Image

มนุษย์กับป่าอยู่ร่วมอาศัยซึ่งกันและกันโดยมนุษย์จะไม่พึ่งพาป่าอยู่ฝ่ายเดียว จำเป็นต้องดูแลรักษาป่าและน้ำ ดังคำสอนของบรรพชนที่ว่า “เอาะก่อ เก่อตอก่อ เอาะที เก่อตอที” ซึ่งแปลความได้ว่า “ใช้ป่ารักษาป่า ใช้น้ำรักษาน้ำ”

เอาะก่อ เก่อ ต่อ กอ
จากคำสอนบรรพชน
สู่ฟ้ารุ่งบนดอยช้างป่าแป๋

Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า

เรื่อง : ยสินทร กลิ่นจำปา
ภาพ : กฤต คหะวงศ์

เสาร์แรกของเดือนกันยายน ฝนขาดเม็ดไม่นานก่อนงานฉลองครบรอบ ๔๐ ปีโบสถ์คาทอลิกจะเริ่มขึ้น เสียงเตหน่า ดังไพเราะเพราะพริ้ง ประสานกลมกลืนกับเสียงฮึ่ม ๆ จากเบสและเครื่องตีให้จังหวะหลากชนิด  เสียงดนตรีจากโลกตะวันตกกับท่วง ทำนองพื้นบ้าน ถักทอเข้าด้วยกันอย่างประณีตบรรจง  

ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ เริ่มขับร้อง “เลเลเตหน่ากู” บทเพลงภาษากะเหรี่ยงปกาเกอะญอซึ่งร้องสลับกับภาษาไทย  

เปอ เอาะก่อ เปอ เก่อ ต่อ กอ
เปอ เอาะที เปอ เก่อ ต่อ ที
เปอ เอาะเดะ เปอ เก่อ ต่อ เล
เปอ เอาะ-หญะ เปอ เก่อ ต่อ กวิ๊
เราอยู่กับป่า เรารักษาป่า
เราดื่มน้ำ เรารักษาน้ำ
เรากินเขียด เราดูแลผา
เรากินปลา รักษาลำห้วย

เสียงดนตรีจบลง แสงแดดสาดแย้มไม่เขินอาย ขบวนแห่ขนาดกะทัดรัดพาคณะบาทหลวงจากเชียงใหม่เข้าไปในโบสถ์เพื่อประกอบพิธี

ถึงแม้จะเป็นงานเฉลิมฉลองของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่ศาสนิกชนจากนิกายโปรเตสแตนต์ รวมถึงชาวพุทธในหมู่บ้าน ต่างช่วยกันตกแต่งสถานที่คนละไม้คนละมือ เตรียมข้าวเตรียมน้ำสำหรับแขกเหรื่อจากพื้นราบ  อีกทั้งยังจัดแสดงดนตรีซึ่งเหล่าเด็กในชุมชนมีส่วนร่วมร้องเพลงเจื้อยแจ้ว และการแสดงรำดาบของชายชราชาวปกาเกอะญอจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

พิธีเสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วพร้อมท้องฟ้าใสแจ๋วช่วงเที่ยงวัน

ท่ามกลางอากาศเย็นสบายที่ความสูงกว่า ๑,๒๐๐ เมตรจากระดับทะเลปานกลาง หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซ่อนตัวอยู่กลางภูเขาสลับซับซ้อนบนจุดรอยต่อระหว่างสามอำเภอ สองจังหวัด ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน อำเภอฮอดและอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

“แป๋” เป็นภาษาเหนือที่ใช้เรียก “แป” หรือไม้คานรับน้ำหนักรองรับแผ่นหลังคาบ้าน แต่ความหมายในที่นี้ คือ “อยู่ที่สูง” คนเหนือจึงมักเรียกหมู่บ้านนี้ว่า อยู่ป๋ายแป๋ ป๋ายขื่อ (อยู่ที่สูง)  ขณะที่ดอยช้างคือยอดภูเขาซึ่งเป็นจุดสูงสุดในจังหวัดลำพูน มีความสูงเหนือระดับทะเลปานกลางกว่า ๑,๔๐๐ เมตร และยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน

ข้อมูลชุมชนปี ๒๕๖๓ เผยว่า หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ (ตาหลู่เก่อชอ) มีจำนวน ๗๔ หลังคาเรือน ประชากร ๒๗๐ คน มีความเชื่อและศาสนา ได้แก่ แชะเตอะสี (กลุ่มที่สักว่านบนร่างกายเพื่อไม่ต้องประกอบพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ แต่ยังเลี้ยงผีไร่ผีนาตามปรกติ)  เอาะแค (กลุ่มเลี้ยงผีบรรพบุรุษ) ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์อาชีพหลักคือการทำไร่หมุนเวียน ทำนา และทำสวน

Image

ดิปุนุขับร้อง “เลเลเตหน่ากู” เพลงภาษากะเหรี่ยงปกาเกอะญอ สลับกับภาษาไทย โดยมีใจความเล่าถึงวิถีชีวิตผู้คนที่ผูกพันกับป่า

ฟ้า | 
เมื่อกฎหมายมาทีหลัง

แดดช่วงบ่ายโมงจับจองท้องฟ้า  หวาน-เกรียงไกร บุญทา ในเสื้อคอกว้างสีฟ้าตะเข็บขาว พาเดินลัดเลาะไปตามความชันของหมู่บ้าน  เขาเล่าว่าสาเหตุที่ด้านหน้ากับด้านหลังของเสื้อพื้นเมืองปกาเกอะญอดูเหมือนกัน ใส่ด้านไหนก็ได้ เพราะคนกะเหรี่ยงต่อหน้าเป็นอย่างไร ลับหลังก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีลับลมคมใน

ไม่นานนักเราก็หยุดที่แปลงนาถาวรกลางหมู่บ้านเมฆเริ่มตั้งเค้า  ชายวัย ๕๐ ปี ท่าทางกระฉับกระเฉงเล่าว่า ตนเคยเป็นควาญช้าง จนกระทั่งทางการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ในปี ๒๕๓๒  จากนั้นก็รับจ้างทั่วไปที่พื้นราบกว่า ๒๐ ปี จนมีนโยบายทวงคืนผืนป่าในปี ๒๕๕๗

