Image
SONGKHLA CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
Ep.01
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
จากยอดเขาสูงบนเกาะยอ มองเห็นกาลเวลาเบื้องล่างได้นับร้อยปี เชิงเขาทางซ้ายมือของภาพ ที่ทอดตัวลงในทะเลสาบสงขลาคือส่วนปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้ง “เมืองแหลมสน” ก่อนย้ายข้ามฟากไปตั้งเมือง “สงขลา” ที่บ่อยาง ซึ่งต่อมาเป็นเมืองสมัยใหม่ที่หนาแน่นด้วยทิวตึกและบ้านเรือน กลางการขนาบข้างของสองเล ด้านใน-ทะเลสาบ และนอกออกไปคืออ่าวไทย ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก
Image
ในอาหารจานหนึ่งหรือเครื่องดื่มสักแก้วที่วางอยู่ตรงหน้านั่นแหละ ที่เป็นปัจจุบันของสงขลา

ส่วนกาลเวลายาวนานก่อนนั้น ตั้งแต่สมัยเมืองสทิงพระ เมือง “Singora” ในเอกสารของพ่อค้าตะวันตก เมืองท่าอันยิ่งใหญ่ในภาคใต้สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ริมฝั่ง “หัวเขาแดง” ก่อนย้ายเมืองมาสุดที่ “แหลมสน” แล้วข้ามฟากทะเลสาบมาสร้างเมืองใหม่ที่ “บ่อยาง” ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “เมืองเก่าสงขลา” ในปัจจุบัน ผันผ่านมานับร้อยพันปี

แม้กระทั่งภาพวาดบนผนังที่เรียกกันในหมู่คนสมัยใหม่ว่าสตรีตอาร์ต (street art) แห่งแรก ๆ ในเมืองไทย ซึ่งกลายเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินของสงขลา นั่นก็เป็นมากว่า ๑๐ ปีแล้ว
ภาพเขียนตามผนังริมทางขนาดใหญ่ ที่ คนสามารถเข้าไปทำทีมีส่วนกับภาพ ถ่ายรูปออกมาให้ดูกลมกลืนกันได้ ที่ เรียกกันในสมัยนี้ว่าสตรีตอาร์ต  ในเมืองไทยอาจเริ่มต้นที่ สงขลาก็เป็นได้ ริมถนนหลายสายในย่านเมืองเก่า ภาพสะท้อนวิถีชีวิต อัตลักษณ์ อดีต หรือเรื่องราวในขณะใดขณะหนึ่งที่ เกิดขึ้นในเมืองนี้   
สภากาแฟ คนเมืองสงขลาสามคนที่มีตัวตนอยู่จริง นั่งคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างกลมกลืน หากมองภายนอกจะดูไม่ออกว่าคนไหนเป็นคนถีบสามล้อ นักวิชาการ เถ้าแก่ ตามบุคลิกนิสัยของคนสงขลาที่ไม่ “โอ่รส” อวดโอ่โม้ความมั่งมี
Image
หมี่ผัดเสี่ยงโชค บนผนังฝั่งตรงข้ามร้าน ความเสี่ยงอยู่ตรงที่ร้านนี้ผัดทีละหลายจานในกระทะใบใหญ่ ใครจะได้ลูกชิ้น เต้าหู้ เนื้อหมูกี่ชิ้น ก็อยู่ที่โชคตอนตักแบ่งใส่จาน
ยังไม่นับภูมิทัศน์ธรรมชาติ ลำคลอง ชายหาด เกาะแก่ง ทะเลสาบ คาบสมุทร ที่อยู่มานับหมื่นล้านปี เรื่อยมาถึงอายุของต้นตาล ถนน สะพาน อาคารบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง เจดีย์ อนุสาวรีย์ ฯลฯ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นแลนด์มาร์กของสงขลา  ทั้งที่ยังยืนยงและเสื่อมสลายไปในกระแสลมหายใจของเมือง ล้วนเป็นพลวัตของสงขลา ที่ยังรอการพบหน้า มาทำความรู้จักและเยือนยลของผู้คนแห่งยุคสมัย
Image
แป๊ะเปิดบานเฟี้ยม ออกดูความเคลื่อนไหวภายนอก เหมือนรอคอยใครหรือแค่สอดส่องด้วยความห่วงใยต่อผู้สัญจรบนท้องถนนย่านเมืองเก่า
หนังตะลุงใส่สูท เท่ง ทอง สะหม้อ หนูนุ้ย ตัวตลกที่ปรกติใส่เสื้อผ้าไม่มากชิ้นถูกนำมาแต่งสูทเดินอยู่กลางแดดอ่อนๆ เงาทาบบนผนัง
/ ๑ /
“สงขลาไม่ขี้เหร่กว่ามะละกา สเกลเมืองเหมือนกันเลย เขาเป็นมรดกโลกได้ เราก็น่าจะเป็นได้ไหม”

สงขลาในคำกล่าวของดอกเตอร์จเร สุวรรณชาต อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร. ศรีวิชัย) หมายถึงเมืองเก่าที่ตั้งอยู่บนปลายแหลมด้านล่างของปากทะเลสาบสงขลา

