Image

UNSEEN Songkhla

SONGKHLA  CONTEMPORARY
สมัยใหม่ในเมืองเก่า

เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : วิจิตต์ แซ่เฮ้ง

ในแต่ละท้องถิ่นมักมีเรื่องซ่อนเร้น บังตา คาใจ คาดไม่ถึงในสายตาและความรับรู้ของคนภายนอก ทั้งที่เป็นเรื่องราว รูป รส กลิ่น สีสัน ศิลปะในชีวิต ซึ่งในภาษาสมัยใหม่เรียกเรื่องที่อยู่ในข่ายนี้ว่า hidden หรือ unseen

Image

โรบัสต้าสะบ้าย้อย
ตามหากาแฟต้นแรกของไทย

เมื่อถึงสี่แยกใหญ่กลางเมืองสะบ้าย้อย สิ่งแรกที่ดึงดูดสายตามากกว่าอื่นใด คือภาพกราฟฟิตีขนาดผนังตึกสามชั้น ทางซ้ายมือมุมไฟแดง

ในภาพนั้นมีแพะ สำเภาแล่นข้ามสมุทร และชายมุสลิมในชุดโต๊ปสีขาว พอจับเค้าเรื่องได้ว่าน่าจะเกี่ยวกับการรู้จักกาแฟครั้งแรกของมนุษยชาติ ที่เล่ากันมาว่าชาวมุสลิมแถบอาระเบียหรือตะวันออกกลางเมื่อศตวรรษที่ ๙ ต้อนแพะออกไปเลี้ยง แล้ววันหนึ่งเห็นแพะคึกคะนองกว่าปรกติ หลังกินผลไม้สุกสีแดงเม็ดเล็ก ๆ จากต้นไม้พุ่มเตี้ย  คนเลี้ยงแพะลองเอามากินเองบ้างก็รู้สึกกระปรี้กระเปร่า พัฒนามาสู่ การคั่วบดผงชงน้ำร้อนดื่ม และแพร่ออกไปสู่โลกภายนอกตามสายคนมุสลิม เรียกกันว่า kaweh แปลว่า พลัง ความกระปรี้กระเปร่าก่อนมาเป็น koffee แล้วเป็น coffee ในภาษาอังกฤษ  จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของไทยเรียกโกปี

ซึ่งตามที่แถวตัวหนังสือด้านล่างจิตรกรรมบนผนังตึกบอกว่า “สะบ้าย้อย ถิ่นกำเนิดกาแฟโรบัสต้าของประเทศไทย”

โรบัสต้าต้นแรกของเมืองไทยอยู่ที่นี่หรอกหรือ ต้องไปตามหาดูให้เห็นกับตา

ห้วยบอน

สะบ้าย้อยเป็นอำเภอทางตอนใต้ของจังหวัดสงขลา ติดต่อกับชายแดนใต้จังหวัดยะลาและต่อแดนกับมาเลเซีย ซึ่งมีช่องผ่านแดนธรรมชาติข้ามไปมาตั้งแต่โบราณ และตามเส้นทางนี้เองที่ว่ากันว่าโรบัสต้าจากโลกมุสลิมผ่านเข้าสู่แดนด้ามขวานของไทย

สะบ้าย้อยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี จึงหาที่ราบกว้างได้ยาก คนพื้นเมืองทั้งชาวพุทธ มุสลิม ตั้งชุมชนกระจายอยู่ตามริมลำน้ำและระหว่างหุบเขา

เมื่อถามหากาแฟโรบัสต้าต้นแรกในตำนาน คนท้องถิ่นต่างอ้างถึงชื่อ “ติหมุน” ชายอิสลามบ้านห้วยบอน ว่าเป็นคนแรกที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย

บริเวณที่ติหมุนนำกาแฟมาปลูกครั้งแรก ในตอนนี้ตกทอดมาอยู่กับทายาทรุ่นที่ ๔ ชื่อ ขะสมาน ขะเรมะนัน เจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน ซึ่งสูญเสียการได้ยินไปมากจากเหตุโดนวางระเบิดขณะออกท้องที่กับปลัดอำเภอ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๖๔  รถกระบะสี่ประตูหุ้มเกราะแหลกบุบบู้เจ้าหน้าที่รัฐสี่คนในรถรอดชีวิตแต่ต่างบาดเจ็บสะบักสะบอม ขะสมานแก้วหูทะลุ ใครพูดกับเขาตอนนี้ต้องตะโกน

ขะสมานแนะนำตัวว่าเขาเป็นลูกของสะนิ  ผู้เป็นลูกของโต๊ะนิเงาะ ซึ่งเป็นลูกของติหมุน ซึ่งขะสมานบอกว่าจริง ๆ คุณทวดของเขามีชื่อจริงว่า นิติหมุน สุหลงกูด เกิดปี ๒๔๒๘

ส่วนที่ว่าเขารู้เรื่องราวของคนรุ่นทวดเมื่อ ๑๐๐ กว่าปีก่อนได้อย่างไร ขะสมานบอกว่าฟังมาจากนิอาซัน ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ทันได้เจอนิติหมุน

ขะสมานเล่าตามที่เขาได้รู้มาว่า นิติหมุนต้อนวัวไปขายที่รัฐเประก์ มาเลเซีย และเยี่ยมพี่ชายชื่อนิเมเราะ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นั่น เมื่อได้เห็นต้นกาแฟ เขาอยากได้เมล็ดมาปลูก แต่สมัยนั้นทางการมาเลเซียห้ามนำพืชพันธุ์ข้ามแดน เขาเอาใส่กลักไม้ขีดมาได้ไม่กี่เมล็ด นำมาเพาะปลูกที่บ้านห้วยบอน ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย เมื่อปี ๒๔๔๗ ก่อนแพร่ขยายพันธุ์ไปตามชุมชนแถบนั้น

ผ่านยุคสมัยต่อมาเมื่อยางพารากลายเป็นสวนเศรษฐกิจหลักของปักษ์ใต้ ไม้อื่นถูกกวาดล้างแปลงพื้นที่เป็นสวนยางเชิงเดี่ยว

“ที่มรดกของทวดนิติหมุนตกทอดมายังแม่ผม แม่บอกว่าที่แปลงนี้จะให้ผม แต่ยังไม่ได้โอนสิทธิ์แม่เสียก่อน ตอนนี้เอกสารสิทธิน้าดูแลอยู่”

“ตอนผมราว ๑๐ ขวบ แถวนี้มีต้นกาแฟต้นเล็ก ๆ ขึ้นอยู่เต็ม เมล็ดยังไม่มีราคา ผมฟันทิ้ง เหลือไว้ต้นเดียว” ขะสมานในวัย ๕๐ ปี เล่าเรื่องราวเมื่อ ๔๐ ปีก่อน

กาแฟที่รอดคมพร้ามานั้น อยู่ในสวนสมรมข้างบ้านไม้โบราณแบบพื้นบ้านปักษ์ใต้ของนิติหมุน โดยขนาดของลำต้นและทรงพุ่มคงเป็นต้นลูกหลานที่เกิดจากเมล็ดหรือเป็นต้นใหม่ที่แตกตาจากตอเดิม ซึ่งคะเนจากขนาดลำต้นและทรงพุ่มคงมีอายุไล่เลี่ยกับคนเล่า
แต่ต้นกาแฟออร์แกนิกแบบพื้นบ้านที่ขึ้นรวมเป็นสวนสมรมอยู่กับไม้พื้นเมืองอื่น รวมทั้งที่เพาะปลูกขึ้นมาแบบสวนเชิงเดี่ยว ก็มีอยู่ไม่น้อยที่สะบ้าย้อย

