Image
ผศ. ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐ
Interview
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : ศรัณย์ ทองปาน
ถ่ายภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์, วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“ชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ ยังมีเรื่องให้ทำอีกมากในทางวิชาการ”
จากนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อ ๒๐ ปีก่อน จนถึงอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในวันนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐเป็นที่รู้จักในแวดวง ทั้งในฐานะนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ นักเขียน และคิวเรเตอร์งานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย นอกจากนั้นยังเป็นผู้สอนรายวิชาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย (Modern Art in Thailand) อาจารย์ธนาวิจึงมีสถานะทั้งเป็น “คนใน” ที่อยู่ท่ามกลางวงล้อมแห่งเรื่องราวว่าด้วยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือที่มักเรียกขานกันว่า “อาจารย์ศิลป์” มาอย่างยาวนานตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ขณะเดียวกันก็ยังมีสถานะเป็น “คนนอก” ในบทบาทผู้สังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทางสังคมและนิยามความหมายของนาม “อาจารย์ศิลป์” ในทางวิชาการอีกด้วย และนั่นคือเหตุผลที่ สารคดี เลือกมาคุยเรื่องนี้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนาวิ โชติประดิษฐ
ในฐานะนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร อยากให้เล่าให้ฟังว่าชาวศิลปากรมีประเพณี หรือมีความรับรู้เกี่ยวกับ “อาจารย์ศิลป์” อย่างไรบ้าง
เท่าที่ตัวเองเคยเห็น หลัก ๆ ก็คือวันอาจารย์ศิลป์ วันที่ ๑๕ กันยายนของทุกปีที่จะมีงาน มีการวางดอกไม้ร้องเพลง “Santa Lucia” ที่อนุสาวรีย์ของอาจารย์ศิลป์
ลานหน้าคณะจิตรกรรมฯ  เป็นวันที่ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันจะมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงอาจารย์ศิลป์ พูดง่าย ๆก็คือเป็นงานประจำปี ที่ทำหน้าที่รำลึกถึงหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร คนที่มีบทบาทสำคัญ อันนั้นคือสิ่งที่เป็นอีเวนต์ใหญ่ประจำปี

อีกส่วนหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของคำพูด ถ้อยคำต่าง ๆ รวมทั้งภาพของอาจารย์ศิลป์ อันนี้จะปรากฏตามสถานที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เป็นเหมือนคำขวัญ หรือมอตโต้ (motto) ที่อาจารย์ศิลป์ได้เคยพูดไว้ อย่าง “นายรักฉันนายไม่ต้องทำอะไร นายทำงาน” คือของพวกนี้เป็นอะไรที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของนักศึกษาและคนในมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวได้ว่าเราเห็นอาจารย์ศิลป์ทุกวัน รวมถึงเห็นคำพูด เห็นคำสอนของอาจารย์ศิลป์ด้วย
จากตอนที่ยังเป็นนักศึกษา จนกลับมาเป็นอาจารย์ในทุกวันนี้ มีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม
ที่เคยเห็นนี่คือตอนที่เรียนอยู่ที่นี่เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะบอกได้ว่า ตอนนั้นกับตอนนี้มีความแตกต่างในเชิงปริมาณมากน้อยแค่ไหน คือมันมีช่วงที่ไม่ได้อยู่ที่นี่ด้วย พอหลังจบปริญญาตรี ไปทำงาน ไปเรียนต่อ กลับมาเป็นอาจารย์ก็เมื่อ ๗ ปีก่อน แล้วยังมีช่วงที่วิทยาเขตนี้ปิดซ่อมอีกนาน จริง ๆ ก็กลับมาอยู่ที่นี่ได้แค่ไม่กี่ปี ก็เลยไม่สามารถบอกได้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรแค่ไหน เช่นจากตอนเป็นนักศึกษาถึงตอนนี้ ความคึกคักของงานรำลึกอาจารย์ศิลป์แตกต่างกันหรือเปล่า แต่เท่าที่เคยคุยกับนักศึกษาปัจจุบัน นักศึกษาก็จะรู้สึกว่าเป็นวันสนุก ๆ วันหนึ่ง ที่เขาจะได้ทำของมาขาย มาปาร์ตี้กัน  ที่จริงก็ไม่เคยถามนักศึกษาเหมือนกันว่าเขามีความซาบซึ้งหรือความอิน กับอาจารย์ศิลป์มากน้อยแค่ไหน  ถ้าเทียบกับศิษย์เก่าที่ปีหนึ่งเขาอาจจะมาหนเดียวในวันที่ ๑๕ กันยายน ซึ่งคงมีอารมณ์ความรู้สึกเยอะ แต่ถ้าให้ประเมินก็รู้สึกว่านักศึกษาปัจจุบันอาจจะไม่ได้อินมากเท่ากับคนรุ่นก่อน ๆ  แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รู้จัก เขาก็รู้จักแหละว่าอาจารย์ศิลป์เป็นบิดาของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่ถูกเน้นย้ำอยู่เสมออยู่แล้ว
Image
แต่มีอยู่ปีหนึ่งที่มีงานอาจารย์ศิลป์ จำไม่ได้ว่าปีไหน แต่ไม่เกิน ๓-๔ ปีมานี้ มีของที่ไปวางหน้าอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ ตรงที่เขาเอาของมาไหว้ แล้วที่ตลกมากคือมีพิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยนในกล่องกระดาษ คนอิตาเลียนเขาต้องไม่กินพิซซ่าที่มีสับปะรดแน่ ๆ (หัวเราะ) ก็ยังรู้สึกว่า ไหนว่าเทิดทูนอาจารย์ศิลป์ แล้วนี่เอาพิซซ่าฮาวายเอี้ยนมาไหว้เหรอ นี่เป็นของที่คนอิตาเลียนเขาไม่กินนะ !
แล้วถ้านอกศิลปากรออกไป อาจารย์ศิลป์มีที่ทางอย่างไรในประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย 
คือจริง ๆ แวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะไทยไม่ได้กว้างมาก สถานะของอาจารย์ศิลป์ก็คล้าย ๆ กับที่ว่ามาแล้ว แล้วก็ไม่มีใครเขียนอะไรกัน นอกจากการผลิตซ้ำประวัติไปมา หรือไม่ก็เอางานของอาจารย์ศิลป์มาพิมพ์ซ้ำใหม่ ลักษณะแบบนี้น่าจะเป็นข้อบ่งชี้ว่าสถานะของอาจารย์ศิลป์ก็เหมือนเดิม คือเป็นบิดาของศิลปะสมัยใหม่ เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปะ มันยังไม่มีแง่มุมใหม่อื่น ๆ มากไปกว่านั้นในเชิงการศึกษา นั่นไม่ได้แปลว่าไม่มีเรื่องอะไรให้ทำ แต่มันยังไม่มีใครคิดถึงแง่มุมอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ เพราะฉะนั้นการที่งานเขียน เรื่องเล่า หรือภาพของอาจารย์ศิลป์ยังไหลเวียนอยู่ทุกปี ๆ ซ้ำไปซ้ำมา โดยไม่มีแบบอื่นนอกจากแบบที่เป็นอยู่ ก็น่าจะบอกอะไรบางอย่างอยู่เหมือนกัน
ในความเห็นของอาจารย์ เรื่องของอาจารย์ศิลป์สามารถทำอะไรมากไปกว่านั้นได้ไหม
