Image
คุยกับแม่มด
interview
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“ถ้าเราไม่เล่น
คนในบ้านจะป่วย”

ฐรันทร์พัชญ์ พรหมบุตร
ครูมัธยมศึกษา, แม่มดบ้านค้อตานี พื้นเพเป็นชาวบ้านค้อตานี ตำบลโนนสูง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ หลังจบ ม. ๖ จากโรงเรียนแถวบ้านเกิดไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นครูวิชาคณิตศาสตร์อยู่หลายโรงเรียน ก่อนได้ย้ายกลับบ้านเกิดที่จากมา ๑๕ ปี และมีเหตุการณ์บางอย่างในครอบครัวทำให้เธอต้องรับเป็น “แม่มด” เมื่อปีที่ผ่านมา
ไปเรียนหนังสือและทำงานอยู่ในโลกสมัยใหม่ ทำไมยังเชื่อมตัวเองเข้ากับโลกความเชื่อได้
การสืบทอดทำให้เราต้องเข้าไปพัวพัน เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจเป็นเรื่องความเชื่อและศรัทธา ไม่ใช่ความงมงาย

แม่มดไม่ใช่ไสยศาสตร์ แต่เป็นสิ่งเคารพเชื่อถือ เหมือนเราไหว้หลวงพ่อรูปหนึ่ง เราเคารพท่าน และไม่ใช่ไม่เชื่อวิทยาศาสตร์ ป่วยก็ไปหาหมอ แต่ในทางความเชื่อ เราทำตามประเพณีวัฒนธรรมของเราควบคู่ไปด้วย ไม่ได้สอนให้ลูกหลานงมงาย แต่สอนให้เขารู้เรื่องจิตใจ
คนเป็นแม่มดเป็นอย่างไร 
เป็นร่างทรงของดวงจิตดวงหนึ่งที่มาสื่อสารกับเรา ภาษาไทยเรียก “แม่มด” ฟังแล้วอาจจะกลัว แต่เขาไม่ใช่ผีสาง

เรือมมะม็วต หรือรำแม่มด สำหรับคนในพื้นที่เป็นเรื่องปรกติ เป็นประเพณีวัฒนธรรมของเราเลย เด็ก ๆ ยังชอบไปดู รำตาม ไม่น่ากลัวสำหรับเด็กสมัยใหม่ ลูกชายยังร้องตามขอไปด้วยตลอด
ก่อนกับหลังเป็นแม่มดต่างกันไหม
วิถีชีวิตปรกติ เวลามีเจ้าภาพนำบายศรีมาเชิญ เราต้องนำไปบอกกล่าวที่หิ้งขันครู จุดธูปเทียนบอกแม่ออกญาของเรา แล้วไปไหว้บอกสามี ออกไปรำ ตอนกลับก็เอาขันครูมาเก็บ

ส่วนการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ ก็ตามปรกติ เลี้ยงลูก สอนนักเรียน ไม่ได้ถืออะไรมากกว่าเดิม แต่ถ้าเราไม่ไปเล่น คนในบ้านจะป่วย
เหมือนแม่มดมาให้โทษจึงต้องทำ ?
ตามความเชื่อ แม่มดไม่ได้มาให้โทษ แม่มดอยากมาคุ้มครองเรา ถึงมาสื่อสารให้เราเจ็บป่วย เพื่อขอมาอยู่กับเรา เหมือนมีข้อแลกเปลี่ยน
ไม่ใช่ภาระ แต่ถือเป็นการบำรุงกำลัง ?
ใช่ ถ้าพูดตามหลักจิตวิทยาการศึกษา ทำให้เราเชื่อว่าการมีของขลังทำให้อุ่นใจ เหมือนมีพระอยู่ในรถ มีพระอยู่ที่คอเราไม่กลัวผี อันนี้ก็รู้สึกว่ามีตายายคุ้มครองเรา  
Image
พุทธ ผี จิตวิญญาณ
และโลกหลังความตาย

