ภาพถ่ายในงานเลี้ยงวันเกิดอาจารย์ศิลป์ปีสุดท้าย 
๑๕ กันยายน ๒๕๐๔ ที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

The Prince & I :
Corrado Feroci and
HRH Prince Narisra of Siam
“ปริ๊นซ์นริศ” กับนายเฟโรจี
: ศิลปะข้ามวัฒนธรรม
ภาค 2
๑๐๐ ปี ศิลป์ สู่สยาม
เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
เอื้อเฟื้อภาพเก่า : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
ภาพถ่าย : ประเวช ตันตราภิรมย์
ย้อนกลับไปยังทศวรรษ ๒๔๖๐ อีกครั้ง
ในเดือนพฤศจิกายน ๒๔๖๘  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จฯ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา สืบราชสันตติวงศ์ทรงครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ 

ด้วยปัญหาด้านการคลังจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก หนึ่งในนโยบายเฉพาะหน้าของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือการลดค่าใช้จ่ายทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้

๑๙ เมษายน ๒๔๖๙ มีพระบรมราชโองการประกาศยุบเลิกกรมศิลปากร ความว่า “เนื่องจากที่เงินรายได้ของแผ่นดินไม่พอกับรายจ่ายนั้น ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า เปนการจำเปนที่ควรจะยุบเลิกกรมศิลปากรเสีย เพื่อตัดรายจ่ายเงินแผ่นดินให้เข้าสู่ดุลยภาพ”

เดือนมิถุนายน ๒๔๖๙ ช่างฝรั่งสี่นายจากกรมศิลปากรเดิม รวมทั้งหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร (ปี ๒๔๓๒-๒๔๗๘) สถาปนิกผู้สำเร็จการศึกษาจากเอกอลเดโบซาร์ (École des Beaux-Arts / School of Fine Arts) ของฝรั่งเศสถูกโอนย้ายจากกรมศิลปากรไปยังศิลปากรสถาน ขึ้นตรงกับหน่วยงานราชบัณฑิตยสภาที่ตั้งขึ้นใหม่ โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิ-เทพสรรค์เป็นผู้อำนวยการศิลปากรสถาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ทรงอยู่นอกราชการ ให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสภา ฝ่ายศิลปากร

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปลายปี ๒๔๖๙ สมเด็จฯ ทรงอธิบายแนวคิดเบื้องหลังการโอนย้ายช่างฝรั่งเหล่านี้ว่า
“การช่างจะเจริญไม่ได้นอกจากตั้งเปนโรงเรียนช่างรับคนเข้าฝึกหัดทำการของพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวแลการของรัฐบาล การของบ้านเมือง เอางารที่ทำเปนบทเรียน เอาฝรั่ง ๔ คนนั้นเปนครู...เปนต้นว่าวิชาทำรูปหุ่นให้เหมือนคนนั้นคนนี้ เช่นกำลังทำพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลานี้ ซึ่งคนไทยังไม่มีใครทำได้สักคนเดียว จะต้องเริ่มเรียนปั้นแลหล่อไปจนฉลักหินได้”
แน่นอนว่าพระบรมรูปที่ทรงกล่าวถึงนี้คือผลงานของนายเฟโรจีนั่นเอง

จากพระบรมรูปเฉพาะส่วนพระเศียร ที่รัชกาลที่ ๖ ประทับเป็นแบบให้เขาปั้น ภายหลังเสด็จสวรรคต งานชิ้นนั้นได้กลายเป็นต้นแบบสำหรับปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขนาดเท่าพระองค์ขึ้นในปีต่อมาเพื่อหล่อเป็นสำริด นำไปประดิษฐานร่วมกับพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง

อันเป็นที่มาของภาพถ่ายสำคัญภาพหนึ่ง ตรงกลางคือพระบรมรูปรัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานบนโต๊ะหมุนสำหรับปั้นรูป ด้านขวาคือสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ในฉลองพระองค์เสื้อราชปะแตนและโจงกระเบน ส่วนทางซ้ายมือคือนายเฟโรจีในชุดสากลสีขาว ซึ่งน่าจะถ่ายในช่วงราวปลายปี ๒๔๖๙

ขณะเดียวกัน นับแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี ที่กำลังจะมาถึงในปี ๒๔๗๕ ว่าขณะนั้นราชอาณาจักรสยามกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ดังนั้นการที่รัฐบาลจะจัดการเฉลิมฉลองใด ๆ ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่พึงได้รับให้มากที่สุด

ในการนี้ทรงมีพระราชดำริว่าสมควรสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  ในปี ๒๔๗๐ จึงมีการตั้งคณะกรรมการจัดสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ขึ้น เพื่อร่วมกันพิจารณาว่า “ควรทำเป็นลักษณะอย่างไร และจะสร้างขึ้นที่ไหนด้วยวิธีอย่างไร”

ในการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๗๑ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเสนอให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ เนื่องจากขณะนั้นมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกแล้วได้แก่สะพานพระราม ๖ เป็นสะพานสำหรับทางรถไฟสายใต้โดยเฉพาะ ทว่าสะพานแห่งที่ ๒ นี้จะสร้างให้เป็นสะพานสำหรับรถยนต์ เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ เข้ากับธนบุรี โดยมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติ โดยเฉพาะ ดังมีความจากบันทึกการประชุมตอนหนึ่งว่า
“เห็นว่าไม่มีอะไรดีกว่าที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกสะพานหนึ่ง เป็นสะพานที่ ๒ สำหรับทางรถและคนเดิรในสูนย์กลางแห่งพระนครเพื่อเชื่อมการคมนาคมระวางจังหวัดพระนครและธนบุรี...

“ส่วนพระบรมราชานุสาวรีย์อันเป็นพระบรมรูปเพื่อเฉลิมพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ยังจะทำได้อีก คือสร้างพระบรมรูปประดิษฐานพร้อมด้วยคำจารึกเป็นอักษรขึ้นไว้ในฝั่งพระนครใกล้กับที่สะพานนั้น”

ท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยตามความเห็นดังกล่าว ว่าควรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะถ้าทิ้งไว้ไม่สร้างในคราวนี้ก็ต้องเสียเวลาอีกนานกว่าจะสร้างได้ โดยเงินที่สร้างนั้นใช้การเรี่ยไร โดยจะพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นประเดิม ๒ ล้านบาท และหากเงินยังขาดอยู่ให้เป็นส่วนที่รัฐบาลออก ส่วนพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น เห็นควรให้สร้างใกล้ ๆ สะพาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการสร้างสะพาน

สะพานนั้นจะมีนามว่าสะพานพระพุทธยอดฟ้า และเมื่อหมายรวมถึงพระบรมรูปด้วย จะออกนามว่า “ปฐมบรมราชานุสรณ์”

