scrollable-image

พระรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฝีมือปั้นจากพระองค์จริง โดย ซี. เฟโรจี

The Prince & I :
Corrado Feroci and
HRH Prince Narisra of Siam
“ปริ๊นซ์นริศ” กับนายเฟโรจี
: ศิลปะข้ามวัฒนธรรม
ภาค 1

๑๐๐ ปี ศิลป์ สู่สยาม

เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
เอื้อเฟื้อภาพเก่า : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
ภาพถ่าย : ประเวช ตันตราภิรมย์

“อากาศยามบ่ายซึ่งอุ่นสบายและทิวทัศน์เขียวชอุ่มสองฟากลำน้ำเจ้าพระยา ทำให้หนุ่มสาวชาวอิตาเลียนคู่หนึ่งบนเรือกลไฟเดินทะเลขนาดเล็ก ซึ่งกำลังใช้ฝีจักรทวนกระแสน้ำบ่ายหน้าลึกเข้าไปในแผ่นดิน เกาะราวลูกกรงข้างกราบเรือทอดสายตาดูอย่างสนใจ ขณะนั้นเป็นวันหนึ่งของต้นเดือนมกราคม ๒๔๖๖ แววตาของชายหนุ่มดูเหมือนจะแฝงประกายของความพอใจในความเขียวชอุ่มชุ่มฉ่ำของพันธุ์ไม้ หมากและมะพร้าวแซงลำต้นไกวตัวอ่อนเอนสยายใบไปตามกระแสลมอยู่ทั่วไป...

“Corrado Feroci พา Fanni ภรรยาที่รักมาถึงกรุงเทพฯ และในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๖ ก็ได้เริ่มรับราชการเป็น
ช่างปั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอีก ๓๙ ปีต่อมา เขาได้ฝากเกียรติคุณไว้ในความรู้สึกของคนไทย และจบชีวิตบนแผ่นดินไทย ในฐานะคนไทย ในนามของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี”

หมายเหตุ : 
ชื่อ Corrado Feroci หากใช้หลักการทับศัพท์ภาษาอิตาลี ฉบับราชบัณฑิตยสถานจะต้องเขียนว่า คอร์ราโด เฟโรชี แต่เนื่องจากเอกสารภาษาไทยส่วนมากที่ใช้ในบทความนี้เขียนว่า “คอร์ราโด เฟโรจี” จึงยึดตามเอกสารเหล่านั้น ส่วนชื่อภาษาไทยของ คอร์ราโด เฟโรจี มีเขียนกันทั้ง “ศิลป” และ “ศิลป์” คือทั้งมีและไม่มีการันต์ ในที่นี้เลือกใช้ “ศิลป์” เป็นหลัก ยกเว้นเฉพาะที่เป็นการอ้างอิงข้อความ ซึ่งจะสะกดตามต้นฉบับ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (คอร์ราโด เฟโรจี) หรือ“อาจารย์ศิลป์” หรือ “อาจารย์ฝรั่ง” คณบดีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี เมื่อเวลา ๒ ทุ่มกว่าของคืนวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ขณะมีอายุได้ ๖๙ ปี

เกือบ ๓ ปีต่อมาในหนังสือ ประวัติครู ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เนื่องในวันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๐๘ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียนยิ้มศิริ (ปี ๒๔๖๕-๒๕๑๔) รักษาราชการแทนคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ต่อจาก “อาจารย์ศิลป์” และหนึ่งในลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้เรียบเรียงชีวประวัติฉบับ “ทางการ” ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในฐานะ “ครู” และ “ข้าราชการ” ขึ้นฉบับหนึ่ง ซึ่งต่อมากลายเป็น “ฉบับมาตรฐาน” ที่ถูกอ้างอิงและตีพิมพ์ซ้ำมากที่สุด

เดือนถัดมา กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ มีประวัติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อีกสองตอนสั้น ๆ พิมพ์รวมไว้ในตอนต้นของสูจิบัตร ศิลป พีระศรี อนุสรณ์ การแสดงศิลปนานาชาติ ครั้งที่ ๑ ณ โรงละครแห่งชาติ ตอนแรกใช้ชื่อเรื่องว่า “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์” ซึ่งการบรรยายฉากเมื่อ “อาจารย์ศิลป์” มาถึงเมืองไทยครั้งแรกด้วยชั้นเชิงโวหารแบบนักประพันธ์ดังที่ตัดตอนช่วงเปิดเรื่องและตอนจบมาลงไว้ข้างต้น

