Image

ให้ธรรมชาติเป็นธรรมชาติ
ดร. ดนัย ทายตะคุ

INTERVIEW

สัมภาษณ์และเรียบเรียง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
ถอดเสียงสัมภาษณ์ : วรรณิดา มหากาฬ
ภาพ : จิตรทิวัส พรประเสริฐ

เคยรู้จักสถาปนิกที่ไม่ออกแบบอาคารบ้างไหม

บางคนอาจตอบว่าก็สถาปนิกที่จัดสวนไง

เมื่อถาม ดร. ดนัย ทายตะคุ อาจารย์อธิบายว่า แท้จริงแล้วสถาปนิกจัดสวนคือภูมิสถาปนิก หรือภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งหลายคนในวิชาชีพนี้ก็ยังสับสนเรียกตัวเองว่าสถาปนิก เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย ๆ แต่ก็ทำให้เข้าใจผิดกันมาตลอด

ดร. ดนัยน่าจะเป็นภูมิสถาปนิกที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จักหรือได้ยินชื่อ

แต่ในวงการภูมิสถาปัตยกรรม หรือภูมิ-นิเวศ (landscape ecology) เขาคือผู้บุกเบิกแนวทางนี้ในเมืองไทยคนแรก ๆ  อาจารย์สอนอยู่ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเกษียณ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษวิชาภูมินิเวศและปฏิบัติการออกแบบบนฐานภูมินิเวศ (สถาปัตย์ จุฬาฯ) และสอนประจำที่หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรม (หลักสูตรนานาชาติ) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ภูมินิเวศคือการออกแบบพื้นที่ด้วยความเคารพต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ โครงการที่เขาเคยร่วมวางผังและออกแบบ เช่น การฟื้นฟูที่ดินเหมืองแร่เก่าให้เป็นสวนสาธารณะ  งานออกแบบปรับเปลี่ยนพื้นที่เล็ก ๆ อย่างลานจอดรถ ลานคอนกรีต ตามคณะต่าง ๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นพื้นที่สีเขียวและพื้นที่หน่วงน้ำ ช่วยชะลอน้ำตอนฝนตกหนักไม่ให้ไหลออกไปในระบบระบายน้ำของ กทม. ที่ปริมาณน้ำอาจล้นแล้ว โดยอาศัยหลัก nature based solution และ “small is beautiful” ที่อาจารย์สะท้อนว่า “เรามักจะมองอะไรใหญ่ ๆ โต ๆ แต่ไม่มองว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ช่วยได้ ถ้าคิดให้กว้าง ลึก ละเอียด ถี่ถ้วน และครอบคลุม”

อาจารย์บอกว่านักภูมิสถาปนิกเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมหรือนำธรรมชาติกลับมาสู่มนุษย์ แต่หลายคนยังมีความเข้าใจผิด ออกแบบ วางผังพื้นที่ โดยขาดความรู้เรื่องระบบนิเวศ เช่น นำไม้ต่างถิ่นเข้ามาปลูก หรือเปลี่ยนแปลงภูมิ-นิเวศดั้งเดิมจนเสียหาย

ช่วงระยะ ๓-๔ ปีหลังมานี้ เขามีส่วนร่วมในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งต้องการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดดั้งเดิมให้คืนกลับมา มีการรื้อเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นหน้าหาดออก เพื่อให้การก่อตัวของหาดทรายดำเนินไปตามกระบวนการของฤดูกาลและธรรมชาติของกระแสน้ำ เอาต้นสนทะเลจำนวนมากซึ่งเป็นพันธุ์ไม้เอเลียนออกจากพื้นที่เพื่อให้เมล็ดพืชพันธุ์ดั้งเดิมมีโอกาสเติบโต

ดร. ดนัยมองว่าอนาคตของมนุษย์และธรรมชาติอยู่ที่ความเข้าใจของเราต่อคุณค่าของธรรมชาติ ความเข้าใจว่าเรามีวิวัฒนาการร่วมกับธรรมชาติมาอย่างไร และโครงการที่พระ
ราชนิเวศน์มฤคทายวันอาจเป็นความหวังหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจให้สังคมมากขึ้น

Image

พืชพันธุ์ท้องถิ่นกลับมาให้เห็น เช่น หญ้าลอยลม ที่มีใบเป็นรูปทรงกลมดาวกระจายปลิวไปตามลม

อาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้อย่างไร

ตอนนั้นมีนิสิตปี ๕ ในภาควิชาภูมิสถาปัตย์ ต้องทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบ เขาเลือกตรงนี้ คิดว่าจะทำภูมิสถาปัตย์ (landscape architecture) ของอุทยานเรียนรู้ที่นี่

ผมบอกเขาว่าก่อนที่จะไปแตะต้องอะไรต้องดูว่ามันเป็นอะไรมาก่อน  เรามีเครื่องมือคือภาพถ่ายทางอากาศ เก่าสุดที่มีคือปี ๒๔๙๐ ของกรมแผนที่ทหาร เอามาดูก็เห็นเลยว่าบริเวณนี้เคยเป็นแนวสันทรายชายหาดขึ้นไปชนถึงบริเวณที่เป็นนาข้าว  เราศึกษาโครงสร้างแนวพื้นที่สันทรายชายหาดตั้งแต่ทะเลเข้ามา ก็พบว่ามันใช้เวลาหลายพันปีในการวิวัฒนาการมาจนถึงทุกวันนี้

ผมก็เลยบอกว่าสิ่งที่เขาคิดไว้ตั้งแต่ต้นไม่ใช่แล้วละ การไปเพิ่มเติมอะไรจะตรงข้ามกับธรรมชาติที่เคยเป็น  เราน่าจะพูดว่าธรรมชาติคืออะไร ฟื้นฟูธรรมชาติขึ้นมาเป็นโรงเรียนสอนธรรมชาติวิทยาได้อย่างไร เราสามารถเรียนรู้ธรรมชาติว่ามีมิติอะไรบ้าง

ถ้าทำทางเดินให้คนเข้ามาก็เหมือนว่าเราได้เดินผ่านช่วงเวลาหลายพันปีของธรรมชาติ แต่ถ้าทำตามความคิดเดิมก็แค่ออกแบบทำทางเดินในป่าชายเลน ชมธรรมชาติเฉย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก

เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่อยากจะทำ landscape หรือสิ่งที่อยากจะบอก ก็เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์อย่างเดียวเหรอเป็น landscape เพื่อผู้บริโภคอย่างเดียวเหรอ  แต่ถ้าให้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง เราจะตั้งคำถามว่าธรรมชาติตรงนั้นคืออะไร จะอยู่กับธรรมชาติแบบนั้นอย่างไร

