Image
การเลี้ยงผีปู่ย่านอกจากจะเป็นการร่วมกันเลี้ยงขอบคุณผีบรรพบุรุษแล้ว ยังทำให้คนที่นับถือผีสายเดียวกันได้มาพบปะ ถามไถ่ความเป็นอยู่ในรอบปี
บันทึกวันผีลง
ไหว้ผีล้านนา
 เรื่องและภาพ : ภูวมินทร์ อินดี
หาก พูดถึง “ผี” ภาพจำจากในภาพยนตร์ก็คือห้องแสงสลัว บรรยากาศวังเวง อยู่ดี ๆ ของก็หล่นลงมาจากชั้น ในฉับพลันนั้นผู้หญิงผมยาวชุดสีขาวพรวดโผล่มาจากมุมมืด สร้างความอกสั่นขวัญแขวน นึกถึงทีไรก็ขนลุก
ผมสงสัยมาตลอดว่าผีมีจริงหรือเปล่า แม้จะยังหาคำตอบไม่ได้ แต่ผมก็รู้สึกกลัวอยู่เสมอ อาจเพราะเติบโตมาในหมู่บ้านชนบทล้านนา ซึ่งมีเรื่องผีเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ขาด

ในความเชื่อของคนล้านนานั้นมีทั้ง “ผีร้าย” และ “ผีดี” ไม่ได้มีแต่ผีที่สร้างความหวาดกลัว

ทุกครั้งที่ต้องเดินทางไกลหรือไปเรียนต่อต่างจังหวัด ยายจะยกมือไหว้ ขอให้ผีปู่ย่าช่วยดูแลให้ปลอดภัยเสมอ สร้างความอุ่นใจว่าลูกหลานจะปลอดภัยหากมีผีปู่ย่าคอยดูแล

เมื่อมีโอกาสทำงานเป็นช่างภาพ ผมจึงหาโอกาสเข้าไปเก็บภาพการเลี้ยงผีปู่ย่าครั้งใหญ่ในหมู่บ้านที่เติบโตมา แม้จะคุ้นชินกับคนในชุมชนจำนวนมากที่ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ครั้งนี้ต่างออกไป คนที่มาร่วมงานล้วนนับถือผีในสายตระกูลเดียวกัน จัดพิธีขึ้นเพื่อแสดงความเคารพผีปู่ย่า ขอบคุณที่ดูแลลูกหลานตลอดมา

ต่อมาต้นปี ๒๕๖๕ ผมมีโอกาสสังเกตการณ์การเข้าทรงแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง เพื่อเรียกวิญญาณให้กลับมาคุยกับคนในครอบครัว อาจฟังดูเหลือเชื่อ แต่มีคนจากทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดเดินทางมาที่นี่จำนวนมาก พวกเขาต่างหอบความหวังและความรู้สึกที่ไม่อาจบรรยายได้มาหาคนที่รักก่อนจะลาจากกันไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

หลังจากเข้าไปสัมผัสพิธีเลี้ยงผีเสื้อวัดของคนในชุมชนปงสนุก จังหวัดลำปาง การรับรู้เกี่ยวกับผีของผมก็ขยายกว้างขึ้น โลกของคนเป็นกับคนตายไม่ได้แยกขาดจากกัน คนกับผีอยู่ร่วมกันได้

ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการเลิกตั้งคำถามว่าผีมีจริงไหม ? เปลี่ยนโจทย์ใหม่เป็นการทำความเข้าใจว่าผีกับคนอยู่ร่วมกันได้อย่างไรแทน

เพื่อจะได้มองเห็นผีอย่างรอบด้านมากขึ้น
Image
เครื่องสักการะถูกจัดเตรียมอย่างประณีต ด้วยฝีมือของกลุ่มผู้หญิงในสายตระกูล 
เลี้ยงผีปู่ย่า
ผีบรรพบุรุษของคนล้านนา
ผู้ดูแลรักษาคนในตระกูล
ผีปู่ย่าเป็นผีบรรพบุรุษที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาคนในหมู่เครือญาติเดียวกันให้พ้นจากภัย จัดอยู่ในกลุ่มผีดี ตามความเชื่อของคนล้านนา 

ผีปู่ย่าสืบทอดตามสายบรรพบุรุษของแม่ ไม่นับทางพ่อเพราะในอดีตคนล้านนาเมื่อแต่งงานแล้วผู้ชายจะต้องไปอยู่บ้านผู้หญิง จึงต้องละทิ้งผีที่เคยนับถือไว้ในครอบครัวเดิมแล้วย้ายไปนับถือผีฝ่ายภรรยา

