Image
2476 กบฏบวรเดช
คณะราษฎร ปะทะ คณะเจ้า
EP.02
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา (บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา)
จากไฟล์ดิจิทัล เก็บรักษาโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ

หมายเหตุ : คำบรรยายภาพที่มีเครื่องหมายอัญประกาศ
คือคำบรรยายภาพดั้งเดิม
สารคดี รักษาการสะกดแบบเก่าไว้

Image
ปี ๒๕๖๖ พื้นที่ทุ่งบางเขน-ดอนเมือง
คือย่านรถติดที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ (แม้จะมีรถไฟฟ้า) โดยเฉพาะบริเวณถนนพหลโยธิน ถนนวิภาวดีรังสิต เส้นทางสู่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง

ย้อนกลับไป ๙๐ ปีที่แล้ว แถวนี้มีทางสัญจรเส้นทางเดียว คือรางรถไฟสู่ภาคเหนือและอีสาน (ไม่นับคลองเปรมประชากรที่ทอดตัวยาวไปทางเหนือจนถึงพระนครศรีอยุธยา)

จากกรุงเทพฯ รถไฟออกจากสถานีหัวลำโพง ผ่านสถานีสำคัญคือ สามเสน ชุมทางบางซื่อ ดอนเมือง บางเขน หลักสี่ ผ่านเขตจังหวัดปทุมธานี อยุธยา

ถ้าไปภาคอีสานก็ต้องเลี้ยวที่สถานีชุมทางบ้านภาชี จากจุดนี้จะผ่านสถานีสำคัญในจังหวัดสระบุรีและนครราชสีมา คือ สถานีปากเพรียว (สระบุรี) ชุมทางแก่งคอย ผาเสด็จ หินลับ มวกเหล็ก ปากช่อง จันทึก สีคิ้ว สูงเนิน และนครราชสีมา

ในแง่ภูมิประเทศ จากชุมทางบางซื่อถึงสถานีหลักสี่และดอนเมือง ทางรถไฟยกระดับจากพื้นดินข้ามผ่านทุ่งนาเวิ้งว้างที่ต่ำกว่า

นอกเหนือจากสถานีรถไฟก็มีสถานที่ราชการคือสถานีวิทยุหลักสี่อันเป็นสถานีหลักในการส่งสัญญาณวิทยุทั้งในและต่างประเทศ โรงพักบางเขนที่ว่าการอำเภอบางเขน

มีชุมชนกระจายตามทุ่งนา สถานที่สำคัญคือ วัดแครายเหนือ (วัดเทวสุนทร) วัดแครายใต้ (วัดเสมียนนารี) วัดหลักสี่ ตลาดบางเขน

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ บันทึกของทุกฝ่ายตรงกันว่า มีน้ำเหนือหลากเจิ่งนองทุ่งนาใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว จนบางที่น้ำลึกถึงระดับคอ และมีฝนตกไม่ขาดระยะ

วันที่ ๑๑ ตุลาคม กำลังทหารโคราชเคลื่อนจากสถานีรถไฟนครราชสีมาในเวลา ๑๗.๐๐ น. รถไฟขบวนนี้ปะทะกับรถไฟตำรวจสันติบาลที่สถานีปากช่องจนตำรวจเสียชีวิตสองนาย คือร้อยตำรวจโท ขุนประดิษฐสกลการ (ไปล่ จันทประดิษฐ) และดาบตำรวจ ทอง แก่นอบเชย
“รถรบ ร.พัน ๖ รอการซ่อมทางที่แนวตลุมบอน”
scrollable-image
ทัพพระองค์เจ้าบวรเดชมาถึงสถานีปากเพรียว (สระบุรี) ในช่วงเช้าตรู่วันที่ ๑๒ ตุลาคม ทรงสั่งให้กักตำรวจสันติบาลไว้ที่สระบุรี ก่อนจะเดินทางมาถึงดอนเมืองเวลา ๑๒.๐๐ น. 

ขณะนั้นกรมอากาศยานดอนเมืองอยู่ในมือฝ่ายทหารหัวเมืองแล้ว ด้วยตั้งแต่เช้ามืด กองทหารช่างจากอยุธยาในควบคุมของพระยาศรีฯ (ดิ่น) ขึ้นบกที่รังสิต เข้ายึดวัดแครายใต้ วัดแครายเหนือ เป็นที่มั่น  จากนั้นเดินทัพมายึดกรมอากาศยานดอนเมือง และส่งกำลังยึดโรงพักบางเขน สถานีหลักสี่ ตลาดบางเขน วัดบางเขน ที่ว่าการอำเภอ  พร้อมจัดทหารลาดตระเวนในคลองบางเขนควบคุมเรือที่ผ่านไปมา ควบคุมคันคลองเปรมประชากร วางปืนกลบริเวณสองข้างทางรถไฟ

เมื่อทราบข่าวในช่วงเช้า รัฐบาลส่งพันตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล) กับนายทหารอีกสามคนมาเจรจากับฝ่ายทหารหัวเมืองโดยใช้รถโยกวิ่งตามรางรถไฟไปจนพบทหารหัวเมืองใกล้วัดแคราย ซึ่งหลวงลบบาดาล (ดี จารุปานฑุ) ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ ๑ อยุธยา คุมกำลังอยู่

พันเอกพิเศษ แสง จุละจาริตต์ ที่เดินทางไปพร้อมหลวงเสรีฯ (จรูญ) บันทึกว่า เมื่อไปเจรจา หลวงลบบาดาล (ดี) ตอบว่า “ยกเข้ามาด้วยความเข้าใจผิด แต่การจะยอมแพ้ทันทีก็เกรงจะถูกลงโทษ” จึงขอเอกสารรับรองจากพระยาพหลฯ (พจน์) ว่าจะไม่เอาผิดแล้ว “จะขอสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลโดยดี” แต่เมื่อหลวงเสรีฯ (จรูญ) ได้หนังสือจากรัฐบาลแล้วกลับไปเจรจาอีกครั้ง คณะทูตทั้งชุดก็ถูกจับแล้วนำตัวไปขังไว้ที่อยุธยา

๑๔.๐๐ น. พระยาศรีฯ (ดิ่น) ส่งนาวาโท พระแสงสิทธิการ (แสง นนทสุต) เป็นทูตนำหนังสือยื่นคำขาดมาถึงรัฐบาลในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” (ลงนามเอง ไม่รอพระองค์เจ้าบวรเดช) บังคับให้รัฐบาลลาออกภายใน ๑ ชั่วโมง อ้างว่ารัฐบาลปล่อยให้คนหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และการเรียกตัวหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) กลับมาถือเป็นการสนับสนุนคอมมิวนิสต์

ถ้ารัฐบาลไม่ยอม “...จะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารเข้าประจำการเข้าเกี่ยวข้องด้วย”

แฟ้ม “กบฏบวรเดช” ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้รายละเอียดว่า วันนี้รัฐบาลรวมกำลังทหารในพระนคร คือ ทหารปืนใหญ่ ทหารราบ ทหารม้า หกกองพัน ตั้งหลวงพิบูลฯ (แปลก) เป็นผู้บังคับกองผสม
Image
คณะเจรจาฝ่ายรัฐบาลนำโดยหลวงเสรีเริงฤทธิ์ถูกฝ่ายกบฏจับกุม
ภาพ : ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม, ฝันร้ายของเมืองไทย. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๒๘

หลวงพิบูลฯ (แปลก) ส่งโทรเลขไปกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์ที่หัวหิน รัชกาลที่ ๗ ทรงตรัสกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ว่า

“...หม่อมฉันก็ได้ห้ามเขา (พระองค์เจ้าบวรเดช) แล้ว, เขาไม่เชื่อจะให้ทำอย่างไร, ก็จะตอบได้แต่ว่ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น !” หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล เล่าว่า ในหลวง “วิตกและเสียพระราชหฤทัยมากจริง ๆ” มีพระราชหัตถเลขาถึงนายกรัฐมนตรี (พระยาพหลฯ) ด้วยโทรเลขว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “ขัดต่อพระราชประสงค์” และปฏิเสธกำลังทหารรักษาพระองค์เพิ่มเติมที่รัฐบาลเสนอจะส่งมาผ่านราชเลขานุการฯ

