งวงตาลตัวเมียที่ลูกอ่อนต้องยังไม่เปิดตา ด้านขวาของภาพ กำลังพอดีที่จะปาดเอาน้ำตาล โดยใช้มีดคมกริบปาดทางขวางเป็นแว่นบางๆ แล้วใช้กระบอกรองไว้ราว ๑๒ ชั่วโมง ก็ได้น้ำตาลสดเป็นลิตรๆ
โหนดและเลสาบบนคาบสมุทร
SONGKHLA CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
“บ้านฉานม้ายไหร้ ยังแต่ ไผ่ กับโหนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา...”
เป็นบทรำแนะนำตัวของโนราจากระโนด พื้นที่ตอนบนสุดของสงขลา ที่ต่อแดนมาจากอำเภอหัวไทรของนครศรีธรรมราชเป็นแหลมแผ่นดินหรือคาบสมุทรที่ขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้านด้านนอกหรือทางตะวันออกคืออ่าวไทย ส่วนด้านในเป็นทะเลสาบน้ำจืดและน้ำกร่อยหลายส่วนย่อย ที่เรียกรวม ๆ ว่าทะเลสาบสงขลา
เป็นที่ราบบนคาบสมุทร ต่อเนื่องมาจนสุดปลายแหลมที่ปากทะเลสาบ ที่ไม่ค่อยมีผืนป่าไม้สูงใหญ่ ที่เห็นหนาตามากที่สุดมีแต่ตาลโตนด ตามคำแนะนำตัวของโนราระโนด
แต่ตามความจริงทิวต้นตาลที่ยืนต้นสูงทาบฟ้า ไม่ได้มีหนาแน่นแต่แถวระโนด หากยังแผ่ผืนยืนต้นต่อเนื่องไปตลอดแหลม ตั้งแต่สทิงพระ กระแสสินธุ์ จนถึงสิงหนคร และโหนดยังแพร่ข้ามฟากทะเลสาบลงไปทางใต้ด้วย
โดยพื้นล่างส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ซึ่งข้องเกี่ยวเหนียวแน่นอยู่ในวิถีชีวิตของคนพื้นถิ่น
ฤดูฝนไถหว่านก็ทำนา เสร็จจากเกี่ยวข้าวเข้าแล้งก็พอดีถึงหน้าทำน้ำตาลโตนด พอฝนชุกก็ละจากต้นตาลลงนาหันหน้าสู่การเพาะปลูกอีกครั้ง เป็นวงรอบปีในวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นมาแต่เดิม
๑
วิถีตาล
หยาดหวานในกระแสสินธุ์
“ขึ้นตาลดีกว่าทำงานอื่นทั้งหมด ผมขึ้นตาลก่อนได้เมีย ตอนนี้ลูกคนโตอายุ ๔๐ ปี ลูกสี่คน ผมให้เรียนหนังสือเพส่งกับเงินขึ้นตาล”
นวย แก้วบริสุทธิ์ คนปาดตาลบ้านเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ พูดถึงงานที่เขาทำมาทั้งชีวิต
“ปีนี้เตรียมต้นไว้ ๑๐ ต้น เริ่มงาน ๖ โมงเช้า ปาด ๑ ชั่วโมงครึ่ง ตอนเก็บก็ใช้เวลาเท่ากัน ทำวันละ ๒ ครั้ง เช้า เย็น เก็บน้ำตาลสดได้ราว ๓๐ ลิตรต่อวัน เคี่ยวเป็นน้ำผึ้งโหนดได้ราว ๖-๗ ลิตร ลิตรละ ๗๐ บาท ปี๊บละ ๑,๔๐๐ บาท ฤดูร้อนปีนี้ ๕ หมื่นได้”
เป็นงานที่ถือว่ารายได้ดีและแทบไม่มีต้นทุน
“บ้านฉานม้ายไหร้ ยังแต่ไผ่กับโหนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา...” กลอนโนราจากระโนด ฉายภาพพฤกษศาสตร์บนคาบสมุทรสทิงพระได้แจ่มชัดและจริงที่สุด เป็นที่มาของผลิตภัณฑ์จากตาลแหล่งใหญ่ของแถบภาคใต้ตอนกลาง โดยเฉพาะ หวาก เครื่องดื่มจากภูมิปัญญาพื้นบ้านโบราณรสหวานซ่ามีดีกรีอ่อนๆ