คนที่บ้านนาดู่ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เชื่อว่าไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนผีปู่ย่าจะคอยตามไปคุ้มครอง  หากลูกหลานไปเรียนต่อหรือทำงานไกลบ้าน ก่อนเดินทางคนในครอบครัวจะมาแจ้งผีปู่ย่าให้ช่วยดูแล และหากมีคนมาอยู่ในครอบครัวเพิ่มก็จะต้องบอกให้ผีปู่ย่ารับทราบ ให้รับดูแล 

ในรอบ ๓ ปี จะมีงานเลี้ยงใหญ่หนึ่งครั้งในช่วงเดือนเมษายน  ก่อนถึงวันจัดเลี้ยงจะมี “กำลัง” ผู้มีหน้าที่รวบรวมเงินจากคนที่อยู่ในสายผีเดียวกันทั้งในหมู่บ้านและไปมีครอบครัวนอกหมู่บ้าน เพื่อซื้อเครื่องสักการะและเซ่นไหว้มาเตรียมไว้ที่บ้าน “เจ้าด้าม” ผู้หญิงในตระกูลที่รับหน้าที่ดูแลหิ้งผีหรือหอผี

ในวันเลี้ยง “ลูกเหล้าลูกแป้ง” หรือลูกหลานที่นับถือผีในสายเดียวกันจะเดินทางมารวมกันที่บ้านเจ้าด้าม กลุ่มผู้หญิงจะช่วยกันเตรียมเครื่องสักการะ ส่วนกลุ่มผู้ชายจะช่วยกันล้มหมูเพื่อนำมาทำอาหารในพิธี

เมื่อของจัดเลี้ยงถูกนำมาวางหน้าหิ้งครบถ้วน เจ้าด้ามจึงเริ่มจุดธูปเชิญผีปู่ย่ามารับพร้อมกล่าวคำขอบคุณที่ปกป้องดูแลในปีที่ผ่านมา และขอให้ดูแลรักษาลูกหลานในปีต่อไป 

ระหว่างรอธูปหมดก้าน ผู้มาร่วมพิธีจะพูดคุยถามไถ่ชีวิตความเป็นอยู่ของกันและกัน เป็นการสร้างความผูกพัน

แม้จะเป็นการเลี้ยงขอบคุณผู้ล่วงลับ แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาความสัมพันธ์ของเครือญาติในสายผีเดียวกันให้แน่นแฟ้น
Image
“เจ้าด้าม” ผู้หญิงในตระกูลที่ทำหน้าที่ดูแลหิ้งผีปู่ย่า กำลังประกอบพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า
ผีปู่ย่าเป็นผีบรรพบุรุษที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาคนในหมู่เครือญาติเดียวกันให้พ้นจากภัย จัดอยู่ในกลุ่มผีดีตามความเชื่อของคนล้านนา
Image
ผู้มาร่วมพิธีจะช่วยเตรียมเครื่องสักการะตามความถนัด ในปัจจุบันเหลือคนที่มีความรู้ในการจัดเตรียมลดน้อยลง
Image
การจัดเลี้ยงใหญ่จะมีการล้มหมูซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ใหญ่ เพื่อนำไปทำอาหารเลี้ยงผี
“สู่ผีลง”
สัมผัสคนตายในใจคนเป็น
เช้าในเดือนกุมภาพันธ์ ใต้เพิงพักเชื่อมบ้านไม้กับอาคารขนาดเล็กจุคนได้ไม่เกิน ๒๐ คน คนกลุ่มเล็ก ๆ หลายช่วงวัยราว ๕-๗ คน พร้อมตะกร้าใส่ของเต็มไปด้วยข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า และของจุกจิก นั่งจับกลุ่มคุยกันตามโต๊ะหินอ่อน พลางนำกับข้าวที่เตรียมมาจัดลงขันข้าวอย่างบรรจง เหมือนเตรียมไว้รอใครสักคนที่ไม่ได้พบกันนาน

