Image
ทุกวันตอนเย็นๆ ชาวประมงพื้นบ้านยังคงลอยเรือออกไปวางไซดักปลาตามหลักไม้ที่ปักไว้ดังที่เคยทำมาหลายร้อยปี ตามที่มีบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
SONGKHLA CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า
EP.02
เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
/ ๕ /
เมื่อเมืองเก่าฟื้นขึ้นมา ไม่ใช่แต่สิ่งใหม่ๆ ที่ผุดขึ้น ภูมิปัญญาคุณค่าดั้งเดิมก็มีโอกาสได้เผยตัวกลับมาใหม่ด้วย

ขนมโบราณ อาหารพื้นบ้านที่คนท้องถิ่นกินกันอยู่ในชีวิตประจำวัน มีโอกาสได้ออกจากชายคาไปปรากฏต่อสายตาคนต่างถิ่นตามหน้าร้านหรืองานถนนคนเดิน ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของขึ้นชื่อที่เชิดชูหน้าตาและเป็นไฮไลต์การท่องเที่ยวเมืองเก่าสงขลา

จนมีคำกล่าวกันเป็นทีเล่นทีจริงว่า ด้วยความหลากหลายมากมายของเมนูท้องถิ่นในเมืองนี้ สามมื้ออาหารที่กินกันอยู่ประจำวันนั้นกินได้ไม่ทั่ว มาสงขลาต้องกินหกมื้อ

ตัวเมืองที่เคยเก่าโทรมเหมือนพ้นสมัย ตื่นฟื้นคืนมาใหม่กลายเป็นเมืองเก่าที่ยังมีลมหายใจ เป็นเมืองชายฝั่งที่มีเวิ้งทะเลอยู่ชิดเมือง เป็นบ้านเมืองโบราณซึ่งคู่ขนานไปกับตัวเมืองสมัยใหม่ที่เติบโตโอบล้อมและขยายตัวกว้างออกไป

ในแถบเมืองเก่ายังคงเป็นบ้านเมืองที่มีคนอยู่อาศัย และเป็นเมืองที่ยังพร้อมต้อนรับการเยี่ยมเยือนและเรียนรู้ของผู้คน

ท่ามกลางอาณาจักรและกลิ่นอายของเมืองเก่า อาหารจานหนึ่งหรือเครื่องดื่มสักแก้วที่ยกมาเสิร์ฟหรือสิ่งเสพสัมผัสทั้งหลาย อาจเป็นสิ่งเดิมแท้ที่สืบเนื่องมาหรือสีสันที่เพิ่งสร้างขึ้น อาจเป็นพื้นที่สร้างสรรค์หรือแฝงการพาณิชย์ อาจเป็นคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมแต่เก่าก่อนหรืออุปโลกน์ขึ้นมาใหม่

ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นขณะหนึ่งของสงขลาร่วมสมัย ที่ต่างประกอบสร้างกันอยู่เป็นลมหายใจของเมืองเก่าสงขลาเวลานี้
Image
สงขลาตั้งอยู่ระหว่างเมืองท้องถิ่นใต้กับพื้นที่สุดปลายชายแดนของคนมลายูจึงเป็นเมืองที่รวมความหลากของผู้คน ทั้งคนใต้ คนจีน คนมลายู ซึ่งต่างสะท้อนอัตลักษณ์ของตนผ่านภาษา อาหาร วิถีชีวิตที่มีสีสัน
/ ๖ /
สงขลาเมืองแสงดาว

ดอกเตอร์จเร สุวรรณชาต
อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย รองประธานภาคีคนรักเมืองสงขลา

Image
ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นมรดกโลกที่ไม่ใช่เมืองที่ผู้คนอาศัยอยู่ เช่น อยุธยา ศรีสัชนาลัย  แต่เป็นมรดกโลกที่ผู้คนยังใช้ชีวิตที่เรียกว่า living heritage อยู่ อย่างหลวงพระบาง
ฮอยอัน บาหลี มะละกา เรายังไม่มี  เรื่องนี้เป็นศักดิ์ศรีเหมือนกันว่าทำไมไทยไม่มีเมืองมรดกโลกที่เป็น living heritage เหมือนประเทศรอบข้าง มีแต่มรดกโลกที่ตายแล้ว หรือไม่ก็เป็นทางธรรมชาติ

สงขลาเริ่มจากประชุมรับฟังความเห็นโดยอาจารย์สดใส ขันติวรพงศ์ นักเขียน นักแปล ท่านเสนอที่ประชุมในครั้งแรก ๆ ว่าต้องทำเมืองสงขลาให้เป็นที่รู้จักก่อน ในเชิงศิลปวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ โดยใช้คำว่า put Songkhla bulge map  คณะสงขลาจึงเริ่มเช่าบ้านหลังเล็ก ๆ ที่ถนนนครใน ทำงานกันตรงนั้น เริ่มแรกใช้ทุนวิจัยของการเคหะแห่งชาติ วางแผนการอนุรักษ์และสื่อความหมาย มองไปในอนาคตว่าจะทำอะไรบ้าง

ใน พงศาวดารเมืองสงขลา เล่าว่า จากศาลาวิหารแดงพลับพลาที่ประทับบนเขาน้อย รัชกาลที่ ๔ ทอดพระเนตรลงมาเห็นชาวบ้านจุดไฟแสงสว่าง เมืองสงขลามีแสงระยิบระยับ ท่านเป็นนักดาราศาสตร์ก็เลยเปรียบเมืองสงขลาที่ท่านทอดพระเนตรในตอนนั้นกับสิ่งที่ท่านรักว่า สงขลางดงามเหมือนแสงดาว

เราจึงใช้คำว่า “สงขลาเมืองแสงดาว” มาเป็นตัวเดินเรื่องต่อในเรื่องครีเอทีฟซิตี ให้คนที่มาได้รับประสบการณ์มากกว่าแค่ชมเมือง

คณะสงขลาไปดูงานที่ปีนัง มะละกา และกลับมาชวนดูบ้านดูเมือง เปิดเส้นทางให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ให้คนเข้ามาดูเมืองของตัวเอง ก็เกิดแรงกระเพื่อมบ้าง ทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าและความสำคัญของบ้านเมืองตัวเอง
สตรีตอาร์ตเมืองสงขลา น่าจะเป็นแห่งแรกๆ ที่สร้างกระแสและกลายเป็นต้นแบบแพร่หลายไปยังที่อื่นๆ ทั่วเมืองไทยต่อมา
เราเริ่มทำสตรีตอาร์ตภาพแรกที่ถนนนางงามเป็นภาพคนสูงอายุสามคนนั่งที่ร้านน้ำชา เพื่อสะท้อนว่าแต่ก่อนคนสงขลาจะคุยเรื่องราวข่าวสารกันที่ร้านน้ำชา และเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสงขลาคือมองภายนอกจะดูไม่ออก คนไหนเศรษฐี นักวิชาการ แต่งตัวเหมือนกันหมด ภาษาใต้ว่า ไม่โอ่รส ไม่อวดโม้โชว์ว่ารวย