“มันกระทบจริง ๆ  ตอนปี ๒๕๕๘ ยังเบาอยู่นะ แต่พอปี ๒๕๖๒ ถูกยึดไร่หมุนเวียนอีก ผมก็ทนไม่ได้” ชายเสื้อฟ้ากล่าว

ข้อมูลจากโครงการวิจัย “การสร้างพื้นที่เขตวัฒน-ธรรมพิเศษของชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋สู่วิถีแห่งชีวิต” (ปี ๒๕๖๓) ระบุว่า ตามตำนานคำบอกเล่าที่มาชุมชน มีผู้รู้ชื่อ พือ พานากา เป็นบุคคลแรกที่เดินสำรวจอาณา-บริเวณเพื่อจัดตั้งหมู่บ้าน เขาเดินทางขึ้นยอดดอยช้างและมองหาสถานที่เหมาะสม ได้สร้างชุมชนที่ขุนห้วยแห่งหนึ่งชื่อ “แม่สิคี” ก่อนจะย้ายไปที่ “หย่าลิเด” “แดลอปู” ท้ายที่สุดก็มาลงหลักปักฐานที่ “บ้านเชอโกล้ะ” ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “ดอยช้างป่าแป๋” หรือ “ตาหลู่เก่อชอ” ในภาษากะเหรี่ยง  ขณะเดียวกันก็ปรากฏหลักฐานพระพุทธรูปและหลักศิลาตั้งแต่ปี ๒๓๔๔ ซึ่งบ่งชี้ว่าชุมชนนี้อาจมีอายุถึง ๒๒๒ ปี

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลแสดงถึงความเป็นคนไทยจากหลักฐาน “ใบเสร็จเงินรัชชูปการใช้แทนหนังสือเดินทาง” ในปี ๒๔๗๒ ระบุใบเสร็จฉบับนี้ให้แก่นายกุละ ชาติไทย บังคับสยาม อายุ ๕๐ ปี หมู่บ้านที่ ๓ ตำบลป่าพลู มณฑลพายัพ ซึ่งหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ในอดีตเคยเป็นหย่อมบ้านของหมู่ ๓ บ้านห้วยหละ ตำบลป่าพลู  เอกสารชิ้นนี้จึงยืนยันได้ว่าชุมชนดอยช้างป่าแป๋ก่อตั้งมาอย่างน้อย ๑๔๔ ปี

อย่างไรก็ตามหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ประสบปัญหาจากนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินของรัฐเช่นเดียวกับหลายชุมชนที่อาศัยในเขตป่า จากการบังคับใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ พระราช-บัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๕๙ ซึ่งประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่า “ป่าบ้านโฮ่ง”

การออกกฎหมายทับซ้อนเหล่านี้จากรัฐเบื้องล่างเป็นเสมือนการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างคนกับป่าซึ่งมีมายาวนานก่อนความสัมพันธ์ของกฎหมายกับคน  ราวประกาศิตจากท้องฟ้า กฎหมายสร้างแผนที่เขตอนุรักษ์ฉบับภาครัฐทำให้ผู้อยู่อาศัยทำกินบนพื้นที่ตนเองต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดโดยปริยาย

แม้ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำมาหากินได้ แต่ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ากลับห้ามรัฐและเอกชนเข้าทำประโยชน์ใด ๆ ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ดังนั้นในปี ๒๕๖๒ ชาวบ้านซึ่งมีไร่หมุนเวียน ๑๘ ไร่ จากสี่ครัวเรือนในเขตห้ามล่าฯ จึงถูกยึดที่ทำกิน

ปี ๒๕๕๗ ยังมีคำสั่ง คสช. ที่ ๖๔/๒๕๕๗ เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งส่งผลให้ผู้อาศัยในเขตป่าถูกยึดพื้นที่ทำกินและดำเนินคดีอย่างกว้างขวาง

Image

เกรียงไกร บุญทา หรือ “หวาน” อายุ ๕๐ ปี ชาวปกาเกอะญอบนดอยช้างป่าแป๋ ผู้เคยลงไปทำงานที่พื้นราบกว่า ๒๐ ปี กำลังเล่าประวัติความเป็นมาและการเปลี่ยนแปลงของดอยช้างป่าแป๋ และยังชี้ให้เห็นถึงลักษณะของดอยช้างป่าแป๋ที่มีรูปร่างคล้ายช้าง

แม้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ มีนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อคัดกรองและให้เขตพื้นที่อยู่อาศัยแก่ชาวบ้าน แต่หลักเกณฑ์ คทช. กลับกำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นพื้นที่ซึ่งใช้อย่างต่อเนื่อง อาสิน (ผลประโยชน์) เต็มแปลง และไม่มีการเปลี่ยนมือ ถึงจะละเว้นพื้นที่ชาวบ้านในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งไร่หมุนเวียนไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้น เพราะไม่ได้ใช้อย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนมือบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่มีกรรมสิทธิ์ตามวิถีของชุมชน

ยิ่งไปกว่านั้น คทช. ยังกำหนดว่าพื้นที่นั้นต้องไม่อยู่ในชั้นคุณภาพหรือลุ่มน้ำชั้นหนึ่งและชั้นสอง ซึ่งเป็นพื้นที่ควรสงวนรักษาไว้เป็นต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ  เงื่อนไขเหล่านี้ขัดแย้งกับบริบทชุมชนอย่างสิ้นเชิง เพราะที่ระดับความสูงกว่า ๑,๒๐๐ เมตร ดอยช้างป่าแป๋มีตาน้ำและเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่ชุมชนอนุรักษ์

กระนั้นสิ่งหนึ่งที่เป็นไม้ค้ำยันในการต่อสู้กับภาครัฐได้คือ มติ ครม. วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓ ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติ ครม. วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเลร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามมติดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยประกาศให้บางชุมชนเป็น “เขตวัฒนธรรมพิเศษ” เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองและฟื้นฟูวิถีชีวิตตามมติ ครม. สองฉบับดังกล่าว

