Image
กำแพงประตูหน้า กั้นทางเชื่อมระหว่างแหลมหิน หลังกำแพงที่ล้อมด้วยทะเลกับแผ่นดินชายฝั่ง เหลือทางเข้าออกทางเดียว
อารามนักบุญแห่ง
Tynemouth
สุสานโบราณและม้านั่ง
ของความคิดถึง
Foto Essay
เรื่องและภาพ :  สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
“บ้านของเรากักตัวบนผาหินที่ล้อมรอบด้วยทะเลสามด้าน ยกเว้นก็เพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นทางเข้าอารามผ่านช่องประตูแคบ ๆ ที่เจาะผ่านกำแพงหิน ซึ่งขนาดเกวียนสักเล่มยังผ่านยาก  ทั้งวันและคืนคลื่นซัดหน้าผาคำรามก้อง หมอกทะเลหนาแผ่คลุมทุกสิ่งให้ตกอยู่ในความเศร้าสร้อย ผลที่ตามมาคืออาการตาพร่า เสียงแหบแห้ง และระคายคอ...
Image
Image
Image
Image
“มีเรือแตกบ่อย ๆ เป็นความสลดที่เห็นลูกเรือตัวแข็งทื่อซึ่งไม่มีอำนาจใดบนโลกนี้ช่วยชีวิตเขาได้ ลำเรือและเสากระโดงโยกคลอนก่อนจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ ที่นี่ไม่มีนกไนติงเกลและนกพิราบ มีเพียงนกสีเทาที่ทำรังบนหน้าผาและรอกินเหยื่อจมน้ำอย่างตะกละตะกลาม เครื่องสังเวยที่พายุต้องการก็คือเสียงกรีดร้องโหยหวนของพวกเขา...

“พี่น้องที่รัก อย่าได้มาสถานที่อันข้นแค้นนี้  แต่โบสถ์แห่งนี้คือความงามอันอัศจรรย์ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์ไม่นาน ภายในโบสถ์ ร่างของออสไวน์(Oswine) มรณสักขีผู้น่ายกย่อง สถิตในศาลสีเงิน ประดับตบแต่งด้วยทองและเพชรมลังเมลือง  เขาช่วยฆาตกร โจร และกบฏ จากบทลงโทษสาหัสให้เป็นการเนรเทศ เขารักษาผู้คนที่หมอไม่อาจเยียวยา การปกป้องของมรณสักขีและความงามของโบสถ์โอบอุ้มเราไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน”

นี่คือส่วนหนึ่งจากบันทึกของพระดื้อแพ่งที่ถูกคริสต์ศาสนจักรลงโทษด้วยการส่งตัวมาอยู่ที่อาราม Tynemouth  ไม่ปรากฏวันเวลาบันทึกแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงหลังคริสต์ทศวรรษ ๑๓๔๐ เนื่องจากเป็นปีที่โบสถ์ใหม่สร้างเสร็จแล้ว
Image
Image
อาณาบริเวณโบสถ์ฝั่งตะวันออก ร่องรอยฐานที่ยืนของคณะนักร้อง ผนังสูงเกือบ ๑๐ ชั้นเทียบกับอาคารปัจจุบัน เจาะเป็นหน้าต่างและช่องทางเดิน ครั้งหนึ่งเคยจุดไฟส่องสว่างเป็นแสงนำทางให้เรือใกล้ฝั่ง
นาม Tynemouth มาจากสถานที่ตั้งคือปากแม่น้ำไทน์ (Tyne) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะอังกฤษ ลำน้ำสายสั้นความยาว ๑๐๐ กว่ากิโลเมตรไหลมาลงทะเลเหนือ ผ่านเมืองนิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (Newcastle upon Tyne) หรือที่มักเรียกกันสั้น ๆ ว่านิวคาสเซิล  ในสมัยกลางปากแม่น้ำไทน์เป็นสถานที่แสดงปาฏิหาริย์แห่งหนึ่งของนักบุญคัทเบิร์ต (St Cuthbert มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๖๓๔-๖๘๗) ในเหตุการณ์เรือบรรทุกพระหลายรูปถูกคลื่นลมรุนแรงซัด ใกล้ล่ม นักบุญคัทเบิร์ตซึ่งอยู่ริมฝั่งได้รีบคุกเข่าลงสวดมนต์ทันใดคลื่นลมก็สงบ อีกทั้งลมเปลี่ยนทิศพาเรือกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย

แหลมหินที่ตั้งของอาราม Tynemouth อยู่ฝั่งเหนือของปากแม่น้ำ ตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ปีก่อน เคยมีคนในยุคเหล็กอาศัยอยู่ และต่อมาในยุคโรมัน  สำหรับการสร้างอารามแห่งแรกคาดว่าเกิดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๘ โดยกษัตริย์แห่งนอร์ทัมเบรีย (Northumbria) แต่พอถึง ค.ศ. ๘๗๕ ก็ถูกทำลายจากการโจมตีของไวกิง 

เรื่องราวของอารามหายไปเกือบ ๒๐๐ ปี จนมีบันทึกการพบร่างของกษัตริย์ออสไวน์ใน ค.ศ. ๑๐๖๕  เรื่องเล่าว่าเขามาเข้าฝันพระรูปหนึ่งเพื่อบอกตำแหน่งที่ฝังร่างในโบสถ์  ซึ่งเมื่อขุดพบ ศพของเขายังไม่เน่าเปื่อยและมีกลิ่นหอม 
Image
ประตูเข้าโบสถ์ฝั่งตะวันตก พื้นที่ว่างเบื้องหน้าเมื่อนึกถึงโบสถ์สมัยนี้ก็คือทางเดินไปยังแท่นพิธี ตลอดสองข้างคือ ม้านั่งยาวของผู้มาร่วมพิธี กำแพงสูงเบื้องหลังอยู่ในเขตสงวนที่พระเข้าได้เท่านั้น
Image
พื้นที่ด้านข้างและหลังโบสถ์ฝั่งตะวันออกใช้เป็นสุสาน มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗  ปัจจุบันส่วนใหญ่หลุมศพและป้ายจารึกเป็นของผู้เสียชีวิตในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙  มีการสร้างป้ายหลายรูปแบบ แม้กระทั่งเหมือนโต๊ะ แต่คำจารึกส่วนใหญ่ถูกกัดเซาะลบเลือนหาย
Image
หนึ่งในป้ายจารึกจำนวนน้อยที่ตัวอักษรและลวดลายสลักเสลายังคมชัด “นายเรือ George Donnison แห่ง North Shields สูญหายไปในทะเลเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๘๘ อายุ ๕๕ และภรรยาม่าย Margaret เสียชีวิตวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๐๓ อายุ ๖๐ รวมทั้งลูกชาย George ซึ่งเสียชีวิตที่ลอนดอน อายุ ๒๕ และลูกอีกห้าคนที่เสียชีวิตทั้งหมดตั้งแต่วัยเยาว์”
บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ซึ่งฝังร่างที่นี่ เช่น สิบโท อเล็กซานเดอร์ โรลโล (Alexander Rollo) ผู้ถือตะเกียงไฟตอนฝังศพนายพล เซอร์จอห์น มัวร์ (Sir John Moore) ผู้กล้าหาญ  ครอบครัวของจอห์น ไรต์ (John Wright) ผู้สร้างถนนหลายสายในเมืองนิวคาสเซิล อนุสาวรีย์ที่โดดเด่นเบื้องหลังคือพลเรือโท ลอร์ดคัทเบิร์ต คอลลิงวูด (Lord Cuthbert Collingwood) ชาวนิวคาสเซิลผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามทางเรือกับกองทัพนโปเลียน
ตามประวัติ ออสไวน์เป็นกษัตริย์แห่งเดเอียรา (Deira) ทางใต้ของนอร์ทัมเบรีย มีศรัทธาต่อคริสต์ศาสนาอย่างแรงกล้า เขาปกครองเมืองในช่วง ค.ศ. ๖๔๔-๖๕๑ สร้างบุญความดีไว้มากมายแต่ถูกโค่นบัลลังก์และสังหารโดยศัตรู  นับว่าวิญญาณของเขาเฝ้ารออยู่ที่นี่นานถึง ๔๐๐ ปีเลยทีเดียว
Image
ความต้องการฝังร่างไว้ที่นี่มีเกินพื้นที่รองรับจนต้องออกกฎห้ามขุดหลุมเพิ่ม ใน ค.ศ. ๑๘๒๖ และสร้างโบสถ์ใหม่ทางตะวันตกของเมือง Tynemouth
หลังจากสร้างโบสถ์อุทิศแด่นักบุญออสไวน์และพระนางมารีย์แล้ว ก็มีบันทึกปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ผ่านการสวดมนต์ร้องขอความช่วยเหลือจากนักบุญออสไวน์ เช่น ช่วยม้าที่กำลังจะตกหน้าผา ช่วยช่างซ่อมโบสถ์ที่ตกจากหลังคาสูงให้รอดชีวิต แม้กระทั่งไฟไหม้อารามใน ค.ศ. ๑๑๕๐ พระก็สวดมนต์ขอนักบุญช่วยให้ไฟดับและสัมฤทธิผล

