Image
โปรเฟสเซอร์เฟโรจีกับภรรยาคือนางแฟนนีและโรมาโน บุตรชายที่เกิดในสยาม ราวครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๔๗๐ 
เอื้อเฟื้อภาพ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี

อนุสาวรีย์ คือ
ศิลป์อนุสรณ์ พีระศรี
๑๐๐ ปี ศิลป์ สู่สยาม
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
เอื้อเฟื้อภาพเก่า : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
ภาพถ่าย : ประเวช ตันตราภิรมย์
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และบรรดาลูกศิษย์คือผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างประติมากรรมและอนุสาวรีย์จำนวนมากในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมาที่ หยิบยกนำมารวบรวมไว้นี้เป็นเพียงผลงานบางส่วนเท่า นั้น
Image
ต้นแบบพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ จัดแสดงในหอประติมากรรมต้นแบบ (โรงหล่อเดิม) กรมศิลปากร
๒๔๗๕
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ปฐมบรมราชานุสรณ์เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ออกแบบ : สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ปั้น : ศิลป์ พีระศรี
พิธีเปิด : ๖ เมษายน ๒๔๗๕
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า กรุงเทพฯ สร้างเป็นที่ระลึกในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี เมื่อปี ๒๔๗๕ ดังคำจารึกที่ลับแลหลังพระบรมรูปว่า

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมบรมราชาธิราชมหาจักรีวงศ ได้ทรงสร้างพระมหานครอมรรัตนโกสินทร มาถึงพุทธศักราช ๒๔๗๕ นี้ครบ ๑๕๐ ปี เปนอภิลักขิตมงคล ชาวสยามทุกชาติชั้นบรรดาศักดิ์ อันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๗ ทรงเปนประมุข พร้อมกันสร้างพระบรมรูป ประกอบกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เปนปฐมบรมราชานุสสรเฉลิมพระเกียรติประดิษฐานไว้ให้คนภายหลังระลึกถึงพระเดชพระคุณ ซึ่งพระองค์ทรงพยายามปราบปรามปัจจามิตร กู้บ้านเมืองให้พ้นภัยพิบัติเปนอิสสรภาพ แล้วได้ประดิษฐานพระราชวงศซึ่งทรงทำนุบำรุงประเทศสยาม ให้รุ่งเรืองเจริญสุขสืบมาจนกาลบัดนี้”
Image
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ๖ เมษายน ๒๔๗๕
น่าเศร้าใจที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อยู่เมืองไทยนานพอที่จะได้รู้สึกชอกช้ำเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผลงานยุคแรกของเขาในอีก ๒ ทศวรรษต่อมา ดังรำพึงไว้ในหนังสือ คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง (สำนวนแปลโดย ธนิต อยู่โพธิ์) เมื่อปี ๒๕๐๒ เกี่ยวกับ “ลับแล” หลังพระบรมรูปว่า

“การใช้สีผสมหรือสีเคมี ที่หาซื้อกันได้ในท้องตลาด แต่ไม่รู้จักใช้สีเหล่านั้น ได้ทาเสาและผนังซุ้มจระนำพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร) เป็นสีชมพู ส่วนหลังเป็นสีเหลือง ผู้ที่มีรสนิยมทางศิลปแม้แต่เพียงพื้น ๆ เมื่อได้เห็นสภาพเช่นนี้ก็จะถึงกับตกตะลึง”
Image
Image
ต้นแบบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จัดแสดงในหอประติมากรรมต้นแบบ
๒๔๗๗
ท้าวสุรนารี 
หน้าประตูชุมพล นครราชสีมา
ออกแบบ : ศิลป์ พีระศรี 
พิธีเปิด : ๑๖ มกราคม ๒๔๗๗
สายพิณ แก้วงามประเสริฐ อธิบายในหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ว่า อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี “จัดเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เป็นอนุสรณ์แห่งแรกในรัฐประชาธิปไตย และยังเป็นอนุสาวรีย์ของสตรีอีกด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านี้คือ อนุสาวรีย์แห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นหลัง ‘กบฏบวรเดช’ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่แสดงความแตกแยกระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร”

หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม ๒๔๗๖ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิศ อินทโสฬส) และพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและผู้บังคับการจังหวัดทหารบกนครราชสีมาคนใหม่ที่รัฐบาลแต่งตั้งมาแทนคนเดิมซึ่งถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากมีส่วนสนับสนุนฝ่ายกบฏ ร่วมกันคิดสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (โม) วีรสตรีชาวนครราชสีมายุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นประดิษฐานที่หน้าประตูชุมพล จึงทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากรในเดือนกันยายน ๒๔๗๗ ระบุว่าในการสร้างอนุสาวรีย์นี้ ทางจังหวัดมีเงินบริจาคจำนวนหนึ่ง และได้ปรึกษาหารือกับพระสาโรชรัตนนิมมานก์ หัวหน้ากองสถาปัตยกรรมแล้วว่าตั้งใจอยากให้เสร็จในเดือนธันวาคม ๒๔๗๗ ซึ่งหมายความว่าทางกรมศิลปากรและศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีเวลาเตรียมการเรื่องนี้เพียงไม่กี่เดือน  ในที่สุดอนุสาวรีย์แห่งนี้มีพิธีเปิดล่าช้าไปกว่ากำหนดเดิมเล็กน้อย คือเดือนมกราคม ๒๔๗๗ (ขณะนั้นยังขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน) แต่รูปท้าวสุรนารีที่ตั้งเป็นอนุสาวรีย์ในพิธีเปิดยังเป็นเพียงชิ้นงานปูนปลาสเตอร์ที่ปั้นหล่อ ส่งไปจากกรุงเทพฯ โดยทาสีให้ดูเหมือนเป็นรูปหล่อสำริด

อาจารย์สายพิณค้นพบว่าจนถึงปีต่อมา คือ ๒๔๗๘ ทางจังหวัดนครราชสีมายังคงทยอยส่งเงินค่าใช้จ่ายในการหล่ออนุสาวรีย์มาอีกเป็นระยะ ดังนั้นการหล่อสำริดคงต้องเกิดขึ้นภายหลังจากนั้นระยะหนึ่ง แล้วจึงค่อยไปเปลี่ยนกับรูปที่เป็นปูนปลาสเตอร์
Image
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
น่าเศร้าใจที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อยู่เมืองไทยนานพอที่จะได้รู้สึกชอกช้ำเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผลงานยุคแรกของเขาในอีก ๒ ทศวรรษต่อมา ดังรำพึงไว้ในหนังสือ คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง (สำนวนแปลโดย ธนิต อยู่โพธิ์) เมื่อปี ๒๕๐๒ เกี่ยวกับ “ลับแล” หลังพระบรมรูปว่า

“การใช้สีผสมหรือสีเคมี ที่หาซื้อกันได้ในท้องตลาด แต่ไม่รู้จักใช้สีเหล่านั้น ได้ทาเสาและผนังซุ้มจระนำพระปฐมบรมราชานุสรณ์ (เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งพระนคร) เป็นสีชมพู ส่วนหลังเป็นสีเหลือง ผู้ที่มีรสนิยมทางศิลปแม้แต่เพียงพื้น ๆ เมื่อได้เห็นสภาพเช่นนี้ก็จะถึงกับตกตะลึง”
Image
หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานในพิธีสวนสนามที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องในวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓ 
๒๔๘๓
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 
ตั้งอยู่กึ่งกลางวงเวียนสี่แยกถนนราชดำเนินกลางตัดกับถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ออกแบบสถาปัตยกรรม : จิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์
ปั้น/หล่อ พานรัฐธรรมนูญ : ประกิต (จิตร) บัวบุศย์ โรงเรียนเพาะช่างออกแบบปั้น/หล่อ 
ประติมากรรมประดับฐาน : ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์ สิทธิเดช แสงหิรัญ พิมาน มูลประมุข แช่ม แดงชมพู อนุจิตร แสงเดือน
ปั้นรูปครุฑคายพญานาค ประดับฐานปีกแต่ละด้าน :สุข อยู่มั่น (บันทึกตามความทรงจำของ พิมาน มูลประมุข)
พิธีเปิด : ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓
ปกหลังของ ข่าวโฆษณาการ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือนมิถุนายน ๒๔๘๓ อธิบายเรื่อง “การสร้างอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย” ไว้ว่า

“รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรึกษาลงมติให้สร้างอนุสสาวรีย์ ‘ประชาธิปไตย’ ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ณ ตำบลถนนราชดำเนิน ผ่านถนนดินสอ เพื่อเป็นที่ระลึกอันยั่งยืนถึงการที่ชาติไทย ได้มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ยังผลให้เจริญรุ่งเรืองเป็นศรีสวัสดิวัฒนาการ

นายกรัฐมนตรีได้วางศิลาฤกษ์สร้างอนุสสาวรีย์ ในงานฉลองวันชาติ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๒ และการก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ เวลา ๒๔.๐๐ น. ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอนุสสาวรีย์นี้ ประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาท  นายกรัฐมนตรีได้กระทำพิธีเปิดอนุสสาวรีย์ในงานฉลองวันชาติ เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓
Image
ศิลป์ พีระศรี กับกลุ่มลูกศิษย์ใกล้ชิดที่เป็นผู้ช่วยงาน และต่อมาคืออาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร 
(จากซ้าย) สนิท ดิษฐพันธุ์ สิทธิเดช แสงหิรัญ พิมาน มูลประมุข ศิลป์ พีระศรี  สนั่น ศิลากร และ แสวง สงฆ์มั่งมี