“ต้นตาลของชาวบ้านอายุราว ๓๐ ปี ที่ต้นสูง ๆ ก็เป็น ๖๐ ปีขึ้นไป ขอเขาทำ เลือกต้นที่ใหญ่ โคนใหญ่ ทางมาก งวงสวยใหญ่ ปาดได้ต้นละห้าถึงหกกระบอก งวงเอียด ๆ น้ำตาลไม่ออก”
อุปกรณ์เครื่องมือบางส่วนที่ต้องซื้อ
“ลงทุนซื้อมีดปาดตาลเล่มละ ๓๐๐ บาท กับแก่นไม้เคี่ยมโล ๓ บาท ถากใส่ก้นกระบอกรับน้ำตาลแค่แผ่นบาง ๆ ใส่มากฝาด กับกระทะเคี่ยวน้ำตาลใบหนึ่ง ซึ่งกระทะใบบัวของผมใช้มาตั้งแต่ก่อนได้เมีย ตอนนี้ยังใช้อยู่เลย”
แต่คนขึ้นตาลนับวันมีแต่จะลดน้อย จากการไม่ยอมสืบต่อของคนรุ่นหลัง
“เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำ เขาว่าได้เงินช้า แต่ตอนนี้ก็มีมาหัดกับผมอยู่สามสี่คน ก็สอนให้พรรคพวก เวลาสอนคนอื่นเราต้องขึ้นไปด้วยกัน คาบงวงตาลให้เขาดู หน้าแดดกล้างวงจะแห้ง เราต้องปาดให้หนาขึ้น และใช้ใบตาลแห้งหุ้มปิดงวงไม่ให้แดดเผา”
กับในระยะหลังเมื่อมีระบบชลประทานทั่วถึง คนที่ทำนาปีมาแต่เดิมส่วนหนึ่งหันมาทำนาปรังในช่วงหน้าแล้งด้วย จนไม่มีช่วงเว้นว่างไปทำตาล พะองและพุ่มตาลบางส่วนถูกปล่อยทิ้งร้าง
แต่เจ้าของต้นตาลไม่หวงหากใครจะมาขอทำน้ำตาลคนปาดตาลบ้านเกาะใหญ่ วัย ๖๗ ปี ยังตื่นแต่เช้าอย่างที่เป็นมา ๔๐ กว่าปี มีดปาดตาลตีจากเหล็กกล้าคาดเอว ห้อยพวงกระบอกน้ำตาลนับสิบมุ่งไปยังทิวตาลในทุ่ง เหยียบแขนงไผ่ไต่พะองขึ้นตาลทีละต้น เก็บกระบอกที่รองรับน้ำตาลไว้แต่เย็นวาน ปาดงวงตาลซ้ำแล้วเอากระบอกใหม่รองรับน้ำตาลไว้ ต้นละห้าถึงหกกระบอก ทุกกระบอกต้องมีแก่นไม้เคี่ยมถากเป็นแผ่นบาง ๆ ใส่ไว้สองถึงสามชิ้น จะช่วยรักษาน้ำตาลสดไม่ให้บูดเปรี้ยว
ไม่ทันสายก็ขึ้นลงตาลราว ๑๐ ต้น ที่ทำน้ำตาลไว้ครบหมด
ราว ๕ โมงเย็นคนปาดตาลจะย้อนกลับมาทำงานเช่นเดิมอีกรอบ พร้อมมีดปาดตาลเล่มเดิม กระบอกรับน้ำตาลชุดใหม่ไล่ขึ้นเก็บน้ำตาลในกระบอกที่ปาดไว้เมื่อเช้า ปาดงวงตาลซ้ำแล้วใช้กระบอกใหม่รับไว้เก็บตอนเช้าวันรุ่งขึ้น
งานบนยอดตาลสูงเท่าลำไผ่ หรือสองถึงสามช่วงความยาวของลำไผ่ที่มัดติดต้นตาลเป็นพะอง หากไม่ใช่คนขึ้นตาลหัดใหม่ที่ขอตามขึ้นไปเรียนรู้งานด้วย ก็แทบไม่มีใครได้เห็นรายละเอียด นอกจากคำเล่าของคนปาดตาลเอง
“ต้องเลือกต้นตาลที่สมบูรณ์ ต้นสภาพไม่ดีเราขึ้นไปนั่งบนพุ่มไม่ได้ ทำน้ำตาลได้ทั้งต้นผู้ ต้นเมีย แต่ผมทำแต่ต้นเมีย ต้นผู้น้ำตาลไม่หอม” นวยเล่าภาพการทำงานบนยอดตาล
เลือกต้นตาลได้แล้วก็เอาลำไผ่ที่มีแขนงตายาวราวคืบติดอยู่ตามข้อปล้อง มัดทาบต้นตาลด้วยเถาวัลย์ปด ถ้าต้นตาลสูงกว่าช่วงลำไผ่ก็ใช้อีกลำต่อขึ้นไปเรื่อย ๆ
“พะองใช้ไผ่สีสุกหรือไผ่หน่อ มัดด้วยย่านปด ไม่ต้องซื้อเชือกไนลอนโดนแดดนาน ๆ จะเปื่อย ย่านปดนี่ยิ่งแห้งยิ่งเหนียวพะองผุปดก็ยังไม่ขาด”
พาดพะองและขึ้นตัดแต่งคมหนามออกจากทางใบจนขึ้นไปนั่งบนพุ่มตาลได้แล้ว ก่อนจะปาดเอาหยาดหวานจากงวงตาลได้ คนปาดตาลจะต้องเทียวขึ้นไป “นวด” งวงตาลก่อนเป็นสัปดาห์