แต่ก็อาจมีคนให้เหตุผลว่า ถ้าไม่ทำ landscape ให้มนุษย์แล้วจะทำให้ใคร ทำให้แมลงสาบเหรอ

ในแง่การจัดการฟื้นฟูระบบนิเวศชายหาดตรงนี้ ทำอะไรไปบ้างแล้ว

เราดูว่าอะไรที่ขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการธรรมชาติ  อย่างแรกที่เห็นชัดและง่ายที่สุด คือเอาสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นหรือเอเลียนออก คือต้นสนตรงชายหาด เพื่อให้ลมทะเลพัดเอาไอเค็มเข้ามาเป็น salt spray เพราะฉะนั้นพวกไม้ประดับที่ปลูก ๆ ไว้ก็จะตายไป  ให้พวกไม้เบิกนำชายหาดเข้ามาเองตามธรรมชาติ

ต่อมาเรารื้อเขื่อนหน้าหาดออก และก็ลองขุดดินที่แต่ก่อนถมทำพื้นที่เป็น landscape ปลูกหญ้าให้คนมาเดินเที่ยว ซึ่งเราพบว่าลึกลงไปข้างล่างเป็นชั้นทรายขาวเดิม ก็เอาดินปลูกออกไปเลย ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น  ผ่านไปหนึ่งฤดูฝน พวกชะคราม ผักเบี้ย แสม ก็เริ่มขึ้นมา

หลังจากที่เอาดิน ต้นสนออก ก็มองเห็นพัฒนาการที่มีพืชท้องถิ่น (native species) มายึดครองพื้นที่ชัดเจน  เราก็เริ่มขยาย เอาดินในพื้นที่อื่น ๆ ออกมากขึ้น  เห็นได้เลยว่าธรรมชาติมีกระบวนการที่พร้อมทำงานอยู่แล้ว ผ่านมาสัก
๓ ปี ตอนนี้เราเดินเข้าไปไม่ได้แล้ว ชะครามกับผักเบี้ยคลุมพื้นที่ทั้งหมด พวกแสมก็ขึ้นเยอะมาก

ถ้าเรายังเอาความคิดจัดสวนไว้ตรงนี้ ก็เหมือนสนามหญ้า ซึ่งที่ไหนก็มี แต่จะดูดีกว่าไหมถ้าที่นี่จะแตกต่าง เป็นพื้นที่แสดงลักษณะเฉพาะของป่าชายหาดตรงนี้เอง

“ธรรมชาติริมทะเลเกือบทุกแห่งมีการสร้างอะไรทับลงไปหมดแล้ว
แต่เราไม่มีตัวอย่างของธรรมชาติเดิมเลย ผมจึงคิดว่าตัวอย่างตรงนี้จำเป็นที่จะต้องมี
อย่างการรื้อเขื่อนออก ก็ยืนยันว่าธรรมชาติที่อยู่ตรงนี้ไม่มีปัญหา
เป็นตัวอย่างว่า ไม่ต้องสร้างเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่น
ชายหาดอยู่ได้ด้วยพลวัตของมันเอง”

แต่หลายคนก็ชอบแบบสวนสวย ๆ ทำไมถึงต้องคิดว่าจะให้กลับไปเหมือนธรรมชาติเดิม

เพราะถ้าเป็นสนามหญ้าเหมือนเดิม เราจะไม่ได้เรียนรู้อะไร  มนุษย์กับธรรมชาติมีทางเลือก ไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด แต่เรากำลังจะบอกว่าความจริงคืออะไร  ที่ผ่านมาเรามีแต่ตัวอย่างของสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นแล้วก็สร้างผลกระทบ ธรรมชาติริมทะเลเกือบทุกแห่งมีการสร้างอะไรทับลงไปหมดแล้ว  แต่เราไม่มีตัวอย่างของธรรมชาติเดิมเลย  ผมจึงคิดว่าตัวอย่างตรงนี้จำเป็นที่จะต้องมี

อย่างการรื้อเขื่อนออก ก็ยืนยันว่าธรรมชาติที่อยู่ตรงนี้ไม่มีปัญหา เป็นตัวอย่างว่าไม่ต้องสร้างเขื่อนหรือกำแพงกันคลื่น  ชายหาดอยู่ได้ด้วยพลวัตของมันเอง  เป็นการเรียนรู้ในปัจจุบัน แค่ว่าถ้าธรรมชาติเป็นอย่างนี้ เราจะอยู่กับมันอย่างไร แต่ตอนนี้เราไม่มีตัวอย่างที่ไหนให้ดู

Image

รากผักบุ้งทะเลช่วยยึดทรายก่อเป็นแนวหน้าหาด

ตอนนี้คือรื้อกำแพงกันคลื่นตรงหน้าหาดของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันออกไปแล้ว

กำแพงกันคลื่นนี้เห็นชัดเลยว่าไม่มีความจำเป็น  ถ้าเราดูตอนน้ำลงจะเห็นหาดทรายยื่นออกไปไกลมาก เพียงแต่หน้ามรสุมหาดทรายจะดูเหมือนสั้นและชันขึ้น  มันไม่มีการกัดเซาะเพียงแต่ว่าความชันเปลี่ยนตามฤดูกาลเท่านั้นเอง

สมัยที่สร้างกำแพงคือเขาตกใจตอนมีพายุเข้าแล้วมาซัดชายหาดตรงนี้ ทุกคนก็คิดว่าถ้าพายุใหญ่กว่านี้จะเป็นยังไง ก็กลัว เริ่มเอาหินมาถม แต่พอถมก็เริ่มเกิดการกัดเซาะ

แต่หลายที่บอกว่าถ้าไม่สร้างกำแพง ชายหาดจะถูกกัดเซาะ

ต้องเข้าใจว่าสันทรายขึ้นอยู่กับลมและคลื่น แต่ละปีจะมีหน้ามรสุม ลมเยอะลมน้อยต่างกันไป ถ้าปีแห้งหน่อย คลื่นก็จะพัดทรายมากองเป็นสันทราย ถ้าเป็นปีแห้งต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ สันทรายก็จะใหญ่ขึ้น  แต่ก็จะมีปีเปียก คือฝนตกลงมาเยอะ ก็ชะล้างทรายจากสันทรายลงกลับทะเล สลับกันไป เป็นพลวัตที่เกิดขึ้นในระยะยาว ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยตรงนี้สักร้อยปี อนาคตก็อาจจะเกิดสันทรายอีกอันหนึ่งก็ได้

