Image
๓ มุมมอง
กรณีกบฏบวรเดช
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ถ่ายภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง ประเวช ตันตราภิรมย์
ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์
ผู้เขียน เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้
และประชาธิปไตยในอุดมคติ
เล่าเรื่องของ “แนวร่วมกบฏบวรเดช” คนสำคัญห้าคน
เวลาถามถึง ‘ประชาธิปไตย’ ในบริบทของแนวร่วมฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช [พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช), หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร, สอ เสถบุตร, ร้อยโท จงกลไกรฤกษ์ และหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน] ใช้ชีวิตอยู่ เป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้นึกถึงแบบอังกฤษ คือมี สส. มี สว. แน่นอนมีพระมหากษัตริย์

“พวกเขามีภูมิหลังได้ประโยชน์จากระบอบเก่า ได้การอุปถัมภ์จากเจ้านาย แต่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเจ้านายที่มีตำแหน่งสูง เมื่อสิ้นเจ้านายผู้อุปถัมภ์สถานะพวกเขาก็ตกต่ำลง หาก
รับราชการทหารก็ต้องอยู่หัวเมือง  กรณีร้อยโทจงกลและหม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคลนั้นชัดเจน  กรณีพระยาศราภัยฯ และ สอ เสถบุตร หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาศราภัยฯ ถูกออกจากราชการ สอ เสถบุตร ไม่พอใจและลาออก สองคนนี้หันไปทำหนังสือพิมพ์โจมตีรัฐบาลคณะราษฎร โดยรวมแล้วคนกลุ่มนี้กลายเป็นคนนอกศูนย์กลางอำนาจ มองอีกแง่หนึ่งคือเสียผลประโยชน์ จุดร่วมคือไม่พอใจคณะราษฎร มองว่ากษัตริย์ถูกลดพระราชอำนาจหรือเสื่อมพระเกียรติ แต่จุดร่วมอื่นมีน้อย ที่สำคัญพวกเขามีคำอธิบายจุดยืนที่แกว่ง เช่น ยุคหนึ่งบอกว่าตนเองเป็นกบฏ แต่เวลาผ่านไปก็บอกว่าตนไม่ใช่กบฏ

“งานเขียนของอดีตนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดชบางเรื่องก็น่าสงสัย บางชิ้นมีวาระ เช่น กรณี ตัวตายแต่ชื่อยัง ของ ‘เสาวรักษ์’ (ร้อยโทจงกล) เขียนในยุคสงครามเย็นที่รัฐบาลดำเนินนโยบายต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ จึงให้ภาพว่ากบฏบวรเดชสู้กับคอมมิวนิสต์ที่มี ปรีดี พนมยงค์ เป็นตัวแทน เรื่องกลับหัวกลับหางหมด ดังนั้นเวลาศึกษางานเหล่านี้ต้องดูบริบทร่วมด้วยว่างานเขียนนี้มีเป้าหมายอะไร หากนำมาใช้อ้างอิงหรืออธิบายก็ต้องพิจารณาให้ดี งานเขียนขึ้นแก้ต่างให้กับตนเอง หรือต่อสู้กับชุดความคิดอื่นในยุคสมัย เมื่อนำมาจัดเรียงให้ตรงกับบริบททางการเมืองจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน มากกว่าการเลือกดึงเพียงบางชุดมาอธิบายว่าคนกลุ่มนี้คิดอย่างไร หรือเคลื่อนไหวอย่างไร

“งานวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้บางชิ้นมีข้อน่าสังเกตว่า จริงหรือที่เครือข่ายกบฏคิดแบบเดียวกัน ต้องการฟื้นคืนระบอบเก่า จากข้อเท็จจริง หลังนิรโทษกรรม บางคนในกลุ่มนี้ทำงานกับคณะราษฎรบางคนสนับสนุนแล้วหันมาโจมตีก็มี เราเห็นความไม่ต่อเนื่อง อุดมการณ์ที่ไม่เข้มข้น  
“การย้อนไปศึกษากบฏบวรเดช ทำให้เราเห็นความซับซ้อนของมนุษย์”
Image
“ยังมีงานอีกชิ้นหนึ่งบอกว่าคนส่วนมากในสังคมสนับสนุนคณะราษฎร แต่ต้องคำนึงว่าสมัยนั้นสยามมีประมาณ ๑๒ ล้านคน ในนั้น ๑ แสนคนเป็นชนชั้นกลาง ทั้งร่วมและไม่ร่วมกับกบฏ เราไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของผู้สนับสนุนระบอบใหม่ การปฏิวัติ ๒๔๗๕ มีคุณูปการให้คนมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่หลังปฏิวัติมีภาวะฝุ่นตลบ มีความคาดหวังและความกลัวแตกต่างกันไป คนที่เลือกฝ่ายล้วนมีความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง บางส่วนอาจสนับสนุนจริงเพราะเรื่องอุดมการณ์ บางส่วนอาจเล่นการเมือง คนที่สนับสนุนรัฐบาลก็ไม่แน่ใจว่าเขาเห็นด้วยจริง ๆ หรืออยากได้งานทำ

“ความรู้สึกนี้ปรากฏในฝ่ายที่เข้าร่วมกลุ่มกบฏด้วย ดังนั้นเวลาอธิบายว่ากบฏบวรเดชโต้กลับ ๒๔๗๕ และแทนค่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยทั้งหมด จึงต้องทบทวน เพราะในข้อเท็จจริงแล้วคนกลุ่มนี้มีความซับซ้อนทางความคิดกันอย่างมาก รวมไปถึงคนอื่น ๆ ที่เข้าร่วมก็อาจนึกคิดหรือคาดหวังต่อการเมืองแตกต่างกันไป จึงตัดสินใจเข้าร่วมก็ได้ แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าให้ความหมายเหตุการณ์หนึ่ง หรือบุคคลหนึ่งเป็นผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย หรือเป็นปรปักษ์ประชาธิปไตย  ส่วนหนึ่งเป็นการแย่งชิงความทรงจำที่ส่งผลต่อการเมืองปัจจุบัน คือใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือซึ่งมีมานาน ทำแบบนี้จะทำให้เกิดการจัดกลุ่ม แทนค่า ลดทอนรายละเอียดของเหตุการณ์ลง
“กบฏบวรเดชอยากทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยจริง ๆ หรือเอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาหรือไม่ เราสรุปไม่ได้  ในคำขาดหกข้อมีข้อหนึ่งบอกว่าจะใช้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ ซึ่งแปลก เพราะไม่บอกว่าจัดสรรอำนาจแบบไหน ตรงนี้ทำให้เห็นว่ายุคนั้นฉันทามติคือต้องมีรัฐธรรมนูญ แต่จะแบบไหนเป็นอีกเรื่อง คนยังจินตนาการถึงระบอบใหม่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการปฏิบัติตัวของแต่ละฝ่าย
“เหตุการณ์ระยะนี้ รัชกาลที่ ๗ ทรงเป็น ‘ตัวละคร’ ที่น่าสนใจ เพราะบทบาทชัดเจนตั้งแต่ต่อรองให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พระราชทานรัฐธรรมนูญ ขัดแย้งกับคณะราษฎร ทั้งหมดวางอยู่บนพื้นฐานทางอุดมการณ์ ความคาดหวัง ความเข้าใจบทบาทของตนต่อระบอบใหม่ที่แตกต่างกัน

“ในสถานการณ์ปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๖) เรื่องกบฏบวรเดชถูกดึงเข้าหาอุดมการณ์ราชาชาตินิยมคนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์ ส่วนคณะราษฎรล้มเจ้าอีกกลุ่มมองว่ากบฏบวรเดชต้านประชาธิปไตย คณะราษฎรเป็นผู้สถาปนาประชาธิปไตย จะเห็นว่าคนยุคปัจจุบันให้ความหมายเปลี่ยนไป ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องในอดีตทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของปัจจุบันด้วย