องค์เสนาบดีทรงให้กองแบบแผน กรมรถไฟหลวง เป็นผู้ออกแบบโครงการ  บริษัท ดอร์แมนลอง จำกัด (Dorman
Long & Co.,Ltd.) ประเทศอังกฤษ ผู้ชนะการประมูลเริ่มลงมือทำตอม่อสะพานฝั่งพระนครในเดือนธันวาคม ๒๔๗๒ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในเดือนต่อมา คือมกราคม ๒๔๗๒

สะพานพระพุทธยอดฟ้าเป็นสะพานเหล็ก ยาว ๒๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๑๖.๖๘ เมตร ตอนกลางสามารถยกขึ้นได้ด้วย
แรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง ๖๐ เมตรให้เรือใหญ่ผ่านเข้าออกได้สะดวก ฐานสะพานก่ออิฐประดับหินอ่อน ทางลาดฝั่งพระนครทำเป็นวงโค้งคล้ายเกือกม้า ทางด้านซ้ายให้รถขึ้นสะพาน ทางขวาสำหรับรถขาลง ตรงกลางโค้งของทางลาดนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบพระบรมรูป โดยกรมพระนริศฯ ทรงนำร่างแบบแปลนพระบรมรูปขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัย ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๒ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว นายเฟโรจีอาจารย์ช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถาน ราชบัณฑิตยสภา เป็นผู้ปั้นหุ่นพระบรมรูป

เมื่อปี ๒๕๐๗ สุข อยู่มั่น ช่างปั้นช่างหล่อ วัย ๕๐ เศษ ผู้ร่วมงานคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนั้น เล่าให้ กรกฎ หลักเพชร นักเขียนของนิตยสาร ชัยพฤกษ์ ฟังว่า เขาเข้ารับราชการที่ศิลปากรสถานเมื่อปี ๒๔๗๓ ขณะอายุประมาณ ๑๗-๑๘ ปี และได้พบนายเฟโรจีครั้งแรกในระหว่างงานปั้นพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์
“เมื่อเข้าไปในห้องปั้น หลังกองหัตถศิลป์ในบริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากรปัจจุบัน ก็ตกตะลึง ที่ได้เห็นพระบรมรูปฯ ปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า”
Image
แบบร่างของพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

นายสุขจำได้ว่าพบกับเฟโรจี ผู้มีอายุราว ๔๐ ปี อยู่ใน “ชุดกางเกงจีนขาวขายาว เสื้อเชิร์ตขาวธรรมดา กำลังขะมักเขม้นปั้นพระบรมรูปฯ ง่วนอยู่คนเดียว” จากนั้นจึงได้รับหน้าที่ช่วยผสมปูนส่งให้เฟโรจีที่อยู่บนนั่งร้านทีละกระป๋อง ๆ เขายังเล่าถึงการทำงานของเฟโรจีว่า “เป็นผู้ที่รักและเคารพในงานศิลปะอย่างแท้จริง โดยจะมาทำงานแต่เช้า ตลอดวันไม่ใคร่จะอยู่นิ่ง มีอารมณ์เยือกเย็นสุขุมอยู่เป็นนิจ” ในการทำงานปั้นพระบรมรูปนี้ นายเฟโรจีเป็นผู้ปั้นเองทั้งหมดโดยมีนายสุข อยู่มั่น และนายแช่ม แดงชมภู เป็นลูกมือ รวมถึงยังมีช่างชาวจีนแต้จิ๋วอีกคนหนึ่ง ชื่อนายเป็งคุน มาช่วยงานหล่อลวดลายปูนปั้น ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระนริศฯ ทรงออกแบบ เช่น รูปครุฑจับนาคประดับพระที่นั่งกง ตลอดจนลวดลายฉากหลังพระบรมรูปฯ เป็นต้น

นายสุขได้ทราบภายหลังว่าก่อนหน้านี้เฟโรจี “ได้จำลองพระบรมรูปฯ ขนาดพระองค์จริงด้วยปูนพลาสเตอร์ไว้รูปหนึ่งโดยอาศัยการถอนพิมพ์พระพักตร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจากหอพระเทพบิดร ในด้านพระวรกายก็ได้คัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นหุ่นจำลองอย่างพิถีพิถันที่สุด ก็เลือกได้นายไฮ้ ชายฉกรรจ์ชาวบ้านช่างหล่อ จังหวัดธนบุรี ผู้มีร่างกายใหญ่โต กำยำล่ำสัน ผิวดำ หน้าตาท่าทางบึกบึน นุ่งกางเกงตัวเดียวมานั่งเป็นหุ่น ถอดแบบบุคลิกลักษณะของชายไทยที่แข็งแรง มีรูปลักษณ์นักรบ”

