กล่องเก็บ
ความทรงจำ
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
เครื่องใช้จักสานไม้ ไผ่ หวาย คือภาพจำหนึ่งของผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์
นับแต่เริ่มมอบความรู้ให้นักโทษใช้เลี้ยงชีพหลังพ้นโทษ จึงสร้าง “เรือนจำกองมหันตโทษ” เป็นโรงงานในคุกให้นักโทษฝึกวิชาชีพช่างไม้ ช่างเหล็ก ช่างกลึง และช่างสิบหมู่
เล่าว่า “นิคมฝึกอาชีพตะรุเตา” ในทัณฑสถานเกาะตะรุเตากลางอันดามันคือที่สุดของสถานกักนักโทษอุกฉกรรจ์และนักโทษการเมือง ด้วยมีภูมิประเทศที่หลบหนียาก รอบเกาะเต็มด้วยฉลาม ในคลองมีจระเข้ชุกชุม สอ เสถบุตร และเหล่านักโทษคดีกบฏบวรเดช (ปี ๒๔๗๖) ก็ถูกส่งตัวไปกักขังและฝึกฝนอาชีพ
ปี ๒๕๑๔ กรมราชทัณฑ์เริ่มจัดงาน “นิทรรศการผลิตภัณฑ์ราชทัณฑ์” จำหน่ายงานฝีมือผู้ต้องขังของเรือนจำและทัณฑสถานทั่วไทย จากนั้นจัดต่อเนื่องทุกปีในช่วงที่มีงานวันพบญาติรายได้หลักเข้ากรมราชทัณฑ์ มีเงินปันผลเล็กน้อยเป็นกำลังใจแก่เจ้าของผลงาน
ตรงหน้าคือ “กล่องใส่บุหรี่” ยุคก่อนมีประกาศ (ปี ๒๕๖๒) ยกเลิกสูบ-ซื้อขายในเรือนจำ การนำซองใส่กล่องช่วยรักษาไม่ให้บุหรี่ยับและกันชื้นเหงื่อเวลาทำงานหรืออยู่รวมในพื้นที่แออัด
อดีตนักโทษชายเรือนจำจังหวัดชุมพร ผู้ฝึกวิชาชีพช่างไม้ไม่ได้ทำเพื่อเป็นสินค้าให้ราชทัณฑ์จำหน่าย เพียงอาศัยโอกาส การฝึกอาชีพบรรจงใช้บางสิ่งบันทึกชีวิต ปะติดไม้ย้ำคำ “ที่ระลึก” ลงฝาเลื่อนเปิดกล่อง และปะต่อวัน เดือน ปี “27.1.27” ที่ก้นกล่อง เป็นอนุสรณ์กาลเวลาในพื้นที่ขัดเกลาความคิด
หลังพ้นโทษ ช่างไม้ไม่ใช่วิชาเลี้ยงชีพครอบครัว แต่เป็นทักษะตลอดชีวิต
วันที่เจ้าของจากไป กล่องไม้เล็ก ๆ ตกเป็นมรดกแก่ทายาทผู้ไม่สูบบุหรี่
แต่คราใดเลื่อนเปิดฝากล่องเปล่า บทเรียนของพ่อยังอัดแน่นอยู่ภายใน