Image
หน้าพรานเชื่อมวิญญาณ
ครูหมอตายาย
คิด-cool
เรื่อง : สุชาดา ลิมป์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
Image
“หน้าพราน” มีที่มาจาก “พรานบุญ” ตัวละครจากวรรณคดี พระสุธน-มโนราห์
ชาวใต้ดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง “โนรา” โดยให้ตัวละครสวมหน้ากาก

ผู้แสดง-รำออกพรานจะครอบหน้าด้วยหน้ากากที่ประดับผมขาวแสดงวัยเฒ่า หน้ากากนั้นมีแค่ส่วนหน้าผากถึงริมฝีปากบน เปิดริมฝีปากล่างถึงคางไว้ให้สะดวกขับบท

ใน “โนราโรงครู” หน้าพรานเป็นมากกว่าศิลปวัฒนธรรม ดั่ง “ครู-ผีบรรพชน” ผู้นำสิริมงคลแก่คณะโนรา โดยเฉพาะผู้สืบสายโนราที่มีญาติล่วงลับเคยเล่นเป็นตัวพราน จะบูชาในฐานะ “ครูหมอตายาย”

จากศรัทธาหน้าหิ้งนำไปสู่วงการพระเครื่อง พรานเฒ่ากลายเป็นวัตถุมงคลที่ผ่านพิธีปลุกเสกให้เกิดการผลิตความหมายด้านลาภผลพูนทวีและเมตตามหานิยม โยงกับคุณวิเศษในวรรณคดีที่ว่าพรานบุญจับนางมโนราห์ถวายพระสุธนสำเร็จจึงได้บำเหน็จเป็นเมืองพร้อมสมบัติและบริวาร ครั้นมีฐานะเป็นเจ้าเมืองชาวบ้านก็พากันติดทองให้จนเป็น “พรานหน้าทอง” ถือเป็นปางหนึ่งของพรานบุญ

บางครั้งการพกหน้าพรานติดตัวหรือห้อยคอยังกินความไกลกว่าอุ่นใจที่ได้บูชา
แต่คือสิ่งแสดงความสง่าของคนที่เกิดเป็นลูกหลานโนรา-พรานบุญ  
Image
“เดิมหน้าพรานมีแค่ ‘พรานบุญ’ กับ ‘พรานหน้าทอง’ เดี๋ยวนี้มีคนสั่ง ‘พรานหน้าเงิน’ บูชาคู่เป็นเงิน-ทอง เรายังทำหน้ากากพรานด้วยมือทุกขั้นตอน ใช้ไม้ขนุนแกะใบหน้า ขัดกระดาษทราย แล้ววาดหน้าตา  สมัยก่อนใช้ผงสีแดงหรือทองผสมน้ำทาไม้ เดี๋ยวนี้ใช้สีกระป๋องเพื่อความเงา แล้วนำผ้ามาทำผมร้อยลูกปัดที่ปลายผม ขาย ๑,๕๐๐ บาท คนที่เลือกสั่งทำกับเราเขาอยากให้ ทำพิธีเสริมมงคลเพื่อใช้ในการแสดงและบูชา เพราะโนราจำเริญ ศ. พนมศิลป์ อาวุโสสุดในโนราโรงครูที่สงขลา”

โนรานารีรัตน์ นครศรี ชาวเกาะยอ จังหวัดสงขลา  นั่งข้างลูกชาย-โนราเทวัญ ศ. จำเริญ ขณะพูดถึงสามี-โนราจำเริญ ศ. พนมศิลป์