2476 กบฏบวรเดช
คณะราษฎร ปะทะ คณะเจ้า
EP.01
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : พันตรี พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา (บุตรพระยาพหลพลพยุหเสนา)
จากไฟล์ดิจิทัล เก็บรักษาโดย ธงชัย ลิขิตพรสวรรค์, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ
หมายเหตุ : คำบรรยายภาพที่มีเครื่องหมายอัญประกาศ
คือคำบรรยายภาพดั้งเดิม
สารคดี รักษาการสะกดแบบเก่าไว้
การ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ส่งผลให้ประเทศสยามเข้าสู่ยุคการปกครองด้วย “รัฐธรรมนูญ” อย่างไรก็ตามการยืนยันว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร” ก็ต้องเผชิญความท้าทายมากมาย
ห้วงแห่งการประนีประนอม ๖ เดือนแรกผ่านไปท่ามกลางการต่อรอง-ถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่าง “อำนาจเก่า” “อำนาจใหม่” ภายใต้รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) รัฐธรรมนูญฉบับประนีประนอม (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) ได้รับการประกาศใช้พร้อมกับการเริ่มวาระรัฐบาล “พระยามโนฯ ๒” มีภารกิจคือ จัดการเลือกตั้ง สส. ประเภทที่ ๑ และเริ่มแก้ไขปัญหาบ้านเมืองตามหลัก “หกประการ” ที่คณะราษฎรแถลงไว้เมื่อรุ่งอรุณวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
แต่ ๔ เดือนหลังจากนั้น (เมษายน ๒๔๗๖) รอยร้าวของ “ระบอบเก่า” กับ “ระบอบใหม่” ก็ปริแตก พระยามโนฯ (ก้อน) รัฐประหารด้วยกฤษฎีกา รัฐสภาถูกปิด รัฐธรรมนูญถูกงดใช้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มันสมองของฝ่ายระบอบใหม่ถูกกดดันให้ออกนอกประเทศ
ครบรอบปีอภิวัฒน์ (มิถุนายน ๒๔๗๖) “อำนาจใหม่” ทำ “รัฐประหารซ้อน” เปิดสภากลับมาอีกครั้ง “รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” รีสตาร์ตกลไกรัฐธรรมนูญ นำหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) กลับประเทศ รัฐบาลเดินหน้าเต็มที่ มุ่งสู่การเลือกตั้ง สส. ชุดแรก
ต้นตุลาคม ๒๔๗๖ เครือข่าย “อำนาจเก่า” เริ่มเคลื่อนไหว
“คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร) เคลื่อนกำลังจากโคราชลงมาตามเส้นทางรถไฟ ยึดดอนเมืองเป็นฐาน วางแนวหน้าไว้ที่ทุ่งบางเขน รัฐบาลพระยาพหลฯ (พจน์) มอบให้นายทหารหนุ่ม นามหลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) รวมกำลังวางแนวหน้าไว้ที่บางซื่อ และใช้อาวุธทันสมัยเข้าตอบโต้
นักประวัติศาสตร์เรียกสงครามกลางเมืองครั้งนั้นว่า
“กบฏบวรเดช”
เริ่มระบอบรัฐธรรมนูญในสยาม
ทหารของคณะราษฎร ถ่ายที่หน้าวังปารุสกวัน ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นทำเนียบรัฐบาลในสมัยพระยาพหลฯ เป็นนายกรัฐมนตรี
ภาพ : สถาบันปรีดี พนมยงค์
“สี่ทหารเสือ” ผู้นำคณะราษฎรสายทหารบก ถ่ายเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
กองบัญชาการคณะราษฎรในวันอภิวัฒน์ประกอบด้วย (จากซ้าย) พันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) (บน) กลุ่มก่อตั้งคณะราษฎร ถ่ายที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ปี ๒๔๗๐ แถวนั่งคนที่ ๔ จากซ้ายคือ ปรีดี พนมยงค์ คนที่ ๒ จากขวาคือ ประยูร ภมรมนตรี คนขวาสุดคือร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ (ต่อมาคือ จอมพล ป.)
นครราชสีมา, ราชอาณาจักรสยาม ๒๕ ตุลาคม ๒๔๗๖--สนามบินหนองบัว เมืองนครราชสีมา, ๑๓ นาฬิกาเศษ ที่หน้าโรงเก็บเครื่องบิน เสียงเครื่องยนต์ ๓๐๐ แรงม้าของเบรเกต์ (Breguet) ปีกสองชั้นดังกระหึ่ม หีบห่อสัมภาระถูกอัดเข้าไปในช่องเก็บแบตเตอรี่จนเต็ม
ผู้โดยสารสองคนเข้าประจำที่ พันตรี หลวงเวหนเหินเห็จ (ผล หงสกุล) นักบินกดคันเร่ง เครื่องบินยกตัวหายลับไปกับขอบฟ้า ผู้คนที่ยืนส่งพากันถอนหายใจ เพราะสิ่งที่ผู้จากไปทิ้งไว้ คือสนามรบที่พวกเขาพ่ายแพ้มาอย่างต่อเนื่อง ปากช่องแตกแล้ว และกองทหารฝ่ายรัฐบาลกำลังเคลื่อนเข้ามายังตัวเมืองโคราช
ในเวลาเดียวกัน ใกล้สถานีปากช่อง พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) นายทหารหนุ่ม ยืนกำกับการส่งโทรเลขกลับไปที่กรุงเทพฯ -- “ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี”
ผู้รับโทรเลขที่วังปารุสกวันรู้แน่ว่าหลังจากนี้ “คณะราษฎร” จะมีเขาเป็นกำลังหลักฝ่ายทหารเกือบทศวรรษหลังจากนั้น หลวงพิบูลฯ (แปลก) ยืนกล่าวกับรัฐสภาในคราวประชุมร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทเฉพาะกาล พ.ศ. ๒๔๘๓ ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า
"ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา
บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก
และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้"
ขบวนรถปืนต่อสู้อากาศยาน (ปตอ.) วิกเกอร์สอาร์มสตรอง นำโดยร้อยโท บุศรินทร์ ภักดีกุล ขณะเดินทางถึงสถานีศรีสะเกษ ในช่วงปลายของการปราบกบฏ แสดงให้เห็น “จุดเด่น” ของสงครามกลางเมือง คราวกบฏบวรเดชที่รบกันตามรางรถไฟ โดยใช้หัวรถจักรผลักดันรถข้างต่ำ (ข.ต.) บรรทุกอาวุธสมัยใหม่เป็นหัวหอกในการบุก
๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕, กรุงเทพฯ
หลังออก แถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ ๑ เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย ยืนยันว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎร” ในพระนครก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นมากมาย
หลังอยู่ใต้ดินมานาน “คณะราษฎร” ปรากฏตัวขึ้นฉับพลันบนเวทีการเมือง แกนนำสำคัญประกอบด้วย ฝ่ายทหารบก พันเอก พระยาพหลพลพยุห-เสนา (พจน์ พหลโยธิน) พันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ)
ฝ่ายทหารเรือ หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน)
ฝ่ายพลเรือน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)
พวกเขาประกาศ “หลักหกประการ” คือ รักษาความเป็นเอกราช รักษาความปลอดภัย บำรุงความสุขสมบูรณ์ราษฎรด้านเศรษฐกิจ ให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาค ให้มีเสรีภาพ และให้การศึกษาเต็มที่แก่ราษฎร