ปรมินทร์ ศรีรัตน์ ครูมะม็วต ผู้นำพิธีรำแม่มดคนหนุ่มรุ่นใหม่ชาวบ้านไทร อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ ออกไปใช้ชีวิตและเรียนหนังสือในเมือง จนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แล้วกลับมารำแม่มดอยู่ที่บ้านเกิด ๑๒ ปีแล้ว โดยในช่วงหลังมานี้เขาเป็น “ครูมะม็วต” ผู้นำในพิธีกรรมด้วย
พ่อครูปรมินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียก
“อาจารย์ชิน” เล่าที่มาของตัวเองในบทบาทนี้ว่า

“ผมเคร่งศาสนา เคยคิดว่าผีงมงายไร้สาระ พยายามลบเลือนคำทำนายเก่า ๆ  เมื่อตอนแรกเกิดผมร้องไห้อยู่เป็นเดือน ช่วง ๓ โมงเย็นถึง ๓ ทุ่มทุกวัน ให้ครูมะม็วตมารักษา ครูบอกว่าวิญญาณเทียด (ตาของยาย) มาอยู่กับผม และว่าจะมาเป็นหมอรักษาคน  จนผมจบปริญญามาอยู่บ้านยังไม่ทันได้ทำงาน ชาวบ้านจำคำทำนายเก่า ๆ ได้ เขามาหา มีรายได้ดี ผมส่งตัวเองเรียนต่อปริญญาโทจนจบก็ไม่ไปไหนแล้ว”
ทำไมอีสานใต้ถึงยังนับถือผีอยู่เยอะมาก
คนเขมรแถวอีสานใต้เป็นพุทธด้วยนับถือผีด้วย เป็นพุทธในนาม แต่ความเชื่อเรื่องโลกหลังความตายเชื่อศาสนาผีมากกว่า ชาวบ้านไปวัดตามธรรมดาประจำวัน แต่การปฏิบัติตน ความเชื่อ อยู่กับลัทธิศาสนาผีทั้งนั้น ดูจากการเลี้ยงผีบรรพบุรุษ ทุกคนต้องไป กลัวปู่ย่าตายายไม่ได้กิน ทำให้คนไม่ค่อยกลัวความตาย เพราะว่าเป็นแค่การเคลื่อนย้ายภพภูมิไปอยู่กับปู่ย่าตายายในเมืองผี

ในงานศพ ส่วนที่เป็นพุทธแค่สวดอภิธรรม นอกนั้นศาสนาผีทั้งนั้นเลย คนแถวนี้เขาพูดตรงว่านับถือผีเลิกไม่ได้ต้องเกี่ยวข้องผูกพัน เลิกนับถือผีเล่นงานตาย
ตามทะเบียนราษฎรเป็นพุทธ แต่โดยวิถีชีวิตถือผี
ศาสนาพุทธมีไว้รองรับศาสนาผี พุทธบอกว่าทำบุญไม่เจาะจงพระสงฆ์ ถวายสังฆทานได้บุญมหาศาล แต่ศาสนาผีบอกว่าเอาอาหารไปถวายพระอาหารนั้นจะถูกส่งไปให้ญาติโยมที่เมืองผี ใครเอาอาหารไปวัด ญาติที่เมืองผีได้กิน ใครไม่เอาไปญาติคนนั้นก็อด  การตักบาตร การทำสลากภัต ทุกอย่างนั้นมีศาสนาผีรองรับ ศาสนาพุทธเป็นพิธีกรรมให้ศาสนาผีเชิดชูอยู่ได้
Image
การทำบุญตามหลักพุทธศาสนาที่แท้ไม่จำเป็นต้องระบุผู้รับ แต่ที่ชาวพุทธจำนวนมากทำกับพระก็เพราะเชื่อเรื่องผี ?
สมัยก่อนพอมีคนตาย ญาติจะเอาอาหารไปส่งที่บ้านโยคี เขาจะเซ่นเรียกผีมากิน พอมีวัดส่งวัดตอนเช้า ส่งบ้านโยคีตอนเย็น มันก็ซ้ำซ้อนกัน

ตอนยายผมเสียก็ไปส่งทั้งสองที่ โยคีอยู่ในหมู่บ้าน เป็นคนเรียกผี ถ้าผีไม่มาเขาก็บอก เขามีกัมมัฏฐาน ศาสนา ผีพาคนไปสวรรค์นรกได้ สามารถรู้อนาคตได้
ทำไมทัพธรรมของพระป่าจากทางอุบลราชธานีเข้ามาไม่ถึงกลุ่มชาติพันธุ์เขมรศรีสะเกษ
น่าจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ด้วย เขมรฟังภาษาลาวไม่ออก พระมาเผยแผ่เขาฟังไม่ออก