โดยธรรมชาติคลื่นซัดไปซัดมา หน้ามรสุมก็จะชันหน่อย ไม่ใช่หน้ามรสุมทรายก็มากอง  แต่พอเราสร้างโครงสร้างทับมันก็เปลี่ยน  ถ้าเป็นบ้านหรือถนนที่ไม่มีเขื่อนก็ถูกกัดเซาะจนพัง กลายเป็นเหตุผลอ้างว่าชาวบ้านร้องเรียน เลยต้องสร้างเขื่อนสร้างกำแพงต่อ  คราวนี้คลื่นก็ซัดกระแทกเขื่อนเอาทรายออกไปหมด ชายหาดก็หายไปเลย ยิ่งแย่กันเข้าไปใหญ่

เราไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้วชายทะเลด้านหน้าคือ buffer zone  ถ้ามีพายุเข้า มันจะเป็นโซนที่คอยรับการเปลี่ยนแปลง อยู่ใต้อิทธิพลของคลื่นและลม ถ้าเราสร้างบ้าน ถนนทับ มันก็เจ๊งกันไป

เราชอบคิดว่าจะใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา

ที่ผ่านมาเรามีความเจริญทางเทคโนโลยี คิดว่า landscape หลายแห่งไม่ทำให้เราแฮปปี้ ก็คิดว่าเทคโนโลยีจะแก้ได้ ไม่ได้คิดว่าสิ่งที่ทำคือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา และพอมีปัญหาใหม่ก็คิดว่าใช้เทคโนโลยี smart ทั้งหลายแก้ไปเรื่อย ๆ สะสมปัญหาใหม่ไปเรื่อย ๆ  เพราะว่าเราไม่เคยเข้าใจว่าตัวต้นเหตุจริง ๆ คืออะไร

แต่ฉลาดแค่ไหนก็แก้ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้แก้ที่สาเหตุ

แต่ถ้าไม่ใช้เทคโนโลยีแล้วเราจะใช้อะไรแก้

สหประชาชาติพูดเรื่อง nature based solution ไม่ใช่ technological solution เขามองว่าเทคโนโลยีไม่ช่วยอะไร

nature based solution คืออะไรประการแรก คือต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เป็นธรรมชาติแท้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ให้อะไรกับเรา ให้น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ เราจะรักษามันเพื่อให้อะไร
กับเรา

ประการที่ ๒ คือระบบธรรมชาติที่เราไปรบกวนแล้วส่งผลกระทบอะไรบ้าง เช่นการถมแม่น้ำถมคลอง แล้วเราต้องฟื้นฟูอย่างไรเพื่อให้มันช่วยสังคมมนุษย์ แล้วมนุษย์จะอยู่กับพื้นฐานเหล่านี้อย่างไร

ประการที่ ๓ คือคำว่า novel ecosystem คือพื้นที่ซึ่งเราเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ เช่น พื้นที่เกษตรกรรม เมือง แล้วเกิดผลกระทบตามมาจนระบบธรรมชาติสูญเสียความสามารถในการค้ำจุนสังคมของสิ่งมีชีวิต หรือความต้องการของมนุษย์เกินกว่าขีดความสามารถที่ระบบธรรมชาติจะรองรับ  ทุกวันนี้เริ่มมีความคิดและการปฏิบัติที่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่เราทำกันอยู่ เพื่อให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เช่น แนวคิดการทำไม้ที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศมากขึ้น เรียกว่า นิเวศการป่าไม้ (ecoforestry) หรือโครงการ Cloudburst Management Plan ที่ออกแบบเมืองโคเปน-เฮเกนให้รับมือกับฝนตกหนักอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

หลายคนเอาวิศวกรรมมาบอกว่าคือ nature based solution หลายคนบอกว่าปลูกป่าคือ nature based solution ซึ่งไม่ใช่ เขาไม่เข้าใจความหมายจริง ๆ  ตอนนี้ก็เลยกลายเป็น CSR ปลูกป่าว่าฉันทำแล้ว nature based solution

เราต้องย้อนกลับไปประการแรก คือปกป้องธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เราจะดูแลรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่มีอยู่แล้วอย่างไร หรือมีพื้นที่ไหนที่ยังไม่ได้อนุรักษ์ เช่นป่าชายเลน

ทำไมปลูกป่าถึงไม่ใช่ nature based solution

เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องปลูกป่า ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองได้  ดีไม่ดีการปลูกป่าปล่อยคาร์บอนมากกว่าด้วยซ้ำ พืชพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งพื้นชั้นล่างพื้นชั้นบนงอกขึ้นมาเองได้

เราเห็นได้จากตัวอย่างในพื้นที่การฟื้นฟูของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งเราไม่ได้ปลูกเลย เพราะมันมีธนาคารเมล็ดพันธุ์ (seed bank) ฝังอยู่ในแต่ละที่ และก็เป็นพันธุกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ (genetic character) ซึ่งคือความหลากหลายทางชีวภาพ  อย่างต้นแสมที่เพชรบุรีก็ไม่เหมือนแสมที่จันทบุรี

การให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองจึงช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพได้ดีกว่า

เหมือนกับว่าเราตัดไม้เยอะแยะ แล้วเป็นแรงกดดันว่าจะแก้ปัญหา ก็คิดว่าปลูกป่าแล้วดูดี แต่เราเอาต้นไม้จากไหนมาปลูก หลายแห่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่ตรงนั้นเคยเป็นอะไรมาก่อน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าควรปลูกอะไร แต่จริง ๆ แล้วไม่ควรปลูกอยู่ดี

แม้กระทั่งในพื้นที่เกษตรกรรม ถ้าเราทิ้งไว้เฉย ๆ เดี๋ยวต้นไม้ก็งอก ถ้าจะช่วยจริงแค่ดูว่า seed bank หรือเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมมีไหม ซึ่งเมล็ดพันธุ์สามารถฝังอยู่ใต้ดินได้นานหลายปี

Image

สภาพแนวเนินทรายที่คืนกลับมาหลังรื้อเขื่อนหน้าหาดพระราชนิเวศน์มฤคทายวันออก

แต่มนุษย์เปลี่ยนแปลงธรรมชาติมาตลอด ตอนนี้ต่างอะไรจากในอดีต

ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่ คือเราไป disrupt เส้นทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มีมายาวนาน

อย่างเช่นเรามีที่ราบลุ่มน้ำท่วม แต่ไม่ให้น้ำท่วมอีก สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่มีวิวัฒนาการกับพลวัตแบบนี้ ถ้าปรับตัวไม่ได้ก็จะหายไป ส่วนที่ปรับตัวได้ก็จะกลายเป็นระบบนิเวศใหม่  แต่ตัวที่หายไปอาจเป็นส่วนประกอบพื้นฐานของสังคมและเศรษฐกิจ เช่นปลาธรรมชาติที่ลดลงเรื่อย ๆ แล้วเราต้องไปพึ่งอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาแทน ซึ่งเขาบอกว่ามีข้อได้เปรียบคือเลี้ยงปลาได้ตลอดปี

