รําแม่มด
ศาสนาผีอีสานใต้
ศาสนาผีอีสานใต้
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
แม่มด ในอีสานใต้ไม่ใช่หญิงหมอผี ไม่ใช่หญิงแก่ใจร้ายขี่ไม้กวาดอย่างในนิทานฝรั่ง แต่เป็นผู้หญิงพื้นบ้านทั่วไปในทุกสถานะทางสังคม อาชีพ และวัย ที่สามารถสื่อสารกับผีบรรพบุรุษที่อยู่ต่างภพผ่านการเข้าทรง เป็นผู้นำและที่พึ่งในการบำรุงรักษาเยียวยาปัญหาในครอบครัว เครือญาติ และชุมชน จนถึงความเจ็บไข้ทางกาย-ใจที่แพทย์แผนใหม่หาสาเหตุไม่ได้ ทั้งยังว่ากันว่าเป็นผู้นำทางจิตใจที่มีอยู่ก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนา และยังคงอยู่จริงอย่างเหนียวแน่นในแถบสามจังหวัดชายแดนอีสานใต้ทุกวันนี้ ยามค่ำคืนตามหมู่บ้านในช่วงเดือนสามถึงเดือนห้า ยังมีพิธีกรรมในบรรยากาศขลังๆ แบบขแมร์ให้เห็นอยู่ทั่วไป
ท่ามกลางเสียงดนตรีพื้นบ้านอีสานที่กำลังบรรเลงท่วงทำนองอันหวานไหว ให้ผู้หญิงในชุดแต่งกายแปลกตากลุ่มหนึ่งร่ายรำไปตามจังหวะดนตรีอันเร่งเร้าใจนั้น จู่ ๆ เด็กสาวร่างท้วมที่นั่งอยู่โคนเสามุมหนึ่งของปะรำพิธีก็กรีดร้องขึ้นสุดเสียง แล้วร้องไห้โฮตัวสั่นเทิ้มเหมือนกำลังตระหนกหวาดผวากับอะไรสักอย่าง
คนที่เจนจัดพิธีรู้ทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น ครูมะม็วตหยิบหมากคำโตใส่ปากเคี้ยวถี่ ๆ พลางบริกรรมคาถาเสียงดังแล้วพ่นใส่เด็กสาวจากหัวจดเท้าสามรอบ เธอสงบลงแต่ยังมีสะอึกสะอื้นขณะมีคนประคองออกจากปะรำพิธีไปพักในบ้าน
คนที่เข้าใจพิธีกรรมช่ำชองพูดกันว่า ทำไมไม่เอาไปตั้งให้เขากินนอกปะรำพิธีตั้งแต่ต้น เจ้าภาพยืนยันว่าทำแล้วแต่ไม่รู้ว่าทำไมวิญญาณผีเร่ร่อนถึงยังมารบกวนพิธีให้ต้องสะดุดและเดือดร้อนครูมะม็วตต้องลุกไปเสกมนต์พ่นหมาก
ครูมะม็วตถือเป็นผู้นำและกำกับดูแลการประกอบพิธีกรรมให้ลุล่วงไปโดยราบรื่นเรียบร้อย เป็นคนแรกที่เข้าทรง และเริ่มพิธีด้วยการรำดาบทำท่าฟาดฟันผีสาง แล้วฟันเปขาดร่วงลงพื้น ก่อนนำออกไปวางข้างนอกให้ห่างบ้าน เซ่นภูตผีเร่ร่อนไม่ให้เข้ามารบกวนกิจกรรมภายในปะรำพิธี
แต่งานรำแม่มดที่บ้านสะเดาใหญ่คืนนี้ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าทำไมถึงยังมีผีร้ายมาเข้าเด็กสาวที่นั่งอยู่โคนเสาปะรำพิธีได้ ทั้งที่เจ้าภาพวางเครื่องเซ่นไว้ข้างนอกแล้ว
ครูมะม็วตจากบ้านไทรสันนิษฐานว่าอาจเป็นการลองของจากคนมีของที่อยู่แถวนี้ก็เป็นได้
เป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ เฉพาะหน้า ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาระหลักของพิธีกรรม โผล่แทรกเข้ามาโดยไม่คาดหมายและไม่ได้เชื้อเชิญ เมื่อ ปรมินทร์ ศรีรัตน์ พ่อครูมะม็วตจากบ้านไทร อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ จัดการให้ผ่านไปได้ งานรำแม่มดที่บ้านสะเดาใหญ่ อำเภอขุขันธ์ ในจังหวัดเดียวกันก็ดำเนินต่อไปตามเป้าหมายของพิธีที่เป็นการเชิญผีบรรพบุรุษมารำให้สำราญ ช่วยบำบัดโรคภัยที่รักษาด้วยหนทางอื่นไม่หาย และเป็นขวัญกำลังใจช่วยปกป้องดูแลลูกหลาน
เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่คนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ร่วมยืนยันว่ามีอยู่ และพวกเขาให้ความนับถือศรัทธา สืบทอดกันมายาวนาน
อาจยาวนานก่อนโลกจะมีศาสนาใดอุบัติขึ้นก็เป็นได้เป็น “ศาสนาผี” ที่ยอมรับนับถือกันในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอีสานใต้ และในทางวิชาการสากลยอมรับว่าเป็นศาสนา แต่ในวงวิชาการศาสนาไทยนับเป็นเพียงความเชื่อชุดหนึ่ง
คนถิ่นอีสานใต้เรียกพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีที่นับถือนี้ว่าโจลมะม็วต หรือเรือมมะม็วต และเลือนมาพ้องเสียงเป็นคำไทยว่ารำแม่มด ทั้งให้นิยามแบบรวบรัดกระชับความว่าเป็นพิธีกรรมบำบัด
เป็นการรักษาทางจิตวิญญาณ ใช้เสียงดนตรีและการร่ายรำที่สนุกสนานกล่อมบรรเลงให้คนไข้คลายทุกข์คลายโรค
เล่าขานกันว่า บางทีคนป่วยที่ไม่กินข้าวกินน้ำ ไม่อยากหมากพลูบุหรี่ ไม่พูดจามาเป็นแรมเดือน พอได้ยินทำนองดนตรีแม่มดบรรเลงขึ้นก็ลุกขึ้นมานั่งน้ำตาคลอเรียกขอข้าวปลากินหรือบางคนป่วยหนักนอนอยู่ในห้อง ก็ลุกขึ้นมารำตามจังหวะเพลงได้
เครื่องเซ่นสรวงและของบูชาตามแบบแผนของพิธีกรรม จะวางเรียงรวมกันไว้ที่เสากลางของปะรำพิธีที่เรียกว่า “ประต็วล” กล้วยกับขนมข้าวต้มมัดใน “จรอม” ผูกอยู่บนสุด ถัดลงมาเป็นเส้นด้าย บายศรี จวมกรู ขันครู ฯลฯ วางอยู่บนแท่นวางเครื่องบูชาที่เรียกว่า “ตระน็วล”
เป็นเรื่องที่มองไม่เห็นและพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ไม่ได้ แต่คนท้องถิ่นที่มีประสบการณ์ร่วมยืนยันว่ามีอยู่่ เรือมมะม็วต ที่เลือนมาพ้องเสียงเป็นคำไทยว่า รำแม่มด พิธีกรรมบำบัด ใช้เสียงดนตรีและการร่ายรำที่สนุกสนานกล่อมบรรเลงให้คนไข้คลายทุกข์คลายโรค
“แพลเฌอ” หรือจานผลไม้ แม่มดจะถือรำรอบเสากลางของปะรำพิธี ช่วงท้ายสุดของพิธีกรรม ถวายแด่ “ครู” ให้ได้กินเป็นครั้งสุดท้ายก่อนอำลาจากกัน
“ตอนนั้นไม่สบาย ปวดกลางคืน ตั้งแต่ช่วงตะวันตกดินตอนเอาวัวควายเข้าคอก พอ ๒-๓ โมงเช้าก็เป็นไข้อีก ไปตรวจแล้วไม่เจอ หมอว่าไม่ได้เป็นอะไร” ประสบการณ์ตรงของสิริกร ศรีลาชัย ซึ่งคล้ายกับคนอื่น ๆ ที่ต้องมาเกี่ยวพันกับแม่มด เนื่องจากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่การแพทย์แผนใหม่หาสาเหตุและรักษาไม่ได้
“ไปรักษามาทุกที่ กันทรลักษ์ อุบลราชธานี นครปฐมก็ไป หมอสงสัยว่าเป็นมะเร็งกระดูก เอาเลือดไปตรวจที่กรุงเทพฯ ตรวจแล้วไม่เจอ หมอว่าไม่ได้เป็นอะไร กลับมาหลวงพ่อดูให้ว่าเป็นแม่มดทำ ก็เลยได้รำแม่มดมาตั้งแต่เป็นสาว”
คืนนี้สิริกรมาในชุดผ้าฝ้ายพื้นบ้านกับตะกร้าเสื้อผ้าอีกหลายชุดของผู้ที่จะมาเข้าทรงร่างเธอ ผิวพรรณหน้าตาของแม่มดวัย ๕๒ ปี ดูผ่องใสมีน้ำนวลอย่างคนเมืองที่ไม่ค่อยได้ต้องแดดลม สิริกรบอกว่าชีวิตปรกติเธอก็ทำนาอยู่บ้าน แต่ชีวิตอีกด้านเธอเป็นแม่มดของบ้านสระรุน อำเภอขุขันธ์
มะม็วต หรือ “แม่มด” ในแถบอีสานใต้จึงไม่ใช่หญิงหมอผีตามความหมายในพจนานุกรมไทย ไม่ใช่หญิงแก่ใจร้ายขี่ไม้กวาด ไม่ใช่ตัวร้ายอย่างในนิทานฝรั่ง แต่เป็นผู้หญิงพื้นบ้านทั่วไปในทุกสถานะทางสังคม อาชีพ และวัย ซึ่งมีความสามารถทางจิตวิญญาณในการสื่อสารกับผู้ที่อยู่ต่างภพ
สุจิตต์ วงษ์เทศ ให้ความหมายคำว่า “มด” ในที่นี้ว่า “อาจเกี่ยวโยงกับมดลูกที่สร้างชีวิต หรือมดหมอ ที่มีพลังอำนาจในการรักษา” เป็นผู้นำและที่พึ่งในการบำรุงรักษาเยียวยาปัญหาในครอบครัว เครือญาติ และชุมชน จนถึงความเจ็บไข้ทางกาย-ใจที่แพทย์แผนใหม่หาสาเหตุไม่ได้ เช่นเดียวกับ “ครูหมอ” ในภาคใต้ที่เป็นผีบรรพบุรุษของสายสกุลการแสดงของศิลปินในสายนั้น ๆ ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้คนเจ็บป่วยและหายป่วยได้ และเช่นเดียวกับการไหว้ครูด้านต่าง ๆ ในภาคกลาง ก็ถือเป็นการไหว้ผีหรือเทพที่นับถือมาแต่โบราณ ล้วนแต่เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจที่มีอยู่ก่อนพุทธศาสนาจะเผยแผ่เข้ามา และยังมีอยู่จริงอย่างเหนียวแน่นในอีสานใต้ทุกวันนี้
“แม่เล่นมาเป็น ๓๐ ปีแล้ว บ้านไทรเป็นคนเขมรทั้งบ้าน ไม่มีปนเลย นอกจากคนนอกที่ย้ายเข้ามาอยู่ ผู้หญิงเป็นแม่มดเกือบทุกหลังคา ผู้ชายมีสามคน เด็กหนึ่งคน” แม่คำแวน แม่มดบ้านไทรเล่าประสบการณ์ของตน “ไปนอนโรงพยาบาล ๗ วัน หาโรคไม่เจอ ไปบนแม่มดแล้วหาย เราก็จัดรำที่บ้าน”
ยามเจ็บไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้และรักษาด้วยวิธีสามัญหมดสิ้นแล้วยังไม่หาย คนแถบอีสานใต้จะหันไปพึ่งผี
เริ่มจากการ “โบล” เสี่ยงทายหาสาเหตุของการเจ็บป่วย
หมอเสี่ยงทายจะใช้มือขวาจับเส้นด้ายที่แขวนเต้าปูน มือซ้ายมีข้าวสารแบรองรับ พร้อมกับร่ายเวทมนตร์ ถ้าสาเหตุการเจ็บป่วยเกิดจากผี เต้าปูนจะแกว่งไปมา
ข้าวต้มมัด หรือที่คนท้องถิ่นเรียก “ข้าวต้ม” ขนมสำคัญของพิธีกรรมรำแม่มด ใช้เป็นเครื่องเซ่นและตั้งครูในพิธี ใช้เลี้ยงแขก และเป็นของตอบแทนให้กับแม่มดที่มารำ เมื่อจบงานเจ้าภาพจะมอบข้าวต้มมัดหนึ่งพวง กล้วยหนึ่งหวีข้าวเหนียวหนึ่งห่อ กับเงินจำนวนหนึ่ง และเมื่อกลับถึงบ้านแม่มดต้องแบ่งข้าวต้มมัด กล้วย ข้าวเหนียว เงิน ไปถวายครูบนหิ้งบูชาด้วย
“จวมกรู” ที่สถิตของครูกำเนิด ซึ่งคนชาติพันธุ์เขมรเชื่อว่ามีติดตัวทุกคน มาตั้งแต่เกิด จึงต้องสร้างจวมกรูวางไว้บนหิ้งในบ้าน และเชิญมาวางตรงกลางพิธีเมื่อจัดงานรำแม่มด
เมื่อรู้ว่าป่วยด้วยเหตุนั้นก็ “บน” ขอให้หาย จะจัดเรือมมะม็วตให้
ถ้ามี “กรู” หรือครู อยากมาอยู่ด้วย คนนั้นก็ต้องรับให้อยู่และยอมเป็นร่างทรง เหมือนอย่างสิริกรที่รับเป็นแม่มดที่บ้านสระรุนมา ๑๐ ปีแล้ว และตอนหลังเธอเป็น “ครูมะม็วต” ทำหน้าที่เป็นผู้นำในพิธีกรรมรำแม่มดด้วย