ได้ค่ะ แล้วเรื่องนี้สามารถใช้ได้กับทุกคน หมายถึงทุกคนที่มีคุณูปการบางอย่างต่อแวดวงใดแวดวงหนึ่ง คือเราสามารถพูดถึงเขาในแบบที่มากไปกว่าการเล่าประวัติก็ได้ และมันจำเป็นต้องทำได้ ถ้าเราคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีความคิดในเชิงวิชาการ คือคุณูปการของอาจารย์ศิลป์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่คุณูปการของอาจารย์ศิลป์ที่มีต่อแวดวงวิชาการทางศิลปะอาจจะเป็นอีกอย่าง หมายความว่าจะต้องมีนักวิชาการที่คิดขึ้นมาว่าเราจะพูดอะไรได้บ้างเกี่ยวกับคุณูปการของอาจารย์ศิลป์ สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับยุคสมัยที่อาจารย์ศิลป์ทำงานอยู่ได้หรือไม่ หรือว่าจะมีประเด็นอะไรที่เราจะพูดได้บ้างเกี่ยวกับการทำงานตลอดเวลาหลายสิบปี หลายทศวรรษที่คร่อมหลายรัชกาลของอาจารย์ศิลป์ แน่นอนว่าต้องมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในนั้น เพราะงานไม่ได้เป็นแบบเดิมแบบเดียวมาตลอด แล้วความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงที่อาจารย์ศิลป์ทำงานมันบอกอะไรแก่เราในแง่ความเป็นไปในโลกศิลปะในแต่ละช่วงเวลา เหล่านี้คือความเป็นไปได้ในเชิงวิชาการที่จะทำให้การศึกษาเกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์มีมิติอื่น นอกเหนือไปจากการเชิดชูเกียรติซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว
“มหาวิทยาลัยศิลปากรก็เป็นมรดกอันหนึ่งของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยังเป็นโรงเรียน หรือตอนที่เป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง ๑๕ ปีของคณะราษฎร (ปี ๒๔๗๕-๒๔๙๐) ด้วยกันทั้งหมด”
เนื้อหาของวิชาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย ครอบคลุมช่วงเวลาแค่ไหน
วิชาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นที่การมีภาพแบบเหมือนจริง เริ่มต้นที่ความเปลี่ยนแปลงในการทำงานศิลปะในสยาม จากแบบไม่เหมือนจริงไปสู่แบบเหมือนจริง ซึ่งรวมถึงจิตรกรรมฝาผนังของขรัวอินโข่ง การมีภาพเหมือนบุคคล ภาพเหมือนของรัชกาลที่ ๔ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม จิตรกรรม หรือภาพถ่าย คือเป็นยุคที่มีการติดต่อกับชาติตะวันตก แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงในการทำงานศิลปะแบบตะวันตก วิชานี้จะไปสิ้นสุดที่ทศวรรษ ๑๙๗๐ ที่กลุ่มแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย คือพวกศิลปะเพื่อชีวิตที่แอ็กทีฟมาตั้งแต่ตุลาคม ๒๕๑๖ ถึงตุลาคม ๒๕๑๙ แล้วสลายตัวไป เกิดการ “เข้าป่า” ตามมา
แล้วอาจารย์ศิลป์อยู่ตรงไหนในวิชาศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยที่อาจารย์สอน
อาจารย์ศิลป์จะอยู่ในช่วงก่อนสมัยคณะราษฎรและสมัยคณะราษฎร  ก่อนสมัยคณะราษฎรคือช่วงรัชกาลที่ ๖ ที่อาจารย์ศิลป์เข้ามา เราจะเห็นว่าอาจารย์ศิลป์ยังทำงานแบบคลาสสิกอยู่ เราจะเห็นรูปปั้น หรือประติมา-กรรมรูปบุคคลทั้งหลาย พอถึงสมัยคณะราษฎร ไม่เพียงแต่ว่ารูปแบบการทำงานของอาจารย์ศิลป์จะเปลี่ยนไปเป็นมีความกำยำ มีกล้ามเนื้อมากขึ้นเท่านั้น ยังมีบทบาทที่น่าสนใจด้วย คือการเป็นครูใหญ่โรงเรียนศิลปะ ซึ่งในที่สุดก็ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยศิลปะในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยศิลปากรก็เป็นมรดกอันหนึ่งของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ยังเป็นโรงเรียน หรือตอนที่เป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง ๑๕ ปีของคณะราษฎร (ปี ๒๔๗๕-๒๔๙๐) ด้วยกันทั้งหมด ก็คือเป็นส่วนหนึ่งของหลักหกประการของคณะราษฎร ที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษานั่นเอง เพียงแต่ว่าตรงนี้คือการศึกษาศิลปะ เพราะฉะนั้นบทบาทของอาจารย์ศิลป์ในวิชาที่สอนก็จะอยู่ทั้งช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ และหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย

แล้วหลังจากจบยุคคณะราษฎรแล้ว ก็ยังจะมีเรื่องให้พูดถึงอาจารย์ศิลป์อีกนิดหน่อย เพราะอาจารย์ศิลป์อยู่นาน อยู่มาจนถึงหลังยุคคณะราษฎร และเป็นคนที่ผลักดันให้มีการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งกลายเป็นเวทีที่เรียกได้ว่า “ครอบงำ” วงการศิลปะไทยในยุคนั้นพอสมควรเพราะเป็นเวทีประกวดที่สำคัญที่สุด และแน่นอนว่ารสนิยมทางศิลปะของอาจารย์ศิลป์และลูกศิษย์ลูกหาที่ได้กลายเป็นอาจารย์ และเป็นกรรมการการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ไม่ได้มีความหลากหลายมากนักเพราะสมัยนั้นไม่ได้มีใครไปเรียนกับคนอื่นมากเท่าไร ส่วนใหญ่ก็จะมีอาจารย์ศิลป์เป็นปูชนียบุคคล ต่อให้มีคนไปเรียนต่อต่างประเทศมา ความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาก  คือรวม ๆ แล้วไม่ได้มีความหลากหลายของรสนิยมหรือทัศนะทางศิลปะมากเท่าไรในศิลปกรรมแห่งชาติยุคแรก ๆ  เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ยังมีเรื่องให้ทำอีกมากในทางวิชาการ เพราะความยาวนานในการทำงานของเขา คือเราสามารถมองเห็นว่าในแต่ละยุคสมัยเกิดอะไรขึ้นในวงการศิลปะ แล้วอาจารย์ศิลป์ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในวงการ มีส่วนในการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้อย่างไร
Image
สมมุติว่าถ้าอาจารย์ศิลป์ไม่เคยมาเมืองไทยเลย ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร
ก็คงต้องมีศิลปินฝรั่งคนอื่นที่ถูกจ้างมาอยู่ดี เพราะเป็นความต้องการของราชสำนักตอนนั้น คือถ้าไม่เป็นอาจารย์ศิลป์ ก็ต้องเป็นคนอื่นอยู่ดี แต่สิ่งที่เราไม่มีทางรู้คือศิลปินต่างชาติคนอื่นที่เข้ามาอยู่เมืองไทยจะลุกขึ้นมาตั้งโรงเรียนศิลปะเหมือนอาจารย์ศิลป์ไหม เพราะว่าศิลปินจากต่างประเทศหลาย ๆ คนที่เข้ามาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะจากอิตาลี เข้ามาทำงานในเมืองไทยตั้งเยอะตั้งแยะ ยิ่งตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มีสถาปนิก วิศวกร จิตรกร เต็มไปหมด แต่ก็ไม่ได้เกิดการตั้งโรงเรียนสำหรับสาธารณชนอย่างที่เกิดขึ้น ก็เลยไม่รู้ว่า ต่อให้อาจารย์ศิลป์ไม่มา เป็นคนอื่นมา มันจะนำไปสู่การตั้งโรงเรียนแบบนี้ไหม แต่แน่นอนว่าเมื่อมีคณะราษฎรเกิดขึ้น จะต้องมีการตั้งโรงเรียนศิลปะแน่ ๆ แต่จะเป็นแบบเดียวกับที่อาจารย์ศิลป์ตั้งหรือเปล่า ตรงนี้ยังเป็นคำถาม เพราะว่าศิลปินที่จะต้องกลายมาเป็นคนวางหลักสูตรว่าเราจะเรียนรู้ศิลปะตะวันตกกันอย่างไร เขาอาจจะไม่ได้วางหลักสูตรแบบเดียวกับอาจารย์ศิลป์ก็ได้  
ผู้สนใจประเด็นทางวิชาการว่าด้วยการเขียนประวัติศิลป์ พีระศรี ดู ธนาวิ โชติประดิษฐ. “มองไปทางไหนก็เห็นแต่เทวดา”. อ่าน. ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๒ (กรกฎาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕).