ฝันยังไง
ทำไมลืมตลอด ?
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
เวลาเราตื่นนอน ส่วนใหญ่แล้วจำความฝันไม่ค่อยได้ มีเพียงบางครั้งบางคราที่จำได้บ้างนิดหน่อย และมีน้อยครั้งจริง ๆ ที่จำได้เป็นเรื่องเป็นราวชนิดที่เล่าให้คนอื่นฟังได้เป็นฉาก ๆ
เกิดอะไรขึ้นกับความทรงจำเกี่ยวกับความฝันของเรา ?
ในระหว่างนอนหลับนั้น เราไม่ได้ฝันตลอดเวลา การฝันแต่ละครั้งกินเวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที แต่เราจะมีวงจรการหลับและฝันซ้ำ ๆ ทุก ๙๐ นาที ดังนั้นหากนอน ๘ ชั่วโมง ก็จะฝันรวม ๆ แล้วราว ๒๐ นาที หากนอนแค่เพียง ๖ ชั่วโมง เวลาฝันก็เหลือราว ๑๕ นาทีเท่านั้น !
ช่วงเวลาที่เราฝัน ร่างกายจะเข้าสู่ช่วงกลอกลูกตาอย่างรวดเร็ว (rapid eye movement) ที่มักเรียกย่อ ๆ ว่า ระยะ REM สมองจะทำงานคล้ายขณะที่ตื่น แต่มีความแตกต่างหลักที่สำคัญคือ สมองส่วนที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายความจำจากระยะสั้นเข้าสู่การบันทึกเป็นความทรงจำระยะยาวทำงานน้อยมากจนแทบไม่ทำงาน
ผลก็คือความทรงจำจะอยู่เพียงช่วงสั้น ๆ แค่ ๓๐ วินาทีเท่านั้น ผลเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจน ดังแสดงให้เห็นในการทดลองกับหนู
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโงยะ ประเทศญี่ปุ่น อาศัยการวัดปริมาณฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่เซลล์ประสาทสร้างขึ้นเมื่อหลับอยู่ในระยะ REM เทียบกับการทำงานของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความทรงจำ ระยะยาวและการเรียกคืนความทรงจำจึงทำให้รู้ว่ามีการสร้างความทรงจำเกิดขึ้นน้อยมากในช่วงนั้น
หากต้องการระลึกถึงความฝันจากช่วง REM จึงจำเป็นต้องตื่นขึ้นมาในช่วงดังกล่าว เพื่อทบทวนความทรงจำระยะสั้น
ที่ยังสดใหม่ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาว มิฉะนั้นเราก็จะลืมอย่างรวดเร็ว
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เรามักจะจำความฝันท้ายสุดก่อนตื่นได้ ไม่ว่าจะฝันมากน้อยแค่ไหนในแต่ละคืน เหตุผลก็เป็นดังที่กล่าวไปแล้วคือความฝันเป็นความทรงจำระยะสั้น
เรื่องที่น่าสนใจมากก็คือ แต่ละคนมีแนวโน้มจำความฝันได้ไม่เท่ากัน
การศึกษาวิจัยความฝันมากถึง ๑๗๕ การทดลอง ทำให้รู้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงมักจดจำความฝันได้มากกว่าผู้ชาย คนหนุ่มสาวก็มักจดจำความฝันได้ดีกว่าคนสูงอายุ เด็กเล็กวัยเริ่มพูดคุยจะจำความฝันได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงอายุราว ๒๐ ปี จากนั้นจึงลดความสามารถลงทีละน้อยตลอดชีวิต
มีปัจจัยรายบุคคลที่ทำให้แตกต่างกันอีกด้วย ทำให้บางคนจำความฝันแทบไม่ได้เลย ขณะที่บางคนจำได้แม่นยำ และ อาจจำได้หลาย ๆ เรื่อง
คนที่เก็บตัวและสนใจแต่เรื่องของตัวเองเป็นส่วนใหญ่มีแนวโน้มจดจำความฝันได้ดีกว่า ขณะที่พวกชอบเข้าสังคมและมุ่งมั่นทำสิ่งต่าง ๆ มีแนวโน้มจดจำความฝันได้น้อยกว่า
มีการทดลองใน ค.ศ. ๒๐๑๗ ที่ครอบคลุมผู้เข้าร่วมการทดลองถึง ๒,๔๙๒ คนชี้ให้เห็นว่า คนที่มีบุคลิกแบบเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ต้องการทดลองสิ่งใหม่ ๆ หรือชอบคิดหาแนวคิดใหม่ ๆ มีแนวโน้มจะจดจำความฝันได้ดีกว่า
นอกจากนี้แล้ว คนที่ฝันร้ายบ่อย ๆ ก็มักจดจำความฝันได้มากกว่าอีกด้วย