ในภาพนั้นคนซ้ายสุดถีบสามล้อ ปัจจุบันท่านเสียชีวิตแล้วคนหนึ่งเป็นนักวิชาการ คืออาจารย์ก้อย นายวุฒิชัย เพชรสุวรรณ คนหนึ่งเป็นเถ้าแก่ สื่อความหมายสะท้อนการอยู่ร่วมของคนสงขลา

ตอนแรกชาวบ้านก็มาดูว่าทำอะไรเลอะเทอะไหม เราก็ไปทำความเข้าใจกับเขา

เมื่อทำเสร็จมีคนมาถ่ายรูปเยอะมาก จนเกิดเป็นแหล่งเช็กอิน

นับเป็นภาพแรก ๆ ของเมืองไทยอีกภาพหนึ่งที่กระเพื่อมเรื่องท่องเที่ยว ทำหน้าที่สร้างมูลค่าหลายล้านบาท เรียกว่าทุกคนที่มาเที่ยวสงขลาต้องมีภาพเช็กอินนี้กลับไป

หลังจากนั้นเมืองก็เปลี่ยนไป เจ้าของบ้านในแถบเมืองเก่าเห็นคุณค่า บ้านตัวเองเก่าก็รีโนเวตบ้านแนวใหม่ บ้านเมืองครึกครื้น เกิดกระแสอนุรักษ์ใหม่

นั่นเป็นหมุดหมายแรก ๆ ที่มีคนรุ่นใหม่กลับมาประกอบอาชีพใหม่ ๆ มากขึ้น

โดยเทรนด์ของคนรุ่นใหม่เขาจะถ่ายรูปกับอาหาร เครื่องดื่มของที่กินต้องถ่ายรูปได้สวย เท่ด้วย เขาจะศึกษามุมเมือง
มาก่อน ซึ่งเมืองเก่าสงขลามีหลากหลายมาก อารมณ์เมืองหลายแบบ ภาพจึงออกมาสวย ส่วนหนึ่งเสน่ห์ของเมืองก็มาจากภาพในสมาร์ตโฟนที่เขาแชร์กันในโลกออนไลน์
/ ๗ /
สงขลา ๕๐ ปีที่เห็นมา

สดใส ขันติวรพงศ์
นักแปล นักเขียน อดีตอาจารย์วิชาประวัติศาสตร์ หนึ่งในคณะผู้ก่อการฟื้นฟูเมืองเก่าสงขลายุคแรก

Image
พื้นเพเดิมอยู่แหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ จบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สอบบรรจุได้กรมการฝึกหัดครู จะไปลงที่วิทยาลัยครูภูเก็ตแต่ตำแหน่งเต็มแล้ว เลยมาช่วยราชการที่สงขลา ตั้งใจว่ามาอยู่ปีเดียว

แค่เล่าให้ฟังคุณแม่ก็ตกใจ สมัยนั้นคนแถวบ้านพูดกันว่าตั้งแต่เขาพับผ้าลงไปคุณไสยเยอะ พวกนายหนัง โนรา ไปเที่ยวหลอกสาวแถวบ้าน วัดเยอะแต่นักเลงก็เยอะ แม่ก็ชักหวั่นไหว  แต่พอเรามาอยู่ ชอบมาก ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ฟังมา

ขับรถมามีเจดีย์อยู่บนเขา เมืองมีประวัติศาสตร์ คนท้องถิ่นเขาเห็นอยู่แล้วก็อาจรู้สึกว่าของตาย เมื่อไรก็ได้  เรามาจากที่อื่นตื่นเต้น สอนวิชาประวัติศาสตร์ก็ได้ไปโน่นไปนี่อยู่ตลอดอายุราชการ เกษียณแล้วก็อยู่ต่อมาจนปัจจุบัน ๕๐ ปีพอดี
Image
ตอนนี้ยังเขียน แปลหนังสือ และเป็นบรรณาธิการบ้าง “ถ้าไม่เรียนหนังสือเธอก็คงขายปลาอยู่แหลมสักแหละ” พี่วินัย อุกฤษณ์ เคยพูดกับเราแบบนี้ คือรู้ว่าอยู่บ้านก็ไม่อดตาย แต่คงไม่ได้ทำงานหนังสือ

และถ้าไม่อ่านหนังสือ เราก็คงเป็นครูเชย ๆ เร่อร่าอยู่ นี่เรื่องจริง ชีวิตนี้ได้จากการอ่าน ทำให้เราทันยุคทันเด็ก รู้ว่าโลกไปถึงไหน พูดกับเด็กได้รู้เรื่อง

เคยมีคนกรมศิลป์มาที่นี่ เราพาเดินในเมือง เขาบอกบ้านเมืองเก่า ดูไม่พัฒนา  เรายัวะ แต่ไม่ได้พูดออกไปว่าเขาไม่เห็นค่า  เราเคยไปเดินที่เมืองเกียวโตนี่เหมือนเดินสงขลาเลย

แต่เดี๋ยวนี้บางส่วนมันก็เป็นบ้านสมัยใหม่แบบจัดให้คนเข้าชม ไม่ใช่ living culture  ความเดิมแท้หายไป จัดอาคาร
สวย ร้านกาแฟเต็มไปหมด มีเด็ก ๆ บอกว่าเขาไม่ได้อยากเป็นมรดกโลก อยากเป็นกาแฟโลก

จากที่เห็นสงขลามาตลอด ๕๐ ปี คิดว่าสงขลายังน่าตื่นเต้นสำหรับคนที่เพิ่งมาเห็น ยังเป็นเมืองที่มีชีวิต มีวิญญาณอยู่ แม้ว่ามันจะเปลี่ยนไปมากแล้ว
/ ๘ /
SAN : ที่นี่ขายกลิ่นสงขลา

ปีรัชด์ อนันตพันธ์
เจ้าของร้านอาหารอิตาเลียน The Secret Garden, ร้านเบเกอรี STUDIO 55 และร้านขายกลิ่น SAN Original Scent Store

