็นเก้าอี้ตัวนี้ บอกมาคนละหนึ่งอย่าง” ปริญญาถามนักศึกษาในห้องเรียน
“พลาสติก” “เหล็ก” นักศึกษาปริญญาตรีตอบแทรกกัน
“ถ้าสังเกต แล้วค้นหา เราจะเจอนอต ข้อต่อ ข้างใต้มีตะแกรง มีลูกยาง นอกจากองค์ประกอบพวกนี้เราเห็นอะไรอีกบ้าง” ปริญญาถามนำ
“ดีไซน์” นักศึกษาชายตะโกนตอบ
“ถ้ามีดีไซน์ ก็ต้องมีคนดีไซน์ใช่ไหม แล้วคนดีไซน์เรียนมาจากที่ไหน ก็ต้องมหาวิทยาลัย แล้วมหาวิทยาลัยประกอบด้วยใครบ้าง จากเก้าอี้ตัวหนึ่งเรามองเห็นสังคมและโลกทั้งใบได้นะ เห็นอะไรอีกบ้าง”
“เห็นโรงงาน” นักศึกษาแถวหน้าพูดขึ้นเบา ๆ
“โรงงานต้องมีคนงาน ลูกจ้าง นายจ้าง ค่าแรง ความเหลื่อมล้ำ มีเรื่องโลกร้อน เชื่อมโยงกันหมดเลย” ปริญญาแจงต่อ
“คนขับมาส่ง” นักศึกษายังคงให้คำตอบ
“แล้วระหว่างทางคนขับรถส่งของแวะปั๊มเติมน้ำมันอีก น้ำมันมาจากไหน ตะวันออกกลาง หรือใกล้หน่อยก็มาเลเซีย แล้วถ้าคนมาส่งหิวข้าว ก็ต้องไปกินข้าวอีก ใครปลูกข้าว ชาวนา ‘เราเห็นโลกทั้งใบได้จากการมองเก้าอี้’ ด้วยความคิดแบบเชื่อมโยง ฝึกมองให้เห็นหลาย ๆ มุม และเห็นที่มาของมัน”
“แล้วสุดท้ายมันเกี่ยวกับเรายังไงครับ” ปริญญาถามพร้อมกับบรรยากาศในห้องที่เงียบลง
“เราเป็นคนนั่งครับ” ปริญญาตอบเอง
“ที่มีเก้าอี้เพราะมีนักศึกษา ความหมายก็คือเราเองที่เป็นคนทำให้มีเก้าอี้ด้วยนะครับ ดังนั้นเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมทั้งหมด ถ้าเราทำประโยชน์ในทางบวก สังคมก็เกิดประโยชน์ในทางบวก ข้อสำคัญคือขอให้ตระหนักอยู่เสมอว่าให้มองเห็นตัวเอง อยู่ในปัญหา แล้วมองไปที่สาเหตุของปัญหา”
วิธีคิดที่เชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกัน ไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด
ชาตรี ของเขตไทย ประธานชุมชนคุ้งผ้าพับยินดีที่ปริญญาลงพื้นที่ทำงานหลายครั้งจนเกิดดอกผลมากมาย
“ถ้าเรามองแยกส่วน เอาสิ่งแวดล้อมไว้ก่อน แล้วเราอาจได้การเมืองที่แย่ลง มันเกี่ยวข้องกันด้วย สิ่งแวดล้อมแย่การเมืองก็แย่” ปริญญาพูดเกริ่นก่อนที่จะขยายความต่อ
“เราได้บ้านใหญ่ (กลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่น-ผู้เขียน) จากนายทุนสัมปทานป่าไม้ พอสิ่งแวดล้อมแย่คนจนก็ได้รับผลกระทบก่อน คนจนมองไม่เห็นโอกาสนอกจากเงินที่ให้เขา ก็รับเงิน เพราะมันเห็นชัด ๆ พอตอนสิ่งแวดล้อมแย่ คนจนก็จนลงและเขาก็เลือกเงิน ตอนเลือกตั้ง เลือกระบบอุปถัมภ์เพราะเขาต้องการใครมาช่วยเขาจากปัญหาเหล่านี้ เราจึงต้องแก้ปัญหาการเมือง สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกัน ถ้าเห็นความเชื่อมโยงกัน”
เราอึ้งไปสักพัก เพราะไม่เคยคิดเช่นนี้
ปริญญายังพานักศึกษาผู้ฟังเรื่องราวเก้าอี้ขาวมาเห็นปัญหาของชุมชนคุ้งผ้าพับ ใกล้ มธ. ศูนย์รังสิต เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียลงคลอง ปัญหาขวดพลาสติก ฝึกความคิดเชื่อมโยงให้นักศึกษา เขาต้องการบอกว่า เก้าอี้ขาวไม่ได้เป็นเรื่องเล่าเปล่าประโยชน์ ถ้าลองทำ มันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
ถ้านักศึกษา ๑ คนใน ๑๐ คนทำได้อย่างที่ปริญญาหวัง เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก
“หากน้ำรั่วเข้ามาในเรือแล้วเราวิดน้ำออกโดยไม่หารูรั่ว เราต้องวิดไปทั้งชีวิต” ประโยคสั้น ๆ ที่ปริญญาบอกนักศึกษาในวิชา TU100
วันเกษียณของเก้าอี้ขาว
ปริญญาย้ำว่าจะถ่ายทอดเรื่องราวของเก้าอี้ขาวต่อไปเพื่อสร้างพลเมืองที่ดีของโลก
“ผมทำทั้งหมดเพราะว่ามันต้องทำ” คือคำยืนยันความคิด
“ความตายคือการเกษียณ” และเพื่อสร้างสีสันแห่งความสนุกในการทำงานเพื่อโลก
“พยายามทดลองหาทางใหม่ ๆ หาวิธีการใหม่ ๆ เจอผู้คนใหม่ ๆ”
เก้าอี้ขาวและปริญญาคงเหมือนกัน วันเกษียณคือวันที่ร่างแตกดับ แต่ต่างกันตรงที่แนวคิดเก้าอี้ขาวของปริญญายังคงดำเนินต่อไปได้ในจิตใจของผู้คน
สำหรับเรา การเป็นนักกฎหมายที่มั่นคงก็คงเพียงพอกับความสมบูรณ์ของชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง แต่ปริญญามองมากกว่านั้น
“ผมเป็นนักกฎหมายโดยอาชีพ เพราะสังกัดคณะนิติศาสตร์ แต่อย่าปิดกั้นตัวเองว่าเราเป็นนักโน่นนักนี่ อยากให้คิดว่าเราเป็นมนุษย์ มาช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญ เพราะว่ามันคือเรื่องของทุกคน คืออนาคตของมนุษยชาติ การทำลายสิ่งแวดล้อมคือการทำลายตัวเราเอง” น้ำเสียงจริงจัง
“เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราต้องเห็นความเชื่อมโยงของตัวเราต่อสังคม การกระทำของเรามีผลกระทบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ ต้องเห็นความเชื่อมโยงกันและรับผิดชอบสังคมร่วมกัน” ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นายเก้าอี้ขาวกล่าวทิ้งท้าย