“เขตวัฒนธรรมพิเศษ” หมายถึง พื้นที่ชุมชนซึ่งดำรงวิถีชีวิตบนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และประเพณีชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ผสานความรู้สมัยใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทท้องถิ่นในปัจจุบัน เขตวัฒนธรรมพิเศษจึงเป็นการคุ้มครองวิถีชีวิตซึ่งครอบคลุมทั้งในมิติทางกายภาพ ถิ่นที่อยู่ แหล่งทำมาหากิน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังมีนัยของการอนุรักษ์เชิงทรัพยากรและการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน

หลังจากแกนนำชุมชนรวมถึงภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจรจากับภาครัฐ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ก็ได้รับการประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษลำดับที่ ๑๒ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓  อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่า “มติ ครม.” ก็ย่อมมีสถานะทางกฎหมายด้อยกว่า พ.ร.บ. ซึ่งทับซ้อนพื้นที่หลายฉบับ

Image

เครื่องตรวจสอบค่าฝุ่นละอองจากพลังงานโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“คนอยู่ก่อน แล้วกฎหมายออกทีหลัง แต่โชคดีที่ว่ามีกฎหมายรองรับ (มติ ครม. ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓) ถ้าเราไม่มีแม้แต่ใบนั้น เราเถียงเจ้าหน้าที่ไม่ขึ้นเหมือนกันนะ สถานการณ์เป็นแบบนี้”

หวานย้ำเสียงหนักแน่น พร้อมเล่าถึงการต่อสู้กับนโยบายทวงคืนผืนป่าช่วงแรก ซึ่งภาครัฐได้เชิญตัวแทนแต่ละชุมชนที่ได้รับผลกระทบมาเจรจาที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยเขาเป็นตัวแทนหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋

“ผมพูดว่าจะทวง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ใช่ไหม ป่าของเราก็มีเต็มอยู่แล้ว ถ้าอย่างนั้นคุณทำที่กรุงเทพฯ อีกสัก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะครบ ๔๐ เปอร์เซ็นต์พอดี”

เขาหัวเราะขณะเล่าเหตุการณ์ตอนถูกปิดไมค์หลังพูดได้ไม่ถึง ๑๐ วินาที และเน้นย้ำอีกครั้งว่า

“เกิดตรงนี้ บรรพชนก็เคยอยู่ตรงนี้ ก็จะอยู่ที่นี่ต่อไป”

เมฆควบแน่นกลั่นออกมาเป็นฝนเม็ดหนา เราเข้ามาหลบฝนใต้ชายคาเรือน  หวานเล่าต่อว่าปีนี้ฝนน้อยกว่าปรกติ เพราะช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนปรกติใบข้าวควรสูงถึงเอวแล้ว

“ที่นี่เป็นต้นน้ำของเชียงใหม่ ลำพูน น้ำอาจจะไหลสู่น้ำปิง แล้วลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นก็ออกสู่ทะเล” สายตาของหวานทอดยาวไปด้านนอก  หยดฝนกระทบผืนนาถาวรเขียวขจี ไหลลงตามร่องนาและฝายเก็บน้ำขนาดเล็ก  ถัดจากผืนนาคือเนินสูงเรียงรายซึ่งเป็นเขต

ป่าอนุรักษ์ เสียงกระรอกร้องแทรกขึ้นมาเป็นระยะป่าในขอบเขตรัศมีหมู่บ้าน ๒-๔ กิโลเมตรเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าของชุมชน จึงมีสัตว์ป่าเข้ามาอาศัย เช่น กระรอก ไก่ป่า หมูป่า นกยูง ฯลฯ  ส่วนป่าผืนที่ทำกินได้จะอยู่ในชั้นถัดไป  ราวกับสัตว์บางชนิดรู้ว่าเขตป่าชุมชนจะไม่มีการล่าสัตว์จึงเข้ามาอาศัยบริเวณนี้

ไม่ว่าประกาศิตจากฟากฟ้าจะมีเจตนาดีหรือไม่ สิ่งที่แน่ใจได้อย่างหนึ่งคือกระรอกคงไม่ยี่หระต่อถ้อยคำในแผ่นกระดาษไปมากกว่าแหล่งอาศัยที่ปลอดภัย มีอาหารสมบูรณ์เพียบพร้อม

“สัตว์ป่าบางทีมันก็ฉลาดนะ” หวานกล่าว

ป่า | มีเจ้าของ 
แต่ไร้กรรมสิทธิ์

ในหนึ่งรอบปีปฏิทิน ชาวปกาเกอะญอจะประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผืนป่าเพื่อขออนุญาต ขอขมา ทำขวัญ หรือเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เช่น กี่จึเกาะเก่อลา (เรียกขวัญคน), แกว๊ะบือเก่อลา (เรียกขวัญข้าว), กี่เปอะหน่าจึ (เรียกขวัญให้ควาย), หลื่อนาที (เลี้ยงเจ้าที่ตาน้ำ), หลื่อตา (ขอขมาอำลาเจ้าที่แห่งขุนห้วยลำธาร), กี่จึ (ผูกข้อมือประจำปี) เป็นต้น

“เมื่อมีคนเกิดมา เขาจะมากับต้นไม้ต้นไผ่ เวลาจากโลกไป เขาก็จะจากไปพร้อมกับต้นไม้ต้นไผ่”

Image

ถังน้ำสำหรับแนวกันไฟความจุ ๒๐๐ ลิตร จำนวนห้าถัง ซึ่งสำรองไว้ใช้ในกรณีเกิดไฟป่า บริเวณฝาถังสีน้ำเงิน ด้านล่างมีคำสอนของบรรพชนเขียนว่า “อ่อที เกอต่อที อ่อก่อ เกอต่อก่อ” ซึ่งมีความหมายว่า “กินอยู่กับป่าต้องรักษาป่าดื่มน้ำต้องรักษาน้ำ”

“ดิปุนุ” แกนนำหลักของชุมชน วัย ๓๗ ปี เล่าถึงพิธีกรรม “เดปอถู่” ซึ่งหมายถึงต้นสะดือหรือต้นรกเด็ก ในอดีตจะประกอบพิธีกรรมนี้เมื่อมีเด็กลืมตาดูโลก พ่อเด็กจะบรรจุรกลงในกระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปผูกกับต้นไม้ที่มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรง  โดยต้นไม้ที่เลือกจะดูแลโดยเจ้าของเดปอ (สายสะดือ) ไม่ให้ใครมาตัดหรือทำลาย เพราะขวัญของเด็กอยู่กับต้นไม้ต้นนั้น  ปัจจุบันยังประกอบพิธีกรรมเดปอถู่ในวันบวชป่าประจำปี ทำให้ไม่เพียงแต่คนในชุมชนจะมีต้นไม้เป็นของตัวเอง บุคคลภายนอกที่มาร่วมงานก็เป็นส่วนหนึ่งได้โดยอาจใช้เส้นผมแทนรกและสายสะดือ