สมัยก่อนการจับปลาในแม่น้ำหรือหนองน้ำจะมีเครื่องมือจับปลาตามฤดูกาลต่าง ๆ  ชาวบ้านรู้ว่าจะจับอะไร จับปลาขนาดไหน หรือไม่จับลูกปลา เป็นองค์ความรู้ที่เขาเรียนรู้กันมา และยังทำให้เกิดวัฒนธรรมปลาร้า เพราะในหน้าน้ำปลาเยอะมาก เหลือเฟือ แต่หน้าแล้งมีน้อย เราก็พัฒนาการเก็บถนอมอาหาร อีสานมีปลาร้า ภาคกลางก็มีพวกปลาแห้งปลากรอบ

ยกตัวอย่างเกาะอยุธยาที่มีลำน้ำหลายสายไหลมาบรรจบ กลายเป็นที่รวมตะกอนจนเป็นที่สูง พื้นที่รอบ ๆ เกาะอยุธยาเป็นที่ลุ่ม เวลาน้ำท่วมมหาศาลมาก สมัยพม่ายกทัพมาก็ต้องหลีกเลี่ยงฤดูน้ำ ต้องให้ผ่านพ้นไปก่อน เพราะถ้าน้ำท่วม ๔ เมตร ช้างม้าวัวควายก็ไม่รอด

แต่ก่อนข้าวที่ปลูกกันแถวนั้นจะเป็น “ข้าวน้ำลึก” “ข้าวฟางลอย”  ข้าวน้ำลึกอยู่ในน้ำที่ท่วมได้ถึง ๒ เมตร จนถึงสัก ๔ เมตร ส่วนข้าวฟางลอยก็เลย ๔ เมตรขึ้นไป  ผมเคยพานักศึกษาไปดูที่อำเภอบางบาล เขายังปลูกอยู่ น้ำท่วมเกิน ๔ เมตร และเคยเห็นที่ศูนย์วิจัยข้าวที่ปราจีนบุรี ต้นสูงประมาณ ๘ เมตร

มีนักวิจัยจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติทำเรื่องข้าวน้ำลึก ข้าวฟางลอย มาศึกษาตำแหน่งว่ามีข้าวน้ำลึก ข้าวฟางลอยอยู่แถวไหนบ้าง ก็พบว่ากระจายทั่วลุ่มน้ำเจ้าพระยา  ในอีสานตามแม่น้ำมูลแม่น้ำชีซึ่งเป็นป่าบุ่งป่าทาม เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บอกว่า landscape บริเวณนี้คือที่ราบลุ่ม เป็นระบบนิเวศน้ำหลาก

คนอยุธยาในอดีตเคยปรับตัวอยู่กับน้ำท่วม สร้างเมืองโดยขุดคลองจำนวนมากให้น้ำไหลผ่าน เพื่อลดความเสี่ยงน้ำท่วม

พอมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโคกอยู่กลางที่ลุ่มของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เราเอาความรู้จากอยุธยามาสร้างเมือง ขุดคลองในยุคแรก ๆ ไว้เยอะ  แต่พอตอนหลังพัฒนาเป็นเมืองสมัยใหม่ ขยายเมืองออกไปในที่ลุ่มรอบ ๆ  เรากลับไม่ได้มองเรื่องพื้นที่ลุ่ม ฝนตกหนัก ไม่ได้คิดเตรียมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะจัดการ

เราก็จะคิดกันแต่เรื่องขุดอุโมงค์ ใช้งบกี่หมื่นล้าน แต่ไม่ได้มองว่าคลองคือโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะนำน้ำไปลงอุโมงค์ ไม่ได้คิดว่าเรามีคลองกี่คลอง แล้วจะฟื้นฟูคลองให้ทำหน้าที่ได้อย่างไร ป้องกันการบุกรุกคลองอย่างไร ไม่ได้มองภาพรวมว่าที่เราเป็นเมืองมาได้ก็ด้วย landscape ที่เป็นคลอง

คือเราไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่

ที่ UN พูดเรื่อง nature based solution ก็คือเรื่องนี้

มีอีกคำที่พูดกันมากคือ resilience ซึ่งมีหลายระดับ ถ้าระยะสั้น หมายความว่าเราอยู่กับมันทน ยื้อ แล้วเราจะยื้อได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าน้ำท่วมแค่ตาตุ่มก็ยังพออยู่ได้ แต่ถ้าท่วมครึ่งล้อรถแล้วเข้าเครื่องจะอยู่ได้ไหม

ถ้าระยะกลาง adaptation คือจะปรับตัวกันอย่างไร อย่างในอดีตอยุธยาสร้างบ้านสูง ทุกบ้านมีเรือ ปรับเปลี่ยนระหว่างหน้าแล้งกับหน้าน้ำ เรียกว่า adaptation คือเราเลือกมาอยู่ในพื้นที่ลักษณะแบบนี้ก็ต้องปรับตัวให้อยู่ได้

และถ้าระยะยาว ๆ resilience ก็คือ transformation เราจะสร้างเมืองใหม่อย่างไร

ยกตัวอย่างในเกียวโตซึ่งมีแม่น้ำผ่านกลางเมืองคล้ายเชียงใหม่ เขายังคงสภาพธรรมชาติของแม่น้ำไว้ ไม่ได้ทำฝายกั้น  ในหน้าแล้งแม่น้ำจะตื้น ๆ เหมือนสมัยก่อน  ยังมีพื้นที่ใช้เป็น open channel มีลำน้ำเดินได้ทั้งวันไปถึงไหน ๆ หรือทางเหนือของเมืองก็ยังมีส่วนเกษตรกรรมเก่าเขารักษาคลองที่เหมือนกับระบบเหมืองฝายในเชียงใหม่ เวลาฝนตกก็จะเป็นทางระบายน้ำด้วย

เชียงใหม่สมัยก่อนเราเคยเล่นสงกรานต์กันในแม่น้ำปิงได้ แต่พอไปเปลี่ยนการไหลของน้ำ สร้างเขื่อนเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร การเล่นน้ำสงกรานต์ในแม่น้ำปิงก็ไม่มีอีกแล้ว  ส่วนพื้นที่ริมน้ำซึ่งน่าจะมีประโยชน์กับมนุษย์ก็หายไป เพราะสร้างถนนมาบุกรุกริมน้ำ  ถ้าเทียบกับภาพถ่ายทางอากาศสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะเห็นความกว้างของแม่น้ำปิง มีสันทราย หาด แต่สมัยนี้ความกว้างแคบลงเหลือแค่หนึ่งในสาม เพราะฉะนั้นหนีน้ำท่วมไม่พ้น ยังไงก็แก้ไม่ได้