“บน” ใช้ด้ายผูกคอไหดินเผาขนาดเล็ก วางไว้บนหิ้งจวมกรูเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของคำสัญญา เมื่อจัดรำมะม็วตก็มาแก้ด้ายออก บอกการแก้บน ตอนหลังบางทีใช้การผูกคอขวดแทนไหดินเผา
“กรู” คือ “ครูกำเนิด” ชาวชาติพันธุ์เขมรที่นับถือผีเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่อยู่กับแต่ละคนมาตั้งแต่เกิด
“ครูมะม็วต” ผู้นำประกอบพิธีรำแม่มด ต้องเป็นคนมีจิตวิทยา อารมณ์เยือกเย็น พูดจาดี มีไหวพริบดี ในงานรำแม่มดครูมะม็วตจะเข้าทรงเป็นคนแรก ตรวจการจัดเครื่องประกอบพิธีให้ถูกต้อง และคอยดูแลการประกอบพิธีกรรมให้ลุล่วงด้วยดี ไม่มีการรังควานจากภูตผีที่ไม่เกี่ยวข้อง
ตามธรรมเนียมประเพณีที่สืบมา ส่วนมากครูมะม็วตจะเป็นผู้หญิง ซึ่งคนทั่วไปจะเรียกว่าแม่ครู แต่ผู้ชายก็มีอยู่บ้าง จะเรียกว่าพ่อครู อย่างปรมินทร์ที่มาทำหน้าที่เป็นเจ้าพิธีเรือมมะม็วตที่บ้านสะเดาใหญ่คืนนี้
ปัจจุบันหนุ่มวัย ๓๔ ปีคนนี้เป็นพ่อครูมะม็วตบ้านไทร ที่ชาวบ้านเรียกว่าอาจารย์ชิน
“ผมมารับต่อจากยาย ตาของยายมาอยู่กับผมตั้งแต่เกิดมีความจำเดิม ร่ายมนตร์คาถาได้ ออกจากผมไปตอนราว ๑
ขวบ พอเด็กจำความได้จะลืมความจำเดิมหมด เพิ่งกลับมาเกี่ยวข้องกันอีกตอนยาย ๘๐ กว่าปี ยายว่าจะมอบให้ ตาของยายหรือตาเทียดของผมเป็นครูมาเข้าผม ในชีวิตประจำวันแยกกันอยู่ไม่เกี่ยวกัน จะมาตอนเราเรียก”
ส่วนแม่มดสิริกรมาร่วมพิธีตามคำเชิญของเจ้าภาพที่เป็นเครือญาติในตระกูลเดียวกัน
ภายในมณฑลพิธี ดนตรีและการร่ายรำดูผิวเผินเหมือนเป็นการละเล่น แต่นั่นเป็นเรื่องจริงจังถึงขั้นผูกติดอยู่กับวิถีชีวิตสืบเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนคนเขมรแถบอีสานใต้มายาวนาน ไม่มีใครหาจุดเริ่มต้นได้แน่ชัด
“มะม็วตต้นตระกูลของเรา ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งรับไปแล้วจากย่าทวด แต่หลังจากพ่อเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต คนในบ้านเริ่มป่วย” เรื่องเล่าถึงมะม็วตในครอบครัวของ ฐรันทร์พัชญ์ พรหมบุตร แม่มดวัยสาว และเป็นครูโรงเรียนมัธยมศึกษาในท้องถิ่น
“แม่ไม่สบาย ไปดูหมอที่ไม่ใช่แบบหมอดูทั่วไป คนที่มีโรคภัยไม่รู้สาเหตุถึงไปหา หมอทำนายว่ามะม็วตทำ เขาหาคนที่จะมาอยู่ใหม่”
ครอบครัวของเธอ “บน” ว่าถ้าหายจะจัดงานรำแม่มด
“ใช้ด้ายฝ้ายสีขาวเส้นประมาณนิ้วมือ ผูกคอขวดเหมือนเป็นสัญญาว่าถ้าหายจะมาคลายคอขวด คือจัดงานเล่นมะม็วตหาคนรับเป็นมะม็วตใหม่”
แม่หายป่วย จึงจัดรำแม่มดครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๘
เรือมมะม็วตที่บ้านของฐรันทร์พัชญ์เมื่อ ๘ ปีก่อนนั้น นอกจากจัดขึ้นเพื่อแก้บนจากการเจ็บไข้ ให้แม่มดในตระกูล
ได้มารำรื่นเริงและพบปะพี่น้องลูกหลาน ยังเป็นการหาคนรับเป็นแม่มดคนใหม่ด้วย
นักดนตรีและเครื่องดนตรี แคน ซอ ฆ้อง และกลองโทนสามใบ ตัวเป็นดินเผา หุ้มด้วยหนังเหี้ยหรือหนังงูเหลือม เป็นองค์ประกอบสำคัญของการรำแม่มด ทุกครั้งของการทำพิธีจะเริ่มด้วยการไหว้ครูดนตรี
แต่ครูมะม็วตไม่ยอมเข้าทรงใครในครอบครัว “คิดว่าครอบครัวนี้อาจไม่มีใครเป็นแม่มดได้แล้ว จนเมื่อปี ๒๕๖๕ ลูกชายของพี่ชายไม่สบาย นั่งสั่น เดินลากขา จับช้อนกินข้าวไม่ได้โดยไม่ทราบสาเหตุ เราคิดว่าเด็กวัยรุ่นอายุ ๑๗ ปี เที่ยวมากจนไม่ได้พักผ่อน หมอตรวจว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปรกติ นอนโรงพยาบาลเป็นสัปดาห์ ระหว่างนั้นแม่ให้ญาติไปดูหมอ เขาบอกว่ามะม็วตทำ ต้องเล่นให้เร็วที่สุดถ้าอยากหาย”
ตอนแม่บน ฐรันทร์พัชญ์ดูแลหลานอยู่ที่โรงพยาบาล
“แม่บนว่าถ้าใช่มะม็วตทำ ก็ขอให้หายภายในพรุ่งนี้ จะจัดให้รำ ๔ โมงเย็นของวันที่บน หลานที่นอนอยู่บนเตียงคนไข้ลุกไปเข้าห้องน้ำเองได้ เช้ามาหมอบอกว่าหัวใจเป็นปรกติแล้วให้ออกจากโรงพยาบาล ทำให้เราเชื่อตรงนั้น ก็จัดรำแม่มดอีกครั้ง”
หากไม่ใช่กรณีฉับพลันทันด่วน การรำแม่มดจะนิยมจัดในช่วงเดือนสามถึงเดือนห้า ห้ามตรงกับวันพระ และมักไม่จัดในช่วงเข้าพรรษา
ครอบครัวของฐรันทร์พัชญ์จัดรำแม่มดอีกครั้งเมื่อเข้าหน้าแล้งปี ๒๕๖๕
เธอซื้อ “ขัน” มาใหม่เตรียมเข้าร่วมพิธีกรรม
“ขัน” บางทีเรียกขันครู เป็นพานขันโตกไม้ขนาดฝ่ามือกาง สำหรับใส่เครื่องบูชา หมากพลู เงิน ดอกไม้ เทียน ฯลฯ ใช้นั่งจับและเพ่งเทียนตอนจะเข้าทรงแม่มด
ขันครู อุปกรณ์ประจำตัวแม่มด บูชาไว้บนหิ้งที่บ้าน และนำมานั่งจับในพิธีรำแม่มดเมื่อจะเข้าทรง