ความหมายของอนุสสาวรีย์ประชาธิปไตย
๑. ปีกทั้ง ๔ ด้านสูงจากแท่นพื้น ๒๔ เมตร และมีรัศมีจากจุดศูนย์กลางของป้อมที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญถึงขอบสุดของฐานมีระยะ ๒๔ เมตร มีความหมายถึง ๒๔ มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และปีกทั้ง ๔ มีความหมายถึงความรุ่งโรจน์แห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย

๒. ปืนใหญ่ที่ฝังรอบอนุสสาวรีย์มี ๗๕ กะบอก มีความหมายถึง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นปีที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

๓. ภาพตุ๊กตาดุน ประกอบบริเวณโดยรอบส่วนล่างของปีกทั้ง ๔ มีความหมายแสดงถึงประวัติการณ์ของคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งได้ดำเนินการนัดหมายและแยกย้ายกระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

๔. พานรัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่บนป้อมกลางของอนุสสาวรีย์ มีความสูง ๓ เมตร และเป็นพานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำหรับตัวพานต้องใช้ทองเหลืองและทองแดงประกอบประมาณ ๔ ตัน ที่กำหนดความสูงของพาน ๓ เมตร มีความหมายถึงเดือนที่ ๓ คือเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

๕. รูปพระขรรค์ ๖ อัน ประกอบบานประตูทั้ง ๖ รอบป้อมกลางที่ตั้งพานรัฐธรรมนูญ มีความหมายถึงหลัก ๖ ประการ อันเป็นนโยบายของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง”

ในข้อ ๔ เหตุที่เดือนมิถุนายนนับเป็นเดือนที่ ๓ เนื่องจากขณะนั้นสยามยังใช้ปฏิทินเดิมที่เปลี่ยนศักราชและเริ่มต้นปีใหม่เดือนเมษายน  ส่วนหลัก ๖ ประการที่กล่าวถึงในข้อ ๕ ได้แก่ หลักเอกราช หลักความสงบ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ หลักเศรษฐกิจ และหลักการศึกษา

ในส่วนของภาพประติมากรรมนูนสูงประดับฐานปีกอนุสาวรีย์ที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีนั้นพบว่าเดิมมีการออกแบบไว้ถึงแปดภาพสำหรับประดับด้านหน้าและหลังของปีกทั้งสี่ แต่อาจด้วยข้อจำกัดทางเวลา (นับจากวันวางศิลาฤกษ์ถึงวันเปิดคือ ๑๒ เดือนเท่านั้น) สามารถจัดสร้างขึ้นได้เพียงสี่แบบ แต่ละปีกจึงต้องประดับภาพเดียวกันทั้งสองด้าน
Image
Image
ตึกไปรษณีย์กลาง (กรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม) 
ภาพราวปี ๒๕๒๒

๒๔๘๓
ครุฑยุดแตรงอน 
มุมตึกไปรษณีย์กลาง เขตบางรัก กรุงเทพฯ 
ออกแบบสถาปัตยกรรม : พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) และ จิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์
ออกแบบประติมากรรมรูปครุฑ : ศิลป์ พีระศรี

ผู้ปั้นส่วนต่าง ๆ ของครุฑ
แขน : แช่ม ขาวมีชื่อ
ปีก : สิทธิเดช แสงหิรัญ
ลำตัว : พิมาน มูลประมุข (ตามความทรงจำของ พิมาน มูลประมุข)

พิธีเปิด : ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓
ตึกนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ทำการของกรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งมีตราสัญลักษณ์เป็นรูปครุฑ ตราแผ่นดิน ประกอบกับรูปแตรงอนอันเป็นสัญลักษณ์สากลของงานไปรษณีย์ คือมีรูปครุฑอยู่ด้านบน กับแตรงอนอยู่ด้านล่าง แยกจากกัน หากแต่ในประติมากรรมประดับมุมของมุขหน้าตึก รูปครุฑกับแตรงอนดังกล่าวถูกดัดแปลงให้กลายเป็นรูปครุฑ “ยุด” คือใช้กรงเล็บเท้าจับแตรงอนไว้ ในลักษณะทำนองเดียวกับรูปครุฑยุดนาค