เรามีหลายเมืองที่ขยายเมืองลงไปในแม่น้ำแบบนี้  เมืองตากตรงที่เป็นตลาดห้องแถว แม่น้ำตรงนั้นเคยกว้างมาก เป็นลำน้ำประสานสาย เพราะสภาพภูมิประเทศที่ลาดชันน้อย เกิดเป็นชายหาดกว้าง ๆ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว  ผมคิดว่าที่เคยเล่ากันว่าเวลาลอยกระทงแล้วเป็นสาย ก็คือเกิดจากลำน้ำที่เป็นร่องน้ำเล็ก ๆ หลายสายนี้แหละ นึกภาพกระทงลอยไปตามร่องน้ำเรียงแถวกันเป็นสาย ๆ ตามธรรมชาติ  เพราะถ้าเป็นแม่น้ำสายเดียวอย่างแม่น้ำเจ้าพระยา กระทงจะลอยเปะปะ เพราะความลึกไม่เท่ากัน แต่เขาก็ขุดลอกถมทิ้ง มันก็ไม่เหลือเลย

ในโคเปนเฮเกนเขาจะมีบึงน้ำซึ่งสร้างเสร็จมาเป็นสิบปีแล้ว ทำเป็นสวนสาธารณะที่น้ำท่วมได้ คลองน้ำไหลได้

ในสิงคโปร์ก็จะมีสวนสาธารณะ Bishan-Ang Mo Kio Park ซึ่งเคยเป็นแค่คลองระบายน้ำคอนกรีต เขาก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งน้ำท่วมได้ แล้วให้น้ำไหลได้

จะเห็นว่าหลายเมืองทั่วโลกมีพัฒนาการตรงนี้ชัดเจน มีการมองว่าทั้งปัญหาปัจจุบันและอนาคตเราจะต้องอยู่กับมันอย่างไร  แต่เรายังไม่ตื่นตัว ยังใช้คำว่า nature based solution หรือ resilience ด้วยความเข้าใจผิดหลาย ๆ อย่าง

จริง ๆ แล้วเมืองกรุงเทพฯ ที่หนาแน่นแบบนี้ ต้องขุดคลองเพิ่มด้วยซ้ำ แต่ก็จะมีคนถามว่าจะหาที่ขุดคลองได้จากที่ไหนก็อยากตอบว่าลองเริ่มต้นหากันดูก่อนไหม

ในต่างประเทศที่เขากังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พายุรุนแรงมากขึ้น เขาเริ่มต้นคิดว่าจะหาพื้นที่รับน้ำทำเป็นสวนสาธารณะให้ฝนตกแล้วน้ำท่วมได้ แล้วก็ทำคลองให้น้ำไหลต่อไป

resilience คือเราแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องคิดว่าจะอยู่อย่างไร ต้องปรับตัวอย่างไร ถึงจะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะพอเปลี่ยนมากขึ้น ๆ จนถึงจุดแตกหัก คืนกลับไม่ได้แล้ว นั่นคือสิ่งที่เขากลัว

Image

“หลายคนบอกว่าปลูกป่าคือ nature based solution ซึ่งไม่ใช่ เขาไม่เข้าใจความหมายจริง ๆ  ตอนนี้ก็เลยกลายเป็น CSR ปลูกป่าว่าฉันทำแล้ว... เราต้องย้อนกลับไปประการแรกคือปกป้องธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เราจะดูแลรักษาพื้นที่อนุรักษ์ที่มีอยู่แล้วอย่างไร”

เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กรุงเทพฯ อาจจมน้ำ ก็มีแนวคิดว่าต้องสร้างเขื่อนกั้นในอ่าวไทย

เราคงต้องมองทั้งระบบ ถ้าระดับน้ำทะเลสูงก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะไปสร้างระบบป้องกันน้ำทะเลท่วมไม่มีทางเป็นไปได้ หรือไม่ก็แพงมหาศาล ซึ่งสุดท้ายแล้วระบบก็ไม่ช่วยอะไรอยู่ดี เท่ากับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แล้วเป็นน้ำพริกที่แพง

ถ้าสร้างเขื่อนกั้น คลื่นกระแสน้ำจะหายไป น้ำจะนิ่ง ห่วงโซ่อาหาร ระบบนิเวศจะพังไปเลย แหล่งผลิตอาหารของเราก็จะสูญหาย ประมงชายฝั่งจะทำไม่ได้

แต่ก็มีคนบอกให้เราทำฟาร์ม ซึ่งก็ต้องมีนายทุน เป็นระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็น contact farming ซึ่งเราขายให้ใครไม่ได้ เขาจะบอกราคาประมาณนี้ เราก็ต้องรับซื้อขายประมาณนั้น ฟังดูดี เป็นการรับประกัน แต่ต่างจากระบบทาสสักแค่ไหน ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า modern slavery เพราะระบบธรรมชาติที่ช่วยให้เราอยู่ได้อย่างมีอิสระหายไปหมดแล้ว

ตัวอย่างแบบเนเธอร์แลนด์ไม่ใช่แนวทางที่เราควรทำตามหรือ

ธรรมชาติของเนเธอร์แลนด์ต่างจากของเรา

พื้นที่เขาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลอยู่แล้ว และอากาศมัน extreme ช่วงหน้าหนาว เวลาน้ำท่วม น้ำเย็นมาก อยู่ได้ไม่เกิน ๑๐ นาที ปัญหาน้ำท่วมรุนแรงกว่าเรามาก เพราะมีผลต่อชีวิต  คนเนเธอร์แลนด์ไม่มีทางเลือก ก็ต้องสู้กับมันมา มี
transformation ในการสร้างเมือง มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างเขื่อนสร้างโครงสร้างต่าง ๆ แล้วการกั้นเขื่อนก็ทำให้เขาได้พื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้นมาด้วย  ทุกวันนี้โครงสร้างก็ยังจำเป็น เพราะมี storm surge พายุในทะเลเหนือ แล้วน้ำจะเข้ามาท่วมเมือง