Image
ธีติ พฤกษ์อุดม (ซ้าย) และ ปีรัชด์ อนันตพันธ์
ผมเกิดย่านวชิรา เมืองสงขลา ที่คนมุสลิม พุทธ จีนอยู่ร่วมกัน ผมเป็นคนไทยพุทธท้องถิ่นรุ่นที่ ๓  จบมัธยมศึกษาและปริญญาตรีในจังหวัดบ้านเกิด แล้วไปเรียนต่อที่จังหวัดอื่นกลับบ้านอีกทีตอนอายุ ๒๓ ปี รู้สึกว่าเมืองเก่ามีเสน่ห์ของตัวเอง อยากทำอะไรที่ช่วยให้เมืองมีสีสันและเราสนุกกับมัน

เมื่อ ๒ ปีก่อนคิดกันกับเพื่อนรวมสามคนว่า ทำกลิ่นกันไหม เมื่อคนได้กลิ่นนั้นก็ให้คิดถึงอารมณ์ความรู้สึกตอนที่ได้มาสงขลา เราจึงทำเครื่องหอมกลิ่นสงขลาขึ้น เพิ่งได้เปิดร้านเมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖

ราว ๑๑ ปีก่อนนั้นผมเจอบ้านเก่าหลังหนึ่งบนถนนรามัญ ซ่อนตัวอยู่ในเงาไม้ร่มรื่นเลยตั้งชื่อว่า Secret Garden สวนในความลับ อยากทำร้านอาหารอิตาเลียน แต่ใช้วัตถุดิบในสงขลา ก็ไปเรียนต่อด้านอาหารที่ประเทศอิตาลี ซึ่งเขาคล้ายสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ จะกินอาหารให้อร่อยต้องกินที่บ้านของคนท้องถิ่น วัตถุดิบในท้องถิ่น ที่นั่นจะมีของดีของแต่ละเมือง เหมือนตามภูมิภาคของไทย ไปเมืองหนึ่งต้องกินเส้นกินซอสแบบหนึ่ง

ผมก็เอามาใช้ด้วย ที่ร้านใช้กุ้งทะเลเท่านั้น ไม่ใช้กุ้งเลี้ยง ใช้ปลาเบ็ดธรรมชาติ  ในฐานะเชฟผมอยากบอกว่าแต่ละวัน เราได้วัตถุดิบต่างกัน เราไม่มองว่าทุกอย่างต้องเพอร์ เฟกต์เป๊ะๆ เหมือนกันทุกวันแบบผลิตจากโรงงาน

รู้สึกว่าสงขลาเปลี่ยนไป แต่ผมเองไม่ได้อยากทำให้สงขลาเป็นเหมือนเมื่อก่อน ให้เป็นสงขลาตอนนี้ ที่เราอยู่แล้วสนุกกับมัน  ความแตกต่างทำให้มีเสน่ห์ คนก็เหมือนกัน ทุกคนคือคนสร้างเมือง แต่ให้ทุกคนเหมือนกันหมดเลยเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ได้มีใครอยากเป็นใคร แต่ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้
นักออกแบบความทรงจำผ่านกลิ่น
ธีติ พฤกษ์อุดม
อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ, ศิลปินเจ้าของร้าน SAN ลูกหลานโนราแปะเซี่ยง

Image
นอกจากรูป รส เสียง เรารู้สึกว่าสงขลายังขาดเรื่องของกลิ่น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของเมืองอย่างหนึ่งด้วย เลยคุยกับพี่ป๊อก-กอบลาภ พี่ต๊อก-ปีรัชด์ ช่วยกันครีเอต

ผมเรียนจบศิลปกรรมด้านการออกแบบ ก็เสนอคอนเซปต์เรื่องราก เราเห็นว่าสงขลามีบางอย่างที่ซ่อนอยู่เหมือนไม่มีคนรู้จัก  เรามีเขา ป่า นา เล  มีพหุวัฒนธรรม อยากให้คนอื่นได้เห็น เราจะนำมาเล่าผ่านกลิ่น

เวลาเราไปที่ไหน บางทีเอาของกลับมาไม่ได้ แต่จำกลิ่นนั้นได้  เรานำสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นมาเป็นกลิ่น ทำให้คนที่ยังไม่รู้จักสงขลามีความสนใจที่ต่าง ๆ ขึ้นมาด้วย เราอยากให้จุดเด่นของสงขลาเป็นที่รู้จักด้วย

ผมเองเมื่อก่อนรำโนรา มีตายายดูแลเรา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ให้พลังที่จะสู้ ที่จะทำสิ่งดี ๆ ต่อไป  ตอนหลังออกไปเรียนหนังสือ ไม่ได้รำ

เราไม่ได้สืบทอดด้วยการร่ายรำ ก็มาออกแบบเรื่องกลิ่น ให้คนเข้าถึงโนรา สัมผัสได้ถึงความห่วงใยของบรรพบุรุษต่อลูกหลานผ่านกลิ่นความทรงจำ
/ ๙ /
สงขลา-ฮาร์เบอร์

ครุศักดิ์ สุขช่วย
นักกิจกรรม, ผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านหนังสือ

Image
ตอนแรกแค่หาพื้นที่ทำกิจกรรมการอ่านการเขียนกับเยาวชน จนเกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ ก็ชะงักไป  หลังจากนั้นก็รู้สึกว่าภารกิจยังไม่จบ ริมทะเลมีขยะ ก็คิดว่านำมาตกแต่งร้านได้ เก็บเศษไม้ตั้งแต่เก้าเส้งยันสมิหลา เชือกลูกทุ่น มารวมไว้ ซื้อเพิ่มจากร้านของเก่าบางส่วน ก็กลายเป็นร้านฮาร์เบอร์ เปิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕

พอทำร้านอาหารก็คิดว่าทำอย่างไรให้อยู่ได้ ตอนแรกขายแต่อาหาร ตอนนี้เป็นกึ่งบาร์ มีดนตรี มีแอลกอฮอล์

แต่ก็ยังมีความคิดว่าต้องหากิจกรรมทำต่อ คิดให้ฮาร์เบอร์
เป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็กๆ Gen Y Gen Z เป็นเซฟตี้โซนของเขา ที่เขามาเจอเพื่อนเจอพี่ในบรรยากาศของมิตรภาพ หลายคนมาแล้วได้เป็นตัวของตัวเอง ในพื้นที่ไม่อึกทึก นั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ตามโลโก้ของร้าน ที่เราได้ไอเดียจากป้ายบอกทางในโรงแรมหรือโรงพยาบาลที่มีตู้ป้ายไฟสีเขียวรูปคนวิ่ง เป็นสัญลักษณ์ว่าวิ่งเข้ามาข้างในฮาร์เบอร์แล้วมีความชุ่มเย็น มีเสียงเพลง อาหาร เครื่องดื่ม นี่เป็นคอนเซปต์ของร้านที่อยากให้ทุกคนได้พักผ่อน รับลมชิล ๆ
Image
คนอาจมองว่าพาเด็กมามอมเมาหรือเปล่า อยู่ที่มุมมองถ้าดื่มพอประมาณ หรือถือเป็นการพักผ่อน ถ้าไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่ก่อปัญหาให้สังคม ผมคิดว่าอยู่ในระดับที่สังคมรับได้