ไม่มีลมพัด แสงแดด เสียงฝน มีแต่บรรยากาศอึมครึม

หากมีโอกาสสักครั้งได้บอกลาคนที่รักและผูกพันที่จะไม่ได้เจอเขาอีกการพิมพ์ข้อความส่งไปทาง Facebook Messenger แชตไลน์ ยกโทรศัพท์กดโทร.หา หรือเดินเข้าไปบอกต่อหน้า คงทำให้คนคนนั้นได้รับรู้สิ่งสำคัญในใจและไม่ต้องค้างคาใจ ทั้งหมดนี้ทำได้เฉพาะคนที่ยังมีลมหายใจเท่านั้น ไม่ใช่โลกหลังความตาย

ถ้าเป็นการจากไปอย่างสงบ ท่ามกลางคนที่ผูกพัน แม้ทำใจได้ยาก แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง การเตรียมใจไว้ระดับหนึ่งจะช่วยบรรเทาความเสียใจ แต่หากเป็นการจากไปกะทันหัน เช่น การประสบอุบัติเหตุ ไม่ง่ายเลยที่จะยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ทันทีที่ลมหายใจหมดไปจากร่าง แม้จะอยู่กันคนละภพ ในความเชื่อของคนล้านนาคนตายสามารถกลับมาคุยกับคนอยู่ได้อีกครั้งผ่านพิธี “สู่ผีลง” หรือ “ลงขอน”

ไม่นานนักคนกลุ่มแรกก็ทยอยเข้าไปนั่งในหอพ่อปู่ เบื้องหน้าเป็นหญิงวัย ๖๔ ปี สวมใส่ชุดสีขาว นั่งขัดสมาธิบนแท่นยกพื้น หันหน้าไปหาโต๊ะที่เต็มไปด้วยเครื่องไหว้ พ่อปู่พญาคำและพ่อปู่แสนเมืองมาคือชื่อที่ปรากฏอยู่บนหิ้ง
Image
เมื่อแน่ใจแล้วว่าวิญญาณที่อยู่ในร่างของม้าขี่เป็นคนที่ทุกคนอยากเจอ ครอบครัวจะชวนกินข้าว ถามถึงความเป็นอยู่ในโลกหลังความตาย
หลังทุกอย่างหยุดนิ่ง เสียงพึมพำบทสวดเล็ดลอดจากร่างสั่นเทิ้ม เสียงหายใจดังฟืดฟาด บทสวดยังวนซ้ำเดิมแต่น้ำเสียงเปลี่ยนไป จากอ่อนนิ่มเป็นแข็งกร้าวราวกับเป็นคนละคน เสียงชายแผดจากผู้หญิงร่างเล็ก ทุกลมหายใจตรงนั้นถูกสะกดด้วยเหตุการณ์ตรงหน้า

“ม้าขี่” เป็นคนที่ถูกคัดเลือกโดยผีเจ้าพ่อเพื่อใช้สื่อสารในโลกของมนุษย์เหมือนการเข้าทรงทั่วไป แต่ในพิธีนี้จะต่างที่หลังจากผีเจ้าพ่อมาประทับแล้วจะไปตามวิญญาณผู้ตายมาเข้าทรงแทนที่ เพื่อให้พบปะพูดคุยกับญาติพี่น้องหรือคนที่รักได้

สิ่งที่ผีเจ้าพ่อได้รับจะมีเพียงชื่อ-สกุล วัน เดือน ปีเกิด และจำนวนวันที่ตายจากญาติเขียนใส่กระดาษส่งให้กับกวาน ซึ่งเป็นคนเดียวในพิธีที่พูดคุยสื่อสารกับเจ้าพ่อได้โดยตรง

หลังคุยกับกวานเสร็จ เจ้าพ่อย้ายมานั่งบนฟูกและนอนลงอย่างสงบ

เมื่อเปลือกตาขยับ ทุกสายตาจ้องมองไปที่ม้าขี่อย่างจดจ่อ  หลังลุกขึ้นนั่งท่าทีก็เปลี่ยนไป น้ำเสียงเปลี่ยนเป็นเด็กหนุ่มและพูดภาษาไทยกลาง

“ลองบอกมาเลาะ เสื้อตั๋วไหนเป็นของน้อง ?” 

ม้าขี่หยิบเสื้อหลายตัวด้านหน้าขึ้นมาดูและชี้ไปที่เสื้อ รด. พร้อมสวมใส่อย่างทะมัดทะแมง

“ตัวนี้ครับ”

“แล้วบุหรี่ไฟฟ้าของคิงอันไหน ?”