พระยาพหลฯ (พจน์) ในฐานะ ผบ.ทบ. ประกาศกฎอัยการศึกในพระนครและอยุธยาตั้งแต่ ๑๔.๒๒ น. จากนั้นหลวงพิบูลฯ (แปลก) นำกำลังหกกองพันคุมสถานีบางซื่อ สามเสน มักกะสัน เพื่อวางแนวรับ ให้นักเรียนนายร้อยทหารบก ทหารเรือรักษาความปลอดภัยในพระนคร ประกาศให้คนออกจากแนวรบ จากนั้นออกแถลงการณ์ฉบับแรกว่าจะปราบจลาจล ทั้งยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายกบฏต้องการ ทำได้ “โดยทางรัฐธรรมนูญ”

หลวงพิบูลฯ (แปลก) กล่าวในภายหลังว่า “เหตุการณ์ (ตอนเริ่มการปราบกบฏ) น่ากลัวมาก ...เพราะนายทหารต่างจังหวัด” แต่ “ไม่กลัว” เพราะรู้ว่ากำลังทหารมีที่ไหนบ้าง “และฝ่ายโน้นไม่ได้เตรียมทำงานใหญ่มาก่อน จึงไม่มีทางจะได้อาวุธมาเสริมโดยเร็ว...ไม่มีแผนงานที่ดี เพราะเปิดศึกฤดูน้ำหลาก ทหารมาได้แต่ทางรถไฟ ถ้าเป็นฤดูแล้ง จะป้องกันปรามปราบยากมาก”

ทหารหัวเมืองเริ่มส่งเครื่องบินมาโปรยใบปลิวในพระนคร รัฐบาลตอบโต้ด้วยการตั้งปืนต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) ๔๐ มิลลิเมตร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้ายิงขับไล่ จากนั้นนำปืนใหญ่ไปตั้งที่สถานีบางซื่อ ยิงถล่มแนวหน้าฝ่ายทหารหัวเมืองตั้งแต่ ๑๗.๐๐ น. 

หลวงโหมฯ (ตุ๊) ระบุว่า รัฐบาลเริ่มยิงใส่พวกเขาตั้งแต่ ๑๔.๐๐ น. แต่ไม่เข้าเป้า นอกจากนี้ยังกล่าวถึงปัญหาของคณะกู้บ้านกู้เมืองว่า ไม่ส่งเสบียงจนทหารแนวหน้าต้องหาอาหารกันเอง และพวกเขามีเสบียงแห้งอยู่ได้เพียง ๓ วัน

เขาชี้ว่านี่คือ “จุดอ่อน” ใหญ่
[ปี ๒๔๗๖ การสื่อสารที่เร็วที่สุดคือโทรเลขที่พาดสายไปตามแนวรางรถไฟ 

รองลงมาคือโทรศัพท์ (ที่ยังมีคู่สายน้อย) สื่อมวลชนที่กระจายข่าวได้ดีคือหนังสือพิมพ์ (จำกัดอยู่ในหัวเมืองใหญ่) 

ถัดมาคือใบปลิวที่ต้องแจกในที่ชุมชน 

รัฐบาลตัดสินใจใช้วิทยุกระจายเสียงในฐานะ “สื่อใหม่” (ของยุคนั้น) แม้ผู้มีเครื่องรับวิทยุจะจำกัดแค่หน่วยงานรัฐและคนมีฐานะ แต่ก็เร็วและได้ผลหากรวมผู้คนมาฟัง จากนั้นใช้ “โทรเลข” ประสานกับเมืองต่างๆ ที่ยังติดต่อได้ และพิมพ์ “ใบปลิว” แถลงการณ์แจกในพระนคร ส่วนหนึ่งให้เครื่องบินไปโปรยตามเมืองสำคัญ รวมถึงในแนวหลังของศัตรู เพื่อทำสงครามจิตวิทยา 

นักเรียนทำการนายร้อยประภาสระบุว่า นี่เป็นครั้งแรกของสยามที่รัฐบาล “ใช้สงครามจิตวิทยาจากวิทยุกระจายเสียง” และได้ผล 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ภายหลังเหตุการณ์ มีหนังสือจากศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลงนามโดยพระชัยเบญญา รายงานถึงพระยาพหลฯ (พจน์) ว่า ในช่วงแรกของเหตุการณ์ จังหวัดมี “ข่าวโจทกันไปต่างๆ” ว่ากบฏยึดพระนครได้ จึงเกลี้ยกล่อมราษฎรให้อยู่ในความสงบแล้วเปิดวิทยุ ผลคือมีผู้มาฟังจำนวนมาก “เพราะมีวิทยุเปิดอยู่เพียงแห่งเดียว”

เมื่อทราบว่าเป็นข่าวเท็จ “จึงค่อยหายตระหนกตกใจลงบ้างแต่ก็ยังไม่วายวิตก เพราะกลัวฝ่ายรัฐบาลจะสู้พวกขบฏไม่ได้” 

ส่วนในพระนคร แม้มีการเซนเซอร์ข่าว หนังสือพิมพ์หลายหัวก็แสดงจุดยืนร่วมกับรัฐบาล เช่น ประชาชาติ ช่วยพิมพ์ใบปลิวแถลงการณ์ของรัฐบาลแจกจ่ายโดยไม่คิดมูลค่านับแสนใบ ทั้งยังมีใบปลิวปลอมที่พิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดระบาด จนรัฐบาลประกาศว่าใบปลิวทางการจะผ่านระบบเครื่องพิมพ์โรงพิมพ์เท่านั้น]

Image
ใบปลิวที่ถูกกระจายในพระนคร กับโทรเลขเข้ารหัสที่รัฐบาลใช้สื่อสารกับหน่วยต่าง ๆ ระหว่างเกิดกบฏ
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Image
๑๒.๐๐ น. พระองค์เจ้าบวรเดชส่งพันเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์ (หลง สินศุข) เจ้ากรมอากาศยาน และคณะถือข้อเสนอหกข้อมายื่นต่อรัฐบาล
กองทหารฝ่ายรัฐบาลกำลังขึ้นรถไฟที่สถานีบางซื่อ
เนื้อหาโดยย่อคือ หนึ่ง  สยามต้องมีกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน

สอง ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ให้มีคณะทางการเมือง ไม่ปลดรัฐบาลด้วยกำลัง

สาม แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง

สี่ แต่งตั้งราชการต้องถือคุณธรรมความสามารถ

ห้า ให้พระเจ้าอยู่หัวเลือก สส. ประเภทที่ ๒ (แต่งตั้ง)

หก เกลี่ยอาวุธไปยังหน่วยทหารท้องถิ่น

ต่อมา พระยาพหลฯ (พจน์) มีหนังสือถึงพระองค์เจ้าบวรเดชโดยตรง ปฏิเสธที่จะทำตามและชี้ว่าคณะรัฐบาล  “เคารพนับถือต่อรัฐธรรมนูญ” สิ่งที่เกิดขึ้นในหลวงทรง “โทมนัสไม่พอพระราชหฤทัย” เป็นเหตุให้รัฐบาล “จำเป็นต้องปราบด้วยกำลังทหาร ทั้ง ๆ ที่ไม่สมัคร” ก่อนจะชี้ว่า “ท่าน (ต้อง) เป็นผู้รับผิดแต่ถ่ายเดียว”

ระยะนี้ยังมีคำให้การของนายตำรวจประจำโรงพักบางเขนที่หลบหนีมาได้ ว่าตลอดคืนวันที่ ๑๒ ต่อเนื่องเช้าวันที่ ๑๓ ตุลาคม มีการถ่ายเทกำลังทหารตามรางรถไฟระหว่างสถานีดอนเมือง-หลักสี่ตลอดเวลา

หลวงโหมฯ (ตุ๊) บันทึกว่า ช่วงนี้เกิดปัญหาการสั่งการในคณะกู้บ้านกู้เมือง โดยระหว่างที่เขาวางกำลังอยู่แนวหน้า มีใบปลิวมาจากกองบัญชาการว่า “ทหารในแนวคลองบางเขน ซึ่งเป็นแนวหน้า ทำการตรวจตราและยึดเรือราษฎรทำให้เดือดร้อนเป็นการบกพร่อง” ลงนามโดยนายทหารท่านหนึ่ง ทำให้เขา “น้ำตาตก” เพราะรู้สึกว่า “ถูกติเตียนจากนักพูด” ที่ไม่รู้ภาพรวม