แต่หนึ่งในปัญหาที่สงสัยกันมาหลายสิบปีคือข้อเขียนชิ้นนี้เป็นผลงานของใคร เพราะไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง ในขณะที่บทความที่ ๒ ซึ่งใช้ชื่อว่า “ศิลป พีระศรี กับงานศิลปในเมืองไทย” มีเนื้อหากล่าวถึงการทำงานและผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ คล้ายกับใน ประวัติครู ปี ๒๕๐๘ และเขียนด้วยภาษาสำนวนค่อนข้างเป็นทางการเช่นเดียวกัน  ตอนท้ายระบุว่า “เขียน ยิ้มศิริ” เป็นผู้เขียน

เมื่อพิจารณาจากบริบทแวดล้อมแล้ว น่าเชื่อได้ว่าผู้เขียน “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์” คงเป็นอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ นั่นเองบางที ในฐานะลูกศิษย์ใกล้ชิดที่ได้รับรู้เรื่องราวมากมายจากปากของครูบาอาจารย์ เขาอาจรู้สึกท่วมท้นจนอยากเล่าเรื่องราวของ “อาจารย์ฝรั่ง” อีกฉบับหนึ่ง ในแบบที่เร้าอารมณ์และเต็มไปด้วยสีสันบรรยากาศ มากกว่าประวัติการรับราชการของข้าราชการไทยคนหนึ่งก็เป็นได้

ถึงวันนี้ กว่า ๖๐ ปีให้หลังจากมรณกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย” กำลังจะถึงวาระครบ ๑ ศตวรรษ หรือ ๑๐๐ ปี ที่นายคอร์ราโด เฟโรจี เดินทางเข้ามาถึงประเทศสยามเป็นครั้งแรก 

Image

ห้องช่างปั้น ด้านข้างตึกที่ทำการกรมศิลปากร ต่อมาเป็นห้องทำงานคณบดีคณะประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และท้ายที่สุดกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗
ภาพ : สกล เกษมพันธ์ุ

ว่าที่จริงยังไม่มีใครพบหลักฐานว่านายคอร์ราโด เฟโรจีหรือที่เอกสารไทยมักออกชื่อว่า “นายซี. เฟโรจี” (C. Feroci) หรือ “เฟโรจี” เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่เท่าไร หรือ
ด้วยวิธีการใดกันแน่ แต่เนื่องจากในประวัติการรับราชการ เริ่มนับอายุราชการของเขาในวันจันทร์ที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๖ จึงสันนิษฐานกันว่าเฟโรจีคงเดินทางเข้ามาถึงก่อนหน้านั้นไม่นาน

แต่ถ้าให้เดา ในขณะนั้นการเดินทางข้ามทวีปจากยุโรปมากรุงเทพฯ มีสองเส้นทางหลัก ๆ อย่างแรกที่ใช้กันมาแต่เก่าก่อน คือเรือเดินสมุทรจากยุโรปจะแวะจอดเทียบท่าที่สิงคโปร์เป็นหลัก จากนั้นต้องเดินทางต่อด้วยเรือกลไฟขนาดย่อมๆ ซึ่งมีขึ้นล่องตามเส้นทางสิงคโปร์-กรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์ ใช้เวลาเที่ยวละประมาณ ๓ วัน

ส่วนอีกวิธีหนึ่งซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าและเป็นเส้นทางใหม่ที่เพิ่งเปิดใช้มาได้ไม่กี่ปี คือจากยุโรป สามารถโดยสารเรือมาลงที่เกาะปีนัง เขตอาณานิคมอังกฤษในมลายู หรือที่เรียกว่า Straits Settlements แล้วจับรถไฟสายข้ามประเทศมาต่อรถไฟหลวงสายใต้ของสยาม แล่นตรงเข้ามายังสถานีรถไฟบางกอกน้อย ธนบุรี ได้อีกทางหนึ่ง

แต่ตามที่อาจารย์เขียนได้รับรู้มา เฟโรจีคงใช้วิธีการเดินทางแบบแรกและเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ราวเดือนมกราคม ๒๔๖๖

เพื่อความเข้าใจร่วมกัน จำเป็นต้องกล่าวตั้งแต่ตรงนี้ว่าในขณะนั้น ปฏิทินของสยามยังเหลื่อมกับปฏิทินสากล คือสยามเปลี่ยนปีพุทธศักราชในวันที่ ๑ เมษายน ขณะที่ปฏิทินฝรั่งขึ้นปีใหม่ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม  ดังนั้นช่วงเวลาที่กล่าวถึงคือเดือนมกราคม ๒๔๖๖ ในสมัยนั้น จึงตรงกับเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ซึ่งถ้านับอย่างปฏิทินปัจจุบัน วันที่เฟโรจีเริ่มเข้ารับราชการกับรัฐบาลสยามคือ ๑๔ มกราคม ๒๔๖๗