แต่ด้วยมีอาชีพเป็นครู มีเวลาทำงานที่แน่นอน ญาติพี่น้องไม่ได้คิดจะวางตัวให้เธอรับเป็นแม่มด
ครูสาวเล่าว่าตอนแรกเธอแค่เข้ามานั่งร่วมอยู่ในปะรำพิธี แล้วถึงช่วงหนึ่งเธอรู้สึกเริ่มตัวสั่น จนต้องร้องกรี๊ดออกมา แล้วร้องไห้ ทั้งที่ไม่ได้จับขันครู
เป็นอาการเดียวกับหลายคนที่ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นแม่มดมาตั้งแต่ต้น
อย่างที่ ทัศนีย์ เอมโอฐ แม่มดบ้านตาตุม ที่เล่าว่า
“ตอนยังไม่เป็นแม่มด ได้ยินเสียงดนตรีจะสั่นขึ้นมาเลย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนต้องมา เมื่อก่อนทำงานอยู่กรุงเทพฯ ญาติเล่นอยู่บ้าน เราได้ยินเสียงดนตรีอยู่ที่โน่น ต้องกลับมาบ้าน”
จนในที่สุดเธอต้องรับเป็นแม่มดคนหนึ่งของบ้านตาตุม ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ มาหลายสิบปีแล้ว
ฤดูร้อนปีที่แล้ว ลูกชายคนโตของทัศนีย์ประสบอุบัติเหตุกระดูกหัก หมอต่อไม่ติด
“ขับรถล้ม ไหปลาร้าหักช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว ต่อไม่ติดเหมือนอะไรขัดขวางไว้ ไปหาหมอส่อง บอกให้บนปากขวดไว้พอบนกระดูกก็เชื่อมติดกัน ถึงเดือนสามปีนี้ก็มาแก้”
เดือนสามปีที่แล้ว งานรำแม่มดที่บ้านค้อตานี ผู้อาวุโสในพิธีลองให้ฐรันทร์พัชญ์นั่งลงจับขัน แต่แม่มดใหม่ก็ไม่เข้าทรงเธอ และยังไม่เข้าทรงใคร
“จนตี ๑ ครึ่งมาจับขันอีกที จิตแรกที่สัมผัสได้คือสั่นกระแทกขันจนหลุดกระจายแล้วร้องไห้ รับรู้ว่าพ่อเราเข้ามาแต่ก็รู้ตัวอยู่ว่า แม่ พี่ชาย คนโน้นคนนี้ถามว่าใครเข้ามา เราบอกว่าพ่อ เขาถามว่ามีอะไร ก็คิดถึงลูกคิดถึงเมีย ขอโทษที่ไปก่อน ก็พูดทั้งน้ำตา ขอโทษเมียที่ไม่อยู่เลี้ยงลูก รู้ตัวเองหมดว่าพูดอะไร แต่ที่พูดไม่ใช่ความรู้สึกเรา เหมือนมีคนบอกให้พูด ๆ ๆ ๆ ออกไป น้องสาวถ่ายคลิปไว้ เป็นน้ำเสียงเราเอง นั่นครั้งแรกของการรับ”
เข้าทรงครั้งแรกนับหนึ่ง เป็นแม่มดใหม่ต้องรำให้ครบสามพิธีจึงเป็นแม่มดเต็มตัว จากนั้นเมื่อมีการจัดเรือมมะม็วตในสายตระกูลก็จะมีบายศรีมาเชิญให้ไปร่วมรำ
เย็นวันข้างขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสามปีนี้ ทัศนีย์ถือบายศรีไปตามบ้านแม่มดที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเธอ เชิญมาร่วมงานรำแม่มดที่บ้านของเธอในวันรุ่งขึ้น
เช่นเดียวกับแม่มดตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วอีสานใต้ ที่มักจัดเรือมมะม็วตกันตั้งแต่เริ่มเข้าเดือนสาม
ภายในมณฑลพิธี ดนตรีและการร่ายรำดูผิวเผินเหมือนเป็นการละเล่น แต่นั่นเป็นเรื่องจริงจังถึงขั้นผูกติดอยู่กับวิถีชีวิตสืบเนื่องเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน คนเขมรแถบอีสานใต้มายาวนาน ก่อนโลกจะมีศาสนาใดอุบัติขึ้นก็เป็นได้ เป็น “ศาสนาผี” ที่ยอมรับนับถือกันในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอีสานใต้
แม่มดใช้ “ขันครู” เป็นสื่อกลางที่เชื่อมต่อกับครูหรือผี ซึ่งเป็นคนละความหมายกับผีในภาษากลาง และไม่ใช่ “วิญญาณ” แต่เป็น “ขวัญ” ที่เชื่อกันว่าเมื่อคนตาย ขวัญไม่ได้ตาย แต่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในอีกมิติ มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ แต่ยังเกี่ยวโยงผูกพันอยู่กับครอบครัวและสามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ดีและร้ายได้
วันอังคาร ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปี ๒๕๖๖ ธัญดา ศิริวงษ์ เชิญแม่มด ๒๐ กว่าคนในชุมชนบ้านไทร ที่อยู่ในสายตระกูลเดียวกัน มาร่วมรำแม่มดที่บ้านของเธอ
เท่าที่บันทึกรายชื่อได้มีแม่คำแวน แม่สังวาลย์ แม่เกิด แม่ประเสริฐ แม่มาลิน แม่แจ่มศรี แม่สมร แม่สายพิน แม่สมพรแม่กำไลทอง แม่จรวยพร แม่เขียน แม่กราน แม่ประคองแก้ว แม่บุญงาม แม่เรียน แม่แต้ว แม่บัวศรี แม่วิไล แม่สุพรรณ แม่บุญเติม แม่ยิ้ม ไชยมูล ฯลฯ รวมเกือบ ๓๐ คน
เกือบทั้งหมดของแม่มดร่างทรงผีบรรพบุรุษเป็นผู้หญิง ซึ่งอาจสะท้อนบทบาทและอำนาจของเพศหญิงในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัววงศ์ตระกูลในยุคโบราณ ที่แสดงผ่านการเข้าทรงแม่มดมาจนถึงยุคนี้
“บ้านนี้ไม่เคยเล่นเรือมมะม็วตเลย ตัวเองไม่เคยรำ ไม่เคยมีแม่มด มีแต่ไปเชียร์เขา” ธัญดาพูดถึงตัวเอง
