Image
Tongnip Sinmun/The Independent หนังสือพิมพ์บนสมุดโน้ต
Souvenir & History
เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์
การเปลี่ยน “ประวัติศาสตร์” เป็น “ของที่ระลึก” เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ
ในประเทศที่ป็อปคัลเจอร์รุ่งเรืองอย่างเกาหลีใต้ ไม่เพียงแค่เค-ป็อป (K-pop) ดารา วงดนตรี ฯลฯ ที่ส่งออกไปขายทั่วโลก แต่พวกเขายังแปลง “ประวัติศาสตร์” ส่งออกด้วย

ในร้านเค. เฮอริเทจ (K. HERITAGE) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอินช็อน (Incheon International Airport) ผมพบการแปลงฐานข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติให้กลายเป็นสินค้าได้อย่างน่าสนใจ

สินค้าชิ้นหนึ่งที่สะดุดตาผมคือ “หน้า ๑” ของหนังสือพิมพ์ทงนิบชินมุน(Tongnip Sinmun/The Independent) หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเกาหลีที่วางจำหน่ายระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๖-๑๘๙๙ ที่ปรากฏอยู่บนสมุดบันทึกขนาดที่ใช้ในโรงเรียน

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีที่ทางในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ (และอาจหมายรวมถึงทั้งคาบสมุทรเกาหลี) เนื่องจากนี่คือสิ่งพิมพ์รายวันฉบับแรกที่เริ่มใช้ภาษาเกาหลีซึ่งเขียนด้วยอักษรฮันกึล (Hangul) ในยุค “จักรวรรดิเกาหลี” (ค.ศ. ๑๘๙๗-๑๙๑๐) เทียบกับไทย นี่อาจคล้ายกับบางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder) ของหมอบรัดเลย์ (บิดาแห่งวงการพิมพ์ไทย) ที่ถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของสยาม (ออกจำหน่าย ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๖๘)

ในทางรัฐศาสตร์ การมีสื่อหนังสือพิมพ์ที่ใช้ภาษามาตรฐาน หมายถึงการสร้างลักษณะร่วม สื่อสารกับคนในชาติ สร้างความรู้สึกว่าเป็น “คนประเทศเดียวกัน” ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของรัฐชาติสมัยใหม่ในระยะต่อมา

เจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้คือ โซแจพิล (Soh Jaipil) นักการเมืองและนายแพทย์ที่เคลื่อนไหวปลดปล่อยเกาหลีให้เป็นเอกราช แต่งานที่สำคัญที่สุดของเขาคือก่อตั้งหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ซึ่งทำให้คนเกาหลีรู้สึกเป็นชาติเดียวกันอย่างแท้จริง
Image
เพราะอักษรฮันกึลสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกระดับ ขณะที่ระบบการใช้อักษรจีนเขียนแทนเสียงภาษาเกาหลีซึ่งใช้กันมาแต่เดิม มีผู้อ่านออกเขียนได้เพียงในวงจำกัด

ทั้ง ทงนิบชินมุน มียอดพิมพ์ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ ฉบับ (ก่อนแยก The Independent ออกมาตีพิมพ์เป็นรายสัปดาห์) จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้าง “พลเมืองเกาหลี” ในช่วงหัวเลี้ยวทางประวัติศาสตร์

ทั้งยังกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์สื่อมวลชนของเกาหลี เพราะนี่เป็นหนังสือพิมพ์เอกชนรายแรกของดินแดนที่ต่อมาจะกลายเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

ลองสืบประวัติเจ้าของแนวคิดผลิตสมุดเล่มนี้ จึงพบว่าหน่วยงานเจ้าของร้าน K. HERITAGE ที่สนามบินอินช็อนคือ Korea Cultural Heritage Foundation ที่มีลักษณะการทำงานเป็นมูลนิธิ ซึ่งพยายามนำเอามรดกทางวัฒนธรรมของเกาหลีเผยแพร่สู่สายตาคนทั่วโลกในรูปแบบต่าง ๆ เช่นการดัดแปลงของเก่าเป็นสินค้าสมัยใหม่แบบไร้ขีดจำกัด เช่น โถโบราณ มีฟังก์ชันชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายชิ้นเป็นสินค้าพรีเมียมราคาแพง เช่น ตะเกียบแบบเกาหลีที่ทำด้วยทองคำและเงิน เป็นต้น

ได้ “หน้า ๑” ของหนังสือพิมพ์ภาษาเกาหลี (สมัยใหม่) ติดตัวกลับบ้าน พลางคิดถึงหนังสือพิมพ์เก่าในยุคเดียวกันจำนวนมากของเมืองไทยตามห้องสมุด หอจดหมายเหตุต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด ฉบับไหนพาดหัวเรื่องอ่อนไหวกระทบกับการเมืองปัจจุบันก็ “งดให้บริการ” หรือ “เก็บ” ไปเสียดื้อ ๆ
คงได้แต่ถอนใจ ว่าคงอีกนานกว่าแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นกับเอกสาร จดหมายเหตุบ้านเรา