Image

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (นั่งกลางแถวหน้า) กับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และนักศึกษา ถ่ายที่ด้านข้างตึกกรมศิลปากร ราวต้นทศวรรษ ๒๔๙๐ คนที่แต่งเครื่องแบบข้าราชการนั่งด้านขวาของอาจารย์ศิลป์คือ หลวงรณสิทธิพิชัย (เจือ กาญจนินทุ ปี ๒๔๔๒-๒๕๑๕) อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยตำแหน่ง ระหว่างปี ๒๔๙๓-๒๔๙๘ ส่วนทางซ้ายคือคุณกฤษณ์ อินทโกศัย เลขานุการกรมศิลปากร ซึ่งเป็นเลขานุการมหาวิทยาลัยด้วย

แล้วก่อนหน้าจะมาเมืองไทย เรื่องราวของเขาเป็นอย่างไร ?

ตามประวัติที่รับรู้กันทั่วไป คอร์ราโด เฟโรจี (Corrado Feroci ในเอกสารไทยถอดชื่อสกุลด้วยตัวสะกดต่าง ๆ กัน
หลายแบบ เช่น เฟโรจี ฟิโรจี) เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๓๕ (ค.ศ. ๑๘๙๒) ในครอบครัวพ่อค้าชาวเมืองฟลอเรนซ์บิดาชื่ออาร์ทูโร (Arturo Feroci 1857-1903) มารดาชื่อ ซานตินา (Santina Feroci 1866-1924)

เรามีเพียงคำบอกเล่าผ่านมาทางลูกศิษย์ว่าวัยเด็กของเขาเป็นอย่างไรบ้าง  เขียน ยิ้มศิริ อ้างใน ประวัติครู ว่า 

“ท่านเล่าให้ฟังว่าชีวิตเมื่อสมัยตอนเป็นเด็กนั้น ไม่ชอบเรียนวิชาสามัญเท่าใดนัก มักหนีโรงเรียนไปตามสตูดิโอต่าง ๆ ในนครฟลอเรนซ์เพื่อดูช่างปั้นรูปช่างเขียนรูปเสมอ ๆ” 

รายละเอียดวิธี “หนีโรงเรียน” ของเด็กชายเฟโรจี ยังอยู่ในความทรงจำของ นิพนธ์ ผริตะโกมล (ปี ๒๔๗๕-๒๕๔๑) ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งด้วย

“เมื่อสมัยฉันเป็นเด็กนะนาย มียามที่โรงเรียนเป็นชาวเยอรมัน เข้มงวดและดุมาก ฉันจะหนีโรงเรียนก็แกล้งทำเป็นป่วย (อาจารย์แสดงท่าตัวงอ ห่อไหล่คล้ายป่วยให้ดูด้วย) บอกยามว่าป่วยจะกลับบ้าน ยามเยอรมันก็มองดูฉันและดุว่า ถ้ายังยืนได้ก็กลับไปเรียนต่อเดี๋ยวนี้ ฉันก็เลยต้องกลับไปเรียน ออกไปไม่ได้”

ผู้เขียน “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์” พรรณนาชีวิตวัยเยาว์ของเด็กชายชาวฟลอเรนซ์คนนี้ที่เติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศของงานศิลปะไว้ว่า

“ถึงแม้พ่อแม่จะมีอาชีพค้าขาย แต่ตัวเขาเองรู้สึกไม่ไยดีในอาชีพของพ่อแม่ เพราะดื่มด่ำซาบซึ้งในงานศิลปในเยาว์วัยนั้น ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ไปพระวิหาร Santa Maria del Fiore ขณะที่เพ่งพินิจงานประติมากรรมของ Michelangelo และ Ghiberti ที่ประดับประดาอยู่นั้น มักจะบอกกับตัวเองเสมอว่า วันหนึ่งเขาจะใช้สองมือของเขาสร้างผลงานประติมากรรมขึ้นมาบ้าง”

นายอาร์ทูโรถึงแก่กรรมไปตั้งแต่บุตรชายมีอายุเพียง ๑๑
ขวบ เขาจึงต้องกำพร้าพ่อตั้งแต่ยังไม่เป็นวัยรุ่น และเติบโตขึ้นมาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของแม่เพียงลำพัง  ด้วยเหตุที่เคยตระเวนตามสตูดิโอของช่างรุ่นใหญ่ในเมือง เขาจึงได้ไปขอสมัครเป็นลูกมือช่วยงานจิปาถะ 

