ปริศนาการจอดรถ
กับการปิดวิทยุ
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
ถ้าคุณขับรถได้ หรือแม้แต่ขับรถไม่ได้ ต้องติดรถไปกับคนอื่น คุณอาจเคยเห็นนิสัยแบบหนึ่งที่ชวนให้งุนงงสงสัย ทำไมคนที่กำลังมองหาสถานที่ที่ไม่เคยไป หาที่จอดรถ หรือขยับรถเพื่อจอดจึงมักหรี่หรือปิดเสียงวิทยุเสมอ
เสียงจากวิทยุต้องใช้หูฟัง เกี่ยวอะไรกับการที่ต้องใช้ตาดู ?
รถยนต์ใหม่ ๆ บางรุ่นถึงกับตั้งค่าไว้เป็นระบบอัตโนมัติเลยว่า เมื่อเซนเซอร์ของรถตรวจพบวัตถุใกล้เคียงตอนที่กำลังจะจอดรถ ระบบจะหรี่เสียงจากวิทยุลงทันที แสดงว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อคนขับรถอย่างไม่ต้องสงสัย
เรื่องเหลือเชื่อก็คือ การลดความดังหรือปิดวิทยุช่วยให้จอดรถหรือหาจุดที่ต้องการได้ดีขึ้นจริง ๆ เพราะธรรมชาติของคนเราไม่มีความสามารถทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อม ๆ กัน (multitasking) อยู่จริงเราเพียงแต่สลับระหว่างงานต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างรวดเร็วมาก และสมองประมวลผลข้อมูลได้อย่างจำกัดในห้วงเวลาหนึ่ง ๆ
การลดปริมาณข้อมูลเสียงที่ได้ยินจึงทำให้สมองหันมาทุ่มเทกับข้อมูลภาพได้ดีขึ้น !
ที่น่าประหลาดใจเพิ่มมากขึ้นไปอีกก็คือ ประเภทของเพลงก็มีผลแตกต่างกันไปด้วย ไม่น่าแปลกใจที่เพลงคลาสสิกส่งผลน้อยสุด แต่ที่น่าแปลกใจคือแนวเพลงที่เรารู้สึกว่าฟังสบาย ๆ อย่างแจซและบลูส์ กลับทำให้เสียสมาธิมากกว่า
เรื่องนี้ไม่ได้จบลงแค่การจอดรถอย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันกับการพูดคุยทางโทรศัพท์อีกด้วย การพูดคุยในรถทำให้เสียสมาธิบ้างอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การคุยผ่านโทรศัพท์ยิ่งต้องใช้สมาธิมากกว่า ขณะที่ผู้โดยสารอาจช่วยมองถนนและหยุดพูดคุยเมื่อเห็นว่าคนขับอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการสมาธิ แต่อีกฟากหนึ่งของโทรศัพท์กลับไม่รับรู้สถานการณ์ใด ๆ ของฝั่งนี้เลย
ยิ่งคุยเรื่องหนัก ๆ หรือต้องใช้ความคิดมากก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะขาดสมาธิและขาดสติจดจ่อกับการจราจรเบื้องหน้ามากขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ผู้โดยสารยังอาจมองเห็นอันตรายบางอย่างที่ผู้ขับขี่มองข้าม หรืออาจใจลอยไปชั่วขณะ หรืออยู่ในจุดบอดของคนขับ จึงช่วยชดเชยความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุลงได้
ดังนั้นต่อให้มีอุปกรณ์จำพวก “แฮนด์ฟรี” ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะปลอดภัยเมื่อใช้มัน แม้ว่าใช้ดีกว่าไม่ใช้ แต่ไม่ใช้เลยหรืออีกนัยหนึ่งไม่พูดคุยโทรศัพท์ขณะขับน่าจะดีที่สุด และเป็นมาตรการความปลอดภัยในการขับขี่ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด
นี่ยังไม่รวมการพิมพ์ข้อความ (text) หากัน ซึ่งแย่ไปกว่าการคุยโทรศัพท์เสียอีก
กลับมาที่เรื่องการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันอีกครั้งมีความเชื่อผิด ๆ ว่า คนเราทำหลาย ๆ อย่างได้พร้อมกันโดยไม่สูญเสียประสิทธิภาพหรือมีประสิทธิภาพลดลงน้อยมาก แต่ความจริงก็คือการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันเพิ่มโอกาสความผิดพลาดมากถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์
เรื่องที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไม่ช่วยทำให้งานแต่ละชิ้นเสร็จเร็วขึ้นเลย เพราะเราใช้เวลากับแต่ละงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวด้วยซ้ำไป
คราวหน้าลองจับเวลาที่ใช้มองหาจุดหมายหรือจอดรถดู โดยเปรียบเทียบระหว่างการทำเช่นนั้นแล้วเปิดหรือปิดเสียงจากวิทยุ
แต่หลายคนก็โดนหลอกจากพฤติกรรมที่เกิดจากความคุ้นเคย เช่น เราคิดว่าแทบไม่ต้องใช้ความตั้งใจในการขับรถผ่านเส้นทางซ้ำ ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าไปยังโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือออฟฟิศเลย เพราะสมองจดจำเส้นทางพวกนั้นดีจนเข้าสู่โหมด “นักบินอัตโนมัติ (autopilot)”
อันที่จริงความเคยชินแบบนี้รุนแรงมาก คนที่ต้องขับไปเส้นทางคล้ายกับที่ไปออฟฟิศหรือกลับบ้าน แต่ต้องแยกไปจุดใดจุดหนึ่งก่อนน่าจะเคยมีประสบ-การณ์ขับหลุดเส้นทาง กลายเป็นมุ่งไปออฟฟิศหรือกลับบ้านมาแล้ว จนต้องวนรถกลับเข้าเส้นทางอีกครั้ง
การขับรถบนทางด่วนที่ถนนโล่งก็คล้ายคลึงกัน คือทำให้เราผ่อนคลายได้มากกว่าปรกติ เพราะสมองทำงานน้อยกว่าปรกติ เนื่องจากถนนโล่ง ๆ จึงไม่ต้องเครียดตั้งสมาธิจดจ่อกับการขับมากมายอะไร
หลาย ๆ คนที่ขับรถเป็นประจำและชำนาญในการขับเข้าที่จอด ก็จะรู้สึกว่าใช้ความพยายามน้อยมาก จนไม่จำเป็นต้องหรี่เสียงเพลงก็ได้
นอกจากนี้เสียงเพลงช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนหลายชนิด เช่น โดปามีน เซโรโทนิน หรือนอร์เอพิเนฟริน ที่มีประโยชน์โดยรวมกับอารมณ์ความรู้สึกและยังช่วยทำให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีและรวดเร็วขึ้น
แต่คงต้องย้ำว่าพวกนี้ถือเป็นแค่คนส่วนน้อยเท่านั้น
สมองมนุษย์พัฒนาบนพื้นฐานของการทำทีละอย่างต่อเนื่องกันไป การทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน สำหรับสมองแล้ว
คือการสลับไปมาระหว่างการทำแต่ละงานอย่างรวดเร็วแค่นั้นเอง จะบอกว่าสมองของเราไม่ได้รับการฝึกฝนมาให้ทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันก็คงไม่ผิด
ช่วงวัยก็มีผลต่อการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน วัยรุ่นที่สมองพัฒนาในยุคอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนแพร่หลาย ดูจะสลับความคิดไปมาได้คล่องแคล่วกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้เป็น multitasking อย่างแท้จริงอยู่ดี และแย่ไปกว่านั้นคือคนรุ่นนี้จดจ่อกับอะไรได้ไม่นาน จนเป็นโรคสมาธิสั้นไปตาม ๆ กัน
คราวหน้าลองสังเกตดูตัวเองหรือคนรอบตัวก็ได้ เช่น หากคุณกำลังเดินอยู่ข้างถนน แล้วจู่ ๆ มีโทรศัพท์เรียกเข้าเป็นไปได้มากว่าคุณจะเดินช้าลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้าเรื่องที่คุยจริงจังมากหรือเป็นการแจ้งข่าวร้าย ส่วนใหญ่มักจะหยุดยืนเพื่อคุย