หลังได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในฐานะจุดกำเนิดโรบัสต้าต้นแรกในเมืองไทย วิภา ภรรยาของขะสมาน รวบรวมเพื่อนบ้านอีก ๖๐ กว่าคน ตั้งกลุ่มกาแฟสูตรโบราณบ้านห้วยบอน ฟื้นฟูกาแฟโรบัสต้าพื้นบ้านสะบ้าย้อยขึ้นมาใหม่

“กาแฟมีอยู่ในชุมชน ทำอย่างไรให้เกิดผล ชาวบ้านได้รับประโยชน์ ได้ความรู้ ได้กิน” วิภา ขะเรมะนัน เล่าถึงโจทย์แนวคิดแรกที่คลี่คลายมาสู่คำตอบการดำเนินงานของกลุ่ม

“นำมาแปรรูปทำด้วยมือทุกขั้นตอน ตั้งแต่แยกเมล็ด ตำเอง แปรรูปเอง  ผลิตได้ไม่มากแต่เน้นคุณภาพ”

เมล็ดกาแฟโรบัสต้าสุกแดงที่เรียกว่าเม็ดเชอร์รี คั่วผสมข้าวเหนียวดำ น้ำตาลโตนด และหมากเล็กน้อย ทำเป็นโกปีสูตรดั้งเดิม

“ขายในท้องถิ่น ลูกค้าเป็นชาวบ้านทั่วไป สร้างพื้นฐานชุมชนให้แข็งแรงก่อน”

หากไปออกบูทตามงานต่าง ๆ ข้างนอก จึงเพิ่มผลิตภัณฑ์กะละแม โอเลี้ยง โรตี น้ำยาล้างจาน ที่มีกาแฟโรบัสต้าเป็นส่วนผสม

“ถ้ามีไปออกบูทร่วมกับโรงเรียน ก็นัดกันมาทำ  เราเน้นการส่งต่อคุณค่าเรื่องราว แบ่งปันความรู้สู่รุ่นลูก ไม่ได้มุ่งเรื่องการขาย สมาชิกมีรายได้จากอาชีพหลักอยู่แล้ว อยากทำให้แหล่งกำเนิดโรบัสต้านี้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา”

Image

บ้านโหนด

ส่วนคอกาแฟสมัยใหม่ที่ดื่มแบบกาแฟสดและอยู่ต่างถิ่นห่างไกลจากสะบ้าย้อย ก็สามารถสั่งซื้อเมล็ดคั่วโรบัสต้าหรือบดผงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปกาแฟ อำเภอสะบ้าย้อย มาลิ้มลองกันได้ผ่านช่องทางออนไลน์

“ขายรสชาติ ไม่ขายเรื่องราว  กาแฟที่นี่สะอาด และต้องเป็นเมล็ดเชอร์รีสีแดงเท่านั้น  กาแฟของที่นี่เราจะบอกกับทุกคนว่ากำลังทานผลไม้สุก” ตามคำเล่าของ เสาวณิต ศรีนุ่น เลขาฯ กลุ่ม

ที่ทำการกลุ่มตั้งอยู่ในชุมชนบ้านโหนด ริมถนนสายสะบ้าย้อย-โคกโพธิ์ เป็นวิสาหกิจชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่ในสะบ้าย้อยเลี่ยงที่จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์เพื่อกันปัญหาความขัดแย้งในท้องถิ่น แต่เน้นขายเรื่องราวของตัวกาแฟเอง

“ผลกาแฟมีห้าชั้น ๑. เปลือก-เมื่อสุกสีแดงเรียกว่าเชอร์รี ๒. เมือก ๓. กะลา ๔. เนื้อเยื่อ-ที่พร้อมงอกเป็นต้นใหม่ ๕. เมล็ดสาร” ปุญญพัฒน์ เรวัฒน์ทูตานนท์ สมาชิกที่เป็นกำลังหลักของกลุ่มอีกคน ให้ข้อมูลและเล่าขั้นตอนของการสร้างคุณภาพให้กับกาแฟโรบัสต้าสะบ้าย้อย

“เอาเม็ดสดเชอร์รีไปตากให้แห้ง สีกะเทาะเปลือกเชอร์รีออก นำมาหมัก  กะลาที่ยังมีเมือกอยู่ ๑๐๐ กิโลกรัม กับเปลือก ๒๐ กิโลกรัม ใส่น้ำตาลเพิ่ม กาแฟจะหอมมากขึ้น”

จากพื้นที่ให้ผลผลิตแล้วราว ๓๐๐ ไร่ และที่เพิ่งปลูกใหม่ ๓๔๗ ไร่ ของสมาชิก ๑๔๕ คน ให้ผลผลิตราวปีละ ๒๐ ตัน กลุ่มรับซื้อกิโลกรัมละ ๒๕ บาท

“เราเน้นให้สมาชิกใช้ปุ๋ยอินทรีย์และเก็บเมื่อเมล็ดสุกเป็น
สีแดงเชอร์รีเท่านั้นส่งให้กลุ่ม”

เสาวณิตนำไปดูเบื้องหลังและเล่าขั้นตอน ก่อนเมล็ดสดจากสวนจะมาเป็นกาแฟพร้อมดื่ม

“รวบรวมเมล็ดเชอร์รีหมักไว้คืนหนึ่ง รุ่งเช้ามาเปลี่ยนน้ำ เมล็ดที่ลอยคัดทิ้ง ทำ ๓ วัน เปลือกสีสดยังติดกะลาอยู่ จากนั้นตาก ๑๐ แดด ถ้ายังไม่หมดความชื้นนำเข้าเครื่องอบ สีแล้วหมักบ่ม ๖ เดือน เอาออกมาคัดเอาแต่เบอร์ ๑ ๒ ๓ เข้าเครื่องคั่วด้วยแก๊สครั้งละ ๑๐๐ กิโลกรัม คั่วกลางและคั่วเข้ม เสร็จแล้วตั้งไว้ ๓ วัน รวมใช้เวลาเกือบปีถึงได้กิน จากนั้นก็แบ่งส่วนไปบดกับแบ่งบรรจุถุงขาย เมล็ดกิโลกรัมละ ๕๘๐ บาท”

เป็นรสชาติและมาตรฐานการปรุง คั่ว ชงแบบสมัยใหม่ในพื้นที่เดิม ผืนดินที่อ้างกันว่าเป็นแหล่งกำเนิดโรบัสต้าต้นแรกในเมืองไทย

แต่ทั้งที่บ้านโหนดและบ้านห้วยบอนก็ยังไม่เห็นกาแฟต้นใหญ่ที่อายุเป็นร้อยปี

ทิวต้นกาแฟพันธุ์โรบัสต้าโบราณ ต้นสูงใหญ่ที่กล่าวกันว่าปลูกมาแต่ยุค ๑๐๐ กว่าปีก่อน ยังยืนต้นอยู่แถวหน้าถ้ำคอก ลึกเข้าไปในซอกเขาด้านหลังวัดถ้ำตลอด อำเภอสะบ้าย้อย

ถ้ำตลอด

ในที่สุดเราก็ได้เจอต้นกาแฟเก่าแก่ที่ตำบลเขาแดง ไม่ไกลจากที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผสมผสานบ้านถ้ำตลอด ซึ่งเปิดเป็นร้านขายกาแฟโรบัสต้าด้วย  ส่วนต้นกาแฟโบราณอยู่ลึกเข้าไปในป่าเขาอีกราว ๑ กิโลเมตร บริเวณหน้าถ้ำคอก ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในซอกเขาด้านหลังวัดถ้ำตลอด วัดโบราณที่มีประวัติเชื่อมโยงกับเส้นทางจาริกธรรมของหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ และตามประวัติว่าเป็นจุดพักสังขารสรีระหลังท่านมรณภาพที่มาเลเซียแล้วนำกลับวัดช้างให้