“แต่ที่ต้องรำ ลูกทำงานอยู่กรุงเทพฯ บอกว่านอนไม่หลับ ทุรนทุราย เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว ไปตรวจหมอบอกไม่เป็นอะไรแต่ลูกบอกเหมือนมีอะไรมาอยู่กับตัวหนู แม่ว่าให้กลับบ้านจะพาไปถวายสังฆทาน ก็นอนไม่หลับ เขาว่าไม่ใช่เรื่องปรกติแล้วพูดไปก็ร้องไห้ด้วย”
“อยากนอนแต่นอนไม่ได้ เหมือนจะหลับแต่ไม่หลับ มีเรื่องให้คิด เหมือนไม่อยากให้เรานอน ไปหาหมอว่าเป็นอาการของคนวัยทำงาน แต่ผมไม่เคยเป็น เลยโทร. หาแม่” เกียรติบัณฑิตศิริวงศ์ เล่าอาการของตัวเอง
“แม่ไปหาหมอให้ส่องดูดวงเขา อาจารย์ชินพูดชัดบอกแม่มดไม่มีลูกหลานสืบต่อ ก็บนผูกด้ายกับคอไห” ธัญดาบอกที่มาของการจัดรำแม่มดครั้งแรกของเธอ
“ผมบอกตั้งแต่แรกว่าแม่มดทำให้ลูกชายที่เป็นตำรวจนอนไม่หลับ เขายังไม่เชื่อ ไปส่องกับหมอคนอื่นก็ได้คำตอบเหมือนกัน ยอมบนลูกก็หาย คนเขมรแถวอีสานใต้เวลาป่วยหาโรคไม่เจอ มาให้หมอส่องพบว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เขาไปบนวันสองวันก็หายขาด” คำยืนยันของพ่อครูปรมินทร์หรือที่ชาวบ้านเรียกอาจารย์ชิน
ธัญดายังเล่าด้วยว่าหลังจากบนเธอก็หายจากโรคของตัวเองด้วย
“ก่อนนี้ไปตรวจมะเร็งปากมดลูก นอนโรงพยาบาล ๒ วัน พบที่ปีกมดลูก ตอนนั้นหมอนัดวันผ่าตัดแล้ว ไปตรวจอีกทีก็หายไป นี่ในช่วง ๒ เดือนหลังจากไปบนผูกปากขวด เข้าเดือนสามก็จัดเรือมมะม็วต เชิญอาจารย์ชินมาทำพิธี”
ช่วงเย็นก่อนวันงาน บ้านที่เป็นเจ้าภาพพิธีเรือมมะม็วตจะจัดบายศรี ดอกไม้ ธูปเทียน ไปเชิญแม่มดถึงบ้าน
พิธีกรรมรำแม่มดต้องทำในปะรำที่มีเสาเก้าต้น มุงด้วยใบมะพร้าว ซึ่งญาติพี่น้องที่เป็นผู้ชายจะช่วยกันปลูกขึ้นนอกตัวบ้านในตอนเช้าของวันงาน ขณะที่พวกผู้หญิงจะมาช่วยกันหุงหาอาหารไว้รอเลี้ยงแขก
วันรุ่งขึ้นญาติพี่น้องเพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชายจะมาช่วยกันปลูกปะรำพิธีนอกตัวบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ ไม่ทันสายก็เสร็จ ผู้หญิงช่วยกันห่อข้าวต้มมัด ซึ่งเป็นขนมหลักที่ใช้ในพิธี ต้อนรับแขก และเป็นของฝากทุกคนติดมือกลับบ้าน บางส่วนติดเตาตั้งหม้อกระทะใบใหญ่ ๆ ทำกับข้าวไว้รอเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานตลอดทั้งวันทั้งคืนยันเช้าอีกวัน สมัยนี้จัดงานรำแม่มดครั้งหนึ่งต้องใช้เงินหลายหมื่นบาท
ปะรำที่ใช้รำมะม็วตมีกฎสำคัญห้ามสร้างเตรียมไว้ก่อนและห้ามใช้เต็นท์สำเร็จรูปแบบสมัยใหม่ ต้องปลูกด้วยเสาไม้เก้าต้น หลังคาราบมุงด้วยใบมะพร้าว ใต้หลังคาแขวนใบไม้ ช่อดอกไม้ นกและปลาตะเพียนสานจากใบมะพร้าว ลูกอม ขนมซอง กล้วย สำหรับให้แม่มดดึงมากินเล่นได้ระหว่างร่ายรำ
เสากลางของปะรำมีตระน็วลสำหรับวางของเซ่นเครื่องบูชาด้ายฝ้าย บายศรี อาหารหวานคาว ไก่ต้ม ข้าวต้มมัด กล้วย ผลไม้ ช้างม้าแกะสลักจากไม้ บนพื้นวางกระเชอใส่ข้าวเปลือกอาวุธพื้นบ้าน มีด ดาบ ปืน วางไว้ข้าง ๆ กับเครื่องราง เครื่องใช้ เสื่อ ฟูก หมอน แพรพรรณ ผ้าขาว สไบ ผ้านุ่งชายหญิงหลากสีหลายชุด เครื่องหอม แป้ง น้ำอบ น้ำหอม เครื่องสำอาง ขมิ้น ธูปเทียน หมากพลู บุหรี่ ยาเส้น ข้าวสาร ฯลฯ
บรรดาเครื่องประกอบในปะรำพิธี เด่นสุดอยู่ที่ “จวมกรู” ที่วางอยู่กลางพิธี
“จวมกรู” บางทีเรียก “จวมมะม็วต” เป็นสัญลักษณ์ที่สิงสถิตของครูกำเนิด ทำด้วยไม้ทองหลางหรือไม้โมกมันเหลาเป็นทรงสถูป มีข้อสองชั้น เจาะรูไว้รอบข้อสำหรับเสียบก้านมะพร้าวติดใบลำดวนม้วนตามยาวมัดไว้ด้วยด้าย ใช้ใบตาลอ่อนตากแห้งสามใบ ฉลุลวดลายสวยงามทาขมิ้น นำมาหุ้มรอบมัดด้าย ใช้เทียนขี้ผึ้งเสียบแซม พร้อมกรวย เงินเหรียญ
และช้างม้าไม้แกะสลักวางเป็นบริวาร
ตามแนวเสาปะรำถือเป็นเขตพิธีผีและการเข้าทรง การพูดจาสื่อสารกับผู้มาเข้าทรง การล้อมวงร่ายรำจะดำเนินไปภายในปริมณฑลนี้ ผู้ร่วมพิธีเข้ามานั่งล้อมและอยู่รอบ ๆ ปะรำพิธีเดินไปมาพบปะพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างกันได้ตามปรกติ
ครูมะม็วตผู้นำพิธีกรรมนั่งอยู่ตรงกลางของด้านที่หันหน้าไปทางตะวันออก มุมหนึ่งของปะรำพิธีเป็นพื้นที่ของนักดนตรี
ซึ่งหลัก ๆ ประกอบด้วยแคน ซอ กลอง ฉิ่ง ฆ้อง ส่วนกลางเป็นที่ล้อมวงร่ายรำของแม่มดที่มาร่วมรำ รอบนอกรายล้อมด้วยญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่มาร่วมงานหรือมุงอยู่อยากดูมหรสพ