เจ้าตัวระบุในประวัติรับราชการแต่เพียงว่าหลังจากจบชั้นมัธยมฯ ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ (ปี ๒๔๔๖) แล้ว เข้าเรียนต่อ “อะคาเดมี” อีก ๗ ปี  เดิมในหมู่ลูกศิษย์เคยเข้าใจกันว่าเป็นที่วิทยาลัยศิลปะแห่งฟลอเรนซ์ (Accademia di Belle Arti di Firenze/Academy of Fine Arts of Florence) แต่ต่อมาเมื่อมีการค้นคว้ามากขึ้นจึงพบหลักฐานว่าเฟโรจีเข้าศึกษาวิชาศิลปะที่สถาบันศิลปะซานตาโครเชแห่งฟลอเรนซ์ (Istituto d'Arte Fiorentino di Santa Croce) เขาเล่าถึงชีวิตช่วงนั้นให้ลูกศิษย์ คือ นิพนธ์ ผริตะโกมล ฟังว่า

“ฉันไม่ใช่คนรวย จะสอบเข้าเรียน ทุกคนเขาไปกวดวิชากัน ฉันไม่ได้ไป แต่ฉันก็สอบได้ที่หนึ่ง เขาให้เขียนคน ฉันก็เขียนด้วยความรู้สึก เห็นอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น แต่คนอื่น ๆ เขาเขียนเป็นตัวอนาโตมีกันไปหมด

  “ฉันขยันมากนะนาย ฉันเรียนด้วย ฉันรับจ้างเขาเขียนภาพเฟรสโก (เขียนภาพลงบนผนังปูนเปียก) เพื่อเลี้ยงแม่ของฉันด้วย”

Image

บรรยากาศในห้องเรียนวิชาปั้น

หลังจบการศึกษาระหว่างปี ๒๔๔๘-๒๔๕๔ เฟโรจีเข้าทำงานกับสตูดิโอออกแบบและผลิตเหรียญกษาปณ์หลายแห่งในเมืองฟลอเรนซ์ ค่อย ๆ สั่งสมชื่อเสียงจากผลงานประติมากรรมนูนต่ำและงานดีไซน์เหรียญที่ระลึกและเหรียญรางวัลต่าง ๆ  

ในระหว่าง “มหายุทธสงคราม” (The Great War) หรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ เฟโรจีมิได้ถูกเกณฑ์เข้าร่วมรบในกองทัพอิตาลี เนื่องจากปัญหาด้านสายตา ในช่วงปลายสงครามโลกนั้นเอง เขาแต่งงานกับ เปาลา อันเจลีนี (Paola Angelini) 

จากนั้นเมื่อสงครามยุติ เฟโรจีได้เป็นผู้ออกแบบอนุสาวรีย์ที่ระลึกแด่ผู้พลีชีพในสงครามที่เกาะเอลบาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อันเป็นผลงานอนุสาวรีย์แห่งแรกของเฟโรจี แม้ว่ามีการสร้างอนุสาวรีย์ในลักษณะคล้ายกันขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ทั่วทั้งอิตาลีในยุคหลังสงครามโลก ทว่าอนุสาวรีย์ที่เกาะเอลบามีความพิเศษตรงที่ภาพวีรชนหญิงในอนุสาวรีย์มีนางแบบอันเป็นความรักครั้งใหม่ของช่างปั้นหนุ่ม แฟนนี วิเวียนี (Fanni Viviani 1893-1989) หญิงสาวจากครอบครัว ผู้ดีมีตระกูลแห่งเมืองฟลอเรนซ์ ทำให้เฟโรจีตัดสินใจแยกทางจากภรรยาคนแรกเพื่อมาใช้ชีวิตร่วมกับเธอ

จากนครฟลอเรนซ์ เฟโรจีมาทำงานในสยามได้อย่างไร
ใน ประวัติครู อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ เล่าว่า

“ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัฐบาลไทยประสงค์จะหาช่างปั้นมาปฏิบัติงานราชการและเพื่อฝึกฝนให้คนไทยสามารถปั้นรูปได้อย่างตะวันตกและให้รู้ถึงเทคนิคต่าง ๆ ในงานประติมากรรมด้วย จึงติดต่อกับรัฐบาลอิตาลีขอให้คัดเลือกประติมากรที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้ที่รักจะรับราชการกับรัฐบาลไทยทางรัฐบาลอิตาลีจึงเสนอท่านมาพร้อมทั้งคุณวุฒิและผลงาน ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็รับบรรจุเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากร กระทรวงวัง เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๖”

ในหนังสือ พระราชวังพญาไทในวันวารห้าแผ่นดิน แพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ ค้นพบว่า ในปี ๒๔๖๕ ราชสำนักสยามเคยติดต่อว่าจ้างเฟโรจีที่ฟลอเรนซ์ให้รับเหมาปั้นหล่อรูปพระวรุณ (หรือพระพิรุณ) เทพเจ้าแห่งฝน เพื่อใช้เป็นน้ำพุประดับสวนโรมันของพระราชวังพญาไทมาก่อนแล้ว

