Image
“จวม” ยาใจให้ผีรักษา
Hidden (in) Museum
เรื่อง : นพรุจ สงวนจังวงศ์ 
(นักศึกษาฝึกงาน วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จะกี่ยุคสมัยศรัทธาเยียวยา-รักษา ไม่เคยร้างประวัติศาสตร์
ปี ๒๕๕๖ หอจดหมายเหตุและพิพิธ-ภัณฑ์สุขภาพไทย กระทรวงสาธารณสุข จับมือกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดตัวหอประวัติศาสตร์สุขภาพ แหล่งเรียนรู้วิถีที่ทำให้กายใจของคนไทยแต่ละยุคสมัยแข็งแรง ภายในแบ่งการจัดแสดง ๑๐ มุม ตั้งแต่ความเชื่อเรื่องจักรวาลในร่างกาย พาย้อนประวัติศาสตร์การแพทย์และระบบสุขภาพในไทย เมื่อครั้งอดีตจวบวาระสุดท้ายของชีวิต
ไม่บังคับจุดเริ่ม เปิดอิสระให้ผู้ชมเดินค้นหาความเชื่อไตร่ตรอง และเชื่อมโยงความจริงในแบบตน

น่าสนใจมุม “ภูมิปัญญาสุขภาพและการแพทย์แผนไทย สืบทอดไว้ก่อนสาบสูญ” รวมความรู้หมอพื้นบ้าน คติเกี่ยวข้องกับสิ่งของแปลกตาที่ชวนตื่นใจ อย่างเครื่องมือหมอตำแย รางบดยาตำราหมอโบราณ จำลองสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คล้ายศาล รวมรูปปั้นสักการะผู้ให้คุณด้านสุขภาพอย่างบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์ พ่อปู่ฤๅษี และลูกกรอกทารกตายในครรภ์ ที่ผู้ศรัทธานิยมนำร่างจิ๋วมาทำเครื่องราง รายล้อมเครื่องบูชาสังเวยของจริง ทั้งของใช้ ของเล่น กระทั่งอาหารและเครื่องดื่มที่ยังไม่หมดอายุ !
Image
ชวนรู้จัก “จวม” เครื่องบูชาจากจังหวัดสุรินทร์ สิ่งประดิษฐ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์เขมร-กวยแถบอีสานใต้ใช้เป็นที่สถิตเทวดา ลักษณะทรงสูงคล้ายชะลอมกะทัดรัด ทำจากวัสดุหาง่ายในถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ใบตาล ประดับกระดาษหลากสีสัน ผูกนกสานตกแต่งส่วนยอดทั้งสี่ด้าน กางร่มคันจิ๋วไว้ตรงกลาง เป็นศิลปะเรียบง่ายมีเสน่ห์แบบชนบท แต่อัดแน่นด้วยศรัทธาที่โยงกับสุขภาพและการเกิด  ชาวบ้านเชื่อว่าทุกคนเกิดมามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ บ้านใดมีเด็กแรกเกิดต้องทำจวมเป็นที่สถิต บรรจุขี้เถ้า หมากแห้ง เทียนไข ใบขนุน และเครื่องมงคล แขวนด้วยสายสิญจน์ไว้หัวนอนในห้อง  แม้โตแล้วยามเจ็บไข้หรือเชื่อว่าทำสิ่งใดผิดพลั้งก็ใช้จวมนั้นทำพิธีกรรมขอขมาปัดเป่า
ในทางวิทยาศาสตร์โรคที่เป็นคงไม่หายในบัดดล แต่คือยาบรรเทาให้หัวใจรู้สึกดีเรียกขวัญกลับสู่เนื้อตัว โดยเฉพาะถิ่นที่การแพทย์ยังไกลห่างสุขภาพ ความเชื่อเรื่องเทพ-ผีจึงมีบทบาทดั่งหมอชุมชน
ซุกอยู่มุมไหนของพิพิธภัณฑ์...
ต้องมาดู  

Image
หลายอย่างที่จัดแสดงคือของจริงที่ได้รับบริจาค และนอกจากความรู้คนมาที่นี่ยังมีกลุ่มที่มาเพราะศรัทธาด้วย ในตู้กระจกนั้นจะมีพี่ลูกกรอกและพ่อปู่ฤๅษีจำนวนแปดถึงเก้าตน ของแก้บนทั้งผลไม้น้ำหวาน ของเล่น เป็นของคนที่มาบนบานแล้วได้ผล บางคนมาถวายพ่อปู่ฤๅษีเสร็จก็จะไหว้ลานำกลับไปทานเป็นยา เขาเชื่อว่าทำให้อาการที่เป็นอยู่ดีขึ้น ส่วนของเล่นของใช้ที่แก้บนพี่ลูกกรอก พอถึงช่วงวันไหว้ครูประจำปีเราก็จะเคลียร์สักครั้งเพื่อบริจาคให้สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าได้ใช้ประโยชน์ต่อ”

รุ่งทิวา นงนุช
เจ้าหน้าที่จดหมายเหตุและผู้ดูแลหอประวัติศาสตร์สุขภาพ
หอประวัติศาสตร์สุขภาพ

อาคารสุขภาพแห่งชาติ ชั้น ๑ ซอยสาธารณสุข ๖ กระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

เปิดวันจันทร์-ศุกร์ 
เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. 
โทร. ๐-๒๕๙๐-๑๓๕๒ 
หรือ ๐๙-๐๙๙๘-๖๒๔๗