และ “ผู้ใหญ่ก็หูเบาติเตียน” ตามไปด้วย
เขามองว่าถ้าไม่มีการตรวจจะป้องกันอย่างไร หลวงลบบาดาล (ดี) ที่อยู่แนวหน้าด้วยกันก็รู้สึกว่าคนเหล่านี้

“จะเดินลอยชายไปเป็นใหญ่ ปล่อยให้เราเสี่ยงชีวิตมาก่อนเวลานี้เขากินอยู่สุขสบายที่ดอนเมือง...พวกเราคิดผิดเสียแล้วแต่ก็หันหลังกลับไปไม่ได้อีก”

ตัดภาพกลับไปที่สถานีบางซื่อ

การระดมกำลังของรัฐบาล “สพึบพร้อมไปด้วยอาวุธใหญ่น้อย” หลวงพิบูลฯ (แปลก) สั่งเตรียมอาวุธใหม่เข้ารบคือปืนต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) วิกเกอร์สอาร์มสตรอง ปากกระบอก ๔๐ มิลลิเมตร มีกระสุนเจาะเกราะและระเบิด ยิงนาทีละ ๒๐๐ นัด ระยะยิง ๑๐๐ เมตร ถึง ๖ กิโลเมตร ติดตั้งบนรถสายพานลำเลียงเครื่องยนต์ ๘๗ แรงม้า ผลิตในอังกฤษ

ทหารราบกองพันที่ ๘ ภายใต้การนำของพันตรี หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) รับหน้าที่ใช้อาวุธชนิดนี้ ซึ่งสยามเพิ่งได้รับมอบมาสองคัน  นอกจากนี้ยังมีปืนใหญ่ภูเขาแบบ ๖๓ ขนาดปากกระบอก ๗๕ มิลลิเมตร ระยะยิง ๖ กิโลเมตร ผลิตในญี่ปุ่น

เช้าตรู่วันที่ ๑๔ ตุลาคม ร้อยโท บุศรินทร์ ภักดีกุล แห่งกองพันที่ ๘ เล่าว่า กองพัน “รุกคืบหน้าบนรางรถไฟทั้งสองราง นำรถถังขึ้นบรรทุกรถข้างต่ำ (ข.ต.) แล้วใช้รถจักรดันหลังให้เคลื่อนที่เข้าหาฝ่ายตรงกันข้าม ทหารราบอยู่ในรถคันหลัง มีรถบังคับการกองพันอยู่กลางขบวน เคลื่อนที่ช้า ๆ ออกไปจากบางซื่อ มีวิธีเดียวเท่านี้ ที่จะรุกคืบหน้าเข้าไปหาฝ่ายตรงกันข้ามในยามที่น้ำเจิ่งนองท้องทุ่งบางเขน”

พวกเขาพบการต่อต้านอย่างหนักจากปืนกลฝ่ายทหารหัวเมืองจนต้องถอยกลับสถานีบางซื่อ เพราะหลวงอำนวยฯ (ถม) ถูกกระสุนที่ยิงมาจากทิศทางโบสถ์วัดแครายเหนือ (วัดเทวสุนทร) เสียชีวิต ทำให้หลวงพิบูลฯ (แปลก) สั่งปิดข่าวการเสียชีวิตของนายทหารมือขวา ตัดสินใจสั่งใช้ปืนใหญ่วิกเกอร์สฯ ทันที โดยยกรถสายพานติดตั้งวิกเกอร์สฯ ขึ้นรถข้างต่ำ (ข.ต.) แล้วใช้หัวรถจักรดันจากสถานีหัวลำโพงจนถึงกองบัญชาการกองผสมที่บางซื่อ

ที่สถานีบางซื่อ ร้อยโทบุศรินทร์ กับทหารสี่นายขึ้นประจำรถ เคลื่อนขบวนไปตามรางรถไฟเข้าหาแนวทหารหัวเมืองโดยอาศัย ปตอ. พร้อมเกราะหน้า บุกเข้าไปได้เรื่อย ๆ

“ในที่สุดก็สังเกตเห็น...ปืนกลถาวรของฝ่ายตรงข้าม ก็คือหน้าต่างโบสถ์เทวสุนทร โดยพาดปืนกลเบาเข้ากับหน้าต่างโบสถ์ ยิงต้านทานอย่างเหนียวแน่น...” ร้อยโทบุศรินทร์จึงตัดสินใจบอกเพื่อน

“ยกมือไหว้ขอขมา ที่จำเป็นต้องยิงโบสถ์และอธิษฐานขออย่าให้ถูกพระประธาน”

จากนั้นกระสุนวิกเกอร์สฯ ก็อัดเข้าเป้าอย่างแม่นยำติดกันหลายนัด
Image
สภาพบริเวณโบสถ์วัดเทวสุนทรที่โดนกระสุนปืนใหญ่ระหว่างศึกในทุ่งบางเขน
ภาพ : ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม, ฝันร้ายของเมืองไทย. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๒๘

เขาจำได้ว่า “ฝ่ายตรงข้ามชะงักทันที เพราะเพิ่งเคยเห็นปืนใหญ่ยิงได้รวดเร็วราวกับปืนกลและกระสุนระเบิด แม่นยำเกินกว่าที่เคยพบเห็นมาในเวลาซ้อมยิงปืนใหญ่แบบเก่าที่เคยมีในกองทัพบก”

บุศรินทร์ยังสั่งให้ ปตอ. ยิงขู่ไปที่สถานีวิทยุหลักสี่ ซึ่งสงสัยว่ามีกำลังทหารหัวเมืองยึดไว้

ถึงตอนนี้หลวงพิบูลฯ (แปลก) ตัดสินใจเปลี่ยนวิธีรบ แทนที่จะยิงปืนใหญ่ต่อ เขาสั่งทหารราบเข้าตีที่ว่าการอำเภอบางเขน โดยให้ทหารหนึ่งหมวดเคลื่อนไปตามรางรถไฟ เมื่อใกล้ถึง ก็กระจายกำลังลงในทุ่งนาแล้วตั้งปืนกลยิงใส่ 

หลวงโหมฯ (ตุ๊) บันทึกว่า วันนี้แนวหน้าคณะกู้บ้านกู้เมืองต้องถอยไปวัดหลักสี่ตั้งแต่ช่วงสาย คำสั่งจากกองบัญชาการที่ดอนเมืองก็สับสนขัดกันเอง เช่น เขาถูกสั่งให้นำกองร้อยไปตีทหารรัฐบาลทางด้านตะวันออก อีกคำสั่งกลับให้ลงไปหนุนแนวที่วัดหลักสี่ ซึ่งมีพื้นที่น้อยมากในการรบ ด้วยหากไม่นับแนวรางรถไฟ สองข้างทาง “ในนาเป็นน้ำทั้งสิ้น”

ต่อมาหลวงโหมฯ (ตุ๊) ทูลเสนอกับพระองค์เจ้าบวรเดช และได้รับอนุมัติให้เคลื่อนกำลังไปที่คลอง ๑ เพื่อเตรียมเข้าตีทหารรัฐบาลที่สะพานคลองบางเขนในช่วงเช้ามืดวันถัดไป แต่ค่ำวันนั้น กองร้อยโดนเรียกกลับไปวัดหลักสี่ ซึ่งต้องเดินเท้าอย่างยากลำบาก “บุกไปในน้ำลึกแค่เอวบ้างแค่คอบ้าง” จนช่วงหนึ่ง “ต้องลอยคอไปตามแนวคู”

การเดินทางกลับตลอดทั้งคืนทำให้ทหารเหน็ดเหนื่อยยิ่งขึ้น

เมื่อถึงวัดหลักสี่ตอน ๙ โมงเช้า หลวงโหมฯ (ตุ๊) พบว่าทหารบางส่วนหนีหาย และไม่ได้รับเสบียง แม้ว่าเขาจะร้องขอกับพระยาศรีฯ (ดิ่น) ที่มาตรวจแนวรบก็ตาม

ในช่วงเวลาเดียวกัน พระองค์เจ้าบวรเดชออกตรวจแนวรบตามทางรถไฟ แต่ก็ต้องถอยกลับเพราะฝ่ายรัฐบาลยิงกระสุนปืนใหญ่มาตกใกล้หัวรถจักรที่ประทับ

