วิทยาศาสตร์
ของการทรงเจ้า
วิทย์คิดไม่ถึง
เรื่อง : ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ namchai4sci@gmail.com
ภาพประกอบ : นายดอกมา
ภูตผีปีศาจถือเป็นเรื่องสามัญในทุกวัฒนธรรม ชุมชนแรก ๆ ของโลกเมื่อมนุษย์เริ่มลงหลักปักฐานอย่าง “เมโสโปเตเมีย” ที่ศูนย์กลางอยู่แถวประเทศอิรักในปัจจุบัน ก็มีความเชื่อเรื่องผีเกิดขึ้นแล้ว อียิปต์โบราณสร้างพีระมิดใหญ่โตไว้เก็บมัมมี่ เพราะเชื่อว่าวิญญาณจะกลับมาเข้าร่างจึงต้องเก็บรักษาร่างเอาไว้เป็นอย่างดี
ความเชื่อแบบนี้จารไว้เป็นอักขระไฮโรกลิฟและวาดเป็นภาพประดับไว้ในห้องเก็บพระศพฟาโรห์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว
นิตยสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง Scientific American ก็เคยตั้งรางวัลสูงถึง ๕,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐเมื่อราว ๑๐๐ ปีที่แล้ว (ค.ศ. ๑๙๒๒) โดยมีนักเขียนดังอย่าง อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ ผู้เขียนหนังสือชุดนักสืบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ และเพื่อนนักมายากลชื่อดังตลอดกาลอย่าง แฮร์รี ฮูดินี เป็นกรรมการ ซึ่งก็ไม่มีคนทรงเจ้าหรือผู้อ้างว่าติดต่อกับผีหรือวิญญาณรายใดผ่านการทดสอบและคว้ารางวัลได้เลยแม้สักราย
ในโลกสมัยใหม่แม้แต่ในประเทศตะวันตก ความเชื่อเรื่องผีก็ยังคงแน่นแฟ้น ดังเห็นได้จากการสำรวจทำโพลใน ค.ศ. ๒๐๐๕ ในหมู่คนอเมริกัน ทำให้รู้ว่ามีคนอยู่ราวหนึ่งในสาม (๓๒ เปอร์เซ็นต์) ทีเดียวที่เชื่อว่าผีมีจริง ในสังคมอื่น ๆ ก็มีจำนวนมากน้อยแตกต่างกันไป
มีโพลที่หนังสือพิมพ์ The Huffington Post และเว็บไซต์ YouGov ร่วมกันทำในคราวหนึ่ง สรุปว่ามีผู้ใหญ่ราว ๒๘ เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่า ตัวเองมีประสบการณ์เคยพบเจอหรือเห็นผี !
ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ระหว่างคนกับผีมีหลายรูปแบบครอบคลุมทั้งการเห็นผี (หรือโดนผีหลอก) การได้ยินเสียงการรับรู้ได้ถึงความผิดปรกติรอบตัว รวมไปถึงการสัมผัสโดยตรงกับผีหรือวิญญาณทำนองทรงเจ้าเข้าผี
การศึกษาผีหรือวิญญาณอย่างเป็นกิจจะลักษณะด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์อาจมีไม่มากนัก แต่ที่ทำไปแล้วก็มีประเด็นน่าสนใจ เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่นักวิจัยชาวอังกฤษสองคนจากมหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University) และนอร์ทัมเบรีย (Northumbria University) ในสหราชอาณาจักรทำไว้
งานวิจัยนี้พวกเขาได้อาสาสมัครที่มีประสบการณ์ในเรื่องผีและวิญญาณหรือเป็นคนทรงเจ้าเข้าผีมา ๖๕ คน และคนทั่วไปที่ใช้เป็นกลุ่มควบคุมอีก ๑๔๓ คน การสำรวจแบบออนไลน์ทำให้ในจำนวนนี้มีทั้งคนในอังกฤษเอง คนจากทวีปอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย เอเชีย และยุโรป หรือกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ส่วนใหญ่ที่มนุษย์อาศัยอยู่