ผมคิดว่าต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ว่าพื้นที่แบบนี้ก็ทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้ แต่การพูดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องหาวิธีสื่อสารกับสังคม ว่าที่นี่ไม่ใช่แหล่งมั่วสุมที่จะพาเด็ก ๆ ให้ตกต่ำลงไปเพราะเหล้ายา ซึ่งอาจเป็นผู้ร้ายที่ทำให้ชีวิตตกต่ำได้  ในขณะเดียวกันถ้าเราใช้มันเป็น ผมก็ว่ามันสามารถนำมาใช้ให้เกิดเป็นชุมชนในทางสร้างสรรค์ได้ อันนี้ต้องทำให้เห็น พิสูจน์ให้ได้ด้วยการสร้างกิจกรรม ให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของการพบเจอ

ในวงดื่มกินแบบนี้ เรามองว่านี่คือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนได้มาพูดคุยกันในทางสร้างสรรค์ บางวงก็คุยแลกเปลี่ยนกันเรื่องหนัง หนังสือ โดยมีฮาร์เบอร์เป็นพื้นที่ให้เขาสร้างสรรค์ชีวิตเขาเองและคนรอบข้าง  สูงกว่านั้นคือสร้างสรรค์สังคมที่เขาอยู่ด้วย
/ ๑๐ /
ศิลปะไม่ใช่แค่งานแขวนฝาบ้าน

จารุภา ทองนุ้ย
หัวหน้าภาควิชาศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา

ช่วงวันที่ ๘-๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ หอศิลป์สงขลา II ที่ปรับปรุงจากตึกเก่าริมถนนนครนอกยังไม่เสร็จดี แต่เปิดให้เข้าชมแล้ว เนื่องจากมีการจัดแสดงผลงานนักเรียนนักศึกษาภาควิชาศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ที่จะร่วมกันเล่าเรื่องในท้องถิ่นผ่านงานศิลปกรรม ให้คนที่ผ่านไปมาได้รู้จักและให้คนในถิ่นได้มองเห็นบ้านของตัวเองชัดเจนขึ้น
. . .
ผลงานที่จัดแสดงเกิดจากการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนนักศึกษาระดับชั้น ปวช. ๑-๓ และ ปวส. ๑-๒ รวมทั้งหมด ๒๑๕ คน มีทั้งแบบสร้างสรรค์รายบุคคลและเป็นทีม รวมถึงผลงานของคณะครู ครูเกษียณราชการในภาควิชาศิษย์เก่า โดยจัดแสดงตลอดมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ทั้งในรูปแบบออนไลน์ จัดแสดงในหอศิลป์สงขลา I  สำหรับหอศิลป์สงขลา II เป็นการจัดครั้งแรก

ให้นักเรียนนักศึกษาได้เผยแพร่ผลงาน ได้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งาน เกิดความต่อเนื่องเชื่อมโยงสัมพันธ์ของรุ่นพี่รุ่นน้อง ให้นักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลาและใกล้เคียงที่เยี่ยมชมผลงาน ได้แนวทางหรือเป็นทางเลือกในการมาศึกษาต่อยังคณะวิชาศิลปกรรม ให้สถานประกอบการได้มองเห็นตัวตน ฝีไม้ลายมือของนักเรียนนักศึกษา และเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป

เด็ก ๆ ของเราเป็นช่วงวัยรุ่นที่อยากรู้อยากลอง มีพลังในตัวตนเยอะ ฉะนั้นเวทีนี้คือทางออกหนึ่งให้เด็ก ๆ ได้แสดงตัวตนตามแบบอย่างของนักสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างให้เด็ก ๆมีความกล้าแสดงออก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างจิตใจที่อ่อนโยน ทั้งจุดประกายให้อยากสร้างสรรค์ต่อไป
Image
ดิฉันเป็นคนสงขลาและเป็นศิษย์เก่าที่นี่ มีความใฝ่ฝันอยากเรียนศิลปะในสถาบันที่เป็นที่สุดในยุคนั้น และกลับมาเป็นครูสอนที่นี่ คือความตั้งใจและเป็นความภูมิใจ 

ทุก ๆ ครั้งในการสร้างสรรค์บทเรียนมักจะต้องนำเรื่องราวของความเป็นเมืองสงขลา ความเป็นศิลปะพื้นบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของนักเรียน นำมาผูกโยงร้อยเรียงเป็นผลงานศิลปะ ทั้งเพื่อสร้างสุนทรียะ ทั้งเพื่อการใช้สอยพัฒนาต่อยอดให้ผลงานศิลปะไปเป็นงานพิมพ์ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างเป็นอาชีพ ก่อเกิดรายได้ต่อไป

จากงานศิลปะสองมิติ เมื่อไรเราสร้างให้เป็นชิ้นงาน มาอยู่ในจาน งานผ้า โคมไฟ สามารถประยุกต์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ งานจะขายได้ และศิลปินอยู่รอด นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ครูพยายามสร้างให้เด็ก

ศิลปะไม่จำเป็นต้องอยู่ในชิ้นงาน แต่อยู่ในการดำรงชีวิต ในคำพูด  ศิลปะนอกจากจรรโลงโลก สร้างสุนทรียะ ถ้าเข้ามาอยู่ในตัวเราทำให้จิตใจอ่อนละมุน ถ้าเด็กซึมซับความมีศิลปะเข้าไปเขาจะมีความสุข

คนอาจมองว่างานศิลปะต้องติดฝาผนัง แต่ความจริงนั่นเป็นเรื่องภายนอก  ถ้าสร้างให้ไปอยู่ในตัวเด็ก เขาจะดำรงชีวิตได้อย่างมีศิลปะ ชีวิตก็จะมีความสุข  ถ้าคิดว่าศิลปะเป็นแค่งานที่แขวนฝาบ้านนี่ไม่ใช่แล้ว 

ศิลปะคือสิ่งที่เข้าไปอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต  ถ้าเราทำให้เกิดศิลปะในทุกอณู บ้านจะสวยงามไปหมด รวมทั้งแทรกเข้าไปในชีวิตคนด้วย
Image
/ ๑๑ /
มอบบ้าน ๑๐ ล้าน
ให้เป็นสาธารณประโยชน์
เมืองสงขลา