“อันนี้ครับ”

แม้จะเอาของส่วนตัวออกมาอีกกี่ชิ้นวิญญาณในม้าขี่ก็เลือกได้ถูกต้องทั้งหมดไม่มีข้อสงสัยใดหลงเหลืออยู่ เบื้องหน้าคือคนที่ทุกคนตั้งใจมาเจอ
Image
คนล้านนาเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้ว กลับมาพบคนในครอบครัวได้อีกครั้งผ่านพิธี “สู่ผีลง” หรือ “ลงขอน”
ทันทีที่ลมหายใจหมดไปจากร่าง แม้จะอยู่กันคนละภพ ในความเชื่อของคนล้านนา คนตายสามารถกลับมาคุยกับคนอยู่ได้อีกครั้งผ่านพิธี “สู่ผีลง” หรือ “ลงขอน”
น้ำเสียงหยอกล้อดังปนเสียงร้องโห่ดีใจและร้องไห้โหยหวนเป็นความตื้นตันใจที่ได้เจอกันอีกครั้ง และเสียใจที่มันเป็นครั้งสุดท้าย

หลังมั่นใจแล้วว่าวิญญาณในร่างตรงกับลักษณะของผู้ตายครอบครัวจะชวนกินกับข้าวซึ่งเป็นของโปรดของผู้ตายพูดคุยถามไถ่ความเป็นอยู่ในโลกหลังความตาย ถามสิ่งที่ต้องการให้ครอบครัวช่วยทำ และนั่งจับเข่าบอกเล่าความในใจกับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย

ทุกนาที ทุกประโยค ทุกสัมผัส อบอุ่นและหดหู่อยู่ในเวลาเดียวกัน

อาจดูเหมือนพิธีที่ช่วยแก้ปัญหาให้คนตาย แต่ที่จริงแล้วเยียวยาคนอยู่มากกว่า เพราะนี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่คนเป็นจะได้รับรู้ถึงคนตาย ได้จัดการความสัมพันธ์แก่กันและกัน

ไกล แสนไกล สุดโค้งขอบฟ้า ไกลสุดตา ฟ้าไม่อาจกั้นใจ หวง สุดห่วง ใจนั้นแสนห่วงใย ไกล แสนไกล ใจนั้นสุดคิดถึง 

เพลงที่ทุกคนคุ้นเคยถูกร้องด้วยเสียงที่สั่นเครือ

“ผมขอตัวแล้วครับ” 

“ชาติหน้ามาเกิดเป็นลูกน้ากับอานะ”

“ครับ”

สิ้นเสียงตอบรับ ร่างนั้นร่วงหล่นในอ้อมกอดแม่ อาบหยดน้ำตา ท่ามกลางเสียงไห้สะอื้น  

ไม่มีใครรู้ได้ว่าคนตายไปแล้วไปไหน รู้สึกอย่างไร คิดถึงใครบ้าง แต่ที่แน่ ๆ สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การได้พบคนที่เขารักและผูกพันเป็นครั้งสุดท้าย อาจช่วยพาให้ก้าวข้ามความเสียใจและสร้างพลังในการมีชีวิตอยู่ต่อไป
Image
หลังวิญญาณออกจากร่าง ม้าขี่จะล้มตัวนอนคล้ายหมดสติ และผีพ่อปู่พญาคำจะกลับเข้ามาอีกครั้ง  ครอบครัวผู้ตายเมื่อกลับไปถึงบ้านจะทำในสิ่งที่ผู้ตายร้องขอในพิธีกรรม เช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เป็นต้น
เลี้ยงผี
เสื้อวัด

ขอบคุณผีที่ดูแลชุมชน
ก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนา คนล้านนานับถือผีเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยมองว่าผีเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์หรือเทวดาอารักษ์ที่คอยดูแลคุ้มครองคนและสถานที่ให้ปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย
สำรับเครื่องเซ่นไหว้ประกอบด้วย ลาบ หลู้เลือดดิบ แกงอ่อม เครื่องในย่าง หมาก เหมี้ยง บุหรี่ และขนมต่าง ๆ  มีข้อห้ามระหว่างการประกอบอาหาร คือห้ามชิมรสชาติเด็ดขาด หากชิมจะถือว่าอาหารนี้เป็นซากเหลือ ไม่สามารถนำไปเซ่นไหว้ผีได้
เครื่องเซ่นไหว้จะถูกจัดเตรียมโดยคนในชุมชนตั้งแต่เช้า ไหว้ผีเสร็จผู้ร่วมพิธีจะล้อมวงรับประทานอาหารจากการเลี้ยงผี โดยมีความเชื่อว่า “กินขี้ซากผี จะอยู่ดีมีสุข หายเจ็บป่วย”
Image
Image
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีจะมีพิธีเลี้ยงผีเสื้อวัดที่วัดปงสนุกเหนือ เพื่อขอบคุณผีที่ดูแลรักษาวัดและคนในชุมชน