ถ้าหากเฟโรจีกำลังเป็นช่างปั้นที่กำลังมีอนาคตสดใส เริ่มมีผลงานเป็นที่รู้จัก เรียกง่าย ๆ ว่ามีแววว่าจะมีชื่อเสียงโด่งดังแล้วเหตุใดเขาจึงเลือกเดินทางมาทำงานในสยาม ราชอาณาจักรในโลกตะวันออกอันห่างไกล สถานที่ซึ่งเขาเองอาจแทบไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลยด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้เองสร้างความพิศวงให้แก่ผู้เขียนประวัติของเฟโรจีมาทุกยุคทุกสมัย เช่นที่ผู้ประพันธ์ “สุภาพบุรุษแห่งฟลอเรนซ์” รู้สึกว่าเขาเองหาคำอธิบายไม่ได้

“ความรอบรู้ความชำนาญที่เพิ่มพูนให้แก่ตัวเองก็สูงพอที่จะได้รับการยกย่องเป็นศาสตราจารย์ ที่สมัครใจมารับราชการอยู่ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ไทยห่างจากนครฟลอเรนซ์บ้านเกิดหลายพันไมล์ ดูออกจะเป็นการตัดสินใจที่ตัวเองก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าเพราะเหตุใด”

ส่วนบทความของ ดำรง วงศ์อุปราช ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี ๒๕๓๖ เนื่องในวาระ ๑๐๐ ปีชาตกาลของ ศิลป์ พีระศรี (ปี ๒๕๓๕) พยายามให้เหตุผลจากแง่มุมกระแสความเปลี่ยนแปลงทางศิลปะในโลกตะวันตกว่า

“สาเหตุที่ท่านลาออกจากการเป็นศาสตราจารย์ในสถาบันวิจิตรศิลป์ที่สำคัญของยุโรปมารับตำแหน่งช่างปั้นในกรมศิลปากรของประเทศสยามซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียนั้น ไม่มีใครทราบเพราะท่านเองก็ไม่ได้เขียนไว้ อาจจะเป็นไปได้ว่าท่านหาสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับความถนัดของท่านเพื่อสร้างสรรค์ผลงานก็ได้ ถ้าวิเคราะห์เหตุการณ์และความเคลื่อนไหวของศิลปินและศิลปะในเรื่องของกาละแล้ว จะเห็นว่ายุโรปในสมัยนั้น...ศิลปะของยุโรปได้เปลี่ยนแปลงและแปรปรวนไปหลากหลายและมากมายในทางโมเดอร์นนิสม์ ศิลปินในแบบคลาสสิคและเรียลลิสม์ธรรมชาตินิยมย่อมอึดอัดและมีปัญหา ถึงจะไม่มีปัญหามากในขณะนั้น แต่ในอนาคตแล้ว อาจมีความขัดแย้งมากขึ้น”

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) กับนาย ซี. เฟโรจี และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะไปประดิษฐานในปราสาทพระเทพบิดร ถ่ายเมื่อราวเดือนมีนาคม ๒๔๖๙

Image

กระบวนเสด็จพยุหยาตราใหญ่ในพระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ 
๖ เมษายน ๒๔๗๕

Image

Image

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในระหว่างขั้นตอนการทำงาน

จนเมื่อ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง เมื่อเรื่องราวของเฟโรจีเริ่มกลายเป็นที่สนใจในวงวิชาการอิตาลี จึงมีการหาข้อมูลจากฝั่งอิตาลีมากขึ้น นำไปสู่ข้อเสนอใหม่ว่าด้วยสาเหตุการตัดสินใจของศิลปินหนุ่ม ดังที่ ดร. หนึ่งฤดี โลหผล สรุปข้อค้นพบของนักวิชาการอิตาลีไว้ในวารสาร เมืองโบราณ เมื่อปี ๒๕๔๑ (สะกดชื่อเขาตามหลักของราชบัณฑิตยสถานขณะนั้นว่า “เฟโรชิ”)

“จากประสบการณ์ด้านประติมากรรมของคอร์ราโด เฟโรชิ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เขาเชี่ยวชาญการสร้างงานขนาดเล็ก  เมื่อประเทศสยามได้จัดการแข่งขันคัดเลือกช่างปั้นแบบเหรียญขึ้นที่เมืองฟลอเรนซ์ เฟโรชิจึงได้เข้าร่วมและได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปทำงานกับรัฐบาลสยาม ซึ่งนับเป็นหนทางที่ดีเยี่ยม ทั้งในด้านอาชีพศิลปินและในด้านความรัก  ขณะนั้นความสัมพันธ์ต่างชนชั้นระหว่างเฟโรชิและคนรักใหม่กลับกลายเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่น้อย การเดินทางครั้งนี้จึงเป็นเสมือนทางเลือกที่จะหนีไปให้ไกลจากปัญหาทั้งหมด”