หากมองสงขลาจากแผนที่จะเห็นว่าจังหวัดนี้ตั้งอยู่กลางการขนาบของ “สองเล” ด้านหนึ่งคือเวิ้งทะเลอ่าวไทย ส่วนด้านในคือเวิ้งทะเลสาบ  แหลมแผ่นดินที่ทอดต่อลงมาจากนครศรีธรรมราช ที่เรียกกันว่าคาบสมุทรสทิงพระ มาสิ้นสุดที่ปากทะเลสาบซึ่งไหลออกเชื่อมกับทะเล ที่เคยเป็นที่ตั้งของเมืองหัวเขาแดงและเมืองแหลมสน  ส่วนจะงอยแหลมด้านล่างของปากน้ำ ที่เรียกว่าแหลมสนอ่อน เชื่อมผสานเข้าเป็นเนื้อเดียวกับผืนแผ่นดินด้ามขวาน ลาดขึ้นไปหาเชิงเขาบรรทัดและเชื่อมต่อกับดินแดนมลายูของสามจังหวัดชายแดนใต้

บริเวณปากน้ำที่เป็นช่องไหลล่องขึ้น-ลงของน้ำจืด-เค็ม-กร่อยในทะเลสาบกับมหาสมุทรนั้น ตามพงศาวดารบอกว่าเป็นที่ตั้งเมืองสงขลาโบราณ หรือ Singora มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๒
. . .
แสงไฟในชุมชนบนคาบสมุทรเริ่มวอมแวมขึ้นเมื่อราว ๓,๐๐๐ ปี ตามหลักฐานการพบขวานหินขัด ชิ้นส่วนกลองมโหระทึก ภาชนะดินเผาตั้งแต่แถวสทิงพระ จนถึงจะนะ สะเดา สะบ้าย้อย รัตภูมิ

ราวปี ๑๐๐๐ เมืองสทิงพระเกิดขึ้นเป็นแห่งแรกบนคาบสมุทรสองฝั่งทะเล จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เริ่มเสื่อมความสำคัญลง เมื่อเมืองพัทลุงซึ่งตั้งอยู่ที่พะโคะเจริญขึ้นแทน
สงขลายามพลบ
มองจากมุมสูงที่รัชกาลที่ ๔ เคยทอดพระเนตรเห็นแสงไต้จากบ้านเรือนแล้วตรัสว่า “งามประหลาดตาเหมือนดาว...” แม้ในยุคที่เป็นแสงไฟฟ้า เมืองสงขลายังคงเป็นเช่นนั้น

ส่วนเมืองสงขลา ตามการเรียบเรียงของพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองคนสุดท้ายกล่าวว่า “เดิมครั้ง ๑ เป็นเมืองแขกตั้งอยู่ริมเขาแดง...”

ตั้งแต่กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ชาวมุสลิมนำโดยดะโต๊ะโมกอล อพยพหนีการรุกรานของดัตช์จากชวามาตั้งเมืองที่หัวเขาแดง บริเวณนั้นมีชัยภูมิดี มีอ่าวที่เหมาะกับการจอดเรือและมีเขาสูงช่วยบังคลื่นลม

ตัวเมืองตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเทือกเขา สร้างกำแพงเมืองสามด้าน ด้านใต้ใช้ภูเขาเป็นปราการตามธรรมชาติ ตั้งป้อมรักษาอยู่ตามแนวกำแพงและบนสันเขา ควบคุมทางเข้าออกทะเลสาบและพื้นที่ด้านใน ทำให้เมืองสงขลาหัวเขาแดงกลายเป็นเมืองท่านานาชาติบนคาบสมุทรที่รุ่งเรืองในสมัยสุลต่านสุไลมาน ลูกชายคนโตของดะโต๊ะโมกอล มีเรือจากจีน อินเดียอาหรับ ลังกา มลายู ชวา ฮอลันดา มาติดต่อค้าขาย

คนต่างชาติเหล่านั้นเรียกเมืองแห่งนี้ว่า Singora

เมืองสงขลาหัวเขาแดงเมื่อแรกตั้ง ยอมรับอำนาจกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ แต่เกิดแข็งเมืองเมื่อสุไลมานตั้งตนเป็นกษัตริย์นามพระเจ้าสงขลาที่ ๑ โดยการสนับสนุนของอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดเกล้าฯให้ยกทัพไปปราบเมื่อปี ๒๑๘๕ แต่ไม่สำเร็จ จนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงยึดและทำลายเมืองสงขลาหัวเขาแดงลงราบคาบหลังจากเจริญอยู่ราว ๗๐ ปี

จนถึงสมัยกรุงธนบุรี เมืองสงขลาที่แหลมสนรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง เจ้าเมืองคนแรกชื่อหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ ต้นตระกูล ณ สงขลา ปกครองต่อกันมาแปดชั่วอายุคน จนถึงพระยาวิเชียรคีรี (ชม) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้ย้ายเมืองข้ามฝั่งทะเลสาบมาที่บ้านบ่อยาง บริเวณที่เรียกกันในเวลานี้ว่าเมืองเก่าสงขลา ขณะที่ย่านตัวเมืองปัจจุบันขยายไปทางใต้และแถบชายฝั่งทะเล
Image
 สามเชื้อชาติ ภาพสะท้อนมิตรภาพ พหุวัฒนธรรม ผ่านรอยยิ้มและความสัมพันธ์ของเด็กพุทธ มุสลิม จีน
/ ๒ /
ทางทิศเหนือของตัวเมืองเก่าสงขลามีเขาตังกวนเป็นเหมือนหลักหมายเมืองบนนั้นมีเจดีย์หลวงเป็นหลักหมายตา และมีประภาคารให้สัญญาณไฟแก่ชาวเรือ