ชาติพันธุ์กวยก็เช่นกัน ศาสนาผีเขาเหนียวแน่นกว่าเขมรอีก ภาษาก็ฟังกันไม่ออก ภาษากวยเหมือนญวน เขาอพยพมาจากทางอัตตะปือ  ส่วนเขมรอยู่นี่มานานแล้ว เป็นคนละกลุ่มกับเขมรในกัมพูชา และเป็นคนละกลุ่มกับที่สร้างนครวัด ไม่มีความต่อเนื่องกัน
หมอแผนปัจจุบันกับหมอแม่มดรักษาโรคต่างกันอย่างไร
โรคแม่มดคือโรคที่เขาทำให้เป็น โรคที่ครูทำหมอสมัยใหม่จะรักษาไม่หายอาการคือ เหนื่อย หอบ กระสับกระส่ายกินไม่ได้ นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย นั่นครูเล่นงานแล้ว ไปตรวจโรงพยาบาลหมอจะบอกปรกติดี

ถ้าเป็นโรคครูทำให้ป่วย ครูจะแก้ให้ที่ครูไม่ได้ทำอาจช่วยได้บ้าง แต่ครูก็ทำให้หายป่วยไม่ได้
โรคเจ็บป่วยทั่วไปก็ไปโรงพยาบาล ?
ถูกแล้วครับ อะไรหาสาเหตุไม่ได้กลับมา

แม่ผมเคยเจอหินปูนในข้อ บางคนพบว่าเป็นมะเร็ง อาจจะแค่โดนหลอก ครูจัดฉากให้เหมือนมะเร็งขึ้นมา หมอก็ว่าเป็นมะเร็งตามที่โดนหลอก  พอทำพิธีบนบาน ไอ้ที่ปิดบังก็เปิดออก  บางคนหมอว่าเป็นวัณโรคกระดูก ผมบอกครูทำ ลองบนดูสิ พอบนก็หาย
Image
วีระศักร จันทร์ส่งแสง
มะม็วตบุรีรัมย์ 
พิธีกรรมรำลึก

รศ. ดร. ภูมิจิต เรืองเดช
อาจารย์มหาวิทยาลัยภูมินทร์พนมเปญ กัมพูชา นักวิชาการวัย ๗๕ ปี เกิดที่ประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ในยุคที่ยังไม่มีถนน ไม่มีโรงพยาบาล การรักษาไข้ของคนท้องถิ่นสมัยนั้น
พึ่งแต่สมุนไพรและพิธีกรรม โดยเฉพาะการรำแม่มดที่มีให้เห็นอยู่เป็นประจำตั้งแต่เด็ก เมื่อมาเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สอนเรื่องคติชนได้พานักศึกษาลงภาคสนาม รวบรวมเรื่องคติชน วรรณกรรมท้องถิ่น  รวมทั้งเรื่อง มะม็วต หลังเกษียณไปสอนวิชาภาษาไทยที่มหาวิทยาลัย ภูมินทร์พนมเปญ กัมพูชา มีโอกาสได้ทำงานแปลงานวิชาการทางวัฒนธรรมของกัมพูชา ซึ่งมีส่วนคาบเกี่ยวกับของอีสานใต้ รวมถึงของไทยด้วย
“มะม็วตนี่เห็นมาตั้งแต่ยังไม่มีโรงพยาบาล สถานีอนามัย ตอนนั้นมะม็วตเป็นวิธีเดียวที่ช่วยบำบัดทางจิตใจ รักษาโรค หลังจากสมุนไพรรักษาไม่หาย ใช้พิธีกรรมช่วยคนป่วยให้รู้สึกอบอุ่น เบิกบานในหมู่เครือญาติ  ญาติพี่น้องมารวมกัน ทำกับข้าวกินกัน อบอุ่น

“ตอนยังเด็กมีงานมะม็วตขึ้นตรงไหนเด็ก ๆ ทั้งหมู่บ้านมานั่งเฝ้ารอดู เขารำสวย คนป่วยก็รำกับมะม็วตด้วย  มีไม้แกะสลักรูปช้างม้าวางในพิธี  ดนตรีก็เป็นเสียงจริง ๆ  สมัยก่อนไม่มีไฟฟ้า เครื่องเสียงยังไม่มี