วรรณี รัตนพฤกษ์ ชอว์ (เต่า) 
ครูสอนภาษาอังกฤษ ชาวสงขลา
วิลเลียม ชอว์ (บิล) 
อาสาสมัครหน่วยสันติภาพสหรัฐอเมริกา รุ่น ๑๒ วิศวกรไฟฟ้า

บ้านสองชั้นสไตล์ผสมไทย-จีน-ฝรั่ง ขนาดสองห้องนอน สองห้องน้ำครึ่ง พร้อมห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ห้องทำงาน บนเนื้อที่ ๒๐๐ ตารางวา ริมถนนรามัญ ในเมืองเก่าสงขลา เป็นบ้านที่ วรรณี รัตนพฤกษ์ ชอว์ อยู่มาแต่เด็ก

ตอนหลังเธอไป ๆ มา ๆ ระหว่างสงขลากับอเมริกา ลูกชายคนเดียวก็เป็นนายแพทย์ สร้างครอบครัวอยู่ที่โน่น

ปีนี้ทั้งวรรณีและวิลเลียมอายุ ๘๐ ปี คิดกันว่าจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่อเมริกาถาวร บ้านที่สงขลาแทนที่จะขาย ขอมอบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นเจ้าของและผู้ดูแลใช้เป็นสาธารณประโยชน์ของเมืองสงขลา เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖

“เราคุยกันแล้วว่าถ้าใครไปก่อน อีกคนจะไม่ไปอยู่กับลูก เราจะย้ายไปอยู่บ้านคนแก่ เป็นอพาร์ตเมนต์อยู่ได้ลำพังไม่ต้องอาศัยคนอื่น  ถ้าแก่ขึ้นก็มีคนช่วยหน่อย ถ้าเป็นอัลไซเมอร์ก็ไปอยู่ที่เมมโมรีแคร์ เราจัดไว้หมดแล้ว แม้แต่งานศพเราเอง มีบริษัทรับร่างจากโรงพยาบาลจัดการเผาให้เสร็จ”
. . .
วิลเลียม : ผมเคยเดินผ่านหน้าบ้านนี้มาก่อนแล้ว เมื่อ ๕๒ ปีมาแล้ว ผมเคยเป็นอาสาสมัครสันติภาพอเมริกา มาอยู่เมืองไทย ๒ ปีครึ่งที่สตูล อยู่ในกองพัฒนาชุมชน เสร็จแล้วกลับสหรัฐฯ คุณเต่าไปเป็นครูสอนภาษาไทยที่ฮาวายให้กับอาสาสมัครที่จะมาเมืองไทย และจ้างผมมาสอนการก่อสร้าง เราได้พบกันที่ฮาวาย ช่วงนั้นผมพูดไทยได้แล้ว

วรรณี : เวลากลับมาทุกคนยังทัก “หายไปไหนมา” ก็ชวนบิลว่าเรากลับไปอยู่สงขลากันเถอะ

วิลเลียม : สงขลาเราชอบมาก คนสงขลาเรารู้จักแทบทุกคน ทั้งคนแก่คนหนุ่ม ตำแหน่งสุดท้ายผมทำงานกับบริษัทที่ใช้ธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่สิงคโปร์ จนอายุ ๕๘ ลูกโตแล้วไม่ต้องห่วงเรื่องโรงเรียน เกษียณดีกว่า มาสอนภาษาอังกฤษให้เด็กไทยสนุกดี
Image
วรรณี : อาจารย์บิลสอนเกี่ยวกับ Business เป็นภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัย วันไหนว่างก็มาช่วยครูเต่าสอนภาษาอังกฤษ  เป็นงานที่สนุกสุด ๆ ทั้งครูทั้งนักเรียน  เงินที่ได้จากการสอนเราคิดว่ามาจากเด็กไทย ต้องเอากลับไปให้เด็กไทย เลยตั้งกองทุนการศึกษา  เรามีนักเรียนทุนจากหลายโรงเรียนในอำเภอเมืองสงขลา

วิลเลียม : เราเริ่มทำบ้านหลังนี้บนที่เก่าเมื่อปี ๒๕๔๔ ย้ายเข้า ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖  ตอนนี้ถ้าขายก็ราว ๑๑-๑๒ ล้าน ถ้ารวมที่ดินก็ ๑๕ ล้าน แต่ที่แปลงนี้เป็นที่เช่าของวัดกลาง  อยู่ไทย ๑๕ ปี ลูกชายโทร. มาว่ากลับได้แล้ว ก็กลับไปสหรัฐฯ แต่ยังมาสงขลาทุกปี จนเกิดโควิด-๑๙ มาไม่ได้ เรารู้สึกว่าบ้านที่สงขลาเริ่มเป็นภาระ

วรรณี : บิลก็รักชอบเมืองไทย เขาบอกว่าควรจะยกบ้านนี้ให้กับมหาวิทยาลัยในสงขลา จำได้ว่าตอนเราสร้างบ้านเสร็จใหม่ ๆ มีนักศึกษาสถาปัตย์จาก มทร. มาดูบ้านหลายครั้งเราก็รู้จักอาจารย์บางท่านในสถาบันแห่งนี้

วิลเลียม : เราปรึกษาว่าให้เขาดีไหม ลูกโอเค บอกว่าเอาเลย เขาไม่อยากเป็นเจ้าของ เขาอายุ ๕๐ แล้ว เป็นหมอทั้งลูกชายลูกสะใภ้ หลาน ๆ ก็อยู่มหาวิทยาลัยปี ๒ แล้ว

วรรณี : ความคิดที่จะให้มาจากอายุ ตอนเด็ก ๆ เราต่อยตีกับเพื่อนเพราะเราไม่รู้จักคิด พอเป็นผู้ใหญ่เราจะคิดว่าอะไรที่สำคัญในชีวิตของเรา  เมื่อก่อนคิดแต่ ฉัน ๆ ๆ ครอบครัวฉันลูกฉัน  เราถามลูกชายคนเดียวว่าเอาไหมบ้านที่สงขลา เขาอยู่เท็กซัส บอกว่าอยู่คนละทวีป เอาไปทำไม  ลูกก็ไม่เอา ตอนนี้เริ่มคิดออกคิดได้ว่าให้เขาไปสิ  เราคิดว่าครอบครัวเราอยู่เมืองไทยมานานตั้งแต่ไหนต่อไหน เราทำมาค้าขายก็เจริญรุ่งเรือง ไปเมืองนอกตั้งแต่อายุ ๒๔  เคยทำให้เมืองไทยบ้างไหม  กลับมาสอนหนังสือช่วงหนึ่ง ไม่ได้ทำอะไรมาก กลับมาสงขลาครั้งนี้ดีขึ้นมาก เราอยากเป็นส่วนหนึ่ง  เรารักสงขลา น่าจะทิ้งอะไรไว้สักหน่อย  จะไม่พูดว่าจะให้เขาใช้ทำอะไรเพียงให้ใช้เพื่อการศึกษา ไม่ให้ใช้เพื่อเอาเงิน  มีคนอยากซื้อทำร้านอาหาร เราไม่ขาย  อย่างน้อยก็ไว้ให้นักศึกษาได้มาดูสถาปัตยกรรมจีนผสมตะวันตก
/ ๑๒ /
ทักษิณคดีศึกษาและสุธิวงศ์รำลึก