จากบนนั้นเมื่อมองลงมาก็จะเห็นตัวเมืองสงขลา เห็นสองเลที่ขนาบอยู่ เห็นไกลไปถึงแถบเมืองใหม่ เกาะยอ และเทือกทิวเขาที่โอบล้อมอยู่ไกลลิบ  ส่วนตัวเมืองเก่าบนพื้นราว ๓ ตารางกิโลเมตร อยู่ในมุมต่ำระยะใกล้ตา มีถนนไทรบุรีเป็นเส้นนำสายตาจากตีนเขา พุ่งไปเชื่อมกับถนนนางงาม ถนนนครในถนนนครนอก ที่เป็นถนนสายหลักแถบกลางเมืองเก่า โดยมีถนนย่อยอีกมากสายตัดขวางเป็นตารางผังเมือง ซึ่งมีถนนพัทลุงอยู่นอกสุดทางทิศใต้ ประตูเมืองตั้งอยู่ต้นถนนสายนั้น

เมื่อผ่านประตูเมืองเข้ามาทางตะวันออกจะเป็นย่านบ้านบน ชุมชนชาวมุสลิมที่อาจต่อเนื่องมาแต่ครั้งสร้างเมืองสงขลาหัวเขาแดง ดังที่เจ้าเมืองสงขลาคนท้ายกล่าวว่าสงขลาเมื่อแรกสร้าง “เป็นเมืองแขก”
โหนดกับนา ฉากชีวิตของคนบนคาบสมุทรสทิงพระ มาแต่ครั้งทำนาปีสลับกับเคี่ยวตาล จนถึงยุคชลประทานทำนาปรัง และป่าชายเลนเปลี่ยนเป็นนากุ้ง แต่ก็ยังพอมีท้องทุ่งให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงสัตว์
Image
สถานีรถไฟเทพาทุกวันนี้อาจไม่คึกคักอย่างในยุคที่เป็นฉากนิยายเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้  ใครนั่งรถไฟไปชายแดนใต้ตอนนี้คงสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเครียดระแวง ระแวดระวัง  บนใบหน้าของชายชราที่มีโครงหน้าเท่ๆ วัยรุ่น เด็กๆ และในแววตาคนอื่นที่มองมา ใบหน้าเดียวกันนี้ถ้าพบเห็นในที่อื่นคงเป็นอีกแบบ
Image
ขบวนรถไฟสายใต้ เมื่อผ่านจากชุมทางหาดใหญ่ต่อไปยังอำเภอทางใต้ จะมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบพร้อมอาวุธครบมือ เดินเวียนมาตรวจการณ์เป็นระยะ ซึ่งอาจขอตรวจบัตรและตรวจค้นสัมภาระของผู้โดยสารบางคนด้วย
Image
จากบนยอดเขาตังกวน จะเห็นเมืองเก่าสงขลาขนาดราวครึ่งตารางกิโลเมตรได้ทั่วหมด อยู่ในวงล้อมของแนวถนนจะนะ ด้านทิศเหนือใกล้ตีนเขา  ถนนรามวิถี ทางตะวันออก  ถนนกำแพงเพชร ทางทิศใต้ และถนนนครนอก ทางทิศตะวันตก ซึ่งทอดเลียบไปกับฝั่งทะเลสาบ
ชุมชนแห่งนี้มีมัสยิดอุสาสนอิสลามเป็นศูนย์กลางมาตั้งแต่ปี ๒๓๙๐ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานโคมไฟสีเขียวแก่มัสยิด เช่นเดียวกับที่พระราชทานให้แก่มัสยิดสำคัญในเมืองหลวง  เดิมอุสาสนอิสลามเป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดสงขลา แต่ภายหลังสร้างมัสยิดใหญ่ที่ถนนลพบุรีราเมศวร์ อำเภอหาดใหญ่ มัสยิดแห่งนี้จึงเหลือบทบาทเพียงมัสยิดประจำชุมชนบ้านบน

ถัดไปทางเหนือชุมชนมุสลิม สุดปลายถนนยะลาเป็นที่ตั้งวัดมัชฌิมาวาส หรือวัดกลาง วัดเก่าแก่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีจิตรกรรมสีฝุ่นฝีมือช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ ๔ เล่าเรื่องพุทธประวัติและวิถีชีวิตคนบ่อยางสงขลา การอยู่ร่วมกันของคนพุทธ-มุสลิม-จีน จนถึงชาวตะวันตกที่ได้มาดูการแสดง
Image
มัสยิดอุสาสนอิสลาม
ที่บ้านบน เมืองเก่าสงขลา เคยเป็นศูนย์กลางของมุสลิมสงขลาก่อนมีมัสยิดกลางที่ถนนลพบุรีราเมศวร์เมื่อไม่กี่ปีมานี้