ดิปุนุเสริมว่า ในความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ ทุกคนที่เกิดมาจะถูกชะตากรรมจารึกและกำหนดอายุขัยไว้แล้ว  บางคนอาจต้องเสียชีวิตเมื่ออายุเพียง ๑๗-๑๘ ปี แต่การเชื่อมโยงสายใยระหว่างมนุษย์กับต้นไม้ได้มอบทางออกผ่านพิธีกรรมนี้ไว้

“เขาจะใช้ต้นไม้เก่าแก่เป็นตัวสื่อสัญญาณไปในยมโลกเพื่อนำขวัญของคนนั้นกลับคืนมา เป็นการต่อชีวิตโดยอาศัยต้นไม้เก่าแก่ คนที่ไม่สบายและดูเหมือนจะอยู่ได้อีกไม่นานจะกลับมาเป็นปรกติ นั่นหมายถึงการนำขวัญที่ถูกเอาไปส่วนหนึ่งกลับมาโดยการจ้างต้นไม้เก่าแก่เหล่านี้ผ่านพิธีกรรม”

ดิปุนุกล่าวต่อไปว่า พิธีกรรมต่าง ๆ จะอยู่บนฐานความเชื่อ “ต้นไม้ใหญ่มีเทพีเทพาปกปักรักษา ภูเขาสูงมีเจ้าที่เจ้าป่าคอยปกปักรักษา ทุกสถานที่มีเจ้าของอยู่” เมื่อคนจะกระทำการใดก็ตาม ต้องขออนุญาต เช่น ก่อนลงมือลงแรงในแปลงนาของตนเอง ก็ต้องเลี้ยงเจ้าที่ตาน้ำเพื่อบอกกล่าวว่าปีนี้จะทำนาตรงนี้ โปรดช่วยดูแลครอบครัว สัตว์เลี้ยง และคนของเราไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย ดูแลให้ผลผลิตเติบโตได้เก็บกิน

นอกจากนี้ในฤดูกาลปลูกข้าวเสร็จ ช่วงต้นข้าวเจริญเติบโตจะมีพิธีบวอ-คึ ซึ่งเป็นการอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหลายทั้งปวงในผืนป่ามาร่วมเฉลิมฉลอง กินข้าว ดื่มน้ำ ดื่มสุรา เพื่อปกป้องดูแลผืนนาไม่ให้ถูกรบกวน โดยใช้ไก่ห้าคู่ เหล้าสามขวด และเทียนสองคู่ประกอบพิธีกรรมตามหอเสาพิธี

“สิ่งเหล่านี้ยังมีและทำให้มองว่าคนกับป่าแยกออกจากกันไม่ได้นะ เป็นสายพันสายสะดือ ลมหายใจ ชีวิต และจิตวิญญาณที่ต้องเชื่อมสายใยสัมพันธ์กัน”

เพื่อให้เข้าใจได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น ดิปุนุเปรียบพิธีกรรมเหล่านี้กับโทรศัพท์ หากไม่มีสัญญาณ ไม่มีเครือข่าย คนสองคนแม้มีโทรศัพท์ก็ไม่อาจเชื่อมต่อกันได้  ดังนั้นจึงต้องหาจุดที่มีสัญญาณถึงจะติดต่อกันได้

“ชีวิตคนกะเหรี่ยงก็คล้าย ๆ กัน ต้องผ่านพิธีกรรมถึงจะเชื่อมโยงสายใยกันได้”

พื้นที่ลาดชันของไร่หมุนเวียนปีปัจจุบันทำให้แข้งขาคนพื้นราบออกอาการเกร็งพร้อมหวาดวิตกว่าตัวเองจะไถลไปตามหน้าดิน  เบื้องหน้าคือเวิ้งภูเขาเต็มไปด้วยต้นข้าวราว ๑ ไร่ แซมด้วยดอกไม้สีสด ต้นหญ้าเป็นหย่อม และตอตะโกดำขนาดใหญ่ที่บางต้นมียอดเขียวแตกหน่อออกมา  ผีเสื้อบินว่อนดมดอกไม้ ขณะเดียวกันสายลมก็หอบความเย็นจากหยดฝนเบื้องไกลมากระทบใบหน้า

หวานสะกิดให้ดูรอยผูกข้อมือของยอดใบข้าว ซึ่งมีลักษณะเหมือนรอยพับจาง ๆ คล้ายรอยบนข้อมือที่ผูกด้วยสายสิญจน์  หวานอธิบายว่าหากมีหนึ่งถึงสองรอย แสดงว่าข้าวเริ่มตั้งท้อง หากมีสามรอย เป็นสัญญาณว่าข้าวออกรวงแล้ว

ป้ายข้อมูลชุมชนซึ่งจัดทำในปี ๒๕๖๓ ระบุว่า ไร่หมุนเวียนหรือ “ฆึฉึ่ย” เป็นระบบการเกษตรผสมผสานที่ผลิตข้าวเป็นหลักและมีพืชพรรณหลายชนิดรวมอยู่ด้วย ผลผลิตจะใช้เพื่ออุปโภคบริโภคในชุมชนเท่านั้น  โดยร้อยละ ๙๐ ของครัวเรือนมีอาหารหล่อเลี้ยงจากไร่หมุนเวียน

