Image
Haeundae Beach Train Card
กับเรื่องเล่าของ
ทางรถไฟสายทงแฮนัมบู
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพการ์ดที่ระลึก : ประเวช ตันตราภิรมย์
เมื่อโรคโควิด-๑๙ ที่ระบาดยาวนานร่วม ๓ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๙-๒๐๒๒) บรรเทาความรุนแรงลง ก็บังเอิญว่าประเทศแรกที่ผมมีโอกาสได้กลับไปเยือนในช่วงต้น ค.ศ. ๒๐๒๓ คือสาธารณรัฐเกาหลี หรือเกาหลีใต้
เป็นการอินเทรนด์โดยไม่ได้ตั้งใจ กับกระแสภาพยนตร์ ละคร ดารา นักร้อง ฯลฯ และอะไรต่อมิอะไรที่เป็นเกาหลีซึ่งกำลังมาแรงในเมืองไทย

ครั้งนี้มีโอกาสเดินทางไปเมืองสำคัญเมืองหนึ่งที่มักปรากฏในภาพยนตร์และละครคือ Busan ที่คนไทยออกเสียงกันคุ้นปากว่า “ปูซาน” (แทนที่จะเป็น “บูซาน”) ซึ่งในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ เมืองนี้มีความสำคัญเป็นรองก็เพียงกรุงโซล (Seoul ออกเสียงว่า “ซออุล” แต่คนไทยเรียก “โซล” ติดปากแล้ว)

ปูซานตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรเกาหลีทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเมืองใหญ่อันดับ ๒ ของประเทศ เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมและธุรกิจสำคัญ โดยเฉพาะการต่อเรือ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ยังเป็นปลายทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เริ่มสนใจสถานที่ท่องเที่ยวแหล่งใหม่ ๆ ในเกาหลีใต้

เอาเข้าจริงแล้ว มีคนรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวในปูซานให้ชมกันแบบไม่หวาดไม่ไหวในโลกออนไลน์ แต่สถานที่หนึ่งที่ผมสนใจคือทางรถไฟเก่าสายหนึ่ง ซึ่งกลายเป็นที่นิยม

ภาพจำของสถานที่แห่งนี้คือรถไฟวิ่งเลียบหาด ทะเลสีน้ำเงินเป็นฉากหลัง มีตู้รถไฟเล็ก ๆ น่ารักหลากสีเคลื่อนอยู่บนทางยกระดับเหนือทางรถไฟ คล้ายกับภาพวาดและการ์ตูนญี่ปุ่น

ผมมาทราบเมื่อไปถึงว่า ฉากที่เห็นคือส่วนหนึ่งของอดีตทางรถไฟสายทงแฮนัมบู (Donghae Nambu Line) ซึ่งถูกปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวในนามทางรถไฟเลียบหาดแฮอุนแด (Haeundae Beach Train)
Image
ทางรถไฟสายนี้มีประวัติยาวนานย้อนไปถึงสมัยที่เกาหลียังเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น เส้นทางเลียบหาดนี้สร้างใน ค.ศ. ๑๙๓๕ (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๘ ของสยาม) เป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมทางรถไฟระหว่างเมืองโพฮัง (Pohang) และ
แทกู (Daegu) ที่อยู่ทางด้านตะวันออกและใจกลางคาบสมุทรเกาหลีเข้ากับปูซาน

ทางสายนี้ถูกใช้งานตลอดมา จนล่วงเข้าสู่ ค.ศ. ๒๐๑๓ เมื่อมีโครงการสร้างระบบรถไฟขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ารางคู่ จึงมีการเปลี่ยนแนวเส้นทางใหม่ ทำให้รางเก่าที่วิ่งเลียบชายหาดส่วนหนึ่งยาว ๔.๘ กิโลเมตร ไม่ถูกใช้งาน ทางนครปูซาน (Busan Metropolitan City) จึงทำโครงการทางรถไฟสีเขียว (Busan Green Railway) โดยสร้างวนอุทยานและเส้นทางศึกษาธรรมชาติตลอดแนวรางรถไฟ ส่วนรางรถไฟจะใช้งานกับรถไฟเลียบหาด และสร้างแคปซูลลอยฟ้าแฮอุนแด (Haeundae Sky Capsule) ที่จะวิ่งบนรางยกระดับเหนือทางรถไฟ