“สงขลาเป็นเมืองที่มีทุนทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมสูงมาก  เป็นเมืองพหุลักษณ์ที่เป็นจุดปะทะสังสรรค์ของศาสนาอิสลามที่ขึ้นมาจากหมู่เกาะทางใต้ ของคนจีนอพยพ และชาติพันธุ์อื่นๆ  การมีวัดจำนวนมากที่อำเภอสทิงพระ การเป็นเขตกัลปนาที่ยิ่งใหญ่
ในยุคหลวงพ่อทวด หรือสมเด็จเจ้าพะโคะ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ  ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ได้สร้างเรื่องราวขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งบนคาบสมุทรสทิงพระ และทั้งเมืองสงขลาเก่า-ใหม่”
สถาพร ศรีสัจจัง

มโนราห์ด้วย ท่ามกลางภูมิทัศน์ ชุมชน บ้านเรือน เรือ แม่น้ำ และพุทธประวัติตอนสำคัญที่พระสิทธัตถะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนร่างกายผ่ายผอม แล้วพระอินทร์ลงมาเล่นซอที่มีสายตึง-หย่อน จนได้ประจักษ์แจ้งในมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งพ้องกับชื่อวัดกลาง  เป็นศูนย์กลางของคนพุทธในเมืองสงขลาเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ และได้พึ่งเช่าที่ดินอยู่อาศัย ซึ่งที่ดินจำนวนไม่น้อยในแถบถนนยะลา ถนนรามัญ เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดนี้

ส่วนย่านคนจีนน่าจะอยู่แถวถนนนางงาม หรือถนนเก้าห้องในอดีต ซึ่งยังเหลือร่องรอยของศาลเจ้าหลายแห่ง กับสารพัดอัตลักษณ์อาหาร สตู ก๋วยเตี๋ยวไหหลำ ก๋วยเตี๋ยวหางหมู ฯลฯ และเป็นถนนสายหลักที่มีคนท้องถิ่นอาศัยอยู่ต่อเนื่อง

ศาลของเทพเจ้าเหล่านั้น ไล่มาแต่ศาลเจ้าตั้งเซ่งอ๋อง องค์เทพแห่งความดีความกตัญญูที่เชื่อกันว่านำมาจากเมืองจีน ศาลเจ้าพ่อกวนอู (ส่ำเล้งเตียนกวนแตกุ้น) สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔  ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เสี่ยงฮ๋องเหล่าเอี๋ย) ที่ทั้งหลักเมืองและเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ในศาลเดียวกัน  รวมถึงศาลเจ้าปุนเถ้ากง ถนนหนองจิก ที่ดูภายนอกเหมือนบ้านของคนจีนทั่ว ๆ ไป  ศาลเจ้าโป้อันเตียน (โก้ยเซ่งอ๋อง) บนถนนยะลาที่เด่นชัดด้วยหลังคากระเบื้องดินเผาแบบจีนโบราณ รวมทั้งโรงเรียนเจ่งเต๊ก หรือโรงเรียนสงขลาวิทยามูลนิธิ ที่เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในสงขลา  และศาลเจ้าไหหลำ ที่ตั้งอยู่ข้างชุมชนมุสลิม
สงขลาที่คั่นกลางอยู่ระหว่างบ้านเมืองท้องถิ่นใต้กับพื้นที่สุดปลายชายแดนของคนมลายู จึงเป็นเมืองที่รวมความหลากของผู้คน ภาษา วัฒนธรรม ทั้งคนไทย คนใต้ คนจีน คนมลายูซึ่งต่างสะท้อนอัตลักษณ์ของตนผ่านวิถีชีวิตความเป็นอยู่อันมีสีสัน สั่งสมต่อเนื่องมาแต่อดีตจนปัจจุบัน เป็นพลวัตตามยุคสมัยที่ทำให้เมืองแห่งนี้มีเสน่ห์น่าค้นหาคุณค่าความหมายที่กระจายอยู่ตามซอกมุมต่าง ๆ ของบ้านเมือง
Image
จิตรกรรมฝาผนังวัดมัชฌิมาวาส ที่กล่าวกันว่าเป็นฝีมือช่างหลวงจากกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๔
/ ๓ /
ศูนย์กลางความเจริญของเมืองสงขลาสมัยก่อนน่าจะอยู่แถวถนนสองสายที่ทอดขนานเลียบไปกับริมฝั่งทะเลสาบเส้นที่อยู่ชิดฝั่งน้ำชื่อนครนอก กับเส้นที่อยู่ถัดเข้ามาชื่อนครใน ซึ่งมีตึกเก่าสไตล์จีนผสมตะวันตกที่เรียกว่าชิโน-ยูโรเปียน เหลือให้เห็นอยู่หลายช่วงบนถนนสองสายนี้

บ้านนครใน ตั้งอยู่ระหว่างถนนทั้งสองสาย หันหน้าบ้านออกสองด้าน ช่วงกลางบ้านมีช่องเปิดโล่งรับแดดลมและระบายอากาศตามแบบบ้านในเมืองทางใต้

ฟากถนนนครนอกด้านติดทะเลสาบมีอาคารบ้านเรือนแน่นขนัดเรียงชิดติดกันไปตลอดแนว อย่างยากที่ใครจะเห็นว่ามีทะเลสาบอยู่ติดเมือง