สมองเราไม่สามารถสั่งการให้ทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้จริง ๆ จึงต้องลดกิจกรรมหรือหยุดกิจกรรมบางอย่าง เพื่อทำกิจกรรมเร่งด่วนตรงหน้าให้ดีที่สุด
มีนักจิตวิทยาที่เปรียบเทียบการตั้งสมาธิในการทำอะไรสักอย่างว่า คล้ายกับมีตัวกรอง (filter) โดนัลด์ บรอดเบนต์ เสนอแบบนี้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๙ โดยเปรียบเทียบว่าข้อมูลทั้งหมดที่ผ่านประสาทสัมผัส ไม่ว่าสิ่งที่มองเห็น ได้ยินเสียง รับรู้สัมผัส ฯลฯ จะคงอยู่ในจิตใจเป็นระยะเวลาสั้นมาก ๆ
จากนั้นสมองต้อง “ตีความ” ทุกอย่างเพื่อทำความเข้าใจ ซึ่งสมองมีความสามารถตรงนี้จำกัด เพราะข้อมูลมีมากมายมหาศาลและต่อเนื่อง
แม้การเปรียบเทียบแบบนี้จะทำให้เกิด “ภาพลักษณ์” ที่เข้าใจได้ง่าย ๆ แต่ก็ยังถือว่าจำลองสถานการณ์การทำงานจริงของสมองได้ไม่ดีนัก และไม่สอดคล้องนักกับความรู้ด้านสมองใหม่ ๆ
นักจิตวิทยาอีกคนคือ เนวิลล์ มอเรย์ ได้ทดลองใน ค.ศ. ๑๙๖๐ จนมีข้อสรุปว่า หากเราฟังคำพูดจากสองแหล่งที่เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ได้รับคำสั่งให้ตั้งสมาธิฟังเพียงข้อมูลชุดเดียวจากแหล่งเดียว ถึงแม้จะตั้งอกตั้งใจเพียงใด แต่คนจำนวนมากก็ยังอดไม่ได้ที่จะได้ยินชื่อตัวเองเมื่อคนอีกกลุ่มเอ่ยขึ้นมา
แสดงให้เห็นว่าแม้จะไม่ได้ตั้งใจฟังเสียงจากอีกแหล่งเลย แต่ข้อมูลจากการรับฟังเสียงก็ยังเล็ดลอดเข้าหูและผ่านการประมวลผลของสมองเพื่อหาความหมายอยู่ดี จึงบอกได้ว่ามีคนพูดชื่อเราอยู่
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
คำตอบเรื่องนี้มาในรูปของทฤษฎีการตรวจจับสัญญาณ (signal detection theory) โดยการศึกษาของแอนน์มารี
บอนเนล และ เออร์วิน แฮฟเตอร์ ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ ข้อมูลที่ได้จากการทดลองทำให้นักวิจัยทั้งคู่สรุปว่า สมองตัดสินใจบนข้อมูลกำกวมที่มาจากการรับสัมผัสต่าง ๆ คล้ายกับที่เรดาร์ตรวจจับสัญญาณว่า มีเครื่องบินบินเข้ามาในบริเวณที่ตรวจสอบอยู่หรือไม่
แม้ว่าจะฟังดูมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบ ไม่แตกต่างจากแนวคิดเรื่องตัวกรองแต่ความเหนือกว่าคือทั้งคู่นำเสนอสมการทางคณิตศาสตร์ของเรื่องนี้ไว้ด้วย และผลการทดลองก็เน้นย้ำว่าผลส่วนใหญ่เทียบได้กับการกวาดจับสัญญาณของเรดาร์จริง ๆ ด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่งานวิจัยดังกล่าวบอกได้คือ สมาธิที่จดจ่อกับเรื่องการมองเห็นและการได้ยินรวมกันนั้นมีค่าจำกัดและมีรูปแบบแน่นอน หากจดจ่อกับภาพมากจะมีสมาธิในการได้ยินน้อยลง และในทางกลับกันก็เป็นจริงด้วย
แต่การรับรู้การมีอยู่ของข้อมูลต่าง ๆ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อสมองระบุว่า มันมี “ความหมาย” บางอย่างที่สำคัญต่อเรา แม้ว่าสัญญาณจากพวกมันจะพุ่งเข้าหาเราตลอดเวลาไม่เคยหยุดหย่อน แต่ถ้าสมอง “ตีความ” ว่าข้อมูลพวกนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเรา ก็จะคัดทิ้งโดยอัตโนมัติ
ทั้งหมดนี้คือคำอธิบายว่า เหตุใดการหรี่หรือปิดวิทยุขณะจอดรถจึงเป็นเรื่องปรกติของธรรมชาติของมนุษย์