ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม
รัชกาลที่ ๗
หลัง “กบฏบวรเดช”
2476 กบฏบวรเดช คณะราษฎร ปะทะ คณะเจ้า
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา (บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา)
จากไฟล์ดิจิทัล เก็บรักษาโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
หมายเหตุ : คำบรรยายภาพที่มีเครื่องหมายอัญประกาศ
คือคำบรรยายภาพดั้งเดิม
สารคดี รักษาการสะกดแบบเก่าไว้
เมื่อการสู้รบถึงขั้นที่รัฐบาลรุกไล่พระองค์เจ้าบวรเดชไปนครราชสีมา กองพันทหารราบเพชรบุรีประกาศแยกตัวจากรัฐบาลและกราบบังคมทูลขอส่งทหารมาอารักขา ขณะที่หลวงพิบูลสงคราม (แปลก) นำกำลังลงมาถึงราชบุรี เชิญเสด็จนิวัตพระนคร รัชกาลที่ ๗ ก็ทรงตัดสินพระทัยวางพระองค์เป็นกลาง
๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๖ พระองค์เสด็จฯ ด้วยเรือยนต์พระที่นั่ง ศรวรุณ หยุดเติมน้ำมันที่ชุมพร จากนั้นได้รับการช่วยเหลือจากเรือสินค้าลากจูงเรือพระที่นั่งไปจนถึงจังหวัดสงขลา ที่นั่นพระองค์เปลี่ยนไปประทับเรือวลัย เสด็จฯ สู่สงขลา ก่อนจะไปประทับที่พระตำหนักเขาน้อย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เคยพระราชทานสัมภาษณ์ว่ามีผู้ตามเสด็จราว ๒๐ คน ประกอบด้วยทหารรักษาวังและทหารเรือ อีกส่วนหนึ่งตามเสด็จไปสงขลาด้วยการส่งคนไป “ขะโมยรถไฟ” จากเพชรบุรีมารับ
รัชกาลที่ ๗ ประทับที่สงขลาตั้งแต่ ๒๐ ตุลาคม-๙ ธันวาคม ๒๔๗๖ ระหว่างนั้นทรงต่อรองกับรัฐบาลหลายเรื่อง เช่น ขอให้เร่งกระบวนการในศาลพิเศษ ไม่เอาผิดหรือลดโทษข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏคัดค้านเรื่องพระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญและการจับกุมของรัฐบาลที่กินวงกว้าง ฯลฯ ก่อนจะเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา ยุโรป ในเดือนมกราคม ๒๔๗๖ เพื่อทรงรักษาพระพลานามัย หลังจากนั้นก็ประทับอยู่อังกฤษ ทรงต่อรองกับรัฐบาลพระยาพหลฯ ต่อไปเรื่อง พระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดก (มีผลกับสถานะพระราชทรัพย์) ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (มีผลกับพระราชอำนาจในการอภัยโทษ) กรณีการเลือก สส. ประเภทที่ ๒ การที่ทรงสนับสนุนให้ตั้งพรรคการเมือง การให้เสรีภาพหนังสือพิมพ์ ฯลฯ
ต่อมา รัฐบาลกราบบังคมทูลชี้แจง (ผ่านคณะทูตพิเศษ) ทีละประเด็น บางประเด็นก็ว่าทรงเปลี่ยนท่าที เช่น การตั้งพรรคการเมืองซึ่งพระองค์เคยคัดค้านมาก่อน การตั้ง สส. ประเภทที่ ๒ ที่มีคนหลากหลายมากกว่าแค่กลุ่มคณะราษฎร การจัดทำกฎหมายเป็นไปตามหลักของระบอบรัฐธรรมนูญ มีการให้เสรีภาพหนังสือพิมพ์แต่กรณีหนังสือพิมพ์ กรุงเทพเดลิเมล์ ที่ถูกสั่งปิดนั้น บรรณาธิการเป็นฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชชัดเจน เป็นต้น
เมื่อทรงมองว่ารัฐบาลพระยาพหลฯ ไม่ประนีประนอมกับพระองค์อีกต่อไป รัชกาลที่ ๗ ทรงประกาศสละราชสมบัติในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๗๗ อันเป็นที่มาของวรรคทองส่วนหนึ่งในคำประกาศที่ว่า “...ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอม ยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร”
วรรคทองนี้มักถูกฝ่ายต่าง ๆ นำไปใช้โดย “แยกขาด” จากบริบทที่คำประกาศอุบัติขึ้นเสมอมา