“จนคุณรังษี รัตนปราการ เปิดโรงสีแดง ที่เคยเป็นหับ โห้ หิ้น ของตระกูล ให้คนนอกเดินเข้าออกเที่ยวชมได้  ใครผ่านไปมาถึงได้รู้ว่ามีทะเลสาบเวิ้งว้างตั้งอยู่ติดเมืองเก่าสงขลา” อาจารย์จเร สุวรรณชาต รองประธานภาคีคนรักเมืองสงขลา พูดถึงสถานที่หนึ่งที่เขาเกี่ยวข้องผูกพันมาตั้งแต่ทำกิจกรรมฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลา

เห็นชื่อหับ โห้ หิ้น คนทั่วไปคงคิดถึงบริษัทหนังที่สร้างหนังไทยดังถึงระดับโลก ซึ่งอาจารย์จเรเล่าว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอย่างใดกับโรงสีแดงที่สงขลา เป็นเพียงการขอชื่อไปใช้เนื่องจากชอบความหมายที่ว่า ความสามัคคี ความกลมเกลียว และความรุ่งเรือง

หับ โห้ หิ้น ที่สงขลา เป็นโรงสีข้าวที่นักเรียนนอกจากปีนังชื่อ สุชาติ รัตนปราการ รับมรดกจากคุณตามาพัฒนาต่อโดยใช้เครื่องยนต์พลังไอน้ำ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง สีข้าวได้ทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันเป็นเดือน ๆ  รับข้าวเปลือกจากท้องนารอบทะเลสาบสงขลา บรรทุกลงเรือเอี้ยมจุ๊นมาขึ้นที่ท่าเรือด้านหลังโรงสี มีคนงานนับสิบคน สีส่งไปขายทางชายแดนใต้จนถึงมาเลเซีย ตั้งแต่ปี ๒๔๖๘  จนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงสีหับ โห้ หิ้น ก็เลิกกิจการกลายเป็นตำนานในความทรงจำของคนสงขลา

แต่ทายาทรุ่นหลังยังคงอนุรักษ์โรงสีไว้เป็นอนุสรณ์ ทาสีแดงสดใส ในช่วงแรกยังไม่ได้ทำประโยชน์อะไร กระทั่งปัจจุบันเจ้าของได้เปิดให้เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะหรือพิพิธภัณฑ์ที่คนทั่วไปเข้าเที่ยวชมถ่ายรูปได้ และตอนหลังเป็นสำนักงานของภาคีคนรักเมืองสงขลาด้วย หลังจากนักกิจกรรมสังคมกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันบุกเบิกงานฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลา
ฟากถนนนครนอกมีอาคารบ้านเรือนแน่นขนัดเรียงชิดติดกันไปตลอดแนวอย่างยากที่ใครจะเห็นว่ามีทะเลสาบอยู่ติดเมือง  จนโรงสีแดงเปิดให้คนนอกเดินเข้าออกเที่ยวชมได้  ใครผ่านไปมาถึงได้รู้ว่าเมืองเก่าสงขลาอยู่ติดทะเลสาบ
หับ โห้ หิ้น อดีตโรงสีเครื่องจักรไอน้ำที่รับข้าวเปลือกจากทุ่งนาในลุ่มทะเลสาบมาสีส่งไปขายชายแดนใต้ ก่อนเลิกกิจการไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วกลายเป็นหลักหมายหนึ่งของเมืองเก่าสงขลาในปัจจุบัน
“เมื่อก่อนแถวถนนนครนอก ถนนนครใน ทรุดโทรมมากเป็นเมืองร้าง สัก ๖ โมง คนจะไม่กล้าออกจากบ้านแล้ว” สดใส ขันติวรพงศ์ เล่าสภาพมุมหนึ่งของเมืองที่เธออยู่ร่วมรู้เห็นมานับ ๕๐ ปี

“วันอาทิตย์หนึ่งในปี ๒๕๕๒ ขณะเดินตลาดซื้อดอกไม้ อาจารย์อรทัยโทร. มาชวนไปร่วมประชุม ก็เริ่มคุยกันจากกลุ่มเล็ก ๆ เก้าคน ตั้งภาคีคนรักเมืองสงขลา นำโดยอาจารย์จเร สุวรรณชาต ซึ่งบอกว่าที่อื่นมีห้องแถวไม่กี่ห้องก็ทำที่เที่ยวได้แล้ว เรามีอะไรเยอะแยะทำไมไม่ทำ”

“ผมเป็นคนบ่อยาง อดีตนายกเทศมนตรีนครสงขลาเมื่อปี ๒๕๕๒ วางแผนจะฟื้นฟูเมืองเก่าก็ชักชวนให้มาช่วย  เราเริ่มจากวิเคราะห์ปัญหา ก็เห็นว่าเมืองสวยงามแต่เสื่อมโทรม มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย คนจะห้ามลูกหลานไม่ให้เข้าไปแถวถนนนครนอก ถนนนครใน” อาจารย์จเรฉายภาพอดีตสีหม่นที่แทบไม่เห็นร่องรอยในปัจจุบัน

“สถาปัตย์เป็นวิชาชีพที่หลายคนมองว่ารับใช้นายทุน แต่อีกซีกหนึ่งเราดูแลเรื่องการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การฟื้นฟูเมืองและชุมชนก็อยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เราจึงได้ใช้ทุนมหาวิทยาลัยไปดูการทำเมืองมรดกโลกที่ปีนัง ไปขอความรู้เขา ซึ่งได้เป็นเมืองมรดกโลกเมื่อปี ๒๕๕๑”