นอกจากนั้นเขายังได้รับรู้มาด้วยว่า
“ระยะแรกออกแบบพระบรมรูปฯ มิได้มีลักษณะ เช่นปัจจุบัน ต่างที่ พระองค์ทรงจับพระแสงดาบไว้ข้างพระวรกาย เน้นความหมายไปในทางว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตราธิราชยอดนักรบ  ต่อมากรมพระนริศฯ ก็เสด็จเข้ามาในห้องปั้น...สมเด็จฯ ทรงพินิจพิเคราะห์ไตร่ตรองพระทัยอยู่เป็นเวลานาน  ครั้นแล้วก็ทรงติอย่างจริงจังในเรื่องการจัดพระราชอิริยาบถว่าไม่ใคร่น่าดู มีความหมายแต่เพียงด้านเดียว ไม่สมพระเกียรติ ควรที่จะจัดพระราชอิริยาบถให้มีความหมายสมบูรณ์มากขึ้น ว่านอกจากจะทรงเป็นยอดนักรบแล้วพระองค์ยังทรงเป็นนักการปกครองที่ใฝ่พระราชหฤทัยทำนุบำรุงประเทศชาติ และพระศาสนาให้จรัสจำรูญ”
ด้วยเหตุนั้น นายเฟโรจีจึงต้องเปลี่ยนท่าทางของพระบรมรูปเสียใหม่ ให้มาพาดพระแสงดาบไว้บนพระเพลา
“จนเป็นที่ต้องพระทัย สมเด็จฯ จึงให้นำเครื่องขัตติยาภรณ์มาประดับ โดยพระองค์ท่านทรงเป็นผู้จัดแต่งแม้แต่กลีบและรอยย่นของฉลองพระองค์อย่างประณีต  เมื่อปั้นขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบในขนาดพระองค์จริง แล้วจึงขยายขึ้นเป็นประมาณสามเท่า ด้วยการผูกโครงเหล็ก และใช้ลวดตาข่ายหุ้มห่อพอเป็นโครง และใช้ปูนพลาสเตอร์พอกขึ้นปั้นตกแต่งไปตามลำดับ จนบริบูรณ์เท่าแบบจำลอง”
ส่วน ประยูร อุลุชาฎะ (ปี ๒๔๗๑-๒๕๔๓) ผู้ใช้นาม ปากกา น. ณ ปากน้ำ นักเขียนนักค้นคว้าศิลปะโบราณและลูกศิษย์รุ่นหลังสงครามโลกของนายเฟโรจี เคยเล่าเรื่องการเปลี่ยนท่าทางของพระบรมรูปไว้ว่า มิใช่เพียงแค่การเปลี่ยนเอาพระแสงดาบมาวางพาดบนพระเพลาเท่านั้น
“ข้าพเจ้าเคยได้เห็นภาพเสคทช์ของอนุสาวรีย์พระปฐมบรมราชานุสรณ์ ท่าทางที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าประทับนั่งบนพระราชอาสน์สวยงามสง่ามาก คือเอนพระอังสาเล็กน้อย พระบาทวางเหลื่อมกัน โดยพระบาทข้างที่พระอังสายื่นออกมานั้นอยู่เบื้องนอก พระพักตร์เชิดอย่างสง่า ท่าแบบนี้เป็นท่าที่จัดไว้อย่างสวยงามมีชีวิตชีวา ไม่ดูประทับนั่งเฉย ๆ อย่างที่เห็นปัจจุบัน ข้อนี้ข้าพเจ้ารู้ความจริงภายหลังว่าคณะกรรมการได้ติชมแก้ไขพระบรมรูปให้เป็นท่าทางปัจจุบันนี้เอง เพราะเหตุนี้จึงออกเป็นเรื่องขมขื่นของ ท่านปฏิมากรเอกมิใช่น้อย ด้วยคณะกรรมการมิได้เพ่งเล็งความงามในแง่ศิลป หากแต่มุ่งพิจารณาในด้านพระราชจริยานุวัตรเป็นสำคัญ”
นายสุข อยู่มั่น เล่าต่อไปว่า วันหนึ่งในตอนปลายปี ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ยังห้องปั้นพระบรมรูปฯ โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์  หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร พร้อมด้วยนายเฟโรจี คอยเฝ้ารับเสด็จ ขณะนั้นพระบรมรูป
“ตั้งตระหง่านอยู่บนแท่นเหล็กและมีล้อเลื่อนเคลื่อนที่ได้โดยรอบ  หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ฯ ทรงให้อาณัติสัญญาณโดยยกพระหัตถ์ ให้คุณสุข อยู่มั่นกับพวกอีก ๓ คน ใช้ไม้พลองสอดช่องใต้ฐานพระบรมรูปฯ หมุนให้เคลื่อนโดยรอบทีละองศา และสมเด็จกรมพระนริศฯ ทรงกราบบังคมทูลถวายคำชี้แจงอย่างละเอียดถี่ถ้วน  เมื่อเคลื่อนพระบรมรูปฯ ครบรอบยังจุดเดิมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินเข้ามาใกล้ชิดพระบรมรูปฯ มีพระดำรัสว่า ดีมาก เหมือนมาก ช่างเหมือนรัชกาลที่ ๑ เสียจริง ๆ”
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว นายสุขจำได้ว่าเฟโรจีถึงกับออกปากด้วยความประหลาดใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเคยพบพระพักตร์และพระองค์ที่แท้จริงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้อย่างไร ? แต่เหนืออื่นใด เฟโรจีตระหนักดีว่า พระราชดำรัสนั้นคือ “พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระทัยชมเชยและพระราชทานกำลังใจแก่ศิลปินนั่นเอง”
Image
ศาสตราจารย์ศิลป์ (สวมแว่นดำ ใส่หมวกกะโล่) ตรวจดูความเรียบร้อย ก่อนยกองค์พระเจ้าตากสินขึ้นประดิษฐานบนหลังม้า เมษายน ๒๔๙๗
ต้นเดือนมกราคม ๒๔๗๓ นายเฟโรจีพร้อมกับต้นแบบพระบรมรูปฯ ซึ่งผนึกไว้อย่างแข็งแรงรัดกุม ก็เดินทางมุ่งหน้ากลับไปเข้าโรงหล่อที่อิตาลี โดยเรือโดยสารของบริษัทอีสต์เอเชียติก  เก้าเดือนต่อมา พระบรมรูปฯ ที่หล่อสำเร็จเรียบร้อยแล้วด้วยสำริด ถูกส่งกลับมายังสยาม พร้อมที่จะดำเนินงานขั้นเชื่อมต่อชิ้นส่วนให้สมบูรณ์ ณ กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดธนบุรี

นายสุข อยู่มั่น เล่าว่า ระหว่างที่นายเฟโรจีกำลังไปกำกับงานหล่อพระบรมรูปฯ อยู่ที่อิตาลี “ทางศิลปากรสถานได้จัดนายช่างก่อสร้างและช่างปูนไปตระเตรียมจัดแต่ง ก่อสร้างอาณาบริเวณลานแท่นฐานเวทีศิลาอ่อน และฉากหลังพระบรมรูปฯ” โดยในระยะนั้นยังมิได้มีการประดับตกแต่งลวดลายแต่อย่างใด คงรอไว้จนพระบรมรูปฯ และนายเฟโรจี เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ และเชื่อมต่อพระบรมรูปฯ แล้ว “งานตกแต่งประดับประดาซุ้มจรณัม แท่นฐาน และประกอบแผ่นศิลาจารึกด้านหลังพระบรมรูปฯ ตลอดจนพานพุ่มโลหะโปร่งประดับก็เริ่มขึ้น จากนั้น จึงอัญเชิญพระบรมรูปฯ โดยทางเรือ จากกรมอู่ทหารเรือขึ้นสถิต ณ พระแท่นประทับ ผนึกแน่นจนสมบูรณ์ครบถ้วนทุกกระบวนงาน”

งานติดตั้งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ ปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม ๒๔๗๔ เตรียมพร้อมสำหรับงานสมโภชพระนคร ๑๕๐ ปี ในเดือนเมษายน เดือนแรกของปี ๒๔๗๕

ความสำเร็จของการปั้นและการควบคุมงานหล่อปฐมบรมราชานุสรณ์ทำให้ปรากฏชื่อ “นายเฟโรจี” รวมอยู่ในรายนามข้าราชการแผนกศิลปากรของราชบัณฑิตยสภาที่ได้รับพระราชทานบำเหน็จเนื่องในการพระราชพิธีฉลองพระนครด้วยโดยเขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก

ในวาระเดียวกันนี้ นอกจากปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีผลงานอีกอย่างหนึ่งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ และนายซี. เฟโรจี เป็นผู้ปั้นแบบ ได้แก่เหรียญเฉลิมพระนคร ๑๕๐ ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกโดยใช้ห้อยกับแพรแถบ ประดับในลักษณะเดียวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรที่ริมขอบว่า “พระพุทธยอดฟ้า” และ “พระปกเกล้า” ส่วนด้านหลังเป็นลายกลีบบัวล้อมรอบข้อความ “เฉลิมพระนครร้อยห้าสิบปี ๒๓๒๕-๒๔๗๕”