สองวันต่อมา (๒๖ มิถุนายน ๒๔๗๕) แกนนำคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๗ ที่วังศุโขทัย พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ คณะราษฎรสายทหารเรือ เล่าว่า พวกเขาทราบความไม่พอพระทัยตั้งแต่เข้าเฝ้าฯ ครั้งแรก ด้วยรัชกาลที่ ๗ มีพระราชดำริว่า “เป็นคำจาบจ้วงล่วงเกินรุนแรง” อย่างไรก็ตามทรงพระราชทานอภัยโทษตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าเฝ้าฯ ณ วังศุโขทัย มีพระราชโองการนิรโทษ-กรรม และเมื่อคณะราษฎรทูลเกล้าฯ ถวาย พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ให้ลงพระปรมาภิไธย พระองค์ ทรงขอเวลาอ่าน ๑ คืน วันต่อมา (๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕) ทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ต่อท้าย
หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) เล่าว่า รัชกาลที่ ๗ “รับสั่งว่าให้ใช้ไปพลางก่อน แล้วจึงตั้งกรรมการและให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรขึ้น”
การต่อรอง/ประนีประนอมเกิดขึ้นตั้งแต่จุดนี้
กรรมการส่วนใหญ่ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเป็นขุนนางระบอบเก่า (ส่วนมากจบอังกฤษ) โดยในคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเก้าคน มีเพียงหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) เท่านั้นที่เป็นฝ่ายคณะราษฎรและจบจากฝรั่งเศส
หลวงพิบูลฯ (แปลก) บันทึกว่า การร่างตกอยู่ใต้อิทธิพลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) (ประธานกรรมการราษฎรและนายกรัฐมนตรีคนแรก) กับพวก นานๆ ครั้งจึงเรียกฝ่ายคณะราษฎรไปถามความเห็น
ถ้าไม่ยอมก็ “ถูกขู่เข็ญอย่างเต็มที่”
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ข่าวหนังสือพิมพ์ขณะเกิดเหตุการณ์
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ยาสุกิจิ ยาตาเบ (Yasukichi Yatabe) ทูตญี่ปุ่นประจำสยามขณะนั้น ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับถาวร (๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) “ต่างกันมาก” กับฉบับชั่วคราวในแง่บทบาทของกษัตริย์
ทั้งนี้ก่อนพระราชทานรัฐธรรมนูญ ๓ วัน (๗ ธันวาคม ๒๔๗๕) สมาชิกส่วนมากของคณะราษฎรยังเข้าเฝ้าฯ “ขอพระราชทานอภัยโทษ” ต่อกรณีประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ โดยรัชกาลที่ ๗ ทรงตอบรับและชื่นชมตรงผู้ก่อการว่า “มีน้ำใจกล้าหาญทุกประการ”
เหตุการณ์นี้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตามผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล ใจจริง ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง เสนอว่า แม้จะมีพิธีเช่นนั้น แต่ฝ่าย “คณะเจ้า” น่าจะยังมีความไม่พอใจเหลืออยู่ รวมทั้งแนวทางการเปลี่ยนแปลงของรัชกาลที่ ๗ ซึ่งทรงเตรียมไว้ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้นไปคนละทางกันกับแนวทางของคณะราษฎร และจากพระราชหัตถเลขาถามความเห็น ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre) ที่ปรึกษาชาวอเมริกัน (ช่วงก่อนปี ๒๔๗๕) เรื่องความพร้อมของสยามต่อระบอบประชาธิปไตย ที่ทรงให้ความเห็นว่า “...ส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว...ขอย้ำว่าไม่”
การอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ ที่ดูเหมือนจะราบรื่น จึงเป็นแค่ภาพภายนอกเท่านั้น
รถ ปตอ. ภายใต้บังคับบัญชาของร้อยโท บุศรินทร์ ภักดีกุล (ไม่ทราบสถานที่ถ่าย) อาวุธชนิดนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ฝ่ายรัฐบาลใช้ต่อสู้บนรางรถไฟในสมรภูมิทุ่งบางเขน
พระยามโนฯ (ก้อน) คือผู้นำรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญชุดแรกของสยาม
ผู้เสนอพระยามโนฯ (ก้อน) เข้าดำรงตำแหน่งคือหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ด้วยมองว่ามีภูมิหลังเป็นอดีตผู้พิพากษาและเสนาบดีคลังในรัฐบาลระบอบเก่า ใกล้ชิดราชสำนัก มีแนวคิดก้าวหน้าจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มข้าราชการระบอบเก่าได้
ด้านนิติบัญญัติ คณะราษฎรเชิญเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) เป็นประธานรัฐสภา จากนั้นแต่งตั้ง สส. ชั่วคราวชุดแรก ๗๐ คน ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ในจำนวนนี้นอกจากคนของคณะราษฎรก็ประกอบด้วยผู้มีประสบการณ์ที่เชิญมา ซึ่งท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (ภรรยาของหลวงพิบูลสงคราม) เล่าว่า ล้วนเป็น “ท่านผู้ใหญ่ผู้มีเกียรติชื่อเสียงในวงราชการ” เพราะคณะราษฎรรู้ตัวว่ายังมีประสบการณ์น้อย
ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร รัฐบาลพระยามโนฯ (ก้อน) อันเป็น “รัฐบาลปรองดอง” หลังอภิวัฒน์ เริ่มงานด้วยการยกเครื่องปรับเปลี่ยนหน่วยงานในระบอบเก่า เช่น ยกเลิกกฎหมายภาษีที่สร้างภาระให้ราษฎร ยุบหน่วยงานที่ไม่จำเป็น เช่น สภากลาโหม เนื่องจากซ้ำซ้อนกับหน่วยงานในระบอบใหม่
งานที่ก่อแรงเสียดทานสูงคือการปรับโครงสร้างกองทัพของพันเอก พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ฝ่ายยุทธการ แกนนำคณะราษฎร โดยใช้ต้นแบบจากสวิตเซอร์-แลนด์ที่มีกองทัพขนาดเล็ก เกิดการยุบหน่วยระดับกองทัพ กองพล กรม ให้กองพันแต่ละเหล่า(ราบ ม้า ปืนใหญ่) ขึ้นกับผู้บังคับการเหล่าโดยตรง
ชั้นยศสูงสุดมีแค่พันเอก ผลคือเจ้านายและทหารชั้นนายพลที่คุมกำลังถูกปลดจำนวนมาก
การจัดซื้ออาวุธยังเน้นให้อาวุธใหม่ประจำหน่วยทหารในพระนคร ทำให้หน่วยทหารในพื้นที่รอบนอกไม่พอใจ
ทว่าปรากฏความขัดแย้งระหว่างผู้ช่วยกับผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พระยาพหลฯ (พจน์) ด้วยพระยาทรงฯ (เทพ) แก้ไขยกเลิกคำสั่งพระยาพหลฯ (พจน์) บ่อย และตามโครงสร้างใหม่ เขามีอำนาจทางทหารมากกว่า ยังไม่นับการสร้าง “คณะกรรมการกลางกลาโหม” ที่มีตัวแทนกองทัพบกและกองทัพเรืออย่างละครึ่ง มีอำนาจโยกย้ายทหารและวางนโยบายมากกว่า ผบ.ทบ.