นักวิจัยขอให้อาสาสมัครทำแบบสอบถามหลายรูปแบบเพื่อประเมินลักษณะนิสัย (trait) ของผู้เข้าร่วมการทดลอง แบบทดสอบหลัก ๆ มีอยู่สี่รูปแบบ ซึ่งใช้ประเมินครอบคลุมแนวโน้มเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย แบบทดสอบที่ ๑ (The Tellegen Absorption Scale) เป็นแบบที่ตอบแค่ใช่หรือไม่ ซึ่งใช้ประเมินหรือวัดว่าผู้ทำแบบทดสอบ “จมจ่อม” เข้ากับปัจจัยกระตุ้นทั้งภายในและภายนอก เช่น เมื่อดูภาพยนตร์ ดูภาพทดสอบสภาวะจิตใจ ฟังดนตรี หรือขบคิดโดยรวมคือเป็นการวัดแนวโน้มที่จะซึมซับ (absorption) เอาปัจจัยต่าง ๆ เข้าไว้ในตัวได้ดีเพียงใด
สำหรับแบบทดสอบที่ ๒ มีชื่อว่า The Revised Launay-Slade Hallucination Scale นำมาใช้เพื่อตรวจสอบแนวโน้มที่จะเกิดภาพลวงตาหรือได้ยินเสียงทิพย์ที่ไม่มีอยู่จริง
ส่วนแบบทดสอบต่อไปเรียกว่า The Revised Paranormal Belief Scale ใช้ประเมินการรับรู้ความเชื่อทางศาสนาแบบดั้งเดิม การมีสัมผัสพิเศษ ความเป็นพ่อมดแม่มด ความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตรูปแบบพิเศษที่ไม่มีในโลกจริง รวมไปถึงความสามารถในการมองเห็นอนาคตล่วงหน้า
แบบทดสอบสุดท้ายเรียกว่า The Aspects of Identity Questionnaire IV ใช้ประเมินการรับรู้ การเห็นความสำคัญ และความสามารถในการแยกแยะอัตลักษณ์ (identity) ของตัวเอง ของคนอื่นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ ของสังคม และแบบรวม ๆ เป็นหมู่เหล่า
พิเศษหน่อยสำหรับกลุ่มที่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถในการติดต่อสัมพันธ์กับผีหรือวิญญาณ กลุ่มนี้ได้ทำแบบสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริบทหรือสถานการณ์และความยาวนานของประสบการณ์
ผลลัพธ์ที่ได้น่าสนใจทีเดียวพวกที่เชื่อในภูตผีวิญญาณมีประสบการณ์ “ได้ยินเสียงลึกลับ” ครั้งแรกเฉลี่ยอายุ ๒๑.๗ ปี โดยส่วนใหญ่มีประสบการณ์ตั้งแต่ก่อนอายุ ๒๐ ปี หรือไม่ก็แถว ๆ อายุ ๔๐ ปี และมีมากถึง ๔๔.๖ เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าได้ยินเสียงแบบนี้ทุกวัน และมี ๓๓.๘ เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเมื่อวานก็ยังได้ยินอยู่ !
ครั้นถามถึงสถานที่ติดต่อกับผีหรือวิญญาณ ราว ๗๙ เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า เคยมีประสบการณ์ทั้งนอกและในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางลัทธิศาสนา เช่น โบสถ์ มีอยู่ ๘.๑ เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าจะเกิดประสบการณ์ก็แต่ในสถานที่แบบนี้เท่านั้น ส่วนที่เหลือ ๑๒.๙ เปอร์เซ็นต์ ระบุมีประสบการณ์นอกสถานที่เท่านั้น...กลุ่มนี้ผีคงไม่กล้าเข้าโบสถ์ !
เสียงภูตผีวิญญาณที่ได้ยิน ได้ยินกันแบบไหน ? เสียงมาจากที่ไหนแน่ ?
