Image
หมู่บ้านศิลปินในพิพิธภัณฑ์
Hidden (in) Museum
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ที่นี่อินดี้ตั้งแต่แนวคิดสร้าง-ถ้ารอให้ทุกอย่างเสร็จค่อยเปิดอาจสายไป
หลายศิลปินจึงลงขันซื้อที่ดินในเชียงใหม่ สะสมฝันที่มุ่ง ๑๕๐ ไร่ในเวลา ๕๐ ปี ปัจจุบันสะสมได้ ๕๕ ไร่ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ เปิดให้บริการ พร้อมก่ออาคารบนทุ่ง ปลูกต้นไม้สร้างระบบนิเวศ และรังสรรค์งานศิลปะควบคู่ ผู้มาชมช่วง ๒-๓ ปีแรกจึงไม่เห็นอะไรนัก ถึงวันนี้ก็เพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์จากแผน กระนั้นคณะผู้บุกเบิกก็ยึดกฎเหล็ก คือไม่กู้ทำสิ่งเกินตัว

พิพิธภัณฑ์จึงเติบโตเนิบนาบ แต่ก็ได้เห็นว่านอกจากอาคารสามห้องที่ใช้แสดงนิทรรศการหมุนเวียน โดยรอบยังออกแบบหลากมุมให้เหมาะกับหลายงานทัศนศิลป์ ทั้งจิตรกรรมประติมากรรมภาพพิมพ์ สื่อประสม ศิลปะสมัยใหม่ ผ่านวิดีโอ การแสดง ดนตรี บทกวี หัตถกรรมพื้นถิ่น ฯลฯ  บ่อยครั้งมีศิลปินสมัครเล่นมาใช้พื้นที่นำเสนอของดี คนทั่วไปนอกจากชื่นชมศิลปะยังสามารถร่วมเวิร์กช็อปกิจกรรมที่จัดขึ้นสม่ำเสมอทั้งวาดสีน้ำ ทำภาพพิมพ์ ปั้นดิน ฯลฯ
Image
อนาคตศิลปะแต่ละประเภทจะแยกอาคารตามแผนนับร้อยห้อง อย่างอาคารแสดงภาพพิมพ์ที่มีแท่นพิมพ์ขนาดใหญ่เรียงกันนับสิบ มีโกดังสำหรับเก็บกระดาษอาคารแสดงงานแอ็บสแทรกต์ อาคารแสดงงานละครไทย อาคารแสดงงานคราฟต์ ฯลฯ ยังจะมีโรงละครและเวทีกลางแจ้ง-ในร่ม มีสวนประติมากรรม (เวลานี้ในสวนเริ่มมีผลงานของศิลปินที่เคยใช้สถานที่จัดแสดงมอบไว้ให้)
Image
Image
เพื่อไม่ให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห้งแล้งจิตวิญญาณ ที่นี่จึงมี “หมู่บ้านศิลปิน”

ใช้ฉากหน้าที่เป็นสระน้ำและฉากหลังคือดอยแม่เมาะเป็นที่ตั้ง มีศิลปินไทย-ต่างชาติกว่า ๓๐ รายอาศัย (มีแผนสร้างอีกนับร้อยหลัง) นอกจากเป็นที่พำนัก-สร้างงานของศิลปินอาชีพ ยังมีนักศึกษาและที่เพิ่งเรียนจบร่วมพักพิงกินนอน ฝึกฝีมือกับศิลปินทั่วโลก ผู้เป็นดั่งครูศิลปะ นำผลงานหลากแนวจากหลายประเทศมาให้ศึกษาถึงที่ เป็นโอกาสที่คนรุ่นใหม่ใช้พื้นที่นี้ค้นหาตัวตน แล้วถ่ายทอดจิตวิญญาณออกมาจนเป็นแนวทางเด่น ภายใต้เงื่อนไขเดียวคือ ทุกคนมีโอกาสอยู่ที่นี่ไม่เกิน ๑๐ ปี ระหว่างนั้นต้องผลิตงานมาจัดแสดงเพื่อหารายได้และสร้างชื่อเสียงให้ตนเอง

ขณะเดียวกันวิถีชีวิตของชาวหมู่บ้านศิลปินก็จะเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่เปิดให้ผู้สนใจเสพ “ระบบนิเวศทางศิลปะแบบครบวงจร” ท่ามกลางทิวทัศน์พืชพรรณนานา โดยเฉพาะฤดูหนาวช่วงต้นปี ดอกฝ้ายคำ-สุพรรณิการ์สีเหลืองจะแข่งกันผลิสะพรั่งราวธรรมชาติร่วมส่งผลงานศิลป์จัดแสดง
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...ต้องมาดู  
Image
ตอนผมจะเริ่มสร้างที่นี่หลายคนบอกเพ้อเจ้อ เมืองไทยไม่เหมือนเมืองนอก คนไทยไม่ชอบเข้ามิวเซียม แต่เวลานั้นบ้านเรายังไม่มีอาร์ตมิวเซียมเลย จะบอกว่าคนไม่ชอบได้อย่างไร ถ้าเขาได้เห็นว่ามันช่วยจรรโลงใจ และมีงานจัดแสดงมากพอให้คนมาชมแล้วอิ่มตาอิ่มใจ ทำไมเขาจะไม่ชอบล่ะ  สถานะของที่นี่ใหญ่กว่าแกลเลอรี เราไม่เพียงสะสมและจัดแสดง มีคิวเรเตอร์ช่วยสร้างคอนเทนต์ ทำการตลาดขายงานแทนศิลปิน ยังมีแผนว่าวันหนึ่งเมื่อมีรายได้มากพอจะเจียดไว้ ๑๐ เปอร์เซ็นต์จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักสะสมและศิลปินที่ต้องการใช้เงินเพราะงานศิลปะไม่ได้ขายง่าย ถ้ารีบร้อนขายจะได้ไม่สมราคา เขาอาจเลือกนำงานมาจำนำไว้กับพิพิธภัณฑ์แทน เป็นการสนับสนุนให้ศิลปินมีความมั่นคงทางอาชีพ หรือหากวันหนึ่งนักสะสมเปลี่ยนใจไม่อยากสะสมต่อก็นำศิลปะที่เป็นดั่งสมบัติมาเสนอขายพิพิธภัณฑ์ได้”

พรชัย ใจมา 
ศิลปินจากรั้วศิลปากร หนึ่งในผู้ก่อตั้ง พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่