งานศึกษาเรื่อง ใต้เงาปฏิวัติ : การสืบราชการลับและความคาดหวังของราษฎรหลัง ๒๔๗๕ ของ ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ (ปี ๒๕๖๖) ให้รายละเอียดว่า ในช่วงนี้ทั้งคณะเจ้าและคณะราษฎรสืบข่าวของอีกฝ่ายตลอดเวลา จนมีสายสืบชุกชุมไปหมดในพระนคร
เรื่องที่สายสืบคณะราษฎรมักแจ้งเตือนแกนนำคือข่าววางแผนลอบทำร้าย ความไม่พอใจของทหารบางราย การรวมตัวกันที่ผิดปรกติของคนในระบอบเก่า ฯลฯ อีกทั้งยังปรากฏเหตุคุกคามทางการเมืองกับคนของคณะเจ้า เช่น พลตรี พระยาเสนาสงคราม (หม่อมราชวงศ์อี๋ นพวงศ์) อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “คณะชาติ” ถูกลอบยิงสองครั้ง บ้านถูกวางเพลิง
ทูตยาตาเบยังเล่าว่า เจ้านายส่วนหนึ่ง “ไม่พอใจอย่างยิ่ง” ที่รัชกาลที่ ๗ ทรงทำตามข้อเสนอคณะราษฎร เกิดปัญหาในกองทัพกับนายทหารที่ไม่มีส่วนในการอภิวัฒน์ ถูกปลด ย้าย ซึ่งหากมีการต่อต้านรัฐบาล เมื่อรวมกับคนกลุ่มอื่น “จำนวนไม่น้อย” ก็จะเข้าร่วมแน่นอน
บุคคลสำคัญที่น่าจับตาคือพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตเสนาบดีกลาโหมสมัยรัฐบาลรัชกาลที่ ๗) ที่ไม่พอพระทัยคณะราษฎรชัดเจน
ด้วยก่อนปี ๒๔๗๕ พระองค์เคยสนทนากับพระยาพหลฯ (พจน์) ถึงความคิดเห็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ่อยครั้ง ทว่าเมื่อเกิดการอภิวัฒน์ ที่ประชุมคณะราษฎรตัดสินใจไม่เชิญพระองค์มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการราษฎร (เทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) แม้พระยาพหลฯ (พจน์) จะเสนอ
ด้วยสมาชิกคณะราษฎรกลัวว่าพระองค์นั้น “จะปกครองไปในทางแบบเผด็จการ”
ยังมีสถานการณ์ที่บีบรัดหลังการอภิวัฒน์คือการระเบิดออกของปัญหาที่สั่งสมมานาน ซึ่งปรากฏว่ามีข้าราชการระดับล่าง ราษฎรในหัวเมือง กลุ่มกรรมกรรถราง ฯลฯ ส่งเสียงร้องเรียนปัญหาและความต้องการจำนวนมาก
ยาตาเบระบุว่าก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ภารกิจตามหลักหกประการที่สัญญาไว้ “ไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย” ที่เป็นรูปธรรม
ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มหมดหวังกับการเปลี่ยนแปลง
“รถรบปืนกลหนักบนรถบรรทุกถึงสถานีศรีษะเกษ”
หัวรถจักรหุ้มเกราะ ขณะประจำการอยู่ที่สถานีแก่งคอย
ภาพ : ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม, ฝันร้ายของเมืองไทย. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๒๘
หลักข้อที่ ๓ “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ...” ทำให้หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) (วัย ๓๒ ปี) เร่งนำเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แผนเศรษฐกิจฉบับแรกของสยามต่อรัฐบาลใหม่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งมีนายกฯ คนเดิมคือพระยามโนฯ (ก้อน)
หลักข้อที่ ๓ “จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ...” ทำให้หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) (วัย ๓๒ ปี) เร่งนำเสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” แผนเศรษฐกิจฉบับแรกของสยามต่อรัฐบาลใหม่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งมีนายกฯ คนเดิมคือพระยามโนฯ (ก้อน)
รัฐบาลชุดนี้มีภารกิจคือจัดเลือกตั้ง สส. ประเภทที่ ๑ (ราษฎรเลือกผู้แทนตำบล จากนั้นผู้แทนตำบลเลือก สส.) ช่วงปลายปี เพื่อให้เกิดรัฐบาลตามระบอบรัฐธรรมนูญในระยะต่อไป และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช ๒๔๘๒ เรื่องกบฏ หลักฐานฝ่ายคณะราษฎรระบุว่า นายกรัฐมนตรี พระยามโนฯ (ก้อน) ได้มอบหมายให้หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ร่าง “เค้าโครงการเศรษฐ-กิจฯ” โดยประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ทำให้หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ได้เข้าเฝ้าฯ รัชกาลที่ ๗ บ่อย และดูเหมือนทรงพอพระทัยกับแผน จนครั้งหนึ่งรับสั่งว่าพระองค์ก็เป็น “โซเชียลลิสต์”
แต่ภายหลังเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ กลับเป็นประเด็นที่นำไปสู่การสร้างสถานการณ์เล่นงานฝ่ายคณะราษฎร
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๗๖ (ตามปฏิทินเก่าที่ขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน) มีการแจกร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ อ่านในหมู่ผู้ก่อการ ๒๔๗๕ และกรรมการราษฎร (คณะรัฐมนตรี) เพื่อรับฟังความเห็นและแก้ไขข้อบกพร่อง
เค้าโครงการเศรษฐกิจฯ ที่ภายหลังรู้จักกันดีในชื่อ “สมุดปกเหลือง” มีเนื้อหาโดยย่อคือ รัฐบาลประกันความเป็นอยู่ราษฎรสยาม ๑๑ ล้านคน (ขณะนั้น) ผ่านระบบสหกรณ์ ให้ทุกคนรับราชการ รัฐจัดซื้อที่ดินมาบริหาร ทั้งยังมีรายละเอียดเรื่องตั้งหน่วยงาน ออกกฎหมายอีกจำนวนมาก โดยยืนยันว่าจะไม่ยึดทรัพย์คนมั่งมี ฯลฯ
แต่ข้อกล่าวหาว่า “คอมมิวนิสต์” ก็ดังขึ้น แม้หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) จะชี้แจงในเอกสารแล้วว่า “เพ่งเล็งถึงสภาพอันแท้จริง” มิได้ยึดมั่นลัทธิใด เพียง “หยิบเอาส่วนที่ดีของลัทธิต่าง ๆ ที่เห็นว่าเหมาะสม...ยกขึ้นเป็นเค้าโครงการ” และถ้าฝ่ายคอมมิวนิสต์มาอ่านจะ “ติเตียนมากว่า เรายังรับรองพวกมั่งมีให้มีอยู่...” เสียด้วยซ้ำ
ยังมีปัญหาเรื่องการตั้งพรรคการเมือง ซึ่งขณะที่ “สมาคมคณะราษฎร” กำลังขยายการรับสมาชิกในจังหวัดต่าง ๆ ก็ปรากฏว่ามีการรวมตัวกันก่อตั้ง “คณะชาติ” ซึ่งมีแนวทางอนุรักษนิยม เชิดชูบทบาทของสถาบันประเพณีและต่อต้านนโยบายของคณะราษฎร จนภายหลังรัฐบาลมีคำสั่งห้ามข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกและห้ามการมีพรรคการเมือง
เรื่องทั้งหมดนี้ก่อพายุใหญ่ทางการเมืองตลอดเดือนมีนาคม ๒๔๗๕
สมุดปกเหลืองนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกในวันที่ ๙ มีนาคม มีการตั้ง “กรรมานุการ” ศึกษาเนื้อหา ฝ่ายพระยามโนฯ (ก้อน) ยืนยันว่า รัฐบาลควรทำแค่เพียงแทรกแซงเศรษฐกิจ ทำในเรื่องที่จำเป็น เช่น ขยายสหกรณ์ เป็นต้น การถกเถียงนี้แปรเป็นความขัดแย้งรุนแรงในเวลาต่อมา
“สมุดปกเหลือง”
และ “สมุดปกขาว”
น่าสนใจว่าต่อมาหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) “ถอย” โดยส่งหนังสือถึงพระยาทรงฯ (เทพ) ซึ่งหนุนหลังพระยามโนฯ (ก้อน) ยอมแก้เนื้อหาให้ชัดเจนว่าจะไม่บังคับซื้อที่ดิน ใช้วิธีการขึ้นภาษี (ที่ดิน) ให้คนเป็นลูกจ้าง (ข้าราชการ) สหกรณ์
โดยสมัครใจ ทำโครงการเท่าที่มีกำลัง ไม่รวบรัด เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ในฐานะนโยบายรัฐบาล
แต่ดูเหมือนข้อหาคอมมิวนิสต์จะกลบเรื่องทั้งหมด
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พระยามโนฯ (ก้อน) นำ “สมุดปกขาว” ที่เชื่อว่าเป็นพระบรมราชวินิจฉัยรัชกาลที่ ๗ เข้าที่ประชุม มีเนื้อหาให้รัฐบาลส่งเสริมนักลงทุน ไม่เก็บภาษีเกินควร ไม่ให้นักลงทุนที่มาตั้งโรงงานเอาเปรียบแรงงาน นำโมเดลสหกรณ์เดนมาร์กมาใช้สร้างที่นารัฐ รับคนไม่มีงานเข้าทำงาน
ทั้งนี้ “สมุดปกขาว” ตั้งคำถามถึงประสิทธิ-ภาพสหกรณ์ในแผนสมุดปกเหลืองว่า ถ้าทำไม่ได้ราษฎรจะ “นอนตาไม่หลับ” ภาษีมรดกอาจเก็บได้เพียงสามชั่วอายุคน ตั้งคำถามเรื่องที่ราษฎรต้องเป็น “ทาสรัฐบาล” (เป็นข้าราชการ) วิจารณ์ปัญหานายจ้างกับลูกจ้างที่สมุดปกเหลืองเสนอความเคลื่อนไหวกรรมกรรถราง (สไตรก์) เป็นตัวอย่างความพยายามตั้งสมาคมคนงาน “...และตน (ผู้นำแรงงาน) จะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบาย ๆ เท่านั้น”
[ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล ใจจริง ระบุว่า หากสำรวจสมุดปกขาว จะพบการใส่พระนาม “ประชาธิปก” ท้ายเอกสารครั้งแรกตอนตีพิมพ์ในหนังสือ สามโลก เมื่อปี ๒๔๙๙ แต่สมุดปกขาวซึ่งเผยแพร่ก่อนหน้านั้นไม่ได้ระบุพระนาม และไม่มีใครเห็นสมุดปกขาวฉบับดั้งเดิม แม้ปัจจุบันจะเชื่อกันว่าเป็น “พระบรมราชวินิจฉัย” ของรัชกาลที่ ๗ แต่ก็อาจยังเป็นปริศนา]
ในที่ประชุมยังกล่าวกระทบกระเทียบสมุดปกเหลืองกับแผนเศรษฐกิจโซเวียตว่า “สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้”
หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) จึงเสนอว่าจะลาออก แต่พระยาพหลฯ (พจน์) ขอไว้ ผลคือที่ประชุมมีมติ ๑๑ เสียงสนับสนุนแนวทางพระยามโนฯ (ก้อน) ๓ เสียงเห็นด้วยกับหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) และงดออกเสียง ๕ คน ซึ่ง ๒ ใน ๕ ที่งดออกเสียงคือพระยาพหลฯ (พจน์) และหลวงพิบูลฯ (แปลก) แต่ไม่มีการประกาศต่อสาธารณะว่ารัฐบาลจะดำเนินการในทางใด
ความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรีทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น ทูตยาตาเบบันทึกว่าตอนนี้ในสยามมีบรรยากาศ “น่าสะพรึงกลัว”
เดือนมีนาคมนี้ยังปรากฏพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๗ ถึงพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต (พระราชโอรสบุญธรรม) ที่บ่งถึงความสัมพันธ์กับรัฐบาลในทางลบ มีข้อความส่วนหนึ่งว่า
“ฉันฉุนเหลือเกิน อยากเล่นบ้าอะไรต่าง ๆ จัง แต่กลัวนิดหน่อยว่าพวกเจ้าจะถูกเชือดคอหมด...”