หลวงโหมฯ (ตุ๊) ให้การว่า ตั้งแต่เช้าแนวหน้าฝ่ายทหารหัวเมืองอ่อนกำลังลงมาก คลองบางเขนไม่มีทหารเฝ้า “ถ้าฝ่ายรัฐบาลรู้ความจริงก็จะเดินลอยชายมายึดดอนเมืองได้อย่างไม่ต้องสงสัย”

วันนี้ พลตรี พระยาเสนาสงคราม ปลอมเป็นราษฎรธรรมดา เข้ามาทูลพระองค์เจ้าบวรเดชที่ดอนเมืองว่า ทหารปืนใหญ่จากนครสวรรค์ไม่สามารถเคลื่อนลงมาได้ตามนัด เพราะถูกทหารรัฐบาลดักที่โคกกะเทียม (ลพบุรี) ถูกปลดอาวุธและส่งกลับที่ตั้งเดิม นอกจากนี้กองทหารปราจีนบุรีที่เข้ามาถึงมักกะสันประกาศกลับตัวไปหนุนหลังรัฐบาล

ทั้งหมดผิดจากที่ฝ่ายทหารหัวเมืองประเมินไว้อย่างสิ้นเชิง
Image
ปืนต่อสู้อากาศยานวิกเกอร์สอาร์มสตรองติดรถสายพานลำเลียง อาวุธลับของรัฐบาล
ภาพ : ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม, ฝันร้ายของเมืองไทย. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๒๘

Image
ค่ำวันที่ ๑๔ ตุลาคม กองบัญชาการทหาร หัวเมืองประเมินแล้วว่าโอกาสชนะเหลือน้อย
เช้าวันที่ ๑๕ ตุลาคม ทหารฝ่ายรัฐบาลเริ่มขยับแนว โจมตีกดดันกองทหารหัวเมืองใต้วัดหลักสี่ หลวงพิบูลฯ (แปลก) สั่งระดมยิงสถานีวิทยุหลักสี่และสถานีรถไฟหลักสี่

บ่ายวันนี้หลวงโหมฯ (ตุ๊) ต้องเฉียดตายเกือบถูกปืนกลขณะตรวจดูแนวรบที่ทหารสองฝ่ายประจันหน้ายิงใส่กัน ซึ่งเป็นสถานการณ์ต่อเนื่องมาหลังจากพระองค์เจ้าบวรเดชตัดสินพระทัยใช้ยุทธการ “ตอร์ปิโดบก” คือหัวรถจักรวิ่งด้วยความเร็วสูงพุ่งชนแนวรบฝ่ายรัฐบาลแถวใต้สถานีหลักสี่

เมื่อเวลาราว ๑๒.๒๐ น. อรุณ บุนนาค สารวัตรรถจักรภาคอีสาน บังคับหัวรถจักรแบบแปซิฟิกฮาโนแม็ก ๒๗๗ (Pacifific Hanomag Series 277) ผลิตในเยอรมนี ออกจากสถานีดอนเมือง เร่งความเร็วจนถึง ๑๑๓ กิโลเมตรต่อชั่วโมง พุ่งใส่ขบวนรถไฟฝ่ายรัฐบาล โดยอรุณกระโดดเอาตัวรอดออกจากรถไฟที่สถานีหลักสี่

นักเรียนทำการนายร้อยประภาสได้ยินทหารฝ่ายรัฐบาลที่กลับจากแนวหน้าเล่าว่า ขณะรถจักรฝ่ายกบฏพุ่งใส่รถไฟทหารฝ่ายรัฐบาล ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ยิงต้าน กระสุนเข้าเป้าทั้งหมด “มีการแตกระเบิด มีแสงประกายไฟที่รถจักร แต่รถจักรหาได้ลดความเร็วลงไม่ จนมาถึงเป้ารถบรรทุก ป.ต.อ.”

ร้อยโท สุตรจิตร จารุเศรนี ทหารฝ่ายรัฐบาล เขียนว่า ผลของการชนทำให้รถสายพานลำเลียงติด ปตอ. ตกลงคูน้ำข้างรางรถไฟ หัวรถจักรฝ่ายกบฏบดขยี้รถ ข.ต. ที่อยู่ด้านหน้าขบวนรถไฟฝ่ายรัฐบาลจนแหลก พันตรี หลวงกาจสงคราม (กาจ กาจสงคราม) บาดเจ็บ ขณะที่ร้อยเอก ขุนศุกรนาคเสนีย์ (เจือ ศุกรนาค) ร้อยตรี น่วม ทองจรรยากับทหารสองคนซึ่งทำหน้าที่ประจำปืน ปตอ. เสียชีวิต

ต่อมาที่แนวคลองเปรมประชากร กองพันทหารม้าที่ ๑ รอ. ฝ่ายรัฐบาลปะทะกับกองร้อยทหารม้าของหลวงโหมฯ (ตุ๊) ซึ่งกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทหารหนีทัพ  ฝ่ายรัฐบาลยึดสถานีบางเขนได้ แต่ยังไม่สามารถรุกเข้าหาสถานีหลักสี่ได้เร็วนัก หลวงโหมฯ (ตุ๊) คุมกำลังที่เหลือตั้งยันกำลังฝ่ายรัฐบาลจนถึงค่ำ ก่อนนำทหารสภาพอิดโรยกลับถึงดอนเมืองในเวลา ๒๔.๐๐ น.

เมื่อถึงดอนเมือง เขากล่าวถึงความรู้สึกคับแค้น เมื่อเห็นสภาพในสโมสรทหารอากาศ (กองบัญชาการ) ว่า “นายทหารจำนวนมากนั่งเสพสุราและกินอาหารกันบางคนก็เล่นบิลเลียด”

เขายังพบว่ากองพันทหารราบบางหน่วยเริ่มถอนตัวแล้ว เช่นกองพันทหารอุบลราชธานีแปรพักตร์และถอยไปก่อน เขาจึงทราบทันทีว่าหากกลับช้ากว่านี้ กองร้อยของเขาอาจถูกทิ้งไว้ในทุ่งบางเขน
เช้ามืดวันที่ ๑๖ ตุลาคม เวลา ๐๔.๐๐ น. กำลังชุดสุดท้ายของกองทหารหัวเมืองออกจากดอนเมือง หลวงโหมฯ (ตุ๊) เขียนบันทึกไว้ว่า “วันนี้เป็นวันที่ทหารหัวเมืองแพ้อย่างเด็ดขาด” ต้องถอยกลับนครราชสีมา
ตัดภาพไปหัวเมืองรอบนอก

กองทหารเพชรบุรีที่พระองค์เจ้าบวรเดชทรงหวังว่าจะมายึดสถานีตลิ่งชัน ถูกยันไว้ที่สถานีรถไฟราชบุรี ส่วนกำลังจากนครสวรรค์และพิษณุโลกเข้ามาสมทบไม่ได้ กองทหารจากปราจีนบุรียังไปเข้ากับฝ่ายรัฐบาล

ผลคือกองทหารหัวเมืองตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ

ด้านรัฐบาลยังอาศัยวิทยุทำสงครามข่าวสาร เนื่องจากสายโทรเลขที่วางไปภาคเหนือและใต้ถูกตัด และสถานีวิทยุหลักสี่ที่อยู่ในสมรภูมิเสียหาย วังปารุสกวัน (ทำเนียบรัฐบาล) จึงมีโทรเลขติดต่อกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ขอให้นายสถานีวิทยุหลักสี่ที่หนีออกมากลับเข้าไปซ่อมเครื่องส่ง หรือนำเครื่องส่งออกมาใช้งานนอกสถานที่

เอกสารรัฐบาลอีกชิ้นหนึ่งยังกล่าวว่าสถานีวิทยุที่พิษณุโลกก็ “สำคัญมาก” เพราะใช้ติดต่อหัวเมืองเหนือ แต่มีเจ้าหน้าที่ทำงานเพียงคนเดียว จึงขอให้เพิ่มเจ้าหน้าที่อีกหนึ่งคน ส่วนจะส่งเจ้าหน้าที่คนใหม่เดินทางผ่านแนวรบไปที่สถานีอย่างไร “ต้องให้ผู้ที่จะขึ้นไปคิดหาวิธีเอาเอง”