“พอเขียน เลือดสีน้ำเงินฯ การโดนมองว่าเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมก็เข้าใจได้ เพราะหลักฐานส่วนใหญ่ที่ใช้เป็นของกลุ่มอนุรักษนิยม แต่เป้าหลักของเราคือต้องการให้เห็นว่าคนซับซ้อน การทำงานแบบนี้ซับซ้อนอยู่มาก เพราะต้องศึกษาทั้งส่วนที่เป็นความคิดของ ‘กลุ่มเลือดสีน้ำเงิน’ ที่เสนอหรือตอบโต้ในแต่ละบริบท เพื่อทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้ และต้องคลี่ให้เห็นว่าบางประเด็นถูกเลือกมาเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองอย่างไรบ้าง เดิมทีหวังแค่เป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่จะอธิบายว่าฝ่ายอนุรักษนิยมคิดอย่างไร เขียนโต้ใคร มีบทบาทอย่างไร งานมีอิทธิพลอย่างไรในปัจจุบัน พอทำสำเร็จภาพก็ชัดขึ้น ส่วนหนึ่งมันไปถกกับงานที่อธิบายว่ากบฏบวรเดชต้านประชาธิปไตยในเชิงเหมารวม แต่เรื่องการถกกันนี้เป็นปรกติทางวิชาการที่ต้องไม่มีการผูกขาดว่าคำอธิบายใดถูกต้องที่สุด แต่ต้องมีชุดความรู้หรือคำอธิบายหลายชุดให้คนให้มีอิสระในการ ‘เลือกเชื่อ’ หรือ ‘เลิกเชื่อ’
“หน้าที่นักวิชาการคือทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจความแตกต่างและอยู่ร่วมกันในสังคมนี้โดยไม่ทำร้ายกัน ไม่ทำงานเพื่อก่อให้เกิดความเกลียดชัง การย้อนไปศึกษากบฏบวรเดชทำให้เห็นความซับซ้อนของมนุษย์ในช่วงนั้นน่าจะคลายปมบางอย่างได้ อย่างน้อยเห็นความเป็นมนุษย์ของคน ‘กลุ่มเลือดสีน้ำเงิน’ ที่มักถูกแปะป้าย เราไม่คิดว่างานตัวเองบริสุทธิ์หรือดีกว่างานชิ้นอื่น แต่ละงานมีเป้าหมายแตกต่างกันและถกเถียงกันได้ ซึ่งการตีตราผู้เขียนเป็นอนุรักษนิยมหรือแก้ต่างให้กบฏบวรเดชคิดว่าไม่ก่อให้เกิดคุณูปการใด ๆ เพราะการทำงานวิชาการต้องวางอยู่บนฐานคิดที่ตั้งคำถามต่อความคิดหรือความเชื่อชุดเดิมได้ ก่อนที่จะบอกว่าเราสนับสนุนฝ่ายอนุรักษนิยม อยากให้อ่านเสียก่อน ไม่ชอบอดีตนักโทษการเมืองก็ไม่แปลก แต่ต้องรู้จักพวกเขา อาจมีคำถามว่าทำไมเขียนงานชิ้นนี้ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ตอบว่าเพราะอยากให้มองตัวละครในประวัติศาสตร์เป็นมนุษย์ที่ซับซ้อน ในแง่ของการเล่นการเมือง ยังเห็นได้ว่าบางครั้งมีลักษณะไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