ไม่รู้แน่ชัดว่าใครปลูกไว้แต่เมื่อใด แต่จากขนาดและลักษณะของลำต้นที่ใหญ่แกร่งอยู่กลางหมู่ไม้ใหญ่และผาเขา ก็ยืนยันอายุนับร้อยปีได้ด้วยตัวเอง แบบไม่ต้องอิงคำเล่าขาน

โคนต้นกาแฟเท่าแข้ง เปลือกสีขาวนวล ยืนต้นสูงชะลูดรวมกันอยู่เป็นดง กระจายไปตามแนวผา ซึ่งสูงขึ้นไปเป็นเพิงถ้ำคอก

อาจเพราะขึ้นปะปนอยู่ใต้เงาไม้อื่น พุ่มกาแฟจึงไม่ได้เหยียดตรง แต่โอนเอนหาแสงแหล่งพลังงานและอาหาร

และอาจเพราะเป็นต้นเก่าแก่ หรือไม่ได้รับการดูแลจริงจัง หมู่ต้นกาแฟแถวหน้าถ้ำคอกจึงไม่ค่อยเห็นผลผลิตให้เก็บเกี่ยว

แต่แค่ต้นไม้เหล่านี้ยังหยัดรากยืนต้นอยู่บนแผ่นดินสะบ้าย้อยก็นับว่าเป็นคุณค่ามากแล้ว  ต้นไม้โบราณที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์และหลักหมายว่าถิ่นนี้มีต้นกาแฟโรบัสต้ามาเป็นร้อยปีแล้วจริง ๆ

Image

Image

Image

มันนิ-หนุ่มระโนด 
ตำนานรักข้ามชาติพันธุ์

“บ่าวสัน เจ๊ด๊ะ สะหมาด มุ๊สา ยุโซบ แจ๊ค ยอด เส๊ะ เสือ สะอีด...” ยะ ศรีบริพัตร ไล่เรียงชื่อญาติพี่น้องในสายตระกูล “ศรีบริพัตร” ของเธอร่วม ๑๐ คน ที่ปัจจุบันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันที่เชิงเขาบรรทัด ใกล้น้ำตกบริพัตร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

ส่วนปะ (พ่อ) มะ (แม่) หมูกเหลี่ยม สะตอ พัน นุ้ย บ่าวร้อ พุ่มพวง กับพวกอีกรวม ๑๘ คน อยู่อีกฟากเขาที่บ้านค่าย อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล

หลายคนชื่อฟังดูเป็นมุสลิม นั่นเพราะคนมุสลิมตั้งให้ตั้งแต่เมื่ออยู่ที่วังพระจันทร์ อำเภอควนโดน ซึ่งกลุ่มนี้ใช้นามสกุล ดงเทือกช้าง และรับศาสนาอิสลาม

แต่ก่อนนั้นพวกเขาไม่เคยมีนามสกุล ไม่มีศาสนา แม้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอยู่บนดินแดนแถบนั้นมาก่อนใครก็ว่าได้  เขาอยู่กันมาตั้งแต่ดินแดนด้ามขวานยังไม่มีบ้านเมือง ไม่มีแสงไฟก็ว่าได้--ชาวมันนิ หรือมานิ ที่ผู้มาทีหลังมักเรียกเขาว่าคนป่าซาไก

และเช่นเดียวกับชนพื้นเมืองแทบทุกแห่งหนในโลกนี้ เมื่อถูกรุกไล่จากผู้มาใหม่ พวกเขามักต้องถอยร่นลึกขึ้นไปในเขตป่าเขา

ชนพื้นเมืองชาวมันนิที่คนอื่นมักเรียกเขาว่าซาไก ก็อพยพหลบลี้จากเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาสันกาลาคีรีทางฝั่งไทย ข้ามไปยังฝั่งมาเลเซีย ที่ว่ากันว่ารัฐให้การดูแลชนพื้นเมืองอย่างดีกว่าทางประเทศเพื่อนบ้าน

เหลืออยู่ไม่ถึงพันคนในแถบหกจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งคงมีน้อยคนมากที่จะรู้ว่ามีมันนิกลุ่มหนึ่งอยู่ในจังหวัดสงขลาด้วย

ความจริงเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ หลังจากลูกสาวคนหนึ่งในเผ่าพบรักกับหนุ่มชาวระโนด อยู่กินร่วมกันจนมีลูกสามคน ได้ออกทีวีเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วประเทศเมื่อหลายสิบปีก่อน

“ผมไปได้กับแฟนคนนี้อยู่ที่สตูล ผมคนระโนด สงขลา แต่ไปอยู่ป่าที่วังพระจันทร์ สตูล สามีของลูกพี่ลูกน้องที่เป็นอิสลามชักชวนไป  ผมมีขนำเล็ก ๆ ใกล้ชายแดนมาเลย์ ปลูกผักอยู่หลายไร่ ใช้ประปาภูเขา  ผมเที่ยวป่าล่าสัตว์ไปเจอเขาหาเผือกหามันกินอยู่ในป่า ก็ชักชวนให้มาปลูกผัก” อนันต์ จันทร์คง ในวัย ๖๖ เล่าความหลังเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อน

“เกิดที่ทะเลบัน บ้านโตน เขตอำเภอควนโดน สตูล  มาเจอลุงม่อนเดินกับเด็กในหมู่บ้านอิสลาม เล่นน้ำตกกับเด็กแขก เล่นเสร็จก็กลับ เราหาหัวมันอยู่ ตอนหลังไปเรียนหนังสือที่ศูนย์ ตชด. ไปมา ๆ กับในป่า” ป้ายะเล่าเหตุการณ์ในช่วงเดียวกันจากมุมของแก

Image

ญาติพี่น้องในสายสกุลศรีบริพัตรของป้ายะ  มันนิกลุ่มเดียวในสงขลา ที่อำเภอรัตภูมิ

“ผู้ใหญ่พยายามจะให้ได้รับการศึกษา แต่พวกนี้ก็หนีเข้าป่า ไม่เรียน ให้เพื่อนมาบอกครูว่าไข้ ความจริงจะไปหามูสัง หาของป่า พอพวกไม่ไปเรียน ยะก็ไม่ไป  ผมชักชวนว่าลงมาทำการเกษตรดีกว่า เขาไม่รู้หรอกเกษตรคืออะไร ผมว่าไปปลูกผัก ตอนแรกใช้ภาษาใบ้ เขาพอพูดใต้ได้บ้าง”

“แกมากับน้องเขย ชวนว่ามาปลูกผักกันพันนั้นพันนี้นานกว่าจะยอมมาอยู่ หว่างนั้นรู้ไม่ทัน ถ้ารู้ทันพ้นไหนโฉ้แล้วป่านนี้” ป้ายะพูดติดตลก

ที่สุดความรักต่างชาติพันธุ์ก็เป็นความจริง

“เขาพาพี่น้องลงมาช่วยกัน ผมสงสารเขาก็ชวนมาร่วมหอกัน สู่ขอกับพ่อแม่เขา เขาบอกถ้าลูกสาวชอบก็ได้ ไม่มีสินสอดอะไร ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไร ปลูกผักกัน ๓-๔ ไร่ แม่ค้าอิสลามมารับถึงที่ ตอนนั้นยังเป็นป่า ไม่มีถนน”