ศาสตราจารย์ศิลป์ออกแบบรูปครุฑให้ร่างกายเต็มไปด้วยมัดกล้ามเพื่อแสดงพลังอำนาจ แต่ทั้งหน้าตา เครื่องทรง ปีก รวมถึงกล้ามเนื้อของครุฑ มีลักษณะเป็นงานเชิงกราฟิกที่ลดทอนรายละเอียดลง ให้เหมาะสำหรับติดตั้งเพื่อมองดูจากระยะไกล
Image
การประดับรูปครุฑที่ประดับมุมของมุขหน้านี้ คล้ายคลึงกันมากกับการประดับรูปนกอินทรี ตราแผ่นดินของสหรัฐฯ ที่มุมอาคารไปรษณีย์เมืองสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างเสร็จและมีพิธีเปิดตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ อีกทั้งรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของอาคารทั้งสองแห่งยังเป็นแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) เช่นเดียวกันด้วย จึงมีการสันนิษฐานกันว่าสถาปนิกอาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่นั่น
Image
รูปพระพลบดี (พระอินทร์) ด้านหน้าทางเข้าสนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของศาสตราจารย์ศิลป์  แต่เดิมเคยทาสีเทาคือสีเดียวกับตัวอาคาร เพิ่งเปลี่ยนมาทาสีเขียวเป็นผิวกายพระอินทร์และทาสีทองที่เครื่องทรงช้างเอราวัณเมื่อไม่นานมานี้  
๒๔๘๔
พระบรมรูปที่ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า)
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ออกแบบสถาปัตยกรรม : พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์)

ออกแบบประติมากรรม : ศิลป์ พีระศรี 

ผู้ปั้นพระบรมรูป : (ตามความทรงจำของ พิมาน มูลประมุข)
สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง : แช่ม ขาวมีชื่อ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ : พิมาน มูลประมุข
สมเด็จพระศรีสุริโยทัย : สิทธิเดช แสงหิรัญ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช : สิทธิเดช แสงหิรัญ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช : (ไม่ระบุ)
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี : สิทธิเดช แสงหิรัญ และ แสวง สงฆ์มั่งมี

พิธีเปิด : ๒๔๘๔
ในกลุ่มสถานที่ราชการยุคทศวรรษ ๒๔๘๐ ที่ออกแบบโดยกรมศิลปากร สถาปนิกคือพระสาโรชรัตนนิมมานก์ มักเลือกให้ศาสตราจารย์เฟโรจี เป็นผู้ปั้นประติมากรรมขนาดใหญ่ประดับอาคาร ตามแนวนิยมของสถาปัตยกรรมยุคอาร์ตเดโค ไม่ว่าจะเป็นที่ตึกไปรษณีย์กลาง บางรัก กรีฑาสถานแห่งชาติ หรือศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

อาคารศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีพิธีวางศิลาฤกษ์ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๓ ทางเข้าด้านหน้ามีเสาขนาดใหญ่หกต้น ศาสตราจารย์ ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร ว่า อาคารสาธารณะยุคคณะราษฎรนิยมประยุกต์เลข ๖ ในความหมายของหลักหกประการ มาเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม เช่น อาคารกระทรวงยุติธรรม และศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล้วนมีแนวเสาด้านหน้าทางเข้าอาคารหกต้น
Image
บนหัวเสาทั้งหกหน้าศาลากลางประดับด้วยประติมากรรมคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่ รูปพระบูรพกษัตริย์และพระวีรกษัตรีแห่งกรุงศรีอยุธยา ครึ่งพระองค์ ได้แก่สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง (ถือปราสาทสังข์)  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ถือสมุดพระอัยการ)  สมเด็จพระศรีสุริโยทัย (ถือพระแสงของ้าว)  สมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ถือพระแสงของ้าว)  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ถือพระราชสาส์น) และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ถือพระแสงดาบ)

งานประติมากรรมของกรมศิลปากรในยุคนั้นมีเป็นจำนวนมาก พิมาน มูลประมุข หนึ่งในลูกศิษย์รุ่นแรก ๆ ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เล่าบรรยากาศการทำงานว่า “ตอนนั้น งานค่อนข้างสับสน มันมาก ใครพอว่างก็จับอันนั้นทำ เป็นอย่างนี้” 
Image
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีรำลึกเนื่องในงานวันทหารผ่านศึก ๓ กุมภาพันธ์ของทุกปี
๒๔๘๕
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ตั้งอยู่ ณ ต้นทางถนนพหลโยธิน (เดิมชื่อถนนประชาธิปัตย์) 
ออกแบบสถาปัตยกรรม : หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

ออกแบบประติมากรรม : ศิลป์ พีระศรี 

ผู้ปั้น : 
(ตามความทรงจำของ พิมาน มูลประมุข)
ทหารบก : แช่ม แดงชมภู
ทหารอากาศ : สิทธิเดช แสงหิรัญ
ตำรวจ : พิมาน มูลประมุข
ทหารเรือ : สิทธิเดช แสงหิรัญ และ แสวง สงฆ์มั่งมี
ข้าราชการพลเรือน : อนุจิตร แสงเดือน