ขณะที่สถานีวิทยุสงขลายังขัดข้องเนื่องจาก “เกิดเรื่องทางเมืองเพ็ชร” คือทหารเพชรบุรีเข้าร่วมฝ่ายกบฏ จึงต้องส่งคลื่นวิทยุไปทวนสัญญาณที่ “ปีนัง (มาเลเซีย) แล้ว (ส่ง) ย้อนกลับเข้ามา” ฝ่ายรัฐบาลจึงพิจารณาการส่งเครื่องวิทยุและเจ้าหน้าที่ไปสงขลาทางเรือเมล์เพื่อฟื้นฟูระบบ

ในที่สุด ช่วงค่ำ พระองค์เจ้าบวรเดชตัดสินพระทัยถอยทัพ
ร้อยตรี สลับ เรขะรุจิ ทหารฝ่ายกบฏเล่าให้น้องชาย เสลา เรขะรุจิ ผู้เขียนหนังสือ แม่ทัพบวรเดช ฟังว่า การถอนทัพส่วนหนึ่งเกิดจาก “พระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...ทรงใคร่ที่จะเห็นการถอนทหารออกไปจากแหล่งที่ปฏิบัติการ”

การถอยครั้งใหญ่เริ่มตอน ๒ ทุ่มเศษในสภาพ “ลุกลี้ลุกลนและปราศจากระเบียบ” โดยกำลังบางส่วนยังสู้อยู่ในทุ่งบางเขน
สภาพตลาดดอนเมืองหลังทหารรัฐบาลเข้ายึดคืนจากกบฏ
แนวรบด้านทิศใต้

กองทหารเพชรบุรีประกาศกฎอัยการศึกในจังหวัดแล้วเกณฑ์ผู้คนเข้าร่วม  ร้อยโท จงกลไกรฤกษ์ เขียนในหนังสือ ตัวตายแต่ชื่อยัง ว่าเหตุที่กองทหารเพชรบุรีแสดงตัวช้านั้นอาจเพราะรอดูผลการบุกที่ดอนเมือง เมื่อกำลังหลักพ่ายแพ้ ก็ไม่จำเป็นต้องพรางตัว และเชื่อว่าหัวหินและวังไกลกังวลอาจเป็นเป้าหมายของรัฐบาล จึงประกาศแยกตัวและส่งข้อความไปกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๗ ว่าจะส่งทหารไปอารักขา

แต่รัชกาลที่ ๗ มีพระราชโองการปฏิเสธว่า “มิได้ทรงเกี่ยวข้อง ทั้งทรงห้ามมิให้กองทหารเพชรบุรีจัดกำลังทหารไปถวายอารักขาเป็นอันขาด” จึงเกิดสถานการณ์ที่ทหารเพชรบุรีอ้างว่าทำเพราะจงรักภักดี ทว่ารัชกาลที่ ๗ ไม่ทรงรับ “ความจงรักภักดีชนิดเสี่ยงชีวิตทั้งตระกูลนั้น...” แล้วตัดสินพระทัยลงเรือพระที่นั่ง ศรวรุณ ไปประทับที่พระตำหนักเขาน้อย อำเภอเมืองสงขลา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระราชทานสัมภาษณ์ในปี ๒๕๑๖ (หลังเหตุการณ์ ๔๐ ปี) ว่าในหลวงยังทราบข่าวว่าหลวงพิบูลฯ (แปลก) จะส่งรถไฟมารับเสด็จ จึงรับสั่งว่า “ยังไม่กลับ” ขณะนั้นทรงมีเรือยนต์พระที่นั่งขนาดเล็ก จึงเสด็จฯ พร้อมข้าราชบริพารออกเรือในตอนกลางคืน เผชิญคลื่นลมอยู่ ๑ คืน เติมน้ำมันที่ชุมพร จากนั้นได้เรือขนสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติกช่วยลากจูงไปส่งถึงสงขลา

ขณะเดียวกันหลวงพิบูลฯ (แปลก) มุ่งไปราชบุรี นำกองทหารเคลื่อนตามทางรถไฟถึงเพชรบุรีในวันถัดมา (๑๗ ตุลาคม) รัฐบาลยังส่งเรือหลวง พาลีรั้งทวีป ไปประจำที่หาดอำเภอบ้านแหลม ทำให้กองทหารเพชรบุรียอมจำนน

ส่วนแนวรบทางอีสาน

ที่นครราชสีมาเกิดสถานการณ์ซับซ้อนเมื่อกองพันทหารอุบลฯ กลับมาถึงก่อนพระองค์เจ้าบวรเดช และจัดการปล่อยข้าราชการที่โดนคุมขังไว้ จากนั้นร่วมมือกับพระขจัดทารุณกรรม ผู้บังคับการตำรวจ ควบคุมความสงบในเมือง  แต่ในที่สุดก็นำกำลังขึ้นรถไฟหนีไปอุบลราชธานีพร้อมข้าราชการนครราชสีมาจำนวนหนึ่ง เพราะเกรงกำลังของพระองค์เจ้าบวรเดชที่กำลังกลับมาจากพระนคร

ล่วงเข้าวันที่ ๑๘ ตุลาคม

กองกำลังผสมของรัฐบาลส่วนหน้านำโดยพันเอก พระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ออกติดตามพระองค์เจ้าบวรเดชตามทางรถไฟด้วยรถไฟสี่ขบวน เข้ายึดชุมทางบ้านภาชี (บ่ายวันที่ ๑๘ ตุลาคม) สถานีปากเพรียว (๒๐ ตุลาคม) สถานีแก่งคอย (๒๑ ตุลาคม) โดยมีกำลังทหารเรือหนึ่งหมวดจากเรือหลวง สุริยมณฑล ทำหน้าที่คุ้มครองหน่วยช่างรถไฟสนาม (ซ่อมรางรถไฟที่โดนทำลาย) และลาดตระเวนหาข่าวในแนวหน้า โดยพระองค์เจ้าบวรเดช ระหว่างถอยทรงให้ทำลายรางรถไฟเป็นระยะ ๆ เพื่อชะลอการติดตามของทหารฝั่งรัฐบาล

ภายในกองทัพทหารหัวเมืองตอนนี้ยังเต็มไปด้วยความระส่ำระสาย เกิดข่าวลือว่าทหารบางส่วนจะจับตัวพระองค์เจ้าบวรเดชส่งให้รัฐบาลที่ตั้งค่าหัวพระองค์ไว้สูงถึง ๑ หมื่นบาท ยังมีกรณีการเสียชีวิตของหลวงโหมฯ (เวก) อย่างลึกลับ บ้างว่าเป็นการฆ่าตัวตาย บ้างก็ว่าถูกยิง

เมื่อถูกติดตามกระชั้นชิดมากขึ้น พระองค์เจ้าบวรเดชก็ทรงให้พระยาศรีฯ (ดิ่น) วางกำลังตั้งรับที่สถานีหินลับ เพื่อรับมือกองทหารรัฐบาลที่ตามมาจนถึงสถานีปากช่อง

พระยาศรีฯ (ดิ่น) สั่งลาดตระเวนจากสถานีมวกเหล็กไปจนถึงแก่งคอย อีกส่วนลาดตระเวนจากสถานีหินลับจนถึงพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ส่วนสุดท้ายลาดตระเวนบนรางรถไฟจนถึงทับกวาง
Image
“ขะบวนรถรบรอการยกรถตกรางที่หน้าสถานีมวกเหล็ก”
Image
การซ่อมสะพานรถไฟที่หลัก ๒๓๙ กม. ใกล้สถานีกุดจิก
Image
ปี ๒๕๖๖ ในยุคที่ถนนมิตรภาพเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคอีสาน “หินลับ” เป็นสถานีที่ “ถูกลืม”
ทางเข้าสู่สถานีแยกจากถนนมิตรภาพ หลักกิโลเมตรที่ ๑๓๒-๑๓๓ เป็นถนนลูกรังเล็ก ๆ วิ่งเลียบกำแพงโรงงานปูนซีเมนต์เข้าไปในเขตภูเขาเว้าแหว่งจากการระเบิดหินทำวัตถุดิบผลิตปูน

บริเวณแนวรางรถไฟคือช่องเขาที่เต็มไปด้วยเครือข่ายรางขนส่งวัตถุดิบของโรงงานปูน

จากหลังโรงงานปูนไปตามถนนลูกรังเลียบแนวทางรถไฟซึ่งทอดยาวไปตามช่องเขา ถึงจุดหนึ่งจะพบชะง่อนผา มีป้ายหินอ่อนฝังไว้เขียนว่า 