แต่แล้วงานฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี เมื่อเดือนเมษายน ๒๔๗๕ นั้นเอง กลับกลายเป็นฉากจบอันอลังการของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม เพียง ๓ เดือนต่อมา กลุ่มนายทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนจำนวนหนึ่ง ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศสยามให้เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ รัฐบาลคณะราษฎรตั้งกรมศิลปากรขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤษภาคม ๒๔๗๖

นายปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในแกนนำของคณะราษฎร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยอธิบายให้ที่ประชุมข้าหลวงประจำจังหวัด (ผู้ว่าราชการ) เกี่ยวกับการก่อตั้งกรมศิลปากรขึ้นใน “ระบอบใหม่” ว่า
“ศิลปเป็นของสำคัญส่วนหนึ่งของชาติ เพราะว่าศิลปของชาติ เป็นเครื่องชักจูงประชาชนให้รักชาติและภาคภูมิใจในเกียรติยศแห่งชาติของตน นี้เป็นผลในทางการภายใน  ส่วนผลในทางการภายนอกนั้น ศิลปเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้รับความนิยมนับถือของนานาชาติ กระทำให้ต่างประเทศแลเห็นชัด ว่าไทยเราไม่ใช่ชาติป่าเถื่อน เรามีอารยธรรม เรามีวัฒนธรรมเรายิ่งได้มีโอกาสเผยแผ่ศิลปของชาติออกไปมากเท่าไรเราก็ยิ่งได้รับความนิยมนับถือในหมู่นานาชาติยิ่งขึ้นเพียงนั้น”
ยิ่งกว่านั้น หนึ่งในนโยบายหลัก หรือที่เรียกว่า “หลักหกประการ” ของคณะราษฎร คือการศึกษา  หลังจากนายเฟโรจีถูกย้ายมาสังกัดในกรมศิลปากร ได้พบกับพระสาโรชรัชตนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์ ปี ๒๔๓๘-๒๔๙๓) เฟโรจีเขียนเล่าไว้ว่า
“วันนั้นเป็นตอนบ่ายเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ที่ข้าพเจ้าได้รู้จักคุ้นเคยกับคุณพระสาโรชรัชตนิมมานก์คุณพระย้ายมารับราชการในกรมศิลปากรก่อนหน้านี้ ๔-๕ วันเพื่อเข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองสถาปัตยกรรม ซึ่งเวลานั้นรวมแผนกจิตรกรรมปฏิมากรรมและงานช่างรักด้วย เมื่อจะออกจากกรมไปและขณะกระตุกมือคำนับกับข้าพเจ้าคุณพระสาโรชพูดว่า ‘อย่างไรมิสเตอร์เฟโรจี หวังว่าเราคงได้ร่วมมือกันทำคุณงามความดีให้แก่ศิลปะในเมืองไทยเป็นผลสำเร็จแน่’

  “คุณพระสาโรชมาบอกแก่ข้าพเจ้าอย่างตรง ๆ ให้จัดตั้งโรงเรียนได้ทันทีไม่รีรอนี่แหละเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่สำหรับศิลปะในประเทศไทย”

Image
พ่อแม่ลูก แฟนนี-คอร์ราโด-อิซาเบลลา ถ่ายที่บ้านในกรุงเทพฯ สังเกตลูกกรงระเบียง เทียบกับภาพถ่ายปัจจุบัน (น. ๔๖-๔๗)
Image
บ้านหลังแรกในสยามของศาสตราจารย์เฟโรจีและครอบครัว ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของกรมการเงินทหารบก เชิงสะพานกรุงธน (สะพานซังฮี้) ฝั่งพระนคร เมื่อช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๖๐ เคยเปิดเป็นร้านกาแฟระยะหนึ่ง ปัจจุบันปิดเพื่อรอการบูรณะของกรมศิลปากร
ทั้งสองร่วมกันวางโครงการจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านศิลปะขึ้นในกรมศิลปากร คือโรงเรียนประณีตศิลปกรรม ซึ่งตั้งชื่อตามแบบเอกอลเดโบซาร์ (École des Beaux-Arts/School of Fine Arts) ของฝรั่งเศส และโรงเรียนแห่งนี้ต่อไปในเวลา ๑๐ ปีข้างหน้า จะได้รับการสถาปนาให้เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี ๒๔๘๖

เดือนตุลาคม ๒๔๗๖ “คณะกู้บ้านเมือง” นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เคลื่อนกำลังทหารจากพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานมุ่งหน้าสู่พระนคร เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลคณะราษฎรถวายคืนแก่พระมหากษัตริย์ แม้ว่าสุดท้ายแล้ว “คณะกู้บ้านเมือง” ต้องพ่ายแพ้ และกลายเป็นที่รู้จักจดจำในนาม “กบฏบวรเดช”  แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่ระหองระแหงกันมานับปี ยิ่งทวีความตึงเครียดและสร้างรอยร้าวฉาน  จนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จฯ ยังทวีปยุโรป ด้วยเหตุผลว่า เพื่อไปรักษาพระเนตร ก่อนจะทรงสละราชสมบัติในเวลาต่อมา

ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๔๗๖ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ และอดีตอภิรัฐมนตรีของรัชกาลที่ ๗ พระชันษา ๗๑ ปี จึงกราบถวายบังคมลาออกไปประทับ ณ เกาะปีนัง ในเขตแดนมลายูของอังกฤษ

แม้ตอนแรกสมเด็จฯ ทรงตั้งพระทัยไว้ว่าจะประทับอยู่ที่ปีนังระยะหนึ่ง อาจจะเพียงชั่วคราวสัก ๒-๓ เดือน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นจะเสด็จกลับ แต่สุดท้ายแล้วการณ์กลับกลายเป็นว่าพระองค์ต้องทรง “ลี้ภัยการเมือง” อยู่ที่ปีนังถึง ๑๐ ปี

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น ถ้าเรียกกันตามภาษาชาวบ้านก็คือ “พี่น้องต่างแม่” ทั้งสองพระองค์ล้วนเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพประสูติในปี ๒๔๐๕ ส่วนสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ประสูติในปีถัดมา คือ ๒๔๐๖

ในเวลานั้น เจ้านายชั้นพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ แทบไม่มีตัวเหลืออยู่แล้ว ทั้งสองพระองค์จึงเป็นพี่น้องวัย ๗๐ กว่า ที่พยายามหาหนทางกระชับความสัมพันธ์ระยะไกล การสื่อสารระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เกาะปีนัง กับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทางกรุงเทพฯ เกิดขึ้นผ่าน “จดหมายเวร” ที่เดินทางไปกลับกับรถไฟที่วิ่งขึ้นล่องปีนัง-กรุงเทพฯ สัปดาห์ละสองขบวนเรื่องราวที่สองสมเด็จทรงคุยกันผ่านจดหมายเวรมีเรื่องสารพัดบอกเล่าสารทุกข์สุกดิบต่าง ๆ ตั้งแต่สภาพลมฟ้าอากาศ สุขภาพร่างกาย สิ่งที่ได้ประสบพบเห็น ภาพยนตร์ที่ได้ชม ข่าวคราวของลูกหลาน จนถึงเรื่องราวของผู้ที่ทรงรู้จักมักคุ้น