รายงานสรุปว่ามีอยู่มากถึง ๖๕.๑ เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าเสียงเกิดขึ้นในหัวของตัวเอง ขณะที่อีก ๓๑.๗ เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเสียงมีทั้งอยู่ในหัวและนอกหัว และมีน้อยมากคือ ๓.๒ เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่าเสียงมาจากนอกหัวตัวเองเท่านั้น
คำถามต่อไปสำคัญทีเดียวคือ นักวิจัยถามว่าการได้ยินเสียงลึกลับกับการเข้าวงการ “มูเตลู” หันมาเชื่อว่ามีภูตผีวิญญาณอยู่จริงนี่ อันไหนเกิดก่อน อันไหนเกิดหลัง ?
ปรากฏว่าจากอาสาสมัครทั้งหมด มี ๔๔.๘ เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พวกเขาได้ยินเสียงหลอกหลอนก่อนจึงหันมาเชื่อ ขณะที่อีก ๒๙.๓ เปอร์เซ็นต์ บอกว่าเชื่อเรื่องพวกนี้อยู่ก่อนจะมีประสบการณ์พิเศษดังกล่าว และอีก ๒๕.๙ เปอร์เซ็นต์ ชี้ว่าพอได้ยินเสียงหลอนครั้งแรกเท่านั้นแหละก็เลยหันมาเชื่อเลย
มีงานวิจัยจากกลุ่มอื่นก่อนหน้านี้ทำให้รู้ว่า คนที่มีประสบการณ์พิเศษบางอย่างเกี่ยวกับประสาทสัมผัสของตัวเองมีแนวโน้มจะหันมาสนใจเรื่อง “เหนือธรรมชาติ” มากขึ้น
นักวิจัยพยายามสรุปเพื่อถอดรหัสจากข้อมูลที่ได้ออกมาเป็นประเด็น ๆ ประเด็นแรกคือ หากเปรียบเทียบกันระหว่างกลุ่มที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติกับคนทั่วไปแล้ว กลุ่มแรกมีแนวโน้มจะซึมซับเอาประสบการณ์แบบนี้ได้ง่ายกว่าแถมยังเป็นพวกที่ไวต่อเสียงลวงหรือเสียงหลอนที่ไม่มีอยู่จริง (auditory hallucination) มากกว่าด้วย
อย่างไรก็ตามความเชื่อมโยงระหว่างการเชื่อว่าผีมีจริงกับแนวโน้มจะเกิดภาพลวงตายังไม่มีนัยสำคัญอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ยังพบว่าการได้ยินเสียงวิญญาณเกิดในกลุ่มที่เชื่อเรื่องผีตั้งแต่อายุยังน้อย และบ่อยครั้งทีเดียวที่พวกเขาบังคับควบคุมเสียงพวกนี้ (ว่าจะให้ได้ยินหรือไม่ได้ยิน) ได้ด้วย
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ นักวิจัยพบว่าพวกที่เชื่อในเรื่องภูตผีและเรื่องเหนือธรรมชาติมักมีระดับการศึกษาเฉลี่ยต่ำกว่าพวกที่ไม่เชื่ออยู่ค่อนข้างชัดเจน
แต่เนื่องจากการทดลองไม่ได้ตั้งเป้าไปที่การศึกษาความสัมพันธ์ของระดับการศึกษากับความเชื่อในภูตผีวิญญาณ จึงไม่อาจสรุปได้ว่าเพราะเรียนมาน้อยกว่าก็เลยเชื่อเรื่องพวกนี้มากกว่า
พวกคนทรงเจ้าได้ยินเสียงจากโลกอีกฟากหนึ่งจริงหรือเปล่า ?
น่าเสียดายที่การเก็บข้อมูลแบบให้กรอกข้อมูลเองมีข้อจำกัด ทำให้ไม่อาจสรุปได้แน่นอนนักว่าเจ้าตัวได้ยินเสียงเหล่านั้นจริง ๆ หรือไม่ หรือแค่คิดไปเอง
คาดว่าการพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ ให้เห็นดำเห็นแดงว่า เรื่องการทรงเจ้าเข้าผีเป็นเรื่องจริงหรือไม่ จะยังคงมีต่อไปอีกนาน