“ส่วนมากเล่นหน้าบ้าน ซึ่งมักปลูกต้นมะเฟืองไว้ทุกบ้าน ลงบันไดบ้านมาก็เป็นร่มไม้ใหญ่ เล่นกันตรงนั้น  ดนตรีใช้วงมโหรีชุดเล็กให้เสียงเยือกเย็น ตอนหลังใช้กันตรึม มีปี่ กลอง ซอ เวลาประโคมขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น

“มะม็วตเหมือนไปรษณีย์วิญญาณ แต่งตัวสวยงาม สีสันฉูดฉาดสดใส นั่งจับพาน เพ่งเทียน กระแทกแล้วเข้าทรงพยากรณ์และอวยพรลูกหลานคนในครอบครัว ลุกขึ้นรำจนพอใจแล้วก็ออก

“คนทรงบอกว่าไม่ถึงกับลืมตัว ออกแล้วยังจำได้ แต่ที่แปลกคือ หลานที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดรู้ว่ามีงานก็กลับมา เป็นคนพูดเขมรไม่ได้ แต่พอแม่มดเข้าทรงพูดเขมรได้

“นับได้ว่าเป็นดนตรีบำบัดแขนงหนึ่ง ตอนเขียนเรื่องคติชนวิทยาได้ศึกษาเรื่องนี้เชิงวิชาการ เป็นเอกสารสำหรับสอนนักศึกษา

“สมัยก่อนไม่มีเรื่องเงินทอง เป็นตามธรรมชาติ  มะม็วตเหมือนมรดกของตระกูล ต้องมีคนสืบทอดซึ่งถือเป็นบุญ ตอนนี้คนที่จะสืบทอดมีน้อยลง พอไม่รับก็หายไป ทำให้แถวประโคนชัยและที่อื่นมีเหลือน้อย  ที่ยังรำกันอยู่ถือเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อของคนที่ยังสืบทอด”  
Image
อีสานใต้ : บทบาทสตรี 
ความเชื่อเรื่องผียังทรงพลัง

ธันยพงศ์ สารรัตน์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

อาจารย์และนักวิชาการมหาวิทยาลัยผู้นิยามตัวเองว่าเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์ ผู้สนใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ สถานที่ เรื่องเล่า ตำนาน นิทานต่าง ๆ ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ในฐานะประชากรที่มีมากและมีบทบาทสำคัญทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นเมืองศรีสะเกษซึ่งมีความเชื่อเรื่องผีและนับถือผี หรือ “โขมจ” มาก่อนที่จะนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ จึงเกิดความสนใจว่าเหตุใดอำนาจลี้ลับที่ยากจะพิสูจน์จึงช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้คนในโลกยุคปัจจุบันได้
“วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายเขมรมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผีตั้งแต่เกิดจนตายหลายเรื่องผมไม่เคยทราบมาก่อน มาทราบจริง ๆ ก็ตอนได้ลงพื้นที่  หลายเรื่องไม่เคยถูกบันทึกไว้ แต่ลูกศิษย์ลูกหาชอบมาเล่าหรือแสดงละครในรายวิชา ได้ดูเกี่ยวกับรำแม่มด จึงเกิดความใคร่รู้  เมื่อลงพื้นที่ถึงได้รู้ว่าผีอีสานไม่ได้มีบทบาทแค่ทำให้คนกลัวจนจับไข้หัวโกร๋น แต่ยังช่วยรักษาโรค ยังทำให้บ้านกลายเป็นบ้าน เมืองกลายเป็นเมืองได้อีกด้วย จากนั้นจึงไม่กลัวผีอีกเลย แต่จะนำผีมาเป็นโจทย์วิจัยแทน”
มะม็วตอีสานใต้บ่งบอกอะไร
เรือมมะม็วต หรือรำแม่มด เป็นพิธีกรรมของเขมรถิ่นไทยแถบอีสานใต้ที่เรียกเขมรป่าดง ตามเอกสารราชสำนักกรุงเทพฯ