นวยใช้ไม้กลมขนาดด้ามพร้ามัดปลายข้างหนึ่งติดกัน คีบงวงตาลตามช่องระหว่างลูก แล้วบีบด้านละที เรียงไปจนตลอดงวงทีละงวง
“งวงตาลที่พอดีปาดเอาน้ำตาล ลูกอ่อนต้องยังไม่เปิดตา” หมายถึงตุ่มผลตาลเริ่มผลิจากงวง กลีบเลี้ยงสีเขียวยังหุ้มอยู่รอบ ผลอ่อนยังไม่โผล่ออกมาให้เห็น
“ขึ้นไปนวดแต่ละครั้งนับว่าหนึ่งมื้อ นวดเช้าเย็น วันละสองมื้อ ทำไปเจ็ดถึงแปดมื้อ ลองปาดดู ถ้าหยดแรกตกถึงพื้นแล้วหยดน้องตามออกมาก็เอากระบอกรองรับได้ จากนั้นนวดแล้วปาดไปอีกเจ็ดถึงแปดมื้อ น้ำตาลถึงจะออกเต็มที่ ก็ปาดได้ตามปรกติไปตลอดฤดู”
น้ำตาลสดในแต่ละกระบอกจะถูกนำมาเทรวมลงกระทะใบบัวบนเตาฟืน ติดไฟต้มจนเดือดก็ใช้น้ำตาลนั้นลวกกระบอกตาลเป็นการฆ่าเชื้อเตรียมไว้นำไปรองน้ำตาลจากต้นในมื้อต่อไป
จากนั้นเคี่ยวน้ำตาลสดสีใสเหลวต่อไปจนข้นเข้ม สีออกน้ำตาล ปริมาณลดเหลือราวหนึ่งในสี่ ลองหยาดผ่านไม้พายเป็นสายเหนียวแผ่เหมือน “ปีกค้างคาว” หรือหยดลงบนขอบเตาแล้วคงรูปเป็น “เม็ดข้าวโพด” ไม่แผ่ราบอย่างหยดน้ำ ก็บ่งบอกว่าน้ำตาลสดกลายเป็น “น้ำผึ้งโหนด” ชั้นดีแล้ว เป็นแหล่งความหวานน้ำตาลท้องถิ่นใต้ที่ใช้กันมาแต่โบราณ
“คนแต่แรกว่าเขากินน้ำผึ้งโหนดไม่เคยเป็นเบาหวาน สีมันแดงเองขาวเอง ไม่มีสารฟอกขาว ไม่ใส่สารกันบูด ของผมอยู่ได้เป็นปี”
เป็นแหล่งน้ำผึ้งโหนดที่ขึ้นชื่อและเป็นที่ต้องการของลูกค้ามาจนเดี๋ยวนี้ แม้มีน้ำตาลทรายที่หาง่ายและราคาถูกกว่า
“ตอนนี้อายุ ๖๗ ปีแล้ว ลูกให้เงินคนละ ๒,๐๐๐ บาทต่อเดือน เขาไม่ให้ขึ้น แต่ยังดื้อ” ทำงานบนความสูงมาครึ่งค่อนชีวิต เคยพลาดบ้างไหม ?
“ไม่เคยพลัดหนเดียว พ่อก็ขึ้นตาลกันแต่แรก แกสอนว่าพอเกาะพะองให้นึกไว้เลยว่าเราต้องตก คว้าพะองปั๊บคิดไว้เลยว่าจะตก แล้วจะไม่ตก เราระวังทุกต้น ถ้าเราขึ้นสบาย ๆ ไม่ช้าจะพลัด จำไว้เลยวันไหนเราลืมตัววันนั้นจะพลัด ผมจำขึ้นใจมา ๔๐ กว่าปีแล้ว”
ทุกวันที่ลูกผู้ชายนักปาดตาลบ้านเกาะใหญ่เดินลงทุ่งมุ่งไปสู่การงานของเขาบนพุ่มตาลสูง ไม่ใช่เพียงรายได้อย่างน่าพอใจสำหรับคนทำ แต่ยังเป็นการต่อลมหายใจให้น้ำตาลโตนดบนคาบสมุทรสทิงพระด้วย
หวาก
หยดหยาดความหวานจากงวงต้นตาล นอกจากเป็นแหล่งรสหวานให้กับอาหารหวานคาวในท้องถิ่นใต้มาแต่บรรพกาล แพร่งหนึ่งของน้ำตาลจากต้นโตนดยังให้ความสดชื่นรื่นรมย์แก่คนดื่มในชื่อหวาก
น้ำตาลสดที่หยดจากงวงตาล แทนที่จะเก็บมาเคี่ยวเป็นน้ำผึ้งโหนด ก็ใส่แก่นไม้เคี่ยมให้แก่ขึ้น กับใส่น้ำหวากเก่าเป็นหัวเชื้อไว้ก้นกระบอกสักแก้ว ก่อนนำขึ้นไปแขวนตอนปาดตาลผ่านไป ๑ วันหรือ ๑ คืน หยดหยาดน้ำตาลสดที่ไหลลงรวมอยู่ในกระบอกก็จะเป็นน้ำตาลเมา ที่คนใต้เรียกหวาก
