Image
การฟื้นคืนจิตใจ
สู่ชีวิตที่ปรกติสุข
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
เมื่อรู้สึกเครียด เหนื่อยกายเหนื่อยใจ สิ้นไร้เรี่ยวแรง “แบตฯ หมด” หรือ “ใจสลาย” คุณมีวิธี “ฟื้นคืนจิตใจ” สู่ความปรกติอย่างไร
ในแวดวงจิตวิทยาพูดถึงการฟื้นคืนหรือความยืดหยุ่นทางจิตใจ “ความฮึบ” หรือ emotional resilience มานานแล้วว่าเป็นสิ่งที่ช่วยรับมือกับความทุกข์ได้ราวกับมีพลังวิเศษติดตัว

“การฟื้นคืนทางจิตใจเป็นเหมือนลูกบอลที่ตกลงพื้นแล้วกระเด้งขึ้นมามันไม่ใช่แค่ “ชาร์จแบตฯ” อย่างที่เราพูดเวลาหมดแรง แต่เป็นการทำให้แบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ขึ้น” ดร. เบนจามิน ไวน์สไตน์ จิตแพทย์ผู้สอนหลักสูตร “ทักษะการฟื้นคืนสุขภาวะ” แก่บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยมาหลายปีกล่าว และบอกว่าความยืดหยุ่นทางจิตใจทำให้เราสามารถรับมือกับความเครียดความท้าทายในชีวิตได้

เขาเอ่ยว่าเราไม่อาจสร้างการฟื้นคืนทางจิตใจผ่านการเรียนหนังสือในชั้นเรียน แม้เราจะเรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมฯ จนจบมหาวิทยาลัย รวมเวลาเกือบ ๒๐ ปีก็ตาม เพราะโดยทั่วไปชั้นเรียนทั่วโลกไม่ได้สอนเรื่องนี้

ทว่าเราสามารถสร้างหรือพัฒนา “กล้ามเนื้อ” การฟื้นคืนจิตใจผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ประหนึ่งนักกีฬาที่สร้างและพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ด้วยการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ หรือคนทำสวนที่เฝ้ารดน้ำพรวนดินถอนหญ้าเป็นประจำเพื่อให้ต้นไม้ในสวนเจริญเติบโต

ดร. เบนจามินกล่าวว่า “ประตูบานแรก” สู่การฟื้นคืนจิตใจ คือยอมรับว่าปัญหาอุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ และความทุกข์หรือเครียดคือสัญญาณบ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง “ใคร ๆ ก็เป็นกัน” เมื่อยอมรับแล้วจะนำไปสู่ “ด่าน” หรือประตูบานต่อไป คือหยุดพักความคิดความเครียดผ่านกิจกรรมความรู้สึกตัว (อ่านเพิ่มเติมในล้อมกรอบ)

สอดคล้องกับ ลูซี โฮเน (Lucy Hone) นักวิจัยด้านการฟื้นคืนทางอารมณ์ที่กล่าวในปาฐกถา TED Talk เรื่อง “ความลับสามประการของการฟื้นคืนทางอารมณ์” ว่า จากการวิจัยด้านนี้นับสิบปีและประสบการณ์ตรงที่ต้องเผชิญหน้ากับความโศกเศร้าเสียใจด้วยสูญเสียบุตรสาวจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เธอพบว่าคนที่สามารถฟื้นคืนทางอารมณ์ได้ดีมักจะมีคุณสมบัติสามประการ
Image
ประการแรกคือยอมรับว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งและเป็นธรรมชาติของมนุษย์เหตุการณ์ร้าย ๆ อาจเกิดกับใครก็ได้ จะทำให้เราเปลี่ยนคำถามจาก “ทำไมต้องเป็นฉัน” เป็น “ทำไมจะเกิดเรื่องนี้กับฉันไม่ได้” “ฉันไม่ใช่คนโชคร้ายคนเดียวในโลกใบนี้”

ประการที่ ๒ คนที่ฟื้นคืนสู่ปรกติได้ดีมักเลือกได้ว่าจะให้ความสนใจเฉพาะสิ่งที่ควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงได้ และปล่อยวางสิ่งที่ควบคุมไม่ได้  อย่างไรก็ตามงานวิจัยส่วนใหญ่พบว่ามนุษย์จะพุ่งความสนใจไปที่เรื่องลบมากกว่าเรื่องบวก “ความคิดลบมักเกาะติดใจเราเหมือนตีนตุ๊กแก ส่วนความคิดบวกมักไหลลื่นเหมือนกระทะเทฟลอน”  ดังนั้นเราต้องฝึกมองเห็นประโยชน์หรือข้อดีของเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้น เช่น เธอบอกตัวเองว่าลูกสาวตายเพราะอุบัติเหตุ ดีกว่าตายเพราะเจ็บป่วยเรื้อรังยาวนานและแสนทรมาน

อันดับสุดท้ายคือแยกแยะได้ว่าสิ่งที่คิดหรือทำอยู่นั้นกำลังช่วยหรือทำร้ายเราซึ่งจะทำให้เราเลือกได้ว่าควรคิดและดำเนินชีวิตอย่างไร  “ฉันจะถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่าควรดำเนินคดีและไปเจอคนที่ขับรถชนลูกฉันไหม ถ้าไปแล้วจะช่วยหรือทำให้ฉันแย่กว่าเดิม” เธอจึงเลือกไม่ไปพบคนขับรถคนนั้นและยังนำรูปลูกสาวไปเก็บ เพราะการเห็นรูปลูกสาวทำให้เธอเจ็บปวดมากกว่าเยียวยา จากนั้นก็เข้านอนแล้วบอกว่า “จงเมตตาตัวเอง”

“การฟื้นคืนทางอารมณ์ไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่และตายตัว ไม่ใช่เรื่องที่คนหนึ่งมีแต่อีกคนไม่มี มันเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นได้ด้วยกระบวนการง่าย ๆ แค่เพียงเราเต็มใจ “ปล่อย” เรื่องนั้น ๆ ไป… ที่สำคัญคือเราไม่อาจฟื้นคืนหรือลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งจากเรื่องลบ ๆ” ลูซีสรุป
สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ปัญหาอุปสรรคท้าทายเราตลอดเวลาดังนั้นเพื่อการอยู่รอดอย่างมีสุขภาวะ
การฝึกฝนเพื่อสร้างกล้ามเนื้อแห่งการฟื้นคืนจิตใจจึงเป็นทักษะจำเป็นแห่งยุคสมัยอย่างยิ่ง  

Image