พิธีเปิด : ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕
สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกแด่วีรชนผู้เสียสละในเหตุการณ์สงครามอินโดจีนช่วงปลายปี ๒๔๘๓ ถึงต้นปี ๒๔๘๔ มีพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๔ ตัวอนุสาวรีย์สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นรูปดาบปลายปืนห้าเล่มรวมกัน กับมีรูปวีรชนห้าเหล่า ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ประดิษฐานโดยรอบทั้งห้าด้าน

มีคำบอกเล่าว่า ในทัศนะของศาสตราจารย์ศิลป์แล้ว อนุสาวรีย์แห่งนี้ถือเป็น “อนุสาวรีย์แห่งความอับอายขายหน้า” อาจารย์สนั่น ศิลากร ลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า
Image
ต้นแบบประติมากรรมทหารอากาศ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จัดแสดงในหอประติมากรรมต้นแบบ
“ตามแบบนั้นไม่มีรูปทหารยืนล้อมรอบที่ฐาน อาจารย์ท่านก็บอกว่าสมบูรณ์ดีแล้ว แต่ทางผู้มีอำนาจสมัยนั้นต้องการให้มีอาจารย์ท่านก็ขอว่าถ้าจะมีก็น่าที่จะปั้นเป็นรูปคนเหลี่ยม ๆ เพื่อให้เข้ากับแบบ จนแล้วจนรอดก็ต้องทำตามคำสั่ง”

จนอีกหลายปีให้หลัง เรื่องนี้คงติดค้างในใจของศาสตราจารย์ศิลป์เรื่อยมา ในหนังสือ ศิลปสงเคราะห์ (ปี ๒๕๐๐) อันเป็นเหมือนพจนานุกรมรวบรวมคำศัพท์ศิลปะในภาษาอังกฤษ ตัวอย่างที่ยกมาประกอบคำ Allegoric หรือปฏิมาน จึงกล่าวว่า (สำนวนแปลของพระยาอนุมานราชธน)
Image
รัฐพิธีเปิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๕
“ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะยกย่องเป็นอนุสรณ์ถึงพลังอำนาจแห่งกองทัพทั้งหมด เราไม่จำเป็นจะต้องแสดงเป็นรูปทหารทุกเหล่า เป็นทหารบกทหารเรือทหารอากาศ แต่อาจแสดงรวมกันเป็นรูปเปรียบอย่างอื่น เป็นรูปเดี่ยวหรือรูปหมู่ก็ได้ การแสดงอย่างนี้ เป็นแสดงปฏิมานแห่งกำลังกองทัพทั้งหมดของประเทศ”
Image
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ หน้าสวนลุมพินี  ในภาพนี้คือเมื่อเสริมแท่นฐานขึ้นแล้ว
๒๔๘๕
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หน้าสวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 
ออกแบบและปั้น : ศิลป์ พีระศรี 
พิธีเปิด : ๒๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๕

แนวคิดในการจัดสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เริ่มต้นจากกลุ่มศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย โดยจะหาเงินทุนจากการระดมทุนเรี่ยไร เพื่อจัดสร้างประดิษฐานไว้ภายในโรงเรียน แต่เมื่อข่าวแพร่หลายออกไป ในที่สุดทางรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จึงขอรับมาดำเนินการในระดับชาติแทน โดยมอบหมายให้กรมโฆษณาการเป็นผู้อำนวยการเรี่ยไร และให้กรมศิลปากรเป็นผู้อำนวยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ และได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาเลือกสถานที่ ซึ่งในที่สุดมีมติเห็นพ้องกันว่าให้จัดสร้างขึ้นที่บริเวณสวนลุมพินี เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง ทั้งยังเป็นการแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานกำเนิดของสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งนี้
Image
ต้นแบบพระบรมรูป รัชกาลที่ ๖ ปี ๒๔๘๒
ในการนี้ กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ตั้งแต่เมื่อยังเป็นนายซี. เฟโรจี เป็นผู้ออกแบบปั้นพระบรมรูปด้วยปูนปลาสเตอร์ชั้นหนึ่งก่อน หลายสิบปีต่อมา ในปี ๒๕๑๑ “พลูหลวง” หรือ ประยูรอุลุชาฎะ ลูกศิษย์คนหนึ่งของเฟโรจี เล่าถึง “อาจารย์ฝรั่งของเขา” กับพระบรมราชานุสาวรีย์องค์นี้ว่า 

“อนุสาวรีย์พระมหาธีรราชเจ้า ทั้งรูปเสคทช์และรูปขยายเท่าตัวจริง ซึ่งข้าพเจ้าเคยเห็นตั้งไว้ในมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นทรงสวมฉลองพระองค์ชุดจอมทัพเสือป่า พระหัตถ์เบื้องขวาหนีบพระมาลาทรงสูงอันประดับด้วยขนนก ทรงประทับยืนพักพระบาทข้างหนึ่ง นับว่าเป็นภาพอันสง่างามมิใช่น้อยครั้งหนึ่งเมื่อได้ยืนต่อหน้ารูปปั้นขนาดเท่าองค์จริงชิ้นนั้น ข้าพเจ้าเรียนถามท่านศาสตราจารย์ว่า
Image
ต้นแบบพระบรมรูป รัชกาลที่ ๖ ปี ๒๔๘๒
‘ท่านอาจารย์ครับ ทำไมถึงไม่ปั้นตามนี้ ผมว่าจะสง่ากว่ารูปจริงซึ่งสวมหมวก ดูแล้วเฉย ๆ ชอบกล’

ท่านยักไหล่ แล้วสั่นหัวอย่างท้อแท้ตอบว่า

‘เขาไม่เอา จะให้ฉันทำอย่างไร เขาบอกว่าท่านยืนตากแดดร้อนถ้าไม่สวมหมวก’

ท่านหัวเราะ ข้าพเจ้าก็เลยหัวเราะตามด้วย แต่ข้าพเจ้ารู้ว่าภายในใจของท่านคงขมขื่นมิใช่น้อย”

พระบรมราชานุสาวรีย์องค์นี้ ถือเป็นอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ที่หล่อขึ้นได้ภายในประเทศครั้งแรก เพราะทศวรรษก่อนหน้านี้ พระบรมรูปรัชกาลที่ ๑ ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ยังต้องส่งกลับไปหล่อในอิตาลี

ทว่าภายหลังจากที่หล่อสำเร็จเรียบร้อยและอัญเชิญพระบรมรูปขนาดสองเท่าครึ่งพระองค์ ขึ้นประดิษฐานเหนือแท่นฐานพระบรมราชานุสรณ์หน้าสวนลุมพินี มีผู้ให้ความเห็นว่าแท่นฐานนั้นมีขนาดไม่เหมาะสมกับพระบรมรูปที่มีขนาดใหญ่ ดูไม่สมพระเกียรติยศ จึงมีการเสริมเพิ่มความสูงของฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ให้สูงขึ้นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน  ซึ่งรองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร (ปี ๒๔๖๕-๒๕๒๒) แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยวิจารณ์ว่า “ก่อให้เกิดความรู้สึกที่แสนจะโดดเดี่ยว อ้างว้าง แกมทรมาน เพราะพระบรมรูปที่ตั้งบนฐานรูปชลูดและแคบ ๆ นั้น ให้ความรู้สึกที่จะหล่นลงได้ง่าย ๆ”
Image
อาจารย์ศิลป์ระหว่างปั้นม้าทรงของพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน
๒๔๙๗
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
วงเวียนใหญ่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
ออกแบบ : ศิลป์ พีระศรี 
ปั้น : สิทธิเดช แสงหิรัญ
พิธีเปิด : ๑๗ เมษายน ๒๔๙๗
ในปี ๒๔๗๗ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี ได้เสนอให้รัฐบาลสมัยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี จัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ณ กลางวงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี รัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบเพื่อนำออกตั้งแสดงในงานรัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๐ เพื่อขอมติมหาชน อันน่าจะเป็นกรณีเดียวกับที่ปรากฏในลายพระหัตถ์สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๔๘๐ หรือเพียงไม่กี่วันก่อนหน้างานรัฐธรรมนูญที่ว่า “ได้ยินว่านายเฟโรจี กำลังเขียนอนุสาวรีย์ขุนหลวงตากโดยคำสั่งให้ทำเป็นเสาสูงเท่าพระปรางค์วัดแจ้งบนยอดเสาให้เป็นโดม ที่โคนเสาให้มีรูปขุนหลวงตากทรงม้า มีฐานเป็นคั่นกะไดหนุน”