ให้รสหอมหวาน ซ่า เจือความขมฝาด ดื่มแล้วสดชื่น เลือดลมสูบฉีด จนกล่าวขานกันมาตลอดว่า ด้วยรสหวานละมุนชวนดื่ม คนไม่คุ้นมักกรอกเพลินจนเกินพอดี พอลุกก็ล้มตึงด้วยฤทธิ์ดีกรีสะสมไม่รู้ตัว
เป็นภูมิปัญญาในการหาความบันเทิงจากสิ่งที่มีในท้องถิ่นของคนพื้นบ้านมาแต่โบร่ำโบราณ ยาวนานเท่ากำเนิดต้นตาลบนคาบสมุทรก็เป็นได้ แต่ด้วยเป็นเครื่องดื่มมีดีกรีที่อาจขัดกับข้อกฎหมายให้ “นาย” ไล่จับ ต้องซุ่มซ่อนสำราญกันแบบแอบ ๆ ไม่อาจออกหน้าอย่างสุราที่มีอากรแสตมป์ แต่หวากก็ยังพอหาดื่มได้ตามเพิงขายผลิตภัณฑ์จากตาล ริมทางบนคาบสมุทรสทิงพระ
และมีปราชญ์ชาวบ้านที่ยินดีถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ด้านนี้ไว้ไม่ให้สูญหาย
“ช่วงนั้นโค่นยางปลูกใหม่ เห็นโหนด ๒๐-๓๐ ต้น ลองปาดโหนดดูว่าดีกว่าตัดยางไหม ก่อนนี้ก็ขึ้นสะตอมาก่อน ไม่กลัวความสูง ใช้ไม้ไผ่หนามทำพะองได้ผ่อนแรงครัน เริ่มผุก็เปลี่ยนใหม่ อย่าให้เกิน ๒ ปี”
น้าหลิว เป็นคนหนึ่งที่ขึ้นตาลทำหวากมานับสิบปี
“สร้างอาชีพได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เราตั้งราคาเองได้ เอาแค่พออยู่ได้ คนกินพออยู่ได้ด้วย ขายให้คนแถวนี้เอาไปนั่งกินกันเวลามีงานมีการ ตาลสร้างอาชีพได้ เป็นการออกกำลังกายไปในตัว ต้องเสี่ยงเช้าเสี่ยงเย็น แต่ก็ดีกว่ายางที่กรีดได้ปีละไม่เกิน ๕ เดือน ตาลทำได้ทุกวัน ฝนตกก็ได้”
สุรากลั่นชุมชนตะเครียะ เหล้าพื้นบ้านในตำนานวลี “ดีเหมือนเหล้าเครียะ...” หมักน้ำผึ้งโหนดกับน้ำธรรมชาติในทุ่งระโนด ต้มกลั่นด้วยไฟฟืน ขายกันในท้องถิ่น
วันฝนตกก็ทำได้ มือปาดตาลคนนี้ใช้ใบตาลแห้งปิดปากกระบอกกันน้ำฝน
งานประจำวันของเขาไม่ต่างจากคนขึ้นตาลคนอื่น ๆ เพียงแต่งานของน้าหลิวจบทันทีเมื่อนำน้ำตาลลงถึงพื้น น้ำตาลในกระบอกเป็นหวากพร้อมดื่ม ขายลิตรละ ๓๕ บาท
น้าหลิวขึ้นตาลวันละ ๓๐ ต้น ผลผลิตต่อต้นราววันละ ๕ ลิตร ต้องขายออกให้หมดวันต่อวัน หากไม่หมดต้องเพิ่มไม้เคี่ยมลงไปแล้วแช่เย็นจัด ไม่เช่นนั้นพอข้ามวันหวากที่หวานซ่าจะกลายเป็นเปรี้ยว ที่เรียกกันว่าน้ำส้มโหนด เป็นเครื่องชูรสปรุงเปรี้ยวให้อาหารใต้
“ผมไม่ดื่มเหล้าเบียร์ ดื่มแล้วขึ้นตาลไม่ไหว อดนอนขึ้นไปมีสิทธิ์วูบ เป็นงานเสี่ยงเอาแน่นอนไม่ได้ ผมเลยทำประกันไว้เผื่อเราหล่นลงมาตาย ครอบครัวได้มีเบี้ยไว้เลี้ยงชีพ”
“เคยพลาดบ้างไหม ?”
“ช่วงฤดูฝนเท้าเคยพลาด แต่มือไม่เคยวาง เป็นอัตโนมัติเลย” น้าหลิวตอบหนักแน่น
และจริงจังขึ้นทั้งน้ำเสียงและแววตาเมื่อพูดต่อ
“ส่งลูกด้วยเงินขึ้นโหนดนี่แหละ เรียนจบมา ๓ ปีแล้ว ลูกว่าอย่าขึ้นเลย เมียก็ว่าให้หยุด ตอนนี้อายุ ๕๓ ปี แต่ถ้าขึ้นเป็นประจำยังขึ้นได้ ผมรักอาชีพนี้ จะขึ้นเรื่อย ๆ จนขึ้นไม่รอด”
ดีเหมือนเหล้าเครียะ
“ดีเหมือนเหล้าเครียะ...”