ก่อนพิธีจะเริ่มในตอนเย็นย่ำ ผู้หญิงหลากวัยในชุดเสื้อพื้นบ้านนุ่งซิ่นไหมทยอยมาที่บ้านงานพร้อมตะกร้าใบใหญ่ ในนั้นมีเสื้อผ้าอีกหลายชุดเท่าจำนวนผู้ที่จะเข้าทรงเธอ ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะผีบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ในหมู่ชาวเขมรอีสานใต้ที่นับถือมะม็วตทุกคน มีขวัญมีฝากไว้กับแม่มดของตน และมาร่วมรำแม่มดผ่านร่างทรง สื่อสารความในใจกับญาติพี่น้องและบรรพบุรุษที่จากไปแล้ว
เมื่อใครมาเข้าทรง แม่มดจะหยิบชุดของคนนั้นมาสวม หากผู้มาทรงเป็นชาย เธอจะสวมเสื้อผ้าผู้ชาย ใส่โสร่ง และคาดผ้าขาวม้า ซึ่งทั้งหมดเป็นผ้าไหมทอมือของท้องถิ่น มูลค่าทั้งตะกร้าก็หลายหมื่นบาท
พอเริ่มพลบพิธีรำแม่มดจะเริ่มจากครูมะม็วต ที่ชาวบ้านเรียกพ่อครูหรือแม่ครูเข้าทรงเป็นคนแรก แล้วต่อจากนั้นการร่ายรำ ขับร้อง และบรรเลงดนตรีก็จะดำเนินไปตลอดคืน
ใต้หลังคาปะรำประดับหัตถกรรมสานจากใบมะพร้าว ดอกไม้ ใบไม้ และขนมที่แม่มดคว้ามากินได้ระหว่างการร่ายรำที่ยาวนานตลอดทั้งคืน
ช้างม้าแกะสลักจากไม้ยอป่า ส่วนหนึ่งของเครื่องบูชาที่อยู่บนหิ้งครูกับจวมกรู และจะเชิญมาในพิธีเมื่อมีการรำแม่มด
พอโพล้เพล้ตะวันสิ้นแสง เสียงดนตรีก็เริ่มบรรเลง นำโดยแคนและซอตัวใหญ่และประดับลวดลายวิจิตรกว่าของภาคกลางเคล้าคลอเสียงกลองโทน หุ้มด้วยหนังตัวเงินตัวทองหรือไม่ก็หนังงูเหลือม ประสานจังหวะฆ้องและฉิ่ง
จากนั้นชิน หรือ ปรมินทร์ ศรีรัตน์ พ่อครูของพิธี นุ่งโจงกระเบนผ้าขาว สวมเสื้อขาว เชิญครูมะม็วตมาทรง รำดาบ ขับไล่เสนียดจัญไร ฟัน “เป” แล้วนำไปวางให้ผีสางร่อนเร่กินอยู่ไกล ๆ อย่าได้มาข้องเกี่ยวในบริเวณพิธี
แล้วครูมะม็วตก็จะออกจากร่างทรงไปคราวหนึ่ง ก่อนดนตรีเปลี่ยนท่วงทำนองเป็นสนุกเร่งเร้าใจ
การร่ายรำในค่ำคืนกำลังจะเริ่มต้น แม่มดที่มาร่วมพิธีจะนั่งพับเพียบลงกับพื้น สองมือจับขอบขัน เพ่งไฟเทียนเล่มเล็กที่ปักสว่างอยู่ตรงกลาง
“ครู” หรือ “ผี” ที่จะมาเข้าทรง จะเชื่อมต่อกับแม่มดที่เป็นร่างทรงผ่านขันครู
“ใครจะมาเข้าเรานึกถึงคนนั้น แล้วเราก็จะสั่น ตอนเข้าจะไม่รู้ตัว แต่พอเราได้ลุกขึ้นรำแล้วจะรู้สึกตัว กล้าพูดอย่างนั้นอย่างนี้ไปตามที่ผู้มาเข้าทรงต้องการ ถ้าเขาจิตใจดีเข้ามาก็อารมณ์ดี ถ้าคนโมโหโทโสมาเข้า เราก็รู้ตัวอยู่ แต่เขาพาเราพูดไปทำไป เราเกิดไม่ทันไม่เคยรู้จักเขา แต่เข้ามาแล้วจะพูดถึงคนนั้นคนนี้ได้หมด” โฟร์ หรือ ธนาพันธ์ บารมีอริยกูล เล่าประสบการณ์ของแม่มดชาย
“กรูที่เป็นคนเฒ่าคนแก่มาลงกับเด็ก ๆ ก็บอกให้ทำหมากให้เขาเคี้ยว เขาก็เคี้ยวหมากเพราะมะม็วตเข้ามา ไม่ได้เคี้ยวเหมือนพวกเราที่ติดเคี้ยวประจำ แต่ดูดบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า”
“เป” กระทงสี่เหลี่ยมทำจากกาบกล้วยมีสี่เสา ใส่เครื่องเซ่นผีสาง
“ครู” หรือ “ผี” เป็นคนละความหมายกับผีในภาษากลาง และไม่ใช่ “วิญญาณ” แต่เป็น “ขวัญ” ตามที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า วิญญาณในศาสนาพุทธ พราหมณ์ มีดวงเดียว เมื่อตายก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ ส่วนขวัญในศาสนาผีมีนับไม่ถ้วน และเชื่อว่าเมื่อคนตาย ขวัญไม่ตาย แต่ยังเคลื่อนไหวอยู่ตามปรกติ โดยอยู่ต่างมิติ จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น เรียกว่าผี ซึ่งยังผูกพันกับครอบครัวและสามารถดลบันดาลให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้
คนที่จะเข้าทรงแม่มดมักคลุมไหล่ด้วยผ้าไหมด้ายดิบไม่ย้อมสี นั่งจับขันครู เพ่งเทียน กลางเสียงดนตรีเร่งเร้าและการห้อมล้อมของพี่น้องลูกหลานรอบตัว ที่เฝ้ารอลุ้นการมาเข้าทรงของผีบรรพชน
วิถีโบราณดั้งเดิมหลายๆ อย่างมักเผชิญปัญหาขาดการสืบทอดจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งตรงข้ามกับเรื่องแม่มดที่ยังมีเด็กและเยาวชนสนใจเข้ามาร่วมกันมาก วิเคราะห์กันว่าบางสาขาวิชาที่สอนกันอยู่ในสถาบันการศึกษาทุกวันนี้ ก็มีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจรากเหง้าดั้งเดิม ทำให้ลูกหลานสมัยใหม่ไม่อายกับการหวนกลับมาหาวิถีท้องถิ่น
โฟร์เป็นแม่มดผู้ชายและเป็นวัยรุ่น ซึ่งเขาบอกว่าปรกติก็ใช้ชีวิตประจำวันเหมือนวัยรุ่นทั่วไป มะม็วตไม่ได้ทำให้เขาต่างจากคนอื่น ไม่ได้รู้สึกอาย เพื่อนที่โรงเรียนก็ไม่ได้ล้อหรือรู้สึกขัดแย้ง
“ใช้ชีวิตเหมือนคนปรกติ ไม่มีข้อห้ามอะไร ไปรำเพื่อน ๆ ก็ไปดูด้วย ได้กล้วยได้ข้าวต้มมัดมาก็เอามาแบ่งกันกินที่โรงเรียนมะม็วตวัยรุ่นเจ้าภาพชอบ ฟ้อนได้ทั้งคืนถึงเช้า” แม่มดที่เป็นมายาวนานมักลงง่าย ส่วนคนใหม่ ๆ มักต้องมีคนมารำล้อม ปรบมือเร่งเร้า