สถาพร ศรีสัจจัง
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา เกาะยอ สงขลา

Image
สถาพร ศรีสัจจัง หรือนามปากกากวี “พนม นันทพฤกษ์” บันทึกเส้นทางชีวิตตัวเองไว้บนปกหลังหนังสือเล่มล่าสุดที่ ‘ทับผ่านทาง’  ต่าง ๆ บทกวี ว่า “พัทลุง-ตรัง-เชียงใหม่-กรุงเทพมหานครฯ-สงขลา-สตูล” ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ที่สงขลา ๓๕ ปี และเวลานี้เขาก็ยังตั้งรกรากอยู่ที่สงขลา  หน้าหนังสือเล่มดังกล่าวยังบันทึก “บางหัวโขน” หัวหนึ่งของเขาไว้ด้วยว่า “ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา” เขาจึงน่าจะเป็นคนหนึ่งที่รู้จักสงขลาร่วมสมัยในเชิงลึก
. . .
ปี ๒๕๒๕ ผมได้ข่าวว่าอาจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา กำลังคิดจัดทำ “สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้” ซึ่งผมถือเป็นงานใหญ่และน่าจะต้องใช้ทุนมาก  ตอนนั้นผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากว่า ๑๐ ปีแล้ว ทำงานอยู่ในวงการหนังสือที่กรุงเทพฯ กลับบ้านมาทางใต้ก็ตั้งใจจะไปสัมภาษณ์อาจารย์เกี่ยวกับโครงการนี้ เพื่อจะนำไปลงหนังสือด้านศิลปวัฒนธรรมที่กำลังจะออกใหม่เล่มหนึ่ง

พอยื่นนามบัตรให้ ท่านอ่านแล้วเงยหน้ามอง ยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า เมื่อ ๓-๔ วันก่อนนี่เอง อาจารย์ประพนธ์ เรืองณรงค์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แนะนำผมว่า ถ้าจะทำสารานุกรม น่าจะชวนคนนี้มาร่วมงานด้วย จากนั้นผมก็เลยไม่ได้สัมภาษณ์ท่าน แต่กลับเป็นท่านสัมภาษณ์ผมแทน

ผมเริ่มเข้ามาช่วยทำสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ในปี ๒๕๒๕ นั้นเอง ลงพื้นที่ร่วมกับอาจารย์สุธิวงศ์เพื่อเก็บข้อมูลทั้งวัตถุของจริงและอื่น ๆ เพื่อเติมเต็ม “พิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา” ที่ท่านทำไปได้ระดับหนึ่งแล้ว และเพื่อจัดทำสารานุกรมวัฒนธรรมดังกล่าวโดยตรง

ตอนนั้นอาจารย์สุธิวงศ์เริ่มนำวิชาคติชนวิทยาเข้ามาเป็นวิชาโท ในสาขาวิชาภาษาไทย ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา และเริ่มยกร่างหลักสูตร “ไทยคดีศึกษา” ระดับปริญญาโทแล้ว

อาจารย์เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เห็นว่าการที่สถาบันมีที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขต (campus) มีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงต่อสู้ดิ้นรนจนได้พื้นที่ในเกาะยอ ที่ท่านเห็นว่ามีความเหมาะสมในหลายด้าน โดยเฉพาะการมีรากฐานทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่แข็งแรง มีความอิสระโดดเดี่ยวมานาน  เมื่อก่อนต้องข้ามเรือมา ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงน้อยมาก แต่เมื่อมีสะพานจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ถ้ามีสถาบันทักษิณอยู่อาจจะเป็นตัวช่วยชะลอได้บ้าง
Image
เดิมที่ตั้งสถาบันเป็นป่าช้า เป็นที่ดินสงฆ์ของวัดแหลมพ้อตามโฉนดมีพื้นที่ ๒๑ ไร่ แต่พอสำรวจเข้าจริงเหลือเพียง ๗-๘ ไร่ ก็ตกลงเช่าที่ธรณีสงฆ์แห่งนี้ ตอนแรกที่เข้ามาสำรวจ ชาวบ้านยังเผาจี่ศพกันอยู่เลย เชิงตะกอนก็อยู่ตรงหน้าสถาบันเดี๋ยวนี้นั่นแหละ  มีคนบริจาคที่ดินเพิ่มบ้าง ซื้อเพิ่มบ้าง จนได้เป็นพื้นที่ภูเขาซีกหนึ่งอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ทั้งหมดทั้งสิ้นต้องบอกว่าเกิดขึ้นได้เพราะความตั้งใจมั่นและบารมีของอาจารย์สุธิวงศ์ล้วน ๆ

ผมเคยถามท่านว่า ทำไมต้องถือคำ “วัฒนธรรม” โดยเฉพาะ “พื้นบ้าน” เป็นคีย์เวิร์ดในการทำงาน  อาจารย์สุธิวงศ์ตอบชัดเจนไว้ประเด็นหนึ่งว่า ท่านเป็นคนช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๐๐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ร่างโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” ทั้งที่เป็นฝรั่งและบรรดา “ดอกเตอร์” คนไทย สมาทาน “วิธีวิทยา” แบบชาวอัสดงคตประเทศมาแทบจะทั้งสิ้น  แผนฯ ระยะที่ ๑-๓ จึงแทบจะไม่มีข้อมูลเรื่อง “คนไทย” และรากของสังคมไทยอยู่ด้วยเลย  ท่านเชื่อว่าการพัฒนาประเทศเช่นนี้ต้องนำประเทศไปสู่หายนะและการเป็น “เมืองขึ้นทางจิตวิญญาณ” ของโลกตะวันตกอย่างแน่นอน