“พอดีตอนนั้นเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย วิชาชีวิตกับความงาม อยู่ที่คณะสถาปัตย์ มทร. เราทำหลักสูตรเองได้ ก็ให้เด็กมาถ่ายรูปโปรเจกต์ความงามของกาลเวลาที่เมืองเก่า” อาจารย์สดใสเล่าถึงวิธีพัฒนาฟื้นฟูเมืองในแนวทางของเธอ
ล่อหลี หรือสามล้อถีบพ่วงข้าง พาหนะคู่เมืองสงขลา
Image
สามล้อถีบพ่วงข้าง พาหนะคู่เมือง ปัจจุบันยังมีใช้ย่านตลาดและกลางเมือง คนถีบจะนุ่งกางเกงจีน สวมหมวก มีผ้าขนหนูไว้ซับเหงื่อ และมีผ้าขี้ริ้วไว้เช็ดเบาะ
“เมืองสงขลาช่วงนั้นมีแต่คนแก่ ๆ  ปรกติคนสงขลาอยู่แต่ในบ้าน เด็ก ๆ ก็ไปเคาะประตูบ้าน ไปคุยกับคุณยาย  ถ่ายรูปคูน้ำที่มีตะไคร่ ต้นไม้ที่งอกบนหลังคาบ้านเก่า ๆ  กุญแจคล้องประตูที่ขึ้นสนิม ดูดีมาก  เราก็ตื่นเต้นกับเด็ก ๆ  ตอนนั้นบ้านเมืองยังโทรม ที่เห็นในทุกวันนี้เพิ่งมาปรับมากตอน ๑๐ ปีหลังมานี้”

จากภาพถ่ายค่อยคลี่คลายมาเป็นภาพวาด ซึ่งกลายมาเป็นหลักหมายสำคัญของเมืองเก่าสงขลาต่อมา

“มีคนเสนอในที่ประชุมภาคีว่าน่ามีจุดให้คนถ่ายรูป เหมือนสตรีตอาร์ตที่ปีนัง หลังจากนั้นก็เริ่มจุดแรกบนผนังตึกร้านกาแฟที่หัวถนนรามัญ”

“ช่วงนั้นสตรีตอาร์ตกำลังมา มะละกาก็ใช้สตรีตอาร์ตเขยื้อนเมือง เกิดการท่องเที่ยวตามรอยสตรีตอาร์ต ไปถ่ายรูปสวย ๆ  เราก็เอาเรื่องราวของสงขลาสะท้อนผ่านภาพสตรีตอาร์ต ภาคีคนรักเมืองสงขลาลงทุนทำเองก่อน เป็นการสื่อความหมายภาพแรก จากที่เราได้เห็นต้นแบบมาจากปีนังทางจังหวัดก็เห็นว่าแปลก ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นความสำคัญให้งบมาวาดภาพสตรีตอาร์ตทั่วเมือง เป็นภาพสะท้อนชีวิตสังคม” อาจารย์จเรเล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของเมืองเก่าสงขลาที่ต่อเนื่องมาสู่ความร่วมสมัยจนปัจจุบัน

“เมื่อก่อนคนมาสงขลาจะไปที่นางเงือกแล้วกลับ ตอนหลังมีคนถ่ายรูปกับสตรีตอาร์ต จากนั้นงานศิลป์งานอินดี้ก็เริ่มเข้ามา คนเห็นโอกาสทางธุรกิจ ร้านรวงแบบสมัยใหม่ก็มา คนสงขลาเริ่มกลับมาบ้าน ลูกหลานรุ่นใหม่ก็เริ่มออกมาแสดงความรู้ความสามารถของเขา”
Image
Image
Image
/ ๔ /
จากนั้นเมืองก็ค่อยๆ ฟื้น ลูกหลานที่ออกจากบ้านกลับมาทำสิ่งใหม่ๆ ในบ้านเดิมของเขา อาคารเก่าโทรมเคยถูกปิดไว้ได้รับการซ่อมแซมปรับปรุง ความรู้สึกว่าเป็นพื้นที่น่ากลัวค่อยคลายหายไป

สองฟากถนนแต่ละสายในย่านเมืองเก่าก็เรียงรายไปด้วยร้านดื่มกิน คาเฟ่ ที่พัก ร้านขนม และทุกสิ่งอย่างที่ย่านท่องเที่ยวเมืองเก่าพึงมี อาจเป็นมุมให้แวะนั่งพัก พบปะ ดื่มกิน และถ่ายรูป ให้ชมและชอปทั้งรูป รส เสียง เรียงต่อกันไปบนสองฟากถนนจนเกือบไม่มีที่ว่าง

ร้านรวงในแต่ละคูหาเหล่านั้น หรือแม้แต่ตามหน้าอาคาร ลานโล่ง ริมน้ำ บนทางเท้า ต่างล้วนช่วยปลุกชีวิตใหม่ให้เมือง

ลานด้านหลังโรงสีแดงที่เคยเป็นท่าเรือริมอ่าว ตอนนี้เป็นที่ตั้งของร้านอาหารและเครื่องดื่มเล็ก ๆ