เรื่องทั้งหมดจึงอาจเป็นเพียงความสามัญธรรมดาของความรัก-ที่ยินดีจะไปไหนจนไกลสุดขอบฟ้าเขาเขียว เพียงได้อยู่เคียงคู่กับเธอ-ก็เป็นได้

สยามในตอนปลายปี ๒๔๖๖ ยังเป็นราชอาณาจักรสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประมุขสูงสุดและหัวหน้าคณะรัฐบาลคือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เวลานั้นกิจการรถไฟกำลังเฟื่องฟู โรงแรมรถไฟหัวหินเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนมกราคม ไล่เลี่ยกับการมาถึงกรุงเทพฯ ของเฟโรจี  ชาวกรุงกำลังตื่นเต้นกับผลผลิตแตงโมและไข่สดจากฟาร์มบางเบิดของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ที่ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งส่งตรงโดยรถไฟสายใต้มาขายถึงในพระนครเป็นประจำ

ขณะนั้นกรุงเทพฯ มีพลเมืองเกือบ ๔ แสนคน โดยมี “ฝรั่ง” ประมาณ ๑,๕๐๐ คน ในจำนวนนั้นเป็นชาวอิตาลีราว ๑๐๐ คน  นับแต่ทศวรรษ ๒๔๔๐ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อยมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในทศวรรษ ๒๔๖๐ มีทั้งสถาปนิก จิตรกร วิศวกร และช่างฝีมือชาวอิตาลีเข้ามาทำงานในสยามจำนวนมาก บางช่วงมีถึง ๓๐ คน จนนักวิชาการบางคนขนานนามว่าเป็น “ทีมอิตาเลียน” อันเข้มแข็ง พวกเขามีส่วนสร้างสรรค์อาคารแบบตะวันตกในกรุงเทพฯ ขึ้นทั่วพระนคร ทั้งอาคารของราชสำนัก เช่นพระที่นั่งอนันตสมาคม  พื้นที่สาธารณะ เช่น สะพานหลายแห่งในกรุงเทพฯ และสถานีรถไฟหัวลำโพง ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์  สถานที่ราชการ เช่นตึกกระทรวงพาณิชย์  รวมถึงบ้านพักของขุนนางข้าราชการชั้นสูงเช่น บ้านนรสิงห์และบ้านบรรทมสินธุ์ 

แม้ว่าเมื่อเฟโรจีมาถึงกรุงเทพฯ ทีมอิตาเลียนจากรัชกาลก่อนจะเดินทางกลับบ้านกันไปหลายคนแล้ว แต่ก็ยังคงหลงเหลืออยู่อีกไม่น้อย เมื่อเดือนธันวาคม อี. จี. กอลโล (E. G. Gollo) วิศวกรคนสำคัญของกลุ่มนี้ ผู้มีบทบาทในแวดวงธุรกิจของสยามและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทสยามซีเมนต์ (ปูนซิเมนต์ไทย) เพิ่งเกษียณอายุราชการ โดยได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศิลปศาสตร์โสภิต ถือเป็นชาวอิตาลีที่ได้รับเกียรติยศสูงสุดจากราชสำนักสยาม และยังเป็นครั้งแรกที่มีการพระราชทานนาม ศิลป- ให้แก่คนอิตาลี

ในประวัติการรับราชการ ระบุว่าเฟโรจีได้รับเงินเดือนเดือนละ ๘๐๐ บาท ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือนข้าราชการสยามระดับอธิบดี บวกด้วยค่าเช่าบ้านอีกเดือนละ ๘๐ บาท โดยทำสัญญาระยะเวลา ๓ ปี เริ่มต้นสัญญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ ตามสัญญาระบุว่าเมื่อทำงานครบ ๓ ปีแล้ว จะต่อสัญญาหรือไม่ก็ได้ และเมื่อทำงานครบ ๓ ปี มีสิทธิ์ลาพักผ่อนได้ ๙ เดือน 

ตำแหน่งของเขาคือช่างปั้น สังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุลปี ๒๔๒๐-๒๔๘๕) เป็นเสนาบดี และมีพระยาอาทรธุรศิลป์ (หม่อมหลวงช่วง กุญชร ปี ๒๔๑๗-๒๔๗๓) เป็นอธิบดี