“ที่มั่นสุดท้าย-ที่ตาย นายพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) คราวกบฏบวรเดช...”
หมู่ทหารเรืออาสากล้าตายที่ทำการปราบกบฏที่หินลับในบังคับร้อยโท ประสิทธิ์ ใบเงิน (ยืนกลาง ชุดสีอ่อน)
จากจุดนี้ วิ่งตามถนนเลียบรางรถไฟไปจะพบกับสถานีหินลับ เป็นอาคารไม้สองหลัง หลังหนึ่งใช้เป็นที่ทำการสถานี อีกหลังเป็นที่พักพนักงานรถไฟ ใกล้ ๆ กำลังก่อสร้างอาคารสถานีใหม่ซึ่งยกพื้นสูง

เมื่อ ๙๐ ปีที่แล้ว อาคารไม้นี้ตั้งอยู่กลางหุบเขาดงพญาเย็น แนวรางรถไฟซึ่งลัดเลาะผ่านช่องเขาเนินชัน เหมาะกับการซุ่มวางปืนกลและพลปืนเล็กโจมตีขบวนรถไฟหรือกองทหารรัฐบาลที่ยกติดตามมา

วันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๗๖ ฝ่ายรัฐบาลเปิดฉากโจมตีแนวต้านสุดท้ายของฝ่ายกบฏด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดสถานีหินลับและจันทึก (สถานีถัดไป) เพื่อตัดการส่งกำลังบำรุง

การบุกเริ่มเวลา ๑๑.๐๐ น. ไปจนถึงช่วงค่ำ ฝ่ายบุกต้องเดินเท้าเพราะรางรถไฟถูกรื้อ เส้นทางบีบแคบทำให้เกิดการปะทะในระยะประชิด

ร้อยโท สุตรจิตร จารุเศรนี ทหารฝ่ายรัฐบาลเล่าว่า ขณะบุก “สองฟากทางรถไฟเต็มไปด้วยเหวและป่าลึก ต้องบุกเข้าไปเฉพาะพื้นที่ที่เป็นช่องแคบ จากบนเขาและชายเขาข้างหน้าเต็มไปด้วยรังปืนกลของพวกกบฏ...”

ปราบกบฏบนที่ราบสูง ของร้อยโทสุตรจิตรเล่าฉากนี้ว่าทหารเรือ ๒๑ คน นำโดยร้อยโท ขุนไสวแสนยากร (ไสว อุ่นคำ) เป็นหน่วยบุกเข้าด้านหน้าช่องแคบ ส่วนกองพันทหารราบที่ ๖ ปีนขึ้นสันเนินเพื่อตีโอบทำลายรังปืน

ด้วยวิธีนี้รังปืนหลายจุดที่พระยาศรีฯ (ดิ่น) วางไว้จึงถูกทำลาย

นักเรียนทำการนายร้อยประภาสนำทหาร “ร้องไชยโยวิ่งขึ้นไป...เสียงดังสนั่นเหมือนฟ้าผ่าช่องเขา พวกทหารวิ่งเข้าไปเหมือนคลื่นในมหาสมุทร” ก่อนที่พระยาศรีฯ (ดิ่น) จะเสียชีวิตในที่รบ
 รังปืนกลฝ่ายกบฏที่แนวปะทะบริเวณใกล้กับสถานีหินลับ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพคนสำคัญของฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมืองเสียชีวิตจากการปะทะใกล้กับแนวรบนี้  
Image
บริเวณที่คาดว่าพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เสียชีวิต
Image
บริเวณที่พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เสียชีวิตในปี ๒๔๗๖ มีการทำป้ายที่ระลึกและมีข่าวว่ามีญาติรุ่นหลังมาไหว้ในบางปี
[ฉากเสียชีวิตของพระยาศรีฯ (ดิ่น) ยังคงไม่ได้ข้อสรุปจนปัจจุบัน

สำนวนของร้อยโทสุตรจิตรเล่าว่า ร้อยโทหงส์ (หงส์ กฤษณะสมิต) นำทหารเคลื่อนที่ในความมืด “...ถือไฟฉายติดมือไปด้วย เอาทางรถไฟเป็นที่หมายเดิน...มีทหาร ๕-๖ คน สวนทางเข้ามา ร้อยโทหงส์จึงถามออกไปว่า ใคร แล้วก็มีเสียงตอบมาว่า พวกเรา...” แต่ร้อยโทหงส์ไม่เชื่อเพราะเคลื่อนสวนทางกัน จึงสั่งยิงทันที ทำให้ทหารฝ่ายกบฏหันกลับ เมื่อตามไปราว ๑๕ เมตร ก็พบทหารนายหนึ่งนอนคว่ำหน้าบาดเจ็บอยู่ จากนั้นพบ “ศพทหารนอนตายอยู่หนึ่งคน เมื่อส่องไฟดูจึงรู้ว่าเป็นนายดิ่น (ศรีสิทธิ์)...” โดยบนตัวนั้น “มีรอยถูกกระสุนปืนหลายแห่ง”

ขณะที่สำนวนของ “วิรยศิริ” ใน “รำลึกจากความทรงจำ...ถึง...พลเอกประภาส จารุเสถียร” เล่าว่า นักเรียนทำการนายร้อยประภาส ไปกับกองพันทหารราบที่ ๖ เป็นชุดทหารราบที่บุกเข้าช่องเขา โดยโดดลงจากรถถัง นำทหารเคลื่อนที่ด้วยเท้าเข้ายิงต่อสู้ “แม้พันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามจะร้องไห้ยอมแพ้” ก่อนที่จะยิงตอบโต้กันรุนแรง และสรุปทันทีว่าพระยาศรีฯ (ดิ่น) เสียชีวิต 

วันต่อมา หลวงพิบูลฯ (แปลก) ผบ. กองกำลังผสม จึงประกาศให้นักเรียนทำการนายร้อยประภาสได้รับยศร้อยโททันที เพราะ “ยิงหัวหน้าฝ่ายกบฏถึงแก่ความตาย” 

แต่ในหนังสือ ฝากเรื่องราวไว้ให้ลูกหลาน ที่จอมพลประภาสเขียนราวปี ๒๕๓๔-๒๕๓๕ กลับบอกว่า กว่าเขาจะพบหลวงพิบูลฯ (แปลก) ก็อีก ๒ เดือนหลังจากนั้น 

เหตุการณ์ที่เล่าให้ “วิรยศิริ” ฟังจึงไม่น่าจะเกิดขึ้น]

หลวงโหมฯ (ตุ๊) บันทึกว่า วันเดียวกัน พันโท หลวงจรูญฤทธิไกร (จรูญ โชติกเสถียร) ถอนทหารทั้งหมดจากปากช่องกลับนครราชสีมา ซึ่งพระองค์เจ้าบวรเดชไม่พอพระทัยนัก เพราะ “ถอนมาโดยไม่ได้รับคำสั่ง” ขณะที่กองทหารซึ่งส่งไปตามทัพอุบลฯ ที่ถอยไปตามทางรถไฟสายอีสานใต้ ต้องชะงักอยู่ที่บุรีรัมย์เพื่อรอซ่อมทางรถไฟที่โดนทำลาย

นอกจากนี้ยังมีรายงานการทำลายทางรถไฟสายนครราชสีมา-ขอนแก่น ทำให้หลวงโหมฯ (ตุ๊) ต้องนำกำลังไปตรวจสอบ ก่อนจะได้ข้อมูลว่าเป็นฝีมือทหารจากอุดรธานี เขาถูกเรียกกลับโคราช คืนนั้นเพื่อประชุม เขาเล่าว่ามีความขัดแย้งกัน ฝ่ายหนึ่งเสนอเรื่องลี้ภัย อีกฝ่ายหนึ่ง (รวมถึงหลวงโหมฯ) มองว่ายังยึดนครราชสีมาเป็นฐานสู้กับรัฐบาลได้ โดยประกาศแยกตัวพร้อมกับ ๑๕ จังหวัด แต่พระองค์เจ้าบวรเดชทรงปฏิเสธ