“ตั้งชื่อร้านตามเรื่องราวที่ตรงนี้เคยเป็นท่าเรือ คนล่องเรือมาจากทุกสารทิศจอดเรือนั่งพักผ่อนว่า ฮาร์เบอร์@หับโห้หิ้น” ครุศักดิ์ สุขช่วย แนะนำร้านของเขา

“ให้เป็นที่พักผ่อนในย่านเมืองเก่า ทำให้เมืองมีชีวิต เป็นที่นั่งชิล ๆ สำหรับคนพักในเมืองเก่า  ร้านกลางคืนแถวชายทะเลอาจอึกทึกเกินไปสำหรับบางคนที่ไม่ใช่กลุ่มที่เที่ยวผับบาร์ เขาไม่ได้มาเมืองเก่าเพื่อแดนซ์หรือแสงสี แต่มาเจอเพื่อน  มีพื้นที่ให้เด็ก ๆ เป็นเซฟตี้โซนของเขา และอยากให้เป็นที่ส่งเสริมกิจกรรมเล็ก ๆ ด้านศิลปะวรรณกรรมในการขับเคลื่อนเมือง คาดหวังว่าจะเชื่อมโยงสิ่งนี้สู่เด็กรุ่นใหม่”

ใต้ชายคาอาคารด้านติดถนนนครนอก เขาจึงจัดให้เป็นร้านหนังสือพันธุ์หมาบ้า และพยายามจัดกิจกรรมขึ้นทุกเดือนอาจเป็นงานดนตรี ฉายหนัง พูดคุยเรื่องหนังสือที่อ่าน เวิร์กช็อปงานศิลปะ ฯลฯ
Image
มกรธวัชกับคอนเซปต์ของร้าน ที่บอกว่าลูกค้าเข้ามารับประทานต้องได้สนุกและเปิดประสบการณ์ใหม่ด้วย
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว และสิ่งที่เขาทำก็เป็นสิ่งใหม่ ๆ ไม่ซ้ำเดิมและไม่เหมือนที่ไหน

“ผมไม่ทำสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ตามร้านที่ขายดี แต่จะดูว่าสงขลายังขาดอะไร”

มกรธวัช กุลหทัย เล่าย้อนความคิดเมื่อ ๖ ปีก่อน

“เป็นช่วงที่ผู้ว่าฯ สงขลากำลังทำสตรีตอาร์ต ตอนนั้นสงขลายังไม่บูม เราเป็นคนแรก ๆ ที่ทำวัตถุดิบที่ถูกลืมให้มีคนสนใจ”

ร้านของเขาตั้งอยู่บนถนนนครใน ป้ายสีแดงเด่นหน้าร้านเขียนว่า Lyn’s THE SHANGHAI CAFE

“อาคารนี้แต่ก่อนเป็นร้านขายส่งของจากปีนัง พอได้มาเราทำให้เข้ากับความเป็นสงขลาเมืองเก่า สถาปนิกบอกว่าต้องให้มีความเป็นจีน เลยชื่อร้าน ลินส์ เดอะเซี่ยงไฮ้คาเฟ่  ดึงตะวันออกตะวันตกมาบรรจบกันเป็นคาแรกเตอร์ร้าน”

สไตล์ของร้านจึงไม่ใช่ร้านอาหารหรือร้านกาแฟแบบที่เห็นอยู่ดาษดื่นตามเมืองท่องเที่ยว

“ซิกเนเจอร์ของร้านอย่างแรกคือกล้วยหินย่างน้ำผึ้ง หรือ grilled honey banana ใช้กล้วยพื้นถิ่นปักษ์ใต้ ขึ้นอยู่พื้นหินกรวดริมแม่น้ำ หกเดือนถึงสุก คนใต้ซื้อให้นกกินหวีละ ๖๐-๗๐ บาท  เราเอามาทำให้คนรู้จักกล้วยหินมากขึ้น”

และเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม รวมทั้งออกไปนอกร้านผ่านโลกออนไลน์

“เป็นร้านในสไตล์ที่เรามีความรู้ ให้ลูกค้าได้ร่วมสนุก เปิดประสบการณ์ในการกิน ได้ถ่ายรูป มีส่วนร่วม อย่างเมนูกาแฟน้ำตาลโตนด ใช้น้ำผึ้งโหนดจากสทิงพระ เราจะมีโค้ดแนบมาพร้อมเสิร์ฟ ให้เขาสแกนลิงก์ไปดูการเก็บน้ำตาลโตนดที่เรานำมาเสิร์ฟลูกค้า”
. . .