หนังสือ Directory for Bangkok and Siam (นามสงเคราะห์สำหรับบางกอกและสยาม) ฉบับ ค.ศ. ๑๙๒๕ (ปี ๒๔๖๗/๒๔๖๘) ระบุว่า แผนกช่างฝรั่งของกรมศิลปากรเกือบทั้งหมดยังเป็นชาวอิตาลี ตั้งแต่หัวหน้า คือเสวกเอก ศาสตราจารย์ อี มันเฟรดี (E. Manfredi) ไปจนถึงช่างในปกครอง ได้แก่ ศาสตราจารย์ อี ฟอร์โน (E. Forno) อาคีเต็ก (สถาปนิก) เสวกตรี เอ็ม กัลเลตตี (M. Galletti) อินยิเนีย (วิศวกร) เสวกตรี ซี ริโกลี (C. Rigoli) ช่างเขียน ศาสตราจารย์ ซี เฟโรจี ช่างปั้น ยกเว้นคนเดียวคือนายมิกิ (Nai Miki) ครูสอนวิชาช่างรัก

คนหลังสุดนี้เป็นช่างรักชาวญี่ปุ่น ชื่อจริงคือ ซะคะเอะ มิกิ (Sakae Miki) แต่คนไทยเรียกกันว่า เอส มิกี้ (S. Miki) และต่อมากลายเป็นที่จดจำกันในฐานะครูโรงเรียนเพาะช่าง

ปลายปีเดียวกับที่ ศาสตราจารย์ ซี. เฟโรจี มาถึงกรุงเทพฯ มารดาของเขาก็ถึงแก่กรรมลง ขณะที่ชีวิตการงานในสยามดูเหมือนไม่ค่อยราบรื่นนัก ร่องรอยความขัดแย้งกับข้าราชการสยามปรากฏในเรื่องที่เขาเล่าให้ ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ลูกศิษย์คนหนึ่งฟัง

“เมื่อเข้ามาทำงานที่กรมศิลปากร เขาก็จัดที่ให้ท่านอยู่...บนตัวตึกกรมศิลปากรชั้นล่างของตัวตึกหน้า ทีนี้อาจารย์ศิลป์ท่านไม่อยากอยู่ เนื่องจากห้องนี้ไม่เหมาะเป็นห้องปฏิบัติงานปั้นหรือเป็นสตูดิโอ เพราะเกี่ยวกับด้านแสงสว่างไม่ถูกต้องท่านก็ลงไปทำงานที่ตึกข้างล่าง...ซึ่งเป็นห้องที่มีแสงสว่างถูกต้อง...อาจารย์ศิลป์เห็นว่านี่เป็นห้องที่ถูกต้อง ท่านก็ขอมาทำงานที่นี่ก็ถูกหัวหน้างานสมัยนั้น นายใหญ่หัวหน้าของศิลปากรสมัยนั้น ว่าเป็นฝรั่งหัวดื้อ จองหอง เมื่อความนี้เข้าหู อาจารย์ศิลป์เข้า อาจารย์ศิลป์ก็เกิดความน้อยใจ... ไม่อยู่แล้วเมืองไทย ฉันจะกลับ... ท่านก็นัดกับเมียแหม่มอิตาเลียนด้วยกัน ไม่อยู่ล่ะ กลับดีกว่า เพราะเสียใจที่ไม่ได้อยู่ห้องที่สามารถทำงานได้”

พระโอรสในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล (ปี ๒๔๖๖-๒๕๔๖) ผู้เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะโบราณคดี และอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ทรงเล่าเรื่องข้อขัดแย้งระหว่างนายเฟโรจีกับผู้บังคับบัญชาอีกกรณีหนึ่งว่า

“เมื่อศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เข้ามาสมัครทำงานในประเทศไทยตั้งแต่แรกนั้น ได้ไปสมัครเป็นช่างปั้นในแผนกศิลป ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้ความควบคุมของกระทรวงวังในสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงวังในขณะนั้น ได้ให้ศาสตราจารย์ศิลปทดลองปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและลงท้ายก็ได้บอกว่าฝีมือไม่ดี ปั้นไม่เหมือน จะไม่ยอมรับเข้าทำงาน ชรอยศาสตราจารย์ศิลปจะทราบว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ทรงเป็นช่างใหญ่ในเมืองไทยและเป็นที่นับถืออย่างสูงทางด้านศิลปในขณะนั้น จึงขอเข้าเฝ้าและกราบทูลว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่เคยมาประทับเป็นแบบให้เลย จะปั้นให้เหมือนได้อย่างไร  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ จึงทรงตกลงจะประทับเป็นแบบให้ศาสตราจารย์ศิลปปั้นภาพเหมือนของพระองค์เองถวายและศาสตราจารย์ศิลปก็ปั้นได้เหมือนจริง ๆ...สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ จึงทรงช่วยเหลือให้ศาสตราจารย์ศิลปเข้าทำงานเป็นช่างปั้นในกระทรวงวังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”