เราต้องเข้าใจว่าโครงสร้างทั้งหลายที่เนเธอร์-แลนด์ทำ เพราะเขาจำเป็นต้องมี และตั้งแต่อดีตเขาก็สร้างโครงสร้างที่จะอยู่กับมันมานานแล้วในยุคแรกธรรมชาติยังไม่ได้รุนแรงมาก ต่อมาก็กลายเป็นเมืองใหญ่หลาย ๆ เมืองอย่างอัมสเตอร์ดัม รอตเตอร์ดัม ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ และเป็นเมืองท่าการค้า เดินเรือค้าขายไปทั่วโลกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การที่ต้องเป็นเมืองริมน้ำก็เลยมีการพัฒนาระบบคลองจำนวนมาก  ในพื้นที่เกษตรกรรมของเขาก็มีคลองซอยเล็กซอยน้อยคล้ายพื้นที่รังสิต  เข้าใจว่าการขุดคลองที่รังสิตก็คือนายช่างจากเนเธอร์แลนด์มาทำ ใช้แนวคิดเดียวกับที่เนเธอร์แลนด์ คือขุดคลอง

ทุกวันนี้เขาปล่อยให้น้ำทะเลท่วมบริเวณที่ต่ำบ้างแล้ว แต่ตรงที่เป็นเมืองเขายังกังวล เคยมีพายุพัดเข้ามาแล้วเขื่อนพัง น้ำก็ท่วม ต้องเสริมเขื่อนและมีระบบป้องกัน  เนเธอร์แลนด์สร้างวิศวกรด้านนี้ไว้เยอะมาก เพราะฉะนั้นในทางเศรษฐกิจเขาก็ส่งออกเทคโนโลยีและวิศวกรพวกนี้ด้วย

การขุดคลองคือสิ่งที่มนุษย์เลียนแบบธรรมชาติเพื่อให้มนุษย์ดีขึ้น เรา modify landscape มันไม่ใช่ธรรมชาติทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น novel ecosystem ก็ต้องยอมรับว่าเราสร้างเมืองกันอย่างนี้มานานแล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าธรรมชาติคืออะไร ให้อะไรกับเรา

ทำไมอาจารย์ถึงสนใจมาเป็นนักภูมินิเวศ

ตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ผมอ่าน ชัยพฤกษ์ ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ อ่าน เจ้าชายน้อย แล้วก็มีหนังสือแปลเล่มหนึ่งชื่อว่า มิตรภาพในธรรมชาติ เล่าเรื่องความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันในธรรมชาติ ที่เรียกว่า symbiosis  แล้วในหนังสือก็ยังมีประวัติของ จอห์น มิว นักอนุรักษ์ นักธรรมชาติวิทยา ซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีทำให้เกิดระบบอุทยานแห่งชาติ จากหนังสือพวกนี้เราก็สนใจมาเรื่อย ๆ พอตอนจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมพบว่าไม่มีคณะที่สอนเรื่องธรรมชาติหรือนิเวศวิทยาเต็ม ๆ คณะวิทยาศาสตร์เองก็ไม่มี

บังเอิญพี่สาวเรียนสถาปัตย์ ผมก็เลือกคณะสถาปัตย์เป็นอันดับกลาง ๆ  อันดับต้น ๆ เป็นหมอ อันดับท้าย ๆ เป็นวนศาสตร์ พอดีมีสกิลวาดรูปนิดหน่อย แล้วตอนสอบปฏิบัติเขาให้วาดรูปดอกกุหลาบในแจกัน ผมเรียนอยู่โรงเรียนสวนกุหลาบก็ต้องวาดรูปดอกกุหลาบเป็น  ถ้าข้อสอบออกอย่างอื่นคงไม่ได้เข้า

แต่พอเข้าได้ก็มีปัญหาว่าจะเรียนอะไร เพราะผมไม่ได้อยากออกแบบตึก ก็พอดีอาจารย์เดชา บุญค้ำ ซึ่งตั้งหลักสูตร Landscape Architecture มาก่อนหน้านั้นเปิดภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมเป็นปีแรก อาจารย์เดชาบอกว่าภูมิสถาปัตยกรรมเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การจัดสวน ผมก็เลยมีทางออก

เรียนจนจบแล้วทำงานอยู่พักหนึ่ง ผมก็สอบได้ทุนของจุฬาฯ และมีเพื่อนบอกว่าที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีวิชาชื่อ Landscape Ecology ก็เลยสมัครไป เขาก็รับอีก

ตอนเรียนที่นั่นผมขอเขาว่าไม่เรียนวิชาออกแบบ ขอข้ามไปเรียนที่ MIT วิชา Environmental Management กับ Environmental Analysis  ตอนจะจบปริญญาโทส่วนใหญ่เขาจะทำออกแบบเป็น studio design  ผมก็ขออาจารย์ทำงานวิจัยเรื่อง rice ecology แทน ค้นคว้าว่าระบบนิเวศนาข้าวคืออะไร อาจารย์ก็โอเค

หลังจากนั้นผมก็สมัครปริญญาเอกต่อ เพราะผมได้ทุนโท-เอก ก็ไปเรียน Landscape Ecology ที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนีย ผมเสนอกับอาจารย์ว่าจะทำ landscape pattern ในธรรมชาติสำหรับออกแบบอุทยานแห่งชาติ เป็น nature research planning and design บนพื้นฐานทาง landscape ecology อาจารย์ก็โอเค

ตอนผมจบ ส่วนที่ผมรีวิวทฤษฎีทั้งหลาย อาจารย์บอกว่าเขาเอาไปสอนในชั้นเรียนต่อ เพราะย่อได้ชัดเจน ไม่ต้องอ่านหนังสือกันเป็นร้อยเล่ม

Image

จากที่ศึกษามาเรื่อง rice ecology มองปัญหาข้าวและเมืองตอนนี้อย่างไร

ในอดีตข้าวตามธรรมชาติคือหญ้าชนิดหนึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ออกรวงเป็นเมล็ดข้าว แล้วก็วิวัฒนาการมาเป็น wet-rice cultivation ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์  ก่อนหน้านั้นตามหลักฐานก็พบข้าวที่ปลูกในที่แห้ง แต่ต่อมามนุษย์พบข้าวในที่ลุ่มแล้วเราก็เลือกข้าวแบบนี้ อาจเพราะถ้าน้ำมาเก็บเกี่ยวง่าย ก็เริ่มเรียนรู้ว่าถ้าเก็บเมล็ดมาหว่านแล้วรอฝนมาข้าวก็จะงอก เราก็อยู่กับลักษณะนี้มาจนกระทั่งกลายเป็น wet-rice culture

การตั้งถิ่นฐานก็ขึ้นอยู่กับข้าว เราจะตั้งเมืองอยู่บริเวณที่ลุ่มซึ่งมีน้ำท่วม หรือเรียกว่าที่ลุ่มน้ำหลาก เพราะจะปลูกข้าวพันธุ์ดั้งเดิมได้ มีข้าวน้ำลึก ข้าวฟางลอย  ยกตัวอย่างอยุธยา หรือกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยู่ริมน้ำทั้งนั้น

