โทเบียส หรือโทบี้ จากอาสาสมัครกลายมาเป็นผู้ดูแลสัตว์ (animal manager) ของอาศรมธรรมชาติ เขาอยู่ที่นี่ ๑ ปีแล้ว เขาดูแลไก่อย่างใกล้ชิด ให้อาหาร เก็บไข่ และพูดคุย จนรู้แม้กระทั่งว่าวันนี้ไก่บ่นเพราะฝนตก
เพอร์มาคัลเจอร์
คืนกลับธรรมชาติ
สู่วิถีที่ยั่งยืน
Eco Living ดิน ฟ้า ป่า นํ้า
เรื่อง : ฉัตรชัย สิทธิจรรยากุล
ภาพ : วันนิษา แสนอินทร์
แสงแดดสาดส่องทอดกระทบหมู่ไม้หลังคาใบเขียว สอดลอดลงมาเป็นริ้วยาวถึงพืชพรรณเบื้องล่าง บนผืนพื้นแผ่นดินอันชุ่มอุดมสมบูรณ์ กรุ่นกลิ่นไอดินหอมฟุ้งไปทั่วอาณา ท่ามกลางความเขียวขจีที่โอบกอดหมู่มวลสิ่งมีชีวิต เคล้าเสียงไก่และนกคลอบรรเลงกล่อมธรรมชาติและผู้คน ณ อาศรมแห่งนี้
“ธรรมชาติอยู่ได้โดยไม่มีคน แต่คนอยู่ไม่ได้หากขาดธรรมชาติ ท้ายที่สุดแล้วปลายทางของเพอร์มาคัลเจอร์คือการที่มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยที่ต่างฝ่ายต่างเติบโตสมบูรณ์ไปด้วยกัน” เสียงหญิงสาวผิวสีน้ำผึ้งผู้หลงใหลในความงดงามของธรรมชาติและผู้ก่อตั้งอาศรมธรรมชาติ
เสียงนี้ดังขึ้น ณ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เป็นที่ตั้งของ “กายาอาศรม (Gaia Ashram) หรืออาศรมธรรมชาติ” ชุมชนนิเวศวิถี (ecovillage) ซึ่งมีวิถีชีวิตบนหลักการเพอร์มาคัลเจอร์ (permaculture) โดยเปิดให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรระยะสั้นที่มีค่าใช้จ่าย และยังเปิดรับอาสาสมัครนักศึกษา คนไทยทั่วไป หรือต่างชาติเข้ามาเรียนรู้และช่วยงานด้วย
เพอร์มาคัลเจอร์เป็นแนวคิดและวิถีทางการเกษตรที่เน้นเรื่องความยั่งยืนของชีวิตและสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๗๘ โดย บิลล์ มอลลิสัน (Bill Mollison) นักนิเวศวิทยา และ เดวิด โฮล์มเกร็น (David Holmgren) นักออกแบบสิ่งแวดล้อม ชาวออสเตรเลียที่นำคำว่า permanent (ยั่งยืน คงทน) และ agriculture (เกษตรกรรม) มารวมกันเพื่อแสดงถึงปรัชญาความยั่งยืนและวิถีชีวิตแบบองค์รวม
แต่ต่อมามอลลิสันและโฮล์มเกร็นเปลี่ยนคำว่า agriculture เป็น culture (วัฒนธรรม) เพื่อให้ความยั่งยืนมีความหมายรวมถึงที่อยู่อาศัย ความต้องการทางสังคมของมนุษย์
หัวใจสำคัญของเพอร์มาคัลเจอร์คือการใส่ใจโลกและใส่ใจผู้อื่น
“การอยู่ร่วมกันคือการหวนคืนกลับไปสู่ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เร าก็คือธรรมชาติเหมือนกัน อยู่ร่วมกันช่วยดูแลกันให้เติบโต”
ชาวอาศรมธรรมชาติ (Gaia Ashram) กำลังปรับปรุงสวนครัวมันดาลา (Mandala)
อ้อม-สุนิสา จำวิเศษ วัย ๔๔ ปี ผู้ก่อตั้งอาศรมธรรมชาติ นั่งอยู่ในสวนครัวมันดาลา
“เรากินอาหารที่งอกงามขึ้นจากพื้นดิน น้ำ อากาศของที่นี่ ฉะนั้นเราจะต้องปล่อยตัวเองให้เป็นไปตามธรรมชาติแวดล้อม” คำบอกเล่าของตุ๊ก ครูโยคะที่อาศรมธรรมชาติ
สัมพันธ์
สังคมไทยรับอิทธิพลจากชาติตะวันตกซึ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักในการพัฒนาประเทศทำให้ซึมซับค่านิยมหลักคิด ความทันสมัย และบริโภคนิยม จนหลอมรวมมาใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ทำให้ผู้คนมีวิถีชีวิตห่างเหินจากธรรมชาติและแก่งแย่งแสวงหาความเป็นเจ้าของทรัพยากรต่าง ๆ สังคมไทยจึงสลับซับซ้อนมากขึ้น
