Image
การคุก การลงทัณฑ์ กาลเวลา
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
กฎหมายทารุณในยุคแรกเป็นไปเพื่อตอบแทนให้สมแค้น
กระทั่งทั่วโลกวิวัฒนาการลงโทษตามหลักมนุษยธรรม ไทยก็เปลี่ยนแปลงสามยุค คือ ยุคก่อนรัชกาลที่ ๕ ยุคแห่งการปรับปรุงในรัชกาลที่ ๕ และยุคปัจจุบันนับจากเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ (รัชกาลที่ ๗) เปลี่ยนโทษสูงสุดตัดคอด้วยดาบเป็นประหารชีวิตด้วยปืน แล้วเปลี่ยนเป็นฉีดยานับแต่ปี ๒๕๒๐

การลงทัณฑ์แต่ละยุคมีวิธีทรมานที่ไม่เป็นความลับเพื่อข่มให้คนหลาบ  เมื่อประวัติศาสตร์คือการศึกษา ปี ๒๔๘๒ (รัชกาลที่ ๘) กรมราชทัณฑ์จึงรวบรวมวัตถุสำคัญจากเรือนจำทั่วประเทศมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ในรั้วศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการราชทัณฑ์ตรงข้ามเรือนจำกลางบางขวาง นนทบุรี ก่อนย้ายไปที่สวนรมณีนาถ เขตพระนคร กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๔๒ (รัชกาลที่ ๙)  แล้วปี ๒๕๖๖ (รัชกาลที่ ๑๐) ก็ย้ายกลับมานนทบุรีอีก สง่ากว่าเดิมด้วยอาคารพิพิธภัณฑ์สองชั้นพร้อมวัตถุของจริง-จำลองการใช้งาน
Image
ตั้งต้นที่ความรู้ด้านสถานที่อย่างชื่อเรียก “คุก” ซึ่งคุมขังนักโทษความผิดเบา-หนัก ๑๕ วันถึงตลอดชีวิต หรือ “ตะราง” สถานกักนักโทษในคดีเล็กน้อย เล่างานราชทัณฑ์ ลำดับรูปแบบอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ยุคโบราณอย่างกลองที่ใช้ตีบอกเวลาในเรือนจำ คบเพลิงส่องทางเมื่อจะนำนักโทษประหารออกจากคุกลงเรือไปตัดหัวที่วัดให้ทันย่ำรุ่ง ขันทำน้ำมนต์สำหรับเพชฌฆาตใช้ปัดรังควานก่อน-หลังตัดคอนักโทษป้องกันตนจากวิญญาณร้าย ดาบของเพชฌฆาตดาบของไทย เครื่องแบบของเพชฌฆาตประหารด้วยปืนคนสุดท้ายของไทย ฯลฯ แต่ละสิ่งอย่างล้วนระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าของหรือใช้งานที่เรือนจำจังหวัดใด
Image
Image
พรมแดนเป็นเพียงเส้นสมมุติ กว่า ๒ ศตวรรษมาแล้วที่บรรพบุรุษไทย-กะเหรี่ยงใช้มหานทีสีน้ำตาลเป็นทางสัญจรไปมาหาสู่และค้าขาย  
ด้านความรู้สึกชวนสะท้านผ่านอุปกรณ์จองจำที่เคยติดตาจากหนังละครย้อนยุค เช่น ตะโหงก ขื่อ คา กลัง สมอบก เบ็ดเหล็ก ค้อนตอกเล็บ ไม้บีบขมับ ตรวน ฯลฯ หลากรสทรมานของไทยในอดีตชวนสยอง “ตะกร้อ” ชาวบ้านเรียก “ตะกร้อช้างเตะ” สานด้วยหวายขนาดใหญ่พอให้คนเข้าไปนั่งคุดคู้ ตอกตะปูด้านในเป็นระยะ แล้วให้ช้างเตะกลิ้งไปมา แรงอัดสร้างความเจ็บปวดจากการถูกเหล็กแหลมทิ่มแทง แม้อยู่ในฐานะเครื่องทรมาน แต่ผู้ถูกลงทัณฑ์มักตายเฉกเครื่องประหารตะกร้อใบนี้มาจากเรือนจำกลางนครราชสีมา ไม่ง่ายที่ใครจะได้สัมผัสของจริงจากอดีตกาลในสถานที่ท่องเที่ยวร่วมสมัย

ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู   
พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ 
กรมราชทัณฑ์
๒๒๒ ถนนนนทบุรี ๑ ตำบลสวนใหญ่ 
อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ 

เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. 
โทร. ๐๖-๕๒๙๑-๐๕๑๘