“กระแสหลักวงวิชาการตอนนี้อาจมองว่ากบฏบวรเดชคือการโต้ ๒๔๗๕ แต่คนส่วนมากอาจมองอีกแบบ คือไม่รู้รายละเอียด รู้แค่เกิดหลังปฏิวัติ ๒๔๗๕ ปีเดียว แต่เรื่องนี้กลับมีอิทธิพล เห็นได้จากการตั้งชื่อห้องที่พิพิธภัณฑ์กองทัพบกความพยายามเปลี่ยนชื่อสะพานในกรุงเทพมหานคร วิธีเหล่านี้ใช้เพื่อช่วงชิงความทรงจำแน่ แต่เราไม่เห็นด้วยกับการทำลายวัตถุ การพยายามครอบงำความคิดความเข้าใจอย่างเด็ดขาดโดยการลบประวัติศาสตร์คงเป็นไปได้ยากในสังคมปัจจุบัน แต่ก็ทำให้เห็นแง่มุมการต่อสู้ในเชิงความทรงจำของสังคม
“มักมีคนถามว่ารัชกาลที่ ๗ เป็นนักประชาธิปไตยหรือไม่ อยากให้ศึกษา เราปฏิเสธทุกครั้ง เพราะมันคนละเรื่อง อย่าลืมว่ารัชกาลที่ ๗ ทรงอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายความว่ามีประชาธิปไตย ต้องไปดูว่าแบ่งอำนาจอย่างไร  ในสยามมีพระมหากษัตริย์ แต่จะจำกัดอำนาจแบบไหนยังเป็นเรื่องถกเถียง ไม่ได้ข้อสรุป และสู้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้ก็วนกลับไปสู่การค้นหาจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยว่าใครเป็นผู้สถาปนา ทั้งที่ในแง่การศึกษามีบริบทและเงื่อนไขแวดล้อม ซึ่งชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”  
ผศ.ดร. ศรัญญู เทพสงเคราะห์
อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จะมองเหตุการณ์กบฏบวรเดชแบบใดก็ไม่ใช่ปัญหา มีเรื่องเล่าหลายสำนวน สำคัญที่ต้องเอาหลักฐานมาคุยกัน ไม่มี ‘ความเป็นกลาง’ อยู่ที่คุณมีจุดยืนแบบใดอุดมการณ์แบบไหน ตอนสอนหนังสือผมพูดเรื่องการถกเถียงกันของแต่ละฝ่ายในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ ดูคำอธิบายของเรื่องเล่าหลายชุดว่าวางอยู่บนพื้นฐานความคิดแบบไหนและใช้หลักฐานอะไร “กบฏบวรเดชคือหนึ่งในชุดเหตุการณ์ตอบโต้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕ คนเข้าร่วมมีหลากหลาย อาทิ เจ้านาย ข้าราชการระบอบเก่า ทหารหัวเมือง ปัญญาชนในเมือง แต่ละกลุ่มมุ่งหมายแตกต่างกัน มีตั้งแต่ข้อเสนอสุดโต่งอย่างหวนกลับสู่ระบอบเก่า ปรับดุลอำนาจใหม่ในระบอบรัฐธรรมนูญ เพิ่มพระราชอำนาจ ปรับปรุงกองทัพ สุดท้ายพวกเขาก็ประนีประนอมความคิดเป็นข้อเสนอหกประการที่บางข้อดูขัดแย้งกันเองด้วย “ในเหตุการณ์นี้ คณะราษฎรทุกสายร่วมมือกันต่อสู้ จากภาพถ่ายจำนวนมากจะเห็นภาพกองกำลังอาสาพลเรือนฝ่ายคณะราษฎร มีลูกเสือ มีเรื่องนางสาวพยงค์ กลิ่นสุคนธ์ นั่งรถไฟมาจากสมุทรสาคร เดินทางไปที่นครราชสีมาเพื่อช่วยเหลือกองกำลังรัฐบาล คณะราษฎรสายพลเรือนหลายคนอาสาปราบกบฏ ได้รับงานในภาคสนามจากหลวงพิบูลสงคราม เห็นได้จากภาพถ่ายหมู่คณะราษฎรฝ่ายพลเรือน
ในเครื่องแบบทหาร  เมื่อปราบกบฏบวรเดชได้ รัฐบาลคณะราษฎรก็มั่นคงมากขึ้น ไม่มีการจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลแบบสงครามกลางเมือง หลวงพิบูลสงครามมีบทบาททางการเมืองเด่นขึ้น โดยมีกองทัพคอยช่วยพิทักษ์ค้ำจุนระบอบใหม่
“กบฏบวรเดชคือ
หนึ่งในชุดเหตุการณ์
ตอบโต้อภิวัฒน์
๒๔๗๕ ”