แต่มีคนบางกลุ่มต้องการหลีกหนีการครอบงำและการใช้ชีวิตในกระแสหลัก ก่อให้เกิดชุมชนอุดมคติเล็ก ๆ ที่หลากหลาย
อ้อม-สุนิสา จำวิเศษ อายุ ๔๔ ปี หญิงสาวผิวสีน้ำผึ้ง อดีตผู้ช่วยนักวิจัยพัฒนาชุมชน เธอเคยเป็นอาสาสมัครที่อาศรมวงศ์สนิท จังหวัดนครนายก ชุมชนของคนที่ตั้งใจมาอยู่ร่วมกันโดยเน้นเรื่องการอนุรักษ์ระบบนิเวศหรือชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เวลา ๘ ปีที่นั่นเธอได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตทางเลือกที่หลงใหลมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น
“การมีโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนนิเวศวิถี แนวคิดต่าง ๆ เช่น เพอร์มาคัลเจอร์ ที่อาศรมวงศ์สนิท รวมทั้งแนวคิดการสร้างชุมชนที่เรียกว่า intentional community ทำให้เราเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วเราสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ได้ โดยมีวิธีการออกแบบ จัดตั้ง การสร้างชุมชนให้เราอยู่ร่วมกันด้วยมิติต่าง ๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ ความเชื่อ และจิตวิญญาณ มันสอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน คล้ายกันกับชุมชนดั้งเดิมที่เราอาศัยอยู่สมัยเด็ก” เธอกล่าว
แปลงพืชผักที่ปลูกพืชแบบห้าระดับรดด้วยปุ๋ยหมัก เป็นการทำเกษตรบนหลักการเพอร์มาคัลเจอร์ที่คืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ผืนดิน
แผนภาพการปลูกพืชในอาศรมธรรมชาติอาจดูเหมือนป่ารก แต่ทั้งหมดนี้ผ่านกระบวนการคิดมาแล้ว
ด้วยแรงบันดาลใจและปณิธาน ทำให้เธอกลับมาบ้านเกิดเพื่อก่อตั้ง “Gaia Ashram อาศรมธรรมชาติ”
เธอเปลี่ยนผืนนาโล่งเตียนแห้งแล้ง ผักไม้ใบหญ้าเหลืองเหี่ยวจากแสงแดดแผดเผา ไม่มีต้นไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ เธอค่อย ๆ ใช้เวลาฟื้นฟู ปรับทีละนิด จนก่อเกิดระบบนิเวศอันสมบูรณ์
“เราต้องเรียนรู้ว่าระบบนิเวศ ระบบธรรมชาติ ระบบป่าเขาฟื้นฟูตัวเองอย่างไร หากเป็นพื้นที่โล่งเตียน ธรรมชาติก็จะสร้างหญ้าคลุม เหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจนวิวัฒน์สู่ป่าในที่สุด ใช้เวลายาวนาน แต่ก็คุ้มค่าทั้งกับเราและเขา ซึ่งก็คือธรรมชาติ”
ท่ามกลางความสงบเงียบไร้เสียงรบกวนจากภายนอก สายลมพาพัดกิ่งก้านใบของพืชน้อยใหญ่ไหวพลิ้วโยกไปตามครรลองลม ประหนึ่งจะขอบคุณหญิงมาดเซอร์ผิวสีแทนผู้ก่อร่างฟื้นฟูเขาเหล่านั้นให้กลับมามีชีวิตชีวา ใบหน้าสงบนิ่งอวบอิ่มความสุขของอ้อม สายตามองทอดไปรอบ ๆ ด้วยความภูมิใจ แมกไม้นานาชนิด เช่น มะกรูด กล้วย ผักโขม กอไผ่ และอากาศกำลังทักทายเธออย่างเป็นมิตร
“การอยู่ร่วมกันคือการหวนคืนกลับไปสู่ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ เราก็คือธรรมชาติเหมือนกัน อยู่ร่วมกัน ช่วยดูแลกันให้เติบโต เราเลี้ยงไก่ก็อยากให้ไก่มีความสุข เลี้ยงต้นไม้ก็อยากให้ต้นไม้เติบโต”
อ้อมตั้งคำถามแห่งชีวิตต่อไปว่า “จะอยู่ร่วมกันอย่างไรโดยที่เราก็สุขสมบูรณ์ขึ้น สรรพสิ่งอื่นก็เติบโตขึ้น และต้องเข้าใจด้วยว่าความเติบโต ความเสื่อม เป็นวัฏจักร”