การต่อสู้ทั้งหมดจึงจบลงวันนี้

รุ่งขึ้น ๒๔ ตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดชสั่งพันตรี หลวงเวหนฯ (ผล) ไปสำรวจว่าสนามบินที่บุรีรัมย์และสุรินทร์ใช้การได้หรือไม่

๒๕ ตุลาคม เครื่องบินแบบเบรเก้ทะยานขึ้นจากสนามบินหนองบัว นครราชสีมา หายลับขอบฟ้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  นายทหารชั้นรองส่วนหนึ่งหลบหนีออกนอกประเทศ อีกส่วนยอมจำนนกับกองกำลังรัฐบาลที่ยาตราเข้าสู่นครราชสีมาตั้งแต่วันที่ ๒๔ ตุลาคม
Image
พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ขณะเกิดเหตุการณ์และจดหมายสนับสนุนรัฐบาลในการพิมพ์ใบปลิวของหนังสือพิมพ์โดยไม่คิดมูลค่า
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Image
เมื่อยึดนครราชสีมาได้ รัฐบาลส่งพันโท พระเริงรุกปัจจามิตร มาดูแลสถานการณ์ในโคราช แต่งตั้งผู้ว่าฯ ใหม่ ซึ่งเป็นคนของคณะราษฎร ทั้งคู่มีภารกิจหลักคือซื้อใจคนโคราช อันเป็นเหตุให้มีการทำขวัญเมือง ศึกษาขับเน้นเรื่องของท้าวสุรนารี (ย่าโม) ฯลฯ อันส่งผลมาถึงปัจจุบัน
Image
Image
Image
Image
Image
“ขบวนทหารในการทำขวัญเมืองเดินขบวนผ่านประตูชุมพลเข้าในเมืองนครราชสีมา ๑๗ พ.ย. ๗๖”

“ทหารส่วนต่าง ๆ ในกองรบส่วนที่ ๑ ขึ้นรถยนต์ทหาร ๒๕ พ.ย. ๗๖” ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหลังจากการปราบกบฏได้แล้ว สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการถอนกำลังกลับจากสนามรบในภาคอีสาน

“ขบวนรถ ป.ต.อ. ในการทำขวัญเมืองนครราชสีมา”

กองทหารเดินผ่านประตูชุมพล ในวันทำขวัญเมืองหลังปราบกบฏสำเร็จ

เครื่องบินเตรียมขึ้นบินในวันทำขวัญเมือง ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๖

Image
งานประชุมเพลิงศพทหารฝ่ายกบฏที่นครราชสีมา รัฐบาลจัดงานให้โดยยึดรูปแบบเก่าและนิยามว่า ทหารเหล่านี้ถูกฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชหลอกลวง
Image
“ทหารบก-เรือ เดินขบวนในงานวันทำขวัญเมือง”
Image
“นักเรียนหญิงนำพวงมาลาเพื่อวางที่ศพทหาร”
Image
“ทบ. ใช้ชื่อ ‘บวรเดช’ ตั้งเป็นชื่อห้องที่ปรับปรุงใหม่ในกองบัญชาการกองทัพบก”
มติชนออนไลน์, ๙ ตุลาคม ๒๕๖๒

วิกฤตการเมืองไทยรอบล่าสุดซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนเกิด “รัฐประหารแฝด” ในปี ๒๕๔๙ และ ๒๕๕๗ ทำให้เรื่อง “กบฏบวรเดช” กลับมาโลดแล่นอยู่ในพื้นที่ความทรงจำอีกครั้ง
Image
สถานีดอนเมืองในช่วงต้นปี ๒๕๖๖ เก้าสิบปีให้หลังสถานีนี้ลดความสำคัญลงในระบบรถไฟ เมื่อมีระบบรถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงเข้ามาเดินรถในเส้นทางเดียวกัน
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
สะพานเกษะโกมล ตั้งชื่อตาม “หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล)” นายทหารฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตในคราวกบฏบวรเดช
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

เริ่มตั้งแต่กลุ่มคนเสื้อแดงหลายกลุ่มซึ่งต่อต้านรัฐประหาร ใช้อนุสาวรีย์ปราบกบฏ มรดกที่หลงเหลือจากเหตุการณ์กบฏบวรเดช เป็นจุดเริ่มต้นเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงปี ๒๕๕๓ (ก่อนการล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม) ตั้ง “หมู่บ้านปราบกบฏ” ในปี ๒๕๕๖ ต่อต้านกลุ่ม กปปส. (ก่อนรัฐประหารปี ๒๕๕๗)  ต่อมาพวกเขาก่อตั้ง “คณะกรรมการอนุสาวรีย์ปราบกบฏบวรเดช” จัดรำลึกเหตุการณ์วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๒ (ครบรอบ ๘๖ ปี กบฏบวรเดช) โดยนอกจากพิธีสงฆ์และกิจกรรมบันเทิง ยังจัดเวทีบรรยายความสำคัญของอนุสาวรีย์
Image
 เจดีย์บรรจุอัฐิของพระเริงรุกปัจจามิตรที่วัดกลาง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
Image
สถานีหินลับในปี ๒๕๖๖
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

นับตั้งแต่สิ้นยุคคณะราษฎร (หลังรัฐประหารปี ๒๔๙๐) ถือเป็นครั้งแรกที่มีการฟื้นฟูความหมายของสถานที่นี้ โดยเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของคนเสื้อแดง

พวกเขามองเจ้าหน้าที่รัฐ ๑๗ คน ที่มีอัฐิบรรจุในอนุสาวรีย์ว่าเป็น “ทหารกล้าที่ปราบกบฏและรักษาประชาธิปไตยไว้ได้” (ประชาไท, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๕) และจัดสร้างเหรียญปราบกบฏรุ่นใหม่ด้วยรูปแบบเดียวกับ “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ที่รัฐบาลพระยาพหลฯ (พจน์) ผลิตแจกปี ๒๔๗๖

อีกปรากฏการณ์สำคัญ คือความพยายามรื้อทำลายความทรงจำหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับคณะราษฎร เฉพาะส่วนของกบฏบวรเดช คืออนุสาวรีย์ปราบกบฏ ถูก “ขโมย” หายไปในปี ๒๕๖๑ ภายหลังเหตุการณ์มีอาจารย์มหาวิทยาลัยมอบหมายให้นักศึกษาสร้างงานศิลปะโดยใช้แรงบันดาลใจจากการหายไปของอนุสาวรีย์ปราบกบฏ
[เกิดการขนย้ายอนุสาวรีย์ปราบกบฏในช่วงกลางดึกวันที่  ๒๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ มีนักวิชาการ สื่อมวลชน และประชาชนจำนวนหนึ่งไปสังเกตการณ์และถ่ายคลิปวิดีโอ แต่ถูกตำรวจควบคุมตัวและบังคับให้ลบคลิป  หลังจากนั้นอนุสาวรีย์ปราบกบฏก็หายไป โดยมีข่าวว่านำไปเก็บไว้กับหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร แต่ไม่พบหลักฐาน จนถึงวันนี้อนุสาวรีย์ยังคงหายไปอย่างลึกลับ]
ปรากฏการณ์มรดกคณะราษฎร สูญหายในทศวรรษ ๒๕๖๐ ถูกสันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามความทรงจำ” ที่ยังไม่สิ้นสุด
อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญในภาพเก่า
(ไม่ทราบปีที่ถ่าย)

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เมื่อครั้งยังตั้งอยู่วงเวียนหลักสี่ ก่อนจะหายไปในปี ๒๕๖๑
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับมรดกคณะราษฎร สรุปว่า เมื่อรวมกรณีอนุสาวรีย์ปราบกบฏหายไป กับการตั้งชื่อห้องในอาคารสรรพาวุธ พิพิธภัณฑ์ทหารบก ว่า “บวรเดชศรีสิทธิสงคราม” (ปี ๒๕๖๒) และเหตุการณ์ที่คนลึกลับพยายามเปลี่ยนชื่อสะพาน “พิบูลสงคราม” บนถนนสามเสนเป็น “สะพานท่าราบ” (ปี ๒๕๖๕) แม้จะไม่สำเร็จ

ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ว่านี่คือ “สงครามความทรงจำ”

แต่บางทีสงครามนี้อาจเริ่มตั้งแต่วันที่พระยาศรีฯ (ดิ่น) ถูกกระสุนเสียชีวิตในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๗๖