ตอนหลังลุงม่อนพาป้ายะจากบ้านวังพระจันทร์ สตูล ข้ามด่านดงมาทางฟากสงขลา

“เห็นมันนิเร่ร่อนอยู่ ทางการเลยมาจัดสรรให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่งั้นเขาก็ย้ายไปมา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันประสานงานไม่ได้  ตกลงกับหัวหน้าป่าไม้ มีหนังสือรับรองจากท่านสมชาย สุวรรณชาติ ให้อยู่เป็นกรณีพิเศษ จนได้นามสกุลศรีบริพัตร นักท่องเที่ยวมาน้ำตกก็ให้นำทาง เด็กได้มีบัตร ได้เข้าโรงเรียน”

ทั้งคู่มีลูกด้วยกันสามคน ลุงม่อนเล่าว่าตอนแรกเขาแทบไม่รู้ จนเมียอุ้มลูกมาส่งให้ “ท้องนูนไม่มาก เหมือนคนกินข้าวอิ่ม คนมันนิเขาเดินมาก ขึ้นควนขึ้นต้นไม้ ออกกำลังกายอยู่ตลอด  ตอนคลอดก็ทำคลอดเอง ไม่ได้บอกผม”

“คนแก่บอกยาไว้แล้ว ใช้ทาพุง รากหินเอามาแช่น้ำเย็นแล้วเอามาลูบพุงสัก ๕ นาที เกิดง่าย ตัดสายสะดือด้วยไม้ไผ่คลอดหัวค่ำไม่ถึงเที่ยงคืนอุ้มลูกกลับบ้าน ยาหลังคลอดต้มน้ำร้อนเตรียมไว้แล้ว อยู่ไฟไม่ถึงเดือน”

คนฟังอ้าปากค้าง ถามแทรก “นั่งหรือนอนคลอด ?”

“นั่งคลอด ไม่นอน ไม่ใช่โรงบาลที คลอดแถวลานริมคลอง”

“ถ้าคลอดยาก ?” คนเมืองที่คุ้นเคยกับการพึ่งโรงพยาบาลสงสัย

“ก็มียาอีก”

“เดี๋ยวนี้ไปโรงพยาบาลได้ง่าย คนมันนิยังคลอดเองอยู่ไหม ?”

“ไม่แล้ว ลูกสาวฉันก็คลอดลูกที่โรงพยาบาลรัตภูมิ”

“มีต้องผ่าคลอดบ้างไหม ?”

“มี เด็กขวาง ถ้าสมัยก่อนก็มีวิธีแหละ คนเฒ่าคนแก่อยู่ แค่ ๆ มาช่วยได้  ไม่เคยได้ยินว่ามันนิตายเพราะเกิดไม่ออก”

ตอนคลอดลูกทั้งสามคนเธอทำคลอดเองหมด เธอเล่าว่าเตรียมสมุนไพรไว้แต่เนิ่น ๆ  เมื่อถึงเวลาเจ็บท้องคลอดเธอจะไปแถวริมน้ำ ทำคลอดตัวเองเสร็จ นอนพักราว ๒ ชั่วโมงก็อุ้มลูกกลับบ้าน

ลูก ๆ ของเธอผิวและผมไปทางแม่มากกว่าพ่อ

“ตอนพาลูกไปเยี่ยมย่าที่อยู่ในเมือง ถามว่าลูกใคร ก็บอกว่า
พ่อมันนั่งอยู่นั่นไง” ป้ายะทำท่าชี้ไปทางลุงม่อน “ย่ายังไม่เคยมีหลาน ขอเอาไปเลี้ยง”

Image

ลุงม่อน หนุ่มระโนด ป้ายะ สาวมันนิ ครองรักกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ ลูกๆ สามคนเติบโตออกไปมีครอบครัวอยู่ข้างนอก แต่ทั้งคู่ยังคงอยู่ในป่าใกล้น้ำตกบริพัตร

“เรากลับมาก็คิดถึงลูก ไปเอากลับมา ย่าก็ตามมาอีก บอกว่าคิดถึงหลาน” ลุงม่อนเล่า “ย่าเลยเอากลับไปจดทะเบียนเป็นลูกบุญธรรมของพี่สาวกับพี่เขยที่เป็นตำรวจ เขาไม่มีลูกชาย พ่อแม่ว่าดีเหมือนกัน เขาเอ็นดูหลาน หน้าตาเส้นผมไปทางแม่  คนถามแม่ก็บอกลูกเงาะ ตอนนี้เรียกมันนิ  ไปโรงเรียนเพื่อนล้อจะโดนต่อย ผมบอกไม่ต้องถือเขาหรอก อย่าเก็บไปคิด เป็นมนุษย์เหมือนกัน”

ตอนหลังมีลูกหลานตามมาอยู่ด้วยราว ๑๐ คน เป็นชุมชนมันนิย่อม ๆ ตั้งทับอยู่ถาวร ไม่เร่ร่อนตามวิถีเดิม กินข้าวกินกับแบบชาวบ้านปักษ์ใต้ทั่วไป

“เมื่อก่อนกินเผือกกินมัน ไม่ได้กินข้าวสุกข้าวสาร ขุดมันป่ากิน ซึ่งมีหลายชนิด มันปูน มันทราย มันรำมะนา มันตามราก มันอ้น มากหลายพันธุ์ ใช้ไม้ขุดลึกเป็นบ่อ ย้ายไปย้ายมาเร่ร่อนตามแหล่งหัวมันป่า  เรื่องอะไรกินได้ไม่ได้นี่เขาคงสอนกันบอกกันไป แต่เรื่องวิถีชีวิตไม่เกี่ยว เขาไม่รู้การสอนการพูด ผู้ใหญ่ไม่ตีเด็ก เด็กจะทำอะไร เล่นอะไร ก็แล้วแต่เขา” ลุงม่อนเล่าภาพอดีตและการเปลี่ยนแปลง

“แต่มาอยู่กับผมต้องปรับเปลี่ยน เด็ก ๆ ไม่ให้เล่นของมีคม ผมกลัวบาด วัยรุ่นอย่ายุ่งกับยาบ้าเหมือนชาวบ้านทั่วไป  นี่ใน ๑๐ คนที่ผมดูแลอยู่ บอกให้เขาเที่ยวหาของป่า ลูกเหรียง สะตอป่า สวนผลไม้ใครมาจ้างก็ไปทำ ตอนนี้ใช้เงินเป็นแล้ว เมื่อก่อนใช้เงินไม่เป็น  เด็ก ๆ รุ่นใหม่มีบัตรประชาชน ได้เข้าโรงเรียน ออกไปรับจ้างทำงานในสวน เฝ้าสวน ตัดหญ้า กินอยู่กับเขา ได้ค่าแรงเดือน ๕,๐๐๐ คนแก่เบิกเงินผู้สูงอายุได้”

คนมันนิกลุ่มศรีบริพัตรตอนนี้มีวิถีชีวิตแทบไม่ต่างจากคนถิ่นใต้ทั่วไป ใช้โทรศัพท์ เฟซบุ๊ก ไลน์เป็น

“พออยู่กับที่ก็กินข้าว แต่คนแก่ที่ยังหาหัวมันกินอยู่ก็มีสองคน ฝรั่งให้ผมช่วยติดตาม ยังหาไม่เจอ พบแต่ทับ หญิงทั้งคู่ ไปด้วยกัน อะไรก็ไม่สำคัญกับเขา ได้มันหัวสองหัวก็อิ่ม”

“ทำไมเขาไม่มาอยู่แบบคนอื่น ?”