ทางรถไฟเลียบหาดที่วิ่งบนพื้นมีทั้งหมดหกสถานี เริ่มจากสถานีมีโพ (Mipo Station), อุโมงค์ดัลมาจี (Dalmaji Tunnel), ช็องซาโพ (Cheongsapo Station), ทางเดินลอยฟ้าดาริตดอล (Daritdol Skywalk), กูด็อกโพ (Gudeokpo) และสิ้นสุดที่สถานีซงจง (Songjong Station) วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลา ๓๐ นาที ค่าโดยสารแบบเที่ยวเดียว ๗,๐๐๐ วอน (ประมาณ ๑๙๒ บาท)

ส่วนแคปซูลลอยฟ้ามีระยะทางสั้นกว่า คือ ๒.๓ กิโลเมตร วิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ย ๔ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เพื่อให้ชมทิวทัศน์ได้นานกว่าการนั่งรถไฟ) แต่ละตู้โดยสารนั่งได้สี่คน ใช้สีเขียว เหลือง แดง ฟ้า โทนสดใส ค่าโดยสารเริ่มต้น ๓ หมื่นวอน (ประมาณ ๘๒๑ บาท)

สิ่งสำคัญที่จะได้จากการนั่งแคปซูลคือพื้นที่ส่วนตัวระหว่างชมวิว หากมาคนเดียวต้องจ่ายค่าโดยสารสำหรับสองคน (แต่ได้ยึดตู้โดยสารทั้งตู้) โดยระบบการเดินรถเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด
Image
ส่วนทางเดินศึกษาธรรมชาติเลียบหาดปูซาน (Busan Green Railway Coastal Walking Trail) แบบระยะสั้น มีระยะทางเท่ากันกับเส้นทางของแคปซูลลอยฟ้า (๒.๓ กิโลเมตร) ใช้เวลาเดิน ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที ผ่านจุดสำคัญริมหาด แต่ถ้าเดินแบบระยะยาวจะมีระยะทาง ๙.๘ กิโลเมตร

การก่อสร้างโครงการทั้งหมดกินเวลา ๕ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๒๐) เปิดใช้งานไม่นานก็กลายเป็นจุดขายสำคัญของเมืองปูซาน และเชื่อว่าเร็ว ๆ นี้คงปรากฏอยู่ในภาพยนตร์หรือละครเกาหลีใต้สักเรื่อง ตามสไตล์เกาหลีที่นำเสนอการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับสื่อบันเทิงแบบครบวงจร

ผมพบว่าช่วงที่ไปลองนั่งรถไฟและแคปซูลนั้น สถานีต้นทางคือมีโพ คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวที่มาต่อแถวยาวรอใช้บริการ บางส่วนจึงตัดสินใจเดินเข้าไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบหาดที่ไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งผมพบว่ามีจำนวนมากใช้เป็นเส้นทางเดิน/วิ่งออกกำลังกาย

นั่นหมายความว่าชาวเมืองได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นจากเส้นทางรถไฟที่เดิมทีจะถูกทิ้งร้าง ในขณะที่เส้นทางใหม่ก็ตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น ด้วยระบบที่ทันสมัยกว่าเก่า

ยังไม่นับว่ามีร้านขายของที่ระลึกรอ “ดัก” อยู่ตามสถานีต่าง ๆ บนเส้นทาง เรียกเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวได้หลายสตางค์ในแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่าผมก็โดนล้วงเงินไปจากการซื้อ Haeundae Beach Train Card การ์ดที่ระลึกของเส้นทางสายนี้ซึ่งให้บรรยากาศราวกับภาพในการ์ตูนของสตูดิโอจิบลิ (Ghibli) ในญี่ปุ่น ด้วยราคาราว ๒๐๐ กว่าบาท

ระหว่างนั่งกินลมชมวิวทะเลบนแคปซูล ผมนึกถึงบทสนทนากับเพื่อนชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งที่เคยบอกว่า หลักคิดของการพัฒนาเมืองบ้านเขาจะผสมระหว่างความทันสมัยกับของเก่า คือจะอนุรักษ์ไปพร้อมกับหาทางใช้ประโยชน์ไปด้วย โดยประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนออกเสียงและกำหนดทิศทางพอสมควร
อดไม่ได้ที่จะเอามาเปรียบเทียบกับเรื่อง “พัฒนา” และ “อนุรักษ์” สำหรับกรณีการสร้างและปรับปรุงทางรถไฟในบางประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งผมขอละไว้ในฐานที่เข้าใจ