การทำไร่หมุนเวียนเริ่มจากการสำรวจพื้นที่ไร่พักฟื้น (บริเวณที่เคยเป็นไร่หมุนเวียนเมื่อ ๗-๑๐ ปีเป็นอย่างน้อย) โดยจะทำพิธีแพะลอคึ (พิธีฟันไร่) ซึ่งหากสัตว์ป่าร้อง (เช่น หมู เก้ง เต่า) ขณะทำพิธี จะถือว่าพื้นที่นั้นห้ามทำไร่หมุนเวียน  หากไม่ได้ยินเสียงสัตว์ป่า แต่ในคืนนั้นฝันร้าย ก็ทำไร่หมุนเวียนบริเวณนั้นไม่ได้เช่นกัน  หรือหากผ่านทั้งสองขั้นตอนแล้ว แต่พบสัตว์ป่าขณะทำแนวกันไฟหรือแผ้วถางพื้นที่ ก็ต้องยกเลิกไปตามจารีตประเพณี

Image

ดิปุนุ-บัญชา มุแฮ วัย ๓๗ ปี ชายผู้เปรียบเสมือนผู้นำทางความคิดและแกนนำหลักในการทำกิจกรรมของชุมชน ทั้งการดำเนินงานพิธีกรรมทางศาสนา พิธีกรรมทางจิตวิญญาณ ทำแนวกันไฟป่า รวมถึงการขับเคลื่อนและผลักดันให้ชุมชนดอยช้างป่าแป๋เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประธานมูลนิธิชุมชนไท และรองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กิตติ คงตุก ผู้ช่วยศาสตราจารย์
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อธิบายความสำคัญของการจัดทำข้อมูลโดยคนในพื้นที่จริงกรณีชุมชนดอยช้างป่าแป๋ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านงานศึกษาเรื่อง “ดอยช้างป่าแป๋ : จากป่าจิตวิญญาณสู่เครือข่ายการเรียนรู้บนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ” (ปี ๒๕๖๖)

งานชิ้นดังกล่าวระบุว่า กระบวนการหมุนเวียนจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวไร่และพืชอาหาร กินระยะเวลาเพียง ๑ ปี  โดยหลังสิ้นสุดการทำไร่หมุนเวียน พื้นที่แปลงนั้นจะกลายเป็นไร่เหล่าเพื่อรอให้ดินฟื้นตัว จนกระทั่งกลายเป็นป่าที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์  เมื่อผนวกกับการจัดทำข้อมูลแนวกันไฟและจุดวางถังน้ำซึ่งใช้ป้องกันไฟป่าในฤดูร้อนทั่วทั้งชุมชน นอกจากจะช่วยดูแลรักษาสัตว์ป่าแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการจัดการดูแลป่าไม้และที่ดินให้แก่หน่วยงานภาครัฐ

ขณะที่งานศึกษาข้างต้นชี้ว่า ผลการสำรวจโดยชาวบ้านดอยช้างป่าแป๋ในปี ๒๕๖๕ พบว่ามีการทำไร่หมุนเวียนจำนวน ๑๖๗ ไร่ ซึ่งต่างจากความเข้าใจเดิมที่ว่าชาวบ้านใช้พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนราว ๒,๓๒๔ ไร่ บนพื้นที่ทั้งหมดราว ๒๑,๓๐๐ ไร่ของชุมชน

จึงสรุปได้ว่าองค์ความรู้โดยคนใน (insider) มาจากข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่หน่วยงานภายนอกอาจรวบรวมได้ไม่ดีเท่า และความจริงชุดที่แตกต่างจากรัฐนี้เองทำให้ชุมชนใช้เป็นเครื่องมือต่อรองประเด็นสิทธิชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐอีกทางหนึ่ง

ขณะเดียวกันดิปุนุเพิ่มเติมว่า เดิมทีความขัดแย้งเกิดจากการไม่มีข้อมูลเชิงสถิติ เพราะสิ่งที่หน่วยงานภายนอกต้องการคือตัวเลขที่ชัดเจน  เมื่อชาวบ้านทำมาหากิน ก็ยากที่จะสื่อสารกับคนนอกว่าไม่ได้มีการแผ้วถางป่าจนเกรียนโกร๋น ทำแค่พอเลี้ยงชีพ เป็นวิถีชีวิตซึ่งไม่เบียดเบียนธรรมชาติ

“ปีนี้คุณทำเท่าไรก็คิดมาเป็นเปอร์เซ็นต์ เราเลยนำเครื่องมือเข้าไปรังวัดพื้นที่ ทำออกมาเป็นแผนที่ ปรากฏว่าของเราละเอียดกว่าของหน่วยงานรัฐ”

เขาอธิบายว่าแต่ละแปลงมีข้อมูลและรหัสพิกัด ประกอบกับใช้กติกาชุมชนว่าจะไม่นำพืชชนิดอื่นไปปลูกในไร่หมุนเวียน ต้องทำเป็นนาถาวร ไม่ขายให้คนนอกไม่แปลงเป็นอย่างอื่น ไม่ใช้สารเคมี และไม่ทำสิ่งที่นอกเหนือจากข้อตกลงของชุมชน

“ตอนนี้ชาวบ้านออกแผ้วถางก็ไม่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าชุมชนเป็นแบบนี้”
...
สัญลักษณ์ของไร่หมุนเวียนคือดอกไม้ สื่อถึงเพศหญิง ขณะที่สัญลักษณ์ของผืนนาคือพื้นดิน สื่อถึงเพศชาย  หวานกล่าวพลางใช้มือสัมผัสลูบไล้ยอดใบข้าว

“ป่าที่มองเห็นอยู่น่ะ สมัยก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่อาจจะทำเหมือนกัน แต่ผลผลิตอาจไม่ดี ก็เลยกลายเป็นป่าแบบนี้”

หวานมองไปยังป่ารอบไร่ปีปัจจุบัน เมื่อสังเกตจากสายตาผู้มากประสบการณ์ เขาชี้ว่าบางจุดคือไร่ที่พักฟื้น ๓ ปีบ้าง ๗ ปีบ้าง ไปจนถึง ๓๐ ปี  เขาอธิบายต่อว่าปรกติไร่หมุนเวียนปีปัจจุบันแปลงหนึ่งจะเป็นของครอบครัวหนึ่ง ซึ่งแต่ละครอบครัวมักจะไม่ทำในแปลงเดิมซ้ำเป็นครั้งที่ ๓ เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งไม่ดี  อีกนัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่าไร่หมุนเวียนไม่มีมนุษย์คนไหนถือครองกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จ 