หนึ่งในคนเหล่านั้นที่ทรงกล่าวถึงในลายพระหัตถ์คือนายเฟโรจี ด้วยว่าทั้งสองพระองค์ทรงรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในทางหนึ่ง กรมพระยาดำรงราชานุภาพคืออดีตผู้บังคับบัญชาคนหนึ่งของเฟโรจี เนื่องจากพระองค์ทรงเคยเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ก่อนถูกปลดออกจากตำแหน่งทันทีภายหลัง วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

นอกจากนั้นแล้วนายเฟโรจียังเป็นครูสอนวาดเขียนส่วนตัวของหม่อมเจ้าหญิงพิไลยเลขา ดิศกุล (ปี ๒๔๔๐-๒๕๒๘) พระธิดาใฝ่พระทัยในงานศิลปะของสมเด็จฯ อีกด้วย
Image
นำนักศึกษาศิลปากรไปทัศนศึกษาที่โบราณสถานในเมืองเก่าอยุธยา 
มกราคม ๒๕๐๕

เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลังจึงมีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวบางอย่างของนายเฟโรจีผ่านข้อความในจดหมายเหล่านี้ ซึ่งหลายเรื่องอาจไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารอื่นใด เช่นกรณีเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่จังหวัดนครราชสีมา  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงเล่าในลายพระหัตถ์ฉบับวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๗๗ ว่า
“จะทูลถวายเรื่องกรมศิลปากรเขากำลังปั้นรูปท้าวสุรนารี คือท่านผู้หญิงโม้กันอยู่ ในว่าจะหล่อเอาไปตั้งเปนอนุสาวรีย์ที่ประตูชัยโคราช มีขนาดสูง ๔ ศอกเลยทำเป็นรูปหญิงสาวตัดผมปีก ยืนถือดาบนุ่งจีบห่มผ้าสไบเฉียง

  “อนุสาวรีย์รายนี้ เดิมทีพระเทวาเขียนมาปรึกษาเกล้ากระหม่อมก่อนเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถนตั้งข้าง ๆ เกล้ากระหม่อมถามว่าใครจะทำ เขาว่าผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เกล้ากระหม่อมถามว่าแกเคยเห็นท่านผู้หญิงโม้หรือ หน้าตาอย่างนี้หรือได้แต่หัวเราะไม่ได้คำตอบ ถามว่าจะตั้งที่ไหน ว่าตั้งที่ประตูชัย เกล้ากระหม่อมว่าประตูเป็นทางเดินแล้วจะเอารูปไปตั้งอุดเสียมิเดินไม่ได้หรือ แกก็หัวเราะอีก แล้วก็นำแบบกลับไป

“ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจีปั้นดินเป็นรูปผู้หญิงยืนถือดาบอยู่ตัวเล็ก ๆ หลายตัว ท่าต่าง ๆ กัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราชใครก็ไม่รู้ ที่ว่ารบกับผู้ชายนั้น เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่าเราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรไม่รู้ ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย ต่อมาอีกสองสามวันเกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้หน้าเอ็นดูดีเป็นรูปหญิงสาว ผมยาวประบ่า ใส่มาลาคือพวงดอกไม้สดนุ่งจีบ ห่มสไบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นก็รับรองว่าอย่างนี้ดี

  “มาเมื่อก่อนหน้าจะเขียนหนังสือถวายนี้ ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่ออย่างที่ทูลมา ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา

  “เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ดูก็ประหลาด ดูในพงศาวดาร รัชกาลที่ ๓ ซึ่งถวายมาไม่เห็นแสดงว่าแผลงอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นแต่ว่าคุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมจึงยกย่องกันหนักหนาไม่ทราบ”

ในหนังสือ ศิลปสงเคราะห์ (พจนานุกรมศัพท์ศิลปของชาวตะวันตก) เฟโรจีอธิบายคำว่า Allegoric หรือปฏิมานว่าคือ “ศิลปกรรมอย่างใด ๆ ที่เป็นวิจิตรศิลป์ จะเป็นถ้อยคำ
เสียง รูป หรือสี ซึ่งน้อมนำความคิดแห่งข้อเท็จจริงมาให้ โดยไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่ว่าแสดงเรื่องนั้นไม่เป็นไปตามที่เป็นจริงโดยตรง หากแสดงเปรียบเป็นรูปหรือถ้อยคำซึ่งทำให้เข้าใจความหมายในข้อเท็จจริงนั้นได้”

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา สมเด็จฯ ทรงติดตามความคืบหน้าของเรื่องนี้ แล้วรายงานไปยังปีนังในจดหมายเวรฉบับวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๗๗ ว่า
“เกล้ากระหม่อมขอถวายรูปท้าวสุรนารีที่นายเฟโรจีปั้น อันตัดจากหนังสือพิมพ์มาเพื่อทอดพระเนตรปั้นดีพอใช้ เมื่ออ่านหนังสือใต้รูปว่าตั้งและฉลองกันแล้วก็ตกใจ อะไรหล่อแล้วเสร็จเร็วจริง ได้เห็นเมื่อต้นเดือนกำลังทำหุ่นปลาสเตออยู่ยังไม่แล้ว จึงไปฟังข่าวที่นายเฟโรจี ได้ความว่าเอารูปปลาสเตอทาเป็นสีทองสัมฤทธิ์ไป ตั้งที่ไหนดูไม่ออก เห็นจะสูงอยู่เพราะเห็นหลังคามุงกระเบื้องหนุนหลังอยู่เบื้องต่ำ”
Image
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี 
นอกจากเรื่องงานแล้ว ดูเหมือนว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ยังทรงเป็นคนแรก ๆ ที่นายเฟโรจีจะวิ่งเข้ามาหาเมื่อมีเรื่องเนื่องด้วยรสนิยมทางศิลปะที่อยากจะ“บ่น” แต่ไม่รู้จะไปพูดกับใครที่ไหนได้ เช่นลายพระหัตถ์ ฉบับวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๘
“เมื่อสักเดือนหนึ่งมานี้เอง นายเฟโรจีมาร้องแรกแหกกระแชงว่าพระปรางค์วัดแจ้งเสียเสียแล้ว มีระทาวิทยุทำขึ้นใกล้กันสูงแข่งเคียงพระปรางค์ดูหมดดี ระทาวิทยุนี้ กรมทหารเรือทำขึ้นในพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี การที่จะทำอะไรที่ไหนอย่างไรนั้น เคยทราบทางฝรั่งเศส เขามีเจ้าหน้าที่ตรวจบังคับให้เปนไปโดยสมควร ได้ทราบ เมื่อไปเที่ยวนครวัด เจ้าของโฮเตลบ่นว่าจะทำโฮเตลสูงหลายชั้นให้อยู่สบายก็ไม่ได้ รัฐบาลบังคับให้ทำชั้นเดียวว่าจะได้คลุมอยู่ในหมู่ไม้ ไม่เห็นเด่นขึ้นแข่งกับปราสาทนครวัด เกล้ากระหม่อมก็โมทนา เห็นว่าเขาบังคับถูกดีที่สุด”
ต้นปี ๒๔๘๑ นายเฟโรจีพาครอบครัว คือภรรยา พร้อมด้วยบุตรชายที่เกิดในเมืองไทย คือโรมาโน เดินทางกลับไปอิตาลี เพื่อพาลูกชายไปเข้าโรงเรียน โดยขึ้นรถไฟจากกรุงเทพฯมายังปีนัง เพื่อต่อเรือเดินสมุทรไปยังยุโรป