อารามชายขอบอย่าง Tynemouth สั่งสมอำนาจและความ
มั่งคั่งมากขึ้นด้วยชัยภูมิที่ตั้งซึ่งเหมาะแก่การควบคุมการค้าทางเรือผ่านปากแม่น้ำ มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม และต่อเติมอารามให้ใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการปะทะงัดข้อกับศูนย์กลางอำนาจของราชอาณาจักรและศาสนจักรเป็นระยะๆ  จนกระทั่งสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ ทรงยุบอารามต่างๆ เพื่อแยกอังกฤษจากอำนาจของพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม  ค.ศ. ๑๕๓๙ ทรัพย์สินเงินทองและความมั่งคั่งของอารามแห่ง Tynemouth ถูกยึดเป็นของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษหมดสิ้น

น่าเศร้าใจยิ่งกว่าคือโบสถ์นักบุญออสไวน์ถูกทำลาย กระดูกของท่านกระจัดกระจายหายไป 

จบสิ้นปาฏิหาริย์และยุคแห่งอารามศักดิ์สิทธิ์
Image
เดินจากอาราม Tynemouth ลงมาทางใต้เลียบปากแม่น้ำ มาถึงบริเวณด้านหน้าอนุสาวรีย์คอลลิงวูด เป็นลานกว้างติดทะเลที่มีทิวทัศน์สวยงาม แต่สิ่งสะดุดตาคือม้านั่งสาธารณะเรียงรายหลายตัว ซึ่งชาวเมืองบริจาคเพื่ออุทิศแด่บุคคลอันเป็นที่รัก

หากดวงวิญญาณมีจริง พวกเขาคงนั่งชมวิวทะเลตรงนี้อย่างมีความสุข พร้อมกับดอกไม้และความทรงจำอันงดงาม “ปู่จับมือผมนั่งมองทะเลด้วยกัน”  “มองหาผมในสายรุ้ง” ฯลฯ
Image
Image
กว่า ๔๐๐ ปีหลังจากนั้น หน้าผาหินปากแม่น้ำเปลี่ยนสถานะเป็นป้อมปราการสำคัญต่อต้านการบุกรุกของข้าศึกทั้งฝรั่งเศส สเปน หรือแม้แต่สงครามกลางเมืองในอังกฤษเอง จนล่วงถึงการทำหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒

ตลอดเวลากว่า ๑,๐๐๐ ปี สามัญชน กะลาสี นายเรือบาทหลวง พ่อค้า ช่างฝีมือ นักโทษ นักรบ อัศวิน เจ้าเมืองกษัตริย์ เสียชีวิตและบางส่วนฝังร่างไว้ที่นี่

คลื่นทะเลยังคงโหมซัดกระแทกโขดหินซึ่งเต็มไปด้วยซากปรักหักพังและป้ายจารึกผู้วายชนม์ ทั้งวันและคืนอันเหน็บหนาว ปีแล้วและปีเล่า

ค.ศ. ๒๐๒๓ เรือพาณิชย์ลำใหญ่แล่นสง่าเข้าปากแม่น้ำไทน์ ระลอกคลื่นไล่ตามเป็นสาย ไร้เสียงกรีดร้องโหยหวนของลูกเรือ มีเพียงเสียงอึงอลของลมกระโชกแรง   
Image
ครั้งหนึ่งในอดีต ณ บริเวณปากแม่น้ำไทน์แห่งนี้ เคยมีนักบุญสร้างปาฏิหาริย์ช่วยชีวิตคน ปัจจุบันเส้นทางนี้เรียงรายด้วยม้านั่งที่ผู้บริจาคตั้งบริการชาวเมืองที่มาเดินพักผ่อนเป็นประจำ
อ้างอิง 
หนังสือ English Heritage : Tynemouth Priory and Castle เขียนโดย Grace McCombie