ขายรสชาติไปพร้อมกับเรื่องราว  คนกินสนุกและได้ความรู้ควบคู่กันไป และนับได้ว่าแปลกใหม่

แต่ยังมีที่แปลกไม่แพ้กัน เมื่อได้พบว่าในเมืองเก่าสงขลามีร้านขายกลิ่นด้วย เพิ่งเปิดใหม่เมื่อต้นปีนี้

“ผมทำร้านอาหารมากว่า ๑๑ ปี ช่วงโควิด-๑๙ ปิดร้านอยู่ว่าง ๆ คิดว่าน่าจะทำอะไรเป็นของฝาก ก็ว่าทำกลิ่นกันไหม” ปีรัชด์ อนันตพันธ์ เล่าย้อนกลับเมื่อ ๒ ปีก่อน
Image
“ตอนหลังคนมาสงขลาเยอะมาก ไปเที่ยวที่ต่าง ๆ สักพักก็ลืม จะมีอะไรให้เขานึกถึงช่วงที่มาสงขลา  ไปชายหาดเขาไม่สามารถเอาหาดกลับไปได้ ไปดูโนราก็เอาเครื่องแต่งกายกลับไปไม่ได้  แต่เราคิดว่าเมื่อคนได้กลิ่นหรือได้ยินเพลงก็ยังจำความรู้สึกนั้นได้  เราไปอินเดียพอกลับมาได้กลิ่นแบบนั้นเราคิดถึงอินเดีย  เราเลยคุยกันว่าต้องทำอะไรสักอย่างที่เมื่อกลับไปแล้ว พอได้กลิ่นก็นึกถึงช่วงเวลาที่มาสงขลา เลยคิดทำเป็นเครื่องหอมขึ้นมา”

จากแนวคิดสู่ปฏิบัติการ ให้กลิ่นที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้กลายเป็นรูปธรรม

เริ่มจากนำนักปรุงกลิ่นหรือเพอร์ฟูเมอร์ มาสัมผัสพื้นที่ “ชวนนักปรุงมาช่วยทำกลิ่นสมิหลา หรือ Samila lush เหมือนเรากำลังเดินอยู่กลางป่าสนริมหาด มีแดดส่องลงมา”

เป็นกลิ่นแรก

“เราเดินในเมืองเก่า ไปเจอร้านบ้านจงดีขนมไทย กำลังกวนสัมปันนีอยู่ เป็นกลิ่นมะพร้าวเคี่ยวกับน้ำตาล และต่อมานำไปตากแดด ก็มีกลิ่นแดดอยู่ในขนมด้วย เราทำออกมาเป็นกลิ่นโซลสัมปันนี หรือ Soul Sumpannee”

และอีกกลิ่น

“เราเรียกชื่อว่าโนราชาโดว์ หรือ Nora shadow เราเป็นลูกหลานที่คอยติดตามวัฒนธรรม แต่ไม่สามารถสืบสาน ก็ทำเป็นกลิ่นออกมา  โนรามาดมก็บอกว่าทำให้นึกถึงกลิ่นตอนที่เขาลงโรงครูเลย ได้กลิ่นควัน เหล้าจีน ซึ่งเป็นบริบทของพิธี บางคนบอกว่าดมแล้วรู้สึกขลังจนไม่กล้าใช้”

ความรู้สึกที่นักปรุงกลิ่นสัมผัส ได้ส่งต่อให้กลายเป็นกลิ่นเรียกความทรงจำ

“สามกลิ่นนี้ชื่อชุดว่าสงขลาคอลเลกชัน เมื่อได้กลิ่นนั้นเหมือนเราเดินอยู่กลางป่าสน หรือกินสัมปันนีอยู่กลางแดด”

แล้วแปรกลิ่นที่เก็บมาได้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสจับต้องได้ คนมาเยือนสงขลานำกลับไปได้

“เมื่อทำกลิ่นออกมา เราก็ผลิตเป็นเทียน ก้านหอม และสเปรย์ฉีด เราอยากให้มีเรื่องราวอยู่ในบ้าน และทำเป็นสบู่เหลวด้วย ซึ่งขายดีสุด”

นับว่าเป็นสินค้าใหม่สุดของเมืองเก่าสงขลา ซึ่งดูน่าท้าทายกับการเก็บกลิ่นมาขายเป็นของฝาก
นางเงือกสมิหลา
มาจากไหน

Image
ภาพ : หนังสือ สงขลา เมืองสองเล เสน่ห์เหนือเวลา
หาดสมิหลาปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๖) จุดเดียวกับในภาพบนก่อนปี ๒๕๐๙ ซึ่งยังไม่มีรูปปั้นนางเงือก
รูปปั้นนางเงือกที่หาดสมิหลา สร้างสมัยนายชาญ กาญจนาคพันธุ์ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองสงขลา ตามคำแนะนำของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ที่เล่าตำนานปรัมปราเกี่ยวกับตัวละครในวรรณคดีนางนี้ว่าที่ชายหาดสวยแห่งหนึ่งในคืนที่ท้องฟ้าสวยงามมีนางเงือกขึ้นจากทะเลมานั่งหวีผมอยู่ริมหาด แล้วมีชายหนุ่มชาวประมงไปพบเข้า นางเงือกตกใจลนลานหนีลงน้ำ วางหวีทองคำลืมไว้ จากนั้นหนุ่มชาวประมงก็เฝ้ารอว่าเมื่อไรเจ้าของหวีจะกลับมาอีก แต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย

แต่ที่ชายหาดสมิหลามีประติมากรรมเงือกทอง 
golden mermaid จากฝีมือการออกแบบปั้นหล่อของอาจารย์จิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง  วัสดุสำริดรมดำ โดยงบประมาณของเทศบาล ๖ หมื่นบาท เมื่อปี ๒๕๐๙ ตั้งเป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลาและจังหวัดสงขลามาจนทุกวันนี้  
อ่านต่อ EP.02