Image
เสียงดัง…ภัยไม่เงียบ
Holistic
เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์
ภาพประกอบ : zembe
มลพิษทางเสียงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่ได้กลิ่น และสัมผัสไม่ได้ แตกต่างจากมลพิษสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ แต่กลับมีอยู่แทบทุกซอกมุมทั่วโลก ทั้งในเมืองใหญ่ ชนบท ป่าเขา รวมทั้งในมหาสมุทรลึกและห่างไกล
พื้นที่ไร้เสียงจากกิจกรรมของมนุษย์บนโลกใบนี้พบน้อยลงทุกวัน กระทั่งสัตว์ในมหาสมุทรยังได้รับผลกระทบด้วย เช่น คลื่นเสียงโซนาร์ที่ใช้ในระบบนำทางของเรือเดินสมุทรซึ่งดังถึง ๒๓๕ เดซิเบล และเดินทางไปใต้น้ำได้กว่า ๑๐๐ กิโลเมตรนั้นรบกวนระบบนำร่องธรรมชาติของวาฬ ดังมีข่าววาฬเกยตื้นฝูงใหญ่ตามจุดต่าง ๆ ทั่วโลก จนกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมออกมาร้องขอให้กองทัพเรือสหรัฐฯ ลดการใช้คลื่นโซนาร์ในกิจกรรมทางทหารในท้องทะเล

เพราะรอบกายเต็มไปด้วยเสียง เราจึงโหยหาความเงียบ เมื่อเร็ว ๆ นี้องค์กรสากล Quiet Parks International ประกาศให้อุทยานแห่งชาติหยางหมิงซาน ไต้หวัน เป็นสวนในเมืองที่เงียบที่สุดแห่งแรกของโลก ทำให้ผู้คนจำนวนมากอยากไปสัมผัสสักครั้งในชีวิต อย่างไรก็ตามไม่มีใครรับประกันได้ว่าเมื่อมีคนไปเยือนมาก ๆ แต่ไม่มีระบบควบคุมดูแล ความเงียบนั้นจะคงอยู่ได้ยาวนานแค่ไหน

แท้จริงแล้วอุทยานแห่งชาติที่ไร้เสียงรบกวนในบ้านเราก็มีไม่น้อย หากจัดระบบดี ๆ ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอันเงียบสงบติดอันดับโลกได้เช่นกัน น่าเสียดายที่ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวมักเข้าไปพร้อมเสียงแปลกปลอมจากโทรศัพท์มือถือและลำโพงเคลื่อนที่ กว่าจะปิดเสียงก็เมื่อถึงเวลาที่กำหนดให้หยุดใช้เสียง แม้แต่สวนสาธารณะในเมืองก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งถือลำโพงเคลื่อนที่เปิดเพลงแก้เหงารบกวนผู้อื่น อาจเพราะคิดว่าจะทำอะไรในพื้นที่สาธารณะก็ได้ บางคนถึงกับบอกคนเตือนว่า “ถ้าอยากอยู่เงียบ ๆ ก็อยู่บ้านสิ”

ในหมู่บ้านต่างจังหวัด งานมงคลและอวมงคลมักใช้เครื่องเสียงขนาดใหญ่ เปิดเพลงดังตั้งแต่วันเตรียมงานจนวันเลิกงาน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่สมัยบ้านเรือนอยู่ห่างไกลกัน จึงต้องใช้เครื่องเสียงบอกงาน แต่ปัจจุบันแม้จะสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแล้วก็ยังใช้เครื่องเสียงเพื่อความบันเทิงและหน้าตาของเจ้าภาพอยู่นั่นเอง
Image
เสียงดังไม่ได้แค่ทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ แต่ยังส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วยหลายประการอย่างคาดไม่ถึง  งานวิจัยพบว่าเด็กที่เรียนหนังสือในพื้นที่ที่มีเสียงดังรบกวนจะเรียนหนังสือได้ช้ากว่าเด็กอื่น  งานวิจัยหลายชิ้นทั่วโลกระบุตรงกันว่า ผู้ที่สัมผัสกับเสียงดังรบกวนเป็นเวลานานทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนเครียดที่ชื่อคอร์ติซอลและอะดรีนาลิน ทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มอัตราเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เส้นโลหิตในสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต และมีผลการศึกษาที่ระบุว่า ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้สนามบินและได้ยินเสียงจากเครื่องบินกลางคืนจะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือดและปลดปล่อยฮอร์โมนเครียดออกมา ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่คืนแรกของการได้ยินเสียงเลย

ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงบอกว่าเมื่อคุณออกจากคอนเสิร์ตแล้วได้ยินเสียงสั่นในหู ก็มั่นใจได้ว่าการได้ยินได้รับผลกระทบ ซึ่งส่งผลในระยะยาว  อย่างไรก็ตามผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นแบบสะสม เสียงรบกวนเพียงครั้งเดียวอาจไม่มีผลต่อสุขภาพหู แต่เสียงรบกวนซ้ำ ๆ จะทำให้การได้ยินเสียหายถาวร และสัญญาณที่บ่งบอกว่าเราอยู่ในสถานที่ที่เสียงดังต่อเนื่องมากเกินไป คือเรามักพูดเสียงดังหรือเปิดทีวีเสียงดังกว่าปรกติ