“คนรุ่นเก่าเขาอยากอยู่แบบธรรมชาติ เพราะเขาติดไฟ อยู่ตรงไหนต้องก่อไฟ  เวลาหนาวเย็นห่มผ้าก็ไม่เหมือนก่อไฟ ไฟอบอุ่นกว่า  แต่รุ่นลูกชอบสมัยใหม่ เล่นเฟซฯ เล่นไลน์ เขาต้องอยู่ใกล้ไฟฟ้า  คนแก่หลายคนถ้าไม่ติดลูกเขาก็ไปแล้ว
หาเผือกหามันกิน หาเต่าหาตะพาบน้ำตามวิถีเดิมของเขา”

ป้ายะไม่ใช่คนรุ่นใหม่ เธอรับเงินคนสูงอายุมา ๓ ปีแล้วแต่ใช้สมาร์ตโฟนคุยไลน์กับหลานเป็นประจำ

ตอนนี้ลูก ๆ ของเธอทำงาน มีครอบครัว ลูกสาวคนหนึ่งไปอยู่บ้านสามีที่อุตรดิตถ์ มีลูกแล้วสองคน ยายเคยไปอยู่ด้วยช่วงหนึ่ง กลับมายายยังบ่นคิดถึงหลานอยู่ไม่วาย

“หลานว่าคิดถึงยาย” เธอเล่า

“แล้วยายคิดถึงหลานไหม”

“คิดถึง”

“เมื่อก่อนเวลาลูกหลานแยกกันไป ในป่าไม่ได้มีโทรศัพท์ติดต่อกัน คิดถึงกันไหม”

“ไม่ สมัยก่อนไม่รู้เรื่อง ตามใจลูกหลาน พี่น้องอยู่ยังไงเขาไม่คิด  เดี๋ยวนี้ออกมาฟังคำชาวบ้านพูด เขาว่าอยู่กับพี่น้องให้กลมเกลียวสามัคคี อย่าทิ้งพี่น้อง เราก็สอนลูกหลานว่าอย่าทิ้งกัน อยู่กันให้ดี”

นอกจากการสื่อสารดี สมัยนี้การเดินทางก็สะดวก ถ้าคุยทางไลน์แล้วยังไม่หายคิดถึง ยายยะบอกว่าต้องขึ้นรถไปหาหลานเร็ว ๆ นี้แน่

Image

ที่มาข้อมูล : ประมวลจากการลงพื้นที่ภาคสนามของ ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ และงานวิจัยของ บัณฑิต ไกรวิจิตร. ชาวโอรังอัสลี ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย, ๒๕๖๒. และ พรพิมล รัตนกุล. มานิแห่งเทือกเขาบรรทัด ก้าวย่างที่ข้ามผ่านกาลเวลา, ๒๕๖๕.

Image

Image

ไก่ทอดเทพา
๗๐ ปี โอชะคนเดินทาง

เหนียวไก่หรือไก่ทอดกินคู่กับข้าวเหนียวนึ่ง เป็นของอยู่คู่กับสถานีรถแถวปักษ์ใต้มาแต่ไหนแต่ไร ไก่ทอดหาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไกลก็ไม่แน่ว่ามีต้นกำเนิดมาจากสถานีชุมทางหาดใหญ่หรือไม่ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังหนาแน่นไปด้วยแม่ค้าไก่ทอด

Image

แต่ที่แน่ชัดและยังเลื่องชื่อในหมู่ผู้โดยสารรถไฟสายใต้มาจนเดี๋ยวนี้คือไก่ทอดเทพา ซึ่งสืบสาวที่มาได้ชัดเจนตามแผ่นป้ายที่ติดอยู่หน้าสถานี “ไก่ทอดเทพา ๗๐ ปี”

“แม่เล็กเป็นคนแรกที่เริ่มขายไก่ทอดที่นี่”

ยีส๊ะ อาแว กับ ซารีฮะ มะยูสู คนขายไก่ทอดวัยหลังเกษียณที่ยังขายอยู่ที่สถานีรถไฟเทพา

“เอกลักษณ์ของไก่ทอดเทพาคือเอาหนังออกหมด แต่เดิมใช้ไก่บ้าน เพิ่งเปลี่ยนเป็นไก่พันธุ์เมื่อราว ๔๐ ปี”

จากแม่ค้าเจ้าแรกที่เป็นคนพุทธ ก็มีเจ้าที่เป็นอิสลามตามมาด้วย ในช่วงที่ขึ้นชื่อลือเลื่องมาก ๆ  สถานีรถไฟเทพาเคยมีแม่ค้าไก่ทอดราว ๒๐ เจ้า ขายไก่ทอดกินกับข้าวเปล่าและแกงเขียวหวานไก่

“ตักข้าวใส่กระทงใบตอง ราดแกงเขียวหวานกับไก่ทอด ขายชุดละ ๔๐ บาท”

นอกจากใส่กระทงขาย บางเจ้าตั้งร้านขายในตลาด ให้บริการลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้โดยสารรถไฟ

ในยุคที่รถรายังไม่เจริญอย่างทุกวันนี้ ใครจะไปไหนมาไหนนอกถิ่นต้องใช้ทางรถไฟเท่านั้น และที่ซื้ออาหารการกินก็ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป ต้องพึ่งแต่ตามสถานี ไก่ทอดสถานีรถไฟเทพาเป็นเมนูหนึ่งที่คนผ่านทางตั้งใจมาฝากท้องลิ้มรสโอชะจัดจ้าน

แล้วค่อย ๆ โรยราเมื่อคนเดินทางหันไปใช้ถนนแทนรถไฟและยิ่งซบเซาลงนับแต่มีเหตุการณ์ไฟใต้ แต่ก็ยังไม่เท่าช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-๑๙

หลังจากนั้นมา ที่สถานีรถไฟเทพาเหลือแม่ค้าไก่ทอด แกงเขียวหวานไก่ อิสลามสามเจ้ากับของคนพุทธสองเจ้า

“หลังโควิดอาหารต้องมิดชิด ไก่ ข้าว แกง ใส่ถุงแยกกันไว้เป็นชุด คนซื้อเก็บไว้กินได้ กระทงก็แถมไปให้ใช้”

ไก่ทอดเทพา ชื่อเสียงไม่กว้างไกลอย่างไก่ทอดหาดใหญ่ แต่มีลูกค้าที่รู้จักรู้ใจเหนียวแน่นแน่นอนกลุ่มหนึ่ง

“แต่ก่อนขายดี พอรถไฟจอด ข้าว ๆ ๆ ๆ เขาร้องเรียก
เดี๋ยวนี้แม่ค้าต้องเรียก คนกลัวสถานการณ์ด้วย ตอนหลังกลัวเชื้อโควิดด้วย”

ใครนั่งรถไฟไปชายแดนใต้ตอนนี้คงสัมผัสได้ถึงความรู้สึกเครียดระแวง ระแวดระวัง 

บนใบหน้าของชายชราที่มีโครงหน้าเท่ ๆ วัยรุ่น เด็ก ๆ และในแววตาคนอื่นที่มองมา  

ใบหน้าเดียวกันนี้ถ้าพบเห็นในที่อื่นคงเป็นอีกแบบ และอีกความรู้สึกสำหรับคนที่มองมา

ผู้โดยสารจำนวนหนึ่งเดินทางกันเป็นกลุ่มซึ่งรู้จักคุ้นเคยกัน พวกเขาคุยกันเบา ๆ  เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบพร้อมอาวุธครบมือเดินเวียนมาตรวจการณ์เป็นระยะ ซึ่งอาจขอตรวจบัตรและตรวจค้นสัมภาระของผู้โดยสารบางคน

Image

บรรยากาศบนรถไฟชายแดนใต้ไม่โหวกเหวกครึกครื้นเหมือนที่อื่น กลุ่มที่ยังคงสร้างสีสันและความเคลื่อนไหวให้รถไฟและสถานีไม่เงียบเหงาเกินไปก็เห็นจะเป็นพวกพ่อค้าแม่ค้านั่นเอง ซึ่งรู้เวลาเที่ยวรถอย่างแม่นยำ