กลุ่ม สส. ในสภาที่สนับสนุนหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ยังทวงถามถึงสมุดปกเหลือง โดยในการประชุมสภาวันที่ ๓๐-๓๑ มีนาคม สภามีมติค้านคำสั่งรัฐบาลที่ห้ามข้าราชการเข้าสมาคมการเมือง และต้องทำเป็นกฎหมายตามกระบวนการในสภา ระหว่างนี้รัฐบาลส่งทหารเข้ามารักษาความปลอดภัยโดยอ้างว่ามีการพกพาอาวุธเข้าประชุมและกั้นไม่ให้ สส. ออกจากห้องประชุม ในสภาเกิดการอภิปรายโจมตีพระยามโนฯ (ก้อน) อย่างรุนแรง
ในที่สุดวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนฯ (ก้อน) ประกาศ พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แถลงสาเหตุว่า คณะรัฐมนตรีเสียงส่วนน้อยจะวางนโยบายเศรษฐกิจแบบ “คอมมิวนิสต์” สภาจะ “พลิกแผ่นดิน” จึง “เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ”
น่าสนใจว่าในพระราชกฤษฎีกานี้ มีรายชื่อผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ๑๔ คน มีแกนนำคณะราษฎรคนสำคัญคือสี่ทหารเสือแห่งคณะราษฎร พระยาพหลฯ (พจน์) พระยาทรงฯ (เทพ) พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) และพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) รวมทั้งหลวงพิบูลฯ (แปลก) อยู่ด้วย โดยต่อมาพระยาพหลฯ (พจน์) และหลวงพิบูลฯ (แปลก) เล่าว่าถูกสถานการณ์บีบให้ลงนาม
คณะรัฐมนตรี “พระยาพหลฯ ๒” ก่อนเกิดกบฏบวรเดช
วันต่อมารัฐบาลออก พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ ห้ามดำเนินวิธีทางเศรษฐกิจที่ให้เลิกทรัพย์สินเอกชน ห้ามสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ มีโทษปรับและจำคุกสูงสุด ๑๐ ปี กดดันให้หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ออกนอกประเทศในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๔๗๖ ออก พระราชบัญญัติห้ามจัดตั้งสมาคมการเมือง ซึ่งมีผลทางกฎหมายล้ม “สมาคมคณะราษฎร” และตีพิมพ์ “สมุดปกขาว” แจกจ่ายอีก ๓,๐๐๐ ฉบับ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “แนวพระราชดำริการเมืองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์” (ปี ๒๕๒๐) ของหม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ มองว่ากรณีปิดสภา พระยามโนฯ (ก้อน) มิได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีข้อห้ามและ “ทำไปด้วยความจงรักภักดี” ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล ใจจริงชี้ว่าเป็นการ “รัฐประหารเงียบ” ยึดอำนาจสภา ยุติการใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งยังตีพิมพ์ “สมุดปกขาว” ออกเผยแพร่เพื่อทำลายเครดิตหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี)
ทูตยาตาเบอ้างว่าทราบข่าวเรื่องนี้ล่วงหน้า และมองว่าการรัฐประหารไม่ใช่ผลจากสถานการณ์ในสภา แต่เป็น “การวางแผนที่เตรียมมานานที่จะขจัดหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและกลุ่มของเขา”
อย่างไรก็ตามหลังออกจากสยาม หลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ยืนยันในการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ที่สิงคโปร์ว่า
“ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมิวนิสต์...ข้าพเจ้าเป็น Radical Socialist...(สังคมนิยมตกขอบ)”
หลังปรีดีออกนอกประเทศ “สี่ทหารเสือ” คณะราษฎร
คือ พระยาพหลฯ (พจน์), พระยาทรงฯ (เทพ), พระประศาสน์ฯ (วัน) และพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ) ลาออกและขอพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖
แต่พระยามโนฯ (ก้อน) ไม่รอเวลา จัดการปลดทั้งสี่คนก่อนวันที่ ๑๘ มิถุนายน แล้วตั้งพลตรี พระยาพิไชยสงคราม (แก๊ป สรโยธิน) อดีตแม่ทัพภาคที่ ๑ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนการอภิวัฒน์ เป็น ผบ.ทบ. และตั้งพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ซึ่งหลังจากไม่ได้ร่วมอภิวัฒน์ ย้ายไปทำงานดูแลกิจการลูกเสือในกระทรวงธรรมการ มาเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก
กุหลาบ สายประดิษฐ์ (“ศรีบูรพา”) ระบุใน ประชาชาติ วันที่ ๑๙ มิถุนายน หลังการสัมภาษณ์พระยาพหลฯ (พจน์) ว่า พระยาพหลฯ ลาออกด้วยความรู้สึก “ขมขื่นอย่างที่สุด”
มีข้อสันนิษฐานว่า สถานการณ์นี้เกิดจากทุกฝ่ายแทงพนันเดิมพันในเกมการเมือง
[ยังมีบันทึกของ จิตตะเสน ปัญจะ สมาชิกคณะราษฎรที่เปิดเผยในปี ๒๕๔๒ (หลังเหตุการณ์ ๖๖ ปี) เรื่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สั่งประหารคณะผู้ก่อการ ๒๔๗๕ ว่า ต้นคิดวางแผนให้สี่ทหารเสือลาออกคือพระยามโนฯ (ก้อน) แต่เรื่องที่น่ากลัวกว่าคือการเตรียมพระราชโองการประหารชีวิตคณะราษฎร
จิตตะเสนให้ข้อมูลว่า เพื่อความปลอดภัยในการขอพระราชทานอภัยในเดือนธันวาคม ๒๔๗๕ คณะราษฎรแบ่งเข้าเฝ้าฯ เป็น ๒ วัน คือวันที่ ๗ และ ๙ ธันวาคม “บนวังสวนจิตร์ฯ ชั้นบน” รวมกัน ๖๑ นาย แต่รายชื่อคนเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้กลับเป็นบัญชีชี้ตัวคนโดนประหารชีวิต โดยอาลักษณ์ที่เขียนราชโองการตกใจที่เห็นชื่อจิตตะเสนอยู่ด้วย จึงนำมาให้เขาดู จึงพบว่าจะมีการประหาร ณ ท้องสนามหลวงในเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๖ “เอาศีรษะเสียบประจานไว้...๗ วัน”