เมื่อถึงปีนัง ครอบครัวนี้ได้แวะเข้าเฝ้าทูลลาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ตำหนักเกลาไว ดังทรงรายงานกลับมายังทางกรุงเทพฯ ว่า
(๑๒ พฤษภาคม ๒๔๘๑)
“นายฟีโรจีช่างปั้นกับภรรยาแลเด็กลูกชายจะไปยุโรปแวะมาลาหม่อมฉัน ได้พูดกันถึงเรื่องโรงเรียนช่าง น่าชมว่าแกตั้งใจจะจัดให้เป็นประโยชน์แก่เมืองไทยจริง ๆ เป็นต้นแต่แกเห็นว่านักเรียนควรมีจำนวนน้อยแต่กวดขันทางความรู้และฝีมือกับความคิดให้ดีจริง ๆ เป็นสำคัญเพราะถ้าคนมากไปฝีมือก็จะเลวลง และเมื่อออกจากโรงเรียนไปก็จะไปแย่งกันหางานทำยากด้วย”

ลายพระหัตถ์ตอบลงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๑ ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงเสนอแนะสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าถ้าหากขากลับ นายเฟโรจีแวะปีนังก่อนจะไปขึ้นรถไฟเข้ากรุงเทพฯ แล้วพาครอบครัวมาเข้าเฝ้าอีกครั้ง
Image
โปรเฟสเซอร์เฟโรจีกับภรรยาคือนางแฟนนีและโรมาโน บุตรชายที่เกิดในสยาม ราวครึ่งแรกของทศวรรษ ๒๔๗๐ 
เอื้อเฟื้อภาพ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี

“มีความในที่จะกราบทูลให้ทรงทราบว่า เด็กลูกชายที่แกพามาเฝ้านั้น เกล้ากระหม่อมขอสมมุติชื่อว่า น้อย เป็นอันเข้าใจกันดีทั้งตัวและพ่อแม่ แม้พ่อแม่ก็เรียกว่า น้อย พ่อแม่จะพาไปปล่อยเพื่อการเล่าเรียนที่เมืองอิตาลี ขากลับจะพาเอาพี่สาวซึ่งเรียนสำเร็จแล้วกลับเข้ามาเมืองไทย เด็กหญิงคนนั้นเกล้ากระหม่อมสมมุติชื่อเรียกว่า หนู เป็นอันเข้าใจตลอดกันเหมือนกันขากลับแกคงจะพามาเฝ้า ถ้าตรัสเรียกว่า หนู ตามเกล้ากระหม่อมเรียก ทั้งตัวและพ่อแม่จะยินดี เป็นทางทรงแสดงว่าทรงพระเมตตาสนิทในครอบครัวเขา”
ความใกล้ชิดสนิทสนมนี้ยังมีเผื่อแผ่ไปจนถึงชั้นลูก ๆ ของเฟโรจี ทั้งลูกสาวลูกชายล้วนได้รับความเอ็นดูเป็นพิเศษถึงขนาดสมเด็จฯ ประทานชื่อเล่นอย่างไทย ๆ ให้ด้วย คืออิซาเบลลา (Isabella) ลูกสาวที่พามาด้วยจากฟลอเรนซ์ทรงเรียกว่า “หนู” ส่วนโรมาโน (Romano) ซึ่งเกิดที่กรุงเทพฯ ทรงให้ชื่อว่า “น้อย”

แม้ว่าสุดท้ายแล้วนายเฟโรจีลงเรือมาถึงสิงคโปร์แล้วขึ้นรถไฟมุ่งหน้ากลับขึ้นไปกรุงเทพฯ โดยมิได้แวะมาเฝ้าที่ปีนังแต่จดหมายจากกรุงเทพฯ ก็ยังรายงานความเป็นไปของครอบครัวนี้เมื่อทรงได้พบกันอีกครั้งว่า “หนูลูกสาวนายเฟโรจีนั้น สูงกว่าแม่ขึ้นไปอีก ไม่เป็นหนูเสียแล้ว” (ฉบับวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๘๑)

ปีต่อมา ๒๔๘๒ เมื่อ “หนู” บุตรสาวของนายเฟโรจี กำลังจะกลายเป็นเจ้าสาว โดยเข้าพิธีแต่งงานที่กรุงเทพฯ แน่นอนว่าสมเด็จฯ ย่อมเป็นบุคคลแรก ๆ ที่พ่อเจ้าสาวต้องมาทูลปรึกษาเพื่อขอความช่วยเหลือ
“นายเฟโรจี มาหา ถามถึงแบบการแต่งงานของไทยด้วยจะแต่งงานลูกสาว (หนู Isabella) ต้องการจะทำก๊าดให้มีรูปเครื่องหมายการแต่งงานอย่างไทย เกล้ากระหม่อมก็ติด นึกไม่ออก จึงถามว่าทางฝรั่งเขาทำกันอย่างไร ได้ความอธิบายว่าเขามักจะทำกันเป็นรูปรังนกทีก็จะเป็นรังนกซึ่งมีพ่อแม่และลูกติดอยู่ในนั้น เป็นทางให้พรให้เกิดลูกด้วยดีไปทางลกข้างจีน และถ้ามีอะไรอย่างไทยก็ทีจะให้ช่วยเขียน เมื่อนึกไม่ออกก็ผัดไปว่าจะนึกดูก่อน อันทางข้างไทยเราในการเกิดและแต่งงานจนถึงตาย เราไม่มีสิ่งที่ทำเป็นเครื่องหมายอะไรกันเลยคิดเห็นขึ้นอย่างหนึ่ง เมื่อพระเจ้าแผ่นดินขึ้นพระราชมนเทียร มีการถวายจั่นหมากทองคำ ทีก็จะหมายเป็น
ลกอย่างข้างจีนนั่นเอง เข้ารูปรังนกข้างฝรั่ง แต่จะเข้าใจ ซึมเป็นแต่งงานสมรสหาได้ไม่ คิดไปคิดมาเห็นว่าการแต่งงานของเราไม่ว่าอะไรก็จัดเป็นคู่ทั้งนั้น จึงคิดว่าทำเป็นรูปมงคลแฝดเห็นจะดี ข้างไทยใครเห็นเข้าก็เป็นอันเข้าใจทีเดียวว่าเป็นการแต่งงานสมรส ทั้งชื่อมงคลก็เป็นมงคลอยู่ในตัวด้วย”
(ฉบับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๘๒)