ท่านจึงเริ่มร่วมกับกัลยาณมิตรทางวิชาการและปราชญ์พื้นบ้านจำนวนหนึ่ง ประมวลและรวบรวมข้อมูลเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านภาคใต้ซึ่งเป็น “ราก” ที่สำคัญในรูปแบบต่าง ๆ ไว้เป็น “ฐานข้อมูล” ในการต่าง ๆ เช่น จัดพิมพ์เล่ม การปริวรรต และเริ่มนำนักเรียนนักศึกษาลงชนบทเพื่อเรียนรู้และจัดเก็บข้อมูลอย่างเอาจริงเอาจังและอย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันก็ติดต่อสัมพันธ์กับแหล่งทุนทั้งในและนอกประเทศเท่าที่จะทำได้ เพื่อดำเนินการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

ท่านยืนยันว่ารัฐชาติหรือสังคมสมัยใหม่นั้นเกิดขึ้นจากการหลอมรวมของชนชาติที่หลากหลาย ซึ่งเบื้องหลังของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นก็คือวัฒนธรรม ดูง่าย ๆ ได้จากเรื่องปัจจัยสี่ การแต่งกาย อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย วิธีวิทยาในการรักษาโรค เหล่านี้เป็นตัวแทนในเรื่อง “โลกทัศน์” ของแต่ละกลุ่มชน ซึ่งท่านสรุปว่ามีสามเรื่องใหญ่ ๆ คือ วิถีสัมพันธ์ของคนกับคนด้วยกัน วิถีสัมพันธ์ของคนกับธรรมชาติ และวิถีสัมพันธ์ของคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ (ซูเปอร์เนเจอร์) ในแต่ละกลุ่มชน-แต่ละพื้นที่

ท่านเลยมีข้อสรุปที่นับเป็น “วาทกรรม” สำคัญประโยคหนึ่งที่ติดใจติดหูผมมาจนถึงวันนี้ว่า “ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าเกินไปกว่าคุณภาพประชากรไม่ได้ และคุณภาพของประชากรล้วนมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดอยู่เบื้องหลัง”  ท่านยังกล่าวอีกว่า “กุศลปรุงแต่งกรรม วัฒนธรรมปรุงแต่งคน” สิ่งที่เห็นที่เป็นอยู่ของคนล้วนเป็นผลมาจากวัฒนธรรม คนเป็นผู้สร้างวัฒนธรรม และวัฒนธรรมก็เป็นผู้สร้างคนอีกที มันสะท้อนคุณภาพกลับไปกลับมาอยู่เช่นนี้อย่างที่ฝรั่งเขาว่าเป็นไปตามกฎ “ไดอะเลกติก” นั่นแหละนี่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ยืนยันว่า องค์กรทางวัฒนธรรมนับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนารัฐชาติสมัยใหม่ ที่ปัจจุบันเรียกว่า“องค์กรจัดการเรื่องซอฟต์พาวเวอร์” หรืออะไรนั่นแหละ
Image
ผมคิดว่าคุณูปการของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ที่ท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ รวมถึงกัลยาณมิตรของท่าน และชาวภาคใต้รุ่นก่อนได้สร้างสรรค์ร่วมกันไว้ น่าจะได้รับการผลักดันให้กลับคืนสู่การสร้างสรรค์และเป็น “ศูนย์กลาง” ของแหล่งองค์ความรู้  แหล่งดาลใจแห่งความภาคภูมิของการมี “ราก” ทางวัฒนธรรม ซึ่งคือความมั่นคงที่แท้จริงของสังคมหนึ่ง ๆ เป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางวัฒนธรรม และแหล่งสนเทศข้อมูลเรื่องภาคใต้ที่สมบูรณ์แบบระดับโลกจริง ๆ มากกว่าเป็นอื่นผู้สถาปนาแต่เมื่อต้นนั้นมุ่งหวังเรื่องการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพียงผลพลอยได้ประการหนึ่งเท่านั้น

ระบบทุนนิยมที่เราไปสมาทานมาน่าจะยังไม่เกิน ๑ ศตวรรษทำให้เมื่อถึงวันนี้ คนไทยที่มีรากมั่นคงทางวัฒนธรรม มีรากตรึงแน่นมานานอยู่กับศรัทธาความเชื่อทางศาสนา ทั้งพุทธ อิสลาม ขงจื๊อ และคริสต์ เริ่มตกอยู่ในสภาพ “รากขาด” กลับแทบจะไม่หลงเหลือกรอบคิดเชิงคุณค่าในเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม ซึ่งได้รับมาจากการสืบทอดส่งต่อของบรรพชนในห้วงเวลานับเป็นพัน ๆ ปีอยู่อีกเลย ทุกอย่างล้วนถูกกำหนดให้คิดเป็น “สินค้า” ที่ต้องมี “มูลค่า” ที่ตีราคาเป็น “เงิน” ไปทั้งสิ้น

วันนี้วัฒนธรรมหรือที่เรียกให้ทันสมัยว่าซอฟต์พาวเวอร์ จึงต้องกลายเป็นสินค่าเพียงเพื่อมุ่งสนองระบบบริโภคนิยมเท่านั้นเมืองหาดใหญ่ที่สงขลาจึงต้องเป็นเหมือนเมืองบาปมานาน ต้องแอบส่งเสริมกิจกรรมสีดำสีเทาที่ทำเงินกันอย่างกว้างขวางเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเลย์ สิงคโปร์บางส่วนที่ชอบเข้ามาเพราะผู้หญิงมีคุณภาพดีและราคาถูก มีบริการเรื่องอาหารและเครื่องดื่มที่ถูกและดี สามารถมาเมาได้ สามารถมีห้องของโรงแรมที่แปรสภาพเป็นบ่อนการพนันได้ ฯลฯ เพราะที่โน่นหลายอย่างซึ่งเป็นสิ่งผิดศีลธรรมทางศาสนาเช่นนี้ เป็นสิ่งที่ยากจะทำได้ อย่างนั้นหรือ ?

และแน่นอน-สิ่งที่ตามมาก็คือการ “คอร์รัปชัน” ของระบบราชการ ฟังมาว่า-โดยเฉพาะตำรวจ

นั่น-มันมั่นคงยั่งยืนไหม ?

ในยุคใครมือยาวสาวได้สาวเอา สังคมเราไม่มีรากทางจิตวิญญาณของจิตภาพ  ความมั่นคงต้องมาจากการผลิตสร้างองค์ความรู้ที่แท้จริงหลากหลาย ชัดเจนครบชุด ผลิตบุคลากรที่มีความเข้าใจในคุณค่าแห่งความมี “ราก” ของตัวเอง ให้ได้มีโอกาสเข้าไปอยู่ร่วมในองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ที่มีส่วนในการวางแผนการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ไปลอกเขามาแบบมักง่ายอย่างที่เป็น ๆ มา และยิ่งน่าจะเป็นอยู่ !