วรรคแรกของสำนวนใต้ ที่มีวรรคต่อไปว่า “...คมเหมือนพร้านาป้อ กินเหมือนจอบน้ำน้อย”
เครียะที่อยู่ในวรรคแรกคือตะเครียะ ตำบลหนึ่งในอำเภอระโนด (บ้านนาป้ออยู่จังหวัดตรัง บ้านน้ำน้อยอยู่ริมถนน กาญจนวนิช ระหว่างสงขลา-หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่)
ถ้าตามนั้นระโนดคงไม่ได้มีแต่ไผ่กับโหนด แต่มีเหล้าพื้นบ้านที่ดีที่สุดในแถบปักษ์ใต้ด้วย
“แต่แรกใช้น้ำผึ้งอย่างเดียว ผสมน้ำ ใส่ยีสต์” ทศ-อนันต์ วัฒิวรรณผล นักต้มเหล้าชาวตะเครียะเล่าที่มาของเหล้าพื้นบ้านที่คนใต้เลื่องลือ
เหล้ากลั่นของตะเครียะจึงหอม รสละมุน ดีกรีแรงแต่ไม่บาดคอ เจือความหอมและหวานของโตนด
แต่น้ำผึ้งโหนดหมักเหล้าก็มีอยู่ตลอดคาบสมุทรสทิงพระทำไมเหล้าเครียะถึงมีรสดีกว่าที่อื่น
ทศมั่นใจว่ามาจากน้ำที่ใช้ทำเหล้า
ตำบลตะเครียะเป็นดินพรุน้ำนา อาจเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ลงตัวสำหรับการหมักเหล้า
“เมื่อมาทำเหล้าพื้นบ้านตามมาตรฐานสรรพสามิตต้องใช้น้ำประปา แต่เหล้าเครียะพื้นบ้านแบบดั้งเดิมเราใช้น้ำจากธรรมชาติ ที่คงมีแร่ธาตุเฉพาะทำให้ได้เหล้ารสดี”
ปัจจุบันน้ำผึ้งโหนดราคาสูงถึงลิตรละ ๗๐ บาท เพื่อควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงเกินไป คนทำสุราพื้นบ้านแห่งทุ่งตะเครียะ ยุคนี้จึงใช้น้ำผึ้งโหนดเพียงครึ่ง อีกครึ่งใช้น้ำตาลทรายกิโลกรัมละ ๒๕ บาท ผสมน้ำ ๑๘๐ ลิตร หมักรวมกันในถัง ๒๐๐ ลิตร ๑๒-๑๕ วันก็พร้อมกลั่นในถังต้มแบบใช้เตาฟืน ถังหนึ่งได้เหล้าราว ๓๕-๔๐ ลิตร ขายกันในท้องถิ่นราคาลิตรละราว ๗๐-๑๐๐ บาท
“หอมหวาน เหล้าออกมาดี กินแล้วไม่ปวดหัว ทำไว้กินเองไม่กล้ากินเหล้าโรง ตื่นเช้ามาเจ็บคอปากแห้ง”
ต้มได้มากก็เก็บไว้ขายที่บ้านบ้าง ไม่ได้ทำการตลาดส่งขายที่ไหน
“ไว้ฝากเพื่อนฝูงบ้าง คนมาซื้อก็ขายให้เขาบ้าง”
เป็นเสรีภาพในการทำมาหากิน และเป็นมิตรภาพในหมู่คนร่วมถิ่น
ช่วงกว้างของ “ทะเลหลวง” กว้างใหญ่จนมองอีกฝั่งไม่เห็น บางช่วงมีคลื่นและเกิดหาดทราย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่ปากยาวภูมี หรือที่อ่าวทึง ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบที่อำเภอควนเนียง
๒
ทะเลสาบ
: พื้นภูมิ วิถี ประมง และคนลุ่มทะเลสาบ
“ลักวัวเพื่อนเป็นม้าย...?”
เป็นคำที่ครอบครัวชาวใต้โบราณต้องถามไอ้หนุ่มที่มาสู่ขอลูกสาวก่อนคุยเรื่องสินสอด สะท้อนวิถีของผู้คนถิ่นใต้ว่าแถบนี้เชิงนักเลงกับการมีพรรคพวกสำคัญกว่าอย่างอื่น เป็นที่มาของคำว่า “เกลอเล-เกลอเขา” ในแถบคาบสมุทรสทิงพระข้ามทะเลสาบไปจนถึงเชิงเขาบรรทัดทางฟากจังหวัดพัทลุงและพื้นที่รายรอบ
ในวิชาภูมิศาสตร์ไทยเป็นที่รู้กันว่าที่นี่มีแหล่งน้ำจืดใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อทะเลสาบสงขลา แต่ในหมู่คนท้องถิ่นเรียกแยกย่อยเป็นสี่ชื่อ ตามสัณฐานการวางตัวที่แบ่งเป็นสี่ส่วน
ทะเลสาบสงขลา คือส่วนที่อยู่นอกสุดเชื่อมกับอ่าวไทยน้ำเค็มในฤดูแล้งและกร่อยในฤดูฝน ช่วงที่ลึกสุดราว ๓ เมตรมีเกาะยออยู่ทางด้านใต้
ถัดขึ้นมาเป็น ทะเลสาบ ซึ่งแบ่งกันที่ช่วงทางน้ำแคบราว ๒๐๐ เมตรบริเวณบ้านปากรอ ซึ่งเป็นจุดบรรจบของน้ำจืดจากด้านเหนือกับน้ำเค็มที่ดันขึ้นมาจากด้านล่าง น้ำในทะเลสาบเป็นน้ำกร่อย ความเค็มเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ความลึกเฉลี่ยราว ๑.๒ เมตร มีเกาะใหญ่ ๆ ได้แก่ เกาะโกบ เกาะหมาก เกาะนก และเกาะสี่เกาะห้าที่เป็นแหล่งรังนกนางแอ่นมีชื่อ