เมื่อขบวนรถไฟจอดเทียบสถานีและจะเคลื่อนต่อไปในอีก ๓ นาที คนขายของต่างต้องเร่งทำยอดอย่างรวดเร็วที่สุด แม่ค้าสูงวัยอาจไม่ได้ปราดเปรียวดังแต่ก่อน รถไฟเริ่มเคลื่อนออกไปแล้วลูกค้าบางรายยังอยากได้ข้าวไก่ทอดแกงเขียวหวานยอมโยนเงินให้ก่อน แม่ค้าตะโกนบอกอีกเจ้าที่อยู่ข้างหน้า ช่วยเตรียมข้าวไก่ทอดแกงเขียวหวานไว้ยื่นให้คว้า

สถานีรถไฟเทพาทุกวันนี้อาจไม่คึกคักอย่างในยุคที่เป็นฉากนิยายเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ มีขบวนรถไฟสายใต้เที่ยวขึ้น-ล่องแวะจอดวันละ ๑๐ กว่าเที่ยว จำนวนครั้งที่ได้เปิดขายมีเพียงเท่านั้น เป็นฉากเดิมซ้ำ ๆ แต่เป็นเอกลักษณ์และมีสีสันที่มองดูเพลินดี

เป็นฉากชีวิตจริงของแม่ค้าที่ขายไก่ทอดมาตลอดทั้งชีวิต กับคนเดินทางที่หมุนเวียนกันมากับขบวนรถไฟ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันเพียงครู่แล้วผ่านกันไป

เป็นนาฏกรรมชีวิตจริงตอนสั้น ๆ เพียงตอนละ ๓ นาที ที่ยังเปิดแสดงอยู่เงียบ ๆ แต่ไม่เลิกรา ณ สถานีรถไฟเล็ก ๆ แต่มากมายเรื่องราวที่มีนามว่าเทพา

Image

Image

จิตรกรรมครูจูหลิง
ริมทะเลสาบสงขลา

“แกบอกให้ผมลองนับเกล็ดพญานาคที่แกเขียน...” หนุ่มชาววัดปากบางภูมี ย้อนรำลึกถึงคนที่เคยวาดภาพตรงหน้าเขา

ภาพนั้นอยู่ในช่องหนึ่งบนผนังวิหารหลังใหม่ของวัดปากบางภูมี เมื่อผ่านประตูเข้าไปอยู่ทางซ้ายมือ จิตรกรรมฝาผนังด้านนี้รวมทั้งด้านหลังพระประธานและด้านตรงข้ามพระประธาน รวมทั้งบนผนังหลังพระประธานในพระอุโบสถเขียนโดยคณะศิลปินหกคน ซึ่งมีครูจูหลิงร่วมทีมอยู่ด้วย

คนยุคนี้คงยังไม่ลืมครูจูหลิงผู้อุทิศตนในการให้ความรู้แก่เด็กชายแดนใต้และถูกล้อมรุมทำร้ายในพื้นที่จนเสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๕๐ แต่คงมีคนไม่มากนักที่รู้ว่าเธอเป็นศิลปินที่มีฝีมือทางจิตรกรรมด้วย  และนอกจากคนในพื้นที่อาจแทบไม่มีใครรู้ว่าก่อนไปเป็นคุณครูของเด็ก ๆ ชายแดนใต้ เธอเคยฝากผลงานไว้บนผนังวัดปากบางภูมี หรือวัดคงคาวดี ที่อำเภอควนเนียง ริมทะเลสาบสงขลา

“บวชตั้งแต่ ๒๕๒๗ ตอนแรกอยู่วัดในเมืองควนเนียง จนปี ๒๕๔๐ วัดนี้ว่างพระ ชาวบ้านเลยนิมนต์มา  มาถึงรื้อโบสถ์สร้างใหม่อยู่ ๒ ปี ก็หาศิลปินมาเขียนภาพฝาผนังทั้งในโบสถ์และวิหาร”

พระครูวิมลสิริสุนทร เจ้าอาวาส เล่าที่มา

Image

เจ้าอาวาสวัดปากบางภูมีนำรำลึกถึงครูจูหลิง ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เธอเขียนไว้ก่อนไปเป็นครูชายแดนใต้ว่า เธอเป็นจิตรกรที่ขยัน มีความคิดสร้างสรรค์ เดินไปแถวชายทะเลสาบก็เก็บดอกลำพูมาวาดลงในภาพ และเป็นคนใจบุญ รักสัตว์ ภาพวาดฝีมือครูจูหลิงมักมีหมาแมวอยู่ในภาพด้วยและที่หลวงพ่อไม่ได้เล่า แต่คนดูภาพเห็นเองได้ คือแนวคิดทางการเมือง ที่ผู้วาดได้สะท้อนไว้ในจิตรกรรมด้วย ทั้งเรื่องการเคลื่อนไหวมวลชนของกลุ่มลัทธิความเชื่อ และการเมืองระหว่างประเทศ

Image
Image

“เที่ยวหาช่างเขียนหลายจังหวัด ภูเก็ต พัทลุง ตรัง นครฯ พอดีเพื่อนของครูจูหลิงบ้านอยู่หน้าวัดบอกว่ามีเพื่อนเขียนอยู่ อาตมาขอภาพถ่ายผลงานมาดู พอเห็นก็ถูกใจ ไม่เหมือนคนอื่น แปลกกว่าที่ไปดู ๆ มา”

ตามประวัติ ครูจูหลิงมีความสามารถพิเศษด้านการวาดภาพ จบวิชาออกแบบประยุกต์ศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อปี ๒๕๔๕ ซึ่งคงเป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันที่เธอกับทีมจิตรกรเดินทางมายังปากบางภูมี ควนเนียง

“ผนังปูนยังใหม่ มาถึงแช่น้ำขี้เหล็ก  มาอยู่ที่วัด อาตมายกกุฏิให้หลังหนึ่งเลย แกเพิ่งเรียนจบใหม่ แล้วมาอยู่นี่หลายปี เหมือนกัน น่าจะราว ๔ ปี”

เขียนทั้งบนผนังโบสถ์และศาลาการเปรียญ ที่คนใต้เรียกว่าโรงธรรม ที่เป็นช่องใหญ่ด้านหน้าและหลังพระประธานจะเขียนร่วมกัน แต่หลวงพ่อเจ้าอาวาสก็ยังพอชี้ได้ว่าส่วนไหนเป็นฝีมือของครูจูหลิง

“มีหัวหน้าทีมจิตรกร แกเป็นลูกทีมแต่ขยัน เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ เดินไปชายเลสาบก็เอาดอกลำพูมาเป็นแบบ
ในโบสถ์ด้านหลังพระประธานเป็นฝีมือครูจูหลิง เอาใบโพจริงมาเลยเอามาแลแบบ เส้นใบ สี เงา งามนิไม่เหมือนที่ไหน”

ส่วนบนผนังศาลาโรงธรรม

“ภาพที่มีแมวมีหมาเป็นฝีมือของครูจูหลิง แกคนใจบุญ ชอบแมว ลงจากกุฏิหมาแมวเดินตามหลังเป็นแถวเลย”

รวมทั้งภาพที่มีพญานาคเกล็ดละเอียดวิจิตร ที่คนวาดเคยท้าทายเชิงหยอกเย้าให้โยมชาววัดร่วมสนุกด้วยการลองนับจำนวนเกล็ดที่เธอบรรจงวาด รวมทั้งภาพสะท้อนสังคมที่เกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศและลัทธิความเชื่อด้วย !