คนที่มาร่วมงานจะพากันมาไหว้และพูดคุยสารทุกข์สุกดิบกับผีที่ประทับทรงผ่าน “ม้าขี่ที่นั่ง”  หากมีเรื่องเดือดร้อน ทุกข์ใจจะขอให้ผีเจ้าพ่อช่วยปัดเป่าให้คลายลง

เมื่อชาวล้านนารับพุทธศาสนาแล้วคนกับผีก็ยังมีสายใยเชื่อมโยงกันเหนียวแน่น เพราะความเชื่อเรื่องผีถูกผนวกกลืนเข้าสู่จารีตประเพณีมาช้านาน ชาวล้านนาจึงผสมผสานความเชื่อโดยนำผีเข้ามารับใช้ในพุทธศาสนา ตั้งให้ผีเป็นผู้ปกป้องเชิงสัญลักษณ์เพื่อเน้นย้ำความเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของวัด ดังเช่นวัดปงสนุกเหนือ จังหวัดลำปาง ที่ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี “เสื้อวัด”

ในวัดนี้มีหอผีอารักษ์หรือผีเสื้อวัดทั้งหมด ๑๓ หอที่อยู่รอบพระธาตุศรีจอมไคล  ผีเสื้อวัดเหล่านี้นอกจากจะดูแลวัดและพระธาตุศรีจอมไคลแล้วยังเป็นผู้ควบคุมผู้คนที่เข้ามาใช้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ให้อยู่ในกรอบของความดีงามสำรวมกิริยามารยาท ปฏิบัติตามข้อห้ามต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น

พิธีเลี้ยงผีเสื้อวัดจัดขึ้นในช่วงราวเดือนห้าของภาคเหนือ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งใช้เวลาประกอบพิธีทั้งหมด ๒ วัน วันแรกเรียกว่า “วันดา” บรรดาผู้เฒ่าผู้แก่และคนในชุมชนจะร่วมกันทำความสะอาดหอผีและจัดเตรียมเครื่องสักการะต่าง ๆ เช่น ขันตั้งดอกไม้ ธูป เทียน ตลอดจนถึงวัตถุดิบในการประกอบอาหารเป็นเครื่องเซ่นไหว้
Image
ในพิธีเลี้ยงผีเสื้อวัด อาจารย์วัดหรือมัคนายกจะนำสำรับอาหาร “ไปยื่นยง” กล่าวเชิญให้ผีมารับเครื่องเซ่นไหว้ที่คนในชุมชนเลี้ยงขอบคุณที่ผีดูแลปกปักรักษาวัดปงสนุกเหนือและคนในชุมชนตลอดทั้งปีที่ผ่านมา
เช้าตรู่ในวันที่ ๒ เรียกว่า “วันเลี้ยง” คนในชุมชนจะมาช่วยกันประกอบอาหารเครื่องเซ่นไหว้ จัดอาหารต่าง ๆ ใส่ขันโตก ๑๓ ใบ ตามจำนวนของหอผี  หลังจากถวายเครื่องเซ่นไว้แล้ว ผู้ดูแลผีที่เรียกว่า “กวานผี” จะเชิญผีลงประทับผ่านร่างทรงที่เรียกว่า “ม้าขี่ที่นั่ง” เพื่อประกอบพิธีกรรมฟ้อนรำ พูดคุยไถ่ถาม

ท้ายที่สุดคือการทำพิธีลอดต๋าแหลวเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้คนในชุมชนอยู่ร่มเย็นผาสุกสืบไป แม้ยุคสมัยจะผ่านมานานเพียงใดคนท้องถิ่นก็ยังเชื่อและนับถือผีคู่กับพุทธศาสนาได้อย่างลงตัว เสมือนหนึ่งว่าผีและพุทธร่วมกันสร้างโลกทัศน์ให้ชาวล้านนามีรูปแบบเฉพาะตนเอง 
ด้วยความเกื้อกูลกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้