แต่ทีนี้ประเทศตะวันตกเป็นเขตอบอุ่น ฤดูเพาะปลูกจำกัด หน้าหนาวทำอะไรไม่ได้ ทุกอย่างจำศีลหมด เขามองเขตร้อนเราว่าเพาะปลูกได้ตลอด ๑๒ เดือน มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาก็มาตั้งสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (International Rice Research Institute) เริ่มต้นผสมพันธุ์ข้าวให้ได้พันธุ์ข้าวสมัยใหม่ที่ไม่ไวแสง คือพันธุ์ข้าวดั้งเดิมจะต้องปลูกตามฤดูกาล เพราะมันไวแสงคือพอแสงมา ฝนตกมา ข้าวจะเริ่มงอกในหน้าฝน แล้วพอหน้าหนาวกลางวันสั้นลง ข้าวจะเริ่มรู้ตัวว่าถึงเวลาออกดอกออกรวง น้ำเริ่มลงพฤศจิกายน-ธันวาคม เราก็เก็บเกี่ยวมกราคม-กุมภาพันธ์

เขามองว่าข้าวที่ไม่ไวแสงปลูกเมื่อไรก็ได้ขอให้มีน้ำ แล้วทำอย่างไรให้ต้นสั้น ให้ธาตุอาหารไปใช้ออกรวงเยอะ ๆ แทนที่จะไปสร้างลำต้น และใช้น้ำน้อยกว่า เรียกว่าพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง (high yield variety) ก็เริ่มเอามาปลูกแทนข้าวดั้งเดิมในที่ที่น้ำไม่เยอะ เราก็รับมา เพราะใช้น้ำน้อย ให้ผลผลิตเยอะกว่า แล้วก็ต้องมาทำระบบคันดินกันน้ำท่วมกันน้ำหลาก ในทางเศรษฐกิจก็เห็นได้ชัดเจน ผลคือเรากลายเป็นแชมป์ส่งออกข้าวของโลก

แต่ปัญหาคือเมื่อก่อนน้ำช่วยป้องกันศัตรูพืช ข้าวต้นสั้นใบจะโค้งอยู่ใกล้ดิน แมลงที่เคยอยู่ในนาก็กระโดดถึง มันก็กินใบ พอกินเยอะก็ขยายพันธุ์ จากแมลงธรรมดากลายเป็นศัตรูพืช เพราะต้นสั้นกระโดดขึ้นง่าย ต่อมาก็ต้องเอายาฆ่าแมลงเข้ามา เรามีศัตรูที่เราสร้างขึ้นมาเอง

งานวิจัยข้าวสมัยนั้นจะใช้คำว่าเทคโนโลยีนำหน้า พูดว่าจะเพิ่มผลผลิตอย่างไร ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพื่อเร่ง เพราะเป็นพันธุ์ข้าวที่ตอบสนองต่อปุ๋ยอย่างดี ใส่แล้วเขียวงอกเร็วทันใจ

ทุกคนติดการใส่ปุ๋ย แล้วก็เลยมีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้าง

มาถึงวันนี้เราต้องป้องกันไม่ให้น้ำหลากเข้าทุ่ง แต่น้ำไหลมาตามแม่น้ำ แล้วใครรับน้ำ ก็คือเมืองปลายน้ำ ก็ต้องสร้างกำแพงริมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นสูงระดับหนึ่ง แล้วก็ต้องต่อสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ  คือถ้าเราไม่มีกำแพง พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกน้ำท่วมทุกปี ซึ่งปีไหนน้ำท่วมเยอะจริง ๆ สุดท้ายก็ต้องปล่อยน้ำเข้าทุ่ง ถ้าไปดูว่าตรงปทุมธานีหรือนนทบุรีเขาทำเขื่อนริมน้ำยื่นเข้ามาในแม่น้ำอีก แม่น้ำก็แคบลง แล้วก็รอวันเวลาที่น้ำจะล้นกำแพงกั้นน้ำเข้ามา

ตอนนี้ปลูกข้าวครั้งที่ ๒ น้ำที่เราเก็บไว้ก็จะหมด หน้าแล้งจะไม่เหลือน้ำให้ใช้  ที่บอกว่าสร้างเขื่อนกักเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง มันไม่ใช่อีกต่อไป เพราะการปลูกข้าวต้องการน้ำเยอะ แต่การวางแผนไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริงเหล่านี้  บางเขื่อนสร้างมาก็ไม่เคยเก็บน้ำได้เต็มความจุเลย มากสุดแค่ครึ่งหนึ่ง มันก็คือความล้มเหลว

วันนี้เราเปลี่ยนธรรมชาติต่าง ๆ ไปมากแล้ว การจะมาพูดว่าจะแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถเข้าใจปัญหาจริง ๆ ว่าคืออะไร

กรุงเทพฯ ช่วงไม่กี่ปีนี้มีการทำสวนสาธารณะที่ช่วยรับน้ำเหมือนกัน อาจารย์มองอย่างไร

ผมคิดว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาจริง ๆ ต้องมีสวนมากกว่านี้ สวนแห่งหนึ่งหรือสองแห่งทำหน้าที่ได้นิดนึงจริง ๆ ซึ่งถ้ามีสวนมากกว่านี้ก็ต้องเชื่อมโยงให้เป็น green connectivity ไม่จำเป็นต้องไปลงรายละเอียดหรอกว่าจะทำให้เป็นธรรมชาติยังไง เพราะเดี๋ยวธรรมชาติก็กลับมาเอง เริ่มต้นทำจากไม่ต้องใหญ่ ทำทีละนิด ๆ ให้เห็นว่าจะเป็นอะไร และไม่ต้องใช้งบประมาณมาก

ถ้าไปดูแผนของต่างประเทศ เขาจะมี green connectivity หลายแห่ง ในโตเกียวหรืออีกหลายเมืองจะใช้ทางรถไฟเก่า เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเขียวเชื่อมสวนใหญ่ ๆ เข้าด้วยกัน  หรือที่เมืองบอสตัน เขาขอพื้นที่ลำน้ำดั้งเดิมมาทำเชื่อมโยงสวนสาธารณะเรียกว่า emerald necklace  แนวคิดแบบนี้มีมาตั้งนานแล้ว หรือแนวคิดอื่นที่พูดถึงกันก็ยังมี green linkage, green buffer