ทะเลหลวง แยกจากทะเลสาบตามแนวแหลมจองถนน ฝั่งจังหวัดพัทลุง พุ่งไปหาแหลมยาง ที่ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ เป็นส่วนที่เวิ้งน้ำแผ่กว้างใหญ่ที่สุด ความลึกเฉลี่ย ๑.๘ เมตร เส้นเขตจังหวัดพัทลุง-สงขลาก็แบ่งกันตรงกึ่งกลางทะเลหลวงนี้
ทะเลน้อย เป็นระบบของทะเลสาบส่วนบนสุด เป็นบึงน้ำจืดที่ตื้น เต็มไปด้วยดอกบัวแดง และเป็นแหล่งนกน้ำ ความลึกเฉลี่ยราว ๑ เมตร มีคลองเชื่อมต่อกับทะเลหลวง พื้นน้ำราว ๒๖ ตารางกิโลเมตร อยู่ในเขตพัทลุงทั้งหมด
ถัดจากทะเลน้อยขึ้นไปเป็นป่าพรุควนเคร็ง มีคลองเชื่อมออกทะเลน้อยและอ่าวไทย พรุทางตอนใต้ที่ติดกับบ้านพราน บ้านเสาธง บ้านตะเครียะ อำเภอระโนด กล่าวกันว่าเคยเป็นแหล่งอาศัยของ “ช้างแคระ” แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครเห็นตัวจริง
แต่ช้างแคระที่ระโนด หรือช้างแกลบ หรือช้างค่อมคงไม่ใช่แค่เรื่องเล่าปรำปราที่หาหลักฐานอะไรไม่ได้ เอนก นาวิกมูล บันทึกไว้ใน สมุดภาพระโนด พ.ศ. ๒๕๕๗ ว่า มีปรากฏอยู่ในหนังสือ ผดุงวิทยา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ กล่าวถึงช้างทุ่ง ว่าเป็นช้างหูเล็ก จับมาแล้วเลี้ยงยาก รอดไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ใช้งานหนักไม่ได้ เคยอยู่แต่ป่าอ้อป่าแขม น้ำท่าบริบูรณ์ “ช้างชนิดนี้อยู่แถวคลอง ๘ วา ระหว่างธัญญบุรีกับเมืองนครนายก แลทุ่งระโนด เมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้น” เป็นช้างขนาดเล็ก ใหญ่กว่าควายไม่มาก หากินในพรุ จนถึงแถวหน้าที่ว่าการอำเภอระโนดปัจจุบัน ช้างก็เคยมากินข้าวในนาชาวบ้านต้องคอยไล่ยิง กระทั่งช้างหนีหายไม่เหลือให้พบเห็นตั้งแต่ก่อนปี ๒๕๐๐ แต่คนระโนดอายุ ๖๐-๗๐ ปี (เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒) รู้เรื่องนี้กันอยู่ทั่วไป
ระยะทางจากปากน้ำขึ้นไปจนสุดต้นน้ำราว ๑๐๐ กิโลเมตร
ส่วนกว้างสุดจากฝั่งตะวันออกถึงฝั่งตะวันตกของทะเลหลวงกว้างราว ๒๐ กิโลเมตร เวิ้งน้ำกว้างใหญ่พอให้เกิดคลื่นใหญ่และหาดทรายกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่างที่ปากยาวภูมี หรือที่อ่าวทึง ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบที่อำเภอควนเนียง
ส่วนในด้านการประมงถือเป็นแหล่งกุ้ง ปลาน้ำจืดแห่งใหญ่พอส่งขายถึงหลายจังหวัดใกล้เคียงในแถบภาคใต้ตอนกลางจนถึงร้านอาหารในกรุงเทพฯ สำหรับกุ้งก้ามกรามตัวใหญ่ ๆ ที่คนเลสาบเรียกว่าแม่กุ้ง
ใครผ่านไปแถวทะเลสาบคงเคยเห็นและสงสัย กลางผืนน้ำเต็มไปด้วยหลักไม้ปักกระจายกันอยู่ หรือเป็นหมู่เป็นกลุ่มอยู่ทั่วเวิ้งน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการประมงที่เอกสารประวัติศาสตร์บอกว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์
มากมายหลายหลากวิธีการจับสัตว์น้ำ แต่เครื่องมือที่นิยมใช้กันมากอย่างหนึ่งคือไซ อาจเป็นไซแม่กุ้งหรือไซปลา ที่ชาวประมงจะลอยเรือมาดักไว้ในตอนเย็น บางทีก็จุดตะเกียงวางไว้ ใช้แสงไฟล่อปลาให้เข้ามา ตอนเช้าก็มาเก็บกู้
รูปแบบประมงพื้นฐานที่ทำกันมากตลอดชายฝั่งทะเลสาบมาแต่ดั้งเดิมจนปัจจุบัน ใช้เรือหัวเข็มออกวางอวน ที่คนใต้เรียกกัด ใช้ตาข่ายยาวหัวละ ๘๐-๑๘๐ เมตร ต่อกันกี่หัวก็ตามความพอใจและกำลังของคนทำ อาจเป็น ๕-๒๐ หัว ขนาดตาอวนตั้งแต่ ๒-๑๖ เซนติเมตร ให้เลือกตามขนาดปลาที่ต้องการจับ ที่มีอยู่มากในทะเลสาบพวกปลากะพงหิน ปลาตะเพียนหางดำ ปลาโทง ปลาโกบ ปลาลิ้นหมา ปลาแมว ปลาเสือ ปลาหัวโม่ง ปลาหัวอ่อน ปลาคันหลาว ฯลฯ ซึ่งจับได้มากน้อยอยู่เป็นช่วง ๆ แต่เวลาที่ดีที่สุดในการหาปลาอยู่ในช่วงเดือนหกถึงเดือนสิบ
ในช่วงนั้นทะเลสาบจะพลุกพล่านด้วยเรือวางอวนในยามเย็นและออกไปเก็บกู้ตอนรุ่งเช้า
“วางกันหลาย ๆ เจ้า จำของตัวเองได้อย่างไร” คนต่างถิ่นเห็นแล้วยากจะเข้าใจ