Image

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ผลงานของเฟโรจี

หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ผู้ประสูติในปีที่เฟโรจีมาถึงเมืองไทยทรงทราบเรื่องนี้ผ่านคำบอกเล่าของหม่อมเจ้าหญิงดวงจิตร จิตรพงศ์ (ปี ๒๔๕๑-๒๕๔๘) พระธิดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์อีกทอดหนึ่ง เฟโรจีเล่าเรื่องเดียวกันนี้ด้วยสำเนียงภาษาไทยของเขาให้ สุกิจ ลายเดช ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งฟังว่า

“ปริ๊นซ์นริศนาย ท่านเข้าใจฉันดี ท่านเป็นแบบให้ฉันพั่ม (ปั้น)”

แล้วเฟโรจีกับ “ปริ๊นซ์นริศ” พบกันครั้งแรกที่ไหน เมื่อใด ?

แม้เรื่องนี้จะยังไม่พบหลักฐานแน่ชัด แต่ล่าสุดในปี ๒๕๖๖ นี้เอง ธานินทร์ สุนทรานนท์ หนึ่งในลูกศิษย์ผู้อุทิศพลังแรงใจค้นคว้ารวบรวมเรื่องของเฟโรจีมาเป็นสิบ ๆ ปี ชี้ประเด็นให้เห็นว่าจากหลักฐานภาพลายเส้นฝีพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้าพระองค์นั้น อันเป็นต้นร่างของประติมากรรมพระวรุณที่วังพญาไท (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในหอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร) ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าพระองค์ทรงเคยติดต่อกับเฟโรจีมาแล้ว อย่างช้าที่สุดคือตั้งแต่ปี ๒๔๖๕ ก่อนที่นายช่างฝรั่งคนนี้จะเดินทางมายังสยามด้วยซ้ำ

และแน่นอนว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ผู้เป็น “อา” ของพระเจ้าแผ่นดินสยามนั่นเอง คือผู้ที่เปิดโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตให้แก่นายเฟโรจี

ไม่เช่นนั้นแล้ว บางทีโปรเฟสเซอร์ชาวอิตาลีคนนี้อาจต้องกลับไปฟลอเรนซ์ตั้งแต่ปีแรกที่มาถึงแล้วก็เป็นได้

หลังจากสมเด็จฯ ได้เห็นฝีมือของเฟโรจี จึงชักนำให้เขาได้เข้าเฝ้าฯ โดยขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับเป็นแบบ เฟโรจี จึงมีโอกาสได้ปั้นพระบรมรูปจากพระองค์จริงของในหลวงเป็นครั้งแรก

นับแต่นั้นมา กรมพระนริศฯ กลายเป็นเหมือน “บิดา” อีกคนหนึ่งของเฟโรจี ทั้งยังทรงเป็น “ครู” โดยมีเฟโรจีกลับไปเป็น “นักเรียน” อีกครั้ง และในเวลาไม่นาน พระองค์ก็จะกลายเป็น “ผู้บังคับบัญชา” ของเขาด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง

โดยวัย กรมพระนริศฯ ทรงมีพระชันษาในรุ่นพ่อหรือรุ่นลุงของเฟโรจี  คือขณะที่เฟโรจีอายุ ๓๐ ต้น ๆ กรมพระนริศฯมีพระชันษากว่า ๖๐ ปีแล้ว พระองค์ทรงเป็นที่นับถือในเชิงวิชาช่างมาตั้งแต่รัชกาลก่อน ถือได้ว่าทรงเป็นนายช่างอันดับต้น ๆ ของสยาม แม้ในรัชกาลที่ ๖ ก็ยังทรงได้รับหน้าที่ออกแบบพระเมรุมาศในงานถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์หลายครั้ง รวมถึงยังเป็นผู้เขียนภาพประกอบพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เช่น ธรรมาธรรมะสงคราม

ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างกรมพระนริศฯ กับเฟโรจี ยืนยาวต่อมาอีกกว่า ๒ ทศวรรษ ตราบจนพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อเดือนมีนาคม ๒๔๙๐

Image

พ่อ แม่ กับ “หนู” อิซาเบลลา (Isabella) และ “น้อย” โรมาโน (Romano) ถ่ายที่บ้านในกรุงเทพฯ ราวครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๔๗๐ 
เอื้อเฟื้อภาพ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี

>

อ่านต่อ ภาค 2