บ้านดินแต่ละหลังสร้างจากพลังแรงกายจากชาวอาศรมธรรมชาติ ทั้งไทยและต่างชาติที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเรียนรู้วิถีชีวิตเพอร์มาคัลเจอร์
แผนที่ภายในอาศรมธรรมชาติที่แบ่งสัดส่วนการทำกสิกรรมอย่างชัดเจน
ตารางคอร์สที่จัดขึ้นเพื่อให้คนที่สนใจในวิถีชีวิตเพอร์มาคัลเจอร์มาเรียนรู้และใช้ชีวิต
จรรยพร เพ็งนรพัฒน์ หรือ “จูน” อายุ ๒๗ ปี อดีตแพทย์โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งทางภาคอีสานผู้เห็นความเป็นความตายมานับครั้งไม่ถ้วนและหันหลังให้กับงานที่หลายคนใฝ่ฝัน เธอเดินทางมาเป็นอาสาสมัครที่อาศรมธรรมชาติ เรียนรู้วิถีชีวิตแบบเพอร์มาคัลเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนแปรรูปผลิตภัณฑ์ ฝึกจิตสมาธิภาวนา งานศิลปะอันเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ฯลฯ เพื่อค้นหาความสุขในแบบที่เธอตามหา
ยังมีเพื่อนมนุษย์จากแดนไกลหลากหลายประเทศเดินทางมาซึมซับ สัมผัส และเรียนรู้การใช้ชีวิตที่เขาเหล่านั้นมองว่าคือความสุขอันยั่งยืนของปลายทางชีวิต
อาศรมธรรมชาติมีพื้นที่ประมาณ ๔๐ ไร่ แบ่งเป็นห้าส่วน ได้แก่ หนึ่ง พื้นที่อยู่อาศัย มีบ้านดินเจ็ดหลัง สอง พื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัวหรือพืชหมุนเวียนตามฤดูกาล สาม พื้นที่ไม้ผลผสมพืชสมุนไพร สี่ พื้นที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด และห้า พื้นที่ป่า
“ตัวเราเองก็มีหลายมิติ พอเริ่มทบทวนให้ดีแล้วจะเห็นถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในธรรมชาติ และเราก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ไม่รบกวน เบียดเบียนกัน โดยที่ต่างก็มีความสุข” จูนเล่าด้วยน้ำเสียงเรียบนิ่ง
วิถีชีวิตบนหลักเพอร์มาคัลเจอร์สัมพันธ์กับหลายสิ่ง หลอมเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศ (ecology) มิติทางสังคมและความสัมพันธ์ (social) มิติทางเศรษฐกิจ (economic) มิติด้านจิตวิญญาณและโลกทัศน์ (worldview)
จูน-จรรยพร เพ็งนรพัฒน์ อายุ ๒๗ ปี อดีตแพทย์โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน เธอเดินทางมาเป็นอาสาสมัครที่อาศรมธรรมชาติเพื่อหาความสุขในแบบที่เธอตามหา
เธอหลับตานั่งนิ่ง สองมือผสานประกบเข้าหากันอยู่ชั่วขณะท่ามกลางลมเย็นพัดเอื่อย นกกระจิบหลายตัวที่บินมาเกาะต้นไม้ใกล้ ๆ กับบ้านดินส่งเสียงเซ็งแซ่ดั่งพร้องร้องเรียกเธอ
“พอรับรู้ถึงธรรมชาติที่กำลังเสื่อมไปก็ไม่อยากให้เพิกเฉย อยากให้รับฟัง สังเกต เข้าใจ ว่าเขาก็เหมือนเราที่เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ ไม่มีใครอยู่สูงกว่าใคร แต่ทุกสิ่งเท่ากัน พึ่งพากัน มันจะก่อเกิดความสวยงามในระบบที่มีมนุษย์กับสรรพสิ่ง” หญิงสาวผิวขาวร่างเล็กผู้ค้นพบความสงบและความสุขเล่าอย่างเข้าใจ
สรรพสิ่งเกิดขึ้นมาเพื่อมีชีวิตสัมพันธ์กันในระบบธรรมชาติ สรรค์สร้างเพื่อการดำรงอยู่ของกันและกัน
หากเราเข้าใจเกื้อกูลดูแลธรรมชาติ เขาย่อมตอบแทนเรากลับมาอย่างมหาศาล
หรือเราจะเป็นเพียงผู้บริโภคที่ไม่เห็นคุณค่าสิ่งมีชีวิตอื่นในโลก แล้วสูบเลือดสูบเนื้อปล่อยให้เขาเหล่านั้น ค่อย ๆ เหือดหายตายจากไป เหลือเพียงเผ่าพันธุ์มนุษย์ !