Image

“เขียนมาสักพักแกว่าจะไปสอบเป็นครูชายแดนใต้ อาตมาว่าอย่าไปเลย คนที่นี่ใจดี อยู่นี่เธอไปบ้านใครได้ทุกบ้าน แกว่าไม่เป็นไร ถ้าฉันตายแม่ฉันรวย คำนั้นทำอาตมาสะดุ้งเลย เอ็นดูแกหล่าว”

ไม่ใช่แต่โดยถ้อยคำของหลวงพ่อ ทั้งครูจูหลิงและชาวบ้านปากบางภูมีต่างก็คงรู้เห็นนิสัยใจคอต่อกัน จากที่ได้อยู่กันเป็นปี ๆ นอกจากเขียนภาพฝาผนัง บางช่วงครูจูหลิงยังพาชาวบ้านริเริ่มสร้างกุฏิดินด้วย ซึ่งเสร็จสมบูรณ์สองหลัง กลายเป็นต้นแบบให้วัดสร้างต่อมาอีกร่วม ๑๕ หลัง ซึ่งยังใช้อยู่จนปัจจุบัน

“ครูจูหลิงชวนชาวบ้านมาเหยียบดิน ทำกุฏิดินด้วยดินเหนียวผสมแกลบ มูลวัว ทาน้ำมันยางทับ  โครงสร้างใช้ปูน ฝาผนังดิน มุงเบื้องโบราณ ชาวบ้านบริจาคให้  ใช้แรงชาวบ้าน งบวัดทำ ๑๕ วัน ได้สองหลัง ตอนหลังเจ้าอาวาสสร้างต่ออีกหลายหลัง”

แล้วครูจูหลิงก็ไปสอบเป็นครู สอนวิชาศิลปะอยู่ที่โรงเรียนกูจิงลือปะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๔๘ และจากโลกไปในอีก ๒ ปีต่อมา

ผนังวิหารหลังใหญ่เขียนเสร็จไปเพียงสามด้าน ผนังข้างขวายังว่างเปล่า

“ทีแรกว่าจะค้างไว้เลย เป็นอนุสรณ์” พระครูวิมลฯ เล่าย้อนไปถึงช่วงที่ทราบข่าวร้ายจากชายแดนใต้ “แต่กลัวคนมาเห็นแล้วคิดว่าวัดไม่มีปัญญาทำต่อ ก็น่าเกลียดอีก เลยหาช่างอื่นมาเขียนต่อ  รอบเสาต้นละหมื่น บนผนังช่องละ ๒ หมื่นหรือถูกกว่าถ้าใช้สีคนละแบบ และงานประณีตน้อยกว่า”

จนงานพุทธศิลป์บนฝาผนังเสร็จสมบูรณ์ แต่เมื่อผ่านช่องประตูเข้าไปสู่ภายในก็ยังดูออกว่าเขียนโดยจิตรกรคนละกลุ่ม แถบผนังด้านขวามือนั้นเพิ่งเขียนทีหลัง ส่วนอีกสามด้านเป็นผลงานที่ริเริ่มโดยคณะของครูผู้จากไปก่อนวัยอันควรในสถานการณ์ไฟใต้ ฝากไว้ที่วัดริมทะเลสาบให้คนรุ่นหลังได้กล่าวขานถึง

นอกจากให้แง่คิดทางธรรมแก่คนที่ได้ดูภาพ จิตรกรรมฝาผนังที่วัดคงคาวดียังช่วยยืนยันสัจจะตามที่ปรมาจารย์ด้านศิลปะของเมืองไทยกล่าวไว้ว่า

ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น

Image

ส่วนหนึ่งของภิกษุณีราว ๓๐๐ รูปในเมืองไทย ตั้งสำนักปฏิบัติอยู่ที่เกาะยอมาจะครบ ๑๐ ปีเต็ม โดยมีหลวงแม่ธัมมกมลาเป็นเหมือนเจ้าอาวาส

มะยัง ภันเต
ภิกษุณีที่เกาะยอ

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าจะเป็นภิกษุไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังไม่เท่าการจะเป็นภิกษุณีซึ่งยากยิ่งกว่า โดยเฉพาะในเมืองไทยที่คนแทบไม่รู้ว่ามีนักบวชกลุ่มนี้อยู่ด้วย ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีใครกี่คนที่รู้ว่ามีอารามภิกษุณีแห่งหนึ่งอยู่ที่เกาะยอ จังหวัดสงขลาด้วย แม้แต่คนบนเกาะเอง

“จะบวชเป็นภิกษุณีไม่ง่าย ต้องถืออนุธรรม ๖ เป็นสิกขมานาอยู่ก่อน ๒ ปี ครบแล้วก็ต้องไปอุปสมบทที่ศรีลังกา”

คำยืนยันของธัมมกมลา เจ้าอารามทิพยสถานธรรมภิกษุณีอาราม หรือวัดพระผู้หญิง ที่ตั้งอยู่ริมอ่าวแถวท้ายเกาะยอ ที่คนท้องถิ่นเรียกว่าท้ายยอ

ท่านเล่าด้วยว่า แต่เดิมอารามแห่งนี้เป็นสำนักแม่ชีมาก่อน

“อดีตแม่ชีณัฐทิพย์ ตนุพันธ์ พี่สาวของหลวงพี่ เดิมอยู่พัทลุง พอป่วยมาซื้อที่ดินตรงนี้ ๒ ไร่ อยากอยู่ใกล้โรงพยาบาลสงขลา

ต่อมาตั้งเป็นสำนักแม่ชี เราได้มาร่วมเรียนธรรมะ เริ่มเข้าใจ
พุทธศาสนา อยากไปถึงนิพพาน  ศึกษาไปก็พบหลวงแม่ภิกษุณีธัมมนันทา สมัครไปบวชเณรที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จังหวัดนครปฐม ได้ความรู้เรื่องธรรมะ ทำให้มั่นใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสัมผัสได้และเราต้องทำด้วยตัวเอง ยิ่งมั่นใจว่าการบวชนำไปสู่จุดหมายได้จริง ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ที่เหลือคาด  อยากพัฒนาธรรมะของตัวเองขึ้นไป  เราละจากการครองเรือนจริง ๆ แล้ว มาพบเส้นทางที่เป็นสุข ซึ่งไม่เหมือนกับสุขภายนอก”

Image

ท่านกลับมาที่สำนักแม่ชีที่เกาะยอ ถามพี่สาวว่าจะบวชด้วยกันไหม

“พี่สาวบอกว่าบวชกันทั้งสำนัก เลยนิมนต์หลวงแม่ธัมมนันทาบรรพชาสามเณรีครั้งแรกในภาคใต้

จากนั้นประกาศสิกขมานาเป็นภิกษุณีฝึกหัด เรียกว่านางสิกขมานา ถืออนุธรรมหกข้อ เป็นเวลา ๒ ปี ห้ามขาด ถ้าบกพร่องต้องนับใหม่ จนอุปสมบทเมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่นี่ก็เป็นสังฆะเลย เพราะบวชทีเดียวเก้ารูป”

แต่ภิกษุณียังไม่อยู่ในระบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทย สำนักภิกษุณีจึงไม่สามารถเรียกว่าวัด ที่นี่จึงใช้คำว่าอารามและขึ้นทะเบียนเป็นมูลนิธิ

ทิพยสถานธรรมภิกษุณีอยู่บนเนื้อที่ ๒ ไร่ ไม่ไกลจากที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ อีกฟากถนนตรงข้ามเป็นที่ตั้งวิหาร และถัดเข้าไปด้านหลังเป็นที่ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ตามความมุ่งหมายของอารามที่จะให้เป็นโรงเรียนธรรมสำหรับผู้หญิงรวมถึงผู้ต้องการเข้ามาศึกษาปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ และจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นที่พักฟื้นผู้ป่วยมะเร็งและให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุ

“บางคนบอกว่าไม่เคยเห็น บางคนว่าเป็นผู้หญิงอะไรมาใส่จีวร บางทีก็ถึงสาปแช่งว่าใส่จีวรจะตกนรก  คนไม่รู้เราโกรธเขาไม่ได้ แต่มีหน้าที่อธิบายถ้ามีโอกาส” หลวงแม่ธัมมกมลาเล่าประสบการณ์บางด้านในช่วง ๑๐ กว่าปีในผ้าเหลือง

ตามความจริงก็เป็นที่รู้โดยทั่วกันว่าภิกษุณีมีอยู่ในพุทธบริษัท ๔ ในบวรพุทธศาสนา ถือศีลและวินัยศีลรวม ๓๑๑ ข้อ มากกว่าภิกษุ ห้ามการเดินทางป่าคนเดียว ปักกลดใต้โคนต้นไม้โดยลำพังไม่ได้ ฯลฯ ตามพุทธบัญญัติ

แต่ภิกษุณีไม่อยู่ในระบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทย

Image

ภิกษุณีที่เกาะยอปฏิบัติตามแนวกัมมัฏฐานอย่างสายวัดป่า บิณฑบาตฉันวันละมื้อ ไม่สวมรองเท้า ไม่ทำน้ำมนต์  ดึงญาติโยมออกจากวัตถุ ให้เข้าหาธรรมะที่แท้ของพระพุทธเจ้า และการปวารณาตนเป็นเสมือนหยดน้ำในทะเลที่ช่วยเอื้อให้ผู้หญิงมีโอกาสได้เข้าถึงการปฏิบัติธรรม

“ภิกษุณีไม่ผิดกฎหมาย เป็นสิทธิเสรีในการปฏิบัติพิธีกรรมของแต่ละบุคคล เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคม  ภิกษุณีไทยต้องไปบวชที่ศรีลังกา จึงอยู่ภายใต้คณะสงฆ์ศรีลังกา เป็นภิกษุณีไทยแต่สายศรีลังกา”

ตามทะเบียนราษฎรภิกษุณีไทยทุกรูปจึงยังต้องใช้คำนำหน้า นาง นางสาว กันอยู่ แต่ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง !

ภิกษุณีครองผ้าห้าชิ้น ปัญจจีวร มากว่าไตรจีวรของภิกษุสองชิ้น คือ ผ้าอาบน้ำฝน กับผ้ารัดถัน

กับอีกอย่างที่ภิกษุณีแตกต่างจากภิกษุไทยคือการไม่โกนคิ้ว

หลวงแม่ธัมมกมลาพูดถึงเรื่องนี้ว่า “พระไทยเท่านั้นที่โกนคิ้ว ประเทศอื่นไม่โกน น่าจะเป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่พุทธบัญญัติ ในพระวินัยไม่มีบอกให้โกนคิ้ว”

ภิกษุและภิกษุณีศรีลังกาก็ไม่โกนคิ้ว “เป็นพระเหมือนกัน นั่งทำงานร่วมกัน ยื่นของให้กันได้ ปฏิบัติต่อกันแบบนักบวชด้วยกัน แต่เราก็เคารพพระภิกษุ”

หลวงแม่ธัมมกมลาบอกด้วยว่าในเมืองไทยปัจจุบันมีภิกษุณีอยู่ในหลายจังหวัดราว ๓๐๐ รูป ทางใต้สุดอยู่ที่เกาะยอสงขลา มีภิกษุณี ๑๓ รูป บางส่วนเป็นต่างชาติจากรัสเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ออสเตรเลีย  กับสามเณรี ๑ รูป แม่ชี ๑ คน และโยมที่เป็นผู้สูงวัยและคนป่วยที่อารามรับมาดูแล

“ที่นี่ปฏิบัติตามแนวทางหลวงแม่ธัมมนันทา และปฏิบัติตามแนวทางครูบาอาจารย์กัมมัฏฐานเหมือนสายวัดป่า ฉันมื้อเดียว ไม่ใส่รองเท้า แต่ไปบางที่ก็ต้องใส่ ไม่ให้โยมต้องเป็นห่วงกังวล”

Image
Image

ช่วงฤดูร้อนจะมีโครงการบรรพชาเป็นสามเณรีประจำปี ผู้ที่ต้องการอุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป ไม่ว่าอายุเท่าใดต้องเป็นสามเณรีอยู่ก่อนอย่างน้อย ๒ ปี แต่สามเณรีส่วนใหญ่จะลาสิกขาสู่เพศฆราวาสเมื่อจบโครงการ

คณะภิกษุณีจะออกบิณฑบาต ๐๖.๑๕ น.  ราว ๗ โมงก็กลับถึงวัด ฉันเช้าแล้วเข้าสู่วิถีประจำวันของนักบวช

“เราบิณฑบาตขออาศัยข้าวชาวบ้าน สิ่งที่เราตอบแทนโยมคือปฏิบัติตนให้ดี เป็นที่พึ่งให้โยมยามมีทุกข์ ดึงโยมออกจากวัตถุทั้งหลาย เอาวิถีของพระพุทธเจ้ามาบอกญาติโยม ให้โยมเข้าหาธรรมะที่แท้จริงแล้วจะมีความสุขในชีวิต และการสอนธรรมเป็นหน้าที่ของเรา สอนให้ถูกต้องด้วย”

ภิกษุณีอาจไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ก็เป็นภันเต-ผู้เจริญ ที่สาธุชนแถบท้ายยอเคารพบูชา

“ญาติโยมที่รู้จักเราก็สั่งลูกหลานว่าให้นิมนต์ภิกษุณีมาสวดศพ ๑ คืน สวดเจริญพุทธมนต์ ไม่ใช่ทำน้ำมนต์ เราไม่ทำอะไรเพื่อเอาใจโยมหวังซอง เป็นหน้าที่เรา ไม่ต้องถวายซอง แต่ถ้าโยมจะถวายแล้วชื่นใจนั่นเป็นเรื่องของโยม  เราไม่ได้บวชมาเพื่อหาทรัพย์สิน นักบวชต้องจน ไม่มีอะไร พร้อมไปได้ทุกเมื่อ และไม่ได้บวชเพื่อหาคนศรัทธา เวลาลาภยศสรรเสริญเข้ามาเราก็ต้องระวังจิตเราด้วย ต้องพิจารณาอยู่ตลอดว่าอย่าหลงเข้าไปในนั้น”

กับเป้าหมายอีกอย่างของอารามคือการให้โอกาสทางธรรมกับสตรี

“เราเปรียบว่าเราเหมือนหยดน้ำในทะเล ไปหาคนที่รัฐหรือใครไปช่วยไม่ถึง  ผู้หญิงจับไม้จับมือเราได้ เหมือนที่ผู้ชายใกล้ชิดภิกษุได้”

หรือกระทั่งหากอยากบวชเป็นภิกษุณี

“ก็มาเป็นโยมอยู่ในวัดก่อน มั่นใจแล้วบวชเป็นชีชุดขาวจนถึงช่วงที่มีโครงการก็บวชสามเณรี ต้องเป็นเณรก่อนไม่ว่าอายุเท่าใด  ครบ ๒ ปีคณะสงฆ์ก็พิจารณาว่าสิกขมานารูปนี้มีคุณสมบัติบวชภิกษุณีได้แล้วหรือยัง ถ้ามีคนแย้งเสียงเดียวก็ยังบวชไม่ได้ ต้องคุยกันต่อ  ถ้าได้บวชก็เดินทางไปบวชที่ศรีลังกา”

จะบวชเป็นภิกษุณีไม่ง่ายนัก แต่ก็ไม่ได้ยากเกินจนถึงกับขาดสาย  พุทธบริษัท ๔ จึงยังมีอยู่ครบที่สงขลา

มะยัง ภันเต...