คนจำพวกที่มี “ฝันแบบรู้ตัว” (lucid dreaming) มักมีความทรงจำเกี่ยวกับความฝันแจ่มชัดมากเป็นพิเศษ และบางคนถึงกับ “ควบคุม” บางอย่างในความฝันนั้นได้ด้วย ชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีความแตกต่างบางประการเกี่ยวกับการทำงานพื้นฐานของเซลล์ประสาทระหว่างคนจำพวกนี้กับคนทั่วไป
คนที่ชอบเสี่ยงโชคทุกต้นเดือนกับกลางเดือนน่าจะชอบใจหากจดจำความฝันได้ชัดเจนเช่นนี้ เพราะนำมาตีเลขได้มาก
ขึ้น
เลสลี เอลลิส (Leslie Ellis) ที่ปรึกษาทางคลินิกของมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียและเป็นผู้เขียนหนังสือ A Clinician’s Guide to Dream Therapy : Implementing Simple and Effective Dreamwork (คู่มือทางคลินิกของการบำบัดความฝัน : จัดการความฝันอย่างง่ายและมีประสิทธิภาพ) แนะนำผู้มารับคำปรึกษาว่า หากต้องการจดจำความฝันให้ดีขึ้น วิธีที่ต้องทำก็คือ ทันทีที่ตื่นขึ้น ก่อนทำสิ่งอื่นใดแม้แต่การขยับตัว ให้คิดทบทวนเกี่ยวกับความฝันสด ๆ ร้อน ๆ และจดจำให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็ให้เขียนบันทึกไว้ หากไม่ทำเช่นนี้ ความฝันก็จะหลุดลอยหายไป
วิธีการนี้จะเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นให้เป็นความทรงจำระยะยาว
สำหรับบางคนที่คิดว่าความฝันเป็นเรื่องฟุ้งซ่านเหลวไหล จะจดจำไปเพื่ออะไรกันนั้น อย่าได้ลืมว่าในสมัยโบราณหลายวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับความฝัน ถึงกับมี “คู่มือทำนายฝัน” กันเลยทีเดียว อันที่จริงหนังสือแนวทำนายฝันของสังคมไทย คนในวงการหนังสือเคยให้ข้อมูลว่าเป็นหมวดขายดีเสมอ
มีบันทึกมากมายกล่าวถึงความฝันที่วิจิตรพิสดารของมารดาแห่งมหาบุรุษก่อนให้กำเนิดท่านเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเทวดาหรือนางฟ้านำแก้วมาให้ หรือเห็นแสงสว่างเจิดจ้าลอยมาลงที่ท้อง เป็นต้น แสดงถึงการให้ความสำคัญกับความฝันของคนสมัยก่อนเป็นอย่างมาก
โลกสมัยใหม่ในทางจิตวิทยาอาจใช้ความฝันบ่งชี้สภาวะจิตใจของคนผู้นั้นในช่วงเวลานั้น ๆ เพราะระหว่างวันเราอาจกดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ไว้โดยไม่รู้ตัว แต่ขณะนอนหลับ อารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นเผยตัวออกมา
ตัวอย่างเด่นชัดและพบบ่อยคือฝันว่าไปสอบไม่ทัน จำวันสอบผิด จำวิชาสอบผิด หรือได้คะแนนสอบไม่ดี รวมถึงฝันว่าตกจากที่สูง ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นถึงความเครียดที่กำลังเผชิญในชีวิต เมื่อรู้เช่นนี้แล้วก็ควรหาทางผ่อนผันให้บรรเทาเบาบางในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง จะทำให้ใช้ความรู้เกี่ยวกับความฝันมาช่วยรับมือกับปัญหาขณะลืมตาอยู่ได้
ประเด็นสุดท้ายที่น่าสนใจและอยากนำมาฝากกันก็คือ การพูดคุยเกี่ยวกับความฝัน การอ่านหนังสือเกี่ยวกับความฝันหรือการหมกมุ่นกับเรื่องความฝันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพ “การเรียกคืนความฝัน” ได้
โดยสรุปคือเรามักจดจำความฝันไม่ค่อยได้ แต่ก็มีวิธีจดจำความฝันให้ได้มากและดีขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ความฝันสัมพันธ์กับการตื่นอย่างมีนัยสำคัญ
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับฝันดี ส่วนใครจะเสี่ยงโชคก็อย่าเสี่ยงเยอะ เพราะความฝันส่วนใหญ่ไม่สัมพันธ์กับความแม่น !