อย่างไรก็ตามพลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงปี ๒๔๗๕ มองว่าหลักฐานชิ้นนี้ไม่น่าเชื่อถือ เพราะการขอพระราชทานอภัยน่าจะเกิดที่วังศุโขทัยทั้งหมด แต่จิตตะเสนระบุเป็น “วังสวนจิตร์” ไม่นับว่าผู้บันทึกเป็นสมาชิกคณะราษฎร การเขียนเช่นนี้ทำให้รัชกาลที่ ๗ ทรงเสียหาย]
รถเกราะทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนฯ
ภาพ : ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม, ฝันร้ายของเมืองไทย. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๒๘
พระยาพหลฯ (พจน์) ลาออกเพื่อแก้สถานการณ์ที่คณะราษฎรถูกฝ่ายพระยามโนฯ (ก้อน) กดดัน โดยหวังว่ารัชกาลที่ ๗ จะทรงเรียกไปถาม
ส่วนพระยาทรงฯ (เทพ) ต้องการให้พระยาพหลฯ (พจน์) พ้นอำนาจ จึงชวนลาออกโดยให้เหตุผลว่าอภิวัฒน์แล้วทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แผนเบื้องหลังคือ ให้พระยามโนฯ (ก้อน) ตั้งตนเองกลับมาเป็น ผบ.ทบ. ส่วนพระประศาสน์ฯ (วัน) และพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ) นั้นเดินเกมตามพระยาทรงฯ (เทพ)
แต่พระยามโนฯ (ก้อน) นั้นไม่ไว้ใจพระยาทรงฯ (เทพ) จึง “ซ้อนแผน” ตั้งหลวงพิบูลฯ (แปลก) เป็น ผู้ช่วยผบ.ทบ. ฝ่ายยุทธการ เพราะทราบดีว่าหลวงพิบูลฯ (แปลก) ขัดแย้งกับพระยาทรงฯ (เทพ) เรื่องปรับปรุงกองทัพ
พระยามโนฯ (ก้อน) เชื่อว่าตนจะคุมหลวงพิบูลฯ (แปลก) ให้คานอำนาจคนของพระยาทรงฯ (เทพ) ที่คุมกองพันทหารราบหลายหน่วยได้
ในหนังสือ ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า ของ พลโท ประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร และเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีชุดพระยามโนฯ (ก้อน) เล่าว่า ในการย้ายรอบนี้ หลวงพิบูลฯ (แปลก) เจรจากับพระยาศรีฯ (ดิ่น) ให้มารับตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารบก โดยพลโท ประยูรถวายคำรับรองกับรัชกาลที่ ๗ ว่าหลวงพิบูลฯ (แปลก) จะไม่ก่อปัญหา จึงมีพระราชโองการแต่งตั้ง
พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงปี ๒๔๗๕ แสดงจดหมายที่พระยาศรีฯ (ดิ่น) ติดต่อกับหลวงพิบูลฯ (แปลก) ชี้ให้เห็นว่าหลวงพิบูลฯ (แปลก) อ้างถึงทหารจำนวนมากสนับสนุนให้พระยาศรีฯ (ดิ่น) รับตำแหน่ง
เกมนี้หลวงพิบูลฯ (แปลก) จึงกินรวบ ได้อำนาจควบคุมทหารมาไว้ในมือ
แต่หลวงพิบูลฯ (แปลก) รับตำแหน่งไม่ทันไรก็พบว่า พระยาศรีฯ (ดิ่น) เตรียมย้ายนายทหารคณะราษฎรออกจากหน่วยคุมกำลังและ “คิดทำลายผู้ก่อการฯ” ซึ่งรวมถึงการพยายามย้ายหลวงพิบูลฯ (แปลก) ไปในตำแหน่งที่ไม่ได้คุมกำลังรบด้วย
โชคดีที่มีผู้นำสำเนาคำสั่งนั้นมาให้เขาดู
และด้วยสถานการณ์ชิงไหวชิงพริบกันเช่นนี้
กลางเดือนมิถุนายน ๒๔๗๖ หลวงพิบูลฯ (แปลก) จึงติดต่อพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) บิดา ดร. ประจวบ บุนนาค หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร กับพลเรือตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ให้ทาบทามพระยาพหลฯ (พจน์) เป็นหัวหน้าคณะยึดอำนาจคืน
พระยาพหลฯ (พจน์) เปิดเผยในภายหลังว่าคนที่รบเร้าให้ทำรัฐประหารคือหลวงธำรงฯ (ถวัลย์), คุณหญิงพิศ [ภรรยาพระยาพหลฯ (พจน์)] และแม่พิศ [ภรรยาพระยาสุริยาฯ (เกิด)] หลวงธำรงฯ (ถวัลย์) ชี้หน้าด่าผมว่า “ลูกผู้ชายทำแล้วให้คนอื่นเขามาชุบมือเปิบ จะมานั่งพุงกระเพื่อมอยู่ทำไม...” จากนั้นจึงวางแผนร่วมกับหลวงพิบูลฯ (แปลก)
ในที่สุดรัฐประหารก็เกิดขึ้นในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ เวลา ๐๕.๐๐ น.
หลวงพิบูลฯ (แปลก) และนาวาโท หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) นำ “คณะทหารบก ทหารเรือ และพลเรือน” ควบคุมทำเนียบรัฐบาลที่ศาลาลูกขุนใน พระบรมมหาราชวัง (ย้ายจากวังปารุสกวันไปตั้งแต่มิถุนายน ๒๔๗๖) รัฐสภาที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วังปารุสกวัน (ทำเนียบรัฐบาลเก่า) ฯลฯ จากนั้นก็ส่งหนังสือให้พระยามโนฯ (ก้อน) ลาออก แต่พระยามโนฯ (ก้อน) ไม่ยอมหนี แม้พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) อดีตเจ้ากรมเสมียนตรา ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม หนึ่งในผู้พยายามก่อตั้งคณะชาติ เสนอให้เข้าไปอยู่ในสถานทูตอเมริกัน
ส่วนพระยาศรีฯ (ดิ่น) นั้นโกรธหลวงพิบูลฯ (แปลก) มากและในเวลาต่อมาเขาก็คือผู้มีบทบาทสำคัญของกบฏบวรเดช
สภาเปิดอีกครั้งในวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๗๖ โดยมีพระยาพหลฯ (พจน์) เป็นนายกรัฐมนตรี ถือเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายคณะราษฎรกุมตำแหน่งสูงสุดฝ่ายบริหาร
ปัญหาที่รออยู่คือการสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ดำเนินเศรษฐกิจในแนวคอมมิวนิสต์ จัดเลือกตั้ง สส. ประเภท ๑ ให้ได้ในช่วงปลายปี ๒๔๗๖ โดยแก้กฎหมายเรื่องอายุผู้ออกเสียงเลือกตั้งระดับตำบลกลับไปที่ ๒๐ ปี ระดับจังหวัดกลับไปที่ ๓๐ ปี จากเดิมที่รัฐบาลพระยามโนฯ (ก้อน) ให้เพิ่มอายุมากขึ้น
งานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐพล ใจจริง ชี้ว่า ระยะนี้รัฐบาลพระยาพหลฯ (พจน์) เน้น “แก้ไขไม่แก้แค้น” ไม่ลงโทษพระยามโนฯ (ก้อน) ที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ แม้มีเสียงเรียกร้อง อำนาจและบทบาทของหลวงพิบูลฯ (แปลก) เพิ่มขึ้นอย่างมากในการปกป้องรัฐบาล แม้พระยาพหลฯ (พจน์) จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำหลายเรื่อง