จากนั่งเพ่งนิ่ง ๆ มือที่จับขอบขันจะเริ่มโยกหมุนไปมา ขยับถี่เร็วขึ้น หรือถึงขั้นกระแทกขันจนหลุดจากมือ ข้าวของข้างในกระจายไป
“ที่ตัวสั่นนั่นเป็นอาการที่บอกว่าเรากำลังสื่อสารกับอีกคน” ฐรันทร์พัชญ์อธิบายสิ่งที่คนอื่นมองเห็น ตามที่รู้สึกจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง
พี่น้องที่อยู่ในพิธีเห็นการเข้าทรงก็เอาฝ้ายสีขาวมาผูกแขนรับขวัญ ยินดีที่มารำมากินในพิธี
“บางคนก็เข้ามาแบบโยก ๆ จับขันหมุนธรรมดา ๆ บางคนเกรี้ยวกราด กระแทกขันโตก ร้องไห้ คนที่กินเหล้าสูบบุหรี่ เมื่อเข้ามาก็ขอกินเหล้า ทั้งที่คนนั่งทรงไม่ใช่คนกินเหล้า แต่เวลาพ่อมาเข้า คนถามว่าทำไมไม่กินเหล้า ทั้ง ๆ ที่ตอนมีชีวิตพ่อชอบมาก ‘กูไม่กินหรอกเดี๋ยวลูกสาวกูเมา’ เราตอบแบบนี้เลย เปล่งคำพูดออกมาเอง เหมือนเวลาพ่อพูด”
ส่วนเวลาเข้าทรงคนที่ยังมีชีวิตอยู่ แม่มดฐรันทร์พัชญ์แสดงความเป็นคนนั้นผ่านการแต่งกาย
“น้องสาวเข้าก็เลือกผ้าถุง สไบสีเข้ม ตัวเราถ้าแม่เข้ามา เราจะเลือกใส่สีชมพู ไม่ใส่สีเขียวเหมือนชีวิตจริงแม่ ถ้าเข้าตัวเราเองจะแต่งตัวเนี้ยบมาก แต่ถ้าเป็นพ่อ ชอบผูกผ้าขาวม้าเราก็ผูกแต่ผ้าขาวม้าผืนเดียวทับชุดที่เราใส่อยู่”
จากนั้นก็พูดแทนเสียงของคนนั้น
“แม่กับน้องยังมีชีวิตอยู่ นั่งอยู่ด้วย เมื่อเข้าทรงเราสัมผัสได้ว่านี่เป็นดวงจิตของแม่ ของน้องสาว บางคนมีความอัดอั้นอยู่ในใจ อาจถนอมน้ำใจกันไม่ยอมพูด แต่พอมีโอกาสเขาแทรกมาหาเรา ความในใจเขาก็หลุดออกมาผ่านเรา”
อาจดู “หลอน” สำหรับคนขวัญอ่อน แต่เป็นความยินดีปรีดาของเจ้าภาพที่เฝ้าตั้งตารอ เพราะนั่นเป็นสัญญาณว่ามะม็วตกำลังเข้าทรงแล้ว
ญาติพี่น้องที่นั่งรายล้อมจะรีบเข้าผูกข้อมือต้อนรับ แล้วมาถามว่าเป็นใคร ต้องการอะไรบ้าง
คำตอบมักเป็นหมากพลู บุหรี่ หรือเหล้าขาว แม่มดส่วนใหญ่เป็นหญิงซึ่งไม่คุ้นเคยกับเหล้าบุหรี่ แต่ยกขึ้นดื่มได้อึก ๆ แบบไม่ยั้ง เป็นที่น่าฉงนของคนในพิธีอยู่เสมอ
ผู้มาเข้าทรงเป็นใคร แม่มดจะหยิบเสื้อผ้าผู้นั้นมาสวมและแสดงบุคลิกท่าทางท่ารำเป็นคนนั้น แม่มดส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่บ่อยครั้งแต่งกายเป็นชุดผู้ชายแบบโบราณตามยุคสมัยของผู้มาเข้าทรง
ระหว่างนั้นจะมีผู้ช่วยแม่มดคอยดูคอยฟัง สอบถามและสักการะสิ่งของที่บรรพบุรุษที่มาเข้าทรงต้องการ เรียกหาลูกหลานรุ่นใหม่ให้ไปแนะนำตัวทำความรู้จัก ถามสารทุกข์ระหว่างกันและขอพรจากผีบรรพบุรุษที่มาเข้าทรง ซึ่งบางรายแสดงความดีใจที่ได้พบหน้า บ้างก็ร้องไห้อาวรณ์ หรือน้อยอกน้อยใจ ทั้งอาจต่อว่าญาติพี่น้องในเรื่องที่ไม่ได้ดังใจ
เมื่อพูดคุยกันจนเข้าใจ ถวายเครื่องบูชา ฝ่ายมาเข้าทรงรับปากจะช่วยคุ้มครองดูแลพี่น้องลูกหลานให้อยู่ดีมีสุข ที่เจ็บป่วยก็จะช่วยรักษาให้หายขาด อาจเป่ามนต์ บีบนวด หรือแนะยาสมุนไพรให้หามารักษา แต่หากสาเหตุการป่วยไม่ได้เกิดจากผีก็จะบอกว่าไม่ได้ทำ
จากนั้น “ครู” ที่อยู่ในร่างของแม่มดจะคว้าด้ายฝ้ายมาและรัดศีรษะ เตรียมลุกขึ้นรำ เปิดตะกร้า หยิบเสื้อผ้าของตัวเองออกมาสวม แล้วใช้ด้ายสีขาวที่มีเส้นสีมัดแซมหรือแถบผ้าสไบพาดลำตัว เล่ากันว่ามีเหมือนกันที่หาไม่เจอเนื่องจากแม่มดพลาดไม่ได้หยิบติดมา ก็ต้องมีคนกลับไปเอาจากบ้านมาให้เดี๋ยวนั้น
แม่มดคนหนึ่งอาจรับการเข้าทรงของคนในตระกูลเป็นสิบคน ทั้งที่จากไปแล้วและคนที่ยังอยู่ ในงานรำแม่มดแต่ละครั้ง แม่มดแต่ละคนจึงต้องรับการเข้าทรงหลายครั้ง ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป และเธอต้องเตรียมเสื้อผ้าของทุกคนมาให้ครบ
แต่งตัวตามแบบคนโบราณแล้ว ก็ลุกขึ้นร่ายรำไปตามจังหวะดนตรีที่คุ้นเคย
ไม่มีท่ารำที่เป็นแบบแผน ท่วงท่าเป็นไปตามบุคลิก รูปร่าง
นิสัยใจคอของผู้มาเข้าทรง ซึ่งผีเป็นผู้กำหนด ร่างทรงไม่ได้ รำเอง บางรายรำไม่เป็นและไม่เคยรำ แต่เชื่อว่าเมื่อมีการเข้าทรงทำให้ตัวอ่อนแขนอ่อน ลุกขึ้นร่ายรำได้ตามจังหวะและทำนองเพลง
จะยาวนานกี่เพลงกี่รอบก็ตามแต่จะพอใจ
เมื่อจะออก แม่มดจะนั่งลงจับขอบขันหมุนคลึงเหมือนเมื่อตอนเริ่มต้น แล้วสะดุ้งผลุง ปลดด้ายมงคลจากศีรษะ เป็นสัญญาณว่าแม่มดกลับมาเป็นตัวของตัวเองแล้ว
งานรำแม่มดจะเริ่มตอนใกล้ค่ำจน “ซอดแจ้ง” ซึ่งจะจบด้วย “พิธีเด็ดดอกไม้” ใต้หลังคาปะรำพิธีเมื่อฟ้าสางรุ่งแจ้ง