หนึ่งในสี่ของประชากรในสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากมลพิษทางเสียง โดยเฉพาะเสียงจากการจราจรในตัวเมืองที่สูงเกินค่ามาตรฐานที่ ๕๕ เดซิเบล ในจำนวนนี้ ๒ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๑๖ ล้านคน มีปัญหาเรื่องการนอนหลับและมลพิษทางเสียงยังทำให้คนยุโรปเสียชีวิตถึง ๒ แสนคนต่อปี  ขณะการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่า การควบคุมมลพิษทางเสียงจะทำให้สหรัฐอเมริกาประหยัดเงินค่าดูแลสุขภาพได้ราว ๓.๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โรแบร์ท ค็อค (Robert Koch) นายแพทย์ชาวเยอรมันผู้ค้นพบแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคติดต่อสำคัญ ได้แก่ วัณโรคและโรคอหิวาต์ เมื่อกว่า ๑๐๐ ปีมาแล้วกล่าวไว้ว่า วันหนึ่งมนุษย์จะต่อสู้กับเสียงรบกวนเหมือนต่อสู้กับโรคระบาดอย่างอหิวาต์ ซึ่งเราได้เดินทางมาถึงจุดนี้แล้วในขั้นต้น สิ่งที่เราทำได้คือ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษทางเสียง และไม่เป็นผู้สร้างมลพิษทางเสียงเสียเอง  ขั้นต่อไปคือสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการใช้เสียงที่เป็นมิตรต่อตัวเองและผู้อื่น ด้วยการสอนลูกหลานและสื่อถึงสังคมว่า มลพิษทางเสียงส่งผลต่อสุขภาพและละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างไร บอกกล่าวผู้ประกอบธุรกิจ เช่น รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า หรืองานวัดถึงผลกระทบของเสียงที่รบกวนสุขภาพเรา รวมถึงผู้กำหนดนโยบายให้ออกแบบเมืองที่ลดมลพิษทางเสียง เพิ่มคุณภาพการได้ยินและสุขภาพองค์รวมของเรา
และคนในสังคม 
สร้างเมืองปลอดมลพิษทางเสียง
ดร. เดวิด โรจาส (Dr. David Rojas) นักวิจัยด้านสุขภาพจากสิ่งแวดล้อม สถาบันโกลบอลเฮลท์ บาร์เซโลนา สเปน กล่าวว่า แม้มลภาวะทางเสียงจะเป็นปัญหาสุขภาพหลักของเมืองบาร์เซโลนามากกว่ามลภาวะทางอากาศ ทว่าผู้คนมักมองข้าม เพราะเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับเสียงและหนีจากแหล่งกำเนิดเสียงได้ง่ายกว่ามลพิษอื่น ๆ  แต่ถึงคุณจะไม่ใส่ใจกับเสียงนั้น มันก็ยังกระตุ้นระบบร่างกายคุณอยู่ดี

เขากล่าวอีกว่า การออกแบบเมืองที่ดีจะช่วยแก้ปัญหามลพิษทางเสียงและมลพิษด้านอื่น ๆ เช่นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดเสียงจะช่วยลดความร้อน ทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น มีพื้นที่ออกกำลังกายมากขึ้น คนมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งตอบโจทย์เมืองใหญ่ทั่วโลก เนื่องด้วยการอยู่ในเมืองใหญ่นั้นผู้คนสัมผัสมลพิษหลายอย่างร่วมกัน

ดร. เดวิดเล่าว่า ในโครงการเฮลิกซ์ที่เขาและทีมงานได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปพบว่าการออกแบบเมืองให้เด็กที่อาศัยอยู่รอบรัศมีโรงเรียน ๑ กิโลเมตรเดินไปโรงเรียนได้เด็กมีสุขภาพดีขึ้นมาก ความดันโลหิตสูงและโรคอ้วนลดลง และลดการบาดเจ็บเล็กน้อยจากการจราจรด้วย

ด้าน ดร. โดรา อัลมาสซี (Dr. Dora Almassy) จากมหาวิทยาลัยเซนทรัลยูโรเปียนในบูดาเปสต์ ฮังการี ผู้รวบรวมข้อมูลเพื่อทำแผนที่เมืองสีเขียวในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ NATURVATION บอกว่า ครึ่งหนึ่งของโครงการในฐานข้อมูลนี้ มีการออกแบบเมืองที่ดี ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพและการอยู่ดีกินดีของคนในเมืองนั้น ๆ

ตัวอย่างเช่น ในโรงพยาบาลเด็กอัลเดอร์เฮย์ เมืองลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ที่ออกแบบพื้นที่ว่างสีเขียวทั้งภายในและภายนอกอาคารทำให้คนไข้เด็กสัมผัสธรรมชาติได้มากขึ้น และโรงอาหารของโรงพยาบาลยังนำผักมาทำอาหารได้อีกด้วย

ทั้งนี้เราสามารถปรับปรุงเมืองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อยู่อาศัยได้หลากวิธี เช่น ทำสวนในชุมชน สวนสาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่สิ่งก่อสร้างสีเทา เช่น ริมทางรถไฟ ทำหลังคาสีเขียว ทำสวนหน้าบ้าน เป็นต้น

จากการเปรียบเทียบผลดีผลเสีย พบว่าการออกแบบเมืองที่ดี มีพื้นที่สีเขียว เดินได้ ปั่นได้ ให้ประโยชน์ในการแก้ปัญหามลพิษในเมืองได้มากกว่าเมืองปรกติถึง ๗๐ เท่า