“หมายทุ่นสัญลักษณ์ไว้” โจทย์ง่าย ๆ ของชาวประมง แต่ที่ยากคือคนที่จงใจมาทำให้หาย “บางทีขโมยก็ยกไปหมด เอาไปขายที่อื่น ซื้อมาหัวละเป็นพัน ลงทุน ๒-๓ หมื่น ถ้าโดนขโมยก็น้ำตาตก”
“ของผมเคยโดน ๕๔ หัว ซื้อมาหัวละ ๑,๒๒๕ บาท หมดตัว ต้องเลิกอาชีพนี้เลย” ชาวประมงอีกคนที่เลิกจับปลาแล้ว แต่ยังชอบมาดูมาคุยเล่นกับเพื่อนที่ท่าเรือแหลมบ่อท่อ กระแสสินธุ์
“โดนแบบนั้นเบี้ยเป็นก้อนเอาไปลอยเลเลย เรือหัวเข็มไม้ตะเคียนลำ ๕ หมื่น แต่ก่อนโจรก็ลักเหมือนกัน เดี๋ยวนี้เอาแต่เครื่องยนต์ ขนาด ๑๓ แรงม้า ราคา ๒๓,๐๐๐ บาท ตอนใหม่ ๆ ก็ต้องถอดเก็บทุกเย็น แต่ยกขึ้นยกลงบ่อย ๆ ก็ไม่ไหว เจ็บเอว” อีกคนเสริม
“สมัยก่อนแจวออกไปเลย เย็นวาง ตอนเช้าเก็บ วิถีคนออกเลแต่ก่อน ผมพายตั้งแต่ไม่ได้เมีย ตอนนั้นกุ้งโล ๗ บาท แต่ส่วนมากแจกกันมากกว่า พี่ ๆ น้อง ๆ” ลุงโย วงศ์สวัสดิ์ วัย ๘๑ ปี เล่าย้อนถึงยุคที่ยังไม่มีเครื่องยนต์
ตอนนี้ไม่ได้ออกมานานแล้ว เช้า ๆ มาเดินแลคนอื่น ผมเคยโดนเหมือนกัน โจรมันเอาเรือเอาเครื่องมือแล้วยิกให้ลงเล เราก็ว่ายล่องเข้าฝั่ง น้ำไม่ลึก บางช่วงเดินได้ ถ้าของเถ้าแก่ ถูกลักถูกปล้นเถ้าแก่ตามสืบเอง”
วิถีชาวเลสาบจึงต้องมีพวก หาพวก และปกป้องพวก ซึ่งบางทีก็ต้องประกาศตัว รู้จักและทันเหลี่ยมโจร
จะรับใครมาเป็นเขยใหม่ในบ้านถึงต้องถาม ลักวัวเพื่อนเป็นม้าย ?
ไม่ใช่แต่การลักวัวควาย แต่ยังรวมถึงในทะเลด้วย ตามที่ลุงยกเอี่ยม ขวัญเซ่ง เล่าให้ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว บันทึกไว้ในเรื่องเล่าริมทะเลสาบ บางตอนว่า “สมัยก่อน ระโนด สทิงพระฝั่งพัทลุงแถวจองถนนน่ะ โจรสลัดเยอะ คนอยู่ริมเลถ้าไม่เอากับสลัดจะอยู่ลำบาก ยังไงต้องพัวพัน ไม่งั้นสลัดเล่นงานเราด้วย”
แล้วชี้ “พื้นที่สีแดง” ที่เคยเป็นเขตอันตรายที่สุดสำหรับการสัญจรทางเรือ “พื้นที่ในทะเลสาบที่มีการปล้นบ่อย ๆ หนักมากที่สุดก็แถวระหว่างเกาะใหญ่ เกาะสี่เกาะห้า ที่ทำรังนกพื้นที่มันต่อเนื่องกัน มาจากสทิงพระ ปากพะยูน เขาชัยสนถึงอย่างไรต้องเดินทางด้วยเรือผ่านทะเลสาบย่านนี้ ส่วนมากจะปล้นกันกลางคืน จากสทิงพระไปลำปำ ถ้าเผลอไปเจอกันก็โดนปล้นเลย คนปล้นจะใช้เรือหางยาวเข้าชน เทียบเรือแล้วปล้น”
และหากจะถามหาแหล่งกบดานของโจร
“ริมเลเสือทั้งนั้น โจรทั้งนั้น ไม่เป็นโจรไม่เป็นพวกสลัดอยู่ไม่ได้ คุ้มครองตัวเอง ทรัพย์สิน ญาติพี่น้องไม่ได้ ปืนที่ใช้ปล้นได้จากสมัยสงครามญี่ปุ่น หามาเก็บไว้ เป็นปืนเล็กยาว ต้องมีพวกถึงหาปืนได้ เที่ยวมากมีพวกมากนั่นแหละทำได้ทุกอย่าง หาได้ทุกอย่าง”
เป็นที่มาวัฒนธรรม “ไอ้เกลอ” ตามที่ลุงพร้อม เพ็งแก้ว เล่าให้ นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ฟังว่า “คนเป็นเกลอกันต้องเที่ยวต้องขึ้นเริน (ไปหาถึงบ้าน) ต้อนรับกัน ให้ทองเบี้ย พากินข้าว ถ้ามาเห็นลูกไอ้เกลอแต่เอียดต้องให้แหวน เวลาเราไปหาพรรคพวก ไปขึ้นเรินเกลอได้เมากันละ ได้แกงวัวกินกัน”
เป็นวิถีของชาวถิ่นเลสาบและชาวใต้ในการสร้างเครือข่ายเพื่อนพ้องญาติพี่น้อง ตามที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) กราบทูลรัชกาลที่ ๖ (ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ) ใน จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘ ความว่า “เจ้ารัษฎาฯ เล่าว่า เมื่อแรก ๆ ท่านมาเป็นเจ้าเมืองตรังนี้ เป็นธรรมเนียมผู้ชายไปสู่ขอลูกสาวฝ่ายบิดามารดาถามก่อนสองข้อคือ รำมโนห์ราเป็นหรือไม่กับขโมยวัวควายเป็นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นทั้งสองอย่าง ไม่ยอมยกลูกสาวให้...”