ครั้งหนึ่งหลวงพิบูลฯ (แปลก) มีจดหมายเตือนบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ เช่น พระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศราภัยฯ (เลื่อน) ให้ “สงบจิตต์เสีย” และ “หากท่านยังขืนจุ้นจ้านอยู่อีก” จะถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดดำเนินการ จนสร้างเสียงวิจารณ์และทำให้รัฐบาลถูกตั้งกระทู้ถามในสภา
สี่เดือนหลังรัฐประหาร ยังส่งผลให้สมาชิกคณะราษฎรจำนวนหนึ่งที่เป็น สส. ปีกซ้าย รวมถึงกลุ่มที่สนับสนุนพระยามโนฯ (ก้อน) ลาออก มีการดึงข้าราชการระบอบเก่าที่มีท่าทีเป็นกลางช่วงปิดสภามาช่วยในคณะรัฐมนตรี
นอกจากนี้คณะราษฎรยังต้องต่อรองกับคณะเจ้าในการนำตัวหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) กลับมาสยามในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ๒๔๗๖ พร้อมกับตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวน
ไม่นานหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี) ก็พ้นข้อกล่าวหาคอมมิวนิสต์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีลอยในช่วงต้นเดือนตุลาคม ๒๔๗๖
ในห้วงทับซ้อนกันนี้เอง ทหารหัวเมืองก็เริ่มรวมกำลังต่อต้านรัฐบาล
คำพิพากษาศาลพิเศษ ๒๔๘๒
กล่าวถึงความเคลื่อนไหวผิดปรกติก่อนเกิดกบฏบวรเดชหลายเรื่อง โดยเฉพาะการติดต่อที่น่าสังเกตในกลุ่มเจ้านายคือ พระองค์เจ้าบวรเดช กรมขุนชัยนาทนเรนทร หม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล ไปเข้าเฝ้าฯ ที่หัวหิน หรือกรณีพระองค์เจ้าบวรเดชติดต่อกับหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล (ราชเลขานุการประจำพระองค์) ทางจดหมายหลายฉบับ
หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าใน สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นฯ ว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน ๒๔๗๖ มีคนไปมาที่หัวหินมาก “จนไม่รู้ใครเป็นใคร” กล่าวถึงพระราชวงศ์องค์หนึ่งโดยไม่ออกพระนามว่า ทูลฯ “ขอพระราชทานอนุญาตว่าจะเปลี่ยนแปลงใหม่” แต่ในหลวง “ไม่ทรงเห็นด้วยเลย” จนพระราชวงศ์องค์นั้นคิดหา “คนใหม่” เป็นเจ้าแผ่นดินต่อไป
คำพิพากษาศาลพิเศษฯ ยังเล่าว่า มีกรณีราชเลขานุการฯ มาทาบทามพระยาพหลฯ (พจน์) ว่าจะพระราชทานเงิน ๒ แสนบาทโดยไม่ระบุวัตถุประสงค์ แต่พระยาพหลฯ (พจน์) ปฏิเสธ
เรื่องนี้ หนังสือ ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๓ ของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน อดีตราชองครักษ์รัชกาลที่ ๗ ให้ข้อมูลว่า ราชเลขานุการส่วนพระองค์ขณะนั้นประสานงานกับพระองค์เจ้าบวรเดชและ “ติดสินบน” พระยาพหลฯ (พจน์) แต่ไม่สำเร็จ โดยรัชกาลที่ ๗ ไม่ทรงทราบ (มาทรงทราบก่อนเสด็จสวรรคตไม่นาน)
กรกฎาคม ๒๔๗๖ สถานทูตอังกฤษรายงานกลับไปที่ลอนดอนว่า ในรัฐสภาสยามปรากฏข่าวลือว่ามีความพยายามเปลี่ยนรัฐบาลและกษัตริย์เป็น “Prince Paribatra” (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย) ซึ่งขณะนั้นประทับลี้ภัยอยู่ในชวา
คำพิพากษาศาลพิเศษฯ ยังอธิบายว่ามีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตา เช่น มีการตัดถนนจากหัวหินไปยัง “ปากทวารชายแดนพม่า” มีแผนอารักขาในหลวงเสด็จฯ ลงภาคใต้ คำเล่าลือถึงเครือข่ายคณะเจ้าที่เตรียมการกบฏ
พลโท ประยูร ภมรมนตรี สมาชิกคณะราษฎรอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพระยามโนฯ (ก้อน) เล่าว่า ปลายเดือนกันยายน ๒๔๗๖ เมื่อเขาไปบ้านพักตากอากาศของพระยามโนฯ (ก้อน) ที่อำเภอชะอำ ก็ได้รับคำเตือนถึงเรื่องบางอย่างที่จะเกิดในพระนครและได้รับคำชวนไปปีนัง แต่เขาปฏิเสธ
ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลพิเศษ คดีแดงที่ ๖๒-๖๔ และ ๓๘/๒๔๗๗ ให้ความเคลื่อนไหวช่วงแรกอย่างเป็นรูปธรรมของกลุ่มแกนนำที่เรียกตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ว่ามีมาตั้งแต่หลังรัฐ-ประหาร ๒๐ มิถุนายน
เดือนกรกฎาคม ๒๔๗๖ กลุ่มก่อตั้งคือ พระยาศรีฯ (ดิ่น), พันตรี หลวงพลหาญสงคราม (จิตร์ อัคนิทัต) และร้อยโท จงกล ไกรฤกษ์ นัดพบกันที่ร้านอาหารบนถนนราชวงศ์
จากนั้นนัดอีกครั้งที่บ้านหลวงพลหาญฯ (จิตร์) ถนนราชวัตร
ครั้งที่ ๓ นัดที่บ้านพระยาไชเยนทร์ฤทธิรงค์ (อึ่ง โพธิกนิษฐ์) จังหวัดนครราชสีมา
ยังมีการดึงทหารชั้นผู้น้อยเข้าร่วมหลายคน เช่น ร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ผู้บังคับกองร้อยทหารม้า จังหวัดสระบุรี ที่บันทึกใน ชีวประวัติของข้าพเจ้า ว่า ตัวเขาเองไม่พอใจคณะราษฎรอยู่แล้วเนื่องจาก “ถูกกดทั้งยศและเงินเดือนและตำแหน่ง” จากการถูกสงสัยว่าเป็นฝ่ายคณะเจ้าและ “ชิงชังผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงปกครองแผ่นดินยิ่งนัก” ก่อนจะได้รับการชักชวนเข้าร่วมคณะกู้บ้านกู้เมืองในเดือนสิงหาคมโดยพระยาศรีฯ (ดิ่น) และหลวงพลหาญฯ (จิตร์) มาพบ เขาตัดสินใจเข้าร่วมในเดือนกันยายน
หลวงพิบูลสงคราม ผบ. กองผสม ในสมรภูมิ
ภาพ : ไชยวัฒน์ ยนเปี่ยม, ฝันร้ายของเมืองไทย. ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๒๘