ออกแบบ
“เมื่อมนุษย์มีความต้องการหลากหลาย เราต้องมาดูว่าจะตอบสนองอย่างไรให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ถ้าไม่สอดคล้องก็จะสร้างผลกระทบ ก่อให้เกิดทุกข์กับคนอื่นหรือสรรพสิ่งรอบตัวเรา” หญิงสาวผู้ก่อตั้งอาศรมธรรมชาติกล่าว
อ้อมบอกว่ามนุษย์มีความต้องการพื้นฐาน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม พลังงาน ที่อยู่อาศัย เพอร์มาคัลเจอร์ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ เพราะแนวคิดนี้จะสอนกระบวนการออกแบบชีวิตเลียนแบบระบบธรรมชาติ โดยที่ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน
โทเบียส หรือโทบี้ จากอาสาสมัครกลายมาเป็นผู้ดูแลสัตว์ (animal manager) ของอาศรมธรรมชาติ เขาอยู่ที่นี่ ๑ ปีแล้ว เขาดูแลไก่อย่างใกล้ชิด ให้อาหาร เก็บไข่ และพูดคุย จนรู้แม้กระทั่งว่าวันนี้ไก่บ่นเพราะฝนตก
ลีโอนี วัย ๑๘ ปี สัญชาติเยอรมัน กำลังเก็บผักโขมแดง เธอบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นอาสาสมัครระยะสั้น เพื่อลองใช้ชีวิตตามวิถีเพอร์มาคัลเจอร์
อาคารอเนกประสงค์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ รูปทรงน่ารักอบอุ่นสร้างจากดินเหนียวที่นำไปหมักกับน้ำ แกลบ ฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง เพื่อสร้างความแข็งแรง ก่อนนำไปเข้าพิมพ์ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและตากแห้ง แล้วจึงนำไปประกอบสร้างเป็นบ้านดินที่กลมกลืนกับธรรมชาติได้ดี
ในอาศรมธรรมชาติ บ้านดินแต่ละหลังสร้างจากพลังแรงกายจากชาวอาศรมธรรมชาติทั้งไทยและต่างชาติที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเรียนรู้วิถีชีวิตเพอร์มาคัลเจอร์ ถือเป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันอย่างอบอุ่น มีบ้านดินน้อยใหญ่กระจายทั่วพื้นที่ โอบกอดด้วยพืชพรรณหลากหลาย ให้อารมณ์เหมือนอาศัยอยู่ในชุมชนเผ่าโบราณ
ชุมชนทางเลือกต่างจากองค์กรทั่วไปและต่างจากขบวนการทางสังคม
“เพอร์มาคัลเจอร์มีจริยธรรมพื้นฐานสามเรื่อง คือ หนึ่ง earth care หรือการใส่ใจดูแลโลก มีวิถีชีวิตที่ไม่ทำร้ายโลก โลกในที่นี้หมายถึงระบบนิเวศ ระบบธรรมชาติ สอง people care หรือการใส่ใจดูแลผู้คน ชุมชน ตัวเอง และสาม fair share หรือระบบแบ่งปันที่ยุติธรรม ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ เช่นเราเพาะปลูกมีผลผลิตที่เป็นผลไม้เยอะ บางส่วนเราเก็บกิน บางส่วนก็ปล่อยให้นก สัตว์อื่น ๆ กิน เพราะเขาก็มีส่วนทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์” อ้อมกล่าว
การออกแบบชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการโดยไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้เกิดความเสื่อมโทรมนั้น เป็นการหมุนเวียนทรัพยากรและอาหารให้อยู่ในสภาวะที่ทุกฝ่ายสมบูรณ์อย่างยั่งยืน
“เราทำการเกษตรที่ช่วยบำรุงดินเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนอยู่ในระบบมากที่สุด เพาะปลูกอาหาร เอามากิน แล้วก็ขับถ่ายไปที่ส้วมอีโค่ ผ่านกระบวนการหมักหรือผันของเสียเป็นปุ๋ยหมัก เป็นอาหารของต้นไม้ แล้วเราก็ได้ไม้มาทำฟืนหุงต้มอาหาร เถ้าจากฟืนจะนำไปทำน้ำด่างเพื่อทำผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน น้ำด่างที่ใช้เสร็จก็ลงไปที่บ่อบำบัดธรรมชาติผ่านชั้นใต้ดิน ทีนี้ต้นไม้ก็จะดึงน้ำขึ้นมา เป็นการส่งเสริมวัฏจักรของน้ำ” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงมั่นใจจากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดยาวนาน
ชาวอาศรมธรรมชาติมีความคิดว่า พวกเขากินอะไร ไก่ก็จะได้กินเหมือนกัน เพราะไก่ก็มีคุณค่าของตัวเองในระบบนิเวศนี้เหมือนมนุษย์
ส้วมอีโค่หรือส้วมไส้เดือนคือกระบวนการผันของเสียเป็นปุ๋ยหมักเพื่อเป็นอาหารของต้นไม้
ใกล้ส้วมอีโค่ห่างจากคาเฟ่บ้านดินไม่กี่สิบก้าว ห้อมล้อมไปด้วยพืชพรรณน้อยใหญ่ สมุนไพรไม่ว่าจะเป็นข่า ตะไคร้ ต้นมะกรูด ราสป์เบอร์รี ถัดไปอีกไม่ไกลเป็นเวิ้งแปลงผักนานาชนิดตามฤดูกาล เช่น ผักโขมแดง ต้นหอม ผักสลัด ฯลฯ ล้อมรั้วไม้ไผ่ที่ถักทอวาดลวดลายด้วยพืชผักไม้เลื้อย
หลักการเพอร์มาคัลเจอร์ส่งเสริมเกษตรกรในชุมชนให้ค่อย ๆ เปลี่ยนจากเกษตรเคมีหรือเกษตรเชิงเดี่ยวสู่การเกษตรแบบยั่งยืนและฟื้นฟู เพื่อฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพสู่ผืนดิน
“อาหารที่กินไม่หมดก็เอาไปให้ไก่ ไก่ก็จะให้ไข่เรา เปลือกไข่ก็คือแคลเซียม เราจะนำไปบดใส่ในแปลงผักเพื่อช่วยให้ผักเจริญเติบโตดีขึ้น หรือถ้าผักมีหนอนเยอะ เราก็จะปล่อยไก่ไปกินหนอน ทุกอย่างหมุนเวียนอยู่แบบนี้โดยอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่ทำลายกัน เป็นการเลียนแบบระบบธรรมชาติ โดยในระบบธรรมชาติจะไม่มีขยะ” อ้อมกล่าว
วิธีการใช้ส้วมปุ๋ยหมัก โดยใช้แกลบกลบแทนน้ำ
กลมกลืน
วิถีชีวิตแบบเพอร์มาคัลเจอร์ยังปรับวิธีคิด ทบทวนโลกทัศน์ สติ สมาธิ และความต้องการของตัวเอง อันเป็นขั้นแรกที่ทำให้มนุษย์อยู่ในสุขภาวะที่ดี
“การเข้าถึงชีวิตที่สมบูรณ์ต้องฝึกฝน บ่มชีวิตตัวเองขึ้นมา จำเป็นจะต้องมีบริบทที่เอื้อ คือสังฆะหรือชุมชนของกัลยาณมิตรที่เมตตาต่อกัน ทำให้เรารู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น เห็นถึงความสำคัญของธรรมชาติ ความสำคัญในชีวิตไม่เพียงมีแค่ในแง่ของกายภาพ แต่ยังมีจิตวิญญาณซึ่งสำคัญมาก”
ความกลมกลืนเป็นหนึ่งมิใช่เพียงแค่มีความรู้และปฏิบัติ แต่ต้องรู้สึกจาก “ข้างใน” ร่วมด้วย
อ้อมบอกว่าหากเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ปรับวิธีคิดจะมีชีวิตที่สอดคล้องกับความต้องการข้างใน และจะเห็นความสมบูรณ์มากขึ้น การออกแบบชีวิตที่อาศรมธรรมชาติจึงเน้นเรื่องการฝึกฝนตนเอง โดยจะใช้ปรัชญานิเวศวิทยาเชิงลึก (deep ecology) เปลี่ยนมุมมองจากการเป็นจุดศูนย์กลางของทุกสิ่ง สำคัญกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นการเข้าใจว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สรรพชีวิต ซึ่งมนุษย์ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และธรรมชาติก็คู่ควรจะมีชีวิตที่สมบูรณ์เช่นกัน
หากมองเห็นต้นไม้และเห็นเขามากกว่าแค่ไม้สร้างบ้าน เขาจะให้ความสุขคุณมากขึ้น
“การรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งนั้นมันให้พลัง ความศรัทธา ความเชื่อมั่นแก่เรา ว่านี่คือสิ่งทรงคุณค่าที่เราอยากจะดำรงรักษาไว้ เพราะเราเกิดความเคารพในสิ่งสิ่งนั้น นำไปสู่ความรู้สึกตื้นตัน ขอบคุณ ปีติสุข สงบ เกิดความเคารพเชิดชูขึ้นมา
“นิเวศวิทยาเชิงลึกเป็นเรื่องของการให้คุณค่า รู้สึกถึงคุณค่าของธรรมชาติที่เหนือไปกว่าความรู้ ซึ่งการรู้สึกถึงคุณค่านี้มันอาจจะได้มาจากความรู้ หรือไม่ใช่ก็ได้” ใบหน้าของอ้อมเปี่ยมด้วยแววตาปีติสุข