๓
สะพานทะเลสาบเชื่อมคาบสมุทร
วิถีโจรสลัดทะเลสาบและการลักวัวควายเริ่มเงียบหายไปเมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมีเครื่องมือสื่อสาร วิทยุแจ้งดักสกัดจับได้ และถนนหนทางเข้าพื้นที่ได้ทั่วถึง การติดตามโจรทำได้เร็ว ความเจริญทางรถเกิดขึ้นแทนที่เรือ
ไม่กี่ปีก่อนนี้เพิ่งมีสะพานเชื่อมคาบสมุทรตอนบน ระหว่างอำเภอระโนด สงขลา กับอำเภอควนขนุน พัทลุง ที่ชาวบ้านเรียกสะพานเอกชัย เป็นสะพานผ่านทะเลน้อยที่คนผ่านทางได้ตื่นตากับทิวทัศน์ทะเลน้อย วิถีประมงน้ำจืด และโดยเฉพาะฝูงควายน้ำในทะเลสาบ
ตอนนี้กำลังมีโครงการใหม่ที่จะทอดผ่านเวิ้งน้ำกว้างราว ๖ กิโลเมตร เชื่อมปลายแหลมจองถนน ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน ฝั่งพัทลุง ข้ามทะเลหลวงมายังแหลมยาง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ ฝั่งสงขลา ซึ่งเป็นแหลมแผ่นดินด้านตะวันตกของคาบสมุทรสทิงพระ ยื่นลงมาในทะเลหลวง และถูกตัดขาดด้วยคลองพระยายมราช เป็นเกาะใหญ่ขนาดตำบลที่มีเก้าหมู่บ้าน ถนนรอบเกาะระยะ ๒๒ กิโลเมตร
ตามเอกสารประชาสัมพันธ์โครงการสะพานข้ามทะเลสาบของกรมทางหลวงชนบทระบุว่า จะเป็นเส้นทางคมนาคมที่ช่วยอำนวยความสะดวกและยกระดับคุณภาพชีวิตคนท้องถิ่นในทุกมิติ รวมทั้งคนผ่านทางและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการใช้เป็นเส้นทางอพยพและส่งความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วในกรณีเกิดภัยพิบัติ
โครงสร้างเป็นสะพานคอนกรีตคานขึง (extradosed bridge) ขนาดสองช่องจราจร มีไหล่ ทาง ระยะกว้างสูงสุดระหว่างเสาสะพาน ๑๔๐ เมตร ความสูงจากระดับน้ำสูงสุด ๑๘ เมตร ยาว ๖.๖ กิโลเมตร มีจุดพักรถบนสะพานสองแห่งกับเชิงลาดขึ้นสะพานทั้งสองฝั่งที่มีขนาดกว้างและมีทางเดินเท้า
ขณะนี้ออกแบบแล้วเสร็จ รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว
ประมงและท่องเที่ยวที่เป็นอยู่และความหวังครั้งใหม่ของกระแสสินธุ์ เมื่อสะพานข้ามทะเลสาบสร้างเสร็จในราวปี ๒๕๖๙ สัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ โดยเฉพาะกุ้งก้ามกรามใหญ่ ที่คนท้องถิ่นเรียก “แม่กุ้ง” คงออกสู่ตลาดได้สะดวก ได้ราคาดีขึ้น
เมื่อสร้างเสร็จสะพานจะทอดเชื่อมฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของทะเลสาบถึงกันในแนวตรง จะช่วยลดเวลาเดินทางจากปัจจุบันที่ต้องเดินทางอ้อมทะเลสาบราว ๘๐ กิโลเมตรได้ถึง ๒ ชั่วโมง
“ในฐานะนักการเมืองและคนท้องถิ่น เราต้องการอยู่แล้วพื้นที่ได้ความสะดวกและได้เรื่องเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว” โยธิน ทองเนื้อแข็ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ชาวเกาะใหญ่ พูดถึงสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่นของเขาสะพานผ่านกลางเวิ้งทะเลสาบแลกกับงบประมาณก่อสร้างราว ๔.๘ พันล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้เป็นงบประมาณแผ่นดินและกู้ต่างชาติ ๓๐ : ๗๐ เปอร์เซ็นต์ กับต้นทุนทางธรรมชาติบางด้าน
“การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าอาจเกิดฝุ่นในระหว่างการก่อสร้าง และการรบกวนชีวิตใต้ผืนน้ำ โดยเฉพาะโลมาอิรวดีที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ” ซึ่งมีข้อสรุปว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้
ตอนนี้โครงการจึงเดินหน้าไปตามลำดับ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการสร้างได้ปลายปี ๒๕๖๖ ใช้เวลาก่อสร้าง ๓ ปี
ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นผลในทางใดมากกว่า แต่การมีสะพานข้ามทะเลสาบเชื่อมสองฝั่งถึงกันได้ในแนวตรง ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเลจะต้องเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นมายาวนาน
คนผ่านเส้นทางจะได้เห็นทะเลสาบในมุมใหม่จากความสูง ๑๘ เมตรเหนือผิวน้ำเป็นระยะทางกว้างไกลร่วม ๗ กิโลเมตร