“ต้นไม้ใหญ่มีเทพีเทพาปกปักรักษา ภูเขาสูงมีเจ้าที่เจ้าป่าคอยปกปักรักษา ทุกสถานที่มีเจ้าของอยู่”

“การบวชป่า” เป็นพิธีกรรมที่ทำให้คนในชุมชนรู้จักคุณค่าผืนป่าและดำรงรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติ โดยมีการผูกโยงกับความเชื่อทางพุทธศาสนา อ้างอิงจากเหตุการณ์ในพุทธประวัติ มีต้นไม้และป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ

“ที่ผมพูดไม่ได้โม้นะ ผมเคยเจอมาแล้ว” หวานยืนยัน “ครั้งที่ ๓ จะไม่ดี  แม้ว่าจะได้ข้าวจริง แต่คนในครอบครัวอาจจะป่วยคนหนึ่ง บางทีก็ตายไปเลย  ถ้าไม่มีใครเจ็บป่วย อาจไม่ได้กินข้าวแม้แต่กระสอบหรือเม็ดเดียว”

สำหรับคนทำนาถาวรเพื่อปลูกข้าว หวานชี้ว่าชาวคริสต์ก็จะมีสัญลักษณ์ไม้กางเขนประดับนา  ชาวพุทธอาจมีเสาหรือหิ้งคล้ายศาลพระภูมิ  และในฝายน้ำสำหรับทำนาก็จะเลี้ยงน้ำด้วยเหล้าหนึ่งขวด

“มีคำของปกาเกอะญอตั้งแต่บรรพชนบอกว่า เราอยู่กับป่า ใช้ป่า ก็ต้องรักษาป่า  เราใช้น้ำก็ต้องรักษาน้ำ เราจะกินเขียดก็ต้องดูแลผา เพราะว่าเขียดอยู่ในผา เราอยากกินปลาก็ต้องรักษาลำห้วย เพราะปลาอยู่ในลำห้วย” หวานสรุป

สมการนี้เรียบง่ายแต่ทรงพลัง

จากคำสอนนี้เองดิปุนุได้เติมสุภาษิตให้กลายเป็นประโยค จนกลายเป็นบทเพลง “เลเลเตหน่ากู”

น้ำ | จากที่สูงสู่พื้นราบ
และความหวังในคนรุ่นใหม่

ท่ามกลางเสียงเจื้อยแจ้วของเด็กชั้นประถมศึกษา โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ป่าแป๋ โรงเรียนรัฐเพียงแห่งเดียวของหมู่บ้าน  โขง-ปิยพงศ์ ปอกกันทา ครูระดับชั้นประถมฯ ปลาย ผู้มีประสบการณ์สอนกว่า ๗ ปี บนดอยช้างป่าแป๋ ระบุว่า เด็กข้างบนกับเด็กข้างล่างแตกต่างกัน  ด้วยสัดส่วนเด็กทั้งโรงเรียนประมาณ ๒๐ คนต่อปีการศึกษา ต่อครู ๒ คน ประกอบกับวิถีชุมชน ความต้องการที่หลากหลายของเด็กกับผู้ปกครอง แต่เนื้องานของครูกลับเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป  นั่นจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนการสอน

ปี ๒๕๕๐ โรงเรียนแห่งนี้ออกจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนด้วยเหตุผลด้านงบประมาณ  ดังนั้นโขงจึงรับหน้าที่สอนทุกวิชาในระดับชั้น ป. ๔-ป. ๖

โขงอธิบายว่าตนเคยเป็นครูในกรุงเทพฯ ที่สอนเน้นวิชาการให้เด็ก ๔๐ คนได้  ครั้นเมื่อมาบรรจุบนดอย เริ่มแรกก็เน้นวิชาการโดยละเลยความต้องการผู้เรียน  จนครั้งหนึ่งเขาถามเด็กที่นั่งเหม่อลอยออกนอกห้องเรียนว่าเหตุใดจึงไม่ตั้งใจเรียน

“เขาตอบกลับว่าคิดถึงวัว คิดถึงป่า ทำไมครูไม่สอนการเลี้ยงสัตว์หรือปลูกพืชเพื่อที่เขาจะได้นำไปใช้เลี้ยงวัว หรือในชีวิตประจำวันได้จริง ๆ”

นับตั้งแต่นั้นโขงจึงทำแผนภาพหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า “วงเวียนฤดูกาล” และให้เด็กมีส่วนร่วมออกแบบ ในแต่ละปีชุมชนมีกิจกรรมใดบ้าง ตนจะได้ไม่หลุดออกจากทั้งตัวชี้วัดที่ส่วนกลางกำหนดและความเป็นชุมชน รวมถึงเปลี่ยนมุมมองในการวัดผลสัมฤทธิ์ส่วนตัวด้วย

“เรามีหน้าที่แค่ว่าถ้าเธอไปอยู่ข้างล่างจะเจออะไร และเธอต้องปรับตัวยังไงให้อยู่ข้างล่างได้” โขงกล่าว

ไม่ต่างจากวัฏจักรของน้ำ ผู้คนอาจเทียบเคียงได้กับโมเลกุล H2O จากตาน้ำบนภูเขาสูงหรือท้องฟ้า ล้วนต้องจำนนต่อแรงโน้มถ่วง ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ รอวันระเหยจากพื้นดินกลายเป็นไอน้ำ ควบแน่น กลั่นเป็นฝน  บ้างตกลงบนที่ราบลุ่มบ้างคืนสู่ที่สูงอีกครั้ง
...
คาดคะเนจากสายตาบัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ ดิปุนุ มองว่าเด็กหมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋คล้ายกับเด็กในเมืองจากการเข้ามาของโทรศัพท์มือถือ  แต่ก็มีเด็กที่ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้บ้าง เช่น ช่วงที่มีโอกาสเข้าป่ากับพ่อแม่ หรือกลุ่มเยาวชนอาสาดับไฟป่า

“ไม่ต้องห่วงว่าเขาจะพูดภาษาไทยไม่ชัด สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเขาจะพูดภาษาตัวเองไม่ได้”

Image

การทำไร่หมุนเวียน หรือ “ฆึฉึ่ย” ของชาวบ้าน ไม่ได้ถางป่าจนเหลือแต่หน้าดิน แต่ทำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตโดยจะมีพิธีแพะลอคึ หรือ “พิธีฟันไร่” หากสัตว์ป่าร้องในขณะทําพิธีจะถือว่าพื้นที่นั้นห้ามทําไร่หมุนเวียน

ดิปุนุกล่าวต่อไปว่า เด็กในหมู่บ้านจะอยู่กับพ่อแม่แค่ช่วงประถมฯ เพราะหากต้องการเรียนต่อ จะต้องลงไปในเมือง ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้ภาษาไทย

และในช่วงเวลานั้นเองเด็กบางคนอาจปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตเมืองและหางานทำที่พื้นราบต่อหลังเรียนจบ เช่น งานโรงงาน งานโรงแรม รับจ้างทั่วไป หรืองานตามสาขาที่เรียน ขณะที่บางคนก็กลับขึ้นมาใช้ชีวิตข้างบนควบคู่กับการเรียน กศน.

“เขาจะเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาตัวเองก็ต่อเมื่อทำวิทยานิพนธ์หรืออะไรสักอย่างที่ทางมหาวิทยาลัยบังคับว่าคุณต้องทำเรื่องนี้”

สำหรับดิปุนุ หลักสูตรระดับประถมศึกษาควรชั่งน้ำหนักให้เหมาะสม อาจใช้หลักสูตรท้องถิ่น เช่น ภาษา ความเชื่อ จารีต วัฒนธรรมท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องเข้มข้นมาก และควรให้อิสระแก่เด็กมากกว่าจะให้แค่การบ้าน

ภาพการศึกษาที่ดิปุนุวาดหวังไว้ คือการปรับโครงสร้างระดับนโยบายการศึกษาให้ชุมชนที่มีรากฐานและทุนทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ใช้หลักสูตรการศึกษาท้องถิ่นซึ่งชุมชนมีส่วนร่วมและภาครัฐสนับสนุน

“ไม่ว่าจะเป็นดนตรีพื้นบ้าน ผึ้งโพรง หรือทุนด้านอื่นอีกมากมาย ถ้าเด็ก ๆ อยู่บ้านแล้วบริหารทุนพวกนี้ได้ เขาจะไม่ต้องลงไปแย่งทรัพยากรในเมือง อยู่ในป่า อยู่หมู่บ้านตรงนี้ ผลิตสิ่งดี ๆ ที่มี แล้วแบ่งปันให้คนในเมือง จะกลายเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง”

สายตาเขาเป็นประกายและแน่วแน่ขณะพูด  ดิปุนุไม่ลืมข้อเท็จจริงที่ว่า การลงแรงในวิถีชีวิตดั้งเดิมแล้วเห็นผลประโยชน์ตามมาและเกิดรายได้ย่อมเป็นกำลังใจสำคัญ อีกทั้งยังทำให้วิถีชีวิตดำรงอยู่อย่างยั่งยืน  ยิ่งไปกว่านั้นในยุคโลกาภิวัตน์ซึ่งโลกทั้งใบเชื่อมต่อกันเพียงปลายนิ้ว เขายังคงเชื่อมั่นว่าวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมจะดำเนินต่อไปและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ภายนอกได้

“ถ้าปีนี้ไร่หมุนเวียนมีผลผลิตแย่มาก เราก็จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยบำรุงเพื่อให้ชาวบ้านมีข้าวกิน  ชาวบ้านอาจต้องยอมแลกกับตรงนั้น แต่ไม่ใช่การพ่นสารเคมี”

ดิปุนุยอมรับว่าหากเกิดสถานการณ์สภาพภูมิอากาศเลวร้ายก็ต้องประเมินและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม  อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับมาที่คนรุ่นใหม่ในชุมชน อันดับแรกคือการสร้างความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ เช่น การติดตั้งแนวสปริงเกอร์ตามจุดดับไฟป่า การเรียนรู้จากป่า หรือการทำความเข้าใจในคำสอนดั้งเดิม

ปัจจุบันมีการแบ่งกลุ่มกิจกรรมในชุมชนออกเป็นสามกลุ่มหลัก ได้แก่ รุ่นเล็ก เช่น โอ จยี อายุ ๑๑ ขวบ ผู้มักติดสอยห้อยตามรุ่นพี่เข้าป่าเสมอ  รุ่นกลาง เช่น ยุ อุ๊-สิทธิพล บุญมา อายุ ๒๐ ปี ผู้กลับขึ้นมาอาศัยบนดอยหลังจากร่ำเรียนระดับมัธยมศึกษาพักหนึ่งที่พื้นราบ และรุ่นใหญ่อย่างดิปุนุหรือหวาน ซึ่งมีความสามารถเฉพาะด้าน ทักษะการตัดสินใจ และความเข้าใจในพื้นที่

บางสถานการณ์ซึ่งมีงานในชุมชนพร้อมกับช่วงคุกรุ่นของไฟป่า ก็จะมีชาวบ้านพร้อมสนับสนุนและช่วยเหลือกัน เช่น กรณีวันบวชป่าช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ต้องมีกลุ่มรับรองแขกเหรื่อจากทั้งภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคอยดับไฟป่าในพื้นที่การดูแลของชุมชน

“มันสัมผัสได้สองแบบนะ นอกจากกำลังที่เราลุยเต็มที่ อีกอย่างก็คือพลังธรรมชาติที่เรามองไม่เห็น เขาจะดลบันดาลให้เกิดความร่วมมือ เกิดการทำงานร่วมกัน”

หนุ่มโสดวัย ๓๗ ยิ้มและยกตัวอย่างวันเสาร์แรกของเดือนกันยายนที่ฝนตกตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง แต่เมื่อจะเริ่มพิธีในช่วง ๑๐ นาฬิกา “ฝนก็หยุด ฟ้าก็เปิด”

Image

มู ดิ๊ ชายชราวัย ๘๐ ปี ชาวปกาเกอะญอจากเชียงใหม่ อดีตครูบนดอยช้างป่าแป๋

ดิน | ปัจจุบันของ
ดอยช้างป่าแป๋

ต้นกาแฟอาราบิก้าเรียงรายใต้ต้นไม้ใหญ่รายล้อมหมู่บ้าน โดยต้นไม้ที่เป็นร่มเงาล้วนสูงชะลูดน่าเกรงขาม บางต้นมีจีวรกรัง ๆ สีซีด ผูกไว้  บางต้นมีไม้กางเขนติดประดับราวหัวเข็มขัด บางต้นมีทั้งจีวรและกางเขน บางต้นมีป้ายคำสอน “เอาะก่อ เก่อตอก่อ ใช้ป่า รักษาป่า” ที่คอยย้ำเตือนถึงคำสอนบรรพชน