นิเวศวิทยาเชิงลึกที่อ้อมเล่าทำให้ผู้เขียนนึกเลยไปถึงเรื่องราวของความรัก เราปีติสุขได้เมื่อเห็นการเติบโตของใครคนหนึ่ง แม้ไม่ได้อยู่ในอาณาสัมพันธภาพ
เมื่อรู้สึกเคารพ เห็นค่า เราจะใคร่ครวญและรู้จักตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกับสรรพสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ
ชาวอาศรมธรรมชาติมีความคิดว่า พวกเขากินอะไร ไก่ก็จะได้กินเหมือนกัน เพราะไก่ก็มีคุณค่าของตัวเองในระบบนิเวศนี้เหมือนมนุษย์
เกื้อกูล
ตุ๊ก-วันวิสาข์ แต้สุวรรณ หญิงสาวสวยคมผมหยิกมีเสน่ห์ในวัย ๔๓ ปี ผู้เคยเดินทางท่องเที่ยวผจญภัยมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก เมื่อถึงจุดอิ่มตัว เธอกลับมาอยู่บ้านที่อุดรธานีเพื่อดูแลตาและยาย เป้าหมายหลักอีกอย่างหนึ่งคือต้องการแบ่งปันประสบการณ์โดยเฉพาะด้านโยคะสู่คนที่มีวิถีชีวิตคล้าย ๆ กัน
เมื่อพบ “อาศรมธรรมชาติ” จากการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต เธอเชื่อว่าจะเป็นพื้นที่ให้เธอได้ปลดปล่อยตัวเอง
ตุ๊กเข้ามาเป็นอาสาสมัครในอาศรมธรรมชาติแห่งนี้และได้สัมผัสกับวิถีชีวิตทางเลือกที่อยู่ร่วมกันกับธรรมชาติจนหล่อหลอมให้เธอหลงรักการเป็นอยู่ของที่นี่ ทั้งยังรับหน้าที่สอนโยคะ ถ่ายทอดนำปฏิบัติฝึกสมาธิ เรียนรู้ความเป็นไปของร่างกาย
“เราตื่นมาอยู่ในแวดล้อมของธรรมชาติ เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ ไม่รู้สึกว่าจะต้องเป็นอะไรไปมากกว่าตัวเองแล้ว เหมือนอยู่บ้านที่เราสบายใจ พอเราอยู่กับธรรมชาติเหมือนกับว่าได้อยู่กับตัวเองเต็มที่ เป็นที่ที่เราได้ชาร์จพลังงาน มีความไหลลื่น เป็นตัวเอง และก็มีประสิทธิภาพที่ดี” ตุ๊กกล่าว
ตุ๊ก-วันวิสาข์ แต้สุวรรณ อายุ ๔๓ ปี ครูสอนโยคะประจำอาศรมธรรมชาติ ผู้เคยเดินทางมาแล้วหลายประเทศ แต่สุดท้ายก็กลับมาใช้วิถีชีวิตเรียบง่ายและยั่งยืนอย่างที่เธอต้องการ
สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการฝึกฝนทบทวนตัวเอง เป็นสิ่งก่อร่างสร้างพลังงานให้กายและใจ
“เพอร์มาคัลเจอร์เป็นธรรมชาติ พอฝึกโยคะเรื่อย ๆ มันคืออันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน คือการมีสติ รู้ ทำสมาธิ เวลาเราอยู่ในแวดล้อมแบบนี้ร่วมกับการฝึกทั้งวันทำให้เรามีพลังโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม ลื่นไหล กลมกลืนไปด้วยกัน” หญิงสาวเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุข
เมื่อระบบที่สร้างขึ้นจากหลักการของเพอร์มาคัลเจอร์ ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองแล้ว ก็ก่อเกิดเป็นความสมดุลของชีวิตที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ มีอาหารหมุนเวียนเปลี่ยนวน มีแหล่งพักอาศัยสุขสบาย มีอากาศอันแสนบริสุทธิ์จากต้นไม้ใหญ่น้อย
“เรากินอาหารที่งอกงามขึ้นจากพื้นดิน น้ำ อากาศของที่นี่ ฉะนั้นเราต้องปล่อยตัวเองให้เป็นไปตามธรรมชาติแวดล้อม มีอะไรเราก็ใช้อันนั้น เราได้กินอาหารสด ดีต่อร่างกาย ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อต่อสภาพจิตใจ มันดูสมบูรณ์แบบสำหรับเรา”
นอกจากนี้เธอยังทำผลิตภัณฑ์จากผลผลิตตามวิถีชีวิตแบบเพอร์มาคัลเจอร์ คือนำสมุนไพรธรรมชาติจากระบบนิเวศที่สมบูรณ์ปลอดภัยมาสร้างมูลค่า แบ่งปันสิ่งดี ๆ จากธรรมชาติไปสู่คนอื่น และนำผลตอบแทนกลับมาหมุนเวียนบำรุงฟื้นฟู ณ พื้นผืนดินอาศรมธรรมชาติแห่งนี้