ทั้งหมดที่ว่ามา-คือความคิดที่เป็นแก่น ๆ หลัก ๆ ของท่านศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ผมอาจถ่ายทอดได้ไม่ดีนักแต่ก็พยายามรวมที่เป็นแก่นของเรื่องที่เคยรับรู้ว่าท่านกล่าวถึงความสำคัญของ “วัฒนธรรมกับการพัฒนาประเทศ” ที่ทำให้ท่านยอมอุทิศเวลาและปัญญาแทบจะทั้งชีวิตของท่านเพื่อการนี้
Image
Image
แห่ผ้าขึ้นเจดีย์ที่วัดพะโคะ ช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๙ แถบนี้เคยเป็นศูนย์กลางของบ้านเมืองรอบทะเลสาบสงขลาต่อจากยุคเมืองสทิงพระ
ผมอยู่สงขลามา ๓๕-๓๖ ปี ลงพื้นที่มาโดยตลอด สิ่งที่พบเห็นและสัมผัสรู้ได้ก็คือ เมืองสงขลามีทุนทางภูมิ-ประวัติ-ศาสตร์-สังคม สูงมากที่สุดพื้นที่หนึ่งของประเทศไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ของโลกสมัยใหม่ที่สำคัญจุดหนึ่ง เพราะอยู่เหนือขึ้นมาจากช่องแคบมะละกานิดเดียว  ในยุคการเดินเรือโบราณทำให้พ่อค้าหรือนักเดินทางเพื่ออะไรก็ตาม ต้องมาหยุดพักที่นี่ทำให้เป็นเมืองพหุลักษณ์ที่เป็นจุดปะทะสังสรรค์ของศาสนาอิสลามที่ขึ้นมาจากหมู่เกาะทางใต้ ของคนจีนอพยพ และชาติพันธุ์อื่น ๆ การมีวัดจำนวนมากที่อำเภอสทิงพระ การเป็นเขตกัลปนาที่ยิ่งใหญ่ในยุคหลวงพ่อทวดหรือสมเด็จเจ้าพะโคะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ  ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ได้สร้างเรื่องราวขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งบนคาบสมุทรสทิงพระและทั้งเมืองสงขลาเก่า-ใหม่  วัดสุวรรณคีรีที่หัวเขาแดงสิงหนครมีจิตรกรรมฝาผนังที่ไม่เหมือนที่อื่น เช่นมีภาพผีในชุดโนรา  นี่ยังไม่พูดถึงทะเลสาบสงขลาอันยิ่งใหญ่ ทะเลสาบที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวของประเทศไทย และมองเห็นชัด ๆ อยู่ว่ากำลังจะเสื่อมทรุดพังพินาศอยู่ต่อหน้าต่อตาในปัจจุบัน

ผมคิดว่าการมีทุนทางภูมิประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ทับซ้อนกันมาอย่างหลากหลายยาวนาน มีทะเลสาบใหญ่  มีเกาะแก่งมีเกาะรังนกนางแอ่น หาดทราย ที่ราบ ภูเขาป่าไม้ มีแม่น้ำลำคลอง แล้วการที่เราปล่อยให้แม่น้ำเน่าลงทุกวัน ก่อสร้างเส้นทางดักทางน้ำจากภูเขา น้ำไหลลงทะเลสาบไม่ได้ ดุลยภาพทางทะเลสาบสูญหาย พืชน้ำเปลี่ยนแปลง พันธุ์ปลาแทบสูญสิ้นหมู่นกเร้นหนี ทะเลสาบตื้นเขิน สมัยก่อนสินค้าของป่าทั้งหมดจากพัทลุงออกมาที่นี่ทั้งนั้น

ทำไมเราจึงไม่ลงทุนรื้อฟื้นเพื่อสร้าง story ต่าง ๆ ขึ้นมาเรื่องราวทั้งหมดคือทุนที่ทรงคุณค่าสูงส่งมาก

เมืองสมัยใหม่จะเกิดอย่างยั่งยืนมีคุณภาพไม่ได้ ถ้าไม่มีทุนทางภูมิ-ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม รองรับ เมืองสมัยใหม่ที่มีคุณภาพต้องมีราก สิ่งที่สถาบันทักษิณคดีศึกษาพยายามจะเป็นศูนย์รวมของรากทางภูมิ-ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมภาคใต้ ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่แท้จริง ให้เป็นแหล่งรวมของปราชญ์และศิลปินพื้นบ้าน ให้มาถ่ายทอดภูมิปัญญาของพวกเขา และทำได้เข้มแข็งระดับหนึ่งแล้ว ทำไมจึงไม่คิด “ต่อยอด” ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและชาวเมืองสงขลาควรจะสำเหนียกเรื่องนี้ให้จงดีและควรทำอย่างทันการ

การพัฒนาเมืองสงขลาให้ร่วมอยู่ในโลกสมัยใหม่อย่างยั่งยืนมีคุณภาพได้นั้น นอกจากจะต้องคำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ควรคำนึงถึงทุนทางศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันจำเพาะซึ่งที่อื่นไม่มี  ต้องนำสิ่งเหล่านี้มาอยู่ใน “โมเดิร์นสงขลา” ให้มาก  
กล่าวโดยสรุปก็คือ นอกจากจะคิดถึงการพัฒนา “วัตถุธรรม” แล้ว ก็ควรคำนึงถึงการพัฒนา “จิตธรรม” ของผู้คนและเมืองให้หน่วงหนักร่วมด้วยอย่างมีดุลยภาพ   
Image
Image
Image
Image
Image
บรรณานุกรม
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสงขลา, ๒๕๔๕.

จิระนันท์ พิตรปรีชา (บรรณาธิการ). สงขลา เมืองสองเล เสน่ห์เหนือ เวลา, ๒๕๖๑.

พงศาวดารเมืองสงขลาและพัทลุง. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ คุณหญิงแข เพ็ชราภิบาล (แข ณ สงขลา). ๒๒ ธันวาคม ๒๕๐๕.

รัชนีวรรณ จิระนคร และ ติรัช จิระนคร (บรรณาธิการ). หนังสือที่ระลึก เนื่องในโอกาสฌาปนกิจศพคุณพ่อกวาง-กิตติ จิระนคร. ๒๕๕๖.

วารสาร เมืองโบราณ. ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๔ ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๖๑.

หนังสือพิมพ์ กัมปงไทย. ฉบับที่ ๔ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๓.

เอกสารโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา
 อ. กระแสสินธุ์-อ.เขา-ชัยสน จ.พัทลุง. กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม, ไม่ระบุปีที่พิมพ์.

เอนก นาวิกมูล และคณะ. สมุดภาพระโนด พ.ศ. ๒๕๕๗, ๒๕๕๗.