“ความทรงจำต้องหล่อเลี้ยงด้วยการผลิตซ้ำ มีของที่ระลึก มีพิธีกรรม เคยมีการทำเช่นนั้น กับเหตุการณ์นี้ทุกปีที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏในยุคที่รัฐบาลคณะราษฎรยังมีอำนาจ พอหมดอำนาจก็ขาดหายไป แต่พื้นที่อนุสาวรีย์ยังคงมีความหมายต่อผู้คนในพื้นที่บางเขนในฐานะสถานที่พักผ่อนหย่อนใจหรือพื้นที่จัดงานสำคัญของอำเภอ จนหลังรัฐประหารปี ๒๕๔๙ อนุสาวรีย์ปราบกบฏก็กลับมามีชีวิตชีวาใหม่อีกครั้งจากการที่กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปสร้างความหมายใหม่และใช้งานพื้นที่นี้
“ยุคปัจจุบัน เมื่อดูชุดเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่หมุดคณะราษฎรหายปี ๒๕๖๐ อนุสาวรีย์ปราบกบฏหายปี ๒๕๖๑ การเปลี่ยนชื่อค่ายทหาร การย้ายอนุสาวรีย์ผู้นำคณะราษฎรตามหน่วยทหาร การตั้งชื่อห้อง ‘บวรเดช’ และ ‘ศรีสิทธิสงคราม’ ในกองบัญชาการกองทัพบก การพยายามนำป้าย ‘สะพานท่าราบ’ ไปทับชื่อ ‘สะพานพิบูลสงคราม’ สะท้อนถึงสงครามความทรงจำที่ยังไม่สิ้นสุดของคณะราษฎรและกบฏบวรเดช
Image
“ปรากฏการณ์นี้สื่อสารตรงไปตรงมาว่ามีฝ่ายหนึ่งต้องการลบความทรงจำเกี่ยวกับคณะราษฎรและเชิดชูฝ่ายกบฏบวรเดช หนึ่งในนั้นคือกองทัพบกยุคปัจจุบันที่แสดงจุดยืนมุมมองทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน

“ทุกวันนี้ (ปี ๒๕๖๖) ผมตั้งโพรไฟล์มือถือและโซเชียลมีเดียเป็นภาพอนุสาวรีย์ปราบกบฏเพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืม  ความทรงจำมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ระดับความทรงจำร่วมของคนในสังคมว่ามีประสบการณ์กับสถานที่หรือเหตุการณ์อย่างไร  หลังอนุสาวรีย์ปราบกบฏหายไป สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือชื่อสถานที่เกี่ยวเนื่องถูกเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพราะอนุสาวรีย์ไม่มีแล้ว เช่น สถานีรถไฟฟ้าใกล้กับโลตัสหลักสี่เปลี่ยนชื่อจาก ‘อนุสาวรีย์หลักสี่’ เป็น ‘พหลโยธิน ๕๙’ เป็นต้น 

“ใช่ ของพวกนี้เราสร้างใหม่ได้ แต่คุณค่าจะไม่เหมือนเดิม ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่หายไปมันมากกว่าตัวอนุสาวรีย์  ในอนุสาวรีย์ปราบกบฏมีอัฐิวีรชนทหารตำรวจ ๑๗ นาย ที่ป้องกันชาติและรัฐธรรมนูญ ความทรงจำของผู้คนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับพื้นที่อนุสาวรีย์แห่งนี้จะค่อย ๆ เลือนหายไปแน่นอน

“ผมทำได้อย่างมากก็แค่ผลิตงานวิชาการ พูดถึงอนุสาวรีย์ปราบกบฏทุกครั้งที่มีโอกาส หากเจอของที่เกี่ยวข้องก็เก็บรักษาไว้  จริง ๆ เรื่องพวกนี้ควรเป็นงานของทางการ แต่ตอนนี้ไม่เห็นกระแสการทวงคืนทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาไม่นาน  ผมแจ้งเรื่องใน Traffy Fondue ของ กทม. ก็ไม่มีความคืบหน้า กรมศิลปากรที่ดูแลโบราณสถานก็เงียบ ตำรวจไม่ต้องพูดถึง มีสำนักข่าวประชาไทเพียงสำนักข่าวเดียวที่คอยตาม ผมไม่กลัวเรื่องการชี้เป้าร่องรอยที่เหลือของคณะราษฎร เพราะถ้าไม่เล่า ความทรงจำเรื่องนี้อาจหายไปในแบบที่เราไม่รู้ตัว  มีคนกลุ่มเล็ก ๆ เคลื่อนไหวผลิตความทรงจำที่เกี่ยวข้อง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”  
นริศ จรัสจรรยาวงศ์
นักสะสมหนังสือเกี่ยวกับยุค ๒๔๗๕
“วรรณกรรมของผู้แพ้นั้น
โรแมนติก”