กรุงเทพฯ มีคลองหลายคลองเป็นลำคลองเล็ก ๆ แล้วก็ยังมีที่ว่างระหว่างตึก หรือแม้แต่ถนน เราทำให้กรีนได้ มันจะกลายเป็นเส้นทางเชื่อมที่คนเข้าถึงได้ ขี่จักรยานได้  คือไม่ใช่แค่สวนสาธารณะแต่ละแห่งที่แยกกันเป็น pocket park แต่ต้องมองให้เป็นระบบเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับเมืองในแง่สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ มากกว่าแค่การออกกำลังกาย ที่ปลูกต้นไม้ หรือกลายเป็นที่ขายของ

ทุกคนจะคิดว่าปลูกต้นไม้ก็เป็นระบบนิเวศแล้ว ซึ่งไม่ใช่

“ธรรมชาติก็คือธรรมชาติกระบวนการที่เป็นอยู่
เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน
ต้องอยู่กับมัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าเรามักคิดว่าจะอยู่ชั่วกัลปาวสาน สร้างอะไรก็จะไม่พังเลย ชีวิตน่าจะยืนยาวกว่านี้...
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงไม่ยอมรับความจริงว่าธรรมชาติที่แท้ที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลง”

Image

นิยามธรรมชาติของอาจารย์คืออะไร

ธรรมชาติก็คือธรรมชาติ กระบวนการที่เป็นอยู่ เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน ต้องอยู่กับมัน เกิด แก่ เจ็บ ตาย การเปลี่ยนแปลง  เพียงแต่ว่าเรามักคิดว่าจะอยู่ชั่วกัลปาวสาน สร้างอะไรก็จะไม่พังเลย ชีวิตน่าจะยืนยาวกว่านี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเราถึงไม่ยอมรับความจริง ว่าธรรมชาติที่แท้ที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลง ธรรมชาติมีพลวัตตลอดเวลา

ในเชิงปรัชญา ผมเรียนจากหนัง Star Trek เยอะเหมือนกัน มีคุณสมบัติหนึ่งของสิ่งมีชีวิตคือ self perseverance การทำให้ตัวเราอยู่รอดไม่ยอมตาย จะเพราะกลัวหรืออะไรก็ตามแต่ ก็มีความพยายามต่อสู้เพื่อที่เราจะอยู่ต่อไป แต่ถ้าอยู่รอดก็มีคำถามว่า แค่นี้พอไหม หรือต้องการมากกว่านี้ไปเรื่อยๆ  สุดท้ายเลยเป็นกิเลส ไม่ใช่แค่อยู่รอด

ถ้าแบบนี้ธรรมชาติหรือโลกก็อาจมองว่าต้องต่อสู้เหมือนกัน ถ้าปล่อยให้มนุษย์อยู่อย่างนี้โลกอาจพัง อย่างมีหนังเรื่องหนึ่งเล่าเรื่องต้นไม้ปล่อยสารพิษให้คนคลั่งแล้วฆ่าตัวตาย อธิบายโดยทางวิทยาศาสตร์คือกลไกป้องกันตัวเองของพืชที่จะปล่อยสารพิษปกป้องตัวเองจากสัตว์ที่มากิน มันเป็นธรรมชาติ แต่หนังเอาตรงนี้มาขยายว่าต้นไม้รู้สึกว่ามนุษย์คุกคาม ฉันจะต้องสั่งสอนมนุษย์บ้าง

สุดท้ายแล้วเรายังมีความหวังกับธรรมชาติและอนาคตในทางที่ดีไหม

คงแล้วแต่ชะตากรรม อาจต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดว่าชีวิตจะมีอะไร

คนรุ่นผมเคยเห็นเกาะพีพี เกาะตะรุเตา สมัยก่อนซึ่งเหมือนสวรรค์มาแล้ว ได้ไปเดินชายหาดแบบไม่มีใคร ยืนแช่น้ำทะเลใสให้ปลามาตอด ๆ ที่เท้า  ที่ตะรุเตาผมเคยมองไปไกล ๆ เห็นเหมือนกรวด พอเข้าไปใกล้ กรวดขยับ ก็ตกใจกัน เข้าไปดูจริง ๆ มันเป็นหาดที่เต็มไปด้วยปูเสฉวนตัวใหญ่ เต็มไปหมดเลย

คนรุ่นใหม่อาจไม่ได้สัมผัสอะไรแบบนี้ เพราะยากจะหาที่ที่มีแค่เรากับธรรมชาติแล้ว มีแต่เสียงลมกับเสียงคลื่น แต่ผมก็ไม่มั่นใจว่าคนรุ่นใหม่จะชอบสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า เขาอาจจะไม่คิดว่ามันมีคุณค่าอะไร เพราะเขาไม่มีประสบการณ์มาก่อน

แต่คำถามคืออนาคตจะยังมีธรรมชาติแบบนั้นไหม จะเก็บตรงนั้นเอาไว้ไหม แล้วคุณค่าของมันคืออะไร  ทุกวันนี้ธรรมชาติเป็นแค่ที่เช็กอิน ไว้อวดว่าฉันเคยไปเหมือนกัน เราไม่ได้เข้าใจความหมาย ไม่ได้ชื่นชมหรือเห็นคุณค่าของมันว่าอยู่ตรงไหน

มุมมองปัจจุบันก็มองแต่เรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ซึ่งธรรมชาติทำหน้าที่เป็นนิเวศบริการ (ecosystem service) เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสมดุลของสภาพภูมิอากาศหรือสมดุลอื่น ๆ มันมีมูลค่าในตัวเอง แต่ยังวัดหรือคำนวณเป็นตัวเลขสนับสนุนได้ไม่ชัดเจน ก็จะมีข้อโต้แย้ง

เวลาเกิดภัยธรรมชาติขึ้นมา มันก็คือเงินภาษีที่เราจ่ายเพื่อใช้ชดเชยและฟื้นฟูปัญหา แล้วคนนึกไม่ออกว่าใครเป็นคนจ่าย

เรามองเฉพาะหน้าสั้น ๆ ว่าพื้นที่นี้จะทำเงินได้อย่างไร ตีเส้นว่าธรรมชาติตรงนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เสียเงินสร้างโน่นสร้างนี่ไปเปลี่ยนธรรมชาติ ทำให้สมดุลเก่าเสีย กลายเป็นสมดุลใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เพราะฉะนั้นการที่เราสร้างก็คือความสูญเสียแล้วตั้งแต่ต้น มันไม่ได้ให้ประโยชน์อย่างที่เราคิด แถมสร้างปัญหาใหม่ แล้วต้องไปลงทุนกันอีก เป็นการลงทุนที่สูญเปล่า

เพราะฉะนั้นถ้าตั้งต้นที่เรื่องประโยชน์ เราก็ต้องเข้าใจจริง ๆ ว่าประโยชน์ของธรรมชาติคืออะไร