อากาศเย็นลง แสงรำไรเปื้อนใบเขียวเข้มของต้นกาแฟให้ความรู้สึกเหมือนพืชผักสวนครัวประจำบ้านโดยกาแฟเมล็ดแรกของดอยช้างป่าแป๋มาจากบาทหลวงเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วพร้อมกับศาสนาคริสต์

“คนที่เข้ามาคนแรกเป็นฝรั่ง แต่พูดภาษาปกาเกอะญอเก่งนะ”

มู ดิ๊ ชายชราอายุ ๘๐ ปี สวมหมวกกำมะหยี่ดำเทา สะพายย่ามสีแดง ถือไม้เท้า ให้ข้อมูลจุดเริ่มต้นของกาแฟที่มาพร้อมกับบาทหลวงคนแรก

หลังคุยกันสักพักชายชราเผยว่าตนเป็นปกาเกอะญอจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ในอดีตเคยเป็นครูสอนศาสนาคริสต์ที่หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ เขากลับขึ้นมาเพื่อร่วมงานฉลองโบสถ์คริสต์

“ถ้าเห็นมดแดงทำรังต่ำ ๆ ต้องระวัง แสดงว่าจะมีฝนตกและลมแรง บางครั้งต้นไม้ก็ล้ม แบบนี้อันตราย ปกาเกอะญอรู้ดี”

ชายชราทิ้งท้ายว่าอยู่ที่นี่แล้วสบายใจ ยิ้มเล็กน้อยก่อนออกเดินสำรวจหมู่บ้านที่ตนเคยพำนัก
...
หลังเสร็จสิ้นพิธีฉลองโบสถ์ เสียงกระหืดกระหอบของคนพื้นราบอย่างเราดังเป็นระยะ เมื่อเคล้ากับเสียงย่ำเท้าบนดินเฉอะแฉะด้วยน้ำฝนจากช่วงเช้ามืด หวานจึงเล่าถึงการสัญจรในวัยเด็ก

“ถ้าครูให้ไปเอาสมุดหนังสือ ก็ต้องเดินแบกขึ้นมาไม่นึกไม่ฝันว่ารถยนต์จะมาได้”

เป็นเวลาราว ๗ ปีที่พาหนะสี่ล้อขึ้นมาถึงได้  ปัจจุบันถนนคอนกรีตนี้ยังคงก่อสร้างลึกเข้าไปอีกด้านของตัวหมู่บ้าน ซึ่งอาศัยเรี่ยวแรงจากคนในชุมชนโดยไม่เกี่ยงศาสนา

“เราจะดูแมลงปอ ถ้ามันบินต่ำ ๆ คือฝนใกล้จะตก” หวานสอนวิธีการพยากรณ์อากาศฉบับปกาเกอะญอ เมื่อเห็นเมฆฝนด้านทิศตะวันออกปกคลุมเบื้องล่าง

“ถ้าเมฆมาทางตะวันตกฝนจะตก ถ้าเมฆมาทางตะวันออกจะไม่มีฝน  อาจจะตก แต่ไม่หนัก”

แล้วก็เป็นไปตามนั้น ฝนเริ่มตกอ้อยอิ่งพอชื่นใจ จากนั้นเมฆก็สลายตัว ฟ้าใสยิ่งกว่าก่อนเริ่มพิธี

คราวนี้มีสายรุ้งยืนโบกมือทักทายทางทิศตะวันออก  

เอกสารประกอบการเขียน
เอกสารภาษาไทย
บัญชา มุแฮ, ชาปวย ดอกคำ, สิทธิผล บุญมา, ศิริเวช บุญมา, พรชัย มุแฮ, แววดาว หยกวิภัยกุล, ศิริขวัญ บุญเป็ง, วรรณพร ลาแก้ว, เกรียงไกร บุญทา, ธีรพงษ์ กุละ, สิทธิศักดิ์ บุญมา, เสาร์คำ มีเขียว, ชัยวุฒิ บุญเป็ง, ประเทือง บุญมา, ธวัชชัย เอกดำรงศักดิ์, สิทธิชัย บุญมา, สุพันธ์ แก้วใจ, กิตติชัย ยิ่งสินการ, เกะสุ กุละ, ผัด คำบาง, จันทร์สวย คำเงิน, ประสิทธิ บุญมา, ยุทธนา กุละ, ปุ๊ซอ ดูแฮ, โสพิณ แหล่ลิ, รำพรรณ นิธิสมบัติจินดา, ครึกา มีเขียว, ธัญญา มุแฮ และวัศพล เตมือ (๒๕๖๓). การสร้างพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษของชุมชนบ้านดอยช้างป่าแป๋สู่วิถีแห่งชีวิต : โครงการวิจัย : รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

ประภาส ปิ่นตบแต่ง และ กิตติ คงตุก (๒๕๖๖). “ดอยช้างป่าแป๋ : จากป่าจิตวิญญาณสู่เครือข่ายการเรียนรู้ บนพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ” ใน วารสารวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์, ๒(๑) : ๔๐-๗๕.

สื่ออิเล็กทรอนิกส์
ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล. “พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ ๑ บี และความสำคัญของการกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำไทย”. สืบค้นจาก https://shorturl.at/gjxC1

ณัฐกานต์ ศรีสมบูรณ์. “เขตวัฒนธรรมพิเศษ ‘ดอยช้างป่าแป๋’ เมื่อผู้คนส่งเสียงถึงรัฐว่าเขามีตัวตน”. สืบค้นจาก https://www.the101.world/doi-chang-parpae/

ทัศนีย์ ประกอบบุญ. “ถอดบทเรียน ๑ ทศวรรษ คุ้มครองวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง”. สืบค้นจาก https://theactive.net/data/rights-of-ethnic-group/Facebook : Deepunu กะเหรี่ยงฅนต้นน้ำ

Image