กบฏบวรเดชเป็นเหตุการณ์ไกลตัวคนยุคปัจจุบัน รางเลือนยิ่งกว่าเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ถามคนทั่วไปส่วนมากก็ยังจำสับสน แต่มันถูกขุดขึ้นมาผลิตซ้ำในเชิงวรรณกรรมเพราะมีเส้นเรื่องให้เล่าเยอะ และนี่เป็นคู่กรณีคณะราษฎรในแง่ของการปะทะกันด้วยกำลังมากที่สุด

“สื่อสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏบวรเดช รัฐบาลคณะราษฎรผลิตออกมาจำนวนมาก แต่เป็นเนื้อหาที่ตรงไปตรงมา โรแมนติกไม่พอ ยิ่งเป็นฝ่ายที่มีอำนาจ คนอ่านก็รู้สึกอยู่แล้วว่ามีอคติ เป็นโฆษณาชวนเชื่อ มีการประดิษฐ์คำว่า ‘ลัทธิรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อคณะราษฎรมีอำนาจก็เป็นธรรมดาที่ต้องเผยแพร่แนวความคิด

“วรรณกรรมของฝ่ายแพ้จะมีชิ้นที่ตัวกบฏเขียนเอง และนักเขียนสารคดีการเมืองอย่าง ‘ไทยน้อย’ (แม่ทัพบวรเดช) ‘นายหนหวย’ เขียนจากข้อมูลคนพวกนี้ อีกประเภทคือเอามาเขียนเป็นนิยาย  คำถามที่ว่าทำไมวรรณกรรมของอดีตนักโทษการเมืองจึงมีอิทธิพล คำตอบคือเพราะวรรณกรรมผู้แพ้นั้นโรแมนติก ลองนึกถึงกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ เรื่องที่พวกเขาเขียนอ่านแล้วมีอารมณ์ร่วมมาก กบฏบวรเดชก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่มันมีมิติหลากหลาย  ลองนึกดู คนแพ้เขาติดคุก มีเวลาว่าง รักพวกพ้องกันดีเพราะยังไม่ได้เสพอำนาจรัฐด้วยกัน

“ปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๘๗-๒๔๘๘ รัฐบาลควง อภัยวงศ์ นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง งานของอดีตนักโทษการเมืองเหล่านี้จึงมีพลังขึ้น บอกว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย งานวรรณกรรมที่มีผลในยุคต่อมาคือ สี่แผ่นดิน (ปี ๒๔๙๔/ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช) ฝากไว้ในแผ่นดิน (ปี ๒๕๒๔/สุวัฒน์ วรดิลก) งานเหล่านี้ล้วนมองว่าคณะราษฎรเป็นเผด็จการทหาร ฉากจบของ สี่แผ่นดิน เลือกใช้วันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ ๘ แสดงความล้มเหลวของคณะราษฎรในการสร้างประชาธิปไตย งานที่เขียนชั้นหลังจากนั้นก็ล้วนมองคณะราษฎรไปในแง่ลบ เช่น ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน (ปี ๒๕๓๕/‘วินทร์ เลียววาริณ’) ราตรีประดับดาว (ปี ๒๕๔๒/‘ว. วินิจฉัยกุล’)
Image
“วรรณกรรมที่สนับสนุนคณะราษฎรก็มีบ้าง เช่น ลาก่อนรัฐธรรมนูญ (ปี ๒๔๗๖/‘ศรีบูรพา’) เขียนในเดือนธันวาคม ๒๔๗๖ เพื่อร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของชายหนุ่มที่สู้กับกบฏจนตัวตายในสนามรบ เขามีครอบครัวและเพิ่งมีลูก แต่นี่กลับไม่ใช่งานเกรดเอของ ‘ศรีบูรพา’ เพราะเนื้อเรื่องตรงไปตรงมาแทบไม่มีมิติ ต้องไม่ลืมว่าตอนเขียน ‘ศรีบูรพา’ อายุเพียง ๒๐ กว่าเท่านั้น
“การสิ้นสุดอำนาจของผู้นำคณะราษฎรย่อมนำมาซึ่งข้อจำกัดในการสร้างเรื่องเล่าเชิงบวกของพวกเขาอย่างปฏิเสธไม่ได้ การก่อกำเนิดของงานเขียนล้วนสัมพันธ์กับบริบทของอำนาจนำในแต่ละช่วงเวลา เช่นในสมัยเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม เรืองอำนาจ คุณจะเขียนอะไรได้บ้าง รัฐบาลทหารต้องการหนังสือประเภทกฎแห่งกรรม หนังสือเล่าเรื่องผี หนังสือรักประโลมโลก ที่มอมเมาเพื่อลดการตระหนักรู้ต่อเสรีภาพของประชาชน ในยุคที่อดีตนักโทษการเมืองตีพิมพ์วรรณกรรมฝ่ายกบฏ อคติของสังคมก็ยังมองว่าคณะราษฎรเป็นเผด็จการทหาร ในทางกลับกันกรณี แลไปข้างหน้า ของ ‘ศรีบูรพา’ ที่มีการรวมเล่มช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ ถึงจะเป็นบทสนทนาเกี่ยวกับหลักการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ที่ดี แต่มันไม่ร่วมสมัย จนต้องถูกประทับตราให้เป็นวรรณกรรมต้องห้ามไป
“เราจะเห็นว่ากลุ่มปฏิปักษ์การปฏิวัติ กับไม่ปฏิปักษ์ วิจารณ์ (ด่า) คณะราษฎรทั้งคู่ ฝ่ายหนึ่งให้เครดิตระบอบเก่าว่าตั้งใจเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว คณะราษฎรลงมือทำไม ส่วนพวกซ้ายอย่าง ‘ศรีบูรพา’ วิจารณ์คณะราษฎรบางช่วงเลยว่านี่มันเผด็จการฟาสซิสต์  กรณีของ ‘ศรีบูรพา’ น่าสนใจว่า ปี ๒๔๗๕ ทำหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ของพระองค์วรรณ (พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระนามเดิมคือหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ) สนับสนุนคณะราษฎร แต่มาวันหนึ่งโดนจอมพล ป. พิบูลสงคราม เอาเข้าคุก เลยกลายเป็นเชียร์จอมพลสฤษดิ์ไปด้วยซ้ำ

“ปัญหาของคนรุ่นเราคือเอกสารมีไม่พอ อ่านงานฝ่ายคณะราษฎรก็แห้งแล้ง เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ อ่านคำวิจารณ์สนุกกว่า  ในยุคนี้ผมมองว่างานของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง มีข้อมูลหลักฐานชั้นต้นหลายอย่าง  ผมคิดว่าสุดท้ายลึก ๆ เราต้องเลือกข้าง การไม่เลือกข้างคือไวพจน์ของการลอยตัว ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร อธิบายอย่างไรก็ได้  สมัยนี้โซเชียลมีเดียก็เข้มข้นมากในเรื่อง ๒๔๗๕ ผมมานั่งทำฐานข้อมูลของทั้งสองฝ่าย ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ควรอยู่ในแบบเรียน เข้าถึงได้ง่ายตามห้องสมุดต่าง ๆ หรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

“ต่อคำถามที่ว่า ทำไมอดีตนักโทษการเมืองฝ่ายกบฏบวรเดชหลายคนกลับมาร่วมมือกับรัฐบาลจอมพล ป. หลังรัฐประหารปี ๒๔๙๐ ผมมองว่าเรื่องนี้ปรกติมากทางการเมือง แต่สองกลุ่มนี้แหละ พังไปด้วยกันเมื่อกลุ่มใหม่คือกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจ คนอย่างร้อยโทจงกล พระยาศราภัยฯ สุดท้ายอำนาจก็ไม่เหลือ เหลือแค่งานวรรณกรรมเท่านั้น”