เป็นพิธีกรรมบำบัดโรค คล้ายรำผีฟ้าของลาว เพื่อขจัดสิ่งชั่วร้าย ให้พร สร้างสิริมงคล  พิธีกรรมทำตอนกลางคืนจนถึงเช้า หรือที่เรียกว่าซอดแจ้ง  คนที่เชิญมาลงเป็นสายบรรพสตรี ซึ่งในศาสนาผี ผู้หญิงเป็นใหญ่ เหมือนกษัตริย์เขมรก็สืบเชื้อสายทางมารดา ตามคติบรรพสตรีที่ดํารงมาตั้งแต่ยุคฟูนัน คนจะขึ้นเป็นกษัตริย์ มารดาต้องเป็นลูกของพราหมณ์หรือกษัตริย์

ผู้หญิงที่เป็นคนทรงแม่มดเหมือนหยั่งรู้ได้ว่าทำไมคนนี้จึงป่วย เขาทำอะไรผิดมา และมีผู้ช่วยคนหนึ่งคอยถามคนทรงมีการเคี้ยวหมาก ที่น่าจะเป็นวัฒนธรรมโบราณอย่างหนึ่ง

พอศาสนาพุทธเข้ามา ชายเป็นใหญ่ผู้หญิงเริ่มลดบทบาทลง ศาสนาผีก็เริ่มเสื่อมไป แต่ผมคิดว่าความเชื่อเรื่องผียังทรงพลัง ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษก็ยังต้องไหว้ผีปู่ ตา เฒ่าจ้ำ

ผียังมีอิทธิพลต่อผู้คน โดยเฉพาะทางอีสาน  ศาลที่มีเสาเดียวที่เห็นในทุกวันนี้เป็นศาลบูชาผีทั้งหมด
Image
น่าเชื่อถือหรืองมงาย
ปัจจุบันแม้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ คนท้องถิ่นอีสานใต้ส่วนใหญ่ก็ยังมีความเชื่ออันนี้  เรื่องของผี คือ ผีบรรพชน พุทธ พราหมณ์ ยังไปด้วยกัน เราเรียกว่าการผสานความเชื่อ เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม

แม้ว่าโลกเปลี่ยนไปเพียงใด ผีก็ยังสำคัญต่อจิตวิญญาณของคนท้องถิ่น

การเจ็บป่วยที่หมอแผนใหม่รักษาไม่ได้ก็หันมาพึ่งทางนี้ คนที่หายจากโรคก็มี ชาวบ้านเชื่อว่าเรื่องผีทำให้เขาดำเนินชีวิตที่ดีได้ เกิดความสามัคคี ข้อดีคือทำให้เกิดความสัมพันธ์ในชุมชนคนในชุมชนต่างร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานดังกล่าว เพราะถือว่าต่างก็มีผีตนเดียวกันเป็นศูนย์รวมจิตใจ

มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมจะทำอะไรก็แล้วแต่ต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันโดยมีผีเป็นตัวเชื่อมโยง และต้องผ่านผู้หญิง จะเห็นว่าทุกอย่างสัมพันธ์กันอยู่ภายใต้ความเชื่อเรื่องผี
จุดเด่นของศาสนาผี
ความเชื่อเรื่องผีไม่ได้แค่ทำให้คนกลัว แต่ยังทำให้เกิดการรวมญาติทำให้ชุมชนกลายเป็นบ้านเป็นเมือง  ที่สำคัญคนยังเชื่อว่าผีกำหนดชีวิตเขาได้

เครื่องประกอบพิธียังแสดงความศรัทธาของผู้คน แม้โลกจะมีวิวัฒนาการก้าวหน้าในทางวัตถุทันสมัย แต่เขายังเชื่อในสิ่งที่เป็นอนุรักษนิยมในทางจิตใจ

ความเชื่อเรื่องผีทำให้ชุมชนเข้มแข็งเป็นผู้คุ้มครองคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

ความเชื่อเรื่องผีช่วยสร้างแปงเมือง เห็นได้จากการยกวีรบุรุษในท้องถิ่นขึ้นเป็นผีบ้านผีเมือง เช่น ตากะจะ หรือพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน อดีตเจ้าเมืองขุขันธ์

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ก็สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผี ซึ่งเมื่อก่อนผมแทบนึกไม่ถึงในประเด็นนี้เลย