รัฐบาลสรุปตัวเลขในเหตุการณ์นี้ว่า กองกำลังรัฐบาลเสียชีวิต ๑๗ คน บาดเจ็บ ๕๙ คน และจัดงานบำเพ็ญกุศลแก่ทั้ง ๑๗ คนอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดราชาธิวาส จัดขบวนแห่ศพอย่างสมเกียรติในพระนคร ทั้งวันที่นำศพไปตั้งสวดที่วัดราชาธิวาส และการฌาปนกิจ ณ ท้องสนามหลวง
พระตำหนักเขาน้อยราวทศวรรษ ๒๔๗๐
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

พระตำหนักเขาน้อย ปี ๒๕๖๖
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

Image
สถานีรถไฟเพชรบุรี ปี ๒๕๖๖ เมื่อ ๙๐ ปีก่อนหน้านี้ หลวงพิบูลสงครามเดินทางมาที่นี่และฝ่ายทหารเพชรบุรี
ยอมจำนน
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเผาศพสามัญชนในสถานที่แห่งนี้ และยังสร้างเมรุด้วยศิลปะแบบ modern สื่อความหมายถึงการปกป้องรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าเหตุการณ์กบฏบวรเดชเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญ เพราะหลังจากนั้น “คณะราษฎรได้เดินหน้าบริหารประเทศไปตามอุดมการณ์ของตนเองอย่างเต็มที่ และปิดฉากความเป็นไปได้ที่พวกตนจะประนีประนอมกับชนชั้นนำของระบอบเก่า”

หลังปราบกบฏจบ รัฐบาลพระยาพหลฯ (พจน์) ตั้งศาลพิเศษ ๒๔๗๖ พิจารณาคดีทันที เอกสารจำนวนมากในแฟ้ม “กบฏบวรเดช” ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ แสดงถึงการสืบสวนครั้งใหญ่ระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน

ผลคือ นาวาเอก พระยาวิชิตชลธี ผบ.ทร. ที่ปฏิเสธคำสั่งรัฐบาลถูกกดดันจนต้องลาออกและถูกพิจารณาว่าควรถูกฟ้องในศาลพิเศษหรือไม่
Image
Image
Image
 “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ แสดงปาฐกในงานแห่ศพทหาร ๓๐ พ.ย. ๗๖” บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า 

ขบวนแห่ศพทหารฝ่ายรัฐบาลในพระนคร สังเกตให้ดีจะพบว่าหน้ารถลำเลียงจะมีตรารัฐธรรมนูญตกแต่งอยู่หน้ารถ
Image
๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ พระยาพหลฯ นายกฯ อ่านประกาศเลื่อนชั้นยศและพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลาเข็มกล้าหาญแด่ทหารที่เสียชีวิตในการรบ ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ระหว่างขบวนเกียรติยศแห่ศพทหารในพระนคร สังเกตจะเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้บัญชาการกองกำลังผสมยืนด้านหน้าแท่นของประธาน
Image
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) สร้างขึ้นหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองและด้านจิตใจ ซึ่งกลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวโคราชมานับแต่นั้น
แต่รัฐบาลก็ล้มเหลวในการนำตัวผู้นำระดับสูงของคณะกู้บ้านกู้เมืองมาลงโทษ ด้วยส่วนมากหนีออกนอกประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา  รัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศสดำเนินการปลดอาวุธและให้คนเหล่านี้ลี้ภัยอยู่ในอินโดจีน  แม้รัฐบาลสยามพยายามขอตัวพวกเขากลับมาดำเนินคดี แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเป็นคดีการเมือง

ส่วนนายทหารระดับรองลงมายอมวางอาวุธ ถูกถอดยศและให้ออกจากราชการ  นายทหารชั้นผู้น้อยได้รับการยกเว้นความผิด หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการทำตามคำสั่งของนายทหารระดับบน

การสรุปตัวเลขหลังเหตุการณ์ รัฐบาลจับกุมผู้ต้องหา ๖๐๐ คน ฟ้องเป็นจำเลย ๓๑๘ คนใน ๘๑ คดี ศาลพิเศษตัดสินลงโทษ ๒๓๐ คน ปลดจากราชการ ๑๑๗ คน และมีผู้ต้องหาจำนวนหนึ่งที่ทาง “คณะเจ้า” ขอให้ทางรัฐบาลละเว้นโทษ
Image
วัดประชาธิปไตย (วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร) สร้างหลังเหตุการณ์พร้อมกันกับอนุสาวรีย์ปราบกบฏและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในเขตอำเภอบางเขนเพื่อเป็นที่ระลึก
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เมรุของทหารฝ่ายรัฐบาลบริเวณท้องสนามหลวงใช้สถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่
ภาพ : ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. มติชน, ๒๕๕๐

เพื่อป้องกันระบอบรัฐธรรมนูญ ปลายปี ๒๔๗๖ ระหว่างศาลพิเศษเริ่มสืบพยาน รัฐบาลพระยาพหลฯ (พจน์) ขอให้สภาผ่าน พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๖ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่กักบริเวณผู้ต้องสงสัยว่าจะล้มล้างการปกครองได้ถึง ๑๐ ปี มีโทษปรับไว้ ๕๐๐-๕,๐๐๐ บาท และจำคุก ๓-๒๐ ปี

รัฐบาลฝ่ายคณะราษฎรยังต้องต่อรองกับเครือข่าย “คณะเจ้า” ในประเด็นกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระราชอำนาจวีโต้กฎหมาย พระราชอำนาจในการเลือก สส. ประเภท ๒ (แต่งตั้ง) และประเด็นสำคัญที่สุดคือการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ

อันนำไปสู่การสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ ในปี ๒๔๗๗

รัฐบาลยังพยายามสร้างความทรงจำผ่านสิ่งก่อสร้าง ทั้งสถาปัตยกรรมและสิ่งของ โดยเน้นความสำคัญของระบอบรัฐธรรมนูญ เช่น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฏ (ปี ๒๔๗๙) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่จังหวัดมหาสารคาม
(ปี ๒๔๗๗) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ กรุงเทพฯ (ปี ๒๔๘๒)
Image
พระยาพหลฯ มารอต้อนรับทหารที่กลับจากปราบกบฏในภาคอีสาน
ที่สำคัญคือ การสร้างบางเขนให้เป็นเมืองใหม่เป็นที่ระลึกและสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยโดยมีศูนย์กลางที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

ตัดถนนพหลโยธิน ที่ระลึกแด่พระยาพหลฯ (พจน์) จากสนามเป้าจนถึงอำเภอบางเขนใหม่

สร้างสุขศาลาและสถานีตำรวจบริเวณทิศใต้ของอนุสาวรีย์
สร้างวัดพระศรีมหาธาตุ (วัดประชาธิปไตย)

ทำให้พื้นที่บางเขน อดีตสมรภูมิถูกจดจำในฐานะชัยชนะของฝ่ายรักษาประชาธิปไตย

เพียงแต่ “สงครามความทรงจำ” ยังคงดำเนินมาจนถึงตอนนี้ (ปี ๒๕๖๖)  
Image
 เมรุสำหรับฌาปนกิจทหารรัฐบาลที่เสียชีวิตจากการปราบกบฏ กลางท้องสนามหลวง  อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ อธิบายว่าเป็น “เมรุสามัญชนที่สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกกลางท้องสนามหลวง” รูปแบบทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นคือ “ลักษณะอันเรียบเกลี้ยง ไม่มีเครื่องยอดแบบพระเมรุมาศ แต่ยอดอาคารปักธงชาติไว้แทน”
ภาพ : ชาตรี ประกิตนนทการ. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. มติชน, ๒๕๕๐

ขอขอบคุณ 
สำนักพิมพ์ต้นฉบับ (เอื้อเฟื้อไฟล์ภาพดิจิทัล)
สถาบันพระปกเกล้า (เอื้อเฟื้อสถานที่สัมภาษณ์)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์,
คุณพนาวัลย์ (เจ้าหน้าที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

หมายเหตุ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล ใจจริง ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ผู้เขียนจึงใช้ “เสียง” จากงานของอาจารย์ณัฐพลมาเป็นส่วนหนึ่งในงานสารคดีเรื่องนี้

scrollable-image