วันที่ ๙ ตุลาคม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ได้ผู้นำอย่างเป็นทางการ คือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช และมีกำหนดเดินทัพในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๔๗๖
แกนนำคณะกู้บ้านกู้เมืองประกอบด้วยพระราชวงศ์ นายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกราชการ นายทหารหัวเมือง ข้าราชการ บุคคลสำคัญคือ
• พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช
• พันโท พระปัจจนึกพินาศ (แปลก เอกะศิริ) สารวัตรทหารนครราชสีมา
• พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)
• พระยาเสนาสงคราม (หม่อมราชวงศ์อี๋ นพวงศ์) นอกราชการ
• พันตรี หลวงโหมชิงชัย (เวก สู่ไชย) เสนาธิการจังหวัดทหารบก นครราชสีมา
• พันตรี หลวงเสนานิติการ (ยงค์ บุนนาค) อัยการ
• พันตรี หลวงพลหาญสงคราม (จิตร์ อัคนิทัต)
• ร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ผู้บังคับกองร้อยที่ ๑ กองพันทหารม้าที่ ๔ นครราชสีมา ฯลฯ จำนวนมากเคยร่วมก่อตั้ง “คณะชาติ”
มีการรวมกำลังที่นครราชสีมา สระบุรี อยุธยา พิษณุโลก นครสวรรค์ ราชบุรี เพชรบุรี ปราจีนบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี รวม ๑๙ กองพัน (ดูแผนภาพจุดเกิดเหตุกบฏบวรเดชประกอบใน EP.02)
ที่พระนคร พระยาศรีฯ (ดิ่น) พยายามประสานงานกับหน่วยทหารที่ยังนิยมในตัวพระยาทรงฯ (เทพ) (พ้นจากราชการหลังรัฐประหาร และเดินทางไปต่างประเทศ) แต่หน่วยทหารในพระนครลังเลเมื่อพบว่าพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้นำคณะ
หนังสือ ๑ ศตวรรษ ศุภสวัสดิ์ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๓ เล่าว่า แม้พระยาศรีฯ (ดิ่น) จะจูงใจจนถึงกับสัญญาว่า “จะยิงพระองค์เจ้าบวรเดชเสียทันทีที่งานสำเร็จ” ก็ไม่ได้ผล ด้วยเชื่อกันว่าหากงานสำเร็จพระองค์จะกลายเป็นเผด็จการ เรื่องนี้พระองค์เจ้าบวรเดชทรงทราบ แต่ก็ตัดสินพระทัยเดินหน้าต่อ
สำหรับแผนใช้กำลังทหารจากหัวเมือง ตัดขาดกรุงเทพฯ จากเมืองอื่น ๆ หลวงโหมฯ (ตุ๊) ระบุว่า
กองทหารม้าจากสระบุรีจะควบคุมกรมอากาศยานดอนเมือง (สนามบินดอนเมือง)
กองทหารจากอุบลราชธานี โคราช อยุธยา นครสวรรค์ ลพบุรี จะเข้ามาทางรถไฟโดยส่งส่วนหน้ายึดคลองบางเขน
กองทหารจากปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จะยึดสถานีรถไฟมักกะสันและหัวหมาก
ส่วนกองทหารราชบุรี เพชรบุรี ยึดสถานีรถไฟตลิ่งชันบางกอกน้อย สะพานพระราม ๖
สายลับคณะเจ้ายังเปิดเผยว่า เขาได้รับการประสานงานจากคณะกู้บ้านกู้เมืองให้ลอบสังหารแกนนำคณะราษฎร โดยวางมือปืนซุ่มยิงที่วังปารุสกวัน (ทำเนียบรัฐบาล) สองชุด ชุดแรกทำหน้าที่สังหาร ชุดที่ ๒ เก็บมือปืนเพื่อให้สาวไม่ถึงผู้บงการ
นัดวันลงมือไว้ในวันที่ ๑๑ ตุลาคม (หลังวันนัดเดินทัพ ๑๐ ตุลาคม) นักเรียนทำการนายร้อยประภาส จารุเสถียร (ต่อมาคือจอมพล ประภาส จารุเสถียร) เล่าใน ฝากเรื่องราวไว้ให้ลูกหลาน ว่าตอนนั้นเขาทราบจากผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๖ หลวงวีระโยธา (วีระ วีระโยธา) ว่าน่าจะเกิดเหตุบางอย่างขึ้น ส่วนรัฐบาลน่าจะทราบข่าวบ้าง เพราะทหารในพระนครเริ่มเตรียมพร้อมตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม
พระยาพหลฯ (พจน์) เคยเล่าให้ ศักดิ์ ไทยวัฒน์ อดีตข้าราชการกระทรวงมหาดไทย บันทึกไว้ในหนังสือ เกล็ดการเมืองบางเรื่อง ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับข้าพเจ้า ว่า ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ท่านไป “เยี่ยมทหารราชบุรี ระหว่างอยู่ที่นั่นมีเครื่องบินทหารมาลงที่สนามบินราชบุรี (ท่าน) สงสัยจึงเรียกมาถาม นายทหารที่มานั้นก็กลัว และเล่าความว่า พระองค์เจ้าบวรเดชให้มาชักชวนทหารราชบุรีให้ส่งกำลังสมทบเข้าตีพระนคร” พระยาพหลฯ (พจน์) จึงเดินทางกลับทันที
“ศักดิ์” เล่าว่า “จำไม่ได้ว่าท่านกลับทางใด สมัยนั้นถนนเพชรเกษมวิถีสวัสดิ์ยังไม่มี เมื่อกลับถึงก็สั่งคุมกำลังในพระนคร และตั้ง พ.ท. หลวงพิบูลสงครามเป็น ผบ.ผสม ทันที”
ด้านฝ่ายคณะกู้บ้านกู้เมือง หลวงโหมฯ (ตุ๊) ได้รับคำสั่งจากพระองค์เจ้าบวรเดชว่า ๑๐ ตุลา-คม จะยึดจังหวัดต่าง ๆ แล้วให้กองทหารสระบุรีขึ้นรถไฟที่สถานีปากเพรียว (สระบุรี) สมทบกับทหารที่มาจากโคราช แต่พอสายวันลงมือกลับมีคำสั่งทางโทรเลขว่า “วันทำงานเลื่อนไปวันที่ ๑๑” ทำให้เขาประหลาดใจ แต่เขาก็ยังแน่วแน่จะเข้าไปบังคับให้รัฐบาลลาออก “จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยใช้คนรุ่นเก่า”
แน่นอนว่าหลวงโหมฯ (ตุ๊) ย่อมไม่ทราบเลยว่าการเลื่อนนี้ทำให้แผน “หลั่งเลือดที่วังปารุสก์” ล้มเหลว เพราะมือสังหารรอข่าวกองทัพหัวเมืองจนเกือบหัวรุ่งก็ยังไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวใด ๆ
๑๑ ตุลาคม ช่วงค่ำ รัฐบาลส่งตำรวจสันติบาล ๗๐ คน นำโดยพันตำรวจโท พระกล้ากลางสมร (มงคล หงสไกร) และร้อยเอก ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีศรากร) ขึ้นรถไฟไปนครราชสีมาเพื่อจับกุมฝ่ายกบฏ
หลวงโหมฯ (ตุ๊) บันทึกว่า ขณะเตรียมกำลังที่ปากเพรียวเขาได้รับรายงานว่า ๒๑.๐๐ น. มีรถไฟขบวนพิเศษจากกรุงเทพฯ ไปทางนครราชสีมา
“ในรถมีแต่ตำรวจทั้งสิ้น”
“กองช่างจัดการยกรถ
ที่สะพานข้ามห้วยมวกเหล็ก”
“ลูกเสือ นักเรียน
ช่วยกองช่างซ่อมสะพานรถไฟ
หลัก ๒๔๓.๑๒ กม.”
>
อ่านต่อ EP.02