“สินค้าจากธรรมชาติจะทำหรือแปรรูปตามฤดูกาลเพาะปลูก เช่นในช่วงสิงหาคมหรือฤดูฝน มะกรูดออกผลงอกงาม เราเก็บมาทำเป็นน้ำยาล้างจาน แชมพู สบู่ เราทำจากสิ่งใกล้ตัวก่อน ถ้ามีเยอะหรือรับซื้อจากชาวบ้านที่เขาปลูกแบบปลอดสารก็ผลิตเพิ่ม ถือเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนหรือเชื่อมต่อสังคมชุมชนใกล้เคียงด้วย
“ผลิตภัณฑ์ที่เราทำไม่ได้เน้นเรื่องกำไรมาก แต่เน้นที่คุณภาพและการแบ่งปัน พอใช้แล้วมันดีต่อสุขภาพกายใจ เงินที่ได้จากการแลกเปลี่ยนขายสินค้าก็จะนำมาหมุนเวียนทำผลิตภัณฑ์ต่อ”
พืชผักที่เก็บมาจากแปลงผักเพื่อนำไปประกอบอาหารเย็น
ผัดเส้นใหญ่ใส่ผักโขมแดงแนมด้วยผักเคียง ที่นี่จะทำอาหารมังสวิรัติรับประทานเอง
ทางออก
คนในอาศรมธรรมชาติมีเป้าหมายบางอย่างแตกต่างกัน แต่ทุกคนล้วนแสวงหาพื้นที่ที่ตนปลดเปลื้องสู่ความเป็นตัวเอง ปลดปล่อยความทุกข์ แสวงหาความสุขได้อย่างเต็มกายสบายใจ นี่คือเหตุผลหลักที่นำให้ทุกคนมาสัมผัสเรียนรู้วิถีเพอร์มาคัลเจอร์
หมอจูนเล่าว่าก่อนหน้านี้เธอไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตหรือทำงาน ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้า ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ เธออยากจะทำบางอย่างอย่างจริงจังเพื่อตัวเองจะได้มีความสุข
“เราบอกไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่าการมาอยู่รวมกันกับคนอื่น ๆ ในพื้นที่นี้เป็นทางออกของมนุษยชาติหรือสำหรับทุก ๆ คนได้ แต่สิ่งที่เราได้รับคือเรามาเติมใจ เติมพลัง สร้างความหวังให้กัน สำหรับตัวเราเองสิ่งนี้เป็นตัวขับเคลื่อนมากกว่า” จูนกล่าวด้วยสายตาเรียบนิ่งอย่างมีหวัง
การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนย่อมเกิดความขัดแย้ง โดยเฉพาะมีสมาชิกเป็นนักอุดมคติหลากหลายอุดมการณ์และความเชื่อ อีกทั้งยังแตกต่างทั้งเชื้อชาติ ศาสนา อายุ ประสบการณ์ การศึกษา ทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกันในบางครั้ง โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มที่ทำงานด้านโครงการและกิจกรรมกับกลุ่มที่ทำงานด้านใช้แรงงาน ในอีกทางการเกิดชุมชนทางเลือกที่มีอุดมคติและอุดมการณ์ และยิ่งมีคนต่างถิ่น ต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมเข้าออกตลอดเวลา อาจทำให้คนนอกมองว่าชุมชนทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เข้าใจและแปลกแยก
พัลลภ สว่างแจ้ง หรือ “มอส” บัณฑิตหนุ่มป้ายแดง ผู้ที่กำลังตามหาตัวตน ได้เดินทางข้ามจังหวัดจากชลบุรีมาที่อาศรมธรรมชาติเพื่อเรียนรู้และศึกษาวิถีชีวิตของคนที่นี่
เมนูไข่เจียวจากไข่ของไก่ที่เลี้ยงในอาศรมธรรมชาติ
ทางเข้าอาศรมธรรมชาติ ชุมชนนิเวศวิถี (ecovillage) ขนาดเล็กที่มีวิถีชีวิตบนหลักเพอร์มาคัลเจอร์ (permaculture) ณ ตำบลบ้านธาตุ อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี
“ผมได้พัฒนาจุดด้อยของตัวเอง เช่น การถ่ายทอดความรู้ สร้างความมั่นใจ เพราะปรกติผมเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองเลย…การใช้ชีวิตอยู่ที่นี่กับคนแปลกหน้าไม่ว่าจะคนไทยหรือฝรั่งด้วยหลักเพอร์มาคัลเจอร์เป็นทางเลือกหนึ่งในชีวิตที่เราเลือกได้ สิ่งที่เป็นความฝันของผม ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรที่ชัดเจน แค่อยากจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่อยากทำ ยังไม่ได้ปักหลักว่าเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกำลังค้นหาตัวเองว่าเส้นทางนี้จะตอบโจทย์หรือเปล่า”
ชุมชนทางเลือกเป็นการสร้างสังคมตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมภายนอกได้เห็นว่าการมีเป้าหมายและการใช้ชีวิตแตกต่างจากกระแสหลักเป็นไปได้ แม้ชุมชนทางเลือกอาจทำให้เกิดคำถามว่าแนวคิดกระแสรองเหล่านี้จะเป็นหนทางแก้ปัญหาหรือเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยเติมเต็มส่วนบกพร่องของการพัฒนาในกระแสหลักที่ครอบงำสังคมอยู่ การพัฒนากระแสทางเลือกอาจไม่สามารถเข้าไปแทนที่หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบใหญ่ในทันที แต่อย่างน้อยก็ช่วยชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้น และค่อย ๆ เปลี่ยนเจตคติ วิธีคิด และการใช้ชีวิตของคนรุ่นต่อ ๆ ไป
การใช้ชีวิตตามหลักเพอร์มาคัลเจอร์ไม่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้นที่จะมีชีวิตสมดุล จุดหมายปลายทางคือการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตหนึ่งในระบบนิเวศ เมื่อมนุษย์หลอมรวมเกื้อกูล เคารพดูแลธรรมชาติ ท้ายที่สุดสรรพสิ่งในธรรมชาติต่างก็เติบโตไปพร้อมกันฉันมิตร มอบผลลัพธ์อันดี คุณค่าอันสวยสดงดงามมหาศาลต่อกัน
“เธอ” ผู้โอบกอดโลกใบนี้ด้วยความรักความเมตตา
“เธอ” ผู้เอื้อเฟื้อแบ่งปันเผื่อแผ่ต่อสรรพสิ่งมีชีวิตมายาวนาน นับตั้งแต่โลกใบนี้เกิดขึ้นมา
“เธอ” ผู้อยู่มานมนานก่อนมนุษย์จะเกิดเสียอีกให้ชีวิต ให้เลือดเนื้อ
“เธอ” คือธรรมชาติผู้อยู่ทุกแห่งหน ปะปนมีชีวิตไปกับมนุษย์ในทุก ๆ วัน
มีหลากหลายเหตุผลที่ผู้คนเดินทางมา ณ อาศรมธรรมชาติแห่งนี้ แต่เชื่อไหมว่าสถานที่แต่ละแห่งมักจะดึงดูดคนเหมือน ๆ กันมาพบกัน...
ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารจะมีพิธีเล็ก ๆ เพื่อขอบคุณอาหาร ดิน น้ำ อากาศ ที่อยู่รอบตัวและส่งพลังงานดี ๆ มาให้
หมายเหตุ
Gaia Ashram อาศรมธรรมชาติ มีหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเพอร์มาคัลเจอร์ และหลักสูตรที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตนิเวศวิถี มีระยะเวลา เช่น ประสบการณ์ไลฟ์สไตล์ ชุมชนนิเวศวิถี (Ecovillage Lifestyle Experience Week), ประกาศนียบัตรการออกแบบเพอร์มาคัลเจอร์ ๑๗ วัน (17 Days Permaculture Design Certififificate Course), เพอร์มาคัลเจอร์เชิงปฏิบัติ (Practical Permaculture) ฯลฯ ผู้สนใจ
สามารถติดตามในเว็บไซต์ https://gaiaschoolasia.com/?page_id=142463&lang=th
อ้างอิง
กุณฑี สว่างวงศ์ธรรม และ นฤมล อรุโนทัย. (๒๕๕๖). “ชุมชนทางเลือก : กรณีศึกษาอาศรมวงศ์สนิท”. วารสารวิจัยสังคม, ๓๖(๒), ๙๙-๑๓๖.
“ชุมชนนิเวศวิถี Ecovillage Lifestyle”. สืบค้นจาก https://gaiaschoolasia.com/?page_id=142463&lang=th
ธันยาพร ห. “Permaculture : การทำสวนที่ดีต่อกาย ใจและสิ่งแวดล้อม”. สืบค้นจาก https://hhcthailand.com/permaculture-garden/
“Permaculture วิถีเกษตรในยุค 70”. สืบค้นจาก https://www.rakbankerd.com/agriculture/hilight-view.php?id=202&s=tblheight