อยู่กับตัวเองให้เป็น
ก็เป็นสุข
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
ตุลาคมเป็นเดือนเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคนที่เกษียณอายุการทำงาน บางคนทำงานที่เดิมตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัย นับรวมเวลาก็ราว ๔๐ ปี สังคมและชีวิตเกินครึ่งอยู่ที่ทำงาน ย่อมเกิดความผูกพันเป็นธรรมดา
เมื่อถึงวัยเกษียณอายุการทำงานจึงมักรู้สึกว่าชีวิตส่วนหนึ่งหายไป จากที่เคยมีผู้คนแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ต้องกลับมาอยู่บ้านกับครอบครัว บางคนอยู่บ้านคนเดียวตามลำพัง ทำให้เกิดภาวะเหงา โดดเดี่ยว หรือรู้สึกไร้คุณค่าจนแทบทนไม่ไหว
คนส่วนใหญ่มักเตรียมความพร้อมรับมือการเกษียณอายุด้วยการวางแผนทางด้านการเงิน ที่อยู่อาศัย งานอดิเรก การรักษาพยาบาล แต่มักจะหลงลืมฝึกฝน สิ่งสำคัญคือการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะการอยู่กับตัวเองให้เป็น
เมื่ออยู่กับตัวเอง สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งคือการดูแลความรู้สึกนึกคิด ดังคำกล่าวโบราณที่ว่า “อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด” คิดถึงงาน เพื่อนร่วมงาน ความเจ็บป่วย ยิ่งคิดก็ยิ่งเหงา เศร้า เครียด จิตใจห่อเหี่ยวไม่ชื่นบาน
ทางพุทธศาสนาเรียกความนึกคิดเหล่านี้ว่าการปรุงแต่ง และส่วนใหญ่ก็มักปรุงแต่งเรื่องลบ ยิ่งอยู่คนเดียวยิ่งคิดลบไปกันใหญ่ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงมักกลัวการอยู่คนเดียว
พระไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเรื่อง “ถ้ารักตนก็อย่าเบียดเบียนตน” เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๖ ว่า คนทุกวันนี้ไม่ค่อยคำนึงถึงประโยชน์ตน ทั้ง ๆ ที่บอกว่ารักตัวเอง แต่ชอบเบียดเบียนตน
“แม้อยู่เฉย ๆ ก็เบียดเบียนตนได้นะ...เบียดเบียนจิตใจของตน อยู่เฉย ๆ ใจก็ไปหวนคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เจ็บปวด ผ่านไปนานแล้ว คิดถึงความสูญเสีย คนรัก ของรัก ก็ทำให้เกิดความเศร้าโศก เสียใจ คิดถึงคนที่เขาทรยศหักหลัง เอาเปรียบกลั่นแกล้งเรา ต่อว่าด่าทอเรา ก็เกิดความโกรธ คิดถึงความผิดพลาดในอดีตก็เกิดความรู้สึกผิด หรือมิเช่นนั้นก็ไปนึกถึงเรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ว่าพอนึกแล้ว ความที่ชอบคิดลบ คิดร้าย คิดระแวงก็เลยเห็นแต่ปัญหา พอเห็นปัญหาเข้าก็เกิดความหนักอกหนักใจ”
“สิ่งหนึ่งที่ชี้ว่าเราไม่ได้รักตัวเองเลย ก็คือว่าเรามักจะทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ เรามักจะอยู่กับสิ่งอื่น เดี๋ยวนี้ก็ต้องอยู่กับโทรศัพท์ ถ้าไม่มีโทรศัพท์ก็เคว้งเลย ไม่มีอะไรให้ดู ไม่มีเพลงฟัง ไม่มีหนังดูก็เคว้ง ไม่มีเพื่อนพูดคุยก็รู้สึกกระสับกระส่าย จะให้ทำอะไรก็ได้ ยกเว้นการอยู่กับตัวเอง เพราะอยู่กับตัวเองมันจะทำให้เกิดความทุรนทุรายมาก ทรมานเลยทีเดียว”
พระไพศาลเล่าว่าจากการทดลองให้อาสาสมัครหญิงและชายจำนวน ๔๐ คน นั่งคนเดียวในห้อง ๑๕ นาที ไม่มีหนังสือและโทรศัพท์ และทดลองช็อตไฟฟ้าโวลต์ต่ำ ๆ แล้วถามว่ารู้สึกอย่างไร ทุกคนบอกว่าไม่ชอบ
หลังจากอยู่คนเดียว ๑๕ นาที อาสาสมัครส่วนใหญ่ทนไม่ได้ เมื่อผู้ทำการทดลองอนุญาตให้ช็อตไฟฟ้าตัวเองได้ อาสาสมัครทั้งหมดกดปุ่มช็อตไฟฟ้าอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยเป็นผู้ชายประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ บางคนช็อตไฟฟ้าตัวเองถึงเก้าครั้ง แม้ตอนแรกจะตอบว่าไม่ชอบ แสดงให้เห็นว่าการอยู่กับตัวเองท่ามกลางกระแสความคิดที่พรั่งพรูน่าเบื่อและน่ากลัวกว่าไฟฟ้าช็อต
“เราทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด เราทุกข์เพราะหลงเข้าไปในความคิด โดยเฉพาะความคิดลบ ความคิดร้าย รวมทั้งอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากความคิดเหล่านั้นด้วย”
สิ่งที่จะช่วยให้เรารู้ทันความคิดหรือไม่หลงความคิดคือการฝึกความรู้สึกตัว
“ความรู้สึกตัวนี่แหละที่จะพาให้เราเดินข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย...ถ้าเราเดินด้วยความรู้สึกตัว มีสติ เราก็จะรู้ว่าถนนโล่งหรือมีรถแล่นมาหาไหม อันนี้เรารู้นอก ถ้าถนนโล่งปลอดภัย เราก็เดินข้าม แต่ขณะเดียวกัน เราก็รู้ทันความคิดด้วย ว่าเวลาใจเผลอคิด คิดเรื่องงาน คิดเรื่องลูก คิดเรื่องพ่อแม่ ตอนนั้นขาดสติ หรือถ้าเราข้ามถนนก็อาจจะโดนรถชนได้” พระไพศาลกล่าว
การฝึกความรู้สึกตัวในที่นี้หมายรวมทั้งร่างกายและความคิด เรียกรวม ๆ ว่า “รู้กายเคลื่อนไหว รู้ใจนึกคิด” ไม่ว่าจะเป็นล้างจาน กินข้าว แปรงฟัน กวาดบ้าน ก็รู้ชัดว่ากำลังทำอะไรอยู่ เรียกว่ารู้กาย และเห็นความคิด เมื่อเห็นแล้วก็วาง
กล่าวโดยสรุปคือการฝึกรู้ตัวและรู้ความคิดจะเป็นวิธีการหรือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนวัยเกษียณอยู่กับตัวเองอย่างมีความสุข