ในงานรัฐธรรมนูญปีนั้น ร้านกรมศิลปากรนำแบบพระบรมราชานุสาวรีย์มาแสดงถึงเจ็ดแบบ โดยผู้ชอบใจแบบใดก็ให้บริจาคทรัพย์เป็นคะแนนเสียงใส่ในตู้ที่อยู่ตรงหน้าภาพนั้น การนับคะแนนนับชิ้นหนึ่งเป็นหนึ่งเสียง ไม่คำนึงถึงมูลค่าของเงิน และเงินเหล่านั้นจะส่งเข้าสมทบทุนก่อสร้างอนุสาวรีย์ต่อไป
Image
Image
ภาพประติมากรรมประดับฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ แสดงความทุกข์เข็ญของราษฎรหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา และพระยาตาก (สิน) รวบรวมไพร่พลกู้บ้านเมืองอีกครั้ง
ผลปรากฏว่ามติมหาชนส่วนใหญ่ คือ ๓,๙๓๒ คะแนนเลือกแบบพระบรมราชานุสาวรีย์แบบที่ ๑ ซึ่ง “ทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมรี โคนมีกระดานหนีบข้างละสามแผ่น ปลายตั้งรูปพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงม้า สองข้างกระดานหนีบตั้งรูปทหาร มีฐานสองชั้น” จึงตกลงให้สร้างในลักษณะดังกล่าวแต่ต่อมาเกิดสงครามอินโดจีน ต่อด้วยสงครามมหาเอเชียบูรพา การดำเนินงานสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงชะงักไป กว่าจะเริ่มต้นอีกครั้งก็คือ ในปี ๒๔๙๑ โดยการผลักดันอีกครั้งหนึ่งของผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีคือนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และนายเพทาย โชตินุชิต  ในการนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้นพระบรมรูปในลักษณะทรงม้าแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๙๔ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเททองหล่อพระเศียรเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ปีเดียวกัน  เมื่องานก่อสร้างแท่นฐาน การตกแต่งบริเวณวงเวียนใหญ่ และการติดตั้งพระบรมราชานุสาวรีย์เรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๙๗
Image
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสิน น่าจะเป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ที่ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงที่สุด โดยเฉพาะเรื่องที่ว่า “ม้าหางชี้ จะขี้ใช่ไหม ?” จนถึงขนาดศิลปินต้องเรียบเรียงคำชี้แจงเป็นบทความ “ลักษณะม้าทรงของอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร เพื่ออธิบายแก่สาธารณชน
Image
สิทธิเดช แสงหิรัญ หนึ่งในลูกศิษย์คนสำคัญของ ศิลป์ พีระศรี ระหว่างตกแต่งส่วนประกอบต่างๆ ของพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์  น่าเสียดายที่เขาถึงแก่กรรมในปี ๒๕๐๐ ก่อนที่โครงการนี้จะแล้วเสร็จ
๒๕๐๒
พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์
อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี 
ออกแบบ : ศิลป์ พีระศรี 
ปั้น : พิมาน มูลประมุข สิทธิเดช แสงหิรัญ
พิธีเปิด : ๒๕ มกราคม ๒๕๐๒
ใน พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระบุว่าเมื่อปี ๒๑๓๕ ภายหลังสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถี ฟันพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้างแล้ว “ตรัสให้ก่อพระเจดีย์สถานสวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตระพังกรุ” ทว่าเมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่มีใครรู้เห็นว่าพระเจดีย์ดังกล่าวนั้นอยู่ที่ไหนหรือมีรูปร่างลักษณะอย่างใด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง-ราชานุภาพทรงเอาพระทัยใส่สอบสวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๕ แต่ยังไม่สำเร็จ จนเมื่อมีการค้นพบ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ จึงได้ความเพิ่มเติมว่ายุทธหัตถีครั้งนั้นเกิดขึ้นที่ตำบลหนองสาหร่าย สมเด็จฯ จึงให้ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีไปสืบดูว่าในเมืองสุพรรณฯ มีตำบลหนองสาหร่ายบ้างหรือไม่ ถ้ามี ให้พระยาสุพรรณฯ ลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่ามีเจดีย์โบราณอยู่แถวนั้นบ้างไหม ไม่นานพระยาสุพรรณฯ รายงานบอกเข้ามาว่า มี “ดอนพระเจดีย์” อยู่ในป่าที่ตำบลหนองสาหร่ายทางตะวันตกของตัวเมืองสุพรรณบุรี ชาวบ้านเล่าตำนานว่า “พระนเรศวรฯ กับพระมหาอุปราชาชนช้างกันที่ตรงนั้น” จึงให้คนช่วยกันถางป่าแล้วถ่ายรูปซากฐานเจดีย์นั้นส่งมาถวาย  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ พระองค์จึงเสด็จฯ พร้อมด้วยขบวนเสือป่า
ไปบวงสรวงเจดีย์องค์นี้เมื่อเดือนมกราคม ๒๔๕๖ และโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรออกแบบบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่เนื่องจากงบประมาณที่วางไว้สูงถึงเกือบ ๒ แสนบาท จึงต้องระงับไปก่อน
Image
จนถึงปี ๒๔๙๕ ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี จึงมีการตั้งคณะกรรมการบูรณะอนุสรณ์ดอนเจดีย์  พร้อมกับการสร้างเมืองใหม่ขึ้นในบริเวณโดยรอบ โดยให้กรมศิลปากรออกแบบอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และออกแบบเจดีย์ที่จะสร้างครอบซากฐานเจดีย์องค์เดิม โดยใช้เจดีย์ประธาน วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้นแบบ

ทางด้านหน้าเจดีย์ ด้านทิศตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพระคชาธารออกศึก ขนาดเท่าครึ่งพระองค์จริง หล่อด้วยสำริด ซึ่งกรมศิลปากรมอบหมายให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการปั้นหล่อ 
Image
ภาพ : มงคลสวัสดิ์ เหลืองวรพันธ์
Image
ส่วนพระเศียรของพระศรีศากยะฯ จัดแสดงในหอประติมากรรมต้นแบบ 
๒๕๒๕
พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ 
ประดิษฐาน ณ พุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ออกแบบ : ศิลป์ พีระศรี 
ปั้น/หล่อ : กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร 
พิธีสมโภช : ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕
พระพุทธรูปองค์นี้ออกแบบเป็นการเฉพาะเพื่อจัดสร้างเป็นพระพุทธรูปประธานของพื้นที่ที่กำหนดให้สร้างพุทธมณฑลในเขตอำเภอนครชัยศรีและอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษปี ๒๕๐๐ ดังคำรายงานของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ประธานกรรมการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษตอนหนึ่งระบุว่า

“ในการประชุมคณะกรรมการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่ประชุมได้มีความเห็นว่าพระพุทธรูปที่จะประดิษฐาน ณ พุทธมณฑลนั้นควรคิดแบบขึ้น เพื่อสร้างเป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาสถิตสถาพรมาได้ ๒,๕๐๐ ปี และในที่สุดเห็นว่าควรจะสร้างเป็นพระพุทธรูปปางลีลา โดยออกแบบให้ห่มผ้าลดไหล่ พาดสังฆาฏิ มีพระเกตุเปลวเป็นเครื่องหมายฉัพพรรณรังสี  การที่เลือกแบบพระพุทธรูปลีลา ก็เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญก้าวหน้า ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบด้วย และให้สร้างพระพุทธรูปแบบนี้ขึ้นแจกจ่ายไปยังจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรในโอกาสนี้ด้วย”
Image
แบบร่างพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งขึ้นรูปด้วยการปั้นเป็นรูปเปลือยที่มีกล้ามเนื้อ ก่อนจะปั้นจีวรทับในภายหลัง
พระพุทธรูปปางลีลา (เดิน) องค์นี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ออกแบบโดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางลีลา
ศิลปะสุโขทัย แต่ปรับให้มีลักษณะเป็นศิลปะร่วมสมัยยิ่งขึ้น มีเอกสารระบุด้วยว่ารัฐบาลให้จัดสร้างพระพุทธรูปแบบเดียวกันนี้ ขนาดสูง ๗๗ เซนติเมตร (รวมฐาน) ส่งไปเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่าง ๆ ๗๑ องค์ก่อน หลังจากนั้นให้จัดสร้างเพิ่มอีก ๕๐๐ องค์ สำหรับส่งไปประจำอำเภอและกิ่งอำเภอทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งยังมีการจัดสร้างเป็นเหรียญพระเครื่องทั้งเนื้อชิน (โลหะ) และเนื้อผง (ดิน) ชนิดละกว่า ๒ ล้านเหรียญ

แต่แล้วไม่กี่เดือนหลังการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษช่วงวันวิสาขบูชาเดือนพฤษภาคม เมื่อถึงเดือนกันยายน ๒๕๐๐ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้โครงการก่อสร้างพุทธมณฑลตลอดจนพระพุทธรูปปางลีลาที่จะเป็นประธาน ชะงักงันไปกว่า ๒๐ ปีจนถึงต้นทศวรรษ ๒๕๒๐ หลังจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมไปกว่า ๑๐ ปี จึงมีการรื้อฟื้นโครงการจัดสร้างพุทธมณฑล รวมถึงการขยายแบบเพื่อจัดสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นอีกครั้งโดยปรับลดความสูงลง จากเดิมที่ออกแบบไว้ให้ถึง ๒,๕๐๐ นิ้ว (๖๓.๕๐ เมตร) ตามวาระ ๒,๕๐๐ ปีของพระพุทธศาสนา เปลี่ยนเป็น ๒,๕๐๐ กระเบียด (๑๕.๘๗๕ เมตร) หรือลดขนาดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของโครงการที่วางไว้แต่เดิม แม้กระนั้นก็ยังเป็นพระพุทธรูปสำริดปางลีลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” เมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๔

มีเรื่องเล่าว่าระหว่างที่ศาสตราจารย์ศิลป์ออกแบบพระพุทธรูปองค์นี้ ที่ประชุมมีการถกปัญหาข้อที่ว่า ควรมีพระเกตุมาลา (หรือที่ในคำกล่าวรายงานเรียกว่า “พระเกตุ” คือพระรัศมีเหนือพระเศียร) หรือไม่  สุดท้าย การตัดสินใจได้มาจากกรรมการท่านหนึ่งซึ่งยืนยันว่าต้องมี “สำหรับเป็นสายล่อฟ้า”
Image