Image
อาจารย์ศิลป์ในชุดเครื่องแบบข้าราชการไทย ราวปี ๒๔๙๐ สังเกตว่าที่ปกเสื้อติดเครื่องหมายสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขณะนั้นมหาวิทยาลัยศิลปากรขึ้นกับกรมศิลปากร สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 
นอกจากนั้นแล้ว สมเด็จฯ ยังทรงเป็นคลังความรู้ในวิชาช่างฝ่ายไทยที่เฟโรจีจะตักตวงได้ด้วยทางลัด คือการทูลถาม เช่นที่ทรงเล่าในลายพระหัตถ์ฉบับวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๘๔
“ตาเฟโรจีแกสงสัย ว่าทำไมพระพุทธรูปตุ้มหู จึ่งยาวนัก มีรูด้วยและรูก็ยาวเหมือนกัน ในการจะอธิบายให้แกเข้าใจนั้นยากไม่ใช่น้อย ต้องเอารูปเจ้าลาวเก่า ๆ ให้แกดู ว่าหูยานเพราะเขาใส่ต่างหูกัน ต่างหูที่ใส่กันนั้นก็ชอบกล ใช้ทองแผ่เป็นแผ่นม้วนยัดอย่างเป็นรูปปะหล่ำ ไม่เคยพบใครใช้ที่ไหนเลยนอกจากรูปเขียน”
เมื่อถึงเดือนธันวาคม ๒๔๘๔ สงครามมหาเอเชียบูรพาแผ่ขยายเข้ามาถึงประเทศไทย กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกขอเดินทัพผ่าน เดือนต่อมา มกราคม ๒๔๘๕ รัฐบาลไทยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ อันมีเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น โดยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร คืออังกฤษและอเมริกา  เฟโรจีซึ่งเป็นข้าราชการไทยแต่เป็นคนสัญชาติอิตาลีคงไม่มีปัญหาอะไร แต่พอถึงเดือนกันยายน ๒๔๘๖ อิตาลีพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร รัฐบาลใหม่ของอิตาลีประกาศเข้าร่วมกับอังกฤษและอเมริกา ในชั่วข้ามคืน เฟโรจีกลับกลายเป็น “ชนชาติศัตรู” ของคนไทยซึ่งนั่นอาจหมายความตั้งแต่ว่า เขาต้องตกงาน ถูกยึดทรัพย์ กลายเป็นเชลยศึกที่ถูกจับเข้าค่ายกักกัน ไปจนถึงขั้นร้ายแรงที่สุดคือเฟโรจีในวัย ๕๐ กว่า อาจต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นแรงงานกรรมกรสร้างทางรถไฟสายตะวันตกของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นหรือที่ในเวลาต่อมารู้จักกันในนาม “ทางรถไฟสายมรณะ”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จกลับมาประทับที่วังวรดิศในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายปี ๒๔๘๕ แต่ก็ยังทรงรักษาธรรมเนียมของจดหมายเวรอย่างเคร่งครัด ลายพระหัตถ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๔๘๖ ทูลแจ้งข่าวเรื่องนายเฟโรจี หรือที่ทรงเรียกในที่นี้ว่า “ฟิโรจี” แก่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ว่า
“จะทูลข่าวให้ทรงปลงธรรมสังเวชเรื่องหนึ่ง ด้วยได้ทราบว่า ฟิโรจี ครูช่างปั้นถูกคุมตัว จะต้องเป็นเชลยเพราะชาวอิตาเลียยอมแพ้สงครามในยุโรป ค่อยยังชั่วที่ไทยจับเพราะไทยเลี้ยงฝรั่งเชลยด้วยปรานี ถ้าญี่ปุ่นจับจะต้องถูกเอาไปเป็นกรรมกรทำรถไฟ คิดดูน่าอเนจอนาถใจ กฎหมายแต่โบราณวางบทอาญาว่าอาจจะฆ่าผู้กระทำผิดกับทั้งญาติด้วย ๗ ชั่วโคตร ก็ติเตียนกันว่าทารุณ เมื่อเจริญวัฒนธรรมก็เลิกมิได้ลงอาญาถึงเช่นนั้น เดี๋ยวนี้ยิ่งเจริญวัฒนธรรมขึ้น มนุษย์ที่มิได้กระทำความผิดแต่อย่างใด กลับได้ความเดือดร้อนไปหมดทุกใบไม้ เส้นหญ้า”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์ ณ วังวรดิศ ถนนหลานหลวง จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ จดหมายเวรที่มีมาต่อเนื่องยาวนานจึงเป็นอันยุติลง  พระองค์จึงยังไม่ทันได้รับรู้ความเป็นไปในเวลาต่อมาว่าในที่สุดด้วยความช่วยเหลือจากทางราชการไทยนายซี. เฟโรจี ได้รับอนุญาตให้โอนสัญชาติจากอิตาลีเป็นไทยพร้อมกับต้องเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้เป็นภาษาไทย

ยุคนั้นมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการปรับปรุงภาษาไทยใหม่ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่กลางปี ๒๔๘๕ โดยหนึ่งในข้อกำหนดคือให้ตัดตัวอักษรที่มีเสียงซ้ำกันออก เช่นคำที่เคยใช้อักษรนำ ศ ษ ส ต้องเปลี่ยนมาใช้เป็น ส เสือ ทั้งหมดมหาวิทยาลัยทางศิลปะที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี ๒๔๘๖ จึงปรากฏนามตามพระราชบัญญัติว่า “มหาวิทยาลัยสิลปากร” ส่วนเฟโรจีซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยได้รับนามเป็น “พาสาไทย” ตอนต้นปี ๒๔๘๗ ว่า “นายสิลป์ พีระสรี”
เมื่อสิ้นยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ระเบียบดังกล่าวที่ถูกเย้ยหยันว่าทำให้ “ภาษาวิบัติ” ถูกยกเลิกไปในปี ๒๔๘๗ นามของเขาจึงต้องเปลี่ยนตัวสะกดใหม่อีกครั้ง อันจะกลายเป็นชื่อที่รู้จักติดตัวมาจนตลอดชีวิตว่า “นายศิลป์ พีระศรี”  
คณบดี ศิลป์ พีระศรี นั่งพิมพ์เอกสารด้วยพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วที่โต๊ะทำงาน
ขอขอบคุณ
คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ (สำนักพิมพ์ต้นฉบับ) และคุณประเวช
ตันตราภิรมย์ (นิตยสารสารคดี) เอื้อเฟื้อนิตยสารชัยพฤกษ์

อ้างอิง
เอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ศธ. ๐๗๐๑.๗.๓/๖ เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขานุการกรม กรมศิลปากร ราชบัณฑิตยสภา ศิลปากรสถาน เรื่องการทำสัญญาจ้างนายกัลเลตติ และนายเฟโรชิ ๒๔๖๙ (ปี ๒๔๖๙-๒๔๗๔).