คนมักถามกันมากว่าสิ่งที่พูดหรือแสดงออกไปตอนเข้าทรงนั้นเป็นตัวเราอยู่หรือไม่รู้ตัวแล้ว
“สั่น ๆ ระหว่างที่จะเข้ามาเหมือนเข็มที่ร้อยด้าย คือรู้ว่ามีอยู่ แต่ไม่รู้อยู่ตรงไหน เราไม่เป็นตัวเอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ลืมตัวตอนแรกเข้า กับตอนกระโดดมาก ๆ นอกนั้นก็รู้ว่ามีอยู่ข้างใน ถ้าเราปล่อยเขาจะออกมาแทน เรารำแทนเขา บางทีครูเข้ามาเห็นภาพเศร้า ๆ ก็ร้องไห้ มาอยู่จนเหนื่อย จนจืดจางไปก็ไป” คำตอบจากพ่อครูปรมินทร์
“ตอนครูเข้ามาก็รู้สึกตัว แต่บางทีก็จำอะไรไม่ค่อยได้” ตามคำเล่าของ ทัศนีย์ เอมโอฐ แม่มดบ้านตาตุม “เวลาลูก ๆ สามีคนในครอบครัวมาเข้า พูดเรื่องในครอบครัว”
เป็นสื่อกลางระหว่างคนในตระกูลกับผีบรรพบุรุษ ที่คนในชุมชนนับถือให้เกียรติ
“บ้านไหนมีเรือมมะม็วตแม่ก็ไปรำถ้าพวกพี่น้องเชิญให้ไป ไปร่วมได้เฉพาะพี่น้องในตระกูล กับเพื่อนบ้านในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในเครือญาติเดียวกัน”
มะม็วตจะสืบต่อกันตามสายญาติพี่น้อง ไม่ลงคนนอกตระกูล ชวนสงสัยว่าหากเป็นลูกหลานในสายเลือดที่เกิดและโตจากที่อื่น มานั่งในพิธีทันทีโดยไม่เคยรู้เห็นหรือมีประสบการณ์ร่วมมาก่อน จะเข้าทรงแม่มดเป็นไหม
แม้โลกอยู่ในยุคที่ไฟฟ้าและวิทยาศาสตร์เป็นแกนหลักของผู้คน แต่สำหรับคนชาติพันธุ์เขมรอีสานใต้ ผียังไม่ใช่เรื่องงมงาย หากเป็นสิ่งเกี่ยวข้องผูกพันทางใจที่อยู่ด้วยกันมายาวนาน จะว่าเป็นศาสนาแรกก็อาจนับได้ และยังคงนับถือศรัทธากันเหนียวแน่นไม่น้อยกว่าศาสนาที่มาทีหลัง
โดยองค์ประกอบโครงสร้างของศาสนาผีที่อาจไม่ตายตัวเป็นทางการ ทำให้ไม่ถูกยอมรับเป็นศาสนา ทว่ามีพื้นที่ชัดเจนในศรัทธาความเชื่อของผู้คน ซึ่งผสานกลมกลืนอยู่กับวิถีพุทธศาสนาที่เป็นกระแสหลักอยู่ในภาคพื้นเดียวกัน
ตามชุมชนเขมรในแถบสามจังหวัดอีสานใต้ จึงเป็นพื้นที่พหุลักษณ์ทางความเชื่อ ซึ่งผี พราหมณ์ พุทธ อยู่ร่วมอย่างกลมกลืนกันไป
แม่มด ที่พจนานุกรมไทยให้ความหมายว่าหญิงหมอผีเคยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มีบันทึกว่าช่วงหนึ่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเล่นแม่มดจะถูกฝ่ายบ้านเมืองจับขัง เสียค่าปรับข้อหาหลอกลวงประชาชนให้เชื่อสิ่งงมงาย จนถึงยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม รำแม่มด หรือเรือมมะม็วตถึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ตามนโยบายรัฐนิยม และอยู่คู่ชุมชนชาวไทยเชื้อสายเขมรสืบต่อมา
เรือมมะม็วต หรือการรำแม่มด ถือเป็นการพบกันของคนกับผีที่ดีต่อใจ ไม่ใช่ผีที่น่ากลัวอย่าง ghost แต่เป็น god ที่เชื่อมโยงคนตายกับคนเป็น ให้รู้แน่แก่ใจว่าผู้จากไปไม่ได้หายไปไหน
แต่ยังเป็นขวัญและหลักชัยทางจิตใจให้กับคนที่ยังอยู่ ได้ระลึกถึงและเป็นศูนย์กลางยึดโยงใจญาติพี่น้องในตระกูล ให้ผูกพันมั่นคงต่อกันไปชั่วกาล
ในสายตาโลกสมัยใหม่อาจดูงมงาย แต่เมื่อเผชิญโรคภัยหรือปัญหาในชีวิตที่หาสาเหตุและทางออกไม่ได้ การรำแม่มดบูชาผีก็ยังเป็นที่พึ่งของคนเขมรอีสานใต้
อ้างอิง
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๔). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดบุรีรัมย์.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๔). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดศรีสะเกษ.
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (๒๕๔๔). วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสุรินทร์.
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. (๒๕๔๒). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน.
วิโรจน์ เอี่ยมสุข. (ม.ป.ป.). สมบัติอีสานใต้ (ฉบับพิเศษ).
ศิริ ผาสุก และคณะ. (๒๕๓๖). สุรินทร์ มรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย.
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ. (๒๕๖๕). ศาสนาผี ใต้ชะเงื้อมเขาพระสุเมรุ.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (ม.ป.ป.). “ศาสนาผี” ในไทยหลายพันปี ก่อนประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน.
สุวลักษณ์ ทองอินทร์. (ม.ป.ป.). ประเพณีแห่งชนเผ่า วัฒนธรรมเก่ารำแม่มด.
ขอบคุณพิเศษ
รสสุคนธ์ สารทอง, ปรมินทร์ ศรีรัตน์, รศ. ดร. บุณยเสนอ ตรีวิเศษ, รชฏ มีตุวงศ์ และ หทัยรัตน์ พหลทัพ