หนังสือและบทความ
กรกฎ หลักเพชร. “งานสร้างพระบรมรูปองค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” ชัยพฤกษ์. ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๗ (๑ เมษายน ๒๕๐๗) : ๒-๕.

กรกฎ หลักเพชร. “งานสร้างพระบรมรูปองค์ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี” ชัยพฤกษ์. ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๘ (๑๕ เมษายน ๒๕๐๗) : ๒-๕.

กรรณิการ์ ตันประเสริฐ. (๒๕๕๓). พระราชวังพญาไทในวันวารห้าแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน.

กฤช เหลือลมัย (บรรณาธิการ). (๒๕๓๒). เปิดกรุศิลปิน. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ.

เขียน ยิ้มศิริ. (๒๕๐๘). “นายศิลป พีระศรี”. ประวัติครู. พระนคร : คุรุสภา.

เขียน ยิ้มศิริ. (๒๕๐๘). “สุภาพบุรุษจากฟลอเรนซ์”. ศิลป พีระศรี อนุสรณ์
การแสดงศิลปนานาชาติ ครั้งที่ ๑. พระนคร : ไทยวัฒนาพานิช.

งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๐. (๒๕๐๐). พระนคร : โรงพิมพ์อักษรสารการพิมพ์.

ชาตรี ประกิตนนทการ. (๒๕๕๒). ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร. กรุงเทพฯ : มติชน.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๐๔). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๓. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๑๓). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๐๔). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๒. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๐๔). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๓. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๒๖). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๔. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา. 

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๐๕). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๖. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา.


นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยา และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (๒๕๑๕). สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๑. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.

ดำรง วงศ์อุปราช. “ความเคลื่อนไหวของศิลปินและศิลปะในยุคของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี”. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร. ฉบับพิเศษ ๑๐๐ ปี ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (กันยายน ๒๕๓๕-กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖) : ๖๗-๑๐๕.

ดำรง วงศ์อุปราช. (๒๕๒๑). ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี. กรุงเทพฯ : ปาณยา. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (๒๕๓๓). นิทานโบราณคดี. พิมพ์ครั้งที่ ๖ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี ถวัลย์ ศรีเพ็ญ. กรุงเทพฯ : หจก. เกษมการพิมพ์.

ต. อมาตยกุล. (๒๕๑๓). เมืองไทยของไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร : แพร่พิทยา.

ธานินทร์ สุนทรานนท์. “มูลเหตุที่...อาจารย์ศิลป พาครอบครัว ย้ายจากอิตาลีเดินทางมาทำงานที่สยาม...เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้เลย”. ศิลป พีระศรี สรรเสริญ. อัฏฐบรรพ (เมษายน ๒๕๖๖) : ๓-๗.

ประกาศยุบเลิกกรมศิลปากร. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๓. (๒๕ เมษายน ๒๔๖๙) : ๑๐๑.

ประมวลเอกสารคำกราบบังคมทูล พระราชดำรัสตอบ สุนทรพจน์เป็นพุทธบูชา รายงานการสร้างพระพุทธรูป สุนทรพจน์ต้อนรับ และรับมอบของที่ระลึก ลิขิตอนุโมทนา ฯลฯ เนื่องในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๐. (๒๕๐๐). พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.

พลูหลวง (ประยูร อุลุชาฎะ). “ผลงานที่ไม่มีใครรู้จักของศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี” ใน ชาวกรุง. (มีนาคม ๒๕๑๑) : ๙๒-๑๐๖.

พิพัฒน์ พงศ์รพีพร. “ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ศิลป และมหาวิทยาลัยศิลปากร”. จุลสารหอศิลปมหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ (กันยายน ๒๕๒๗) : ๑๕-๕๕.

ลดา รัตกสิกร (บรรณาธิการ). (๒๕๒๓). แสงอรุณ ๒. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์.

เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, สำนัก. (๒๕๓๖). เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย. กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์.

ศิลป พีระศรี. (๒๕๐๒). คุณค่าของจิตรกรรมฝาผนัง. พิมพ์ครั้งที่ ๒. พระนคร : กรมศิลปากร.

ศิลป พีระศรี. (๒๕๐๐). ศิลปสงเคราะห์. พระยาอนุมานราชธน แปลเป็นภาษาไทย. พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.

ศิลปากร, กรม. (๒๕๐๕). “งานของกรมศิลปากร” นิพนธ์บางเรื่องของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ สมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์.

ศิลปากร, กรม. (๒๕๒๕). จดหมายเหตุการสร้างพระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองรัตน์.

ศิลปากร, กรม. (๒๕๒๕). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์. 

ศิลปากร, กรม. กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. (๒๕๒๕). จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสหประชาพาณิชย์.

ศิลปากร, กรม. กองโบราณคดี. (๒๕๒๕). โบราณสถานและอนุสาวรีย์กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พิฆเณศ.

สายพิณ แก้วงามประเสริฐ. (๒๕๓๘). การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี. กรุงเทพฯ : มติชน.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า. “ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ที่ข้าพเจ้ารู้จัก”. วันศิลป พีระศรี ๒๔๓๕-๒๕๒๕. ไม่มีเลขหน้า.

หนึ่งฤดี โลหผล. “ประติมากรหนุ่มคอร์ราโด เฟโรชิ ก่อนเดินทางสู่สยามในปี ๒๔๖๗”. เมืองโบราณ. ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒ (เมษายน-มิถุนายน ๒๕๔๑) : ๗๑-๗๙.

อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายพิมาน มูลประมุข. (๒๕๓๗). กรุงเทพฯ : อักษรไทย.

อาจารย์ศิลป์ กับลูกศิษย์. พิมพ์ครั้งที่ ๓. (๒๕๕๑). กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี. 

“อาจารย์ศิลปปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก : ม้าหางชี้ จะขี้ใช่ไหม ?” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑ (พฤศจิกายน ๒๕๒๗) : ๑๐๔-๑๑๑.

The Directory for Bangkok and Siam 1925 / Bangkok Times Press. (2017). Bangkok, Thailand : White Lotus Press.